ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สิ่งที่เราเห็น ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการมอง


เสียงที่ยิ่งใหญ่ ดังกังวาล และไพเราะจับใจที่สุด คือ "เสียงของความเงียบ" เราไม่สามารถที่จะเสาะแสวงหาเพื่อฟังเสียงเช่นนี้ได้จากสถานที่แห่งใดในโลกนี้ นอกจาก "เข้าไปฟังได้ที่ใจของเรา" ถามตัวเองดังๆ ว่า "ท่านเคยได้ยินเสียงแห่งความเงียบจากใจของท่านแล้วหรือยัง" การค้นพบความเงียบ คือการค้นพบสมาธิ การค้นพบสมาธิ คือการค้นพบสุญญตา การค้นพบสุญญตามีค่าเท่ากับการค้นพบ "สันติภาพที่แท้จริงภายในใจของเรา"

สุญญตา, สมาธิ และความเงียบ


ขอบใจ "จอห์น เคจ"
http://www.youtube.com/watch?v=hUJagb7hL0E

ขอบใจหนุ่มเมืองจันทร์
http://info.matichon.co.th/weekly/member/wk_txt.php?srctag=MjQyMzA3NTM=


หนุ่มเมืองจันท์ [email protected]

ว่าด้วย "ความเงียบ"



ผมได้ยินชื่อ "จอห์น เคจ" มานานแล้ว

ได้ยินพร้อมกับชื่อบทเพลง "4"33" อันโด่งดังของเขา

บทเพลงนี้บรรเลงครั้งแรกที่ "วู้ดสต็อค นิวยอร์ก" เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1952

58 ปีมาแล้ว

"เดวิด ทูดอร์" นักเปียโนชื่อดังเป็นคนบรรเลงเพลง 4"33

เพลงนี้มีความยาว 4.33 นาที แบ่งเป็น 3 องค์

ช่วงแรก 30 วินาที ช่วงที่สอง 2 นาที 23 วินาที และช่วงที่สาม 1 นาที 40 วินาที

ทุกช่วงตอนบรรเลงด้วยโน้ตตัวเดียว

คือ "ความเงียบ"

"เดวิด ทูดอร์" เริ่มต้นด้วยการปิดฝาครอบลิ่มเปียโนหรือคีย์บอร์ด แสดงถึงการเริ่มต้นองค์ที่หนึ่ง

จากนั้นก็นิ่ง

30 วินาทีผ่านไป เขาเปิดฝาครอบลิ่มขึ้น แสดงว่าจบองค์แรก

ปิดฝาลิ่มอีกครั้ง เพื่อบอกคนดูว่าการแสดงองค์ที่สองเริ่มต้นแล้ว

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เขาพลิกแผ่นโน้ตทีละหน้า

จนครบ 2 นาที 23 วินาที เขาก็ปิดฝาลิ่มเปียโนลงอีกครั้ง

จากนั้นก็ปิดฝาลิ่ม เริ่มองค์ที่สาม

1 นาที 40 วินาที "ทูดอร์" ก็เปิดฝาครอบลิ่มเปียโนเป็นครั้งสุดท้าย

ถอยห่างและโค้งคำนับผู้ชม

จบเพลง 4"33



เพลงแบบนี้ใครๆ ก็แต่งได้

แต่จะมีกี่คนที่กล้าเล่นเพลงนี้ให้คนฟัง

ที่สำคัญผมเพิ่งรู้ที่มาของเพลง 4"33

เชื่อไหมครับ ว่า "จอห์น เคจ" ใช้เวลานานมากกว่าจะแต่งเพลงนี้สำเร็จ

ก่อนหน้านี้เขาเคยสงสัยว่าโลกนี้มี "ความเงียบ" จริงหรือไม่

"เคจ" ขออนุญาตมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้ห้องเก็บเสียงที่มีกำแพงดูดเสียงทดลองค้นหา "ความเงียบ"

เขาอยู่ในห้องนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง

อยู่นิ่งๆ เงียบๆ

แต่ "ไม่เงียบ"

เพราะแม้จะนิ่งและเงียบเพียงใด เขาก็ได้ยินเสียงบางเสียงเป็นเสียงสูงกับเสียงต่ำ

เมื่อสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ก็ได้คำตอบว่าเป็นเสียงของระบบประสาท และเสียงการไหลเวียนของเลือดในตัว

"จอห์น เคจ" จึงสรุปว่าในโลกนี้ไม่มี "ความเงียบ" โดยสมบูรณ์

และแรงบันดาลใจที่จะแต่งเพลง 4"33 จึงเริ่มต้นขึ้น

เขานิยามความหมายของคำว่า "ความเงียบ" ใหม่

"จอห์น เคจ" บอกว่า "เสียง" และ "ความเงียบ" แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

หากจะแตกต่างก็มีเพียงแค่ "ความคิด" ที่จะ "เอาใจใส่" ต่อการรับฟ้ง

หรือ "ความคิด" ที่ "ไม่เอาใจใส่" ต่อการรับฟัง

...เท่านั้นเอง

ถ้าเราใส่ใจที่จะฟัง เราจะได้ยิน "เสียง"

แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจที่จะฟัง เราก็จะไม่ได้ยินอะไร

และนั่นคือ "ความเงียบ"

ตอนแรก "จอห์น เคจ" ยังไม่กล้าที่จะใช้ "ความเงียบ" เป็น "เสียงเพลง"

จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 1951 เขาไปดูงานศิลปะของ "โรเบิร์ต โรเซนเบิร์ก" และเห็นภาพที่ว่างเปล่า

มีแต่ "ผ้าใบสีขาว" ขึงอยู่บนเฟรม

ไม่มีสีอะไรอยู่บนภาพนั้นเลย

มีแต่แสงและเงาของคนดู ต้นไม้ ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ บนผ้าใบสีขาว

ผมชอบคำอธิบายภาพนี้ของ "จอห์น เคจ"

เขาบอกว่า นี่คือสนามบินของแสงและเงา หรือเป็นภาพสะท้อนของอากาศ

"มันไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น แต่เป็นวิธีการที่เรามองต่างหาก"

"จอห์น เคจ" บอกว่า ภาพของ "โรเซนเบิร์ก" คือ คำอนุมัติให้เขาเขียนเพลงแห่งความเงียบบทนี้

และบทเพลงบทนี้ก็ไม่ได้ "เงียบ" อย่างแท้จริง

เพราะช่วงเวลาที่ไม่มีเสียงดนตรีบนเวที

"ความเงียบ" ของเสียงดนตรี คือ "สนามบิน" ของเสียงอื่นๆ รอบข้าง

และนั่นคือ เสียงดนตรีที่แท้จริงของเพลง 4"33



เมื่อเริ่มต้นองค์แรก

คนดูยังเงียบอยู่

แต่มีเสียงลมจากภายนอกพัดผ่านกิ่งไม้เข้ามา

พอถึงองค์ที่สอง คนดูก็ยังเงียบเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเสียงดนตรีขึ้นในช่วงไหน

แต่มีเสียงฝนตกกระทบหลังคาดังแทรกเข้ามา

จนถึงองค์ที่สาม คนดูเริ่มกระซิบกัน บางคนเริ่มโวยวาย

จากเบาเป็นดัง

และบางคนก็ลุกขึ้นจากที่นั่งเดินออกไป

"จอห์น เคจ" บอกว่าคนดูไม่มีใครหัวเราะ พวกเขาโมโหเมื่อรู้ว่าเพลงที่รอฟังอยู่นั้น แท้จริงไม่มีอะไรเลย

แม้จะไม่มีอะไรเลยแต่ก็เป็นบทเพลงที่ทุกคนไม่ลืมเลือน

หลังจากวันนั้น "จอห์น เคจ" นำเพลงนี้ไปบรรเลงอีกหลายครั้ง

น่าแปลกที่แม้จะเป็นเพลงเดียวกันแต่เสียงเพลงกลับเปลี่ยนไปทุกครั้ง

ตามสถานที่และอารมณ์ของคนดู

ผมชอบมุมคิดของ "จอห์น เคจ" มาก

เขาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจาก "ภายใน" ของตัวเรา

ไม่ใช่ "ภายนอก"

"ความเงียบ" จึงไม่ใช่เรื่องของ "เสียง"

แต่เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ และความไม่หยุดนิ่ง

ภาพของ "โรเซนเบิร์ก" สอนเราว่า "สิ่งที่เราเห็น ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการมอง"

เช่นเดียวกับเพลง 4"33 ของ "จอห์น เคจ"

เสียงที่เกิดขึ้นจะดังหรือเบา ขึ้นอยู่กับว่าเราใส่ใจเพียงใด

ถ้า "ใส่ใจ" ก็ดัง

"ไม่ใส่ใจ" ก็เบา

หรือ "ไม่ได้ยิน"

แวบหนึ่ง ผมนึกถึงเมืองไทยในวันนี้

ผมได้ยินเพลง 4"33 ดังขึ้นอย่างยาวนาน

และไม่รู้ว่าเมื่อไรจะจบ

หมายเลขบันทึก: 377986เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 01:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการครับ    มีสาระประโยชน์มากครับยิ่งอ่านในยามนี้ ทำให้มีเวลาถามหาความเงียบได้นาน  เกิดความอิ่มเอิบ  มีสมาธิเพิ่มขึ้น  นมัสการสาธุครับ

ฟังแล้ว ได้สิ่งเตือนตัวเอง

ทุกสิ่ง อยู่ที่เรามอง เราคิด อยู่ภายใน..ของเราเอง

โยมแก้ว โยมธนา และโยมนุ

"ความเงียบ" เป็นเสียงที่ล้ำค่าสำหรับใครสักคนที่ต้องการความ "สงบ" หารู้ไม่ว่า ความเงียบและความสงบเป็นเรื่องเดียวกัน คือ "เรื่องสันติภายใน"  แต่เป็นเรื่องที่แปลก (สำหรับบางคน) เพราะบางคนกลัว และขยาดความเงียบ และไม่ปรารถนาที่จะสัมผัสความเงียบ

อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องขอบคุณ "เสียงที่ดังกระหึ่ม" เพราะมิฉะนั้น เราก็ไม่ทราบเลยว่า เสียงแห่งความเงียบมีคุณค่ากับชีวิตของเรามากมายเพียงใด  ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ "พระพุทธเจ้า"  เพราะพระองค์ที่ฟังเสียงขับกล่อมดนตรีของนางสนมมาหลายปี จนทำให้เกิดการแสวงหา "เสียงแห่งความเงียบ" ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ป่าแห่งนี้ทำให้พระองค์ได้ฟังเสียงแห่งความเงียบได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในที่สุดแล้ว พระองค์ก็ได้สดับ "เสียงแห่งสันติภาพที่ดังก้องกังวาลอยู่ในดวงจิตของพระองค์เอง"  ขอบคุณสำหรับแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และดำรงตนตามสายธารวิถีแห่งการตื่นรู้

กราบสวัสดีพระอาจารย์....

("ความคิด" ที่ "ไม่เอาใจใส่" ต่อการรับฟัง)?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท