คุณภาพการเสียชีวิต คุณภาพชีวิต


ในที่สุด คุณภาพชีวิต (quality of life) ก็มีคู่จนได้ คุณภาพการเสียชีวิต (quality of death)

วันนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ มีการเปิดตัวรายงานอันดับคุณภาพการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายของประเทศต่างๆตามตัวชี้วัดที่ชื่อ ดัชนีคุณภาพการเสียชีวิต Quality of Death (QoD) Index โดยนิตยสาร The Economist และมูลนิธิ The Lien Foundation เป็นครั้งแรก

คนที่ชื่นชอบตัวเลข การจัดอันดับ ตัวชี้วัด การแข่งขันเอาที่หนึ่ง คงหูผึ่ง ส่วนคนที่เกลียดการเปรียบเทียบแบบระบบดิจิตอล ก็คงแค่ชายตามองผาดๆ

ผมกำลังเขียนโครงการจัดตั้งสมัชชา palliative care แห่งประเทศไทย ก็เลยได้วัตถุดิบชั้นดีในการเขียนร่างโครงการ เพราะ ประเทศไทย ไม่ถูกเขาเอาไปจัดอันดับ อันนี้แน่นอน เพราะเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ระบบบริการคนไข้ระยะสุดท้ายของบ้านเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น ไม่สามารถเอาไปเทียบเคียงกับ ๔๐ ประเทศที่เขานำไปจัดลำดับได้

มาดูผลคร่าวๆกัน จากคะแนนเต็ม ๑๐ ประเทศที่ได้อันดับหนึ่ง คือ อังกฤษ​ (๗.๙) รองลงมาคือ ออสเตรเลีย (๗.๙) นิวซีแลนด์ (๗.๗) ส่วนประเทศในเอเชียที่อยู่ในอันดับได้แก่

อันดับ ๑๔ ไต้หวัน (๖.๐)

อันดับ ๑๘ สิงคโปร์  (๕.๕)

 อันดับ ๒๐ ฮ่องกง (๕.๓)

อันดับ ๒๓ ญี่ปุ่น  (๔.๗)

อันดับ ๓๒ เกาหลีใต้  (๓.๗)

 อันดับ ๓๓ มาเลเซีย (๓.๗)

อันดับ ๓๗ จีน (๒.๓)

อันดับ ๔๐​ สุดท้าย อินเดีย (๑.๙)

ผมรู้สึกสะดุดอยู่ประเทศเดียว คือ จีน ซึ่งผมค่อนข้างสงสัยที่ได้คะแนนดีกว่าอินเดีย สำหรับประเทศอื่นๆที่ได้คะแนนดี จะเห็นว่ามีระบบสาธารณสุขถอดแบบมาจากอังกฤษ ที่เป็นต้นธารของการดูแลรักษาประเภทนี้

สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาเวลาดูการจัดลำดับแบบนี้ คือ เกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสนใจมากกว่าประเทศไหนได้ที่เท่าไร

ดัชนีนี้ให้คะแนน ๔ ​ด้าน คือ

  • คุณภาพของระบบดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย                  น้ำหนัก ๔๐%
  • การมีระบบบริการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย                  น้ำหนัก ๒๕%
  • ระบบสาธารณสุขที่เอื้อต่อการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย   น้ำหนัก ๒๐%
  • ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย              นำหนัก ๑๕%

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในตารางข้างล่าง

อ้างอิงและสามารถ download รายงานได้ที่ http://www.lifebeforedeath.com/qualityofdeath/index.shtml


อย่างน้อยดัชนีนี้ ก็ทำให้เรารู้ว่า การพัฒนางานด้านนี้ในประเทศของเรา ต้องมุ่งเน้นเรื่องอะไรบ้าง

อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีไปไหนนะครับ

หมายเลขบันทึก: 375069เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

น่าสนใจมากค่ะ..ตามประสบการณ์ส่วนตัว..พี่ได้ดูแลคุณพ่อ-คุณแม่ จนสิ้นลมปราณอย่างสงบ ด้วยวิถีพุทธ คือเปิดเทปธรรมะให้ท่านทั้งสองฟัง ตามที่ท่านเคยสั่งไว้..ผู้ดูแลได้อานิสงค์แห่งความสงบนั้นด้วยค่ะ..

             

P

  • ขอบคุณพี่มากครับ
  • เลยคิดออกว่า ดัชนีนี้ขาดตัววัดสำคัญอย่างหนึ่ง คือ มุมมองจากผู้รับบริการ ครอบครัวของผู้เสียชีวิต

สวัสดี ครับ อ.หมอเติมศักดิ์

คืนนี้ แวะมาบันทึกวิชาการของคุณหมอ ทำให้มีความรู้เพิ่มเติม จากที่ผ่านมาทราบว่า ระบบสุขภาพของไทยปัจจุบัน ยังไม่สามารถช่วยให้ชาวบ้านมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีพอ

อาจารย์ นำบันทึกนี้ มาจุดประกาย หลาย ๆ คน หลาย ๆ หน่วยงาน และหลาย ๆ นโยบาย ปฎิรูปคุณภาพชีวิต ของรัฐบาล ให้ตระหนักมากขึ้น เลย นะครับ

...คำลงท้ายของอาจารย์...ทิ่มแทง..ใจ มากเลย ครับ

...

สุดท้ายผมมีภาพแห่งความสุขมาฝากด้วย ครับ

ภาพแห่งคุณภาพชีวิต..ได้มั้ยครับ

ขอบคุณนะคะอาจารย์เต็ม สำหรับข้อมูล up date ในบันทึกนี้

P

  • คนในวงการสาธารณสุขอย่างเรา อาจรู้สึกเหมือนถูกแทงใจดำ กับผลที่ไม่มีประเทศเราติดอันดับ
  • แต่ผมมองว่า ถ้าไม่นับเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายโดยตรง ในเรื่องระบบสาธารณสุขที่เอื้อต่อการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย  น้ำหนัก ๒๐% บ้านเรามีดีเยอะครับ
  • ยกตัวอย่างเช่น คงไม่มีประเทศไหนในโลก ที่มีระบบ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน จำนวนร่วมล้านกระจายอยู่ทั่วประเทศแบบเรา ซึ่งระบบนี้จะสามารถพัฒนาเป็น การดูแลที่บ้านได้อย่างกลมกลืน เรายังไม่ต้องมีสถานพยาบาลเฉพาะคนไข้ระยะสุดท้ายก็ยังได้เลย ถ้าพัฒนาเรื่องดูแลที่บ้านได้อย่างครบถ้วน
  • ก็คงจะต้องมาช่วยกันพัฒนาระบบที่เ)พาะเจาะจงกันมากขึ้น เราตามบั้นท้ายอเมริกันมานาน ทุ่มงบประมาณมหาศาลกับอะไรที่มันไฮเทค ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาดูเรื่องนี้มากขึ้นแล้วครับ

P

  • เขาเปิดตัวที่สิงคโปร์ คุณหมอซินเธีย เป็นตัวตั้งตัวตี น้องกุ้งอยู่ที่นั่นน่าจะได้ข่าวบ้างนะครับ

หมอเต็มครับ การบริการคนไข้ระยะสุดท้ายแต่ละขั้นตอนนั้น เป็นอย่างไร อ่านแล้วทราบแต่เพียงว่าไทยเราทำแต่เพียงระยะเริ่มต้น เริ่มต้นคืออะไรและต่อไปคืออะไรครับ น่าสนใจ

P

  • สวัสดีครับ
  • มีการจัดแบ่งประเทศตามการมีระบบบริการด้านนี้ออกเป็น ๔ ระดับครับ

ระดับ ๑ ไม่มีการบริการ

ระดับ ๒ กำลังพัฒนา

ระดับ ๓ มีการให้บริการเป็นบางแห่ง

ระดับ ๔ การบริการอยู่ในระบบสาธารณสุข

  • ประเทศไทยเราถูกจัดอยู่ในระดับ ๓ เพราะการบริการด้านนี้มีเฉพาะบางโรงพยาบาล บางสถานพยาบาลของมูลนิธิต่างๆ โดยที่ยังไม่มีนโยบายในระดับประเทศที่ชัดเจน ยังไม่เป็นระบบบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงครับ
  • เริ่มต้น คือ เราเพิ่งจะเริ่มมีบริการด้านนี้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น เรายังไม่มียาระงับปวดมอร์ฟีนชนิดรับประทานในทุกโรงพยาบาล คนไข้และครอบครัวที่ต้องการดูแลกันที่บ้านยังต้องจ่ายเงินค่ารักษาทั้งหมดที่บ้านเอง
  • ต่อไป คือ เรากำลังจะเกิดสมัชชา palliative care ในระดับชาติขึ้น โดยมีองค์ประกอบจากทั้งฝ่ายวิชาการอย่างพวกผม ภาคประชาชน และหน่วยงานที่ดูแลเชิงนโยบาย เช่น สปสช.​สช.  มาผลักดันเชิงระบบของประเทศครับ เช่น กำหนดว่า โรงพยาบาลระดับใดต้องจัดบริการด้านนี้อย่างไรบ้าง ต้องมีบุคลการที่ผ่านการฝึกอบรมด้านใดบ้าง ต้องมียาอะไรบ้างให้เพียงพอ จะจัดสรรงบประมาณให้ต่อหัวเท่าไร เป็นต้นครับ

อ่านตารางการประเมินแล้ว อย่างน้อยก็เกิดความรู้สึกว่าเขียนโดย "คนทำงาน" คลุกคลีในด้านนี้มากกว่า policy-makers ซึ่งเป็น "ข่าวดี"

แต่นี่เป็นการประเมินคุณภาพ "เชิงระบบ" ไม่ได้เป็น per-case หรือพูดถึงการประเมิน "ใน" รพ.หรือชุมชน ดังนั้นจะมีคำประเภท availability, policy ปนๆมาหลายจุด และทุกอย่าง convert ไปเป็น scoring system หมด (จะได้วัดได้ และดู progress ได้...ง่าย) ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังเวลานำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่จะ generalize เป็นข้อมูลของระดับประเทศ ผมยังอึ้งๆอย่างจะทราบว่าประเมินสถานการณ์แบบของจีน (1500 ล้านคน) หรืออินเดีย (1200 ล้านคน) นี่ เขาจะใช้ methodology แบบใด หรือข้อมูลประเภทไหน อันนี้ National Database น่าจะต้องมีมานานและดีพอควร เราถึงจะสามารถ extract ออกมาได้อย่าง accurate (งานที่สมัชชาที่กำลังจะเกิดน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ... no?) หรืออย่างพวกการประเมิน public awareness ที่เขาบอกว่าใช้ข้อมูลของ National palliative care advocacy organization นี่ก็มีนัยแห่งการสร้าง database และแผนกจำเพาะของสมัชชาเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเลยก็ว่าได้

อ่านหมดแล้วก็คิดว่าดีเหมือนกันที่ยังไม่ได้มาประเมินที่เมืองไทย เพราะเชิงระบบนี่ คงยังต้องอีกพัก (ใหญ่ๆ) หลายๆตัวจะเจอทั้งประเมินไม่ได้ และอาจจะได้ไม่ accurate มากนัก

โดยรวมแล้วเป็นกระแสที่ดีนะครับ น่าจะเอาเรื่องนี้มา advocate ในแบบใดแบบหนึ่ง แต่ยังคิดไม่ออก

กุ้งเจออาจารย์ซินเทีย โกว ล่าสุดวันศุกร์ที่เเล้วค่ะออก OPD กับอาจารย์ทุกวันจันทร์กับศุกร์ อาจารย์ยังไม่เล่าให้ฟัง เเต่ช่วงออก OPD อาจารย์จะคุยกับคนไข้ใช้เวลากับเเต่ละ case นานมากค่ะ อาทิตย์นี้กุ้งอยู่ที่ ASSI SI HOME & Hospice จะกลับไปที่ NCC อีกทีวันจันทร์ที่ 19 น่าจะมีการพูดถึงเรื่องนี้นะคะ วันนี้ออกเยี่ยมบ้านค่ะอาจารย์ สนุกดี ประทับใจกับการทำงานของพยาบาล Home Care ที่นี่มากค่ะ ทำด้วยใจทุ่มเทเเละตั้งใจจริงมากๆ

 

 

 

คุณภาพชีวิต..

พลังใจ...

คือสิ่งที่ผมสัมผัสได้จากบันทึกนี้...

ขอบพระคุณครับ

P

  • สกลสงสัยในวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ว่าเอามาจากไหน
  • ผมทำหน้าที่ตามข้อมูลของสมาคมรังสีรักษาฯ รู้เลยว่า ระบบการเก็บข้อมูลของบ้านเรายังไม่ดีนัก ถ้าเขามาถามเราจะตอบไม่ได้ หรือ มีข้อมูลที่ยังไม่รวบรวม
  • ผมไม่ได้คิดถึงการ ปั่นคะแนน แต่อยากรู้ประเด็นที่เขาสนใจ เพื่อใช้ผลักดันผ่านสมัชชาครับ

P

  • ผมก็ชอบการเยี่ยมบ้านนะครับ ติดใจตั้งแต่ที่สิงคโปร์ ออสเตรเลียและมาเลเซีย
  • วันนี้ผมเพิ่งเจอคนไข้ที่เราสั่งยาแก้ปวดครบถ้วน แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่กินยาของเราเลย เพราะไม่รู้ว่าลูกเอายาไปวางไว้ตรงไหน ..เฮ้อ..เวรกรรม

P

  • ครบอาจารย์
  • งานนี้ต้องใช้พลังกันอีกเยอะเลยครับ

อาจารย์มีเรื่องเล่าให้ฟังค่ะ...หนูไปเยี่ยม case cancer pain ที่บ้านค่ะ เป็นผู้ชายอายุ 48 ปี เดิมผู้ป่วยไม่กล้ากลับบ้านเพราะกลัวว่าปวดแล้วไม่ทราบจะทำอย่างไร บ้านอยู่ไกล ภรรยาก็เสียชีวิตจากมะเร็งก่อนหน้านี้ 4 เดือน พี่สาวรับมาดูแลที่บ้าน แต่หลังจากได้จัดการความปวดโดยทีม และให้มีการติดต่อ Hot line ได้ 24 ชม. ผู้ป่วยขอกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น หนูโทรถามข่าวในวันแรกและอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทุกครั้งที่โทรไปผู้ป่วยจะพูดคุยด้วยตัวเอง น้ำเสียงไม่สื่อถึงความทรมาน ..เมื่อมา F/U ผู้ป่วยดูเข้มแข็งขึ้นมาก ..ในวันนั้นพี่สาวผู้ป่วยโทรมาบอกว่าผู้ป่วยหายใจเหนื่อย สับสนบางครั้ง และอยากพบพยาบาล พอไปถึง เขายังจำหนูได้ แต่อ่อนแรงมากแล้ว ยิ้มรับพูดว่าจำพยาบาลได้ ขอบคุณที่มาเยี่ยม ขณะนั้นญาติพี่น้องอยู่กันพร้อมหน้า ผู้ป่วยหันไปถามพี่สาวว่าตายดีมั๊ยเหนื่อยมากแล้ว..ผู้ป่วยหายใจเหนื่อย ดูสับสนบางครั้ง ..หนูพุดกับผู้ป่วยเบา ๆ ถามว่าจะให้ช่วยอะไรบ้าง ...ผู้ป่วยบอกว่ามาเยี่ยมอีกก็ดีใจแล้ว จะขอลาด้วย..หนูบอกว่า..ไม่เป็นไร ถ้าเหนื่อยมากก็หลับตานะจะนวดให้..หนูนวดที่หน้าผาก ใบหน้าเบา ๆ แบบ comfort care ให้และให้พี่สาวท่องคำพระให้ฟัง ผู้ป่วยหลับตาเป็นช่วง ๆ ทุกคนให้กำลังใจ ผู้ป่วยลืมตาอีกครั้งและบอกว่าพยาบาลอย่าพึ่งกลับนะ จับมือหนูและพี่สาวไว้ตลอด หนูถามว่ามีอะไรหรือ.. กลัวหรือเปล่า..ผู้ป่วยตอบว่ากลัวต้องไปคนเดียว...หนูบอกว่าถ้าต้องไปแล้วให้ตั้งสติ ทุกคนที่รักคุณอยู่รอบ ๆ ตัวคุณ แล้วเอาพระพุทธรูปองค์เล็กของเขาให้เขากำไว้ แล้วให้หายใจเข้ายาว ๆ ลึก ๆ (เคยแนะนำไว้ก่อนแล้ว) หลังจากนั้น 10 นาทีผู้ป่วยก็จากไป .... ไม่ทุรนทุราย...แม้พี่สาวและญาติ ๆ จะร้องไห้บ้างแต่ก็ดูแล้วไม่ทุกข์มากนัก....แม้จะเศร้าในการจากไปแต่ก็รู้สึกอิ่มที่ยังได้ทำดีบ้างแม้เพียงน้อยนิด....ขอบคุณค่ะ

อนันตะบริบาล

  • เป็น ปิติ ที่คนทำเองสัมผัสได้ คนรับฟังอย่างผมก็ยังสัมผัสบางส่วนได้นะครับ
  • ฝีมือเล่าเรื่องระดับนี้ ผมว่า เปิด blog เขียนบันทึกได้สบายๆเลยนะครับ อยากชวนมาร่วมแลกเปลี่ยนให้ชุมชนแห่งนี้เข้มแข็งขึ้น เกิดประโยชน์จริงๆนะครับ

ไม่แน่ใจว่าประเทศภูฏานติดอันดับไหม แต่ผมมองว่า มิติที่ไม่ได้วัด เช่นลักษณะการเยียวยามิติจิตวิญญาน ที่ดี ความเข้มแข็งของชุมชนที่ดูแลกันเองกับเรื่องแบบนี้

ก็ได้แต่คิดเหมือนกันว่า ประเทศไทยเราเองจะพัฒนาระบบของเราที่สอดรับกับขนบของเราเองได้อย่างไร?

P

  • เขาไม่สำรวจทั้งไทยและภูฏาน นะครับ
  • ดัชนีนี้ เขาวัดระบบบริการระดับประเทศครับ ไม่ได้วัดในระดับบุคคล

สวัสดีค่ะอาจารย์

ระบบสำคัญมากจริงๆ หนูว่าการที่จะดูแลผู้ป่วยให้เป็นแบบองค์รวมหรือดูแลเป็นแบบเจ้าของไข้ระบบต้องเอื้ออำนวยมากๆ

มีวันหนึ่งหนูขึ้นเวรดึกหนูต้องทำงานต่างให้เสร็จสิ้นทั้งกหมอก่อนจึงจะไปดูแลข้างเตียงผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายได้ นั่งเป็นเพี่อนฟังบทพิจารนาตายก่อนตาย(ผู้ป่วยชอบฟัง)จนกระทั่งตี5เริ่มวัดสัญญาณชีพก็ต้องออกมาทำหน้าที่หลักตามเดิม

ขอบคุณมากค่ะ ได้มาพบบันทึกมีคุณค่านี้ เคยดูในรายงาน The Quality of Death: Ranking end-of-life care across the world ก็ไม่พบประเทศไทยเหมือนกัน 1วเลขเหล่านี้เราน่าจะเก็บหรือไม่ เพื่อประเมินตัวเอง (ไม่ใช่เพื่อแข่งขันเอาที่หนึ่ง อย่างที่อาจารย์เตือน) ... น่าสังเกตว่ารายงานนี้ จัดทำโดยนักเศรษฐศาสตร์ (Economist) เป็นมุมมองประเมินในแง่ Cost-effectiveness = Quality/cost คำถามว่า เราควรประเมินแบบเขาหรือไม่ ขึ้นกับ เรายอมรับตามแบบสากลหรือไม่ว่าจะใช้ Cost effectiveness เป็นเป้าหมาย หรือจะใช้ ความสุขมวลรวม แบบภูฎาน ... โดยส่วนตัว คิดว่า น่าจะทำทั้งสองแบบไปพร้อมๆ กันได้ค่ะ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ลอง ไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนจริง ก็คงเป็น "ความเห็น" ซึ่งหาข้อสรุปได้ยาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท