เจ้านายที่ดี-เขามีที่นั่งตรงไหน-ทำอย่างไรไม่ให้ลูกน้องหนีองค์กร


การนั่งในหัวใจใครสักคนได้ต้อง ชนะใจเข้าได้เสียก่อน แล้วจะชนะใจลูกน้องได้ ต้องทำอย่างไร

บทความเรื่องนี้อ่านแล้วชอบจัง ในฐานะเป็นลูกน้องก็อยากให้เจ้านายเข้าใจเราและมานั่งในใจเรา เวลาทำงานก็จะได้มีความเข้าอกเข้าใจกัน เวลาทำงานผิดพลาดไปท่านก็สอนแนะนำให้อย่างเมตตา  ตรงกันข้ามหากเราเป็นเจ้านายก็อยากได้ลูกน้องที่เก่ง รู้ใจ สั่งอะไรไปก็เข้าใจและทำงานได้อย่างถูกต้องไม่ต้องคอยสั่งกันหลายรอบ หรือแก้ไขงานมากมายนัก แล้วคุณล่ะอยู่ในฐานะไหน “เจ้านาย” หรือ “ลูกน้อง” หากอยู่ในฐานะแรกคุณได้เข้าไปนั่งในหัวใจของลูกน้องหรือยัง และถ้าอยู่ในฐานะหลังวันข้างหน้าหากเราได้เป็นเจ้านายก็อย่าลืมเข้าไปนั่งในใจลูกน้องล่ะ บทความนี้เริ่มที่ว่า........

คำถามนี้มักจะเป็นคำถามที่ผมใช้เสมอตอนเปิดเรื่องการฝึกอบรมภาวะผู้นำทั้งในองค์กร และภายนอก

หัวหน้าควรจะนั่งตรงไหน

บางคนตอบ ก็นั่งที่ห้องตนเอง นั่งหัวโต๊ะเวลาประชุม นั่งรวมๆ กับลูกน้อง คำตอบเหล่านี้ไม่ผิดครับ

แต่ที่ที่อยากให้หัวหน้านั่งก็คือ นั่งที่หัวใจลูกน้อง (โอ้ว!  อะไรจะขนาดนั้น จำเป็นด้วยรึ) แต่ถ้ายังนั่งที่หัวใจไม่ได้ ก็อย่าไปนั่งบนหัวลูกน้องเสียล่ะ

การนั่งในหัวใจใครสักคนได้ต้อง ชนะใจเข้าได้เสียก่อน  แล้วจะชนะใจลูกน้องได้ ต้องทำอย่างไร

๑.  เข้าใจ เข้าถึง เห็นใจ และ พัฒนา  เข้าใจ - ต้องรู้จักลูกน้องของเรา ว่าเขาเป็นคนเช่นไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คิดง่ายๆว่าลูกน้องก็เหมือนลูกค้า รู้จริตนิสัยเขาให้ดี จนเรียกได้ว่า "เข้าถึง"ใจของเขาให้ได้ จากนั้น ถ้ามีกรณีที่เดือดร้อน เราต้องเห็นใจ เพราะแต่ละคนก็มีความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน พ่อแก่ แม่ป่วย เมียตกงาน ลูกติดยา มันเกิดขึ้นได้ในทุกๆคนครับ ต้องเห็นใจ

ผมชอบคำภาษาอังกฤษคำหนึ่งที่แปลว่า "เห็นใจ" นั่นก็คือ Sympathy (Sym=ร่วมด้วย เหมือนกัน, Pathos = เจ็บปวดรวดร้าว เจ็บป่วย) เมื่อนำมารวมกันนั่นคือ การที่เราร่วมรู้สึกเจ็บปวดไปกับเข้าด้วย จนเรียกได้ว่า เห็น (เข้าไปใน) ใจลูกน้องนั่นเอง

ต่อมาก็คือ การพัฒนาลูกน้องให้เขาก้าวหน้า สมความต้องการของเขา โดยต้องใช้ เมตตา และกรุณา อย่างมาก อย่าคิดว่าพัฒนาแล้วเขาก็จะทิ้งเราไป ทำกับเราเหมือนเรือจ้าง เหมือนสะพานลอยข้ามถนน เพราะถ้าเราพัฒนาเขา แล้วส่งเสริมให้เขามีโอกาสในองค์กร เขาก็จะอยู่กับเรา และที่สำคัญมันคือความภักดี อันเนื่องจากบุญคุณที่เราเอื้อเฟื้อส่งเสริมพัฒนา คนไทยอย่างไรก็กตัญญู กตเวทีครับ

ข้อหนึ่งคือพื้นฐานที่ดีครับ

๒.  การสื่อสารต้องมีปิยะวาจา คำพูดที่น่ารัก อ่อนหวาน ประโลมใจ แต่เท่าที่เห็นและเป็นกันอยู่ หัวหน้าส่วนใหญ่มีปากเป็นอาวุธ เชือดเฉือน ถากถาง ประณามหยามเหยียด ต้องลองใช้ คำพูดดีดี อ่อนหวานกับลูกน้อง

๓.  ทำหน้าที่เหมือน ครู พี่เลี้ยง และโค้ช ให้ลูกน้อง คอยสอนงาน ให้เขาทำงานให้ได้ดี ให้เขารู้สึกว่าเราช่วยเขาได้ แต่อย่าลงมือทำให้ลูกน้องหมดทุกอย่างเพราะจะทำร้ายเขาในอนาคต คือ เขาจะทำงานไม่เป็นเลยเมื่อไม่มีเรา

.  คอยดูแลเรื่องความเหมาะสมของค่าจ้างเมื่อเทียบกับตำแหน่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะคนเรามักจะเปรียบเทียบเสมอว่าเราอยู่ตรงไหนของตารางค่าจ้าง เพื่อนรุ่นเดียวกันไปเป็นหัวหน้ากองกันหมดแล้ว แต่เรายังต๊อกต๋อยเป็นเสมียนอยู่ทั้งๆที่ความสามารถก็พอๆกัน คนเรามักเป็นอย่างนี้ครับ เงินเดือนเงินดาวน์ก็เช่นกัน

๕.  การสื่อสารป้อนกลับ (Feed Back) เพื่อให้เขารู้ว่าตอนนี้ทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างไร ดีชั่วอย่างไร จะได้ปรับตัวกันทัน อย่าปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นโดยไม่ให้ข้อมูลป้อนกลับ แล้วมาประเมินปลายปี ลูกน้องจะร้องว่า "หัวหน้าไม่แฟร์"

๖.  ให้เป้าหมายที่ท้าทายให้ทำเรื่อยๆ  เพราะคนเก่ง ชอบงานยาก จำไว้นะครับ "งานยากไม่เคยทำให้คนตาย แต่คนมักจะทำให้งานตาย"

ลองนำไปใช้นะครับ อาจจะได้นั่งในหัวใจลูกน้องกันครับ

เมื่อคุณนั่งในหัวใจเขาได้ รับรองว่าคุณจะสบายกาย ใจ ครับ

ข้อมูล:  http://www.oknation.net/blog/hrd/2009/09/07/entry-1

หมายเลขบันทึก: 368518เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2010 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ
  • เป็นสิ่งเตือนใจที่ดีค่ะ
  • ก็อยากนั่งในใจทุกคน ไม่ว่า บทบาทหัวหน้าและลูกน้อง
  • ขอบคุณมากค่ะ

สุดยอดคนเป็นนายเลยครับ ขงจื้อกล่าวว่า"ข้าพเจ้าไม่ต้องการนั่งบนหัวของใคร เพราะมันตกง่าย แต่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะนั่งอยู่บนหัวใจเขามากกว่า เพราะนั่งได้นาน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท