เมื่อชาวบ้านเห็นตัวเองเป็นตัวเอก : การเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในการคืนข้อมูลด้านสื่อสู่ชุมชน


การที่คนเราจะเอาใจใส่ในสิ่งเล็กๆ แม้แต่วิญญาณของไส้เดือนนี่ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่ธรรมดานะครับ ในกระแสโลกที่ใครๆ แย่งชิงกันจะเป็นใหญ่อย่างนี้

คืนวันอังคาร 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้เวลาสักทีสำหรับการนำเอาภาพยนตร์สารคดีที่ทางทีมสโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน อำเภอปางมะผ้าได้ถ่ายทำพิธี ทรายก่อเว ของชาวลาหู่ยีไว้ ไปคืนข้อมูลและถอดความหมายพิธีกรรมออกมาทำเป็นรายงานเตรียมส่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

               ทีแรกคิดว่าจะเลือกจัดเป็นเวทีใหญ่ ให้ชาวบ้านมาดูกันเยอะๆ แต่เกรงว่าจะวุ่นวายกับเสียงจ้อกแจ้กจอแจ และวุ่นกับการจัดการคนจำนวนมาก ก็เลยเลือกจัดแบบกันเอง กลุ่มเล็กๆ คือไปจัดฉายกันที่บ้านผู้นำศาสนา (โตโบ) ดูกันเฉพาะครอบครัวของโตโบแทน และก็มีล่ามแปลภาษาลาหู่ยี เป็นสมาชิกของสโมสรของเราและเป็นเยาวชนแกนนำของหมู่บ้านอีกหนึ่งคนมาช่วย ซึ่งช่วยในการแปลความหมายจากโตโบมาเป็นภาษาไทยได้มาก

               เนื่องจากบ้านโตโบไม่มีทีวี แต่โชคดียังมีปลั๊กไฟฟ้า ผมเลยอาศัยเด็กวัยรุ่นไทใหญ่อีกสองคนที่อยู่ใกล้บ้าน ช่วยยกทีวี และกล้องวิดีโอขึ้นรถ ด้านหนึ่งก็อยากให้พวกเขาเรียนรู้การทำงาน และรู้ความหมายของพิธีกรรมต่างชาติพันธุ์ในบรรยากาศแบบ จับเข่าคุยอย่างค่ำคืนนี้

               โดยสรุปพิธีทรายก่อเวนี้ จัดขึ้นในวันศีลใหญ่ของชาวลาหู่ยี หรือมูเซอแดงทุกหมู่บ้าน เพื่อเป็นการไถ่บาปที่ชาวบ้านทำลายศัตรูพืช เช่น หนอน ไส้เดือน แมลง ที่มากัดกินพืชไร่ของพวกเขา และบูชาพระเจ้าที่พวกเขาเคารพนับถือ เพื่อส่งผลให้พระเจ้าคุ้มครองดูแลช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรทั้งการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตดีครับ

               ผมคิดว่า การที่คนเราจะเอาใจใส่ในสิ่งเล็กๆ แม้แต่วิญญาณของไส้เดือนนี่ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่ธรรมดานะครับ ในกระแสโลกที่ใครๆ แย่งชิงกันจะเป็นใหญ่อย่างนี้

               เอาล่ะครับ ยังมีอะไรอีกหลายประเด็นที่เป็นรหัสความหมายซ่อนอยู่ในพิธีทรายก่อเวนี้ แต่ยังไม่อยากเอ่ยถึงตอนนี้ เพราะยังไม่ได้วิเคราะห์ถี่ถ้วนพอ เป็นนักวิชาการจะพูดจะเขียนอะไรก็ต้องระวังอย่างงี้ละครับ มันกระทบหลายชิ่ง เขียนไม่ดีตัวเองโดนด่าไม่เท่าไร แต่ถ้าชาวบ้านพลอยรับเคราะห์ไปด้วย นี่ก็จะเป็นบาปบริสุทธิ์ไปโดยแท้

               สิ่งที่ผมประทับใจมาก นอกจากจะเป็นเรื่องถอดรหัสความหมาย ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ยังชื่นใจ ที่ได้เห็นสีหน้า แววตา ท่าทางของโตโบ และภรรยา พร้อมลูกหลาน ที่ดูทีวี ที่พวกเขาเป็นตัวเอกร่วมกันอย่างสนุกสนาน  มันอาจจะเป็นหนังที่ได้รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำในสายตาของพวกเขาก็เป็นได้

            ก่อนกลับ แม่เฒ่าภรรยาของโตโบบอกว่า ตัวแกสามารถเป่าแคน และร้องเพลงเกี้ยวพาราสีตามประเพณีของลาหู่ยีได้ ถ้าทางผมอยากจะมาถ่ายทำภาพยนตร์ ก็ยินดี  ผมค้นพบว่า พวกเขาเห็นความสำคัญและรู้สึกภูมิใจในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เช่นนี้ ผ่านทางการสร้างเสริมสื่อและศึกษาร่วมกันเช่นนี้ ได้ไม่ยากเลย

               น่าเสียดาย ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ทำให้ผมไม่สามารถนำภาพบรรยากาศมาฝากกันได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด มิตรภาพและการเรียนรู้อย่างสันติที่ผมได้รับจากกระท่อมไม้ไผ่ในค่ำคืนนั้น มีค่าต่อการขัดเกลาตัวเองเหลือประมาณ                                                                                                                                                    
หมายเลขบันทึก: 36207เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2006 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • บรรยายได้ชัดเจนมากครับ
  • ขนาดไม่มีรูปภาพนะครับ
  • ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

จริง ๆ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ( ปัจจุบัน ) ก็ให้สิทธิจัดกระทำตามบทบัญญัติของกฏหมายอยู่แล้ว กอปรกับ พรบ.การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารฉบับ พ.ศ. 2542  ได้กำหนดให้จัดกระทำอยู่แล้ว...แต่อาจจะรู้เฉพาะกลุ่มเท่านั้นเอง.............

ความหมายของสื่อ มีหลากหลาย เพียงแต่ว่าจะเลือกสื่อใด ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ๆ และสามารถเข้าถึงได้และมีประสิทธภาพเพียงใด

ไม่ใช่เฉพาะ ชาวลาหู่เท่านั้น ที่มีพิธีกรรมในการขอขมาต่อ ชีวิตของเหล่าสรรพสัตว์ที่ต้องตายลงเนื่องจากการประกอบการเกษตรของบรรดาชาวเขา พิธีกรรมเช่นนี้ก็ปรากฏในสังคมของชาวอาข่าเช่นเดียวกัน

โดยพิธีกรรมมีวัตถุประสงค์ในการสอนให้คน (มนุษย์) รู้จักคุณค่าชีวิตอื่น ๆ แม้กระทั่ง ชีวิตที่มนุษยน์ที่เจริญแล้วเรียกพวกเขาว่า "เดรัจฉาน" ว่าได้พวกเขาเองได้ก่อความผิดบาปต่อชีวิตอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของตนในการยังชีพ ไม่ว่าจะเกิดจากการถางป่า เผาหญ้า ตัดต้นไม้ ฯลฯ

มันเป็นสิ่งที่เล็งเห็นถึง ระบบคิด และวิธีการสอนถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและ "ชีวิตอื่น"

ใจจริงไม่อยากจะนำโยงไปถึง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้สักเท่าไหร่ แต่ก็อดไม่ได้ เพราะ ชาวเขา เหล่านี้ ยังมีความสำนึกระลึกถึง คุณค่าแห่งชีวิตเล็ก ที่ ร่วมอยู่อาศัยบนโลกใบเดียวกันอย่างมั "รหัสนัย" แต่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้กระทำการต่าง ๆ ที่มี "รหัสนัย" อย่างไม่น่าพึงประสงค์และไม่น่าสรรเสริญ หรือน่านับถือยกย่อง แม้แต่นิดเดียว เทียบไม่ได้กับ ความสำนึกของ ชาวลาหู่ยี และ ชาวอาข่า ที่เห็นคุณค่าของชีวิตแม้กระทั่ง "ชีวิตใส้เดือน"

ขอบคุณทุกความคิดเห็น และขอร่วมประณามผู้ใช้ความรุนแรงในภาคใต้ รวมถึงการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ในทุกประเทศด้วย ประณามนะครับ แต่ไม่ได้อยากให้มีการเกลียดชังกันไปกว่านี้ เพราะความเกลียดชังย่อมเป็นเชื้อของความรุนแรง และเรามิอาจยุติความรุนแรงได้ด้วยความรุนแรง แต่สิ่งที่ประเทศของเราขาดแคลนมากคือการศึกษาที่เชื่อมโยงพหุชาติพันธุ์ เชื่อมโยงกับระบบนิเวศ และให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น มิใช่สร้างให้แข่งขันฟาดฟันกันอย่างที่เป็นอยู่ครับ.....ประเด็นที่น่าคิดก็คือ เราจะทะลุกะลาของการศึกษากระแสหลักได้อย่างไรโดยให้เกิดความบอบช้ำต่อตัวเราและผู้อื่นน้อยที่สุด
เห็นภาพความตั้งใจของทีมงาน...งานดี ๆ ความตั้งใจดีๆ ...ขอให้กำลังใจครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท