นักศึกษาปริญญาเอก : ๖. ปิ๊งแว้บระหว่างเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาปริญญาเอก


          ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องนักศึกษาปริญญาเอกไว้ที่นี่  วันนี้ (๖ เม.ย. ๕๓) ไปสอบ นศ. ป. เอก  ทำให้เกิดอาการปิ๊งแว้บ   และได้ใช้ iPhone จดไว้   จึงนำมา ลปรร. ที่นี่   โดยไม่รับรองว่าความคิดของผมจะถูกต้องหรือเหมาะสม 

          ผมมีข้อสังเกตจากการสัมผัส นศ. ป. เอกจำนวนไม่มาก   ว่านักศึกษาเสียเงินไม่ใช่น้อยเพื่อให้ได้รับปริญญา เป็น ด็อกเตอร์   แต่ได้ใช้บริการของมหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาน้อยไป   คือมักจะเรียนตามสบาย ไม่ได้เอาใจใส่ฝึกฝนตนเองให้มีคุณสมบัติที่ดุษฎีบัณฑิตย์พึงมี อันได้แก่


   ทักษะในการเขียนให้มีความแม่นยำ กระชับ อ่านง่าย ใช้ถ้อยคำถูกต้อง และน่าเชื่อถือ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ   ซึ่งต้องการการฝึกฝน   หากมหาวิทยาลัยไม่จัดการสอนหรือฝึกให้  นักศึกษาควรเรียกร้อง
          ทักษะนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อถึงคราวเขียนวิทยานิพนธ์ และเขียนบทความรายงานผลการวิจัย


   ทักษะในการนำเสนอผลการวิจัย   เมื่อเป็นทักษะ ก็ย่อมต้องการการฝึกฝน   ซึ่งหมายความว่า นศ. ควรได้ซ้อมทำวิจัยขนาดจิ๋ว สำหรับซ้อมทักษะสารพัดด้านในการทำวิจัย การนำเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมวิชาการ และการเขียนรายงานผลการวิจัยเพื่อตีพิมพ์   หาก อจ. ที่ปรึกษามอบหมายให้เรียน   นศ. ไทยส่วนใหญ่อาจมองว่า อจ. หลอกใช้ หรือหิน   แต่ผมมองว่า อจ. คนไหนให้ นศ. ป. เอกได้ซ้อมทำงานแบบนี้   นั่นคือยอดอาจารย์


   ทักษะในการอ่านรายงานผลการวิจัยแบบแตกฉาน วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือเป็น   กล่าวในภาษาวิชาการว่า อ่านแบบมี critical appraisal เป็น   นี่ก็เป็นทักษะอีกแล้ว    ต้องการพี่เลี้ยงฝึกให้อีกแล้ว   รวมทั้งต้องหมั่นฝึกฝนตนเองด้วย


          ในมุมมองของผม วิธีฝึกที่ดีที่สุดคือลงทะเบียนเรียนวิชานี้   โดยถือเป็นวิชาฝึกทักษะ   มีการมอบหมายการบ้านให้ นศ. ไปอ่าน แล้วมานำเสนอต่อเพื่อนในชั้น   ให้เพื่อน feedback เรารวมทั้งอาจารย์คอยสรุป   ผลัดกันทำการบ้าน ผลัดกันนำเสนอ ผลัดกัน feedback  ก็จะเกิดการเรียนรู้ทั้งหลักการและทักษะ   


          ที่จริง นศ. น่าจะขอเลือกบทความที่เป็นการบ้านเอง   และเลือกบทความที่อ่านยาก ทำความเข้าใจยาก ในเรื่องที่เล็งไว้ว่าจะเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์    ก็จะได้ทั้งการฝึกวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ และได้เรียนรู้สาระวิชาการด้วย 

  
   ความเป็นคนขี้สงสัยไม่เชื่อง่าย   นอกจากมีทักษะ critical appraisal แล้ว    ยังต้องตั้งคำถามเก่ง   ซึ่งต้องฝึก   ต้องฝึกตนเอง และหมั่นสังเกตคนที่ตั้งคำถามเก่ง   การเป็นนักวิชาการที่เก่ง ความสามาถในการตั้งคำถาม สำคัญกว่าความสามารถในการตอบคำถาม 


   ทักษะในความละเอียดประณีต   ผลิตผลงานทุกอย่างด้วยความประณีตบรรจง   แต่ก็ไม่ล่าช้า   ซึ่งนอกจากมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำแล้ว   ตัวเองก็ต้องหมั่นสังเกตและเรียนรู้จากคนที่ได้รับการยกย่องในด้านนี้ด้วย  


   ผมคิดว่า หาก นศ. ป. เอก ตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ในช่วง ๔ – ๕ ปีที่เรียน ป. เอก   ถึงคราวสอบจะผ่านอย่างฉลุย

 

วิจารณ์ พานิช
๖ เม.ย. ๕๓
 
              

หมายเลขบันทึก: 357908เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนนี้ดิฉันกำลังจะไปศึกษาปริญญาเอก

ขอคำแนะนำจากอาจารย์ด้วย เพราะอ่านบทความเกี่ยวกับ

การศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้วก็หวั่น ๆ เหมือนกันเพราะตอนนี้

ก็ทำงานเป้นครู ระดับประถมศึกษา แต่ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น

จึงพยายามสอบและตั้งใจจะไปเรียนอย่างเต็มที่

แต่ดิฉันก็ยังขาดทักษะในการเรียนอย่างที่อาจารย์เขียนไว้

ขอคำแนะนำด้วยนะค่ะ

ห่างหายการเข้ามาอ่านข้อเขียนของอาจารย์นานมาก

เรื่องนี้ ตรงประเด็นมาก จะนำไปเผยแพร่ ให้ทั้ง นศ. และ อาจารย์ที่ปรึกษาให้มากที่สุดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท