การจัดการความรู้ กับการเรียนรู้ของชุมชน : มองกิจกรรมประเมินโครงการจากแว่น Appreciative Inquiry


ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ เกิดการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขอย่างยั่งยืน ต้องมีการจัดองค์กร หรือสถาบันขึ้นภายในชุมชน ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้แบบเน้นการเรียนรู้แนวราบ คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

การจัดการความรู้ กับการเรียนรู้ของชุมชน : มองกิจกรรมประเมินโครงการจากแว่น Appreciative Inquiry

         วันที่ ๑๙ มิย. ๔๙ ผมเข้าร่วมประชุม การนำเสนอผลการประเมินผลงานของโครงการ สรส. (เสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเปนสุข) ที่ สสส. ให้ทุนสนับสนุน และมอบให้ สกว. บริหารทุนสนับสนุน หัวหน้าโครงการ สรส. คือคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ แต่จริงๆ แล้วโครงการในแต่ละภาคดำเนินการอย่างเป็นอิสระ แต่มีกลไกให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคผ่านโครงการกลาง และคณะกรรมการอำนวยการที่มีผมเปนประธาน

         หัวหน้าโครงการประเมินคือ ผศ. นพ. ธนา นิลชัยโกวิทย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี

         การประเมินนี้มีความเป็นวิชาการและซับซ้อนมาก ผมมองว่า นอกจากได้ผลเชิงประเมินแล้ว ยังได้ผลเชิงการสร้างวาทกรรม หรือการพูดคุยซ้ำๆ เกี่ยวกับการจัดการความรู้ จนคำนี้ติดหูติดปากนักพัฒนาในชุมชน นับว่าโครงการ สรส. เป็นพันธมิตรของการขับเคลื่อน KM ในชุมชนที่เข้มแข็งยิ่ง

          ผลลัพธ์ที่คาดหมายจากโครงการ์ มี ๔ ด้าน

              ๑. การสร้างนักจัดการความรู้ท้องถิ่น ซึ่งบางภาคเรียกว่านักจัดกระบวนการเรียนรู้ ทางภาคเหนือเรียกว่าทีมทำและทีมนำ

              ๒. การสร้างชุดความรู้

              ๓. เครือข่ายการเรียนรู้ และการเรียนรู้

              ๔. สถาบันจัดการความรู้ในท้องถิ่น

           คณะประเมินโครงการได้ประเมินผลเป็นอย่างดีหากมองตามแนวที่ใช้กันทั่วไป    แต่ตอนนี้ผมคิดไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว   ผมมองว่าการประเมินว่าโครงการได้ผลแค่ไหน กระบวนการทำงานของโครงการแข็งหรืออ่อนแค่ไหน คนที่เกี่ยวข้องพอจะรู้อยู่แล้ว    การประเมินโดยถามว่าได้ผลแค่ไหน เพราะอะไร จึงไม่ใช่ประเด็นหลักสำหรับผม   เวลานี้ผมกำลังคลั่ง Appreciative Inquiry ผมจึงอยากเห็นการประเมินหาความสำเร็จ ว่าหน่วยย่อย/กิจกรรมย่อยใด ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม สำเร็จในด้านไหนหรือมิติไหน คือผมมองว่า คณะผู้ประเมินน่าจะทำหน้าที่ Discovery ค้นหาความสำเร็จน้อยใหญ่ ซึ่งจะมีผลอำนวยความสะดวกต่อการ ลปรร. ระหว่าง node ของกิจกรรมเรียนรู้เพื่อชุมชนเปนสุข ต่อไป ผมแปลกใจนิดๆ ที่เมื่อผมเสนอแนวคิดนี้ต่อที่ประชุม ที่ประชุมแสดงท่าทีเห็นด้วย เวลานี้คนที่รู้จักผมเขามีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับผมมากไปหรือเปล่า

          ผมสนใจการประเมินเพื่อให้เกรดผลงาน น้อยกว่าการประเมินเพื่อช่วยให้สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายของโครงการ/กิจกรรมต่อไปอีก    คือผมสนใจการดำเนินการไปข้างหน้ามากกว่าการมองไปข้างหลัง มองผลการประเมินเพื่อการ ลปรร. ไปข้างหน้ามากกว่า

         ผมชอบข้อสรุปของ ลุงริน (สุรินทร์ กิจนิจชีว์) ว่า สสส. สำนัก ๓ มีข้อสรุปแน่นอนแล้ว ว่า ชุมชนจะเป็นสุขได้ ต้องสามารถจัดการตนเองได้ เรียนรู้เองได้ หริอจัดการความรู้ด้วยตนเองได้ โดยมี “คุณอำนวย” ไปช่วยส่งเสริม / อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ / แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ไปครอบงำ / ชี้นำ / ถ่ายทอดความรู้

        คุณทรงพลบอกว่า เวลานี้ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ เกิดการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขอย่างยั่งยืน ต้องมีการจัดองค์กร หรือสถาบันขึ้นภายในชุมชน ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้แบบเน้นการเรียนรู้แนวราบ คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเรียนรู้แนวดิ่ง คือการรับถ่ายทอดมาจากภายนอก) ลักษณะสำคัญที่จะทำให้องค์กรหรือสถาบันนั้นเป็น ของจริงและยั่งยืน ก็คือ 

             (๑) ต้องไม่เน้นโครงสร้าง (structure) แต่เน้นการปฏิบัติภารกิจ (function)

             (๒) องค์กรในท้องถิ่น เช่น อบต. เข้ามามีส่วนริเริ่มจัดตั้งและสนับสนุนทรัพยากร

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 34723เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2006 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท