วันที่ 23 พค ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าร่วมอบรมวิจัยคุณภาพรายการหนึ่งเรื่อง "วิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม" ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัย มหิดล (แต่ไปจัดที่ ราชภัฎ สวนสุนันทา โรงแรมแก้วเจ้าจอม) ตั้งใจมากนะครับว่าจะต้องทำความเข้าใจกับการวิจัยประเภทนี้แล้วนำมาใช้ในงานประจำให้ได้ การอบรมครั้งนี้ใช้เวลา 4 วันพักที่ รร,นั้นเลยครับ โรงแรมเก่าไปหน่อยแต่ก็มีข้าวปลาอาหารพร้อม มื้อเย็นต้องซื้อกินเองนะครับ (ขอชมว่า รร.นี้อาหารบุฟเฟ่ต์ อร่อยมาก โดยเฉพาะน้ำพริกมีทุกวัน เปลี่ยนทุกวันไม่ซ้ำกัน)
อาจารย์ที่อยู่กับเราทั้ง 4 วันเป็นเหมือนหัวหน้าทีมในการอบรมครั้งนี้ คือ ดร วรรณรา ชื่นวัฒนา พวกเราเรียกท่านว่า ดร,ตู้ สตรีร่างกระทัดรัดคนนี้ ร่ำรวยอารมณ์ขัน สามารถสอดแทรกความรู้ และประสบการณ์เรื่องวิจัยคุณภาพมาเล่าให้พวกเราฟังอย่างสนุกสนาน
ผมว่าไม่มีใครหลับได้ลง ถ้ามีอาจารย์เป็นวิทยากร ทั้งอารมณ์ขันและเทคนิคการนำเสนอ สลับฉากกับการนำผู้เข้าอบรมเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการเล่นเกมเชื่อมความสัมพันธ์ เพื่อทำความรู้จักกันหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วันแรกก็ได้เพื่อนมากมายหลายอาชีพครับ มีทั้ง อาจารย์ มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ หมอ พยาบาล ครู ฯลฯ ทั้งหมดประมาณ 20 กว่าคน ทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกัน คือมาเรียนรู้เรื่องของการทำ "วิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม" เห็นความตั้งใจของแต่ละคน ก็อดภูมิใจแทนผู้จัดไม่ได้ ตามความเห็นของผม ถือว่าการจัดอบรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปเกินครึ่งตั้งแต่วันแรกแล้ว
สำหรับวันนี้ เนื้อหาที่เราได้รับในภาคเช้า จะเป็นความหมายทั่วๆไปของการวิจัย ผมถูกใจกับความหมายที่ว่า "วิจัยคือการค้นหาให้เกิดปัญญา หรือ ทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้น
การวิจัยที่ถูกต้องจะต้องถูกทั้งวิธีคิดและวิธีการ เพื่อนำไปสู่ผลสุดท้ายคือความจริง และวิจัยคุณภาพก็คือการค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ทำความเข้าใจมนุษย์เฉกเช่นมนุษย์ด้วยกันควรจะเข้าใจ คำถามวิจัยส่วนใหญ่จะตั้งต้นด้วยคำว่า "ทำไม" , "อย่างไร" การวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นเชิงอุปมาน คือรวบรวมหลักฐานเหตุผลทั้งหลาย แล้วสรุปสร้างเป็นทฤษฏี กลุ่มตัวอย่างก็เลือกจากคนที่รู้จริงมีข้อมูลดี ไม่ใช่ได้จากการสุ่ม และเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของการวิจัยเชิงคุณภาพก็คือ ตัวนักวิจัยเองนั่นแหละครับ การวิจัยตามความหมายดังกล่าวนี้เป็นการวิจัยภายนอกครับ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของคนเราคือการวิจัยสิ่งที่อยู่ภายใน ค้นหาความจริงในหัวใจอยู่เสมอๆว่า ขณะนั้นๆยังมีสติสัมปชัญญะที่ผ่องใสเบิกบานอยู่หรือไม่ หรือว่าใจหลุดลอยไปไหนต่อไหนซะแล้ว ไปจมทุกข์ จมสุขอยู่ที่ใด ฝึกวิจัยแบบนี้บ่อยๆนะครับ