โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (13.3) ผสมพันธุ์ข้าว ตอนที่ 3


...การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกัยระบบเกษตรกรรมยั่งยืนต้องดูแลจนกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างข้าวในฝัน...

     การปลูกข้าวลูกผสมในแต่ละรุ่น มีกระบวนการและรายละเอียดต่างๆที่นักเรียนชาวนาควรต้องเรียนรู้และนำไปปฏิบัติกันอย่างจริงจังและอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นักเรียนชาวนาต้องใจเย็นๆ ตั้งใจรอข้าวลูกผสมทีละรุ่นๆ หลายรุ่นก็นานเดือน แน่นอนแหละว่าต้องอาศัยช่วงเวลานานแรมเดือนเกินปี

     นักเรียนชาวนาควรต้องเข้าใจว่า ข้าวลูกผสมที่ได้มักจะมีการกระจายตัวที่หลากหลาย การปลูกคัดเลือกเพื่อค้นหาพันธุ์ที่ต้องการจึงควรมีรูปแบบวิธีการคัดเลือกอย่างเหมาะสมกับระบบการผลิตของนักเรียนชาวนา อาทิ การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การปฏิบัติดูแลรักษาจำเป็นต้องเป็นไปตามความสอดคล้องกับตัวระบบ ตั้งแต่การคัดเลือก จนกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างข้าวในฝัน และจำเป็นต้องปลูกทดสอบคัดเลือกอย่างต่อเนื่อง ประมาณ ๖ – ๘ รุ่น

     ข้าวลูกผสมรุ่นที่ ๑ (F๑) นำเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาเพาะกล้า จนเมื่ออายุครบ ๒๕ วัน จึงย้ายไปลงปลูกในกระถางหรือลงแปลง การจัดระยะห่างของช่วงปลูกก็สำคัญ จัดให้ห่าง ๒๕ x ๒๕ เซนติเมตร ปักดำ ๑ ต้น เท่านั้น

     ส่วนดูแลรักษานั้น ก่อนอื่นต้องกล่าวกันถึงเรื่องการบำรุงดิน ควรใช้ปุ๋ยหมักควบคู่กับการใช้จุลินทรีย์ ใช้สมุนไพรในการป้องกันแมลง หากพบว่า มีต้นข้าวไม่ต้านทานต่อโรคหรือแมลง นักเรียนชาวนาควรจะถอนต้นข้าวเหล่านั้นทิ้งไป

     หากแม่พันธุ์เป็นข้าวนาปี พ่อพันธุ์เป็นข้าวนาปรัง รุ่นลูกที่ได้จะต้องออกรวงนอกฤดูกาลได้ ทว่า หากนักเรียนชาวนาพบต้นข้าวต้นใดที่ไม่ออกรวง นั่นก็แสดงว่า ต้นข้าวต้นนั้นเกิดจากการผสมตัวเอง ก็ให้ถอนทิ้งไป นักเรียนชาวนาควรจะคัดเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างข้าวในฝัน

     เมื่อผ่านรุ่นแรกไปแล้ว ก็เข้าสู่รุ่นที่ ๒ (F๒) ในรุ่นนี้จะมีการกระจายตัวทางพันธุกรรมมาก การปลูกคัดเลือกจะต้องปลูกข้าวทุกเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่นแรก

     วิธีการปลูก ตกกล้าอายุ ๒๕ วัน นำไปปักดำในระยะ ๒๕ x ๒๕ เซนติเมตร ปักดำ ๑ ต้น ส่วนการดูแลรักษา ก็เป็นไปเช่นเดียวกันกับรุ่นแรก และส่วนการเก็บเกี่ยวให้แยกกอ แบ่งตามลักษณะอายุการเก็บเกี่ยว แยกไว้เป็นชุดๆ แล้วทดสอบการเป็นท้องไข่ ให้เลือกรวงที่ไม่เป็นท้องไข่ เลือกเมล็ดที่มีคุณภาพดีไปปลูกในรุ่นที่ ๓ กันต่อไป

     ในการปลูกลูกผสมรุ่นที่ ๓ (F๓) นำเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่นที่ ๒ มาตกกล้า แยกเป็นชุดๆ พอต้นกล้าอายุได้ ๒๕ วัน ให้นำไปปักดำ จัดแถวจัดระยะห่างการปลูก ระยะเดิม ๒๕ x ๒๕ เซนติเมตร ในรุ่นนี้ให้แยกปลูกชุดละ ๔ แถว หรือมากกว่านี้ก็ได้ ความยาวประมาณ ๕ เมตร ต่อ ๑ ตัวอย่าง ส่วนการดูแลรักษาให้ปฏิบัติตามเดิม ได้โปรดอย่าลืมว่าข้าวในฝันที่ได้กำหนดไว้เป็นเช่นไร หากพบต้นข้าวต้นใดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขอให้ถอนทิ้งออกจากแปลง

     ต่อมาสำหรับการปลูกข้าวลูกผสมรุ่นที่ ๔ – ๖ (F๔ – F๖) ข้าวลูกผสมบางตัวอย่าง พบว่า มีความสม่ำเสมอทางสายพันธุ์บ้างแล้ว การปลูกคัดเลือกในรุ่นนี้สามารถนำเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่นที่ ๓ มาเพาะกล้า แยกเป็นชุดๆ พอต้นกล้าอายุได้ ๒๕ วันแล้ว นำไปปักดำ จัดระยะตามเดิม ความยาวของแปลงปลูกประมาณ ๕ เมตร

     การดูแลรักษาให้ปฏิบัติตามเดิม ต้นข้าวต้นใดที่อ่อนแอ ไม่ต้านทานโรค ไม่ต้านทานแมลง ก็ถอนทิ้งไป เลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่มีลักษณะดีตามวัตถุประสงค์ ให้คัดเลือกเพื่อนำไปปลูกในรุ่น ๖ รุ่นที่ ๗ และรุ่นที่ ๘ ตามลำดับ

     สายพันธุ์ที่ผ่านการปลูกคัดเลือก ๖ – ๘ รุ่น จะมีความนิ่งทางสายพันธุ์สูง นักเรียนชาวนาสามารถนำไปปลูกขยายเปรียบเทียบผลผลิต และรับรองพันธุ์ใหม่ที่ได้นี้เพื่อปลูกเป็นพันธุ์ใหม่สืบต่อไป

     กระบวนการปลูกข้าวลูกผสมตั้งแต่รุ่นที่ ๑ – ๘ สามารถสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

 

 

หมายเลขบันทึก: 34622เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • องค์ความรู้เรื่องข้าวมาอยู่ที่gotoknow
  • และที่สุพรรณบุรีนี่เอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท