บันทึกบ้านเมืองไทย : 1. ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับบริการสุขภาพ


น่าจะมีกลไกบอกสาธารณชนในเรื่องลึกๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าด้าน ว&ท และต้องมีกลไกแปลออกเป็นการกระทำหรือกิจกรรม ที่จะทำให้สังคมของเราได้ประโยชน์ ไม่ถลำตามเขาไปจนติดกับดัก

• ผมได้แรงกระตุ้นให้เขียนบันทึกนี้ จากการอ่าน นสพ. เดอะ เนชั่น วันที่ ๑๘ มิย. ๔๙  ชื่อคอลัมน์ Scientific advances  promised personalised integrated healthcare  เขียนโดย นพคุณ ลิมสมานพันธ์  ซึ่งอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ (click) 
• ผมมองว่าบทความนี้ได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมของนักธุรกิจ และนักวิทยาศาสตร์ที่เน้นการประยุกต์เชิงธุรกิจมากไปหน่อย (เขาอ้างบริษัท โรช)    ผู้เขียนไม่ได้มองจากมุมลึกๆ เชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ว&ท) ที่แท้จริง
• ในช่วง ๒ เดือนที่แล้วผมได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลกให้ช่วยเป็น reviewer หนังสือหรือข้อเขียนขององค์การอนามัยโลก ชื่อ The Ethical, Legal and Socio-Cultural Implications of Pharmacogenomics in Developing Countries  (ใครอยากได้ต้นฉบับร่างขอจากผมได้) ทำให้ผมได้เข้าใจข้อจำกัดในเรื่องการใช้ประโยชน์ความก้าวหน้าทาง ว&ท ในประเทศกำลังพัฒนา    ทำให้ได้คิดว่าวาทกรรมเรื่องคุณประโยชน์ของ ว&ท นี้ มันเป็นการเมืองว่าด้วยผลประโยชน์    และผู้มีอำนาจทางวาทกรรมคือผู้กุมความรู้ เขาจะปล่อยวาทกรรมที่ทำให้เขากุมอำนาจจากความรู้นั้นได้มากยิ่งขึ้น   
• จริงๆ แล้วการใช้ประโยชน์ความก้าวหน้าทาง ว&ท ในประเทศกำลังพัฒนามีแง่มุมที่ต้องระมัดระวัง   และคิดดำเนินการเชิงระบบ มากกว่าที่บริษัทยาบอกเราเยอะ    โชคดีที่มี WHO คอยรวบรวมบอกเรา    แต่คนที่จะเข้าถึงเอกสารของ WHO ก็มีจำกัด    เข้าถึงแล้วก็ไม่เข้าใจลึกพอ   เราจึงน่าจะมีกลไกบอกสาธารณชนในเรื่องลึกๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าด้าน ว&ท   และต้องมีกลไกแปลออกเป็นการกระทำหรือกิจกรรม ที่จะทำให้สังคมของเราได้ประโยชน์    ไม่ถลำตามเขาไปจนติดกับดัก    ตัวอย่างของการติดกับดักคือระบบขนส่งและคมนาคม ที่เราใช้ถนนเป็นหลัก   เลิกใช้รางเป็นหลัก   ยิ่งน้ำมันแพงยิ่งขึ้นเท่าไร เราจะเห็นหลุมพรางที่เราตกลงไปชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  
• บทความนี้เน้น personalised healthcare ที่จะเป็นไปได้เนื่องจากความก้าวหน้าทาง genomics, pharmacogenomics, proteomics, molecular biology, etc. ทำให้สามารถพัฒนายาที่เหมาะกับคนเป็นรายคน    ซึ่งในทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติจะไม่จริง    เพราะจะทำให้ค่าบริการแพงอย่างมาก    ที่เป็นไปได้คือพัฒนายาให้เหมาะเป็นรายกลุ่ม    ซึ่งในกรณีเช่นนั้นประเทศไทยเราโชคดีที่มีโครงการร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนายาให้เหมาะสมต่อกลุ่มคนไทยอยู่บ้าง    แม้จะยังไม่เพียงพอ  
• ที่จริงบทความนี้ระบุเรื่องราวในแนว personalised healthcare ไว้อย่างสมดุลและครบถ้วนดีมาก   แต่ในส่วน highlight เขาระบุความสำคัญเฉพาะ personalised medical care ซึ่งแคบกว่าเยอะ    และชี้นำไปในทางเข้าใจผิดได้ง่าย   ว่าข้อดีที่สุดของความก้าวหน้าของ ว&ท ต่อการดูแลสุขภาพคือทำให้ยาดีขึ้น   จริงๆ แล้วยาจะดีขึ้นอย่างแน่นอน    แต่นั่นไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด   ส่วนที่สำคัญที่สุดคือจะช่วยทำให้เราแต่ละคนรู้จักตัวเราเองได้ดีขึ้น    รู้ว่าคนอื่นเขาปฏิบัติตัวบางแบบ (เช่นสูบบุหรี่) ได้โดยอันตรายไม่มากนัก    แต่ถ้าเราริอ่านสูบเข้า มะเร็งจะถามหาในอัตราที่สูงกว่าไม่สูบบุหรี่นับร้อยเท่า    ผมจึงมองว่าประโยชน์ที่เรียกว่า personalised healthcare เน้นที่ personalised selfcare มากกว่า    เป็นจุดเน้นที่ได้ผลกว้างขวางกว่า และไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินของประเทศ ต่อกระเป๋าของเราแต่ละคน และต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศ  
• ผมขอเสนอต่อ บวท. (บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) และ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) ให้หาทางจัดการประชุมทำความเข้าใจความก้าวหน้าของ ว&ท ในแง่มุมของจุดเน้นของการใช้ประโยชน์ในสังคมไทย   ข้อพึงระวังเชิงนโยบายไม่ให้เราตกหลุมของดี    จนกลายเป็นพันธนาการระยะยาวอย่างเทคโนโลยีขนส่งและคมนาคม

วิจารณ์ พานิช
๑๘ มิย. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 34620เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท