ครบรอบ ๑ ปี Blog Gotoknow


Gotoknow มีสีสันเพราะ blogger แต่ถ้าขาดผู้พัฒนาเราก็จะไม่มีเวที

เมื่อวานนี้เป็นวันพิเศษที่ชาว Blogger เกือบ ๓๐ คนได้รับเชิญจาก สคส.มาร่วมงานฉลองครบรอบ ๑ ปี ของ gotoknow พวกเราได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เว็บบล็อกและได้ทำความรู้จักกับ Gotoknow Version 2 ดิฉันไม่ได้เอากล้องไปเก็บภาพมาเสนอ จึงขอเล่าบรรยากาศในงานผ่านตัวหนังสือนะคะ

เมื่อทุกคนมาถึงหน้างานตอนเช้าก็ได้รับการต้อนรับจากน้องๆ ของ สคส.อย่างอบอุ่น ผู้ที่เคยได้รางวัลสุดคะนึงจะได้เข็มกลัดติดเสื้อที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือน Banner ที่ติดอยู่ที่บล็อกด้วย เราลงทะเบียนโดยเขียนคำอวยพรที่ board หน้างาน (เรียกไม่ถูก) ด้วยสีสันสดใส ตามสไตล์ของแต่ละคน

๐๙ น.กว่าเล็กน้อย เปิดงานโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส. อาจารย์วิจารณ์เล่าว่า Gotoknow เกิดขึ้นโดย accident (หลายชั้น) เริ่มจาก proposal ขอทุนโครงการนักวิจัยรุ่นใหม่ของอาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ที่มีชื่อยาวมากและมีผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดคือ ดร.จันทวรรณ น้อยวัน ซึ่งเผอิญตกมาถึงมือของท่าน อาจารย์วิจารณ์กล่าวว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างของงานวิจัยที่จะได้ทั้ง publications และการใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ต้องการสร้างให้เหมาะกับ culture ไทย และให้เหมาะมือผู้ใช้

หลังจากเปิดงานแล้ว พิธีกรคือคุณธวัช หมัดเต๊ะ และทีม สคส.ก็แจกหัวใจสีทองให้กับทุกคนที่มาร่วมงานเขียน URL บล็อกของตนเองแล้วส่งคืนทีมงาน ซึ่งได้แจกจ่ายกระจายกลับไปยังทุกคนอีกครั้ง แต่ละคนจะได้หัวใจของคนอื่นมา เราต้องตามหาว่าเป็นหัวใจของใคร ให้ไปสัมภาษณ์ความรู้สึกที่มีต่อการใช้ Gotoknow แล้วเขียนลงไปด้วย ปรากฏว่าอาจารย์วิจารณ์ได้หัวใจของดิฉัน และดิฉันได้หัวใจของ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร เมื่อเราได้หัวใจของเราคืนมาแล้ว คุณธวัชก็ให้เขียนความคาดหวังต่อ Gotoknow แล้วนำไปแขวนไว้ที่ “ต้นไม้แห่งความคาดหวัง”

ประมาณ ๐๙.๓๕ น.ทุกคนแนะนำตนเอง จริงๆ เราก็พอจะรู้จักกันผ่านบล็อกบ้างแล้ว พอเห็นหน้าก็พอจะเดาออกว่าเป็นใคร หลายคนเข้ามาทักดิฉันว่าดูรูปในบล็อกแล้วนึกว่าตัวจะใหญ่กว่านี้ (โชคดีที่ไม่มีใครทักว่ารูปสาวกว่าตัวจริง) ดิฉันก็ทักคุณบอยสหเวชว่าดูรูปแล้วนึกว่าผิวไม่ขาว ทุกคนต่างพูดคุยกันอย่างคุ้นเคยเหมือนรู้จักกันมานานแล้ว

๐๙.๔๕ น. อาจารย์ ดร.จันทวรรณ น้อยวันและอาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ มาเล่าเรื่องเส้นทาง ๑ ปีของ Gotoknow พวกเราจึงได้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังตั้งแต่ที่มาของไอเดียสมัยเมื่ออาจารย์เขาไปเรียนอยู่ที่อเมริกา อาจารย์ทั้ง ๒ ท่านถนัดกันคนละด้านจึงทำงานเข้าคู่กันได้เป็นอย่างดี และพยายามพัฒนาบล็อกให้เป็น KM tool ดิฉันประทับใจแนวคิดการทำงานของอาจารย์ทั้งคู่ที่ยึด “ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง” Gotoknow version 1 เกิดขึ้นแบบใช้ไปพัฒนาไป ได้ system จากการลองผิดลองถูก เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็มีปัญหาในการ maintenance จึงได้เริ่มต้นใหม่คือ version 2 โดยใช้ framework ที่เป็นมาตรฐานซึ่งใช้เวลาศึกษาอยู่นานนับเดือน เรียก Knowledge Volution  ขณะนี้พัฒนายังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังไม่ได้ทำ function สำหรับชุมชน มีคำถามจากผู้ฟังเป็นระยะ บางคนอยากรู้ว่าอาจารย์ทั้ง ๒ คนทำงานอย่างไร ที่ไหน server อยู่ที่ไหน บางคนไม่ถามแต่บอก requirement

ตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ใช้ Gotoknow มานั้น ดิฉันรู้สึกได้ถึงความเจริญเติบโต ความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้ใช้พึงพอใจ มีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมมาทีละเล็กทีละน้อย จนเราเริ่มคุ้นชิน คิดหาวิธีการใช้ที่สะดวกสำหรับตัวเราได้แล้ว แต่เวลานี้ก็ต้องพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของ version ใหม่และเชื่อว่าต้องดีกว่าเดิม

๑๐.๕๕ น. เราได้ AAR ๑ ปีของชุมชน Gotoknow เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้บอกความคาดหวังของตนเอง อะไรที่ได้มาก อะไรที่ได้น้อยหรือยังไม่ได้ หลายคนยังเล่าถึงความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการใช้บล็อกของตนเองด้วย เช่น อาจารย์ Beeman เปิดเผยวิธีการเพิ่ม rating เฉพาะตัว ทีมจากมหาวิทยาลัยนเรศวรจะนำบล็อกไปใช้ในงาน QA คุณสิงห์ป่าสักบอกว่า Gotoknow ประสบความสำเร็จมากเกินอายุ ดร.Ka-Poom เขียนบล็อกเพราะคุณชายขอบบอกว่า “อย่าเอาเปรียบเพื่อน” คุณชายขอบเริ่มเขียนบล็อกเพราะต้องการหาช่องทางส่งรายงานให้แก่คุณเอื้อที่ทำวิจัยอยู่ด้วยกัน แต่พอใช้แล้วก็รู้ว่าคุยกับคนอื่นก็ได้ด้วย อาจารย์อ้อม (มธ.ลำปาง) ใช้บล็อกแล้วหัวหน้าให้ความสนใจกับงานที่อาจารย์ทำมากขึ้น เวลาบ่นอะไรก็มีคน (ในบล็อก) ช่วย อาจารย์ JJ เขียนบล็อกเพราะอาจารย์วิจารณ์จุดประกายว่าทำ KM ต้อง share และพบว่าทำให้ตนเองได้เปลี่ยนพฤติกรรมหลายเรื่อง อาจารย์โอ๋-อโณบอกว่า “ช่วยให้เราเรียนรู้ตัวเองด้วย” ครูจำนง หนูนิลเขียนบล็อกเพราะคนอื่นขอร้องว่าช่วยเขียนหน่อย แล้วพบว่า “ช่วยสร้างนิสัยเรื่องการบันทึก” อาจารย์วิบูลย์ มน.บอกว่ารู้จักบล็อกหลังรู้จัก KM ตรงข้ามกับดิฉันที่บล็อกทำให้รู้จัก KM มากขึ้น คุณหมอพิเชฐ รพ.บ้านตากเขียนบล็อกไปตามอารมณ์เพราะ “ต้องการเก็บ story ของตนเอง” ดิฉันเชื่อว่ายังมีเรื่องราวอีกเยอะที่พวกเราอยากจะเล่าเสริม AAR แต่เวลาไม่อำนวยกว่าจะครบหมดทุกคนก็เกือบ ๑๒.๓๐ น. แล้ว

ช่วงรับประทานอาหารกลางวันดิฉันนั่งกับคุณธวัช คุณชายขอบ และ ดร. Ka-Poom มีโอกาสได้คุยกันถึงงานเบาหวานที่ยโสธร คุณชายขอบไม่กล้ารับประทานอาหารมากเพราะกลัวหลับ ก่อนเริ่มประชุมในภาคได้คุยกับอาจารย์ Beeman เรื่องน้ำผึ้งกับแผลเบาหวาน

๑๓.๔๐ น. อาจารย์ ดร.ธวัชชัยและอาจารย์ ดร.จันทวรรณ แนะนำ Gotoknow version 2 เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่จำได้แม่นคือต่อไปอะไรๆ ก็ต้องติดป้าย หลายคนคิดหนักว่าจะต้องย้อนกลับไปติดป้ายบันทึกของตนเป็นพันๆ ได้อย่างไร คุณหมอพิเชฐขันอาสา “รับจ้างติดป้าย”  ดิฉันฟังไม่ถนัดนักว่าอาจารย์ ดร.ประพนธ์รับ “ป้ายสี” หรือเปล่า ฟังไปก็ช่วยกันเรียกร้องว่าอยากได้โน่นได้นี่เพิ่มอีก โชคดีเวลามีจำกัด ไม่อย่างนั้นอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านคงต้องกลับไปทำงานตอบสนองความต้องการเพิ่มเป็นปีแน่เลย

๑๕.๐๐ น.ฤกษ์งามยามดี เรามีพิธีตัดเค้กวันเกิดและวันดีของอาจารย์ ดร.ธวัชชัยและอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ด้วยโดยมีคุณแกบเป็นต้นเสียงบรรเลงเพลง กลับมาคุยกันต่อจนถึง ๑๖.๒๐ น. อาจารย์ ดร.ประพนธ์ กล่าวปิดงานว่าทำอะไรก็ตามต้องเกิด action กลับไปอาจารย์จะไปติดป้ายของตนเอง พร้อมทั้งบอกว่า Gotoknow มีสีสันเพราะ blogger แต่ถ้าขาดผู้พัฒนาเราก็จะไม่มีเวที

ไม่ว่าชาว blogger จะพบกันแบบ B2B หรือ F2F บรรยากาศก็อบอุ่น เต็มไปด้วยมิตรภาพ ไม่มีวัย ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง มาขวางกั้นเสมอค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #วันเกิด#gotoknow
หมายเลขบันทึก: 34337เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2006 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อ่านแล้วนึกภาพของวันวานตามไปด้วยคะ...GotoKnow.org ทำให้ลดช่องว่างแห่งชนชั้นทางสังคมหากแต่เสริมเพิ่มพูน...ทางปัญญาให้แก่กันและกัน...ดีใจและปลื้มอย่างสุดๆ...ที่ได้ F2F กับอาจารย์อย่างที่สัมผัสได้ถึงความเป็นกันเองและความมีเมตตาของอาจารย์...คะ

     ผมดีใจและรู้สึกประทับใจมากครับที่ได้ ลปรร.กับอาจารย์ คาดหวังว่าจะได้ ลปรร.กันต่อโดยเฉพาะเทคนิคเรื่อง "เพื่อนช่วยเพื่อน" ครับ ต้องขอความรู้จากอาจารย์แน่ ๆ

พบ อ.คร้งแรกที่ ดูงานโตโยต้าวันนั้น "รูปใน blog ไม่เหมือนตัวจริง"   วันนี้ รูปเหมือนตัวจริงแล้วค่ะ 

      รับทราบรายการนี้แบบ B2B  ปะติดปะต่อกัน ตั้งแต่เช้าวันงานที่ ดร.จันทวรรณ นำรูปขึ้น ถัดมา ท่าน อ.เจเจ  ชมภาพบรรยากาศพร้อมการบรรยายแบบหยดย้อย ของท่าน เจเจ และอ่านของน้อง ๆ สคส.อีกหลายคน  จนมาถึงของอาจารย์ เติมเต็มกันได้ดีจริง ๆค่ะ 

  • ขอบคุณมากครับที่เล่ามาอย่างละเอียดมาก
  • ดูสนุกสานดีนะครับ
    ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ  และดีใจที่ได้ F2F กับพวกเราชาว blogger ทุกท่าน มีอีกอย่างที่ขอเพิ่มเติมข้อมูลก็คือ "ทุกท่านที่ไปร่วมงาน ตัวจริงดูยังไงก็อ่อนกว่าในรูปนะครับ"
  ดูภาพประกอบครับ (ลิงค์) 

ได้อรรถรสมากเลยค่ะ

อาจารย์บรรยายได้ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ สมกับเป็นมือรางวัล "สุดคะนึง" ท่านแรกค่ะ

คราวนี้รูปอาจารย์เหมือนตัวจริงแล้วค่ะ ดูอบอุ่น ใจดี มีเมตตา

คุณ "สิงห์ป่าสัก" มีการต่อยอดเชื่อมโยงที่แยบยลมากค่ะ

ขอบคุณอาจารย์วัลลาสำหรับบันทึกประวัติศาสต์นี้นะคะ จะเก็บไว้ในความทรงจำเสมอ และคงกลับมาอ่านซ้ำอีกหลายๆครั้งค่ะ

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับคำชม เมื่อคืนนอนหลับอย่างมีความสุขค่ะ (เพราะคำชม)

ยินดีเช่นกันที่ได้พบและพูดคุยกับทุกๆ คน อยากให้มีงานที่ blogger ได้พบกันอย่างนี้ปีละ ๑-๒ ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิค/เคล็ดลับในการใช้บล็อก วันนั้นดิฉันก็ได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่างจากอาจารย์ Beeman เลยรู้สึกว่าอยากมีเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยนเยอะๆๆๆ ค่ะ

  • อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว ได้รายละเอียดครบถ้วนเลยครับ
  • ดีใจครับที่ได้เจอกับอาจารย์
อ่านบันทึกอาจารย์แล้ว อาจารย์บันทึกได้ละเอียดหมดเลย ยอดคุณลิขิตไปเลย สกัดความรู้ออกมาได้หมด ผมแปลกใจว่าอาจารย์บันทึกได้ยอดเยี่ยมอย่างนี้ ขณะเดียวกันอาจารย์ก็พูดโต้ตอบกับทุกคนได้ทันในทุกประเด็นพูดคุย ผมนั่งโต๊ะเดียวกับอาจารย์ สังเกตเห็นอาจารย์ activeไม่หยุดเลย จึงสงสัยว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ในบล็อกของผมแล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท