โลกนี้ไม่มีบังเอิญ


เริ่มต้น: เมื่อวันก่อนวันวาเลนไทน์หนึ่งวัน หรือหากจะเรียกอย่างฝรั่งว่าเป็น Valentine’s Eve ก็น่าจะได้ ได้ชักชวนพี่น้องผองเพื่อนที่ชำนาญการทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปทำบุญกุศลด้วยกันที่ เสถียรธรรมสถาน เขาตั่งชื่อกิจกรรมว่า

“โลกนี้ไม่มีบังเอิญ” : รักในทุกช่วงวัย ->

                              ปฏิสนธิจิต  วัยเด็ก   วัยรุ่น  วัยพ่อแม่   วัยชรา” 

 แต่เหมือนบังเอิญที่ได้ไปทำงานนี้ ก็เพราะ ต้นเรื่องคือคุณหมอชาตรี เจริญศิริ แห่งเมืองน่าน และท่านยังมีตำแหน่งอยู่ใน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ – สช. สช.ได้คิดนำเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยเก้าแห่งที่อยู่ในโครงการ ให้ได้มาเรียนรู้เรื่องของความรักผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และการสะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็น ซึ่งหนุ่มสาวเหล่านี้จะมาร่วมเรียนรู้แง่มุมของความรักดังที่ตั้งชื่อกิจกรรมไว้ ณ เสถียรธรรมสถาน

เขาวางเป้าหมายเยาวชนผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมไว้ ๑๐๐ คน

คุณหมอชาตรี ได้ถามไปทาง สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม -  สคส.  เพื่อขอให้ทีมสคส.ไปช่วยขับเคลื่อนกระบวนการ แต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะทีมสคส.ทั้งหมดติดการประชุมที่ต่างจังหวัดกันหมด คุณแอนน์-ชุติมา เลยโทรศัพท์มาหาคนที่ว่างงานเสมอ (ที่จริงเธอบอกว่าได้ยินงานนี้แล้วนึกถึงพี่นุช เพราะป็นเรื่องของธรรมะ ศิลปะ และ ความรัก) คือ ผู้ขียน นั่นเองถามว่าจะช่วยทีมคุณหมอชาตรีได้ไหม

 

ทีมงาน: เรื่องบุญกุศลไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว และ ยิ่งเป็นการได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคนจิตใจดีงามเช่นคุณหมอชาตรี แน่นอนค่ะเป็นการรับด้วยความยินดี พอรับปากปุ๊บ รายชื่อกัลยาณมิตรเก่งๆทั้งหลายที่เรามองแล้วว่า ทั้งดี ทั้งเก่ง ก็ผุดขึ้นมาทันทีและถูกทาบทามให้มาช่วยกัน ไม่มีใครปฏิเสธ สามท่านเป็นที่รู้จักดียิ่งในหมู่ชาว G2K คือ คุณศิลา คุณเอก-จตุพร และ คุณหนานเกียรติ อีกสองท่านเป็น fa มือเยี่ยมแห่งกรมอนามัย คือ พี่อ้วน-ฉัตรลดา กาญจนสุทธิแสง และคุณวิมล โรมา ขอขอบคุณและอนุโมทนาบุญกับกัลยาณมิตรทุกท่าน ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ และที่สำคัญคือ ต้องขอบคุณคุณหมอชาตรี และ คุณแอนน์แห่งสคส. ที่บอกบุญมา

 

กิจกรรมและวัตุประสงค์เดิม: เริ่มต้นด้วยกิจกรรมที่จะคิดทำกับเยาวชน ทางทีมเสถียรธรรมฯวางวัตถุประสงค์ว่า

  • เยาวชนมีโลกทัศน์เรื่องความรักกว้างขึ้น  จากการเรียนรู้จากเรื่องเล่าของความรักตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ ที่คัดสรรมาแล้ว 

 

  • เยาวชนหันกลับมามองชีวิตตนเอง และแบ่งปันเรื่องเล่าแก่กันและกัน (หากเรารู้ว่าใครมีประสบการณ์ร่วมในข้อ ๑ ยิ่งจะทำให้เกิดการต่อยอด  ใช้วิธีจับประเด็นเกิดและตาย  พบ และ พราก  เพื่อนำไปสู่ประเด็นว่า  หากเราตระหนักในสิ่งนี้ เราจะไม่ทำให้คนข้างหน้าเจ็บปวดเพราะเรา  และเราจะไม่หายใจทิ้งขว้างหรือจมอยู่กับอารมณ์ใด จนเราจะต้องมานึกเสียใจภายหลัง

 

  • เยาวชนมีการนำเสนอที่เป็นรูปธรรม  ผ่านงานศิลปะ และมีการเขียนการ์ดที่คนอื่นเพิ่มเติมได้ ฯลฯ ที่จะปรากฎเป็นซุ้มหนึ่งในวันที่ ๑๔ อาจเป็นซุ้มหลักที่ทำให้คนอื่นมาต่อเติมได้  เช่นว่า  ความรักที่ปัญญาและกรุณานั้นมีหน้าตาอย่างไร  โดยมีเรื่องเล่าของเคสที่เรานำเสนอนั้นประกอบ(ภาพ+ข้อความกินใจ)  ซึ่งหากเวลาพอ  ก็เป็นงานที่เยาวชนคิดรูปแบบเองได้ 

กลุ่มเป้าหมายและวัตุประสงค์ที่เปลี่ยนไป: แต่ปรากฏว่าเยาวชนกลุ่มเป้าหมายนั้นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงสอบ ทีม KM ของเรา และทีมทางเสถียรธรรมฯ จึงต้องปรับกิจกรรมใหม่หมด ชนิดที่เรียกว่า เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย ปรับวัตถุประสงค์ กันเลย จากกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก มาเป็น กลุ่มรุ่นคุณป้า คุณแม่ เป็นสตรีจากจังหวัดปัตตานีและสงขลา

น่าสนใจมากและสร้างความประทับใจให้พวกเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะ กลุ่มคุณป้า คุณแม่เหล่านี้คือ กลุ่มสตรีอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน –อบร. ในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่มีการฝึกอาชีพ และฝึกอาวุธเพื่อป้องกันครอบครัว และทำงานจิตอาสาให้แก่ผู้ยากลำบากที่อื่น เช่น ชาวเขา

กลุ่มคุณป้า-คุณแม่ ที่เราจะจัดกิจกรรมเรียนรู้นี้ เป็นหญิงไทยพุทธ อายุ 40-60 ปี ซึ่งมาที่เสถียรธรรมฯเพื่อปฏิบัติธรรมและร่วมเป็นเครือข่ายหนึ่งในงาน เติมหัวใจให้สังคม กลุ่มสตรีทั้ง ๔๐ ท่านนี้ มีความทุกข์หลักๆ คือ การสูญเสียคนในครอบครัว และ เห็นความไม่ยุติธรรมแต่ทำอะไรไม่ได้

สรุปคือการทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวลาครึ่งบ่ายวันเสาร์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ ฟังกันด้วยหัวใจ เห็นทุกข์ทั้งของตนและผู้อื่น เรียนรู้จากกันและกัน เห็นทางออกในการเยียวยาหัวใจตนเอง  ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วยกลุ่มคุณป้า-คุณแม่ ๔๐ คน นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๑๐ คน และ ผู้ที่เคยประสบทุกข์ทั้งกายและใจเป็นกรณีตัวอย่าง ๓-๔ กรณีที่ทางเสถียรธรรมสถานจัดมาให้ร่วมวงด้วย

กระบวนกรทุกท่านทำงานเต็มที่อย่างเบิกบาน เมื่อถึงช่วงท้ายที่แต่ละกลุ่มเล่าเรื่องจากภาพวาดของกลุ่ม เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

การออกแบบกระบวนการและกิจกรรมนั้นทีมงานก็ช่วยกันคิดสดๆกับทีมงานของทางเสถียรธรรมสถาน รวมทั้งทีมงานจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ในช่วงสายก่อนลงมือในตอนบ่าย เชื่อว่าคุณศิลา และ คุณเอก ต้องนำมาเล่าแน่ๆ กระบวนการและวิธีการทำงาน น่าสนใจและน่าเรียนรู้พอๆกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ความรัก กับ ความห่วงใย-กังวล ความกลัว ความโกรธ มีผลแก่กันอย่างไร สร้างปัญหาและตอกย้ำแผลในใจอย่างไร และมีทางคลี่คลายอย่างไร เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

มีผู้กล่าวว่าการที่กลุ่มสตรีปัตตานีและสงขลาได้มาพบกับผู้ที่เห็นใจ เข้าใจก็เป็นการเติมเต็มหัวใจให้มีพลังที่จะยืนหยัด แต่อย่างไรก็ตามเป็นเพียงแค่มาได้รับวิตามิน ยังไม่ใช่ยารักษาโรคที่แท้จริง ซึ่งการเยียวยาหัวใจตนเองได้อย่างจริงแท้และยั่งยืนนั้นมาจากการเข้าใจทุกข์ เรียนรู้จากทุกข์ เข้าใจไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยวางทุกข์ ไม่ยึดติด จมระทมเศร้าอยู่กับอดีต แต่สามารถก้าวต่อไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า

ผู้เขียนคิดว่าแม้ครั้งนี้จะไม่ได้ทำกิจกรรม “โลกนี้ไม่มีบังเอิญ” : รักในทุกช่วงวัย กับกลุ่มเยาวชน แต่ทุกคนก็ได้เรียนรู้ร่วมกันจากผู้มาจากแดนไกล จากผู้มีทุกข์ตัวจริง เสียงจริง ส่วนกิจกรรมที่คิดจะทำกับเยาวชนก็สามารถยกไปทำเมื่อใดก็ได้เมื่อเหตุปัจจัยเหมาะสม เพราะเรื่องที่ตั้งไว้นี้เป็นสากล และ ทันสมัยทุกเวลาไม่เฉพาะช่วงวาเลนไทน์

เยาวชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เรียนรู้มากมาย ได้ร่วมรับรู้ว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้มีอยู่จริงในชีวิตประจำวันของคุณป้า-คุณแม่เหล่านี้ และได้มองเห็นว่าสิ่งที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลนั้นมาจากความรัก ความเมตตาแม้แต่ต่อบุคคลที่คิดร้าย ทำร้ายเรา และน้องๆบอกว่า ฟังแล้วย้อนกลับมาทบทวนปัญหาของตนเองแล้วรู้สึกว่าปัญหาของตนเองนั้นช่างเล็กจิ๊บจ๊อยเหลือเกิน

ทั้งหมดนี่กระมังคงเป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่คำว่า “เติมหัวใจให้สังคม” ได้อีกแนวทางหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 336993เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2010 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)
P
สวัสดีค่ะคุณนายดอกเตอร์
ตามมาจากบันทึกของคุณศิลาค่ะ  เนื่องจากประทับใจ และอิ่มเอมในการเล่า กิจกรรมที่คุณนายดอกเตอร์  คุณเอก และคุณหนานเกียรติ ร่วมกันจัดขึ้น
คงไม่มีคอมเม้นท์ใดๆ อีก  เพราะทุกอย่างในบันทึกนี้ชัดเจน ครบถ้วนแล้ว...ขอบอกเพียงมาชื่นชอบมาก 
 อีกอย่างเป็นคนชอบศึกษาธรรมะ และอ่านหนังสือของ ท่านแม่ชีศันสนีย์  บ่อยๆ 
 
และที่สำคัญที่ทำให้ครูใจดี เข้ามาเขียนบันทึก ใน gotoknow  ก็เพราะเกิดความประทับใจ ชื่นใจ จากการไปปฏิบัติธรรม วิปัสนากรรมฐาน  อยากเขียน อยากเล่า กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาใน gotoknow  หลักจากที่ สพท. ให้เข้าอบรมทำบล็อก จากนั้นก็ห่างหายไปเป็นแรมปี....
นึกขอบคุณคุณศิลา ที่ไปทักทายครูใจดี  เป็นเป็นสายโยงใย ให้ครูใจดี เข้ามาพบกับแห่งธรรมะ ใน gotoknow ค่ะ
ขอบคุณมากๆ ที่มีเรื่องราวอันน่าประทับใจมากแบ่งปันค่ะ

ขอบคุณ อาจารย์มากครับ ที่ช่วยเป็นสะพานบุญในครั้งนี้ ทำให้ผมได้ทำในสิ่งที่ควรทำ ทำในสิ่งที่ผมมีความสามารถทำ

ขออนุโมทนาครับ...

  • มาทักทายและร่วมอนุโมทนาบุญค่ะ
  • ชอบคำว่า "หัวใจเห็นทุกข์" 
    แท้ที่จริงความสุขในโลกนี้หามีไม่ (นอกจากทุกข์น้อยลง)
    ทำอย่างไรที่จะให้หัวใจเห็นทุกข์และแบ่งปันความสุขให้กันและกัน
  • ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณครูใจดี ยินดีอย่างยิ่งเลยค่ะที่ได้มาเป็นกัลยาณมิตรกันโดยมีธรรมะเป็นแรงดึงดูด

ขอบคุณคุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร และทีมงานทุกคนที่เหน็ดเหนื่อยแต่เบิกบานอิ่มบุญค่ะ คุณเอกและคุณศิลาเขียนบันทึกได้ดีเยี่ยมเชียวค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระจาตุรงค์ ชูศรี ที่เมตตามาชี้แนะค่ะ

ยินดีค่ะคุณเกษตร(อยู่)จังหวัด ที่มาอนุโมทนาบุญด้วยกัน พี่คิดว่าโชคดีมากที่มีโอกาสได้สร้างบุญกุศลสะสมบุญไว้ทีละเล็กละน้อยค่ะ ^____^ นานๆจะได้มีโอกาสสร้างกุศล

  • พี่นุชครับ
  • ถ้ามีงานบุญแบบนี้บอกน้องบ้างนะ
  • ยินดีไปช่วยกันครับ
  • ไปหานกมาฝากพี่แล้ว
  • แต่หานกแซงแซวไม่พบพบแต่นกบั้งรอกใหญ่
  • จากที่นี่ครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/337321

ขอบคุณค่ะคุณธรรมทิพย์ ที่มาอนุโมทนาบุญด้วยกัน

ตัวเองนะคะกว่าจะเข้าใจอย่าง "เห็นทุกข์" ก็ตั้งนานค่ะ มัวไป "เป็นทุกข์" จนตัวเองและคนรอบข้างแทบพินาศ จริงค่ะว่าการจะแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องแก้ทุกข์ของตนเองเสียก่อนให้ไม่เป็นทุกข์ จึงจะมีสติ มีพลัง ไปช่วยผู้อื่นได้อย่างมีสัมมาทิฐินะคะ

ได้เลยค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ขึ้นบัญชีอาสาสมัครไว้เลยนะคะ พี่เกรงใจเห็นอยู่ไกลด้วยน่ะค่ะ งานเขาบอกมากระทันหันนิดหนึ่ง ครั้งต่อไปรับรองชวนแน่

เจ้านกบั้งรอกใหญ่นี่ท่าทางจะเป็นนกป๊อปปูล่านะคะ พบได้ทั่วไป มองใกล้ๆเขาสวยมากเลยค่ะ ขอบคุณนะคะที่ส่งภาพมาให้ชม เดี๋ยวจะตามไปดูซิว่าอาจารย์ขจิตเขียนเล่าอะไร

ใช่ครับ คุณนายนุช ......แต่มีบังหีมครับท่าน

  • แวะมาโดยไม่บังเอิญครับ....อิอิ

ขอเป็นกำลังใจที่ติดตามเรียนรู้ไปด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

มาชม

ชื่นใจในคำกล่าวที่ว่า...“เติมหัวใจให้สังคม”...

พาหลานม่อนมากราบคุณยายคุณนายดอกเตอร์ หลานม่อนอยากเป็นคนดีมีคุณภาพแบบคุณยายครับ

ขอบคุณท่านผู้เฒ่าวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--ค่ะที่มาแวะทักทาย หวังว่าอีกไม่นานคงได้พบกันที่แดนใต้ต่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์Panda ขอบพระคุณค่ะที่แวะมาแบบไม่บังเอิญ นุชระลึกถึงท่านแพนด้าทั้งสองเสมอทุกครั้งที่เปิดทีวีค่ะ^___^

ที่จริงช่วงที่ผ่านๆมามีเรื่องให้ต้องไปแถวปากช่องหลายครั้ง สักวันจะวางแผนไปแบบบันเทิงและไปแวะกราบสวัสดีถึงที่บ้านแน่ๆค่ะ

ขอบคุณคุณkrutoitingค่ะทั้งมาเยี่ยมและเป็นกำลังใจให้กันและเรียนรู้ไปด้วยกัน พวกเราก็เป็นเช่นนี้ค่ะได้ทำงานก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆทุกครั้งไป

ขอบคุณค่ะอาจารย์umi ได้ไปทำงานในสถานที่ปฏิบัติธรรมได้เห็นอีกมิติของการทำงานของผู้คนที่หลากหลาย เห็นแล้วรู้สึกเช่นเดียวกับอาจารย์ค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • คุณยุวนุช  คงสบายดีนะคะ
  • ติดตามอ่านความเคลื่อนไหวอยู่เสมอค่ะ
  • เห็นว่าสนใจเจ้าตัวนี้ (จากบันทึกอาจารย์ขจิต)

http://gotoknow.org/blog/krukim/224849

  • พอมีเมล็ดพันธุ์อยู่บ้าง  จะส่งมาให้นะคะ

ว้าวอาจารย์นายประจักษ์ ปานอินทร์ กล่าวถ้อยคำไพเราะอย่างยิ่ง กราบขอบพระคุณค่ะ

หลานม่อนต้องเติบโตเป็นหนุ่มรูปหล่อและแสนดีแน่ๆเพราะมีต้นแบบที่ดีดูแลใกล้ชิดค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูคิม ขอบคุณค่ะที่ติดตามข่าวกัน ^___^ กลัวถูกทิ้งเหมือนกัน ก็เล่นหายไปทีละนานๆนะคะ

ไปแวะชมมาแล้วค่ะ ขอบคุณที่ชวนไปชมค่ะ ชอบปลูกอะไรแปลกๆค่ะ คุณครูคิมแบ่งเมล็ดไว้ให้สักหน่อยนะคะ แล้วจะไปรับด้วยตัวเองดีกว่า

ธรรมะสวัสดีค่ะพี่นุช โลกนี้ไม่มีคำว่าบังเอิญจริงๆค่ะ เพราะธรรมะจัดสรร เราจึงได้พบกัน

เสถียรธรรมสถาน เป็นที่พึ่งทางใจ ตลอดเวลา 5 ปีที่หลงทางอยู่ในกรุงเทพ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

ขอบคุณแม่ชีศันสนีย์ที่ท่านสร้างสิ่งดีๆไว้แก่คนรุ่นหลังนะคะ

สวัสดีค่ะน้องอ็อดnaree suwan ดีใจจังที่มาเยี่ยมพี่ ไม่ได้พบกันนานทีเดียวนะคะ

เสถียรธรรมสถานเป็นที่พึ่งทางใจแก่คนในเมืองและผู้คนจากทุกสารทิศได้อย่างยอดเยี่ยมนะคะ พี่เข้าไปแล้วก็ชอบความร่มเย็นของสถานที่ และเมื่อได้รับรู้เรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นมากมายก็ชื่นชมท่านแม่ชีศันสนีย์และอาสามสมัครทุกท่านจริงๆค่ะ

อาทิตย์ที่แล้วเห็นโครงการนี้ของแม่ชีออกทีวีด้วยค่ะ ยังเมียงมองหาพี่หญิงนุช สุดสวาทขาดใจของน้อง กับพี่หญิงศิลา(ศี) ผ่านหน้าจอเลยค่ะ ... ส่งใจไปชื่นด้วยคนค่ะ ว๗

  • หวัดดีค่ะ...พี่นุช
  • สบายดีนะค่ะ
  • แวะมาทักทายยามดึกค่ะ
P
สวัสดีค่ะคุณนายดอกเตอร์
มาเยี่ยมช่วงพักจากการคุมสอบค่ะ เข้ามาบันทึกนี้ ยังชุ่มเย็นเสมอ  ชอบอ่านหนังสือของแม่ชีศันสนีย์ และในวารสาร Lisa  ท่านเขียนด้วยภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย งดงาม ใจอยากพบกับทุกสักครั้ง.... เวลาท่านออกรายการทีวีชอบมาก สุขใจที่ได้ฟังท่านพูดท่านสอน
ช่วงปิดเทอม หลังสงกรานต์ ครูใจดี ก็จะไปปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน 7-9 วันค่ะ
กลับมาแล้วจะเขียนบันทึกเล่าสู่กันฟัง
ขอบคุณค่ะ
  

ขอบคุณที่ให้กำลังใจค่ะ

ตามมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

 

สวัสดีค่ะทุกท่าน ขออภัยอย่างยิ่งค่ะที่ไม่ได้มาตอบรายบุคคลอย่างทันใจตนเอง ป่วยด้วยความร้อนอยู่หลายวันมาแล้วค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาแวะทักทายนะคะ อีกวันสองวันให้ทุเลาปวดศีรษะจะเข้ามาใหม่และไปยี่ยมแต่ละท่านเช่นกันค่ะ

สังคมไทยต้องการ การเยียวยาในทุกหนแห่งนะคะ

ค่ะน้องอ็อดnaree suwan ทุกแห่งหนจริงๆลงไปถึงระดับภายในครอบครัว เพราะส่วนใหญ่ทุกคนหลงอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์จนหลงลืมคุณค่าแท้ของชีวิต ชีวิตจึงมีแต่ทุกข์เพราะได้เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่าครับ

ผมเชื่อมั่นและศรัทธาว่าโลกนี้ไม่มีบังเอิญครับ

เป็นไปตามเหตุ ปัจจัย กรรม และ การกระทำของเราเอง

ขอบพระคุณครับ

ไปทักทายคุณPhornphon ที่บันทึกของคุณเลยลืมตอบตรงนี้ค่ะ

ทุกอย่างล้วนมาจากเหตุปัจจัยนะคะ บางทีเราก็ไม่ละเอียดพอที่จะระลึกรู้ได้ว่าเราเคยสร้างเหตุอะไรไว้ ทั้งดีและไม่ดี จนมีวันนี้ของเรา หากเราตระหนักเช่นนี้จะทำให้เราเห็นคุณค่าของการมีสติในการกระทำทุกอย่างเพื่อสร้างบุญกุศล

ขอบคุณที่มาแวะทักทายกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท