การผสมผสานและการบูรณาการการเรียนรู้ : ตัวอย่างในภาคปฏิบัติ


จากแนวคิดและแนวทฤษฎีการผสมผสานและการบูรณาการอินเทอร์เน็ต ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการจัดการเรียนการสอน ดังในบทความ การผสมผสานและการบูรณาการการเรียนรู้ : แนวคิดทฤษฎีและมิติชุมชน ก็มีตัวอย่างจากภาคปฏิบัติเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย ดังนี้

Self-Pace e-Learning : ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันบริหารจัดการการเรียนรู้

Self-Pace e-Learning เป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อยอดมาจาก Auto-elucidative Learning ซึ่งใช้ทฤษฎีการเรียนรู้แบบอิงเกณฑ์ของปัจเจกและการสนองตอบความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นการนำเอาทฤษฎีและฐานความรู้มาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงกระบวนการ ไม่ใช่เทคโนโลยีแบบกลไก

ความเป็นกระบวนการนั้น มีนัยะต่อการเรียนรู้ที่สำคัญคือ สิ่งที่เรียนรู้และความรู้จะเกิดจากตัวกระบวนการปฏิบัติและเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสร้างอย่างมีความหมายขึ้นในตัวเอง ไม่ใช่มาจากการให้เนื้อหาความรู้ เป็นกระบวนการที่เน้นการสร้างความรับผิดชอบและการพัฒนาภาวะผู้นำของปัจเจกในกลุ่มที่มีทักษะทางสมองและมีศักยภาพการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีมากกว่ากลุ่มอื่น มีทักษะการอ่านและศึกษาค้นคว้าดีกว่าผู้อื่นอยู่เป็นพื้นฐาน

แต่เดิมนั้นก็พัฒนาเพื่อเด็กเรียนเก่งที่สามารถเลือกวิธีเรียนรู้และบริหารจัดการตนเองเพื่อได้คำตอบด้วยตนเอง โดยจะกระโดดข้ามและไม่เรียนอย่างที่คนอื่นเรียนก็สามารถทำได้ เลยเป็นวิธีการออกแบบที่เน้น Self-Pacing การนำเอาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาใช้ ก็เป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยขยายขีดความสามารถที่จะเรียนรู้โดยหลักการนี้ โปรแกรม Vital ของ มสธ นั้นก็พัฒนาขึ้นมาจากหลักการนี้นะครับ ผมจำได้ดีเพราะผมประทับใจและศึกษาวิธีการนี้สำหรับนำมาออกแบบวิธีทำโปรแกรมและสื่อการ์ตูนเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพื่อให้สุขศึกษาเรื่องโภชนาการเรื่องอาหารหลัก ๕ หมู่ในกลุ่มเด็กประถมวัย

หัวใจการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ Self-Pace e-Learning จึงเน้นไปที่การพัฒนา Courseware ข้อมูล และทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าสู่ระบบและสามารถบริหารจัดการตนเองให้กระบวนการเรียนรู้ที่้เกิดขึ้นสนองตอบแก่ความต้องการและเงื่อนไขของตนเองได้อย่างเต็มที่

Live e-Learning : ชุมชนและเครือข่ายออนไลน์เป็นพลังการศึกษาเรียนรู้

ใครดูรายการเคเบิ้ลทีวีแบบ AF และรายการผสมผสานในปัจจุบันที่คน Phone-in และมีส่วนร่วมที่ของจริงและรายการสด เข้าไปผสมผสานกับกระบวนการเรียนการสอนได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยก็คงจะเห็นภาพนะครับ หลักการดังกล่าวนี้ใช้เยอะในวิธีการแบบการศึกษาทางไกล (Distance Learning) เช่น การสอบวิทยานิพนธ์โดยคณะกรรมการสอบสหสาขาอยู่กันคนละประเทศ หรือการทำรายการวิทยุและรายการทีวีเพื่อการศึกษาแบบรายการสดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถสื่อสาร ตอบโต้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แบบ Real-Time การประชุมทางไกลทางอินเทอร์เน็ตซึ่งผสมผสานการปฏิสัมพันธ์เป็นรายการสดและนำเสนอข้อมูลผ่านคลังข้อมูลหลากหลาย ที่มหาวิทยาลัยมหิดลของผมก็มี IPTV ซึ่งหากมีรายการประชุมและเวทีเรียนรู้ต่างๆแล้ว นอกจากผู้เข้าร่วมจะสามารถเรียนรู้โดยตรงได้แล้ว ทุกคนในมหาวิทยาลัยที่กำลังทำงาน ก็สามารถติดตาม มีส่วนร่วมแบบรายการสดทางอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย ก่อนที่จะเก็บรวบรวมเป็นคลังความรู้แบบมัลติมีเดียต่อไป

หัวใจการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ Live e-Learning จึงต้องมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายและชุมชนการปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ ทั้งในแง่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฮาร์ดแวร์ ศักยภาพทีมปฏิบัติการ สถานที่ ระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถที่เพียงพอ

Face to Face e-Learning : การปฏิสัมพันธ์และเห็นหน้ากันของมนุษย์ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าและความหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันในความเป็นจริงของสังคม

การผสมผสานอย่างนี้ผมเคยศึกษาและนำมาใช้ทำงานชุมชนในแนวประชาสังคมและการเน้นการรวมกลุ่มกลุ่มเล็กๆของปัจเจกแต่เป็นกลุ่มที่มีพลัง โดยนำเอาคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงเทคโนโลยีและภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือในเวทีเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนและกลุ่มผู้เรียน ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันแบบสองทาง แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานสำหรับการออกแบบกระบวนการเรียนรูและการจัดการเรียนการสอนในเทคนิคอย่างนั้น วางอยู่บนหลายทฤษฎีเหมือนกันครับแต่ที่สำคัญคือ แนวคิดเรื่อง Restructural Learning และ Humanized Education โดยหลักการสำคัญก็คือ เชื่อว่าหากฝ่ายหนึ่งใดต้องเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวก็จะก่อให้เกิดโครงสร้างเชิงอำนาจแบบแนวดิ่ง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเป็น Passived Learner มากกว่าเป็น Active Learner อีกทั้งต้องเป็นผู้บริโภคที่ต้องรอคล้อยตามอย่างไม่มีเหตุผล มากกว่าจะสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้ผลิต ผู้ให้ และผู้มีภาวะผู้นำที่เชื่อพลังอำนาจแห่งตน ซึ่งทำให้สังคมพัฒนาตนเองด้วยการมีส่วนร่วมของพลเมืองต่อไปไม่ได้หลายอย่าง ประเด็นอย่างนี้จึงเป็นเหตุผลสำหรับการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตให้เข้ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถเห็นหน้าและปฏิสัมพันธ์กันได้ดีกว่าปรกติ

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องอย่างมากด้วยเช่นกัน คือ การเรียนรู้หลายอย่างขาดกระบวนการปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์และจะขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ร่วมกันให้มีมิติทางสังคมเข้ามาบูรณาการไปด้วย ไม่ได้ เพราะหลายอย่างไปไกลมากกว่าการบรรลุผลการเรียนรู้ด้วยศักยภาพทาวงสมอง ทว่า มีองค์ประกอบทางสุนทรียภาพของมนุษย์และจิตใจ ตลอดจนรู้สุขทุกข์ร้อนของมนุษย์มาเกี่ยวข้องด้วย  

มิติการเรียนรู้เหล่านี้ หากปราศจากการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้อื่นด้วย ก็จะทำให้บรรลุจุดหมายการเรียนรู้ได้อย่างดีก็แต่เพียงด้านทักษะทางสมอง ทว่า อาจจะปรับตัวในโลกความเป็นจริงและนำเอาประสบการณ์การเรียนรู้ดังกล่าวไปใช้ในโลกการทำงานที่เป็นจริงไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเมื่อรู้หลักปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้มีวิธีคิดที่ชัดเจนหนักแน่น ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ พร้อมกับนำเอาเทคโนโลยีและทรัพยากรต่างๆมาสู่กระบวนการเรียนการสอนอย่างสมเหตุผล 

ผมเคยแนะนำนักวิจัยในทีมผมหลายครั้ง ให้รู้จักกาลเทศะในการใช้ Mind Map ที่จัดกระบวนการโดยวาดและทำงานเป็นกลุ่มบนกระดาษฟลิปชาร์ต กับการนั่งคุยกับผู้คนแต่ก้มหน้างุดๆอยู่กับโน็ตบุ๊คเพื่อใช้โปรแกรม Mind Manager คอยป้อนข้อมูลอย่างเชื่อมโยงโดยเก็บรวบรวมมาจากผู้คนในห้องประชุมว่า ในบางสถานการณ์ หากเน้นการเป็นเวทีทำงานเป็นกลุ่ม ควรใช้สื่อ เทคโนโลยี และวิธีการ ที่เกิดปฏิสัมพันธ์กันของคนกับคนให้มาก แต่ในสถานการณ์ที่เป็นการเก็บข้อมูลและเผยแพร่แบบทางเดียว ค่อยใช้โน๊ตบุ๊คฉายขึ้นจอ ซึ่งก็จะงงและสับสนต่อการแนะนำของผมมาก บางทีอาจจะเข้าใจว่าเราไม่ชอบเทคโนโลยีหรือต่อต้านวิธีการใหม่ๆไปเสียอีกก็ได้ เพาะเขาไม่มีหลักทฤษฎีเพื่อทำงานในระดับพัฒนาวิธีคิดและออกแบบเชิงกระบวนการ จึงใช้แต่เพียงเทคโนโลยีเพราะว่าอยากใช้ และไม่สามารถมองเห็นว่าขาดมิติสำคัญใดไปบ้าง ทว่า เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะเริ่มเห็นกระบวนการคิดและวิถีปฏิบัติที่ต้องแตกต่างๆ ว่ามีความสำคัญมากอย่างไร

เมื่อเราเห็นหลักคิดและผลที่ต้องการที่มีนัยะต่อการทำให้การศึกษาเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาอย่างผสมผสานอย่างไรแล้ว ก็ออกแบบและเลือกลูกเล่นได้หลากหลายไปตามเงื่อนไขแวดล้อมของเรา โดยไม่ต้องทำงานเชิงเทคนิคแบบท่องจำแต่ไม่รู้เหตุผล  แล้วก็สามารถผสมผสานบทบาทอินเทอร์เน็ตเข้าสู่การเรียนการสอนแบบเห็นหน้ากันได้อย่างหลากหลายสถานการณ์ เช่น เราอาจจะโยนเอกสารและสื่อการสอนเข้าไปฝากไว้ในอินเทอร์เน็ตให้หมดแล้วก็เดินไปสอนที่ไหนก็ได้ในโลกนี้โดยให้ผู้อื่นเข้าถึงได้ด้วยตนเองอย่างยืดหยุ่น บางคนอยากอ่านแบบ Hard copy ก็พิมพ์ออกมาใช้เอง บางคนศึกษาล่วงหน้าได้ก็เรียนและมีส่วนร่วมแบบ Paperless อย่างนี้ก็ได้เป็นต้น

ส่วนผู้สอน หากผู้เรียนไม่ค่อยตื่นตัวก็ลดขนาดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้  หากบรรยากาศดีและผู้เรียนตื่นตัว มีความพร้อมมากมาย ก็โหลดสื่อและทรัพยากรการเรียนรู้ออกมาผสมผสานกับกระบวนการเรียนรู้อย่างกว้างขวางในห้องเรียนได้ทันที ซึ่งผู้สอนและผู้เรียนก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันสองทางได้อย่างเข้มข้น ผมใช้บ่อยเหมือนกันครับ

ดังนั้น หัวใจการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ Face to Face e-Learning จึงควรต้องเน้นการพัฒนาสะสมคลังความรู้และประสิทธิภาพการสื่อสารข้อมูล ความรู้ และแหล่งการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต ในลักษณะที่ส่งเสริมบทบาทของผู้สอนและผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ การได้เห็นหน้าและมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อก่อให้เกิดมิติการเรียนรู้ที่ผสมผสานองค์ประกอบความเป็นมนุษย์เป็นแกนหลัก ผสมผสานเข้ากับแหล่งสนับสนุนการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตอย่างหลากหลาย ยืดหยุ่นไปกับเงื่อนไขแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์กันแบบ ๒ ทาง ของผู้สอน ผู้เรียน และกลุ่มการเรียนรู้ที่รวมตัวกันในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากการศึกษาเรียนรู้ที่เป็นหลักสูตรและดำเนินการในภาคที่เป็นทางการระดับต่างๆ

                        

บทสรุปและข้อเสนอแนะบางประการ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ เป็นการออกแบบเชิงเทคนิคปฏิบัติเท่านั้นครับ หากเราออกจากกรอบเหล่านี้แล้วทดไว้ก่อน จึงจะสามารถทำงานเชิงความคิดและออกแบบสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่มีความสมเหตุสมผลไปตามแต่ละกรณีที่ดีได้ หากออกแบบกิจกรรมที่เพียงเปลี่ยนชนิดกิจกรรม สิ่งของ กลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีสารสนเทศที่อยากนำมาใช้ ทว่า ล้วนวางอยู่บนระบบวิถีคิดและโครงสร้างของกระบวนการอย่างเดิม ก็อาจเป็นการทำงานได้ดีขึ้นอยู่บ้าง ทว่า จัดว่าเป็นเพียงการจัดองค์ประกอบทางเทคนิคลงไปในรูปแบบที่เบ็ดเสร็จเท่านั้น วิธีการอย่างนี้ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความมีเหตุผลที่ดีนัก เนื่องจากเห็นแต่รายการที่จะต้องทำในขอบเขตเชิงเทคนิค แต่ไม่สามารถออกแบบใหม่ให้สะท้อนบริบทและสภาวการณ์ของสังคมเพื่อจัดวางองค์ประกอบต่างๆได้อย่างเหมาะสมกับความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงทำงานได้ในขอบเขตจำกัด การออกแบบเชิงกระบวนการเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องทำงานเชิงวิธีคิดเชิงระบบ แล้วให้เทคนิควิธีการกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอันหลากหลาย อยู่ในฐานะเป็นตัวเลือกอีกทีหนึ่ง

ทั้งนี้ หากไม่กล้าคิดต่างจากการเดินตามรูปแบบที่เบ็ดเสร็จ ก็ต้องทราบไว้อย่างหนึ่งว่าก่อนที่จะมี Blended e-Learning และรูปแบบต่างๆ อย่างที่เราเห็นตัวอย่างว่าดีและน่าเดินตามไปหมดนั้น สิ่งที่เห็นมักเป็นเพียงผลขั้นสุดท้าย ซึ่งผ่านการคิดและลองผิดถูกมาก่อนมากมาย อีกทั้งหากเรานำเอาสูตรสำเร็จต่างๆมาใช้มิติเดียวก็จะไม่ยั่งยืนเพราะขาดด้านที่เป็นการทำงานความคิด ทำให้การสะสมทางปัญญาที่เป็นของตนเองไม่เกิดขึ้น การทำงานสร้างสรรค์ทางความคิดซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมไปบ้างด้วย จึงมีความสำคัญมาก ส่วนจะได้มาอย่างไรจึงจะดีที่สุดของเรานั้นก็จัดว่าเป็น State of the art ซึ่งไม่มีข้อแนะนำที่ตายตัว นอกเสียจากจะได้คำตอบจากการปฏิบัติและเรียนรู้ให้ได้ความแยบคายด้วยตัวเราเอง

ตัวอย่างการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานและบูรณาการกับการเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ เหล่านี้ หากมองผ่านแนวคิด ความเชื่อ และกรอบทฤษฎี ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบกระบวนการได้แล้ว นวัตกรการศึกษา นักเทคโนโลยีการศึกษา ผู้วางแผนและบริหารการศึกษา ตลอดจนนักวิชาการศึกษาและนักพัฒนากระบวนการศึกษาเรียนรู้ ก็อาจจะไม่ต้องท่องจำสูตรเชิงเทคนิคเพื่อการปฏิบัติที่ตายตัว ทว่า จะสามารถพิจารณาไปยังจุดหมายและหลักการที่ควรคำนึงถึงอย่างรอบด้าน สะท้อนการเห็นความเชื่อมโยงกับมิติอื่นของสังคม แล้วออกแบบดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามที่ต้องการร่วมกันให้ดีที่สุด บทบาทและความสำคัญของการบูรณาการเทคโนโลยีเข้าสู่การจัดการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของสังคมในด้านที่เป็นการพัฒนาพลเมืองให้เป็นปัจจัยหลักของการแก้ปัญหาและนำการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จะมีอย่างเด่นชัดมากยิ่งๆขึ้น

ส่วนเทคนิคเครื่องมือและทรัพยากรต่างๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและทรัพยากรในท้องถิ่น ไปจนถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล่าสุดของโลก ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งใดจะดีไปกว่ากัน แต่จะเป็นเสมือนคลังเครื่องมือและคลังทรัพยากรการศึกษาเรียนรู้ ที่เราจะสามารถหยิบเลือกและนำมาผสมผสาน ให้ยืดหยุ่นไปกับเงื่อนไขแวดล้อมตนเองอย่างสมเหตุสมผล อีกทั้งได้ผลดีที่สุดในแต่ละกรณี เท่าที่จะเป็นไปได้.

.............................................................................................................................................................................

หมายเหตุ : ปรับปรุงจากการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูอ้อยเล็ก : คุณครูวัชรี โชติรัตน์ ในหัวข้อ Process of Learning Design ซึ่งมีเนื้อหามากและเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เขียนเองและต่อผู้ที่สนใจจะได้ค้นหาได้สะดวกและเป็นหมวดหมู่จำเพาะมากกว่าเดิม ผู้เขียนจึงนำมาเรียบเรียงไว้เป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก

หมายเลขบันทึก: 326575เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ขอบคุณค่ะพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์..ครูอ้อยเล็กไปจัดนิทรรศการทางวิชาการเทศบาล ระดับภาคกลาง วันที่11-15ม.ค.53 เสร็จก่อนนะคะแล้วจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นทางการค่ะ..

อย่าลืมนำมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

การผสมผสานเทคโนโลยีและภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือในเวทีเรียนรู้

 

 ส่วนเทคนิคเครื่องมือและทรัพยากรต่างๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและทรัพยากรในท้องถิ่น ไปจนถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล่าสุดของโลก ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งใดจะดีไปกว่ากัน แต่จะเป็นเสมือนคลังเครื่องมือและคลังทรัพยากรการศึกษาเรียนรู้ ที่เราจะสามารถหยิบเลือกและนำมาผสมผสาน ให้ยืดหยุ่นไปกับเงื่อนไขแวดล้อมตนเองอย่างสมเหตุสมผล อีกทั้งได้ผลดีที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้.

 

  • ครูอ้อยเล็กเป็นนักปฏิบัติการเชิงจัดการความรู้ที่ลุยดีนะครับ
  • ลักษณะอย่างนี้ มีการให้ประสบการณ์ที่เข้มข้นมากกว่ากิจกรรมในห้องเรียน แล้วก็นำเอาวัตถุดิบ ทรัพยากร ตลอดจนสื่อที่สาธิตถึงภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่หาได้ในชุมชนมาจัดองค์ประกอบอย่างผสมผสาน มองในแง่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ก็เป็นการผสมผสานทรัพยากรและแหล่งประสบการณ์หลากหลายที่มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและความเป็นชุมชน
  • เมื่อเข้าถึงหลักคิดว่า อยากให้ประสบการณ์ที่ใกล้ความจริงและเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของสังคม เพื่อจะได้ความรู้ที่นำไปใช้ในโลกความเป็นจริงได้ดีขึ้น ...เมื่อเข้าถึงสมการอย่างนี้ แล้วออกแบบกระบวนการแปรความคิดไปสู่การปฏิบัติ ครูอ้อยเล็กก็จะบรรลุผลแบบเดียวกับความต้องการของ Face to Face e-Learning ในเงื่อนไขแวดล้อมของเด็กๆและคุณครูอ้อยเล็กเช่นกันเลยนะครับ
  • ลักษณะอย่างนี้สามารถเรียกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างผสมผสานก็ได้ หรือเรียกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการก็ได้นะครับ
  • เมื่อมองมาถึงการที่ครูอ้อยได้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการถ่ายภาพกิจกรรม แล้วก็นำมาบันทึก เผยแพร่ แลกเปลี่ยนสื่อสารเรียนรู้กับวงกว้างทางอินเทอร์เน็ต ก็เลยกลายเป็นการดำเนินงานอย่างบูรณาการ โดยผสมผสานการจัดการความรู้ทางอินเทอร์เน็ตเข้ากับการทำงานปรกติ ทำให้สามารถบรรลุผลทางด้านต่างๆได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น เป็นการสื่อสารกับสังคมและเผยแพร่การดำเนินงานของสถานศึกษาให้เป็นที่รู้จักแก่สังคมมากขึ้น

ศิลปะบูรณาการ Art Integration Learning

ด้านสาระการเรียนรู้ศิลปะ ที่เป็นแกนกลาง อย่างที่เห็นนี้ นอกจากดูผสมผสาน น่าสนุก และให้ประสบการณ์เชิงสัมผัสแก่ผู้เรียนได้อย่างดีมากแล้ว จัดว่าเป็นการเปิดเข้าสู่มิติที่ลึกซึ้งของทรรศนะต่อความงามและสุนทรียภาพ และเทคนิคทางด้านกิจกรรมทางศิลปหัตถกรรมที่อยู่ในรูปแบบอันหลากหลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรูปแบบที่สามารถนำผู้เรียนให้ได้รู้จักองค์ประกอบทางศิลปะ รวมทั้งการมีคุณค่าและความหมายในแง่ประโยชน์ใช้สอย กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตพ่อแม่และชุมชนของเขา เด็กๆรู้จักความงามออกมาตั้งแต่ความเป็นวิถีชีวิต วิถีการมอง และการสะท้อนออกจากจิตใจ ซึ่งสามารถวางรากฐานการพัฒนาเข้าไปถึง Art for All ที่ยืดหยุ่นไปกับปัจเจก สภาพชุมชน และสะท้อนอยู่ในทุกสิ่งรอบตัว

ในขณะที่โดยทั่วไปนั้น กระบวนการเรียนรู้ทางศิลปะมักได้รู้จักความงามเพียงเส้นสีแสงเงาและทัศนธาตุของงานศิลปะโดยตรง ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเทคนิคการทำงานทางศิลปะเท่านั้น กะบวนการที่ผสมผสานการเรียนรู้อย่างครูอ้อยเล็กลองทำนี้จึงได้หลายมิติ ถือว่าสร้างสรรค์ได้ก้าวหน้ามากครับครูอ้อยเล็ก

  • สวัสดีปีขาลค่ะ อาจารย์

                 

สวัสดีครับคุณคุ้มฝัน : kumfun : ขอบคุณภาษาดอกไม้จากหัวใจนะครับ ผมพยายามมองดูท่าถ่ายรูปคุณkumfunอยู่เป็นนาน มองปร๊าดแรกก็ท่าทางชุดเหมือนชุดแขกครับ เลยคิดว่าเป็นท่ารำแบบศิวนาฎราฏหรืออย่างไร แต่เสื้อผ้าแบบสีอิฐ ส้มแดงแบบแดงเพลิง บวกกับสีฟ้าแบบเตอค๊อยต์ แล้วก็ผมยาวทิ้งสลวยที่ออก Deep BurntSiena ทั้งหมดกลุ่มนี้ มันเป็น Colour Scheme ของกลุ่มวัฒนธรรมแถบทะเลทราย อินเดียนแดง อิตาลี อะไรเทือกนั้น เลยเพ่งดูแทบตาถลนไปจนถึงข้างหลัง พอมองไม่ออกก็จะละสายตา แล้วก็กลับเห็นรูปสองแขนนั้นว่าทำเป็นรูปหัวใจนั่นเอง ใช่ไหมครับเนี่ย ขอบคุณและสวัสดีปีเสือเช่นกันครับ มีความสุขมากๆครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ครุอุ๋ยแจ้งว่าได้จัดส่งหนังสือให้ทางโรงเรียนแล้วค่ะ

ขอโทษด้วยค่ะที่หนังสือออกช้าไปหน่อยค่ะ (อิอิ ข้ามปีเลย)

สวัสดีครับคุณณัฐรดา : ขออนุโมทนาทั้งต่อคุณณัฐรดา ครูอุ๋ย และกลุ่มสนใจ Botanical Painting ที่เป็นแฟนนักอ่านใน OKnation blog ของคุณณัฐรดาด้วยนะครับ ถึงแม้กว่าจะออกมาก็ข้ามปี แต่ก็คงจะสวยงามและให้หลายอย่างควบคู่ไปกับการใช้เป็นคู่มือศึกษาและฝึกฝนการเขียนรูปพฤกษศาสตร์ มากเลยนะครับ ผมจะโพสต์แจ้งทิ้งไว้ในบันทึกของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)ที่บ้านผมไว้อีกแห่งหนึ่งด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะ

ขออภัยค่ะอาจารย์ เล่มที่เพิ่งออกนี้เป็นการเพ้นท์ตกแต่งค่ะ ยังไม่ใช่วาดภาพพฤกษศาสตร์

ส่วนวาดภาพพฤกษศาสตร์กำลังจะพิมพ์ถัดไปค่ะ(ครูอุ๋ยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยค่ะ) สงสัยว่า น่าจะวางแผงได้ตอนกลางปีค่ะ

ขอบคุณครับ สวยและน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันนะครับ

สวัสดีคุณครูอย่างนอบน้อม

ลูกศิษย์ก้มประนมกรวอนไหว้

พระคุณครูยิ่งใหญ่มหันต์นาม

ทั่วเขตคามระลึกถึงพระคุณครู

                ครูอ้อยเล็ก

                    'แด่ครูทั้งปวง เนื่องในวันครู ๒๕๕๓'

                    

 

                    วันครู พระคุณครู เถิดน้อมรำลึก
                    ผู้บ่มเพาะ เพียรฝึก ให้การศึกษา
                    ขจัดพาล ปกป้องภัย ให้ความเมตตา
                    เพื่อแกร่งกร้า เจริญงาม ทั้งกายและใจ

                    พ่อแม่ บุรพคณาจารย์ เป็นปฐม
                    ให้ชีวิต ให้การอบรม เป็นคนได้
                    สร้างพื้นฐาน เรียนรู้สังคม เจริญวัย
                    เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ ตลอดกาล

                    ครูผู้ให้การศึกษา วิชาความรู้
                    ดุจพ่อแม่ ผู้เฝ้าดู ให้รู้รอบด้าน
                    ตระหนักรู้ ในตัวตน เพื่อการงาน
                    รู้สร้างสาน สุขภาวะ แก่สังคม

                    อุปัชฌาจารย์ อีกทั้งกัลยาณมิตร
                    คือครูให้รู้คิด ความเหมาะสม
                    เรียนรู้ตน ครองธรรม อันควรชื่นชม
                    เป็นพลเมือง สร้างสังคม ด้วยจิตวิญญาณ

                    เพื่อนมนุษย์ สรรพชีวิต ร่วมทุกข์สุข
                    คือครูผู้ร่วมยุค วัฏฏสงสาร
                    ต่างแบ่งปันเรียนรู้ เจือจาน
                    ได้ก้าวผ่าน สร้างชีวิต เป็นทุนแห่งตน

                    ข้าขอประณตน้อม ศิระกราน
                    น้อมกาย จิตวิญญาณ น้อมนำผล
                    ด้วยสำนึก ถึงคุณครู ทุกผู้ทุกคน
                    ขอน้อมตน จบเกล้า บูชาครู

                    จะน้อมตน ปฏิบัติ วิถีแห่งธรรม
                    ครองตน ครองธรรม ตระหนักรู้
                    ครองงาน สานสิ่งดีงาม บูชาครู
                    ใช้ความรู้ ด้วยสติปัญญา และคุณธรรม

                    กราบหนึ่ง น้อมรำลึก พระคุณครูทั้งปวง
                    กราบสอง ใดก้าวล่วง ขอสมาทุกกรรมกล้ำ
                    กราบสาม ขอผสานชีวิต งาน และธรรม
                    สร้างสังคม สานสิ่งดีงาม บูชาครู

                    วันครู ๒๕๕๓
                    ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓
                    วิรัตน์ คำศรีจันทร์

สวัสดีวันครูค่ะ ท่านอาจารย์  วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ชื่นชมค่ะ  ขอคารวะคุณครูดีมีศรีสง่า และขอพรพระคุ้มครองท่านอาจารย์ วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ให้มีความสุขความเจริญมากขึ้นทุกๆ วันค่ะ     

ดอกกล้วยไม้ดูงามมากเลยนะครับคุณครูอ้อยเล็ก

สวัสดีครับคุณ นีนานันท์ ครับ : ขอน้อมคารวะคุณนีนานันท์เช่นกันครับ คุณพระคุ้มครอง ให้การงานเป็นความชื่นชูใจ ได้ความสุข ได้พลังใจและพลังชีวิต ทำสิ่งใดก็หนักแน่น ลงตัว ได้ความคิดความบันดาลใจ งานต่องาน ใจต่อใจ เดินไปข้างหน้าและงอกงามอย่างมั่นคงทุกเมื่อเลยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ดร.วิรัตน์..วันนี้ไปเจอบทสรุปของคำว่าการผสมผสานที่ดี

การผสมผสานที่ดีจะต้องเสมือนขนมปลากริมไข่เต่า ซึ่งในถ้วยเดียวกันมันมีทั้งตัวแป้งที่หวานและตัวแป้งที่เค็ม จะต้องกลมกลืนในถ้วยเดียวกัน และต้องไม่ใช่ขนมชั้น ซึ่งแบ่งเป็นชั้นละสี ชั้นบนสีขาว ชั้นต่อไปสีแดง อะไรแบบนั้น

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก :

  • เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดีครับ สงสัยนึกถึงตอนทำขนมขายกับคุณแม่ใช่ไหมเนี่ย
  • นอกจากทำให้เข้าใจความแตกต่างของ|การผสมผสานอย่างขนมปลากริมไข่เต่า |กับ|การกองรวมกันแต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างขนมชั้น | ที่แยกส่วนกันเป็นคนละชั้นคนละสีอย่างมีสัดส่วนที่แน่นอนแล้ว
  • ตัวอย่างของความเป็นขนมปลากริมไข่เต่า ก็ให้คุณลักษณะความผสมผสาน อีกสองอย่างคือ (๑) ความอร่อยกลมกล่อมในมิติที่ ๓ นั้น ไม่มีอยู่ในตัวแป้งที่เค็มและหวานแต่โดยลำพัง แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์กันที่พอดี  และ (๒) การทำให้รสหวาน มัน เค็ม สัมผัสกับลิ้น ซึ่งมีการรับรสแต่ละชนิดคนละส่วนนั้น ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นศิลปะของการกินและปรุงอาหาร เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์และสร้างขึ้นจากตัวเรา ก็สะท้อนลักษณะของความผสมผสานอีกมิติหนึ่งคือ ความตื่นรู้และความรู้ที่สร้างขึ้นภายในตัวผู้เรียน ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนรู้อย่างผสมผสานที่สำคัญที่สุดมิติหนึ่งครับ
  • หัวข้อกระทู้นี้นั่งสนทนาแลกเปลี่ยนแล้วน้ำลายไหลเลยนะเนี่ยน้องครูอ้อยเล็ก

ถึงพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์

  การจัดกิจกรรมแบบผสมผสานแบบ Face to Face

e-Learning : การปฏิสัมพันธ์และเห็นหน้ากันของมนุษย์ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าและความหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันในความเป็นจริงของสังคม

ครูอ้อยเล็กคงจัดมานานแล้วแต่ศัพท์ทางการสื่อสารการศึกษายังไม่แม่นหรืออย่างไร อย่างเรื่องที่ทำผลงาน "ทัศนศิลป์กับประเพณีลอยกระทง"http://www.watchari.com/board/index.php?topic=159.0 ซึ่งในช่วงที่ทำนั้น..ไม่ได้นึกถึงเรื่องที่จะส่งผลงานทางวิชาการอะไร ทำไปเพราะความอยากรู้อยากทดลองว่าผลิตและทำขึ้นมาแล้ว ทดลองใช้แล้ว ผลตอบรับหรือย้อนกลับจะเป็นอย่างไร..โดยใช้คำว่า"บูรณาการ"

บูรณาการกับการผสมผสาน อาจดูคล้ายจนถึงเหมือนกันแต่สำหรับครูอ้อยเล็กคำว่าบูรณาการอาจเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันของหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วยเนื้อหาเดียวกันแต่การลงมือปฏิบัติอาจเป็นคนละกิจกรรมกัน ส่วนการผสมผสานเป็นการใช้เทคนิคกระบวนการตั้งแต่ 2 วิธีขึ้นไป เพื่อให้เกิดกิจกรรมและการเรียนรู้ที่เป็นเนื้อหาเชื่อมโยงกันในกลุ่มสาระเดียวกันและกิจกรรมการลงมือปฎิบัติสอดคล้องสัมพันธ์กันภายในกลุ่มสาระนั้นเช่นกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ประกอบไปด้วย สาระทัศนศิลป์ สาระดนตรี และสาระนาฏศิลป์ การสอนวาดภาพระบายสีเป็นการวาดภาพประเพณีลอยกระทง ดนตรีบรรเลงเพลงรำวงวันลอยกระทง และนาฎศิลป์รำท่ารำวงได้ อย่างนี้เป็นต้น ..ครูอ้อยตีโจทย์ผิดหรือถูกคะ....ชักคิดมากชักมึนค่ะ..

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • อย่างที่คุณครูอ้อยเล็กยกตัวอย่างให้ดูนั้น ถูกต้องและชัดเจนมากอย่างยิ่งครับ ดูเหมือนว่าผมจะเคยเอากรณีตัวอย่างของครูอ้อยไปพูดถึงพร้อมกับลิ๊งค์แนะนำให้ผู้สนใจได้รู้จักในข้อเขียนของผมไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกันผ่านเว๊บล๊อกนี้นะครับ หากจำไม่ผิดก็คงจะเป็นในเว็บของชุมชนทางศิลปะคือเว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง ตอนนั้นชวนผู้อ่านมองวิธีสอนศิลปะที่บูรณาการมิติชุมชน ทั้งในแง่การเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้สังคม และการมีความเป็นชุมชนเป็นกระบวนการเรียนรู้
  • แต่อย่างที่คุณครูอ้อยเล็กยกตัวอย่างนั้น 'การผสมผสาน' และ 'การบูรณาการ' ทางการเรียนรู้และการจัดกระบวนการเรียนการสอน  เป็นจริงและเข้าใจตรงกันได้ภายใต้เงื่อนไขหนึ่งนะครับ โดยเฉพาะภายใต้แนวนโยบายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในระยะที่ผ่านมา
  • สิ่งที่ทำให้แยกแยะและสร้างความเข้าใจในหมู่คนทำงานด้านการศึกษาด้วยกันให้ตรงกันได้พอสมควรนั้น ก็เกิดจากหลายองค์ประกอบซึ่งในสถานการณ์แวดล้อมอื่นก็จะไม่มี หรือมีก็แตกต่างกันออกไป คือ มีแนวนโยบายที่ระบุให้ทราบถึงปรัชญาและวิธีคิด มีคู่มือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้ถือเป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาเพื่อปฏิบัติ มีตัวอย่างที่เลือกสรรจากทั่วประเทศแล้วก็ทำสื่อเผยแพร่สนับสนุนให้ อีกทั้งมีเครือข่ายสถานศึกษานำร่องและเครือข่ายครูที่ผ่านการเสริมแนวคิด-พัฒนาศักยภาพให้จำนวนหนึ่ง เลยไม่ค่อยมีข้อจำกัดในเรื่องสื่อสารและทำความเข้าใจให้ตรงกันครับ
  • แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องการศึกษาเรียนรู้ที่นอกขอบเขตหลักสูตรส่วนกลางของการศึกษาของชาติ และเกี่ยวข้องกับมิติการศึกษาที่พ้นออกจากความเป็นห้องเรียนและโรงเรียน เรื่องอย่างนี้ก็อาจจะต้องมีแนวคิดไปอีกทางหนึ่งครับ เพราะกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเครือข่ายของผู้เกี่ยวข้อง ที่เป็นผู้ริเริ่ม นำเสนอรูปแบบและแนวคิด รวมทั้งมีกรณีความสำเร็จจากการปฏิบัติ ที่อาจจะเป็นคนในวงการอื่น หรือเป็นคนนอกสาขาการศึกษา ซึ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องลักษณะนี้ ก็จะมีความรู้ บทเรียน และทฤษฎี ที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์และการปฏิบัติ มีความเป็นจริงของการปฏิบัติ การทำได้และอธิบายได้โดยการปฏิบัติ มารองรับ
  • กรณีอย่างนี้ ก็ต้องเปิดรับการให้ความหมายและนิยามการปฏิบัติที่มาจากผู้ปฏิบัติตามบริบทหนึ่งๆครับ ต้องเข้าใจและกล่าวถึงให้ครอบคลุมไปทั้งกระบวนทัศน์ของสิ่งนั้น แยกกล่าวถึงโดยหลุดออกจากกรอบกระบวนทัศน์ชุดนั้น หรือหลุดออกจากบริบทของการปฏิบัตินั้นๆ ก็คงจะเข้าไม่ถึงความเป็นจริงได้อย่างเหมาะสมครับ
  • จะเหมือนกับความพยามยามจับหิ่งห้อยขังไว้ในขวดหรือกล่องไม้ขีดเพื่อเก็บไว้ดูในสภาพนั้นนานๆเลยทีเดียว คือ ...ทำอย่างนั้นไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตายตัวอยู่กับความหมายชุดเดียว เนื่องจากเวลามองแบบแยกส่วนเป็น Snap Shot นั้น หิ่งห้อยกับตัวหนอน ก็คล้ายกับจะเป็นคนละอย่างกัน แต่เมื่อมองแบบกระบวนการต่อเนื่องก็จะเป็นความเชื่อมโยงและพัฒนาการของสิ่งเดียวกัน จะบอกว่าคนละอย่างก็ถูก บอกว่าเป็นสิ่งเดียวกันก็ถูก และบอกว่าไม่แน่นอนเลยก็ถูกอีกเช่นกัน
  • ความรู้อย่างนี้ใช้ได้ในชีวิตจริงก็มีครับ เช่น หากเราเดินผ่านบ้านคนรู้จัก เขาตะโกนบอกว่า "แวะกินข้าวกินน้ำกันก่อน" เมื่อเข้าไปนั่งแล้ว หากเขาจัดผลไม้ให้กิน แล้วก็ให้ดื่มน้ำผลไม้ ก็นับว่าถูกต้องแล้วในเรื่องของการสันถวะและปฏิบัติต่อกัน แต่ถ้าหากเราถามกลับไปว่า อ้าว ! ไม่ได้ให้กินข้าวและดื่มน้ำหรอกหรือ มีผลไม้และน้ำผลไม้ ทำไมไม่เรียกว่ากินผลไม้กับน้ำผลไม้กันก่อน มาชวนกินข้าวทำไม ...
  • การที่ถ้อยคำและการพูดเป็นอย่างหนึ่ง แต่ผู้คนก็สามารถสื่อสารและปฏิบัติต่อกันได้ ทั้งที่เป็นไปอีกอย่างหนึ่งและไม่ตรงกับถ้อยความการพูดอย่างนี้ เพราะต้องเข้าใจจากบริบทของมันนั่นเองครับ เราจะบอกว่าเขาสื่อสารผิด ไม่รู้-ไม่เข้าใจการสื่อสารให้ตรงกับความเป็นจริง พูดไม่ตรงกับความเป็นจริง....อย่างนี้ก็คงทำให้เรางงได้มากเหมือนกันครับ 
  • เรื่องของเรื่องเลยก็คือ มุมมองและการเริ่มต้นเข้าสู่เรื่องนี้ของเราเป็นคนละเรื่อง แล้วก็แตกต่างกันไปเลยทั้งกระบิ-ทั้งกระบวนระบบของมัน จะไปหาถูก-หาผิด มันก็ไม่ใช่เรื่องของมันอีก มันก็เหมือนกับที่เขาพูดว่า แทนที่จะเลือกรองเท้าและเกือกให้ได้ขนาดพอดีตีน ก็พยายามตัดตีนให้พอดีเกือก !!! ความไม่ลงตัวกันก็จะเกิดจากการพยายามยัดให้ลงกรอบเดียวกันให้ได้นั่นเองครับ
  • ดังนั้น เมื่อออกจากกรอบหนึ่ง ไปยังอีกกรอบหนึ่ง ก็ต้องเริ่มต้นที่ให้ความจำเพาะต่อสิ่งนั้นไปด้วยก่อนเช่นกันครับ วิธีแก้ปัญหาเชิงวิชาการอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาเลยเน้นการพัฒนาความเป็นโมดูลและโมเดลสำหรับการปฏิบัติน่ะครับ เพราะจะเป็นวิธีทำงานได้ครอบคลุมและเจาะจงได้อย่างน้อยก็ ๓ มิติเลยคือ การทำงานเชิงความคิดและมิติความรู้ กระบวนการปฏิบัติและองค์ประกอบด้านสิ่งของเครื่องใช้ เรียกว่าต้องดูทั้งชุดเลย
  • ที่ผมได้แลกเปลี่ยนกับคุณครูอ้อยเล็กเลยได้ให้มิติการมองเพื่อแก้ปัญหาอย่างนี้ไว้ ทั้งสำหรับคนในแวดวงเทคโนและอื่นๆด้วยนะครับ
  • หากแแยกส่วนออกมากล่าวถึงเพื่อเอาให้อยู่ ก็ไม่อยู่หรอกครับ ยิ่งแยกส่วนพิจารณาจำเพาะด้านความหมายของชื่อเรียกและคำศัพท์ ก็ยิ่งแล้วใหญ่เลย หาข้อยุติไม่ได้หรอกครับ แล้วก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น แต่นำประเด็นวิธีคิด เทคนิควิธีการ แล้วก็ตัวอย่างที่เราเองพอทำได้ มานั่งเจียรนัยอย่างนี้ก็นับว่าเป็นวิธีเรียนรู้จากประสบการณ์ที่มีพลังดีนะครับ

-การเรียนในห้องเรียนหรือการเรียนด้วยกระบวนการหลากหลายวิธีสู่ภาคการปฏิบัติด้วยการการจัดนิทรรศการทางวิชาการของครูผู้สอน เป็นการแสดงความรู้ความเข้าใจและนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาจัดเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตน ศึกษาทดลองให้เป็นที่ประจักษ์ว่ากระบวนการเรียนการสอนนั้นเป็นกระบวนการที่มีคุณภาพและใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ดี ทั้งนี้หน้าที่ของครูผู้สอนมิใช่แต่จะให้ผ่านไปในแต่ละปีการศึกษาเท่านั้น หากแต่ต้องทดลองสังเกตอย่างสม่ำเสมอ ปัญหา อุปสรรค เปลี่ยนไป เพราะสื่อหรือกระบวนการเรียนรู้ของเรานั้นใช้ได้ดีถึงดีมากกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งอาจไม่สัมฤทธิ์ผล การตั้งเกณฑ์การทดสอบประสิทธิภาพของสื่อหรือกระบวนการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องตรวจสอบ และนำไปสู่การพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ...

-การจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการ เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะรายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาการเรียนการสอนของครูผู้สอนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ตรวจสอบได้ และโปร่งใส อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของครูและบุคลากรทางการศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนในวงกว้างและทันสมัยอยู่เสมอ..

 

การพัฒนาวิธีประเมินจากภาคปฏิบัติที่สามารถแสดงผลการเรียนรู้อย่างบูรณาการอย่างนี้น่าสนใจมากเลยนะครับ บางเรื่องอาจเป็นโครงงานที่ให้ประสบการณ์ในการประกอบกิจการที่มีความเข้มข้นจริงจังต่อชีวิตมากกว่าการเรียนเรียนให้สอบได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท