จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ได้คุยได้เพิ่มทักษะวิจัย


ตั้งใจไว้ตั้งแต่เมื่อคืนว่าวันนี้จะไม่ยุ่งกับอย่างอื่น จะมุ่งเคลียร์งานอย่างเดียว แต่สุดท้ายกิจกรรมวันนี้มันทำให้อดที่จะหยิบเอามานั่งเล่าในบล็อกไม่ได้ครับ เพราะวันนี้เป็นวันทรงคุณค่าแห่งการเรียนรู้วันหนึ่งครับ การได้นั่งคุยกับผู้รู้เพียงเวลานิดเดียว ช่างคุ้มค่าจริงๆ ครับ แล้วจะเก็บความรู้ไว้คนเดียวทำไม รีบมาเขียนเล่าดีกว่า แล้วค่อยกับไปเคลียร์งานอันอีรุงตุงนัง

วันนี้วันเด็กครับ ผมเลยต้องพวงเด็กๆ ไปทำงานด้วย ความจริงก็คิดไว้แล้วว่า วันนี้ไม่เหมาะแก่การจัดประชุมที่ มอ.ปัตตานีครับ เนื่องจากคนคงจะเยอะเพราะเป็นวันเด็ก แต่เมื่อหัวหน้าที่ต้องการเลยตามใจท่านครับ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีของผมที่ได้ทำหน้าที่พ่อในวันเด็กไปด้วย นัดประชุมสิบโมงครึ่ง ผมไปถึง มอ. เก้าโมงกว่าพร้อมๆ กับพาลูกๆ ไปด้วย พาลูกเข้าซุ่มต่างๆ ทำกิจกรรม เพื่อให้รู้สึกอุ่นใจครับ เสร็จแล้วก็มอบหน้าที่นี้ให้คุณแม่ต่อ ส่วนผมเข้าประชุม ออ. เป้าหมายวันนี้คือ แค่ให้อิลฮามกล้าขึ้นบนเวทีได้ก็เก่งมากแล้วครับ และเมื่อคืนอิลฮามเธอก็โม้ว่า เธอจะขึ้นไปร้องเพลงบนเวที (ฮิฮิ ผมก็เดาว่า เธอไม่กล้าร้องหรอก แต่แค่เธอกล้าขึ้นเวทีก็สุดยอดแล้ว) กิจกรรมบนเวทีตอนที่ผมอยู่ก็มีบ้างแล้วครับ แต่คิดว่ายังไม่เหมาะกับอิลฮาม เพราะยังไม่คุ้นกับสถานที่ เลยยังไม่บอกให้ขึ้นเวที ไปประชุมก่อนดีกว่า

(ซุ่มนี้ระบายสีการ์ตูนครับ ของชอบของอิลฮามอยู่แล้วครับ)

การประชุมวันนี้เป็นการพบกันระหว่างว่าที่ทีมวิจัย (เพราะโครงการยังไม่อนุมัติ) กับที่ปรึกษาโครงการครับ ผมได้รับทราบเบื้องต้นจากหัวหน้าทีมว่า โครงการที่เสนอไปยังไม่โดนใจที่ปรึกษา ตอบโจทย์ยังไม่ครบ เลยต้องนั่งคุยกันก่อน แต่ที่หัวหน้าทีมเสนอมาบางประเด็น ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับท่านเท่าไร เพราะผมรู้สึกว่า ที่ผมคุยกับที่ปรึกษาคราวก่อนมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่พลาดหน่อยก็คือ ตั้งแต่ส่งโครงการไป ผมยังไม่ได้ทบทวนเลยครับ เข้าประชุมปุ๊บ ก็โดนโยนไม้ต่อจากหัวหน้าทีมเลย ฮือ ด้วยอาการมึนๆ จากหวัดด้วย ไม่ทบทวนด้วย เลยงงไปหาเรื่องนำเสนอไป ฮาฮา

(ฟัจญรีนอยากมีส่วนร่วมบ้างครับ)

จากการแลกเปลี่ยนระหว่างที่ปรึกษาอย่างแรกคือ งงครับ มันมีปัญหาที่ "กระบวนการวิจัยไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายหนึ่งของการวิจัย" มันเป็นงานวิจัยที่ตอบเพียงด้านเดียวของเป้าหมาย ตอนนั้นผมคิดไม่ออกเลยครับว่าจะแก้ไขยังงัย เพราะงานวิจัยนี้ออกแบบบนฐานของทฤษฏีการวิจัยล้วนๆ เลย ผมใช้ EDFR เป็นสูตรสำเร็จสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ดังนั้นก็ต้องยอมรับว่า เป้าหนึ่งมันหายไปจากกระบวนการวิจัยในรูปแบบนี้ แล้วจะทำงัย? คำถามนี้หมายถึง จะใช้ทฤษฏีไหนเพื่อตอบให้ได้ทั้งสองเป้า คำถามผมอยู่ตรงนี้ ถ้าผมเปลี่ยนวิธี ผลของการวิจัยจะมีคนยอมรับหรือเปล่า ในแง่องค์ความรู้ใหม่ 

(ส่วนเตาฟิก กิจกรรมประเภทนี้ไม่สนใจเลยครับ)

คุยไปคุยมา ผมก็ตาสว่างขึ้นครับ คำถามใหม่เกิดขึ้นเพื่อย้อนกลับมาถามผมเองว่า ทำไมผมไปยึดทฤษฏีเดียวในการทำวิจัยนี้ ทำไมผมไม่พัฒนากระบวนการวิจัยให้มีัความน่าเชื่อถือเอง และสามารถตอบสนองเป้าหมายของการวิจัยสองเป้าดังกล่าวได้

ฮาฮาฮา นึกออกแล้ว ผมหลงทางเองครับ ผมหลงทางอันเนื่องจากที่ผมคุยกับที่ปรึกษาครั้งก่อน เราคุยเรื่องการวิจัยอนาคต ซึ่งผมก็เคยทำ แต่บังเอิญไม่เสร็จ เลยขอมหาวิทยาลัยเปลี่ยนหัวข้อซะงั้น ผมเลยยึดเอาประเด็นนี้มาใช้ในการออกแบบงานวิจัยชิ้นนี้ ฮา มันเลยไปคนละทาง ทั้งๆ ที่อย่างอื่นโอเค้โอเคแล้ว

ผมนึกตลกตัวเองขึ้นมาครับ เมื่อสองวันก่อนเพิ่งบรรยายให้อาจารย์หลายๆ ท่านฟังไปเองว่า โครงการวิจัยมันจะผ่านได้ กระบวนการวิจัยมันจะต้องตอบรับกับวัตถุประสงค์เป็นสำคัญ และบางครั้งผู้ให้ทุนจะกำหนดวิธีการวิจัยไว้เลย เช่น ผมเคยขอทุนซึ่งต้องทำวิจัยแบบ par เท่านั้น หรือล่าสุดเป็นวิจัยแบบ action research ถ้าไม่ใช่แบบนี้เขาไม่ผ่านโครงการ ฮือ นี่คือคำตอบว่า ทำไมโครงวิจัยนี้จึงต้องนำมาคุยใหม่อีกรอบ

เมื่อในการวิจัยเรามีเป้าหมายการวิจัยที่ปรากฏชัดกับเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ หรือเรียกว่า ผลที่ต้องการให้เกิดต่อเนื่องจากการวิจัย (ไม่ใช่ผลโดยตรง) การวิจัยก็ต้องตอบให้ได้ครบครับ ซึ่งการไปเปิดตำราแล้วมาทำเลียนแบบ มันก็จะกลายเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ควรจะทำในการวิจัยครั้งนั้นๆ ครับ ถามว่า ตอนผมปรับโครงการผมคิดหรือเปล่า ตอบว่า ผมคิดครับว่า เป้าหนึ่งมันหายไป แล้วผมก็โยนเป้านี้ไปตอบในอีกช่วงหนึ่งของการวิจัย ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูก

(ดร.กมล, ดร.อมรวิชช์, ดร.จุฬากรณ์ ที่ปรึกษาโครงการครับ อีกฝั่งหนึ่งก็ อ.สุวรรณี, อ.สุกรี (หัวหน้าทีม) ผม และอ.มะรูยานี ทีึมวิจัยครับ ออ.อีกท่านหนึ่งคือ อ.เจ๊ะเหล๊าะตามมาทีหลัง)

เสียดายจัง หากเหตุการณ์วันนี้เกิดก่อนวันที่บรรยายให้กับเพื่อนอาจารย์ฟังวันก่อน คงมีอุทาหรณ์ดีๆ อีกเรื่องหนึ่งไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบสนุกๆ ครับ ฮือ

นอกจากเรื่องวิจัยแล้ว วันนี้ผมได้เรียนรู้อีกหลายเรื่องครับ ต้องเรียกว่า เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ออ. มีคำพูดหนึ่งของ ดร.กมล รอดคล้าย พูดโดนใจผมมากเลยครับ ท่านให้ความเห็นว่า

"ที่นี้ เด็กมุสลิมเรียนกันโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าการศึกษาในอิสลามเป็นอย่างไร"

กินใจผมมากเลยครับ เพราะเด็กเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม แต่กระบวนการขัดเกลาเขาไม่ใช่กระบวนการที่แท้จริงตามแบบฉบับของอิสลาม และความหวังสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้คือ นำเสนอกระบวนการจัดการศึกษาในอิสลามสู่สังคมไทย เพื่อเป็นทางเลือกที่มีคุณค่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะมุสลิมเท่านั้นครับ แต่สำหรับทุกคน

ฮืออีกหลายเรื่องเลยครับ เล่าไม่ไหวแล้ว จะรีบปิดเน็ทกลับไปเคลียร์งานต่อ เอาเป็นว่า วันนี้อิลฮามทำได้ขึ้น เธอขึ้นเวทีจริงๆ ด้วย เพียงแต่ขึ้นไปเฉยๆ พี่ๆ ถามอะไรก็ไม่ตอบ แล้วก็ลงมารับรางวัล ฮา (เก่งมากแล้วครับ สำหรับคนขี้อาย)

หมายเลขบันทึก: 326334เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เก่งจังนะค่ะ ที่ยังพาเด็กๆไปเที่ยวได้ เขาเรียกว่ายุ่งเป็นกิจวัต ค่ะ

ขอบคุณนายแม่ มากครับที่แวะมาเยี่ยม

แหม่ตั้งชื่อนามแฝงได้โดนใจผมจริงๆ นึกว่าใคร

ทีมงานวิจัยที่มีคุณภาพทั้งนั้นเลยนะครับ...ตามเก็บเกี่ยวเก็บเล็กเก็บน้อยเพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานและกระบวนการวิจัยครับ ขอให้โครงการวิจัยชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างราบรื่นนะครับมันจะเป็นโครงการที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาและสังคมได้ดีทีเดียว รอลุ้นๆๆครับ

   อ๋อ...ผมไม่ไ้ด้เจอท่านคณบดีนานมากแล้ว ได้เจอท่านในบล๊อกนี้ก็อัลฮัมดุลิละฮฺแล้วครับ รอบหน้าหากอาจารย์ประชุมอีกฝากสลามท่านด้วยนะครับ อยากให้ท่านสอนผมเหมือนตอนมาอยู่ใหม่ๆในการเรียนรู้อะไรหลายอย่างแต่เมื่อภารกิจหน้าที่ของเราทุกคนมีมากขึ้นมันเลยทำให้ผมขาดช่วงเวลาแห่งข้อคิดดีๆไปครับ

   เห็นอาจารย์ทำงานมากมายอย่างนี้ยังไงดูแลสุขภาพด้วยนะครับ

ขอบคุณครับอาจารย์เสียงเล็กๆ فؤاد 

โอ้ อาจารย์ตกข่าวหรือเปล่า ตอนนี้ท่านคณบดีท่านประกาศว่า ท่านจะเป็นคณบดีที่อยู่คณะแล้ว ที่อาจารย์ไม่เจอท่าน เพราะอาจารย์ไม่ไปที่คณะมากกว่า ฮิฮิ แต่ผมไปก็ไม่เจอเหมือนกัน อ้าว (นินทาเจ้านายอีกแล้วตู ฮิฮิ)

แล้วการศึกษาในอิสลามเป็นอย่างไรละ

ใครจะตอบ

ใครจะบอกพวกเขา

ช่วยๆ หน่อย

ขอบคุณครับอาจารย์ Ibm ครูปอเนาะ ڬوروفوندق 

คำถามนี้ไม่จำเป็นต้องมีคนบอกให้กับเยาวชนครับ เพียงแต่จัดสิ่งดีๆ เหล่านั้นให้กับพวกเขาครับ

แต่ปัญหาแรกคือ มันเป็นอย่างไร? อันนี้นักวิชาเฉยๆ ไม่ได้ครับ ต้องแสวงหาคำตอบกัน

- ต่อไปความเข้าใจและการเรียนรู้ในอิสลามจะชัดเจนและเข้าใจมากขึ้นครับผมว่า

- ดูเด็กๆมีความสุขและมีสวนร่วมนะครับ

- ขอให้วิจัยราบรืนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท