ภาษาพาที ภาษามีชีวิต


 

ภาษาพาที...ภาษามีชีวิต

.............................................................

เช้าวันนี้ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒  อาจารย์บุญช่วย เจริญธรรม และคณะครู จากโรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดเทวสังฆาราม)  เทศบาลเมืองกาญจนบุรี  ได้นำนักเรียนชั้น ป.๕ จำนวน ๑๒๐ คน  เดินทางมากับรถบัสทหาร ๒ คัน  มาเรียนรู้ที่ ทุ่งสักอาศรม  เพื่อร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือ “ภาษาพาที” ที่เป็นหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของพวกเขา  โดยหวังให้นักเรียนได้พบผู้เขียนและเรียนรู้กับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (ศิวกานท์ ปทุมสูติ)  นับเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมกระบวนการแบบใหม่...ที่จัดให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ พูดคุย ซักถาม และร่วมกิจกรรมกับผู้เขียนหนังสือ 

คำถามแรกที่ผมถูกถามนำก็คือ  เด็กๆ อยากรู้ว่าทำไมโรงเรียนในหนังสือเล่มนี้จึงชื่อว่า “โรงเรียนต้นไม้”  ซึ่งผมได้ตอบพร้อมเล่าเรื่องราวความเกี่ยวพันบางอย่างให้พวกเขาฟังว่า...โรงเรียนต้นไม้  ชื่อนี้มีเจตนาจะปลูกฝังให้เด็กๆ รักต้นไม้ รักธรรมชาติ ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ชีวิต ด้วยดวงใจที่งดงามของเด็กๆ และครู  เด็กๆ ในโรงเรียนต้นไม้แต่ละคนจึงมีต้นไม้ประจำชีวิตของพวกเขา เช่น หล้ามีต้นไผ่ ขวัญมีต้นแก้ว...เหมือนกับเด็กๆ ชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เมื่อแรกเกิดพ่อแม่ของพวกเขาจะนำสายรกหรือสายสะดือของเด็กไปฝากไว้กับต้นยืนต้นในป่า  จองไว้ให้เป็นต้นไม้แห่งชีวิตของเด็ก  แล้วเมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะบอกกับเขาให้ดูแลรักษาต้นไม้แห่งชีวิตของเขาอย่าให้ใครทำลาย  ให้เด็กและผู้ใหญ่คนอื่นๆ เคารพต้นไม้ของกันและกัน  เป็นการช่วยกันดูแลรักษาป่าและธรรมชาติให้ดำรงคงอยู่  ดังนั้นถ้าเด็กๆ จากโรงเรียนเทศบาล ๑ กาญจนบุรี  รวมทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ในประเทศของเรามีต้นไม้ประจำชีวิตคนละต้น  อย่างน้อยประเทศไทยก็จะมีต้นไม้ ๗๐ ล้านต้นแล้ว 

ผมได้ชวนให้เด็กๆ ป.๕  ย้อนคิดถึงเมื่อครั้งเรียน ป.๒  ครั้งนั้น “ภาษาพาที” หนังสือเรียนชั้น ป.๒ บทที่ ๑ เปิดเรื่องด้วย  ลุงไท มาร้องเพลง เจ้าต้นข้าว ให้เด็กๆ ฟัง  ยังจำได้ไหม...

● เจ้าต้นข้าวเอ๋ย  เคยเป็นข้าวเปลือก

เจ้าถูกคัดเลือก  จากเมล็ดข้าว

แม่หาบจากบ้าน  ไปหว่านกลางนา

ขอน้ำจากฟ้า  ขอรักจากดาว

ขอนมจากดิน  มาให้เจ้าดื่ม

ขอยืมใบตอง  มาป้องกันหนาว

ขอรุ้งเจ็ดสี  มาอยู่อาศัย

ปลูกบ้านใกล้ใกล้  ดวงใจสีขาว

ค่อยเติบค่อยโต  เป็นต้นเป็นกอ

นะแม่นะพ่อ  จะรอหุงข้าว

จะเป็นข้าวเหนียว  หรือเป็นข้าวเจ้า

ก็จะเป็นข้าว  ของแผ่นดินเอย 

เพลงที่ลุงไทร้องเพลงนี้จะร้องเป็นทำนองเพลง “เต้นกำรำเคียว” ก็ได้  ถ้าเป็นนักเรียนภาคใต้จะร้องด้วยทำนองเพลง “ร้องเรือ” หรือเพลง “หนังตะลุง” ก็ได้  ถ้าอยู่ภาคอีสานก็อาจร้องด้วยทำนอง “เซิ้ง”  ภาคเหนือก็อาจลองใส่ทำนอง “ค่าว” ดู  หรือเด็กๆ จะใส่ทำนองแบบเพลง “แร็บ” ก็ได้นะ...ไปลองร้องกันให้สนุกได้เลย

ดังนั้น ทุกเพลงในหนังสือ “ภาษาพาที” ก็สามารถใส่ทำนองเพลงที่ลองใส่แล้วร้องได้กันดู  ร้องเล่นให้สนุกก็พอแล้ว  ภาษาพาที...จะต้องเป็นภาษาที่มีชีวิต  มีความสุขเมื่อเรียนเขียนอ่าน  ดูอย่างที่ “ครูต้น” นำพาเด็กๆ ไปวาดรูปกันที่ริมน้ำสิ  ครูต้นต้นพูดกับเด็กๆ ว่า...

เธอเห็นลมที่กำลังหอมแก้มสายน้ำไหม

เธอจะวาดรูปลมหอมแก้วสายน้ำอย่างไร

เธอได้ยินเสียงลมพูดคุยกับน้ำไหม

เธอจะวาดรูปเสียงลมพูดคุยกับน้ำอย่างไร

เธอมองเห็นรอยเท้าของน้ำที่กำลังเดินทางไหม

เธอจะวาดรูปรอยเท้าของน้ำอย่างไร

เธอมองเห็นแดดที่กำลังเล่นน้ำไหม

เธอจะวาดรูปแดดเล่นน้ำอย่างไร

เธอรู้สึกไหมว่า สายน้ำกำลังร้องเพลง

เธอจะวาดความรู้สึกนั้นอย่างไร

เฮได้ยินไหมว่า ปลากำลังแนะนำบ้านแม่น้ำของเขา

เธอจะวาดถ้อยคำของปลานั้นอย่างไร

เธอจะวาดอะไรก็ได้ ที่เธอเห็น

ที่เธอได้ยิน ที่เธอรู้สึก

ผมได้ชวนให้เด็กๆ ลองเปล่งเสียงอ่าน “ภาษาพาที” แบบอ่านออกเสียงกันให้เป็นจังหวะสนุกๆ  เช่น บท “เที่ยวท่องร้านหนังสือ” ขากลับจากตลาด  หล้านั่งอ่านหนังสือมาบนรถอีแต๋น...

● ลงจากรถบัส  ต่อรถอีแต๋น  จากทางราดยาง  สู่ทางราดหิน  ตึกตัก ตึกตัก  ตึกตัก ตึกตัก  ลูกอ่านความงาม  แม่อ่านความรัก  หมู่บ้านเดียวกัน  รถคันเดียวกัน  พึ่งพาอาศัย  น้ำใจไมตรี  นั่งเบียดคุยดัง  นั่งห่างตะโกน  แกลงตรงโน้น  ข้าลงตรงนี้  กระแทกกระทาย  บั้นท้ายกันเอง  ก็ครื้นก็เครง  ใต้ฟ้าสีคราม

หรืออีกหลายๆ บท หลายๆ ตอน  ทั้งชวนอ่านใน “ภาษาพาที” ป.๒ และ “ภาษาพาที” ป.๕  อ่านกันให้เหมือนอ่านนิทาน นิยายก็ได้  อ่านบ้างร้องขับขานกันเป็นเพลงบ้าง  ถามตอบความนัยที่แฝงเร้นบ้าง  เช่น เด็กๆ รู้ไหมว่าคำถามที่ขึ้นต้นในบทที่ ๑ ของชั้น ป.๕ ที่เขียนไว้บนกระดานดำว่า “เธอคือใคร” นั้นหมายความว่าอย่างไร  เมื่อเด็กๆ พากันไปหาลุงไทให้ช่วยไขคำตอบ  ลุงไทให้เธอไปส่องกระจกก่อนว่าเธอเห็นอะไรในกระจกนั้นบ้าง  นั่นมันแค่เห็นรูปร่างหน้าตาของเธอที่กลับด้านและสวนทางกับตัวจริงๆ ของเธอ  แต่ความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับเธอแต่ละคนน่ะมีใครและมีอะไรที่เธอยังไม่เห็นหรือลืมไปบ้าง  ลองคิดให้ดี  ในตัวเธอมีอะไรดี  มีอะไรที่คนอื่นๆ ไม่มี  บ้านเธอ โรงเรียนเธอ และจังหวัดของเธอมีอะไรที่มีคุณค่าที่บ้านอื่น โรงเรียนอื่น และจังหวัดอื่นไม่มี  เธอภาคภูมิใจอะไรๆ ที่มีและเกี่ยวข้องกับตัวเธอเหล่านั้นบ้าง  ลองคิดดูสิเด็กๆ แล้วเธอจะรู้ว่าเธอคือใคร...

ก่อนปิดรายการเรียนรู้ที่ ทุ่งสักอาศรม ผมได้เชิญพ่อเพลงพื้นบ้านตัวจริง คือ นายบัว สังข์วรรณะ  พ่อเพลงบ้านหนองบัว  ต.จรเข้สามพัน  อ.อู่ทอง  จ.สุพรรณบุรี  มาร้องเพลงพวงมาลัยและเพลงเหย่อยให้เด็กๆ ฟัง  พร้อมกับให้เด็กๆ ลองรับเพลงและร่วมร้องกับพ่อเพลงที่ด้นร้องกันสดๆ นั้นด้วย  จากนั้นลองให้นักเรียนเขียนภาษาให้มีชีวิตคนละสองสามบรรทัด  ในช่วงเวลาจำกัด ๕-๑๐ นาที  โดยกำหนดให้สิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่คนพูดได้  พวกเขาก็ทำกันได้ดีพอสมควรทีเดียว  นำบางเรื่องมาต่อท้ายให้อ่านกันดังต่อไปนี้แล้วครับ...

 

หมายเลขบันทึก: 319745เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2009 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ที่โรงเรียน ก็ใช้หนังสือเล่มนี้ค่ะ
  • ให้ เงินมาเพื่อเรียนฟรี  หากซื้อ ก็จะไม่ฟรี
  • แล้ว จะงดใช้หนังสือ เล่มนี้
  • ใช่ ทางออกของปัญหา ไหมนี่

สวัสดีค่ะคุณครูกานท์

อ่านแล้วยิ้ม ๆ ... นับเป็น นวัตกรรมกระบวนการแบบใหม่ ๆ จริง ๆ ด้วยค่ะ

ชื่นชมคุณครูและนักเรียนจาก โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดเทวสังฆาราม) ...

ช่างมีวิสัยทัศน์กว้างไกลจริง ๆ ...

เดาได้ว่าบรรยากาศการเรียนรู้คงเต็มไปด้วยความสนุกและมีชีวิตชีวา...อย่างยิ่ง

(^___^)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

"แม่หาบจากบ้าน ไปหว่านกลางนา ขอน้ำจากฟ้า ขอรักจากดาว"

อ่านบทกลอนนี้แล้วคิดถึงโยมแม่เลยอาจารย์

เพราะตัวเองก็ได้หว่านข้าว ดำนา ถอนกล้า เกี่ยวข้าว นวดข้าวมากับมือ

สวัสดี ครับ คุณครูกานท์

วันนี้ผมตั้งใจมาสวัสดีปีใหม่ 2553 แด่ ครูกานท์ นะครับ

ด้วยความเคารพรัก

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาสวัสดีปีใหม่ค่ะ มีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจเข้มแข็ง ให้มีแต่ความสุขตลอดปี และตลอดไปนะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๓

ขอให้คุณครูกานท์และครอบครัวมีความสุขดังบทบาลีที่ว่า เต อัตถลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธสาสเน อโรคา สุขิตา โหถะ สหสัพเพหิ ญาติภิ. ขอให้ครอบครัวของท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติ จงประสบสุขในสิ่งที่ปรารถนา มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยและเจริญงอกงามไพบูลย์ในพุทธธรรมตลอดไป เทอญ.

กราบคารวะคุณครูกานท์ที่เคารพอย่างสูงค่ะ

ด้วยความระลึกถึงค่ะ

สวัสดี ค่ะฝากลิงค์ "การประชุม Case จริยธรรม ครั้งที่ 3 (Ethical Conference 3) ณ ห้องประชุม เยียน โพธิสุวรรณ โดย ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ สถาบันสมทบ มหาวิทยาลัยมหิดล" http://gotoknow.org/blog/manywad/324525 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท