นางนพมาศ กวีหญิงคนแรกของไทย


 

นางนพมาศกวีหญิงคนแรกของไทย

    เมื่อถึงวันเพ็ญ เดิอนสิบสอง อันเป็นวันลอยกระทง นอกจากการลอยกระทง สีสันอีกอย่างของงานลอยกระทงคือการประกวดนางนพมาศ นางเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร มาทำความรู้จักนางกันสักหน่อยก่อนจะลอยกระทงในปีนี้

    นางนพมาศ เป็นธิดาพระศรีมโหสถและนางเรวดี ตามตำนานกล่าวว่านางเกิดเมื่อปีมะโรง ฉศก ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๘๔๗ จุลศักราช ๖๖๖ ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นหญิงรูปงาม มีคุณธรรมความดีล้ำเลิศ เพราะได้รับการอบรมจากบิดาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะในทางพุทธศาสนา อักษรศาสตร์  การช่าง การดนตรี การขับร้อง นางนพมาศได้ถวายตัวเป็นสนมของพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ลำดับที่๕ แห่งกรุงสุโขทัย ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทำหน้าที่ขับร้องถวาย

   นางนพมาศเป็นผู้แต่งหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงกำเนิดของนางนพมาศ การถวายตัวเข้ารับราชการเป็นข้าราชการฝ่ายใน  ข้อควรปฏิบัติของสตรี  ประเพณีต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย และสั่งสอนถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายใน  ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวรรณคดีร้อยแก้วที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง  โบราณคดีสโมสรได้ประทับตรามังกรให้เพื่อรับรองว่าเป็นหนังสือที่แต่งดี  จึงนับได้ว่านางนพมาศเป็นกวีหญิงคนแรกของไทย

   ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวถึงการที่นางนพมาศประดิษฐ์กระทงถวายดังนี้

   "...อยู่ได้ห้าวัน  ภอถึงพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญ  เดือนสิบสองเปนนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม  บรรดาชนประชาชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง  แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตร  ด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปแลสันถานต่าง ๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบรายตามแนวโคมไชยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกษธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์  ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่าง ๆ  ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท  ซึ่งประดิษฐานยังนัมทานที  แลข้าน้อยก็กระทำโคมลอย  คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึ่งเลือกผะกาเกสรศรีต่าง ๆ  ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบาน  กลีบรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ  ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนศรีสลับให้เปนลวดลาย  แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเปนรูปมยุระคะณานกวิหคหงษ์  ให้จับจิกเกสรบุปผาชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเปนระเบียบเรียบเรียง  วิจิตรไปด้วยศรีย้อมสดส่างควรจะทัศนายิ่งนัก..."

    ด้วยเหตุนี้เราจึงถือว่านางนพมาศเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงลอยเป็นรูปดอกบัว  นับแต่นั้นมาคนทั้งหลายก็ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวเช่นเดียวกับนางนพมาศลอยไปตามกระแสน้ำในคืนวันลอยกระทง แต่ในปีนี้มีผู้คิดประดิษฐ์กระทงขนมปังแทนกระทงใบตอง  นับเป็นกระทงแบบใหม่ซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมอย่างมาก  เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ

  เพื่อสืบทอดประเพณีไทยและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เรามาร่วมกันรณรงค์ "หนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง" ดีไหมคะ

หมายเหตุ

กมุท กระมุท หมายถึง ดอกบัว

ระแทะ  หมายถึง เกวียนสำหรับนั่งขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เทียมด้วยโค

 

หมายเลขบันทึก: 310389เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ คุณนงนาท

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับภาพกระทงสวย ๆ ที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับบันทึกนี้

ครูไปลอยกระเทย เอ้ย กระทงทีไหนมาคับ ผม ปีสุดท้าย เลยลอยกับเพื่อนๆ6/1อ่าคับ มีความสุขมากคับ ผมคิดว่า ภาพที่ลอยกระทงปีสุดท้าย ก่อนที่ปีหน้าจะไปลอยในสระน้ำ หน้าพ่อขุน 555555555555+ ไม่รู้คับ จะเป็นลูกพ่อ หรือเเม่ใครในปีหน้า ที่รู้ ภาพความทรงจำที่ผมลอยกับเพื่อนๆจะอยู่มนความทรงจำผมตลอดไป(ปล.ถ้าไม่มีไรมาล้างสมองนะคับ)

เเง้ ~!!!

คุณครูครับบ ช่วยสอนวิธี ปฎิทัศน์ นิตยสาร อย่างละเอียด ทีครับ

ใบงานเก่า หนูมันเอาไปทำรังเเล้ว....

สวัสดีจ้ะโรตี วิศรุต

ครูไม่ได้ไปลอยกระทงที่ไหนเพราะไม่ค่อยชอบสถานที่ที่ผู้คนแออัด

จึงขอลอยกระทงด้วยใจอยู่ที่บ้านดีกว่า

ส่วนวิศรุตครูต้องขอตำหนิสักหน่อย เอกสารประกอบการเรียนทุกชุดควรจะเก็บรักรักษาไว้ให้ดี อาจได้ใช้ประโยชน์ในวับข้างหน้า

แต่ในเมื่อหายไปแล้วครูจะติดให้ดูที่บอร์ดก็แล้วกัน คิดว่าคงจะมีคนอื่นมาร่วมดูด้วยอีกหลายคน

สวัสดีครับอาจารย์

ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลง คนป่วยกันเยอะ ผมขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงนะครับ ^___^

ผมได้เข้ามาอ่านบทความของอาจารย์ แล้วรู้สึกดีใจแทนน้องๆรัตนาธิเบศร์ ที่มีโอกาสศึกษาเรียนรู้วิชาภาษาไทยนอกเหนือจากในห้องเรียน

แหม... เสียดายจังเลยครับ ที่เกิดเร็วไปหน่อย ^_^

ผมสะดุดกับจั่วหัวบทความนี้ที่ว่า "นางนพมาศกวีหญิงคนแรกของไทย"!!!!!

เพราะในแง่ประวัติศาสตร์วรรณคดีไทย ก็ยังกังขาว่า

ใครกันแน่ที่แต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ????

แท้จริงตำรับนี้แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ???

ซึ่ง กรมศิลปากรเองก็ยังลังเลที่จะฟันธงในคำตอบ

แต่ที่แน่ๆ นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เช่น นายสุจิตต์ วงศ์เทศ ,ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

หรือแม้กระทั่งกรมพระยาดำรง พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ก็ยังมีคำตอบไปในทางว่า ...

ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์(ฉบับที่มีการอ้างอิงกันอยู่)ไม่ได้แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย

ดังนั้น แม้นางนพมาศจะมีอยู่จริงในสมัยสุโขทัย(ซึ่ง สุจิตต์ วงศ์เทศ ไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง)

นางนพมาศก็ไม่ใช่ผู้แต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพราะ ตำรับนี้แต่งสมัยหลังกว่านั้นมาก

แน่นอนว่า "นางนพมาศจึงไม่(น่า)ใช่กวีหญิงคนแรกของไทย"

-----------------

ข้อมูลที่ผมมาบอกเล่านี้ ดูได้ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1226286116&grpid=01&catid=01

และหนังสือชื่อ "ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ครับ

----------------------------ด้วยความเคารพอาจารย์ครับ ^_^--------------------------

สวัสดีนะจ๊ะอานนท์

ครูดีใจนะที่ได้พบกับเธออีกในบันทึกนี้ การงานเป็นอย่างไรบ้าง แต่ครูคาดว่าคงจะไปได้ดีใช่ไหมจ๊ะ ครูเขียนบันทึก "นางนพมาศ กวีหญิงคนแรกของไทย" ในคืนวันลอยกระทง ในตอนแรกที่เขียนก็ลังเล คิดแล้วคิดอีกหลายตลบว่าควรจะนำเสนอข้อมูลที่ลึกซึ้งหรือไม่ ด้วยเกรงว่าผู้อ่านทั่วไปและนักเรียนทั้งหลายจะเข้าใจสับสน ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อหาที่เรียนกันในวิชาประวัติวรรณคดีสมัยสุโขทัยนั้นนางนพมาศเป็นผู้แต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นางจึงนับเป็นกวีหญิงในสมัยสุโขทัยและเป็นกวีหญิงคนแรกด้วย ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้รับการแต่งซ่อมแซมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สำนวนภาษาจึงใหม่ มีการแทรกกลอนสุภาพลงไปด้วยเพื่อแสดงความสามารถในการประพันธ์ของนางนพมาศ ซึ่งในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีการแต่งคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ยังคงคุณค่าควรแก่การศึกษาของคนรุ่นหลัง

ไม่ว่านางนพมาศจะมีชีวิตอยู่ในสมัยใด นางจะแต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือไม่ และนางเป็นคนแรกที่คิดประดิษฐ์กระทงลอยรูปดอกบัวใช่หรือไม่ แต่ทว่านางนพมาศได้กลายเป็นความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงและเป็นสัญลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทงไปเสียแล้ว

สวัสดีค่ะคุนครู

สวัสดีค่ะ สาวน้อยหนองหิน

  หวังว่าบันทึกของครูคงจะเป็นประโยชน์ต่อสาวน้อยนะจ๊ะ  อย่างน้อยที่สุดเป็นการส่งเสริมให้รักการอ่าน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท