โลงผีแมน…พาหนะเดินทางไปสู่โลกหลังความตาย


โลงไม้ที่เก่าแก่ที่สุด เห็นจะเป็น โลงไม้ที่ถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน เป็นวัฒนธรรมสมัย ไพลสโตซีส ตอนปลาย (๒๒,๑๙๐ ปี – ๑๐,๒๐๐ ปี)

          กิจกรรมหนึ่ง ที่ทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่บ้านรุ่งอรุณซึ่งเราทำงานวิจัยประเด็น “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” นอกจากเราจะเก็บข้อมูลชุมชนหลากหลายและครอบคลุม กิจกรรมการสำรวจสถานที่ท่องเที่ยว โดยทีมวิจัยก็เป็นหนึ่งกิจกรรมที่จำเป็น เพื่อที่นำไปเขียนรายละเอียดและเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ เพื่อจะได้ถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวได้อย่างมีรสชาด วัตถุประสงค์นัยหนึ่งที่เราจัดกิจกรรมนี้ เพื่อเป็นการพักผ่อนพร้อมสร้างกิจกรรมร่วมภายในทีมวิจัยเองด้วย
          บ่ายวันที่แดดจัด ผมและนักวิจัยชาวบ้าน เรามีโปรแกรมสำรวจถ้ำซึ่งมีอยู่มากมายในแถบนี้ แต่ “ถ้ำ” ที่เราจะไปวันนี้ มีชาวบ้านแจ้งว่ามี “โลงศพมนุษย์โบราณ” อยู่ภายในถ้ำด้วย พวกเราจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษกับเป้าหมายที่เราจะเดินทางไปสำรวจในวันนี้
          สุเมธ นักวิจัยชาวบ้านหนุ่มใหญ่ พาพวกเราเดินลัดเลาะไปตามลำธารเล็กๆน้ำใสๆเดินจนมาถึงหน้าผาที่มี “ถ้ำโลงผีแมน” อยู่ภายใน สิ่งที่พวกเราเห็นเบื้องก็คือเพิงผาที่สูงชันและเราค่อยๆไต่ขึ้นตามระดับชั้นความสูงจนมาถึงปากถ้ำ สิ่งที่พวกเราคิดอยู่ตลอดเวลาว่า “หนทางลำบากขนาดนี้ แล้วเขาเอาโลงไม้ขนาดใหญ่ขึ้นมาได้อย่างไร?”


          พวกเราค่อยๆ เดินทางเข้าถ้ำ พร้อมกับตะเกียงเจ้าพายุที่เตรียมมา ช่วยพวกเราได้เห็นรายละเอียดภายถ้ำได้เป็นอย่างดี  นอกจากหินงอกหินย้อยที่สวยสดงดงาม ระยิบระยับ แสงไฟทำให้เราเห็นโลงไม้โลงแรกทำจากไม้ทั้งต้นผ่าซีกขุดข้างในเป็นช่องเว้า หัวโลงสลักไม้เป็นรูปทรงเรขาคณิต ในโลงว่างเปล่าไม่มีอะไร ความยาวประมาณ๕ – ๖ เมตร เราพบโลงไม้ลักษณะเดียวกันในถ้ำนี้อีก ๕ โลง ตามพื้นมีเศษไม้กระจัดกระจายอยู่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นคานหรือเป็นเสาสำหรับรองรับศพไว้สูงเหนือพื้นดิน
          จากการพูดคุยกับ ดร.รัศมี ชูทรงเดช (นักวิจัยและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ทำวิจัย          โบราณคดีบนพื้นที่สูงอำเภอปางมะผ้า)  ทำให้เราทราบว่ามีโลงผีแมน ลักษณะคล้ายกันนี้มีกระจายทั่วไปแถบนี้ “วัฒนธรรมโลงไม้” เป็นวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะตอนปลาย จากหลักฐานที่โดดเด่นของวัฒนธรรมนี้ คือ โลงไม้ หรือ โลงผีแมน ที่ผู้คนในท้องถิ่นเรียกกัน พบอยู่ตามถ้ำเพิงผาของเทือกเขาหินปูนมากกว่า ๕๐ แห่ง นอกจากนี้มีการค้นพบในไทยที่ จังหวัดกาญจนบุรี เชียงใหม่ และที่อุบลราชธานี ส่วนต่างประเทศพบในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย และแถบมณฑลกวางสี ประเทศจีน
          โลงไม้ที่เก่าแก่ที่สุด เห็นจะเป็น โลงไม้ที่ถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน เป็นวัฒนธรรมสมัย ไพลสโตซีส ตอนปลาย (๒๒,๑๙๐ ปี – ๑๐,๒๐๐ ปี)
          พวกเราตื่นเต้นที่ได้ ค้นพบและเข้าไปชมโลงผีแมนเป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งผมก็ให้นักวิจัย เก็บข้อมูลและสเกตภาพในถ้ำเพื่อให้เห็นรายละเอียดภายในถ้ำจุดประสงค์เพื่อให้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้
          และหลังจากที่เราได้ไปสำรวจถ้ำผีแมน มาแล้ว ทีมนักวิจัยเราก็นั่งคุยกัน ร่วมกันคิดว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและมีคุณค่ามากมายในพื้นที่หมู่บ้านรุ่งอรุณ มีสถานที่ที่ควรมีการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ก็ยังมีสถานที่บางจุดที่เราควรจะสงวนไว้ เพื่อการอนุรักษ์และเก็บไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
          กรณี “ถ้ำโลงผีแมน” แห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ควรจะเก็บไว้เพื่อการศึกษา วิจัย หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนจะเหมาะสมกว่าการพัฒนาเป็นจุดท่องเที่ยว ที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายหลักฐานทางโบราณคดี - - - ซึ่ง “ผมก็เห็นด้วย” ในบทสรุปในเวทีพูดคุยในวันนั้น


บ้านรุ่งอรุณ(แม่สุยะจีน) หมู่ ๕ ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

หมายเลขบันทึก: 30934เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ความเชื่อและพิธีกรรมโบราณมักเป็นปริศนาเสมอ...

จะตามอ่านนะครับ...หวังว่าจะได้ไปสักทริปหนึ่งครับ...

ขอบคุณครับ

ผมชวนไปวันที่ ๒๔ - ๒๕ มีค. ๕๐ ครับ

ดูที่ http://gotoknow.org/blog/mhsresearch/44399

  • เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 พี่เคยเดินทางมากับนักข่าวอิสระชาวอังกฤษ ที่มาทำมาหากินที่เชียงใหม่และเช่าห้องติดติดกัน ทางลำคลองชลประทาน ไปลัดดาแลนด์สมัยก่อน 
  • เราขับมอเตอร์ไซด์จากเชียงใหม่ไปปางมะผ้ากัน 5 คัน ชาวบ้านพาปีนขึ้นไปดูถ้ำที่มีโลงผีแมน
  • เพื่อนนักข่าวเอามาเขียนลงหนังสือท่องเที่ยวเชียงใหม่สมัยนั้น
  • ดีมากเลยหากนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีจะเข้ามาศึกษาและอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิม ทำอย่างไรจึงจะกันมิให้เกิดความเสียหายในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาดูกันมาก และนักท่องเที่ยวก็มีหลายประเภท โดยเฉพาะประเภทชอบขีดเขียน ชอบเก็บของที่ระลึก ฯลฯ
  • ผลงานศึกษาตีพิมพ์ที่ไหนช่วยบอกพี่ด้วยนะครับ 

พี่ไพศาล ครับ

๒๕๒๐ ผมยังอายุน้อยมากๆ (๒ ขวบกว่าๆ)ไม่ประสาเลย คงแก้ผ้าเดินวิ่งเล่นแถวปาย

ตอนนั้นถนนระหว่าง เชียงใหม่ ปายก็โหดพอสมควร มีโจรผู้ร้ายชุกชุม เพราะมีข่าวปล้นรถบัสโดยสารบ่อยครั้ง

เรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กรณี "วัฒนธรรมโลงไม้" เป็นงานวิจัยของ ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ซึ่งก็ได้รับทุนวิจัยจาก สกว.ครับ เป็นงานที่ทำในเขตปางมะผ้า น่าสนใจทีเดียว

ผมก็ได้หนังสือจาก ดร.รัศมี บ้างครับ ...เอาไว้ผมหาหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเพิ่มเติม ผมจะจัดส่งไปให้นะครับ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท