เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน          เวทีนี้เป็นเวท...
มีต่อ

คนหนองบัวรุ่นเก่าๆ เห็นแล้วต้องนึกภาพออกเลยนะครับ

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล ขำสุขและท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ

ต้องชมละครับว่า...ภาพการเดินทางเข้าดง... ได้บรรยากาศจริง ๆ และคงไม่มีให้เห็นอีกแล้วในยุคนี้

เมื่อวานได้รับโทรศัพท์จากทางบ้าน เรื่องที่มีพระและศาสนิกชาย-หญิงชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวม 8 ท่าน มาเยี่ยมและนอนค้างที่บ้านห้วยปลาเน่า แล้วให้นึกถึงพระคุณท่านทั้งสองครับ คือ....ท่านหนึ่งเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ที่พิษณุโลก แล้วอีกท่านหนึ่งทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ใกล้ ๆ กับพุทธมณฑล

คณะทั้งหมดมาพักผ่อนหลังจากที่งาน วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 เสร็จสิ้นลง พี่ชายผม (ในนามชาวพุทธออกเตรเลีย) เป็นคนเชิญมา มาเที่ยวนครสวรรค์เป็นของแถม เห็นบอกว่าตื่นเต้น ดีใจกันมากที่มาเห็นท้องทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ขนาดท่านเจ้าคุณพระอมรเมธี รองเจ้าคณะอำเภอตากฟ้า ซึ่งเป็นคนอำเภอตาคลี ก็ยังไม่เคยมาแถว ๆ นั้นเลย

ตาคลี ตากฟ้า เป็นพื้นที่ราบสูงสลับภูเขาเตี้ย ๆ ใต้หนองบัวลงมาตั้งแต่บ้านตาลิน ห้วยปลาเน่ายันบึงบรเพ็ดเป็นที่นาล้วน ๆ สภาพภูมิประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็ดีนะครับ ได้เห็นความแตกต่าง.....ไม่จำเจ.

กราบนมัสการรพะอาจารย์มหาแล
สวัสดีครับคุณสมบัติ คุณฉิก คุณเสวก และทุกท่านครับ

  • ที่กล่องความเห็น ๖๐๐ ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านช่วยเสริมจนแว่วบรรยากาศบ้านนาป่าดงขึ้นมาเลยนะครับ นึกตามแล้วให้ครึ้มอกครึมใจอยากฮัมเพลงคาวบอยไทยของเพชร พนมรุ้ง หรือเพลงชมทุ่ง ของเพลิน พรมแดน ขึ้นมาเลยทีเดียวนะครับ
  • ผมเลยเอารูปเขียนแนววิถีชีวิตชนบทมาฝากนะครับ เป็นศิลปะโฟล์คอาร์ต ถ่ายทอดวิถีชีวิตชนบท ผลงานคนนครสวรรค์คือแม่ชุมสาย มีสมสืบ คุณแม่ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนรางวัลซีไรต์ คนชุมแสง แต่ตอนนี้ไปทำโรงเรียนอยู่ที่ไพสาลี ท่านเขียนภาพชุดนี้ขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วก็ไปแสดงเดี่ยวที่กรุงเทพฯ ผมได้ไปดูและประทับใจมากครับ เป็นการทำงานของจิตรกรชาวบ้านที่หาดูได้ยาก ผมเลยนำมารวบรวมเผยแพร่ไว้ให้คนได้ชื่นชมไปด้วยที่เว็บของเพาะช่าง [Click here] เข้าไปดูได้นะครับ

                     

  • อย่างที่คุณสมบัติพรรณาไว้.........

                      ....ตาคลี ตากฟ้า เป็นพื้นที่ราบสูงสลับภูเขาเตี้ย ๆ ใต้หนองบัวลงมาตั้งแต่บ้านตาลิน ห้วยปลาเน่ายันบึงบรเพ็ดเป็นที่นาล้วน ๆ สภาพภูมิประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง.......สมบัติ ฆ้อนทอง dialogue box ๖๐๒

       สภาพตามท้องถิ่นอย่างนี้ มีส่วนมากเลยนะครับต่อกิจกรรมการทำมาหากิน เช่น แถวตากฟ้า ตาคลี และบางส่วนของไพสาลี ก็จะเห็นว่ามีไร่อ้อย ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวฟ่าง ไร่งา และไร่ฝ้าย พอไปถึงหนองบัว การทำนาทำไร่ก็ต่างออกไป กลายเป็นไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด และเริ่มมีสวนต้นสัก ทั้งด้วยสภาพพื้นที่และทักษะของชาวบ้าน 

แถวบ้านผมนั้น เมื่อตอนผมเป็นเด็กกระทั่งเริ่มโต เรื่องทำไร่งา สวนแตงไทย แตงโม แตงกวา ไร่ถั่วลิสง กระทั่งแบ่งพื้นที่บางส่วนทำเป็นไร่ฝ้าย เหล่านี้ เป็นทักษะทั่วไปที่ชาวบ้านจะทำสลับกับทำนาข้าว แต่พอขาดน้ำท่าและสภาพแวดล้อมหลายอย่างเปลี่ยนไป ก็กลายเป็นไม่ได้ทำจนเหมือนกับจะทำไม่เป็นกันแล้ว

        การเลื่อยไม้ ถากไม้และทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก 

                    

การเลื่อยไม้ ถากไม้และทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก วิธีดังกล่าวนี้ เป็นงานช่างที่ชาวบ้านหนองบัวในอดีตจะต้องเรียนรู้เพื่อทำได้ เป็นวิชาชีวิตที่ผู้ชายทุกคนต้องทำได้ และบางครั้งผู้หญิงก็อาจเรียนรู้ที่จะทำช่วยกันในครอบครัว การทำบ้าน ทำศาสนสถาน รวมทั้งการทำศาลาวัดหนองกลับในยุคหลวงพ่อเดิมและหลวงพ่ออ๋อย ก็ต้องทำในลักษณะนี้ คนรุ่นหลังอาจจะไม่เคยเห็นแล้ว จึงอาจจะจินตนาการไม่ถูกว่าเสากลมจากต้นไม้ทั้งต้นนับเป็น ๑๐๐ ต้น และกระดานไม้ขนาดใหญ่ ที่นำมาทำศาลาวัดหนองกลับนั้น ชาวบ้านในอดีตทำกันอย่างไร เห็นความยากลำบากที่กว่าจะได้กระดานแต่ละแผ่นและเสาแต่ละต้นแล้ว คนหนองบัวจะต้องยิ่งภาคภูมิใจและหวงแหนสิ่งสาธารณะที่คนเก่าแก่ได้สร้างไว้  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

ผมเห็นภาพวาดนี้แล้วชอบมากเลยครับ การทำเสาบ้านนั้นไม่ว่าจะกลมหรือเหลี่ยมนั้นจะใช้ขวานถากเอา พ่อใหญ่น้อยเคยเล่าให้ฟังว่า

กระดานที่แผ่นใหญ่และหนาก็ถากเอาเช่นกัน แล้วส่วนที่เป็นพื้นบ้าน แผ่นจะบางมากและบางบ้านจะแผ่นไม่โต ผมเคยสงสัยว่าทำไมแต่ก่อนไม้ไร่ก็มีตั้งมากมาย สาเหตุที่ให้ต้องเช่นนั้น การที่จะเอาแผ่นใหญ่ๆมานั้นการขนรากจูงค่อนข้างลำบาก ไม้ใหญ่ๆก็เชือดลงเตาเผาถ่าน แต่ก่อนคนไม่ค่อยพกไม้บรรทัด ก็เอากล่องไม้ขีดทาบระยะความหนาเอาแบบง่ายๆ ตอนผมเองยังเด็ก ผมชอบคอยหยอดน้ำเวลาเค้าเลื่อยไม้กัน แล้วจะไปหาถ่านไฟฉายเก่ามาุทุบใส่กระลาผสมน้ำไว้คอยตีเส้น การเลื่อยนั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้ หากรักษาจังหวะไม่ได้ไม้ก็จะเป็นคลื่น การเลื่อยไม้นั้นคนหนองบัวต้องยกมือให้ตาแป้นบ้านป่ารัง เลื่อยมาตั้งแต่ยังไม่มีเลื่อยเครื่อง

การเลื่อยนั้นแต่ก่อนจะนับเป็นกี่ยก กี่คลอง แล้วแต่ความยาวว่าจะกี่ศอก

  • สวัสดีครับคุณเสวกครับ
  • ผมเลยขอโค้ดบันทึกประสบการณ์ของคุณเสวกไปไว้ในเรื่อง การเลื่อยกระดาน การทำเสาจากไม้ทั้งต้น และการสุมไฟไม้ทำครก [Click here] ที่ผมเขียนรวบรวมไว้ให้อีกหัวข้อหนึ่งต่างหากนะครับ
  • เข้าไปเยือนเวทีของกลุ่มพริกเกลือ [Click here] ก็เป็นเวทีที่คึกคักมากเลยนะครับ
  • เห็นกำลังนัดพบปะกันในหมู่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆกลุ่มพริกเกลือกับกลุ่มคนหนองบัวที่ไปทำการงานที่ระยองอีกด้วย
  • เดือนหน้า มิถุนายน ๒๕๕๓ นี้ ผมจะได้ไปแถวนั้นด้วยครับ จะไปจัดประชุมเครือข่ายคนทำงานสุขภาพชุมชนในภาคตะวันออกที่จังหวัดระยองแน่ะครับ ต้องหาข้อมูลกลุ่มคนหนองบัว สมาชิกกลุ่มพริกเกลือ ไปด้วยสักหน่อยละครับ เผื่อได้ผ่านไปในย่านที่มีคนบ้านเดียวกันอยู่แถวนั้นจะได้หาพวกกินข้าวสักหน่อย

เศรษฐกิจชาวบ้านและการติดต่อกับโลกภายนอกในระยะแรกของชาวบ้านหนองบัว
การเดินทางไปแลกข้าวเปลือกกับสินค้าที่ต้องการที่ตลาดชุมแสง

                        

                         อธิบายภาพ : ชาวบ้านหนองบัวและโดยรอบ ใช้เกวียนและการเดินเท้าขนข้าวเปลือกไปแลกอาหารและสิ่งของที่ต้องการที่ตลาดชุมแสง วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

มีรูปและเรื่องราวการเรียนรู้สังคมในอดีตมาฝากครับ เป็นรูปและเรื่องราวที่เป็นพื้นฐานที่ดีซึ่งมีส่วนในความเป็นสังคมหนองบัวในปัจจุบัน ชาวบ้านขนข้าวเปลือกไปแลกสิ่งของที่ต้องการที่ตลาดชุมแสง จะเห็นความยากลำบากในการเดินทางติดต่อโลกภายนอก และเห็นความเข้มแข็ง ฟันฝ่า พากเพียร ของผู้นำของคนหนองบัวในอดีต เช่น ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก คนหนองบัว อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์และนำชาวบ้านสร้างวัดเทพสุทธาวาสและโรงเรียน อันเป็นที่มาของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) อ่านต่อได้ที่นี่ครับ [Click here]

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ภาพที่อาจารย์วาดนั้น ต้องยอมรับว่ารุ่นผมไม่ทันจริง ๆ ครับ เคยมีแต่เรื่องที่พ่อเล่าให้ฟัง...

พ่อเล่าว่า หน้าแล้งต้องหาบเป็ดหาบไก่ไปขายถึงชุมแสง ขากลับก็ซื้อสินค้าหายากมาขายบ้าง กินเอง/ใช้เองบ้าง พอถึงฤดูน้ำหลากก็ต้องพายเรือไป

ตอนผมเด็ก ๆ ที่ห้วยปลาเน่ามีเรือกันทุกหลังคาเรือน.... ถนนยังไม่มี ไปทำบุญที่วัด/ไปเกี่ยวหญ้าให้ควายก็จำเป็นต้องใช้เรือ หน้าแล้งก็ใช้วิธีเดินไปตามทางเกวียนเอา

ถ้าจะเทียบก็คงเหมือนมีมอเตอร์ไซค์สมัยนี้กระมังครับ

สมัยนั้น ชุมแสงนี่ช่างเป็นเมืองที่ใคร ๆ ก็อยากไปเห็น โดยเฉพาะเด็ก ๆ

ผมไปเห็นครั้งแรกน่าจะอายุประมาณ 5 - 6 ขวบ พ่อพาไปเยี่ยมลุงที่บ้านหมี่ ลพบุรี ครั้งต่อ ๆ มาแม่พาไปเยี่ยมป้าที่หนองโน สระบุรี จำได้ว่าแม่พาลงที่สถานีรถไฟป๊อกแป๊ก คนยวนที่นั่นออกเสียงว่า...โปกเป๊ก

ความทรงจำเกี่ยวกับอำเภอชุมแสงสมัยนั้น มักวนเวียนอยู่กับภาพของ รถแร่(ที่มาจากหนองบัวบ้านเรา) / กองแร่สูงเท่าภูเขาเลากาอยู่ซ้ายมือก่อนถึงตัวอำเภอ / รถไฟ /สถานีรถไฟ / ตลาด / แม่น้ำน่านหลังตลาด/น้ำตาลสดเกยชัย/ฝักบัวที่มีคนเดินมาเร่ขายตามสถานี

ผมเคยเห็นโฉนดที่ดินโบราณของพ่อ ระบุชัดเจนว่าบ้านห้วยปลาเน่า ขึ้นกับตำบลห้วยใหญ่ ซึ่งยังสังกัดอำเภอชุมแสงอยู่เลย

ต่อมาทราบว่าหนองบัวซึ่งเป็นบ้านป่าขาดง/ติดต่อกับโลกภายนอกไม่ได้ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอหนองบัว และเป็นอำเภอหนองบัว/เทศบาลตำบลหนองบัวในปัจจุบัน สามารถเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้รอบทิศทาง เศรษฐกิจดีขึ้นและน่าจะคึกคักพอ ๆ หรือมากกว่าชุมแสงซึ่งมีฐานะเป็นเทศบาลเมืองด้วยซ้ำ.

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • ผมเองก็จำได้เลือนลางเต็มทีครับ พอจะนึกภาพออกก็แต่เพียงพร่าๆเลือนๆทั้งที่จอดเรือของหนองบัวกับที่จอดเรือเมื่อชาวบ้านไปชุมแสง แต่พอรู้ว่ามี เอาไว้หาคุยกับคนเฒ่าคนแก่พอลำดับเรื่องราวได้กจะนำมาวาดเป็นข้อมูลเก็บไว้ให้ในนี้นะครับ
  • เมื่อก่อน หากได้ไปตลาดชุมแสงกับผู้ใหญ่ ผมก็จะขอเดินตามไปในตลาดด้วยเพื่อโผล่ทะลุตลาดไปยืนดูแม่น้ำด้วยความอัศจรรย์ใจว่ามันทั้งใหญ่โตและไหลลิ่วน่าหวั่นเกรง 
  • พอโตขึ้นมาหน่อย ผมเล่นแตรวง ก็ได้ไปเล่นแตรวงบวชลูกหลานให้กับชาวบ้านแถวเกยไชย ตกเย็นตอนอาบน้ำกัน ก็ขอเล่นน้ำในแม่น้ำเสียฉ่ำใจ
  • เวลาพ่อแม่และผู้ใหญ่เขาเอาข้าวเปลือกไปแลกของกินของใช้ที่ชุมแสงนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือหอยแครง ซึ่งเมื่อตอนเด็กๆนั้น พวกผมจะกินไม่เป็นเพราะมันมีเลือดและน่ากลัว แต่ชอบเปลือก เด็กๆจะเก็บเอาเปลือกไปนั่งดูว่ามันเป็นหอยได้อย่างไร ประหลาดดีแท้ แล้วก็จะเก็บเอามาคิดการละเล่นหมากเก็บผสมกับหมากหลุม
  • ทั้งปลาหมึก ปลาทู และหอยแครง เป็นของประหลาด แทนสิ่งที่พวกเราไม่เคยเห็นและเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากประสบการณ์ของเรา ทำให้ชวนคิดฝันและจินตนาการได้ดี เหมือนกับเมืองชุมแสง อย่างที่คุณสมบัติว่านั่นเลยนะครับ
  • เมื่อก่อนใครไปชุมแสงหรือไปไกลถึงบ้านหมี่อย่างที่พ่อพาคุณสมบัติไปนี่ เวลาเขากลับไปเล่าให้ฟังที่บ้านก็เหมือนกับเป็นเรื่องนอกโลกเลย
  • เดี๋ยวนี้หนองบัวไปมาสะดวก เป็นทำเลและเป็นศูนย์กลางที่ติดต่อกับโลกภายนอกได้ดีขึ้นมากจริงๆ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ครับ

เมื่อสักครู่เพิ่งกลับจากเวียงจันทน์ นักบริหารระดับกลางของกระทรวงการคลังเขามาศึกษาดูงานกัน เป็นนักศึกษา 60 คน มีอาจารย์จาก มสธ. เป็นผู้ดูแลหลักสูตร 4 - 5 ท่าน

นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการวัยกลางคน มาจากหลายจังหวัดและจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง บางคนไม่เคยเห็นประเทศลาวมาก่อน ดูจะตื่นเต้นพอควร แย่งขอถ่ายรูปกับข้ารัฐการลาวกันใหญ่ คงเห็นว่าเครื่องแบบเขาแปลกตาดี ข้ารัฐการลาวก็ใจดียอมเป็นนายแบบ/นางแบบถ่ายด้วย

อาจารย์พูดถึงเรื่อง...หอยแครง...ที่หนองบัวสมัยเมื่อ 30 -50 ปีก่อน

ก็คงเหมือนหอยแครงกับคนลาวสมัยนี้ คงเข้าใจกันได้ดีว่า ประเทศลาวไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล เรื่องอาหารทะเลสด ๆ นั้นหายากเต็มที แล้วอาหารทะเลสุดยอดของพี่น้องชาวลาว ก็คือหอยแครงนี่เองครับ โดยเฉพาะการนำมาลวกเป็นกับแกล้ม

ไปเมืองลาว ถ้ารู้ใจกัน ต้องหิ้วหอยแครงไปฝากครับ.....ถึงจะถือว่ารักกันจริง

บางวันผมเคยลวกหอยแครงไปถวายเพลพระที่วัดในเวียงจันทน์ ท่านยิ้มน้อยยิ้มใหญ่.....ว่ากันว่าได้กุศลแรง

แต่เดี๋ยวนี้ หนองบัวกับลาวไม่ต่างกันแล้วครับ เพราะอาหารทะเลเข้าเมืองลาวได้หลายทิศทาง

จากเวียดนาม 100- 200 ก.ม.รถห้องเย็นเดินทางคืนเดียวก็ถึงแล้ว

ส่วนทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้นเล่า ก็มีรถห้องเย็นจากสมุทรสงคราม/สมุทรปราการออกไปทุกวัน

หอยแครงรวมทั้งอาหารทะเลประเภทกุ้ง หอย ปู ปลานี่ ตามชายแดนถือเป็นอาหารมิตรภาพเชียวครับ

ใครมีโอกาสมาทำงานชายแดน พึงทราบไว้ก็จะเป็นการดีไม่น้อย บางคนเป็นเพื่อนรัก/เป็นเสี่ยวฮักเสี่ยวแพงกันก็เพราะหอยแครงนี่เอง.

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • คณะศึกษาดูงานได้คุณสมบัติเป็นคนนำศึกษาดูงานให้ ก็คงได้ทั้งประสบการณ์และได้สร้างมิตรภาพระหว่างกันของเพื่อนบ้านไทย-ลาว อย่างดีไปด้วยเลยนะครับ
  • เป็นภารกิจที่น่าชื่นชมมากทีเดียวครับ
  • คนที่สามารถทำให้สังคมที่มีความแตกต่างกัน ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วเกิดความเคารพซึ่งกันและกันนั้น หาได้ยากนะครับ คุณสมบัติมีความเหมาะสมมากคนหนึ่งเลยเชียว
  • เรื่องหอยแครงนั้น ขอสนับสนุนและยืนยันด้วยอีกคนหนึ่งเลยครับ เพื่อนผมที่ได้เจอกันในเวทีประชุมและลูกศิษย์ที่เป็นชาวลาวนั้น เขาก็เคยบอกอย่างนี้เหมือนกันครับว่า ทั้งตัวเขาและญาติพี่น้อง เมื่อมาประเทศไทยก็อยากไปทะเลและกินหอยแครง เมื่อกลับบ้านและซื้อของฝากก็อยากซื้อหอยแครงไปฝากกัน
  • แต่เดี๋ยวนี้ที่ลาวคงได้กินหอยแครงและอาหารทะเลที่สดและดีกว่าในบ้านเราเสียอีก

สวัสดีคะชาวหนองบัวทุกท่าน

  • แวะมาส่งข่าวอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ในวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบ ๔๑ ปี ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ได้รับรางวัลข้าราชดีเด่น ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ซึ่งชาวหนองบัวได้ร่วมแสดงความยินดีให้กับอาจารย์วิรัตน์แล้วนั้น ..
  • มาวันนี้จะขอบอกบ่าวชาวหนองบัวเพื่อร่วมแสดงความยินดีให้กับ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อีกครั้งคะ หลังจากรอมานานร่วม ๔ ปี ด้วยเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลพยายามหาผู้เชี่ยวชาญในสายสังคมฯ แต่มีผลงานวิชาการทางด้านสาธารณสุขมาอ่านงานให้อาจารย์นั้นมิใช่เรื่องง่าย แต่มาบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษณ์แล้วคะ สำหรับ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ว่าท่านมีความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น และได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปีเดียวกัน ..

                                researchmahidol1.jpg picture by waweeme

  • สำหรับงานแรกในการเปิดตัว ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อย่างเป็นทางการในงานมหาวิทยาลัยมหิดล เวทีจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ "แนวทางการพัฒนางานวิจัยชุมชนเพื่อปัญญาของแผ่นดิน" โดยมีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้บรรยายพิเศษในวันนี้คะ (๓๑ พฤษภาคม ๕๓)

                                researchmahidol2.jpg

  • ผลงาน ภาพลายเส้น หนังสือ วิถีประชาศึกษา และหนังสือ ดังลมหายใจ ได้รับความสนใจ ให้การตอบรับจากหมู่มิตรของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างมากมายคะ ..
  • ขอแสดงความยินดีอีกครั้งคะ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
  • ขอแสดงความยินดีดับอาจารย์ด้วยคนครับ เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
  • แต่เสียดายพลาดงานนี้
  • สำหรับงานแรกในการเปิดตัว ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อย่างเป็นทางการในงานมหาวิทยาลัยมหิดล เวทีจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ "แนวทางการพัฒนางานวิจัยชุมชนเพื่อปัญญาของแผ่นดิน" โดยมีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้บรรยายพิเศษในวันนี้คะ (๓๑ พฤษภาคม ๕๓)

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • อ่านแล้วต้องยิ้มไปกับวิธีแสดงความยินดีด้วยของอาจารย์นะครับ อย่างกับกองเชียร์เลย พอมาบวกกับเย้ๆๆๆๆ ของอาจารย์ ดร.ขจิต ก็รู้สึกเหมือนเห็นกองเชียร์จริงๆ ขำดีครับ แต่ก็ประทับใจและซาบซึ้งใจดีครับ แต่อ่านวิธีอธิบายและเล่ากระบวนการแล้ว ก็แจกแจงอย่างกับเป็นคนรู้กระบวนการต่างๆเป็นอย่างดีเลยทีเดียว หรือว่าเป็นทีมของกรรมการล่ะเนี่ย พอดีผมดันไประบุว่าไม่ต้องการทราบกรรมการทุกท่านที่จะเป็น Reviewers ว่าเป็นใครและมาจากไหน เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นโอกาสให้อยากบุกเบิกและสร้างมาตรฐานให้กับตัวเอง(เผื่อเรียนรู้ให้เป็นบทเรียนเอาไว้ใช้ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยไปด้วยครับ) ก็ปรากฏว่าได้เจอกับความยุ่งยากอย่างใจเลยเชียวครับ
  • แต่ก็ประทับใจกับพี่ๆน้องๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ และชาวมหิดล ที่ทำให้ประทับใจให้ผมได้ทราบในวันที่เราจัดเวทีจัดการความรู้กันอย่างที่อาจารย์กล่าวถึงนั่นแหละครับ
  • เป็นศิลปะของการเยียวยาและให้กำลังใจกันได้เท่ดีจริงๆครับ เนื่องจากผมปล่อยไปเรื่อยๆเพราะก็อยากเรียนรู้ให้กับตนเองไปด้วย เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นฝ่ายได้รับแต่ผู้เดียว แต่มันเป็นภารกิจเพื่อมหาวิทยาลัยและสังคมวิชาการที่จะต้องช่วยกันทำด้วย มันมีผลต่อการสอนและคุมวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา ยิ่งกรณีผมเองนั้น ผมขอในช่วงที่เป็นทีมบริหารหน่วยงานที่มีหลักสูตรต้องดูแล ทำให้ต้องนึกถึงมากกว่าเป็นเรื่องของตัวเอง
  • แต่พอทราบและได้รับการสัมผัสเหมือนลูบหลังให้ ก็รู้สึกดีใจเหมือนกัน ตอนที่ผมได้ทราบนั้น ใจผมแว๊บเหมือนกับมีครูและหมู่กัลยาณมิตรกำลังสอนให้ได้ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของการได้มาในสิ่งที่ยากๆ กระทบกับตัวตน ความเป็นตัวกูของกู กดดัน ท้าทาย มันเลยทำให้เรื่องง่ายๆสำหรับคนอื่น มีความหมายต่อตนเองได้อย่างประหลาด
  • ส่วนใหญ่คนอาจจะบอกว่าเป็นขั้นการเริ่มต้นเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการก้าวแรก ไม่ยาก แต่ผมเองนั้นก็ต้องการให้มันสะท้อนมิติอื่นๆที่กำลังทำไปด้วยหลายเรื่อง ซึ่งก็อาจจะไม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาอย่างที่เขาวางกฏระเบียบกันไว้ ที่เขาว่ายากเราก็มองว่ามันง่ายและไม่อยากทำ เรื่องที่เขาวางไว้ง่ายๆ ผมก็ไปทำให้มันยากเองเพราะอยากเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองให้ได้การเรียนรู้แก้ปัญหาไปด้วย เลยลึกๆแล้ว ผมก็ยินดีและได้แก่ตนเองเยอะครับ เยอะมากจริงๆ
  • อาจารย์ณัฐพัชร์เป็นทั้งน้องและเพื่อนร่วมงานที่ใส่ใจกับทีมมากจริงๆ ขอบคุณมากอย่างยิ่งครับ เวลาที่ผมปฏิบัติอย่างนี้กับคนอื่นนั้น ก็เป็นการได้แก่ตนเองด้วย การแสดงความยินดีกับผู้อื่น เป็นสิ่งสะท้อนความงดงามและความดีงามที่เกิดขึ้นในใจของผู้ที่ได้อนุโมทนาและแสดงความยินดี เป็นการเรียนรู้ที่ถ่อมตนเองลงให้อยู่ในฐานะเชิดชูผู้อื่น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับคนติดตัวตน อาจารย์ย์ณัฐพัชร์มักแสดงความยินดีกับผู้อื่นอยู่เสมอเหมือนกับที่ผมได้รับในครั้งนี้ ก็ขอให้สิ่งดีงามในจิตใจอย่างนี้งอกงามและเป็นกำลังก่อเกิดสิ่งดีๆแก่อาจารย์มากยิ่งๆขึ้นอยู่เสมอนะครับ
  • มองอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นภาระและความหนัก ความเป็นทุกขลาภ ที่ต้องแบกตัวตนทางวิชาการเพิ่มขึ้นไปอีก
  • ผมพอจะรู้สึกได้ถึงนัยยะที่อาจารย์นำเอามากล่าวถึงอย่างพิถีพิถันเชียว อาจารย์คงเห็นสภาพแวดล้อมพื้นฐานของผมแล้ว ทั้งจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราในเวทีคนหนองบัวและจากหนังสือดังลมหายใจ ก็คงเห็นว่า เรื่องที่อาจจะง่ายๆและเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้อื่นนั้น เป็นการเดินทางไกลอย่างยิ่งสำหรับผมและคนอีกจำนวนมากในหนองบัวหรือชุมชนชนบท เลยต้องขอขอบคุณในการเสริมกำลังใจให้เห็นคุณค่าและความหมาย จากย่างก้าวของเราเองนะครับ.

  สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ 

  • เชื่อว่าเวทีในลักษณะนี้ ในอนาคต คงจะเชื่อมต่องานไปเป็นเครือข่ายกับงานที่อาจารย์กำลังทำอยู่ในหลายๆบทบาทแน่เลยครับ
  • มีหลายท่านเป็นทีมของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นคนหนุ่มคนสาวที่เก่งเป็นเลิศที่กำลังมุ่งทำงานวิจัยชุมชนด้วย Approach ใหม่ๆที่มีโอกาสไปเชื่อมโยงกับพื้นที่และคนต่างสถาบัน ต่างสาขา
  • รวมทั้งงานที่เจอจากการปฏิบัติ เชื่อว่าคงมีหลายอย่างที่สักวันก็คงต้องเรียนรู้จากอาจารย์กันละครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์อีกเรื่องหนึ่งในเวทีนี้ ในฐานะ บก.หนังสือ และผู้ดูแลโครงการวิจัยเรื่องรณรงค์บุหรี่ และอื่นๆที่พวกเรากำลังทำ
  • อาจารย์นำเอางานไปจัดบอร์ดและหนังสือไปเผยแพร่นั้น นอกจากทำให้ได้รับความสนใจและได้เพื่อนที่มีความสนใจคล้ายๆกันมากมายแล้ว วันที่จัดเวทีก็เป็นวันรณรงค์การงดสูบบุหรี่โลก ก็เลยเป็นการช่วยนำเอาบทเรียนของคนในพื้นที่จากทั่วประเทศ ไปเผยแพร่ช่วยกันด้วย
  • รวมทั้งได้เป็นแนวร่วมกับกองสุขศึกษา ของกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมการบริโภคบุหรี่และยาสูบ และองค์การอนามัยโลก เคลื่อนไหวเรื่องที่เกี่ยวข้องช่วยกันในเวทีของเราเอง แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆก็ตาม
  • ที่ต้องขอบคุณมากก็คือ ที่ผมเตรียมจะไปนำเสนอบนเวทีนั้น โครงการอื่นๆนำเสนอจนเหลือเวลาไม่พอที่ผมจะนำเสนอ อีกทั้งผู้ที่จะพูดต่อก็เป็นท่านอธิการบดี ซึ่งก็โดนกินเวลาจนเกือบหมดไปด้วยเช่นกัน ผมเลยบอกว่าผมไม่นำเสนอแล้ว ให้ผู้เข้าประชุมไปอ่านเอาจากบอร์ดดีกว่า
  • ที่อาจารย์และพวกเราไปจัดบอร์ดเลยกลายเป็นทำให้เราไม่หลุดไปจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการมีส่วนร่วมเผยแพร่บทเรียนการวิจัยชุมชน ให้เวทีมีข้อมูลทำงานระดมความคิดมากๆ ต้องขอขอบคุณมากครับ ไม่อย่างนั้นผมในฐานะผู้ร่วมจัดเวทีก็กลับจะไม่ได้นำเสนอเลยเชียว.

 วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชนบท  : การเก็บข้าวตก

                     

หลังฤดูเก็บเกี่ยวและนวดข้าว ลูกหลานชาวนาและเด็กๆในชนบท จะมีของเล่นด้วยกันอีกอย่างหนึ่งคือ พากันเดินออกไปตามท้องนาที่เขาเกี่ยวข้าวแล้วเพื่อเดินเก็บข้าวตก ซึ่งเป็นรวงข้าวที่เล็ดรอกคมเคียว หรือเป็นรวงข้าวที่อาจร่วงหล่นไปจากการรวบมัดข้าว กว่าจะเก็บได้ทีละรวงก็อาจจะเดินเป็นร้อยๆก้าวและครึ่งค่อนไร่นา เมื่อได้กำหนึ่งก็จะนำมารวมกันและตีให้เม็ดหลุดออกจากฟาง เดือนหนึ่งหรือสองสามเดือน จึงจะสามารถได้ข้าวเปลือกสัก ๑ ถังซึ่งบางครั้งพ่อแม่และผู้ใหญ่เห็นความขยันตั้งอกตั้งใจ ก็อาจจะนำข้าวเปลือกที่นวดแล้วมาเติมให้ เด็กๆก็จะได้ข้าวเปลือกจากแรงงานและความทุ่มเทของตนเอง เมื่อนำไปขายก็แล้วแต่จะนำเงินไปใช้ บางคนก็มอบให้พ่อแม่เป็นเครื่องกราบนอบน้อมรำลึกพระคุณพ่อแม่ให้เป็นกำลังใจพ่อแม่ บางคนก็หยอดกระปุกออมสิน บางคนก็นำไปซื้อขนมกิน บางคนก็นำไปซื้อหนังสือ ชุดนักเรียน บ้างก็เก็บไว้เที่ยวงานประจำปี

เอารูปมาสะสมไว้ในเวทีนี้ไปด้วยนะครับ แล้วผมจะเขียนแยกหัวเรื่องนี้ไว้อีกแห่งหนึ่งในบล๊อกเวทีคนหนองบัวนี้ด้วย เผื่อคุณครู นักเรียน หรือประชาชนที่เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต จะได้เป็นแหล่งสำหรับนำไปเป็นข้อมูลหรือทำสื่อ ใช้ทำงานพัฒนาตัวเราเองและชุมชน ทั้งของหนองบัวและทุกแห่งตามความสนใจนะครับ.

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ผมอ่านความเห็นที่ 612 - 616 แล้วจะพูดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากคำว่า...ปลื้มใจ...และขอแสดงความยินดีด้วย ครับ

เห็นภาพในความเห็นที่ 617 แล้ว ในภาพรวม ๆ เป็นวิถีของคนบ้านนาซึ่งสมัยปัจจุบันคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้รถเกี่ยวทุกวันนี้ การตกหล่นของรวงข้าวน่าจะยังพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่ทราบว่ายังมีการ...เก็บข้าวตกอยู่อีกหรือไม่

......แต่ภาพตรงที่มีหนังกะติ๊กขัดเอว ให้นึกถึงอาวุธสงครามของผู้ที่ถูกเรียกว่า...ผู้ก่อการร้ายแถว ๆ สะพานผ่านฟ้าฯและแยกราชประสงค์ ซึ่งมีการนำมาแสดงในสภาฯเมื่อคืนนี้ครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • ด้วยความขอบคุณยิ่งครับ
  • ผมทำไปก็นึกดีใจที่พวกเราช่วยกันคุยจนผมก็ได้แรงบันดาลใจร่วมทำเป็นข้อมูลภาพมารวบรวมไว้เพราะวิถีชีวิตกับความเป็นชุมชนอย่างนี้คงไม่มีอีกแล้ว
  • หากจะมีแต่ภาพวาด แต่ไม่ได้เป็นองค์ประกอบของเวทีคุยกันอย่างนี้ มันก็ไม่ได้จิตวิญญาณการเรียนรู้ให้ซาบซึ้งความเป็นสังคมของตนเอง ของคนที่เป็นเจ้าของประสบการณ์ในชนบทได้ดีอย่างนี้
  • นาข้าวที่ใช้รถเกี่ยวข้าวเปลือกร่วงเยอะครับ เยอะกว่าเกี่ยวด้วยมือ พอฝนตกก็งอกออกมาเขียวพรึ่ดอย่างกับนาหว่าน แต่มันไม่ร่วงเป็นรวงๆ ร่วงเป็นเมล็ดปนไปกับดิน เลยเก็บข้าวตกไม่ได้ครับ
  • นึกถึงตอนที่เด็กๆหัดยิงหนังสะติ๊กกันใหม่ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ก็น่าขันนะครับ มักจะจับหนังรองกระสุนกับง้างด้ามหนังสะติ๊ก พอยางยืดเต็มที่ แทนที่จะปล่อยมือด้านที่เป็นหนังรองกระสุน ก็ดันไปปล่อยมือด้านที่จับด้ามหนังสะติ๊ก เสียงหนังยางจะดึงง่ามหนังสะติ๊กมาฟาดหน้าอกดังปั่ก นกแตกกระจายแล้วก็บินไปเกาะต้นไม้ต้นอื่นอย่างสบายๆ แต่คนยิงหนังสะติ๊กนอนจุกชักดิ้นชักงอ

อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และพี่น้องเวทีชุมชนคนหนองบัว

ตอนที่ผมได้ทราบนั้น ใจผมแว๊บเหมือนกับมีครูและหมู่กัลยาณมิตรกำลังสอนให้ได้ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของการได้มาในสิ่งที่ยากๆ กระทบกับตัวตน ความเป็นตัวกูของกู กดดัน ท้าทาย มันเลยทำให้เรื่องง่ายๆสำหรับคนอื่น มีความหมายต่อตนเองได้อย่างประหลาด .... (ความเห็น 614)

  • แวะมา น้อมคารวะ "มุทิตาจิต" ครับ
  • และ...ขอร่วม "ภาคภูมิใจ" ด้วย เป็นอย่างยิ่งงงงงงงงงง ...............................

มีหัวข้อแยกย่อยเยอะไปหมด ไม่รู้จะไปแจมตรงไหนดี เอาตรงนี้ที่คุ้นเคยละกัน ยังมีกลุ่มพริกเกลือที่ผมยังไม่เคยไปเยี่ยมเยียนเลย

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับพี่วิรัตน์อีกครากับรางวัลจากการทำงานให้สังคม

ไม่ได้เข้ามาพูดคุยซะนานเลย ไม่รู้จะเริ่มเรืองไหนก่อนดี เอาเรื่องของหนองบัว-ชุมแสงนี่แหละใกล้ตัวดี

เปลี่ยนใจ ผมเอาเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับชุมแสงของผม ไปไว้ที่ตลาดแลกข้าวฯที่ชุมแสงแล้วนะครับ ตามไปอ่านที่โน่นละกัน

มีข้อเสนอนิดครับ อยากจะให้หัวข้อย่อยนี้ (เวทีเรียนรู้สุขภาวะคนหนองบัว) เป็นหัวข้อแรกที่อยู่ที่หน้าที่ 1 เพราะมันคือเวทีหลักของพวกเราไปแล้ว

สวัสดีครับท่านอธิการบดีช้างน้อยมอมแมม

  • ขอบคุณครับ
  • ขอแสดงความยินดีกับว่าที่ดอกเตอร์คนเก่งด้วยเช่นกันครับ

   สวัสดีครับฉิก   

  • ขอบคุณครับ
  • เห็นด้วยกับฉิกครับที่จะให้หัวข้อนี้เป็นหัวข้อแรกและเป็นหัวข้อหลักของเวทีคนหนองบัว หากไปเขียนหัวข้ออื่นเพื่อให้เป็นหมวดหมู่ หาง่ายสำหรับคนอื่นๆ ผมเองก็จะต้องดึงเอาสาระสำคัญของเรื่องที่เขียนนั้นมาเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ด้วย
  • เพราะดูแล้วเหมือนว่าหัวข้อนี้จะมีบรรยากาศของการเป็นแหล่งคุยสร้างแนวคิด แลกเปลี่ยนข้อมูล ถกและหารือให้เกิดวิธีคิดดีๆ ซึ่งทำให้มีคลังข้อมูลมากมาย
  • เลยรวบรวมไว้ที่นี่ก็จะเป็นการดี หากจะลงรายละเอียดเฉพาะเรื่องก็สามารถแตกออกไปจากที่นี่ได้
  • เข้าไปอ่านที่ฉิกบันทึกแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับชุมแสงและวิถีชีวิตผู้คนหนองบัวและชุมแสง ไว้ที่ ตลาดแลกข้าวเปลือกกับสินค้าที่ชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วสนุกมากจริงๆ ฉิกเป็นคนใช้ชีวิตและมีเรื่องราวบนประสบการณ์ชีวิตมากมายนะครับ แล้วก็เล่าสนุกดีจริงๆ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่ฉิกครับ

ระยะหลาย ๆ วันมานี้สังเกตไหมครับว่าท่านอาจารย์พระมหาแลฯเงียบหายไป บรรดาญาติโยมหลายคนคงคิดถึงนะครับ

ที่ต้องเอ่ยถึงท่าน ณ ที่นี้คืออย่างนี้ครับ ผมเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากพระครูประยูรฯ เจ้าอาวาสวัดสีหไกรสร (คนเขาล้อ-ดอนคา ท่าตะโก) ผู้ที่ท่านพระมหาแลฯเคยกล่าวถึงว่าชอบสนับสนุนให้พระจากชนบทเข้าศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ

แต่คราวนี้ ไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ แต่...ไปไกลกว่านั้น

มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุสงฆ์ไทย-ลาว พระพุทธศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว...แบบเงียบเชียบ ครับ

....... คือว่า พรุ่งนี้ตี 5 จะมีรถตู้ 1 คันเดินทางจาก 4 แยกพรานนกมาหนองคายแล้วข้ามไปเวียงจันทน์

การเดินทางมาครั้งนี้แม้จะมิใช่เรื่องใหญ่โต แต่เป็นความปลาบปลื้มใจของคน 2 ฝั่งโขง

ใครที่ไม่มีพาสปอร์ตผมทำบัตรผ่านแดนไว้รอแล้วครับ

ฝั่งขวา...เป็นความปลื้มใจของเจ้าอาวาสผู้ให้ที่พำนัก/ทุนการศึกษาแก่พระนิสิตชาวลาว ที่ได้ศึกษาร่ำเรียนมาตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ....เป็นความปลื้มใจของโยมอุปัฏฐากชาวไทยหลายท่าน ส่วนหนึ่งร่วมขบวนมาครั้งนี้ด้วย

ฝั้งซ้าย...เป็นความปลาบปลื้มใจของโยมพ่อ/โยมแม่และคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากของพระนิสิตชาวลาวทั้งสองรูป

น่าจะถึงหนองคายประมาณ บ่าย 2 โมง แล้วข้ามโขงเลย

งานนี้ผมขอร่วมทำบุญด้วย(แม้จะมีส่วนเพียงน้อยนิด)ด้วยการดูแลเรื่องการเข้า-ออกเมืองในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่นับถือศาสนสพุทธ

ขอพี่น้องชาวหนองบัว ได้มีส่วนร่วมในการอนุโมทนาบุญและแสดงมุทิตาจิตในครั้งนี้ด้วยกันครับ.

อินเตอร์เน็ตที่วัดหลุดไปหลายวัน มาอีกทีมีเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มขึ้น เรื่องอินเตอร์เน็ตพระในวัดทำใจกันได้เยอะ คือไม่ค่อยกล้าเปิด เพราะเปิดครั้งใดก็ไม่ติด เลยทำอย่างอื่นไปก่อน หลุดแล้วโทร.ไป TOT ช่างมาดูใช้ได้ พอช่างออกจากวัดไปสักพักเดียวก็หลุดอีก หลุดบ่อยๆเข้า เล่นเอาจนวัดผู้บริโภครับภาระจ่ายตังค์เกิดเกรงใจองค์การโทรศัพท์ ไม่อยากโทร.ไปรบกวนจึงปล่อยไปบ้าง เว้นบ้าง เป็นซะงั้น (ผู้บริโภคใจดีหรือรำคาญไม่อยากโทร.ไปแจ้งองค์การฯก็ไม่ทราบ)

นึกถึงตอนทำนา ปีที่ใดแล้งมากๆข้าวกำลังเหี่ยวแห้งจะตายคานา เจ้าของก็เทียวไปดูบ่อยๆเมื่อเห็นข้าวจะตายไปต่อหน้าต่อตาก็ทำใจลำบาก จากไปดูทุกวันก็เว้นบ้าง เมื่อมีน้ำหลากนองมาถึงนาก็ดีใจตะโกนคุยกันลั่นทุ่ง คัดน้ำเข้านา แขวะน้ำเข้านากันยกใหญ่ ชื่นใจ กูรอดตายแน่ละปีนี้ อย่างนี้ไม่ต้องแห่นางแมว

นี่ทำให้นึกถึงคุณเสวก ใยอินทร์ถ้าอยู่ใกล้ๆกันจะชวนมาแห่นางแมวที่วัดสักวัน แกจำเพลงและร้องเพลงแห่นางแมวได้ดีอย่าบอกใครเชียว มาช่วยแห่นางแมวเพื่อเตือนให้อินเตอร์เน็ตมาดีๆสะดวกๆอย่าอืดนัก อย่าหลุดบ่อย ถ้าไม่หลุดอีกเดี๋ยวสักพักได้กลับมาพูดคุยกันต่อไป(จนกว่าเน็ตเขาจะมา) ไปก่อนละ ต้องรีบไปๆ

  สวัสดีครับคุณสมบัติครับ 

  • ขอร่วมอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ ทั้งภาคราชการที่เกี่ยวข้องของทั้งไทยและลาว ทั้งพ่อแม่ญาติโยม ทั้งของพระทั้งสองรูป และญาติโยมผู้ศรัทธาฝ่ายไทยที่เป็นผู้อุปฐาก รวมทั้งกลุ่มผู้ส่งเสริมทั้งโดยตรงและโดยความศรัทธาปสาทะของตนอย่างคุณสมบัติและผู้ร่วมอำนวยความสะดวกแด่พระคุณเจ้าที่สำเร็จการศึกษา เป็นกลุ่มคนผู้ปิดทองหลังพระที่เชื่อว่าจะทำให้พระศาสนาได้เผยแผ่ไปสู่กลุ่มชาวบ้านคนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเข้าถึงความสุขและอิสรภาพในชีวิตที่ยั่งยืนกว่าทางอื่น
  • ผมเคยไปที่หลวงพระบาง ได้ไปร่วมทำบุญกับพี่น้องลาวที่วัดเก่าแก่ ๒ แห่งที่หลวงพระบาง วัดแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขา มีพระที่ได้ขึ้นไปกราบท่านได้เคยมาศึกษาปฏิบัติกับครูอาจารย์ในเมืองไทยอยู่ด้วย ท่านพูดถึงพระผู้ใหญ่ในประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายรูปที่ท่านเคารพนับถือและได้ไปศึกษาปฏิบัติด้วย ด้วยความเคารพนอบน้อมเหมือนเราพูดถึงครูอาจารย์ของเราเช่นกัน
  • เป็นการสร้างความร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งดี ที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ ดีใจและขออนุโมทนาที่คุณสมบัติคนหนองบัวได้มีส่วนร่วมในวาระที่สำคัญและมีความหมายมากอย่างนี้

   กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ  

  • ผมโดยผู้คนรอบข้างหลายคนถามไถ่ถึงพระคุณเจ้าว่าหายไปไหนหลายวัน ผมก็บอกว่าคงจะเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวิสาขบูชา ก็เลยได้ทราบว่าเกิดจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตติดขัดด้วย
  • ตอนนี้ในเวทีนี้คงจะมีพระคุณเจ้า คุณสมบัติ คุณฉิก คุณเสวก ในยอินทร์ และผม เป็นเหมือนกองบก.หรือทีมรักษาความเคลื่อนไหวของข้อมูลเวทีไปแล้ว หากคนใดคนหนึ่งหายไปนานก็จะมีคนถามไถ่ถึง
  • เวทีกลุ่มพริกเกลือที่คุณเสวกเปิดไว้รองรับกลุ่มคนที่อาจรวมตัวกันเป็นกลุ่มความสนใจเดียวกันหรือกลุ่มคอเดียวกันก็คึกคักไม่หยอกนะครับ
  • มองในแง่กระบวนการเรียนรู้และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นความเป็นคลื่นระลอกแรกที่พยายามเข้ามาเรียนรู้และบรรจงเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ท้องถิ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์สิ่งดีให้กับส่วนรวม สร้างความรู้และข้อมูลท้องถิ่นเพื่อสื่อสารกับโลกภายนอก รวมทั้งเก็บบันทึกให้เป็นข้อมูลของท้องถิ่น
  • มองอย่างคนสื่อสารความรู้และคนที่ต้องมีหน้าที่สร้างความรู้ สอนหนังสือ และทำสื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคมแล้วละก็ ผมก็ต้องตระหนักและเห็นพัฒนาการเวทีคนหนองบัวที่น่าประทับใจว่า กลุ่มคนเล็กๆจำนวนหนึ่ง ได้ใช้เป็นช่องทางช่วยกันสร้างความรู้และจัดการความรู้บนสื่ออินเทอร์เน็ต เผยแพร่เรื่องราวชุมชนได้ทั้งในประเทศไทยและกรจายไปหลายภูมิภาคของโลก นี่ถ้าหากทำเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือแผ่นพับเผยแพร่อำเภอหนองบัวไปสู่โลกภายนอก ก็คงไม่ได้อย่างที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ตนี้แม้สักเสี้ยวหนึ่ง แค่เผยแพร่ให้ทั่วทุกชุมชนในอำเภอหนองบัว ก็คงได้เนื้อหานิดเดียวและคงหมดเงินเป็นหมื่นเป็นแสน ทว่า นี่เรากำลังได้ข้อมูลของอำเภอมากมาย อีกทั้งสะสมไว้ให้ผู้คนใช้ได้ต่อไปอีก และเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวางทั่วโลกไปแล้ว น่าประทับใจมากจริงๆละครับ

 กระยาสารท : ความเป็มชุมชนบนอาหาร สุขภาวะจิตวิญญาณ และอีกพื้นฐานความสามัคคีคนหนองบัว คลิกตามลิงก์นี้ครับ [Click here please]

มีรูปแสดงการทำกระยาสารท มาสะสมไว้ในเวทีนี้อีกรูปและอีกเรื่องหนึ่งครับ เป็นการทำให้กิจกรรมชีวิตและวิถีชุมชนเป็นจำนวนมากที่เหมือนกับความว่างเปล่า ให้เป็นข้อมูลและความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์และวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน รวมทั้งผมจะพาถอดรหัสนัย อ่านสังคม และเห็นมิติต่างๆของสังคม สิ่งแวดล้อม ความเป็นท้องถิ่น และภาพสะท้อนระบบสังคมอันซับซ้อน จากอาหารการกินและกิจกรรมต่างๆที่อยู่ในชุมชนคนหนองบัว

เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่นอกจากจะทำให้ทุกคนได้วิธีเรียนรู้ชุมชนให้เกิดความภูมิใจ และเห็นรากเหง้าและความมาของสภาพการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็เชื่อว่าจะได้วิธีวิเคราะห์และวิจัยสภาวการณ์ชุมชนจากชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีที่เรียบง่ายแต่ได้ความแยบคายและลึกซึ้ง เช่น ผู้นำชุมชน หรือท่านพระอาจารย์มหาแล ก็สามารถเป็นนักวิจัยชุมชนและเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชน  ผ่านการพิจารณาการใส่บาตรและการทำกระยาสารทของชาวบ้านถวายแก่พระ เหล่านี้เป็นต้น

                       

อธิบายภาพ : ชาวบ้าน บ้านตาลิน และชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ รวมตัวกันทำกระยาสารท ซึ่งเป็นเทศกาลการทำอาหารอย่างหนึ่งที่มีมิติความเป็นชุมชนและกระบวนการเชิงวัฒนธรรม ซึ่งก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนขึ้นอย่างลึกซึ้ง  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ : แวะมาแสดงความยินดีให้กับ เวทีคนหนองบัว-เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว ที่มีกัลยาณมิตรแวะเวียนกันเข้ามาพูดคุยครบ ๑ หมื่นคลิ๊กคะ ยินดีด้วยคะ ..

  • ยินดีด้วยกับทุกท่านเช่นกันครับ น่าประทับใจและเป็นความเคลื่อนไหวของเวทีเรียนรู้ออนไลน์ที่น่าสนใจมากเลยครับ
  • เป็นความรู้ชุมชนท้องถิ่นและวิธีจัดการความรู้ทางสื่อออนไลน์ที่เชื่อมโยงสังคมท้องถิ่นกับโลกกว้างได้อย่างกลมกลืนผสมผสานมากเลยครับ
  • ยินดีและอนุโมทนาการจุดประกายและทำให้เกิดการริเริ่มเวทีนี้ขึ้นของท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ร่วมยินดีกับความร่วมแรงแบ่งปันสร้างสรรค์สิ่งดีเล็กๆน้อยสะสมช่วยกันทั้งของคนหนองบัวและเครือข่ายบล๊อกเกอร์เขียนความรู้และจัดการความรู้ ใน Gotoknow นี้ครับ
  • ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งครับ
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

จากก้าวแรก แล้วก็มาถึง ๑ หมื่นคลิ๊ก
ยินดีกับทุกท่านที่มีส่วนทำให้เวทีคนหนองบัวได้เติบโต ก้าวไปข้างหน้า

เก็บตก ย้อนรอยถอยหลังไปที่ dialogue box ๖๐๒ (๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓) มีการกล่าวถึงอำเภอตากฟ้า ก่อนบวชซักประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ ไปงานปิดทองฝังลูกนิมิตที่อำเภอตากฟ้า กับหมู่ญาติพี่น้องคนหนองบัวจำได้ว่า บ้านตากฟ้านี่เมื่อก่อนเป็นบ้านนอกสุดๆ เราคิดว่าที่หนองบัวนั้นบ้านนอกแล้ว ไปเจออำเภอตากฟ้ายิ่งบ้านนอกมากขึ้นไปอีก จำไม่ได้เสียแล้วว่าวัดที่ไปปิดทองครานั้นอยู่ใกล้วัดท่านเจ้าคุณอมรเมธี รองเจ้าคณะอำเภอตากฟ้าหรือเปล่า

ถนนที่เข้าไปยังวัดที่มีงานเป็นถนนลูกรังและถนนที่เป็นดินฝุ่นหนาๆ รถวิ่งก็จะมีฝุ่นตลบฟุ้งกระจายตามหลังรถ เหลียวหลังมองทางที่รถวิ่งมา เห็นแต่ฝุ่นเหมือนมีเมฆลอยเป็นลำยาวตามถนนอยู่บนกลางอากาศ แม้ถนนหนทางจะลำบากแต่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับนักแสวงบุญทั้งหลาย แค่ปิดทองนี่ถึงไกลก็ไป ข้ามอำเภอก็ไป สิ่สิบปีที่แล้วข้ามอำเภอไปถึงตากฟ้านี่ถือว่าไกลโขทีเดียว

อีกอย่างที่จำได้ดีก็คือห้องน้ำ ห้องส้วมในวัด เป็นส้วมหลุม(บ๊อก)ขนาดใหญ่อยู่ไม่ห่างงานมากนัก มีผ้าล้อม ส้วมหลุมนี่ถ้าใช้บ่อยๆจนคุ้นเคย ก็ไม่คิดรู้สึกแปลกอะไร แต่เมื่อใช้ของบ้านอื่นที่อื่นที่ไม่เคยชินนั้น มันรู้สึกลำบากอึดอัดอยู่บ้าง งานใหญ่ขนาดงานฝังลูกนิมิตนี่ คนก็เยอะ คิดดูว่าสภาพเป็นยังไง

คนสมัยนี้เดินทางทีก็คำนึงถึงความสะอาดของห้องน้ำมาเป็นอันดับแรก และใช้เป็นเหตุผลที่เลือกใช้ปั้มน้ำมันอีกด้วย ปั้นไหนห้องน้ำ ห้องส้วมสะอาดสามารถเรียกลูกค้าได้เป็นกอบเป็นกำ รวยเละจากห้องส้วมสะอาดนี่แหละพี่น้อง

แต่เมื่อก่อนป่าเยอะ ทุ่งนา ป่าเขา ลำห้วย ลำธาร ใครก็สามารถเลือกใช้บริการเป็นสถานที่ถ่ายทุกข์ได้ตลอดเวลา และอย่างสบายใจด้วย

ได้ยินเขาเล่าว่า เพราะไม่เคยไป ที่เมืองจีนเมื่อไม่นานมานี้พี่น้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังนิยมถ่ายทุกข์ตามทุ่งนา ยังมีส้วมหลุมอยู่เลย เหตุผลฟังมาว่า ที่เมืองจีนโน่น การใช้มูลสัตว์ทำปุ๋ยก็เหมือนประเทศอื่นทั่วไป แต่เมืองจีนมีพิเศษกว่าใครเพื่อนก็คือ เขานำอุจจาระของคนไปทำปุ๋ยใส่ผัก ที่ปลูกไว้บริโภคเองด้วย และน่าจะขายด้วย เขาว่าขายดี ผู้คนนิยม และปลอดสารพิษ(คิดให้ได้ว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่ง)

ขอแสดงมุทิตาและยินดีกับผู้ช่วยศาสตราจารย์คนใหม่ด้วย

จาก dialogue box ๖๐๒ (๔ มิถุนายน ๒๕๕๓) ขอแสดงความยินดีกับพระสงฆ์ลาวทั้งสองรูปด้วยที่จบป.โท มจร. ทราบข่าวมาบ้างว่า ป.โท มจร.นี่จบยากจัง เขาว่ากันมาอย่างนั้น หลวงพี่สองรูปนี้ที่จบแล้วก็คงได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมชุมชนในวงกว้างต่อไป ได้เป็นกำลังของพระศาสนา พระศาสนได้มีบุคลากรที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก ขออนุโมทนา

เพิ่งทราบว่า คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนซีไรต์ เป็นคนชุมแสง เคยเห็นงานเขียนผ่านตาบ้าง ผลงานเกี่ยวกับบทกวี

นมัสการพระอาจารย์มหาแล อาสโย และสวัสดี ชาวชุมชนคนหนองบัวทุกท่าน..

ขอร่วมแสดงความยินดีกับก้าวย่าง "หมื่นคลิก" ณ ลานปัญญาแห่งนี้ครับ

  กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ 

  • กราบขอบพระคุณครับ
  • พระคุณเจ้าเล่าย้อนรำลึกเรื่องส้วมหลุมและวิถีชีวิตในอดีตของชนบท ทั้งงดงามและนึกถึงแล้วก็ให้ลำบากอึดอัดอย่างที่ว่าเลยนะครับ หากเป็นนั่งคุยกัน พอคุยและชวนกันนึกถึงภาพตรงนี้ก็ต้องร้องยึยยยยยในใจ เล่าได้จั๊กจี้ดีแท้ครับ
  • ศักดิ์สิริ มีสมสืบได้รางวัลซีไรต์จากงานกวีเมื่อปี ๒๕๓๕ ในผลงานกวีร่วมเล่มชุด มือนั้นสีขาว พื้นเพศักดิ์สิริ มีสมสืบเป็นคนชัยนาท ศึกษาเล่าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนไพศาลี ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง คุรุศาสตรบัณฑิตที่วิทยาลัยครูพระนคร ทำงานศิลปะ ศึกษาและพัฒนางานทางความคิดกับกวีจ่าง แซ่ตั้ง และในช่วงชีวิตหนึ่งก็เป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อำเภอชุมแสง นครสวรรค์
  • แต่นอกจากการศึกษา การเป็นนักอ่าน เขียน และเคี่ยวกรำกับชีวิตอย่างเข้มข้นมากแล้ว เขาเกิดในครอบครัวของศิลปิน พ่อ พี่และญาติพี่น้องมีวงดนตรีไทย ลิเก แตรวง ทำให้เขาสร้างสรรค์งานศิลปะในทุกแขนงได้อย่างคนที่เข้าถึง
  • ศักดิ์สิริมีผลงานที่โดดเด่นหลายแขนง นอกจากรางวัลกวีซีไรต์แล้ว จึงได้รับการเชิดชูให้ได้รับรางวัลในผลงานอีกหลายรางวัลคือ รางวัลพระพิฆเนศวร์ , รางวัลปราศราหุล , และล่าสุดคือรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • สวัสดีครับช้างน้อยมอมแมม
  • คุณช้างน้อยมอมแมมก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสร้างเวทีคนหนองบัวนะครับ

ผมมีหนังสือ มือนั้นสีขาว อยู่เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่2 หลังจากที่ได้รางวัลซ๊ไรท์แล้ว มีคำประกาศเกียรติคุณ และประวัติของ อ.ศักดิ์ศิริ ด้วย

ช่วงนี้ค่อนข้างยุ่งๆหน่อย เลยไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่ก็โฉบเข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ ไปละครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เกวียน-เจ้าถนนในอดีต(ที่ชุมชนหนองบัว)

สมัยนี้ที่หนองบัวเจ้าถนนก็คือรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถอีตุ๊ก รถอีแต๋น รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์มีที่ใช้ส่วนตัว และรับจ้างอยู่ที่สี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกหนองบัว-ชัยภูมิ) ส่วนสามล้อถีบที่เคยบริการรับจ้างรับ-ส่งคนจากตลาดหนองบัวไปโรงพยาบาลหนองบัว เลิกไปหลายปีแล้ว โดยมีรถสองแถววิ่งรับส่งผู้โดยสารและนักเรียนจากตลาดหนองบัว-โรงพยาบาลหนองบัว-โรงเรียนหนองบัวมาแทน สามล้อถีบ

เมื่อร้อยที่แล้วในกรุงเทพฯมีรถเจ๊ก หรือรถลาก ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าคัน ในมณฑลต่าง ๆ รวมกันแล้วมีรถเจ๊กน้อยกว่าที่กรุงเทพฯ แห่งเดียว ตัวอย่าง ที่มณฑลนครสวรรค์ มีรถลาก(รถเจ๊ก)แค่ ๒ คัน มณฑลพิษณุโลกมีรถลากมากหน่อย ๔๐๐ กว่าคัน กล่าวได้เลยว่า กรุงเทพฯ ในอดีตแค่เพียงร้อยปีที่แล้วนั้น เจ้าถนนก็คือรถลากหรือรถเจ๊กนั่นเอง รถลากหรือรถเจ๊ก ทำไมถึงเรียกว่ารถเจ๊ก ก็เพราะเจ๊กหรือคนจีนเป็นคนลาก คนลากรถมีแต่คนจีนล้วน ๆ ไม่มีคนไทยที่ลากรถเลย

แต่เมื่อสัก ๓๐ ปีมานี้เอง ที่หนองบัว เจ้าถนนตัวจริงก็คือเกวียน ถนนสายหนองบัว-ชุมแสง สายหนองบัว-ท่าตะโก ทาง-ถนนไปเขามรกต เขาพระ เหล่านี้ล้วนเป็นถนนที่มีเกวียนสัญจรไปมาอยู่มากมาย เกวียนเดินบนถนนลูกรังจะเกิดเสียงดัง ได้ยินไปไกล กว่าเสียงรถยนต์อีก อีกทั้งมีเสียงคนขับเกวียนไล่วัว-ควาย ก็ดังไม่น้อย และคนขับเกวียนนี่ก็สามารถพูดคุยกับคนที่บ้านอยู่ข้างทางได้ด้วย ถามไถ่โต้ตอบกันรู้เรื่อง เกวียนสวนทางกันก็ทักทายปราศรัยกันได้โดยไม่ต้องจอดเกวียนให้เสียเวลา ความปลอดภัยในการขี่เกวียนถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างมาก การเกิดอุบัติเหตุมีน้อยมาก ถ้าไปป่าไปเขาก็ไปกันหลายเจ้าไปกันเป็นคาราวาน การจะถูกปล้นถูกจี้เหมือนรถยนต์สมัยนี้ก็เป็นไปได้น้อย และการไปหลายเจ้าก็มักจะมีหน่วยคุ้มกันอย่างแน่นหนาเสียด้วย ฉะนั้นการไปไหนมาไหนด้วยเกวียนจึงมีความปลอดภัย

แต่ถ้าขับเกวียนไปคนเดียวตอนเช้ามืดหรือตอนค่ำ ผ่านป่าช้าหรือบริเวณที่มีคนยิงกันตายอยู่ใกล้ทางเกวียนแม้จะนานมาแล้ว เมื่อถึงบริเวณนั้นก็ทำให้ขนลุก เสียวหลังวูบได้เหมือนกัน

เจริญพรคุณช้างน้อยมอมแมม
อนุโมทนาขอบคุณ คุณช้างน้อยมอมแมมที่ได้แวะเวียนมาเยี่ยมให้กำลังใจเวทีคนหนองบัวเป็นระยะ ๆ

วันนี้ ขอนำคำชื่นชมจากพระคุณเจ้าที่รู้จักกัน มาฝากอาจารย์วิรัตน์ ท่านได้เห็นเรื่องราวในชุมชนหนองบัวมากมาย แล้วท่านได้กล่าวชมอาจารย์วิรัตน์ว่าวาดภาพได้งดงามสื่อได้ถึงแก่นของชุมชน ท่านกล่าวว่าถ้าเป็นคุณครูในหนองบัวก็สามารถนำสื่อชุดนี้ไปเป็นสื่อการเรียนการสอน เรียนรู้ชุมชนได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างไม่ที่ติ สมบูรณ์ครบถ้วนจริง ๆ

ท่านอยู่พิษณุโลก บ้านท่านเป็นอำเภอที่ดังมากและเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งประเทศเพราะเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนบ้านของท่านนั้น ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สองสามครั้งแล้ว สร้างทีไรดังทุกที และมีบางเรื่องในชุมชนที่มีตำนานอันโด่งดัง ก็ได้มีครูเพลง(ครูพยงค์ มุกดา) นำไปแต่งเป็นบทเพลงให้นักร้องลูกทุ่ง"ขวัญใจคนเดิม"ตลอดกาล พี่เป้า-สายัณห์ สัญญา ขับร้อง จนเพลงดังกล่าวนั้นดังเป็นอย่างมาก

ท่านบอกว่าบ้านท่านมีเรื่องราวมากมายแต่จะหาคนที่เป็นผู้นำ พาทำ ชวนคิด ชวนทำ นำเรื่องดีงามต่าง ๆ มาบันทึกไว้ หรือจะหาผู้บุกเบิก นำร่อง ศึกษา ค้นคว้า ร่องรอยประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ของชุมชน เหมือนอาจารย์วิรัตน์ที่ได้ทำไว้นั้น แสนจะหายากเต็มที

ท่านให้ข้อสังเกตว่าส่วนมากแล้วมีแต่ประเภท รู้มาก เชี่ยวชาญ เก่งกาจ ปราดเปรื่อง กระเดื่องเดช ทั่วเขตคาม(รู้ทั่วโลก-รู้ไปหมดทุกเรื่อง) ยกเว้นเรื่องราวที่บ้านตนเอง เรื่องท้องถิ่นตัวเอง ท่านว่างั้น

มาแสดงตนก่อนครับ ตอนนี้ผมมีปัญหาการเข้าระบบ

สวัสดีครับฉิก

  • ในแง่หนึ่ง พื้นเพฉิกเป็นคนชุมแสงนี่เนาะ เป็นท้องถิ่นเดียวกันกับศักดิ์สิริ มีสมสืบ
  • ศักดิ์สิริ มีสมสืบเคยเป็นครูที่โรงเรียนชุมแสงชนูทิศและใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมแสง
  • ดูเหมือนผมจะเคยได้ยินพี่เขาบอกกับผมว่าภรรยาแกเป็นคนบ้านห้วยร่วมด้วยครับ
  • ผมประทับใจทั้งผลงานและตัวตนของพี่เขา เป็นคนสาธารณะที่มีผลงานระดับประเทศแต่มีความเป็นชาวบ้านมากครับ
  • เมื่อก่อนเวลาฟังเพลงนำรายการทีวี ..ไม่แน่ใจว่าเป็นรายการ ทุ่งแสงตะวัน หรือเกี่ยวกับสารคดีชีวิตนี่แหละ ของ คุณนิรมล เมธีสุวกุล จะมีเพลงที่แต่ง เล่น และร้องโดยศักดิ์สิริ มีสมสืบที่ผมชอบฟังมากอยู่ด้วย เพราะจะเห็นการผสมผสานกันของลายเกากีตาร์ที่อิสระและสบาย ภาษากวี น้ำเสียงแบบคอลูกทุ่งกับนักเชียร์รำวงเก่า และลูกคอกับการเอื้อนแบบพระเอกลิเกเก่าของแก

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลที่เคารพครับ
สวัสดดีคุณเสวก ใยอินทร์ และทุกๆท่านครับ

  • ภาพวิถีชีวิตและพัฒนาของชุมชนหนองบัวอย่างที่พระคุณเจ้าถ่ายทอดไว้ภาพนี้ หากมีโอกาสผมจะไม่ลืมที่จะกลับมาดึงไปเขียนเป็นรูปไว้นะครับ นึกภาพออกครับ
  • คนรุ่นที่อยู่ในบรรยากาศที่พระคุณเจ้าเล่าไว้นี้เชื่อว่าต้องหลายรุ่นทีเดียว 
  • ตั้งแต่อายุ ๔๐ ขึ้นไปจนถึง ๘๐-๙๐ ปีนี่ ผมว่าร่วมสมัยกับบรรยากาศนี้หมดครับ
  • คุณเสวกสุขสบายดีนะครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

ได้อ่าน เกวียน-เจ้าถนนในอดีต ของพระคุณเจ้า ในห้วงเวลาเดียวกับที่พวกเราก็ได้ พูดถึง อ.ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เลยได้มีโอกาสเอาหนังสือ มือนั้นสีขาว มาปัดฝุ่นอ่านอีกครั้ง ก็เลยก็อปปี้บทกวี หมานำเกวียน ในหนังสือเล่มดังกล่าวมาให้พวกเราได้อ่านกัน และทำให้เห็นภาพในตอนนั้นได้ว่ามีเกวียนต้องมีหมานำ

เจริญพรคุณฉิก

ต้องขอบคุณคุณฉิกอย่างมากเลยที่ได้นำบทกวีมาช่วยเสริมเรื่องราว ทำให้มองเห็นบรรยากาศช่วงนั้นแจ่มชัดยิ่งขึ้นไปอีก ทบกวีบทนี้ของนักเขียนกวีซีไรท์-ศักดิ์สิริ มีสมสืบทั้งไพเราะและมีความหมาย อ่านไปก็เห็นภาพและเรื่องราววิถีชีวิตในชนบทมาก มากจนได้ยินเสียงเกวียนและการพูดคุยกันระหว่างลุงกับครูแว่วมาแต่ไกลเลย (นี่ถ้าได้ภาพวาดลายเส้นจากอาจารย์วิรัตน์ประกอบเรื่องด้วยแล้วจะยิ่งได้อารมณ์ขนาดไหน)

การมีหมานำเกวียนนั้น ช่วยให้เจ้าของเกวียนได้รับรู้การเคลื่อนไหวสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากคนและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ในระยะไกล-ใกล้ได้อย่างดีด้วย เมื่อหมาเจอคนหรือสัตว์ต่าง ๆ เช่น งู เต่า ลิง หรือแม่แต่หนู ก็จะเห่า และการเห่าก็บอกได้เลยเหมือนกันว่า สิ่งที่หมาเห่านั้นเป็นคน หรือสัตว์

เคยได้ยินหรือที่เห็นมามีแต่หมาวิ่งจนลิ้นห้อย หรือวิ่งตับแลบ แต่ร้อยหมาเยี่ยวและห้าสิบหมายิ้มนี่ เป็นสำนวนที่กวีซีไรท์เปรียบเทียบที่ยังไม่คุ้นชินนัก แต่ก็ได้อรรถรสและมองเห็นภาพได้อย่างดีเยี่ยม

  • ขอแก้ไขคำผิด จาก คห.ที่ ๖๔๗ บรรทัดแรก ทบกวี แก้เป็นบทกวี และบรรทัดที่แปดห้าสิบหมายิ้ม แก้เป็น สิบห้าหมายิ้ม
  • บทกวี หมานำเกวียน กล่าวถึงครูไปสอนหนังสือยังที่กันดารด้วยความลำบากแล้ว ทำให้นึกถึงเมื่อแรกมีถนนสายบ้านป่าเรไร ไปบ้านห้วยน้อย แยกจากถนนสายหนองบัว-ท่าตะโก ห่างจากวัดป่าเรไรด้านทิศตะวันตกสักห้าร้อยเมตร
  • ถนนที่ทำใหม่นี้ส่วนใหญ่จะทำไปตามเส้นเขตแดนนาของเจ้าของนาสองเจ้า โดยแต่ละเจ้าจะแบ่งที่ดินให้ทำถนนคนละครึ่ง ถนนก็เลยคดเคี้ยวไปตามเขตแดนนาของชาวบ้านด้วย
  • แต่ก่อนถึงวัดห้วยน้อยจะผ่านที่นาของพ่อซึ่งเป็นแนวตรงไปยังวัดห้วยน้อย ช่วงนี้เป็นช่วงที่ถนนผ่านนาพ่อเจ้าเดียวเต็ม ๆ เป็นระยะด้านยาวของนาพอดี กินเนื้อที่ไปมาก แต่พ่อก็ยินดีสละที่ดินให้ทำถนนเป็นเส้นตรงโดยไม่ต้องคดเคี้ยวไปตามเขตแดนนาเจ้าที่ติดกัน
  • ฉะนั้นนาของพ่อจึงมีถนนผ่ากลางนาเลย ทำนาคร่อมถนนทั้งสองด้าน ทั้งทิศตะวันตก-ตะวันออก
  • ถนนสายนี้เป็นถนนดินเหนียว เมื่อฝนตก การเดินทางจะลำบากเพราะดินเหนียวจะติดเท้าเป็นแบะ เดินไปก็สลัดดินจากเท้าไปตลอด ถ้าเป็นเกวียนดินเหนียวยิ่งติดล้อหนาปึ๊ก ทำให้ควายที่ลากเกวียน ก็ต้องออกแรงลากไปอย่างมาก และดินก็ติดตีนควายมากด้วย แค่ดินเหนียวติดล้อกับติดตีนควายก็หนักเหมือนบรรทุกข้าวฟ่อนสักครึ่งเรือนเกวียน(ตู้)ได้
  • โรงเรียนวัดห้วยน้อยจะมีครูจากตลาดหนองบัวอย่างน้อยสองสามคนไปสอน ว้นไหนฝนตก ก็เลยได้เห็นคุณครูเดินบนถนนดินเหนียวนี้ เดินถือรองเท้า-กางร่มด้วย ซึ่งดูการเดินทางแล้ว คงจะลำบากไม่น้อยทีเดียว ด้วยเป็นคนเมือง ที่ไม่ชินกับสภาพชีวิตท้องนา เลยไม่คล่องตัวเหมือนชาวบ้าน ยิ่งหน้านำหลากน้ำท่วมยิ่งลำบากมาก ครูต้องนอนพักที่บ้านคหบดีใกล้ ๆ วัด ต้องเดินลุยน้ำลึกเลยหัวเข่าไปโรงเรียน หรือก็ไม่ก็พายเรือไป
  • ครูที่ขี่เกวียไปสอนหนังสือในบทกวี หมานำเกวียน คิดเป็นระยะทางได้ถึงร้อยหมาเยี่ยว สิบหมายิ้ม แต่หนองบัว-วัดห้วยน้อย ระยะทางไม่ไกลนัก ไม่ทราบว่าจะเทียบได้กี่หมาเยี่ยว หมายิ้ม กันละหนอคุณลุง(โชว์เฟอร์คนขับเกวียน)

กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตรน์และทุกๆท่านครับ

วันนนี้ผมขอนำรูปวันงานรวมตัวกลุ่มพริกเกลือมาฝากลงที่นี้ด้วยครับ

กิจกรรมสายสัมพันธ์พี่น้อง ชมรม พริกเกลือคลับครั้งที่1   ได้จัดขึ้นมาอย่างเป็นท่างการแล้ว ในวันงานมีการเสนอแนวทาง และลงทะเบียนพร้อมเปิดตัวเหล่าสมาชิก

เนื่องจากว่าเราต่างมาอยู่ร่วมกันก็จริงพราะมีตั้งแต่รุ่นใหญ่และรุ่น เล็กก็ต้องมีการนัดรวมตัวกัน พร้อมทั้งมีการร่วมวงกินกินข้าว โดยที่ขาดไม่ได้คือเมนูนี้มีแกงพริกเกลือหม้อใหญ่จาก น้าพร อดีตประทานแม่บ้านหมู่ 12 หนองกลับ แห่งบ้านเนินขี้เหล็กขอทางร้านอาสาเข้าครัวเอง

งานนี้พี่น้องๆพุงกางตามๆกันครับ

ตอนนี้เพลพอดี เห็นแกงพริกเกลือที่คุณเสวกนำมาฝากแล้ว หิวข้าวขึ้นมาเลยหนา ทำให้หลวงอานึกไปถึงตอนโน้นได้เลยทีเดียว แกงพริกเกลือในป่าเหนือ(หาของป่า,ตัดไม้เผาถ่าน,เลี้ยงควายหน้าน้ำ,ปลูกอ้อย หีบอ้อย) หรือไปนาก็แกงพริกเกลือซดน้ำแกงร้อนๆ มือกลางวันนี่อร่อยมาก

เห็นพี่น้องชาวหนองบัวแกงพริกเกลือกินข้าวร่วมกันในบรรยากาศนี้แล้ว ช่างแตกต่างกันกับยุคหลวงอาเสี่ยนี่กระไร(เมื่อก่อนกินตามใต้ร่มไม้-ห้างนา แดดร้อนเปรี้ยงๆ) ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ขอสนับสนุนชมรมพริกเกลือที่ได้รวมตัวกันทำกิจกรรมดี ๆ ได้พบปะพูดคุยกันอย่างคนบ้านเดียวกัน ไม่ได้บอกสถานที่ว่าจัดที่ไหน คงเป็นที่จังหวัดระยองใช่ไหมเนี่ย

ฟังคุณเสวกรายงานมาดูขึงขังดีจังเนาะ มีการเปิดตัวสมาชิก(คล้ายกับการเปิดตัว-หาเสียงพรรคการเมืองเลย)บอกว่าได้จัดอย่างเป็นอย่างการแล้วนะ มีการลงทะเบียน คิดรูปแบบแนวทางการทำงานของกลุ่มด้วย

 เห็นแล้วบอกได้คำเดียวว่าดีจริงๆ และที่ดีมากๆเลยก็คือได้เห็นคนหนองบัว พูดกันได้อย่างเต็มปากเต็มคำอย่างมั่นใจในสถานที่ที่นอกพื้นที่บ้านหนองบัวว่า บ้านฉันนี่มีแกงพริกเกลือ อาหารพื้นบ้านตัวจริง อยากจะบอกต่อว่าใครไปหนองบัวแล้ว ไม่ได้กินแกงพริกเกลือนี่ต้องถือว่ายังไม่ถึงหนองบัวนะ...จะบอกให้

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
สวัสดีทุกท่านครับคุณฉิก คุณเสวกใยอินทร์

  • ตอนนี้เปิดเทอมแรกของนักศึกษารุ่นใหม่ รวมทั้งมีงานต่อเนื่องกันหลายวันเลยครับ
  • ได้แต่เข้ามาอาศัยติดตามอ่านและดูรูปที่ทุกท่านนำมาแบ่งปันกันและรวบรวมไว้ในนี้
  • สอง-สามวันนี้ก็มาอยู่แถวๆบ้านเรานี่เองครับ มาเป็นวิทยากรอบรมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเครือข่าย อสม ต้นแบบจากทั่วประเทศ ให้เขามีวิชาครูเสริมศักยภาพให้กับความที่เขาเป็นครูอยู่แล้ว ให้เป็นผู้นำการพัฒนาได้ดีมากยิ่งๆขึ้นที่ศูนย์สุขภาพภาคประชาชน อยู่ที่ข้างเขาขาด นครสวรรค์นี่เองครับ
  • แต่เลิกงานกันครึ่งค่อนคืนทุกวัน แล้วก็ต้องเตรียมการบรรยายกันอีก เลยได้แต่เข้ามาดูครับ
  • มีคนนครสวรรค์ จากท่าตะโกด้วยครับ แถมเคยเป็นเด็กวัดหลวงพ่ออ๋อยเสียอีก ทักทายกันและผมให้ดูรูปเล่าเรื่องเวทีคนหนองบัวให้ฟังบ้างแล้วครับ
  • ขอแวะเข้ามาชมและทักทายกันไว้กันนะครับ

การทำนาตามวิถีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม

ชาวนาแท้ ๆ เมื่อให้มาลำดับขั้นตอนวิธีกระบวนการทำนาแบบวิถีเก่าดูแล้ว ก็ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้วซิ แต่ก็พอจะมีเหตุให้อ้างได้ว่า ว่างเว้นจากวิถีดังกล่าวมาก็กว่า ๓๐ ปีแล้ว เป็นการคิดทบทวนเหตุการณ์ย้อนหลังไปสามทศวรรษ คิดคนเดียวพอจะจำได้บ้าง แต่อาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

๑. การไถ(การดะนา) การไถแปร
๒. การคราด-การตีคลุบ-การทำเทือก
๓. การหว่านกล้า-การตกล้า
๔. การปักดำ
 ๕. พิธีทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง
๖. การเกี่ยวข้าว
๗. การหอบข้าว
๘. การทำลาน-การยาลาน
๙. พิธีรับขวัญข้าวจากนามาลานนวดข้าว
๑๐. การนวดข้าว
 ๑๑. การรุข้าว-กองข้าว(ใช้พลั่วตักเมล็ดข้าวมากองรวมกัน)
๑๒. การฝัดข้าว
๑๓. นำเครื่องเซ่นทั้งหมดจากทุ่งนามาเข้ายุ้งฉาง

กลับมาดูอีกทีที่(คห.๖๕๒) ปรากฏว่ากระบวนการผลิตการทำนาตามแบบวิถึดั้งเดิมขาดหายไปสามขั้นตอน เป็นขั้นตอนที่สำคัญเสียด้วย และก็เคยเขียนไว้บ้างแล้วนั่นก็คือ การขน-การเข็นข้าวฟ่อน การตวงข้าว และการทำลอมข้าว นึกไปก็ขำๆ ว่าเอ๊ะ เราทำมากับมือแท้ๆทำไมลืมได้

ลอมข้าวนี่ยังเหลือไว้แต่ในเป็นความทรงจำอย่างเดียวโดยแท้ จะหาภาพถ่ายคงไม่มีให้ดูแน่นอน ในเวทีคนหนองบัวนี้ทุกขั้นตอนในการทำนาคิดว่าอาจารย์วิรัตน์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวไว้เกือบจะครบแล้ว มีทั้งภาพวาดเรื่องราวรายละเอียดทุกอย่าง ถ้าได้เห็นภาพวาดลอมข้าวในอดีตอันงดงาม การตวงข้าวอีกสักภาพ จะยิ่งมองเห็นการทำนาในวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมสมบูรณ์ครบถ้วน

สวัสดีครับฉิก มาขอสวัสดีและนั่งคุยกันอีกรอบนะครับ

  • ผมเคยอ่านและได้เป็นเจ้าของผลงานของศักดิ์สิริ มีสมสืบอยู่หลายเล่มอยู่เหมือนกัน รวมทั้งรวมผลงานบทกวี มือนั้นสีขาว ตั้งแต่ก่อนจะทราบว่าเขาเป็นคนชัยนาท ชุมแสง ไพศาลี และเป็นคนเรียนมาทางศิลปะที่เพาะช่างด้วย แต่เดิมนั้นผมเข้าใจว่าพี่เขาเรียนมหาวิทยาลัยอื่นที่ไหนสักแห่งแล้วก็เป็นลูกศิษย์ของจ่าง แซ่ตั้ง
  • ต่อมาถึงได้ทราบว่าเป็นรุ่นพี่เพาะช่างนี่เองอีกด้วย แล้วก็ได้ไปทำกิจกรรมด้วยกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง พอได้สัมผัสตัวตนจริงๆด้วยแล้ว เลยยิ่งรู้สึกว่าชีวิตตัวพี่เขาเองนั้นก็เป็นงานศิลปะที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าการสะท้อนออกมาในผลงานเสียอีก
  • แม้นเจอเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ห่างจากห้วงเวลาของงานมือนั้นสีขาวหลายปีมากแล้ว อีกทั้ง ณ เวลานี้ พี่เขาก็มีความอาวุโสในทุกด้านมากกว่าเดิมแล้ว แต่ก็รับรู้ได้ว่าศักดิ์สิริ มีสมสืบ มีความเป็นครูและเป็นคนมีทรรศนะทางการศึกษาเรียนรู้อยู่ในทุกอย่างที่คิดและทำอยู่เสมอ เข้าใจว่าคงสืบเนื่องไปถึงในยุคที่ทำงานในระยะแรกๆอย่างที่ปรากฏในบทกวีหมานำเกวียนด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนั้นจิตวิญญาณความเป็นครูยังกรุ่นอยู่ในประสบการณ์ชีวิต อีกทั้งอยู่ในยุคที่นักคิด นักเขียน และคนทำงานศิลปะ มักมุ่งเป็นเสียงสะท้อนและเป็นกำลังสติปัญญาให้กับภาคสังคมที่อยู่ในชนบท
  • เวลาผมอ่านบทกวีบทนี้ ผมก็ได้อารมณ์และวิธีคิดในทางเสริมกำลังการคิดและการปฏิบัติตนเองไปด้วยเหมือนกันครับ แนวการทำให้ผู้อ่านได้ร้สึกกับสถานการณ์โดยรอบก่อน จากนั้นจึงจัดวางเงื่อนไขให้ผู้อ่านหยั่งเข้าไปเรียนรู้ภาวะภายในที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง อย่างเป็นของใครของมันอย่างนี้ ทำความเข้าใจและสร้างความรู้จักในวิธีสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของกวีต่อผู้คนในสังคมได้หลายแง่ครับ
  • ให้ทรรศนะวิพากษ์ในทางพุทธธรรม : วิธีสร้างประสบการณ์อันลึกซึ้งให้ได้ปัญญาและการเจริญสติในระดับจิตวิญญาณทางสังคมภายในปัจเจกภาวะอย่างนี้ กวีทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร และสถานการณ์ที่สร้างขึ้นจากบทกวีทำหน้าที่เหมือนเงื่อนไขแวดล้อม หรือ ปรโตโฆษะ ที่มุ่งให้สัปปายะต่อการก่อเกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ภายในตนเองของเรา เมื่อได้ใช้กระบวนการทางปัญญาทำความแยบคายแก่ตนเองซึ่งเป็นวิธีโยนิโสมนสิการ เราก็สามารถได้ความซาบซึ้งบางอย่างเกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง
  • กระบวนการอย่างนี้ เป็นวิธีการที่เด่นในวิธีของเซนและเต๋า ซึ่งศักดิ์สิริ มีสมสืบเป็นนักเขียน กวี และคนทำงานศิลปะคนหนึ่งที่ศึกษาและพัฒนาตนเองมามากในแนวทางนี้
  • ดังนั้น มองในแง่นี้ ก็จะเห็นว่าในบทกวีมีวิธีผูกปมและสร้างเงื่อนไข ๒ จังหวะ คือ แรกเลยก็นำทางให้ผู้อ่านเห็นสถานการณ์แวดล้อม จากนั้นจึงเป็นจังหวะและเงื่อนไขที่ ๒ ที้งปริศนาธรรมและเงื่อนไขเหมือนเป็นการตั้งประเต็นชวนคิด ให้คนหันกลับเข้าสู่การใคร่ครวญตนเอง จะก่อเกิดการเรียนรู้และได้สิ่งใด ก็เป็นเรื่องของผู้อ่าน ซึ่งก็อาจจะมีบางส่วนที่ร่วมอยู่ในโลกทรรศน์ของกวีอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วบทกวีและงานศิลปะก็ไม่ได้มุ่งให้คนได้ความเป็นตัวของตัวเองโดยเดินตามกันไปในลักษณะที่เหมือนกันไปหมดอย่างนั้น
  • เมื่อมองในแง่นี้ ผมเองก็จะเห็นการให้กำลังใจตนเองและการให้อนุสติแก่ตนเองในวิธีการของกวี จำเพาะในสถานการณ์นี้ ก็เป็นเรื่องของการทำงานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆว่ามีความยากลำบากมาก แต่ประเทศและสังคมของเราโดยเฉพาะในชนบทก็ต้องการครูและคนที่มุ่งมั่นต่อสู้กับความยากลำบาก การคิดให้ตนเองมีกำลังใจเรียนรู้สู้สิ่งยากอย่างนี้ ก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตและการทำงานต่างๆได้อยู่เสมอนะครับ

สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

  • ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับกิจกรรมสายสัมพันธ์พี่น้อง ชมรม พริกเกลือคลับ ครั้งที่ ๑ นะครับ เป็นความริเริ่มและสร้างสรรค์มากเลยครับ
  • บรรยายภาพกิจกรรมเหมือนไม่ได้จัดที่หนองบัว เป็นการจัดกิจกรรมนี้กันอยู่ที่อื่นกระมังครับ
  • คงเป็นที่ระยอง ชุมชนคนทำงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างนั้นใช่หรือเปล่าครับ
  • เอามาโพสต์เผยแพร่ไว้อยู่เสมอๆนะครับ นอกเหนือจากในเวทีของกลุ่มพริกเกลือของคุณเสวกและเพื่อนๆแล้ว ก็ลิงก์ไว้เหรือนำมาโพสต์ไว้ในนี้ด้วยนะครับ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนอื่นๆ จะได้มีสื่อทราบความเคลื่อนไหวและสารทุกข์สุขดิบกันและกันครับ
  • เราช่วยกันทำให้เวทีนี้เป็นสื่อสานวิถีชีวิตของสังคมชาวบ้าน-ชาวเมืองกันให้ได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ ทำจากเวทีคนหนองบัวใกล้ๆตัวของเราเองนี้เลย

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • เห็นโครงเรื่องในการประมวลภาพและข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชุมชนชาวนาในอดีตเลยนะครับ
  • หากมีโอกาสผมจะพยายามเขียนภาพให้ครบทุกกระบวนการของการทำนาเลยนะครับ มีประโยชน์ทั้งต่อทางวิชาการและการสร้างความรู้ให้หลากหลายมั่งคั่งเก็บไว้ให้สังคมเลยครับ
  • ช่วยกันนำกลับมาเขียนเรียบเรียงและจัดหมวดหมู่ สร้างเรื่องราวในหัวข้อใหม่ๆจากวัตถุดิบและข้อมูลที่ช่วยกันเทกองไว้ไปด้วยก็จะยิ่งวิเศษใหญ่เลยนะครับ ผมเองก็จะทำไปด้วยเสมอๆนะครับ
  • เมื่อวานนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกับผมท่านหนึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านของภาคตะวันออก เดินมาบอกว่าจะขอนำเอารูปวาดมิติชุมชนและการเรียนรู้ความเป็นสังคมชาวบ้านในการทำขนมกระยาสารท ไปเป็นสื่อเรียนรู้ชีวิตชุมชนของท่านด้วย ท่านบอกว่ามันเป็นเรื่องราวของชาวบ้านในชนบททั่วไปที่คนอีกจำนวนมากในชุมชนของท่านก็ยังจำได้ เลยจะนำไปใช้เป็นสื่อเรียนรู้ พัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้ของชาวบ้านในชุมชนของท่านด้วย ผมเลยทั้งอนุญาตและปวารณาซ้ำไปด้วยแทนคนในเวทีคนหนองบัวอีกหลายท่านเลยครับว่า หากเป็นเรื่องที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมทั้งในท้องถิ่นของสังคมไทยหรือที่ใดๆแล้วละก็ ขอให้เอาไปใช้ได้ตามสะดวกเลย
  • การเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ได้ส่งเสริมชาวบ้านทั่วไป ให้มีความเป็นพลเมืองที่เก่งขึ้นและพัฒนาการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสุขภาวะสังคมตามโอกาสและเงื่อนไขแห่งตนได้มากขึ้น ย่อมเป็นคุณค่าและความดีงามจากแรงใจแรงกายของทุกท่านครับ

สวัสดีครับทุก ๆ ท่านครับ

ผมหายไปหลายวันทีเดียว กลับมาอีกที่ได้ความรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะท่านพระมหาแลฯ รักษาแนวพื้นบ้านผสมแนวป่า ๆ ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและน่าติดตาม ขออนุโมทนาครับ

การห่างหายจากริมฝั่งแม่น้ำโขงไปนาน ทำเอามิตรสหายชาวลาวหลายท่านเป็นห่วง เขาพูดแซวเล่นว่า...นึกว่าไปรวมอยู่กับเสื้อแดงตาม พรก.ฉุกเฉินซะแล้ว โทรหา (เบอร์ลาว) ทั้งอาทิตย์ก็ไม่ติด...ก็ต้องขอบคุณมิตรสหายต่างชาติที่เป็นห่วงเป็นใยครับ

สำหรับความเห็นที่ 602 +634 ผมต้องขออภัยที่ให้ข้อมูลเพี้ยนไป เนื่องจากรับข้อมูลมาทางโทรศัพท์ไม่ครบถ้วน

อันที่จริงพระภิกษุสงฆ์ชาวลาว 2 รูปนั้น รูปหนึ่งกำลังเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนรูปที่สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศนั้น จากการสนทนาขณะผมขับรถไปส่งที่วัดเพียวัด ริมแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ทราบว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาจุฬาฯ ส่วนปริญญาโทนั้นจบด้าน I.T. จากมหาวิทยาลัยสยาม ก็แปลกดีเหมือนกันครับ.

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ สบายดีนะครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

สบายดีครับ ช่วงนี้กำลังเตรียมเขียนผลงาน รอลุ้นบางสิ่งบางอย่างเพื่อความก้าวหน้าเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปน่ะครับ อาจจะห่าง ๆ จากเวทีนี้ไปบ้าง อาจารย์คงเข้าใจภาวะของคนที่อยู่ในช่วงนี้ได้ดีนะครับ

เมื่อวานมีโทรศัพท์จากหมายเลข 056...... มาจากอำเภอหนองบัว สอบถามทราบว่าโทรมาจากร้านขายยา...ช้างทอง ใจกลางตลาดหนองบัว ท่านไปเห็นเห็นหนังสือที่ผมเขียน เล่าว่าชอบเมืองลาว สะสมหนังสือเกี่ยวกับเมืองลาว นับตั้งแต่ผลงานของสมเด็จพระเทพฯ ท่านทูตพิษณุ จันทร์วิทัน ......ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกัน ท่านพูดคุยเหมือนกับคุ้นเคยกันมาหลายปี สนใจสอบถามเกี่ยวกับเมืองลาวหลายเรื่อง ที่บ้านท่านชมรายการทีวีลาวได้หลายช่อง

ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกี่ยรติที่ได้รับโทรศัพท์สายนี้

ร้านช้างทองนี่ น่าจะเป็นร้านขายยาร้านแรก ๆ ของอำเภอหนองบัว ท่านบอกว่าเปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2515 เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 1 ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ก็พาไปซื้อยาร้านนี้.....จำได้อย่างแม่นยำ

ถ้าเป็นคนหนองบัวแท้ ๆ แล้ว น่าจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักร้านขายยาร้านนี้นะครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • หนังสือของคุณสมบัติและตัวคุณสมบัตินี่ดังครับ มีเพื่อนและคนรู้จักผม ๒-๓ คนที่บ้านหนองบัวเขารู้จักครับ
  • คนหนึ่งเป็นเพื่อนรักกันมากชื่อคุณครูประสิทธิ์ รอดนิล ก็บอกว่าอยู่บ้านเดียวกับคุณสมบัติอีกด้วยและสิ่งอ้างอิงเมื่อกล่าวขยายความถึงคุณสมบัติก็คือพจนานุกรมภาษาไทย-ลาวของคุณสมบัตินั่นแหละครับ
  • ร้านช้างทองเภสัชนี่เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันร้านแรกและผมเคยบันทึกไว้ว่าเป็นร้านที่มีโทรทัศน์สีเครื่องแรกของหนองบัวครับ[Click here]
  • แต่หากนับเอาร้านหมอหลุยหรือร้านปานขลิบโอสถด้วยก็จะเป็นร้านที่ ๒ แต่ร้านหมอหลุยนั้นเป็นร้านยาไทยและยาแผนโบราณมาก่อน หากมองอย่างนี้ ร้านช้างทองเภสัชก็เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันร้านแรกเลยครับ(ร้านหมอหลุย [Click here1ในเรื่องทุนสังคมของอำเภอหนองบัว] [Click here 2 ในเรื่อง ตลาดแลกข้าวชุมแสง])
  • แต่ว่าแต่เดิมก่อนที่จะย้ายไปตั้งร้านใหม่อยู่ในศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั้น ร้านเขาตั้งขึ้นครั้งแรกอยู่ข้างตลาดสดเลย ผมจำได้เพราะในยุคนั้นแถวร้านช้างทองโอสถยังเป็นทางเดินมีคูน้ำไปกระทั่งถึงโรงสีข้าว ยังเป็นสภาพชนบทอยู่เลย และแถวๆนั้นก็เป็นร้านพ่อแม่ของเพื่อนๆผมแทบทั้งนั้น(คงจะเพื่อนๆของคุณสมบัติด้วยแหละครับ)
  • เพื่อนคนหนึ่งของผมจบหนองคอกแล้วก็ทำร้านขายข้าวและผลผลิตเกษตรนาไร่อยู่เยื้องๆร้านช้างทองเภสัชเดิมนั่นเลย แต่ต่อมาก็ไปเปิดร้านรับซื้อและขายข้าวอยู่ในนครสวรรค์หน้าอุทยานสวรรค์ เป็นเถ้าแก่ใหญ่ของนครสวรรค์และภาคเหนือไปแล้ว แต่ตอนนี้ผมผ่านไปผมก็หาร้านของเขาไม่เจอสักที อาคารบ้านเรือนของหนองบัวและนครสวรรค์ขยายตัวเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากจริงๆ 

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

วันนี้มาแจ้งข่าวให้อาจารย์ทราบ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว(๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓)พระคุณเจ้าที่รู้จักกันรูปหนึ่งคือพระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ วัดพรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ท่านเรียน(รป.ม.)กำลังจะทำวิทยานิพนธ์ ท่านสนใจเรื่องวิถีชุมชนหนองบัว ได้ถามปรึกษาอาจารย์เรื่องอัตลักษณ์วิถีชุมชนหนองบัว โดยได้เข้าไปถามไว้ที่ “บล็อกประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา” ในหัวข้อที่ (๔๘. การคุยและฟังเสียงหัวใจ กับการปรึกษาวิชาการและวิทยานิพนธ์)
ท่านเกรงว่า คำถามนั้นคงจะเล็ดลอดผ่านสายตาไปโดยอาจารย์ไม่ทันสังเกต ท่านจึงได้ขอร้องให้อาตมาช่วยแจ้งในเวทีนี้แทน

ตะครัว

เมื่อก่อนนี้ ที่บ้านแม่ผู้เขียน บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ต.หนองกลับ มีห้องครัว/เรือนครัว/ครัวไฟขนาดใหญ่อยู่ติดกับตัวบ้าน โดยตะครัวอยู่ด้านหน้าตัวบ้านต่อจากนอกชาน ตะครัวจะมีประตู หน้าต่าง เหมือนมีเรือนย่อม ๆ อีกหลังหนึ่งอยู่ในบ้านหลังใหญ่เลย(ห้องครัวนี้ คนหนองบัว-หนองกลับ จะมีศัพท์ที่ใช้เรียกเฉพาะในหมู่บ้านว่า ตะครัว-เรียกไม่เหมือนใครอีกแล้วบ้านเรา เป็นตัวของตัวเองดี เท่ไม่หยอก)

เครื่องใช้ภายในตะครัว ได้แก่ ตู้กับข้าว เตาไฟหุงข้าว เขียง ครก สาก มีด ทัพพี กระทะ ถาดใส่กับข้าว อ่างน้ำข้าว โอ่งปลาร้า ไหใส่ปลาร้า โอ่งหน่อไม้ดอง ปี๊บหน่อไม้อัด กระต่ายขูดมะพร้าว หินโม่แป้ง กระเช้า กระซ่า ตระแกรง เครื่องจักสานที่สานเสร็จใหม่ๆมักจะนำมาแขวนไว้ใกล้ๆเตาไฟ ชามใส่ขี้เถ้า ขอแขวนกันมด ที่เก็บถ้วยชาม ไม้ขีด เสี้ยนไฟ-เสี้ยนจุดไฟ กระบุงหรือกระแป๋งใส่เสี้ยนไฟ(เสี้ยนไฟจะนิยมเศษไม้ต่าง ๆ ที่ผ่าง่าย ติดไฟง่าย ยิ่งเป็นเศษไม้สักด้วยแล้วใช้ดีที่สุด) กระบุงใส่ถ่าน โอ่งใส่ถ่านที่ใช้แล้ว(ทำครัวเสร็จแล้ว ถ่านที่เหลือยังไม่มอด ก็เก็บไว้ใช้ได้ต่อไป โดยใช้เหล็กคีบถ่าน คีบถ่านกำลังร้อน ๆ ใส่โอ่งแล้วปิดฝา ถ่านเย็นตัวลง โดยไม่ต้องใช้น้ำดับถ่าน-ถ้าใช้น้ำดับถ่านในเตา จะทำให้เตาและชั้นเตา(รังแตน) แตก พัง เสียหายเร็ว)

หน้าทำนาเป็นฤดูตาลสุก เมื่อแม่ทำขนมตาล อยากกินขนมตาลก็มาดูแม่ทำ ช่วยเป็นลูกมือบ้าง ก็จะได้กินขนมตาลก่อนใครอีกด้วย หน้าหนาวเด็กๆชอบเข้ามาในตะครัวเพราะได้ผิงไฟเตา อบอุ่นดีจริงๆ

ด้านบนและข้างฝาบริเวณใกล้เตาไฟ จะมีที่แขวน ใบตองควง(พลวง) ที่วาง ตอกมัดกล้า ตอกมัดข้าวฟ่อน(กันมอดกิน) หอม กระเทียม (น่าจะยังมีอะไรอีกเยอะ แต่ตอนนี้นึกไม่ออกเสียแล้ว)แม่บ้านทั้งหลายเอย มาช่วยกันเก็บรายละเอียด หากินของกินของใช้มาใส่ให้เต็มตะครัวของอาตมาหน่อยเถอะ ตะครัวบ้านนี้จะได้ดูดีขึ้นไง
สาธุ อนุโมทนามิ.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • ผมกลับไปดูได้ไม่ทั่วถึงจริงๆด้วยครับ เคยเข้ามาดูและเห็นผ่านตาไปแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ทันได้มีเวลาพอที่จะเข้ามาคุย เลยเก็บไว้ก่อน พอเข้ามาอีกทีก็ดูไม่ทั่วครับ แต่จำได้อยู่ครับ
  • อยากแนะนำเบื้องต้นว่านั่งอ่านจากข้อมูลในเวทีคนหนองบัวแล้วพัฒนาเป็นประเด็นความสนใจ จากนั้นจึงค่อยพัฒนากรอบศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสำหรับตั้งโจทย์วิจัยให้ตรงกับความสนใจ น่าจะดีกว่าครับ 
  • ข้อมูลและเรื่องราวเรื่องตะครัวนี้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนดีจังเลยครับ
  • หากมีรูปถ่ายประกอบด้วยก็จะยิ่งเป็นหัวข้อบันทึกอย่างดีเพิ่มมาอีกเรื่องหนึ่ง หากมีโอกาสผมจะหาข้อมูลเพิ่มมาวาดบันทึกเป็นรูปไว้ด้วยครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ
นำมาโพสต์ไว้ตรงนี้อีกนะครับจะได้มีโอกาสเข้ามาอ่านได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเผื่อคนอื่นจะได้อ่าน ผมและเวทีคนหนองบัวก็ได้มีโอกาสนำเสนอประเด็นให้เกิดการนำไปสู่การวิจัยซึ่งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทั้งต่อสาธารณะและชุมชนหนองบัวด้วย....
area กว้างๆเหล่านี้พอจะเป็นแนวพัฒนาประเด็นความสนใจได้บ้างไหมครับ

  • ความสามัคคี คุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมในระดับต่างๆ ที่สำคัญคือ ในบ้าน ในวัฒนธรรมการรวมกลุ่มของชุมชน ในโรงเรียน วัด ชุมชน และกิจกรรมสาธารณะ โครงสร้างในวิถีชีวิตชุมชนที่ส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคม จากร่องรอยในอดีต สภาวการณ์และเงื่อนไขแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงสู่ปัจจุบัน แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต พิจารณาจากความจำเป็นของสังคมซึ่งเกิดวิกฤติต่างๆในเชิงโครงสร้างและกระบวนการทางการปฏิบัติอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่า ความสามัคคี เป็นคุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมที่จำเป็นต้องสร้างความรู้ขึ้นมาทำงานในเงื่อนไขแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกี่ยวข้อทางด้านการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ วัฒนธรรม การปกครอง การพัฒนาความร่วมมือ การระดมพลังชุมชน และการบริหารความมีส่วนร่วมของชุมชน จากนั้น จึงเลือกศึกษาเชิงลึกเป็นกรณีศึกษาของอำเภอหนองบัว เพราะมีวิสัยทัศน์ชุมชนสะท้อนเป็นคำขวัญของอำเภอและมีสิ่งสาธารณะหลายอย่างเป็นสิ่งแสดงและหลักฐานของความสามัคคี
  • แนวทางการศึกษาอย่างนี้ก็พอจะไปกันได้กับการศึกษาในแนวค้นหาอัตลักษณ์อยู่บ้างนะครับ ที่ใช้คำว่าอยู่บ้างนั้น ก็เนื่องจากในระยะก่อเกิดสิ่งต่างๆที่เป็นความเป็นชุมชนและเป็นภาพสะท้อนความสามัคคีของชุมชนนั้น พอจะนิยามได้ว่าเป็นการก่อเกิดอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างและระบบสังคมท้องถิ่นอย่างใกล้ชิก ทว่า ต่อมาก็เป็นการทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนองบัว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีร่องรอยอธิบายความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนอยู่บ้าง แต่หากวิเคราะห์อย่างจริงจังแล้ว ก็เหมาะที่จะอธิบายด้วยวิธีการสร้างตราสัญลักษณ์ หรือ Branding กับ Symbolics Information Management ก็น่าลองดูเหมือนกันนะครับ เป็นการหยิบยืมวิธีการของการตลาดมาศึกษาให้เข้าใจภาคสาธารณะของสังคมในอีกบริบทหนึ่ง
  • การสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของสังคมท้องถิ่น ซึ่งผสมผสานทั้งชุมชนเสมือนจริงและชุมชนท้องถิ่นชนบท / กลุ่มปัจเจกสหสาขา ท้องถิ่น นักวิชาการประชาสังคม ชุมชนความสนใจ และระบบ IT จัดการความรู้ใน Gotoknow : เครือข่ายเรียนรู้อย่างบูรณาการและโครงสร้างที่พัฒนาการขึ้นด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นที่ความเป็นสาธารณะทางความรู้และข่าวสารเคลื่อนไหวสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่นในชนบท จากนั้นจึงเลือกกรณีศึกษาชุมชนระดับอำเภอหนองบัวและเวทีคนหนองบัว
  • ชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ระบบและวิธีบริหารจัดการความเป็นสาธารณะอย่างผสมผสานทั้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นกับสังคมโลกที่ก้าวหน้า : การบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความรู้ และการพัฒนาบทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศบนฐานความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพสังคมชนบทไทย แล้วจึงเลือกกรณีศึกษาอำเภอหนองบัว
  • การสร้างทรัพยากรความรู้สาธารณะด้วยการมีส่วนร่วม : บทบาทของพระ กลุ่มปัจเจกในท้องถิ่น เครือข่ายสำนึกรักบ้านเกิดของคนท้องถิ่นย้ายถิ่น ในการสร้างความรู้และจัดการความรู้อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ส่งเสริมการสร้างสุขภาวะของสังคมผ่านระบบจัดการความรู้ Gotoknow ในประเทศไทย
  • วิธีวิทยาการสร้างความรู้วิถีชาวบ้านและการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างบูรณาการ : บทบาทของพระ ชุมชน ภาคประชาชน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสนับสนุนของเครือข่ายวิชาการสหสาขาต่อการสร้างความสำนึกสาธารณะและพัฒนาการมีส่วนร่วมในวิถีแห่งการเรียนรู้ ผ่านการเรียนรู้และสร้างความรู้จากประสบการณ์ชีวิต
  • พลังความสำนึกรักท้องถิ่นที่กลมกลืนกับความเป็นสากล แล้วจึงเลือกกรณีศึกษาเวทีคนหนองบัวโดยเน้นศึกษาเชิงลึกต่อไปถึงกลุ่มคนที่ออกไปทำงานและทำหน้าที่ต่อสังคมซึ่งเชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์ความเป็นท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมในปัจจุบันและในอนาคตมาก

คงพอจะได้แนวคิดบ้างนะครับ คุยหาความคิดและพัฒนาความสนใจให้ชัดขึ้นไปเรื่อยๆได้ครับ
กราบนมัสการด้วยความเคารพ

ประชาสังคมบ้านทุ่ง

หวีเสนียด : อุปกรณ์ที่จำเป็นของลูกผู้หญิง(ยุคก่อน)ดุจดังโทรศัพท์มือถือของชาวบ้านทุ่ง

หวีเสนียดถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับสุภาพสตรีสูงวัยของชาวบ้านทุ่ง เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กมักพบเห็นคุณป้า-น้า คุณย่า-ยาย พกพาหวีเสนียดติดตัวอยู่เป็นประจำเลยทีเดียว มีอยู่ทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือน ยกเว้นบ้านที่ไม่มีผู้หญิง(ไม่มีหรอกนะที่ครอบครัวใดจะมีแต่ผู้ชายทั้งบ้าน-สมัยนี้ไม่แน่เสียแล้วซิ ทั้งบ้านมีแต่ชายล้วนก็มี)

ชาวบ้านทุ่งเมื่อก่อนนี้โดยเฉพาะสุภาพสตรีมักประสบปัญหาเรื่องสุขภาวะอย่างหนึ่งคือการมีเหา ถ้าเด็กผู้หญิงที่มีนินัยชอบลุยๆหน่อยไปนาเลี้ยงงัวเลี้ยงควายไม่ค่อยมีเวลาดูแลเส้นผม นิยมเล่นสนุกสนานไปบ้างไม่ได้หมั่นเอาใจใส่ดูแลสุขภาพผมให้ดูมันเป็นเงางามเหมือนนางแบบโฆษณาในโทรทัศน์แล้วละก็ เธอก็จะมีเหาแน่นอน ผู้ใหญ่พี่ๆ ญาติๆ ก็มีภารกิจงานยุ่งไม่มีเวลามาช่วยดูแลเส้นผมลูกหลานเหมือนนางแบบในทีวีอีกด้วย เลยทำให้ลูกหลานหญิงมีเหากันไม่น้อย บางทีมีไข่เหาเกาะเส้นผมเป็นกระจุก

ฉะนั้นสุภาพสตรีผู้สูงวัยชาวบ้านทุ่ง ไปไหนก็จะนำหวีเสนียดใส่ถุงหมากไปด้วยเสมอ เวลานั่งสนทนากันกินหมากไปด้วย หาเหาให้ลูกหลานไปด้วย ใช้หวีเสนียดสางเหาไข่เหาให้ลูกหลาน จับทั้งเหาไข่เหาบี้เสียงดัง “เป๊ะ เป๊ะ”

เป็นบันทึกวิถีสังคมชาวบ้านที่ดีจังเลยครับ นำมาพิจารณาให้เห็นความเป็นชุมชน ความเป็นสังคมวัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์กันของชาวบ้าน โดยเฉพาะของคนระหว่างรุ่น ที่อยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

เรื่องร้านขายยาในหนองบัวนี่ ร้านแรกก็น่าจะใช่ร้านหมอหลุย/ร้านปานขลิบโอสถ ตามที่พี่วิรัตน์ได้บอกไว้ ซึ่งก็มียาแผนปัจจุบันขายด้วย ตอนเด็กๆผมไปใช้บริการอยู่บ่อยๆ ส่วนร้านช้างทองเภสัชนี่ผมว่าไม่น่าจะเก่าแก่อันดับ 2 นะ เพราะมีร้าน หมอชวง/แสงศิริเภสัช ที่อยู่หน้าตลาดโกลกเลย ร้านหมอดวน/สมบูรณ์โอสถ ข้างตลาดโกลก หรืออีกร้านที่หัวตลาดเยื้องโรงแรมบัวสวรรค์ก็มีร้านหมอติ่ง/สมานเภสัช ร้านเหล่านี้ผมว่าน่าจะเปิดขายมาก่อนร้านช้างทองนะครับ (ชื่อร้านไม่มั่นใจว่าเรียกถูกหรือเปล่า โอสถ-เภสัช-ฟาร์มาซี)
สำหรับเฮียช้างเจ้าของร้านช้างทองนั้น ผมก็รู้จักสนิทสนมกันดี พื้นเพเป็นคนห้วยร่วม พี่ชายผมมาเปิดร้านขายอะหลั่ยรถที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ก็ติดกับร้านเฮียช้าง ที่น่าจะเปิดขายพร้อมกับศูนย์ฯ
ผมเคยเจอเฮียช้างโดยบังเอิญที่กทมเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ในงานวิ่งมาราธอนที่สวนสยาม (ผมกะเฮียช้างวิ่งแค่ 10 กม.เอง แต่ตอนนี้ไม่ได้วิ่งแล้ว ตีกอล์ฟอย่างเดียว) เวลากลับหนองบัวก็มักจะเจอกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะตอนเช้าที่รอบเกาะลอย (ที่เดี๋ยวนี้ไม่มีเกาะกลางบึงแล้ว) เฮียช้างไปวิ่งออกกำลังกายรอบเกาะ ส่วนผมเดินชมนกชมไม้รอบบึงหรือรอบเกาะนั่นแหละ

พอเห็นคำว่า หวีเสนียด ของพระคุณเจ้า ภาพของแม่ผุดขึ้นมาทันที หวีเสนียดจะติดอยู่บนหัวแม่ตลอดเวลาเลยตั้งแต่เช้ายันค่ำ แต่ช่วงหลังนี่ก็ไม่เห็นแล้ว และไม่ได้สังเกตว่าแกเลิกใช้ไปตั้งแต่เมื่อไร และเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยได้เห็นหวีเสนียดแล้ว เลยเอารูปหวีเสนียดมาให้ดูกัน

เห็น คคห. ข้างบนของพี่วิรัตน์ เป็น คคห.ที่ 666 แล้ว นับว่าเรื่องราวของชาวหนองบัว ชุมชนเล็กๆของพวกเรานี่ ก็มีอะไรต่อมิอะไรให้เล่าขานเยอะแยะเหมือนกันนะ จริงๆแล้วยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะผุดออกมาเป็นระยะ แม้จะเป็นของเล็กๆน้อยๆอย่าง หวีเสนียด ต้องขอบคุณพระคุณเจ้าที่มักจะจั่วหัวนำก่อน พี่วิรัตน์ที่สรุปได้ดีมากคอยคัดท้าย ส่วนพวกเราอย่างน้องสมบัติ คุณเสวก ครูณุ คุณณัชพัชร์ ครูอ้อยเล็ก และอีกหลายๆคน ก็ช่วยกันพายช่วยกันแจวคนละไม้คนละมือ สนุกดี แต่เรือลำนี้ยังมีที่ว่างอีกเยอะนะครับ เชิญชวนลูกหลานชาวหนองบัว มาลงเรือลำนี้ด้วยกัน ช่วยกันพายช่วยกันแจว ให้เรือลำน้อยนี้แล่นไปข้างหน้าต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด โดดลงเรือมาเลย หรือถ้ายืนดูเรือลำนี้อยู่ริมฝั่ง ก็ช่วยส่งเสียงเป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่อยู๋ในเรือลำนี้ด้วย (เป็นงัยมางัย มาอยู่ในเรือได้วะนี่ตัวเรา)

ร้านต่างๆที่ฉิกกล่าวถึงนี่แทบจะนึกไม่ออกเลยครับ ตลาดโกลกและโกลกนี่พอจำได้ นึกภาพร้านและบุคลิกของแกได้อย่างลางเลือน แต่ร้านอื่นๆนี่คุ้นๆอยู่บ้างแต่หากฉิกไม่พูดให้ทราบก็นึกไม่ออกเลยละครับ ร้านใหม่ของพี่ชายฉิกและครอบครัวนั้นแต่เดิมนั้นผมและเพื่อนๆคุ้นเคยเป็นอย่างดีครับ เมื่อก่อนนี้แถวนั้นยังไม่มีอะไรมากนัก

เห็นรูปหวีเสนียดแล้วรู้สึกคันหัวขึ้นมาเลยครับ เมื่อตอนเด็กๆและเริ่มโตนั้น เด็กผู้หญิงก็ชอบเป็นเหาและเด็กๆผู้ชายซึ่งต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มทำงานก็จะมีขี้รังแคคันหัวยุ่บยั่บ เวลาคันหัวนั้น หากจะสางขี้รังแคแล้วละก็อะไรก็ไม่สะใจเท่าหวีเสนียดเลยละครับ เวลาหวีนี่แทบจะน้ำลายหยดติ๋งๆเลยเชียว มันน่ะซีครับ

ผมเคยทำงานวิจัยในพื้นที่ก็พบว่าเด็กๆในชุมชนเขตเมืองปริมณฑลกรุงเทพฯของเราก็เป็นเหากันครับ หลายโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯบางครั้งขาดโอกาสการพัฒนาตนเองมากกว่าในชนบทเสียอีก เป็นเหมือนพื้นที่ไหล่เขาน่ะครับ ฝนมักตกไม่ถึงและอยู่ใต้พยับแดดของไหล่เขา ทุกอย่างก็ผ่านเลยไปหมด จึงมีประสบการณ์หลายอย่างเหมือนกับคนชนบทเลยนะครับ หวีเสนียดนี้ก็คงจะเป็นที่รู้จักอย่างดีเช่นกัน

พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ขออนุญาตมาตอบและขอบคุณอาจารย์ที่เวทีคนหนองบัวนี้

อาตมาภาพต้องขอบคุณโยมอาจารย์ ที่กรุณาช่วยแตกประเด็นตามความสนใจและกรอบแนวคิด ที่หายเงียบไปเพราะไปจัดกิจกรรมค่ายธรรมะ อบรมคุณธรรม จริยธรรม ให้กับโรงเรียนบ้านวังเป็ด จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการกู้วิกฤตที่โรงเรียนกำลังจะถูกยุบให้ฟื้นคืนมาได้ด้วยอาศัยหลักการ(บวร.) บ้าน วัด และโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ร่วมกัน (อาตมาทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓)

อาตมาอ่านประเด็นที่โยมอาจารย์ช่วยแนะนำมาแล้ว รู้สึกชอบ และมีความสนใจประเด็น “ชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทศโนโลยี ระบบวิธีบริหารจัดการ ความเป็นสาธารณะอย่างผสมผสานทั้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นกับสังคมโลกที่ก้าวหน้า” เพราะความเป็นสมมุติสงฆ์นี่แหละจึงอยู่กับชุมชน(สังคมชนบทไทย) จึงชอบฐานความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้(เด็กบ้านนอก/ลูกชาวนาเหมือนกัน)

หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้เรียนรู้ และทำงาน ประชาสังคม(ประชาคม) มาตั้งแต่บวชเรียนใหม่ๆ แต่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง คือ learning by doing ยังขาดความรู้และความเข้าใจในหลักการและทฤษฏีอย่างมาก จนถึงได้มาเรียนต่อ สาขานโยบายสาธารณะ ที่มน./ ตอนนี้ยังไม่ได้หัวข้อวิจัย(ขณะนี้อยู่ปี ๔ แล้ว ใช้เวลาคุ้มค่าเลย ค่อนข้างจะวิกฤตแล้ว มัวแต่ยุ่งงานในฐานะเจ้าอาวาส บริหารจัดการวัด และงานสอน)

กระผมต้องขอขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแล อาสโย ที่แนะนำให้อาตมาได้รู้จักโยมอาจารย์ และได้อ่านงานเขียนของโยมอาจารย์ (ประชากรศึกษาและในบล็อก Gotoknow) และสนใจที่จะศึกษาวิถีชุมชนอำเภอหนองบัว ในประเด็นชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีฯ

ประเด็นความสนใจนี้ น่าจะเป็นไปได้หรือไม่ และอาตมาภาพจะเริ่มต้นอย่างไร เพื่อที่จะทำในบทที่ ๑-๓ (ตอนนี้อาตมาอ่านงานในบล็อกเวทีคนหนองบัวอยู่) อาตมาภาพต้องขอรบกวนโยมอาจารย์ กรุณาช่วยแนะนำ ในกรอบแนวคิด/ประเด็นดังกล่าวด้วย พอจะเป็นไปได้ไหม 

ขอเจริญพร พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ หลวงอามหาแล คุณอาฉิก และทุกท่านครับ

เมื่อสองสามวัน คุณณรงค์ อินทะชิต ได้เดินทางไปเที่ยวบ้านเพื่อนทางจังหวัด อุดรธานี ตอนนี้ฝนกำลังตกเลยพอมีน้ำดำนากันบ้างเลยเก็บภาพมาฝากกันชมว่าเห็นแล้วก็คิดถึงบ้านเราเช่นกัน   ผมเองก็ไม่ได้เห็นภาพการหาบกร้า ดำนามานานแล้วว่าเคยคิดว่าจะรบกวนท่านอาจารย์วิรัตน์และหลวงอามหาแล ช่วยกันเราเรื่องการลงแขกถอนกร้าดำนาให้ฟังบ้างครับน่าสนุกดี

 

กราบนมัสการพระอธิการโชคชัยด้วยความเคารพครับ

  • กรอบแนวคิดนี่สะท้อนประเด็นความสนใจและแนวคิดของนักวิจัยเลยละครับ พระคุณเจ้าลองพิจารณาจากความเข้าใจก่อนจะดีกว่าครับเพราะถ้าหากได้กรอบแนวคิดก็เหมือนกับได้แนวที่จะตรวจสอบด้วยการวิจัยแล้วละครับ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาขั้นต่อไปน่ะครับ
  • อาจจะเริ่มต้นเป็นชั้นๆก่อนก็ได้ครับ ตั้งแต่ตัวปรากฏการณ์ที่สนใจ จากนั้นก็พิจารณาปัจจัยเชิงระบบและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องที่ซับซ้อนในขอบเขตที่เราต้องการ
  • เช่น สมมุติว่าสนใจแง่มุมเกี่ยวกับ 'การสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัวและผลต่อการพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่น.....' สมมุติว่าเป็นประเด็นนี้นะครับ.....
  • ชั้นแรกอาจจะเริ่มจาก บทบาทของพระ ประชาชนในท้องถิ่น สถานศึกษาและหน่วยงานราชการในท้องถิ่น แทนโครงสร้าง บ้าน วัด และโรงเรียน ว่ามีบทบาทและปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ร่วมสร้างความรู้และก่อเกิดอะไรบ้าง และได้อะไรที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาสังคมในแนวทางใหม่ๆที่พระคุณเจ้าสนใจ โดยเฉพาะความสำนึกรักท้องถิ่นและความสำนึกต่อส่วนรวมซึ่งเรียนรู้จากการรักท้องถิ่น
  • ชั้นต่อไปก็น่าจะครอบคลุมไปถึงบทบาทของเครือข่ายเว็บบล๊อก Gotoknow ทั้งในเชิงระบบและเจาะจงกลุ่มผู้มีส่วนร่วมเข้ามาคุยกันในเวทีคนหนองบัว
  • ชั้นต่อไปก็เป็นเครือข่ายคนหนองบัวที่ย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น ที่มาบตาพุด ระยอง และผมในมิติหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบนี้
  • อีกองค์ประกอบหนึ่งก็คือกลุ่มนักวิชาชีพ คนทำงานความรู้ และนักวิชาการมหาวิทยาลัย เช่น คุณสมบัติ คุณฉิก ผม อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณครูอ้อยเล็ก คุณครูคิม คุณครูจุฑารัตน์
  • เมื่อโยงเข้าด้วยกันทั้งหมดก็จะเห็นว่า ความเป็นเวทีคนหนองบัวนั้น เป็นแหล่งสร้างความรู้ท้องถิ่นผสมผสานบทบาทกันของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับคนในท้องถิ่นในชุมชนทางกายภาพไปจนถึงชุมชนในโลกไซเบอร์และระบบเครือข่ายจัดการความรู้ที่สำคัญของประเทศ 
  • ความสำคัญของเรื่องนี้ก็ คือ องค์ความรู้ที่จะช่วยอธิบายและชี้นำการพัฒนาในอนาคตว่าคนในชุมชนบ้านนอกและชนบทจะเริ่มเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อให้โอกาสการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เอื้อประโยชน์ต่อคนท้องถิ่น โดยเฉพาะทางด้านพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาการมีส่วนร่วมต่อเรื่องส่วนรวมของท้องถิ่น ได้อย่างไร?  ใครที่มีศักยภาพและทุนทางสังคมที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้? มีประเด็นความสนใจและเรื่องราวสนทนากันอย่างไร? สร้างความรู้และเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะใด? ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์กับท้องถิ่นและภาคีต่างๆอย่างไร? ผลกระทบและผลสืบเนื่องในเชิงสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การปฏิบัติและก่อเกิดผลดีต่อสังคมในวงกว้างต่อไปเป็นอย่างไร? ผลกระทบเชิงลบเป็นอย่างไร? .....เรื่องพวกนี้ล้วนเป็นความรู้ที่ยังขาดแคลนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากครับ
  • ลองตั้งกรอบขึ้นเองดีกว่าครับ ใช้แนวทฤษฎีที่ชอบและคิดว่ามีพลังในการอธิบายเรื่องที่สนใจเป็นตัวตั้ง แล้วก็พัฒนากรอบแนวคิดขึ้นเป็นของตนเอง จากนั้นถึงจะคุยกันในรายละเอียดต่างๆต่อไปได้ครับ

สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

  • ขอร่วมขอบคุณที่นำเอาบรรยากาศการทำนาในชนบทมาฝากกันนะครับ
  • อย่างกรณีของคุณเสวก ใยอินทร์นี้ สำหรับท่านพระอธิการโชคชัย ก็สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้ครับ
  • เป็นรูปธรรมดีครับว่าชาวบ้านทั่วไปสามารถเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นมาเป็นนายเทคโนโลยีและไม่เพียงใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างเดียว ทว่า สามารถช่วยเชื่อมโยงตนเองให้ทำหน้าที่พลเมืองต่อการสร้างสรรค์ส่วนรวมได้อีกด้วยนะครับ
  • หากผมสรุปบทเรียนจากคุณเสวก ใยอินทร์ ก็คงจะสะท้อนบทสรุปได้ว่า...การก่อเกิดความสนใจ รักความรู้ เรียนรู้ตนเอง และสร้างความรู้จากประสบการณ์ชีวิตตนเองได้ ทำให้คนเข้าถึงและเป็นนายเทคโนโลยีได้อย่างมั่งคงและเข้มแข็งมากกว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีเพียงทำให้ทันสมัยเพียงรูปแบบภายนอก...ทำนองนี้แหละครับ ความรู้และบทสรุปจากการปฏิบัติอย่างนี้ใช้ทำงานพัฒนาสังคมได้แน่ๆครับ

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • เมื่อเดือนก่อนมีคนชมเว็บศิลปะของน้องคุณครูอ้อยเล็กให้ทราบ
  • เลยแวะเข้าไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมมาก
  • รวมๆแล้วพี่ก็สบายดีครับ แต่ตอนนี้เป็นไข้หวัดนิดหน่อย หัวกลวงๆและมึนทึบชอบกล

น้องโชคหรือเปล่าคะ...ที่แนะนำไป...ขอพี่อาจารย์หายไวๆนะคะ...

  • ไม่ใช่หรอกครับ เป็นคนมือดีอยู่ในวงการแหละ 
  • รูปเขียนสีน้ำนี้สวย ได้ความร่มรื่นดีนะครับ
  • ไปซุ่มเขียนมาตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย

ไม่ใช่อ้อยเขียนค่ะพี่อาจารย์ เป็นน้องชื่อพัลลภ อนุสนธิ์พรเพิ่ม...ทำงานอยู่มหิดลแหล่ะค่ะ...น้องมาโพสต์งานไว้อย่างน่าชม....งานโรคผิหนังก็ทำได้เหมือนจริงมากๆคะพี่อาจารย์น้องอยู่ในมหิดลนั่นหล่ะค่ะ อยู่ในโอเคเนชั่น น้องใช้ชื่อบอกว่ารอเทอเสมอ นามแฝงว่าจามจุรีผู้น่ารัก

http://www.watchari.com/board/index.php?topic=1588.0

                                  

                                  

  • เป็นคนเดียวกับน้องคนหนึ่งที่อยู่บัณฑิตวิทยาลัยหรือเปล่า ฝีมือเขาดีทุกทาง ทั้งสีน้ำมัน ดรออิ้ง โดยเฉพาะพอตเตรท แม่นยำมาก 
  • สองรูปนี้ฝีมือของเขาน่ะครับ แต่ไม่เคยเห็นเขาเขียนสีน้ำ
  • เป็นรุ่นน้องเวชนิทัศน์ของพี่
  • แต่ในมหิดลก็กว้างมากเลยนะครับ คนเก่งๆเยอะครับ

น้องพัลลภ อนุสนธิ์พรเพิ่ม

  • อ้าว ถ้าอย่างนั้นเป็นคนละคนแล้วละครับ น้องอีกคนที่ผมนึกถึงนั้นหน้าตาคมเข้มมากกว่านี้ ผิวเข้มกว่านี้ แต่คงจะเป็นรุ่นเดียวกัน
  • แต่เป็นยอดฝีมือเหมือนกันครับ ยินดีที่ได้รู้จักและได้ชมผลงานครับ
  • กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผมได้มาเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายอสม.และนักวิชาการสาธารณสุขจากภาคต่างๆในโครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนอสม.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน ที่ศูนย์ฝักอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ ในบริเวณเดียวกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ที่เขาขาด ริมถนนขึ้นเหนือนครสวรรค์-กำแพงเพชร

    นอกจากรู้สึกหมือนได้กลับมาทำงานให้บ้านแล้วก็ได้พบกับอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นทีมจากท่าตะโกด้วยครับ

    ทั้งสองท่านเป็นคนทำงานจนชุมชนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนภายนอกอย่างแพร่หลาย ไปร่วมเวทีเพียง ๒ คนซึ่งน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆเพราะทราบว่าในทีมติดภารกิจต้องจัดการศึกษาดูงานให้แก่หน่วยงานภายนอก แต่ก็เป็นที่ประทับใจและได้รับความชื่นชมจากเวทีมากในความเก่งและมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีสปิริต

                        

                        

                        

    ทั้งสองท่านได้คุยกับผมอย่างคนบ้านเดียวกัน พี่ผู้ชายเสื้อเหลืองนี้เป็นผู้นำชุมชน เป็นอสม.และบอกว่าเป็นกลุ่มศรัทธาของวัดหลวงพ่ออ๋อยมาตั้งแต่เด็กกระทั่งปัจจุบัน คุ้นเคยกับหนองบัวและวัดหลวงพ่ออ๋อยเป็นอย่างดีเพราะบ้านอยู่ค่อนไปทางหนองบัว

    เลยนำเอากิจกรรมของเวทีพัฒนาเครือข่ายครูอสม.ของการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มาฝากเวทีคนหนองบัวด้วยครับ ชุมชน ผู้นำชุมชน พี่น้องอสม.ของหนองบัว รวมทั้งเครือข่ายคนทำงานที่สนใจจะได้ศึกษา เห็นความเคลื่อนไหว และอาจพัฒนางานให้เชื่อมโยงกันเองตามความสนใจครับ

     คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน

    ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
    ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
    ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
    ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
    ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
    ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
    ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์

    คุณเสวกที่(คห.๖๗๐)นำภาพคนหาบกล้ามาฝากได้บรรยากาศหน้าทำนาพอดีเลย ตอนแรกที่เห็นยังไม่ทราบว่าที่ไหน ก็นึกไปถึงหนองบัว บรรยากาศอย่างในภาพนี้นานเต็มทีแล้วที่ไม่ได้พบเจอที่บ้านเรา เพราะส่วนมากตอนนี้แถวหนองบัวจะทำนาหว่านกันซะมากกว่า
    เห็นแตงไทยในทุ่งนานี้แล้ว ทำให้นึกถึงไร่แตงไร่ข้าวโพดแถวดงยางเมื่อยุคแรกๆที่แผ้วถางป่าไผ่เพื่อทำไร่ ช่วงนั้นไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย เปลี่ยนจากดงป่าไผ่มาเป็นไร่ พืชไร่ทุกชนิดจะงามมาก

    และอีกที่หนึ่งก็คือไร่แตงในท้องนาแถวๆ สะพานหนึ่ง สะพานห้วยน้อย จนถึงบ้านป่ารัง บริเวณนี้ไร่แตงมีเยอะ เมื่อก่อนในทุ่งนาปลูกอะไรก็งาม ไม่ต้องพึ่งยา พึ่งปุ๋ยมากมาย เป็นไปตามธรรมชาติ พึ่งตนเองซะเป็นส่วนใหญ่ ถ้าฝนไม่ตกก็ต้องหาบน้ำจากคลองหนองไปรดแตง รดต้นพริก ผักที่ปลูกไว้

    เห็นเวที(การอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายอสม.และนักวิชาการสาธารณสุขจากภาคต่างๆในโครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนอสม.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน ที่ศูนย์ฝักอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓)นี้แล้ว และได้ตามไปดูบรรยากาศในการอบรมที่อาจารย์เป็ยวิทยากรดูเป็นบรรยากาศเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดวิชาการมากนัก ผู้เรียน(อสม.)มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เป็นเวทีนำคนทำงานมาสาธิต แสดงผลงาน แลกเปลี่ยนรู้กับคนอื่นก็ทำได้ดีเพราะท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ปฏิบัติทำเองอยู่ในพื้นที่จริงอยู่แล้ว เมื่อได้เรียนรู้เพิ่มเติมก็ยิ่งมั่นใจและทำได้ดี

    ข้อสังเกตอสม.อำเภอท่าตะโก คนรุ่นก่อนหรือรุ่นอสม.นี้ส่วนใหญ่มักผูกพันหรือรู้จักและจดจำบุคคล สถานที่สำคัญๆ ในละแวกใกล้เคียงได้ เช่น วัด พระสงฆ์ ผู้นำท้องถิ่น อยู่ท่าตะโก แต่ก็รู้จักหลวงพ่ออ๋อยวัดหนองกลับอำเภอหนองบัวเป็นอย่างดี ทั้งๆที่เมื่อก่อนนี้การเดินทาง การสื่อสารไม่สะดวกรวดเร็วอะไรเลย ลำบากด้วยซ้ำไป ชีวิตก็ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้อะไรมากอีกต่างหาก แต่กลับเรียนรู้ได้เองแบบชาวบ้าน แล้วก็มักได้มาสัมผัสกับตนเอง เรียนรู้จดจำได้ด้วยตนเอง

    ลูกหลานอสม.ที่ยุคนี้มีแต่ความสะดวกสบาย ไปไหน มาไหน ก็แสนจะรวดเร็ว ไปได้ทุกที่ทุกแห่งภายในวันเดียวทั่วทั้งจังหวัด อำเภอ สะดวกแต่การเดินทาง แต่การเรียนรู้ไม่แน่ใจว่าได้มีติดตัวกันมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะเรื่องในชุมชนตัวเอง บ้านตัวเอง

    อสม.อยู่ท่าตะโกรู้จักหลวงพ่ออ๋อย เลยทำให้นึกถึงคนเก่าๆในหนองบัวที่นานทีปีหนหรือหลายปีจะได้ไปปากน้ำโพสักครั้ง หรือไปวัดท่านเจ้าคุณเทพสิทธินายก(วัดหัวเมือง-วัดนครสวรรค์) และการจะได้ไปก็ต้องเป็นกิจสำคัญด้วย เช่น นำบุตรหลานไปบวชกับท่านเจ้าคุณห้องท้วมเทศบ้าง นำญาติไปโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์บ้าง นอกเหนือจากนี้ไม่ได้ไปเลย

    การได้ไปในเมืองนครสวรรค์เป็นการเรียนรู้ของชาวบ้านได้ดีเหลือเกิน ได้พบได้เห็นอะไรบ้าง กลับมาเล่าให้ลูกหลานฟังได้เป็นดิบเป็นดี ไม่มีลืมเลือน เล่าได้แม่นยำเหมือนบันทึกไว้ เป็นบันทึกไว้ในความทรงจำที่นึกทีไรก็แจ่มแจ้งทุกที เรายุคนี้เสียอีกที่เรียนกันมากเดินทางกันมากเหลือเกินแต่จำอะไรกันไม่ค่อยได้ ผู้เขียนก็เข้าข่ายข้อหลังนี้เลยเพราะไม่ค่อยได้จดจำอะไรกับเขาด้วยเหมือนกัน.

  • การถอนกล้าแล้วฟาดเข้ากับเท้าเพื่อให้ดินที่เกาะตามรากต้นกล้าหลุดไปนั้น เป็นภาพที่สวยงามและมีเสียงดังเชี้๊ยะๆเป็นจังหวะที่ไพเราะมากเลยนะครับ
  • คุณเสวกเล่าด้วยภาพอย่างได้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณมากเลยทีเดียวครับ
  • มีกระติกน้ำและวิทยุทรานซิสเตอร์ตั้งอยู่ข้างๆ ฟังเพลงลูกทุ่งและละครคณะแก้วฟ้าลั่นทุ่ง เป็นสุขภาวะสาธารณะ ฟังด้วยกันและมีความสุข ได้ความเพลิดเพลินรื่นรมย์ใจไปด้วยกันไปทั้งท้องทุ่งนา
  • มีแตงและผักจิ้มน้ำพริกขึ้นตามปลวก ทุ่งนา ริมรั้ว และรอบห้างนา สำรับข้าวมีน้ำพริกยืนพื้น
  • มีโอกาสก็จะลองวาดเป็นรูปบันทึกความทรงจำให้คุณเสวกนะครับ
  • ดูๆแล้ว ทั้งข้อมูลภาพ การถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต และเรื่องราวต่างๆที่ช่วยกันบันทึกไว้นี้ ก็เหมือนกับเป็นสารานุกรมฉบับชาวบ้านของชุมชนหนองบัวเลยนะครับ
  • ผมเองก็ประทับใจครับที่ได้ต่อเติมกันไปมาจนเป็นเรื่องเป็นราวดีๆ
  • การลงแขกถอนกล้านี่สนุก การถอนกล้าในตะกล้าอันเดียวกันหลายคนนั้นต้องระวังอย่างหนึ่งคือเวลาฟาด บางทีลืมนึกถึงคนที่อยู่ตรงข้ามกับเรานะซิ พอรวบกล้าได้เต็มมือก็ฟาดอย่างสุดแรงเกิด ทีนะละพี่น้องเอ๋ยทั้งน้ำทั้งดินวิ่งด้วยความเร็วจี๋ เข้าโจมตีฝ่ายตรงข้าม(ผู้ที่กำลังถอนกล้าอยู่) โดนเต็มๆ เลย คนที่ถูกลูกหลงครึ่งบกครึ่งน้ำแบบนี้ทนได้หรือ ก็ร้องจนเสียงหลงดังลั่นทุ่งไปเท่านั้นเอง

    หรือเหนื่อยๆปวดหลังมากๆก็อดแกล้งกันไม่ได้ แกล้งพอให้เพื่อนได้เปื้อนขี้โคลนบ้างก็ผ่อนคลายได้หัวเราะกันบ้างก็ยังดี เป็นวิธีแก้ปวดเมื่อยปวดหลังในท้องทุ่งนา

    เด็กๆมักชอบเวลาผู้ใหญ่ถอนกล้า ก็จะไปยืนข้างหลังคอยลุ้นรับขี้ดินโคลนจากการฟาดกล้า เป็นการฝึกทักษะการหลบหลีกดินโคลนที่วิ่งปรูมาเหมือนห่าฝน โดนบ้างไม่โดนบ้าง ด้วยความสนุกสนานดี เปื้อนโคลนก็ไม่กลัวเพราะน้ำในนามีมาก โดดตูมเดียวสะอาดเหมือนเดิม

    ผู้ใหญ่ที่ชำนาญในการถอนกล้านั้นไม่มีดินโคลนเปื้อนตามเนื้อตัวแข็งขา ฟาดก็ไม่ต้องใช้แรงมากนัก แต่ผู้ที่เป็นมือใหม่หัดถอน พวกวัยรุ่นทั้งหลายนี่แหละ เวลาดึงต้นกล้าก็ตั้งท่าดึงเสียเต็มที่เลย บางทีต้นกล้าขาดเบรกไม่อยู่ก็หงายหลังผึ่งน้ำบานกระจายได้ฮากันตรึม มือใหม่นี้ฟาดกล้วแล้วดินโคลนเต็มตัวไปหมด เปียกโชกทั้งตัวเหมือนนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติที่ฝึกซ้อมในสระว่ายน้ำเลยนะ 

    การจะถอนกล้าให้ได้ง่ายสะดวกไม่เหนื่อยนัก อยู่ที่ปริมาณน้ำในตะกล้าถ้ามากถึงครึ่งหน้าแข้งละก็เหนื่อย ฟาดก็ลำบากจะต้องยกเท้าให้สูงพ้นน้ำ แรงจะฟาดก็ไม่ค่อยมีอีกทั้งยืนขาเดียวก็ไม่มั่นคง ทรงตัวไม่ดีเซง่าย จะให้ดีต้องมีน้ำสักแค่ท้วมหลังเท้า-ตีนก็พอ ยืนทรงตัวได้ดี ยกเท้านิดเดียวก็ฟาดได้สะดวก หรือจะถอนกล้าแบบแห้งแบบฝุ่น(คล้ายก๋วยเตี๋ยว-อาหารตามสั่ง)ก็สะดวกดีเลือกได้ตามอัธยาศัย

       Lotuscreativepnt2                                      

    วันนี้เป็นวันไหว้ครูของมหาวิทยาลัยครับ เลยเป็นโอกาสรำลึกและคารวะหมู่กัลยาณมิตรทุกท่านในฐานะเป็นครูและเป็นปัจจัยแวดล้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทั้งแก่ผมและทุกคนในเวทีคนหนองบัวมากมาย

    ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) ขอคารวะคุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณเสวก ใยอินทร์ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ คุณฉิก : ศักดิ์ศิริ พิทักษ์อำนวย และทุกท่านในเวทีคนหนองบัว

    ขอน้อมคารวะคุณครูของผมทุกท่านนับแต่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) โรงเรียนหนองคอก : หนองบัว ด้วยความเคารพและน้อมบูชาจากใจครับ

    ชีวิตบ้านทุ่ง

    กระได :  กระบวนการสร้าง การใช้สอยมีความสัมพันธ์ทางความรู้ความเชื่อคติชีวิตระหว่างผู้คนกับข้าวของเครื่องใช้

    ตามชนบทบ้านนอกสมัยก่อนโดยทั่วไป บ้านมักจะปลูกยกพื้นสูง ใต้ถุนบ้านใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เก็บข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือทางการเกษตร มีเกวียน ไถ คราด ขลุบ จอบ เสียม ยุ้งถ่าน เล้าไก่ เล้าเป็ด คอกควาย ฯลฯ

    เมื่อก่อนนี้ตามหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีรั้วบ้าน บ่งบอกอาณาเขต รั้วบ้าน หรือเขตที่ดินคนบ้านติดกัน อาจเป็นต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วกินได้ต่าง

    กระไดบ้านมี ๒ แบบ คือแบบถาวรอยู่กับที่ ยก เคลื่อนย้ายไม่ได้ และแบบยก เคลื่อนย้ายได้ กระไดที่ยกย้ายได้นี้ ทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข้ง-ไม้จริง ถ้าบ้านใดมีการเก็บกระได การยกกระไดขึ้นบ้านนั่นหมายถึงว่าบ้านนั้นไม่มีคนอยู่ หรืออยู่บ้าน แต่เจ้าบ้านอยากมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้าง ก็ยกกระไดขึ้นบ้านเสีย เพื่อนบ้านเห็นแล้วก็คาดเดายากเหมือนกัน ไม่เหมือนบ้านที่มีประตูเมื่อบ้านปิดประตูใส่กุญแจ ก็แสดงว่าเจ้าบ้านไม่อยู่

    กระไดนั้นมีจำนวนขั้นเป็นเลขคี่ เช่น ๓  ๕  ๗  ๙  ๑๑  ๑๓ เป็นอาทิ กระไดพาดบ้านมักจะชัน เวลาปีน-ขึ้นกระได ลำบากบ้าง จะไม่สะดวกเหมือนบันได เพราะขั้นที่เหยียบมีขนาดเล็ก เมื่อก้าวขึ้นจึงต้องใช้มือจับไต่นำเท้า

    ส่วนต่างๆของกระได ก็มี แม่กระได พ่อกระได หัวกระได ลูกกระได(ขั้นกระได) ตีนกระได คนเก่าๆสอนว่าเวลาขึ้นกระได เดินผ่านกระไดให้ก้มหัว เพื่อแสดงความเคารพแม่-พ่อ(กระได) การก้มศีรษะก็มีประโยชน์เพราะศีรษะจะได้ไม่โดนชายคา ซึ่งมักจะทำไว้ต่ำๆเพื่อป้องกันลม ฝน และการก้มศีรษะก็ช่วยให้ทรงตัวดี ไม่หงายหลังง่ายๆ เด็กๆที่เดินไม่ก้มหัวนั้นมักจะโดนชายคา จนหัวโนหัวปูด กันอยู่บ่อยๆ

    หัวกระไดสูงต่ำไม่เสมอกัน การสูงต่ำไม่เท่ากันมีประโยชน์คือเวลาขึ้นลงมือข้างหนึ่งเกาะหัวกระไดที่สูงไม่เท่ากันได้พอดี คนที่เคยหาบน้ำขึ้นกระไดก็จะรู้ว่าถ้าหัวกระไดยาวสั้นเท่ากัน จะเกะกะลำบากในการเอียงลำตัวให้ถังน้ำเข้าช่องระหว่างกลางกระไดทีละข้าง

    พูดกันว่า “หัวกระไดไม่แห้ง” แสดงว่าเจ้าบ้านมีเพื่อนเยอะ มีคนมาเยี่ยมเยียนเสมอ หัวกระไดอยู่ด้านบนน่าจะแห้งเร็ว กลับไม่แห้งเสียนี่ ตีนกระไดอยู่ติดกับพื้นดินน่าจะเปียก กลับไม่เปียก ที่จริงถ้ากระไดเปียก ด้านบนน่าจะแห้งก่อน

    "หัวกระไดไม่แห้ง" เพราะมีชายหนุ่มมาจีบลูกสาวบ้านนี้ พ่อหนุ่มตื่นเต้นมากไปนิด เหงื่อกาฬแตกท่วมตัว เพระอะไรเพราะอยู่ในสายตาว่าที่พ่อตา แม่ยานะซิ  หัวกระเลยไม่แห้งเปียกชุ่มโชกด้วยเหงื่อพ่อหนุ่ม

    หรือบ้านนั้นมีลูกสาวสวยหน้าตาดี นิสัยดี ก็เลยมีหนุ่มมารุมจีบสม่ำเสมอ

    กระไดอย่างเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ใช้งานเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้รู้เรียนชีวิต เข้าใจชีวิต วิธีคิด ความเชื่อของผู้คนอีกมากมาย การให้ความหมายของซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีถูกมีผิด.

       สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชุมชน   :
    Community Sociology and Humanity
    ดยสามัญสำนึกและวิถีความรู้จากประสบการณ์ชีวิต

    ผมขอเรียกและทำหมายเหตุเก็บไว้ก่อนนะครับ น่าสนใจมากเลยครับ เป็นวิธีพิจารณา วิเคราะห์ สร้างหลักการและวิธีอธิบายสังคม มนุษย์ วิถีประพฤติปฏิบัติ และวิธีจัดความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆของมนุษย์ เลยขอตั้งหัวข้อไว้ก่อนครับว่าเป็นสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชุมชนที่สร้างขึ้นโดยวิธีการที่ทุกคนมีอยู่เป็นพื้นฐาน คือ ความมีสามัญสำนึกและการมีประสบการณ์ต่อสังคมผ่านการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน และการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ของชุมชนระดับต่างๆ

    กระบวนการเรียนรู้ชุมชนและเข้าถึงอัตลักษณ์แห่งตน ผ่านวิธีใคร่ครวญตนเองของชาวบ้านและชุมชนที่เป็นสมาชิกของชุมชน ให้ความถ่องแท้ ซาบซึ้ง ให้คุณค่าและความหมายจากความเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตตนเองอย่างนี้ เป็นวิธีสร้างและสะสมภูมิปัญญาอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญมากเลยครับ

    ในอดีต ก่อนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่นั้น วิธีการอย่างนี้สังคมไทยมีวิธีการจัดการตนเองเพื่อสร้างและสะสมภูมิปัญญาแบบนี้ขึ้นไว้ใช้ในสังคมผ่านการเล่าและการแสดงที่สื่อสะท้อนโลก เรียกว่าเป็นวิธีการแบบมุขปาฐะ ซึ่งโดยทั่วไปมักหมายถึงการสืบทอดด้วยการจดจำและเรื่องเล่า ทว่า หากให้ครอบคุลมแล้ว ก็รวมไปถึงการการแสดงและศิลปะการสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนโลก สะท้อนความบันดาลใจ และสะท้อนประสบการณ์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ด้วย เช่น เพลงแหล่ หมอลำ ลิเก นิทานปรัมปรา นิทานชาวบ้าน  รูปแบบกิจกรรมประเพณี ความเชื่อ การประดิษฐ์ศิลปะการร่ายรำ เหล่านี้ ในอดีตนั้น เป็นการสะท้อนภูมิปัญญา จดบันทึก สืบทอด และเผยแพร่ ไว้ในสังคมอย่างหนึ่ง

    แต่ปัจุบันนนี้ มีวัฒนธรรมความรู้แบบตัวหนังสือและการบันทึกเป็นหลักฐานแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาแทน วิธีการอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จึงนอกจากจะหมดบทบาทลงไปมากแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ก็สูญเสียความสามารถพื้นฐานของชีวิตอย่างนี้ไปเกือบหมดสิ้น หากนับการมีศิลาจารึกเป็นหมุดหมายของวัฒนธรรมตัวหนังสือ ในสังคมไทยก็เกิดขึ้นเมื่อ ๔-๕ ร้อยกว่าปีเท่านั้น ดังนั้น วิธีการสมัยใหม่สำหรับสังคมไทยแล้ว ก็เพิ่งจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในสังคมที่มีโอกาสขัดเกลาหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมตัวหนังสือและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ จึงยังไม่ค่อยแข็งแรงและเป็นหลักเป็นฐานถึงขั้นที่จะเรียกว่าเป็นสามัญลักษณะที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมไม่ ทว่า ในด้านที่เป็นพื้นฐานเดิมนั้น กลับสูญเสียไปรวดเร็วมาก อุบัติการอย่างนี้ไม่ได้เกิดแต่ในสังคมไทยเท่านั้น หลายแห่งในสังคมโลกก็เป็นอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน ในงาน ยูโทเปีย ของโทมัส มอร์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมประชดและเสียดสียุคสมัยของความเสื่อมในสังคมอัศวิน ยุคล่าอาณานิคม และราชสำนักอังกฤษ พูดเปรียบเปรยทำนองว่า เมื่อมีเข็มทิศแล้ว มนุษย์ก็สูญเสียความสามารถในการอ่านท้องฟ้า ดวงดาว และการดูร่องน้ำเดินเรือ

    ชาวบ้านส่วนใหญ่ในสังคมไทย ไม่ได้มีโอกาสอยู่ในสังคมความรู้และสังคมข้อมูลข่าวสารที่ดีจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ก็นอกจากจะสูญเสียความสามารถในการอ่านกระได รหัสความรู้ และรหัสภูมิปัญญในการดำเนินชีวิตอย่างนี้ไปมากแล้ว ก็ขาดการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพความรู้และภูมิปัญญาชนิดนี้ให้แข็งแรง เราจะเห็นว่า เรื่องเล่าและการสื่อแสดงอย่างเช่น เพลงลูกทุ่ง ละครซึ่งเคลื่อนจากวิถีชุมชนไปอยู่ในทีวี วิทยุ และอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ ก็ไม่ค่อยเป็นเรื่องแสดงออกทางปัญญาและการมุ่งสะท้อนโลก ทำหน้าที่เคลื่อนไหวชีวิตและสังคมอย่างในอดีตแล้ว ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงและชิงมวลชนเข้าไปบริโภคสินค้าแบบแข่งขันเอากำไรเสียมากกว่า

    วิธีการอย่างที่พระคุณเจ้าพัฒนาการนำเสนอและถ่ายทอดอย่างนี้เลยขอสนับสนุนครับ หากชาวบ้านที่อ่านชีวิตและชุมชนของตนเองออก พร้อมกับเรียนรู้เพื่อจะพัฒนาตนเองในการสื่อแสดง บันทึกและสืบทอดได้ในลักษณะนี้ สังคมไทยจะสามารถเป็นสังคม Learning Literacy ขึ้นจากความพิถีพิถันต่อการดำเนินชีวิตให้เป็นวิถีชุมชนแห่งการเรียนรู้และแสดงความสร้างสรรค์ให้ปรากฏในชีวิตประจำวัน ได้ในวิถีของตนเอง

    ขอเป็นกำลังใจครับ เป็นวิธีพัฒนาการเรียนรู้จากการลงมือของเราเองเพื่อใช้โลกไอทีให้มีความสร้างสรรค์ต่อสังคมได้อย่างหนึ่งครับ.

     ทำนาทำสวน-ทำชีวิตเกษตรกร  ให้เป็นครูของสังคมและผู้คน   :
    คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่
    เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

    เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผมมีเหตุปัจจัยให้ได้ไปเยือนโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ที่ริมถนนเลียบคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะก่อนที่จะได้ไปในครั้งที่กล่าวถึงนี้ ผมเคยผ่านและสะดุดความสนใจ กระทั่งไปยืนเกาะรั้วดูบ้านและแปลงเกษตรแห่งนี้ถึง ๒ ครั้งในสองเย็นหลังเลิกงาน คิดไว้อยู่เสมอว่าจะหาข้อมูลและไปเยือนในเวลาปรกติให้ได้สักวันหนึ่ง

    มาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มาป่วยเป็นไข้หวัด ไม่มากนักแต่ก็ทำให้คิดว่าไม่ควรไปสอนหรือไปทำงาน เพราะพออ้าปากพูดก็ไอแทบตาถลน จาม น้ำมูก น้ำหูน้ำตาไหล ดูแล้วก็คงจะไปแพร่ระบาดเอาไข้หวัดไปติดลูกศิษย์หรือคนในสำนักงาน ซึ่งไข้หวัดเดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวด้วยเหมือนกัน ก็เลยจะนั่งทำงานที่พอทำได้ที่บ้านพักหรือข้างนอกไกลๆจากผู้คน ก็เป็นเหตุปัจัยหนึ่ง

    นอกจากนี้แล้ว หลานลูกของพี่ชาย ก็ชนะเลิศผลงานศิลปะของ ปตท.ได้รางวัลยอดเยี่ยมและจะได้ไปรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ผมก็ไปร่วมประสบการณ์ความทรงจำในชีวิตครั้งสำคัญนี้ของหลานมาก เพราะในแวดวงศิลปะนั้น การได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรหรือเพาะช่างนั้น เป็นความใฝ่ฝันของชีวิต ซึ่งน้อยคนนักที่จะไปได้ถึง แต่หลานผมได้ไปอยู่ตรงนั้นตั้งแต่เป็นเด็กตัวน้อย อีกทั้งในสภาพ be the front seat อีกต่างหาก ผมก็อยากไป แต่ดูแล้วก็คงไปไม่ไหวอีก เลยต้องงด นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัย

    กระนั้นก็ตาม ในตอนบ่ายของวันศุกร์ ผมและอาจารย์วีรบูรณ์ วิสารทกุล นักวิชาการแนวประชาสังคมและอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีนัดกับทีมงานของกลุ่มคนหนุ่มคนสาว ผู้ประสานงานและเป็นทีมวิชาการอิสระของบางกอกฟอรั่ม Bangkok Forum เพื่อหารือและให้การปรึกษาโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนกรุงเทพฯ ซึ่งผมและอาจารย์วีรบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาให้แก่โครงการนี้ แต่ด้วยสภาพที่เป็นไข้และคุยโดยไม่ไอไม่ค่อยได้โดยเฉพาะในห้องปรับอากาศ ผมเลยขอนัดกับทุกท่านใกล้ๆบ้านพัก ซึ่งเขาก็นัดให้ผมไปนั่งคุยกันที่ห้องประชุมของโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยที่ผมก็ไม่เคยทราบว่าเป็นทั้งที่ทางของกลุ่มคนทำงานที่ได้ทำงานเชื่อมโยงอยู่กับผม ๑๐ กว่าปีกลุ่มนี้ และเป็นที่เดียวกันกับที่ผมเคยสนใจและไปยืนเกาะรั้วดู ๒ ครั้งมาแล้ว นี่ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่ง

    ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมได้ไปเยือนโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ แหล่งดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ราวกับมีเหตุให้ต้องได้ไป เมื่อได้ไปเยือนแล้ว นอกจากได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับงานกันแล้ว ก็ถือโอกาสกราบคารวะคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาดเจ้าของที่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งนี้พร้อมกับขอเดินเยี่ยมชมและศึกษาแนวคิดของท่าน ได้ปัญญาและประสบการณ์ที่ดีมากมายและเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนหนองบัว รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปมากอ่างยิ่ง

    ตอนที่ ๑     โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่  ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด   
    และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

                       

                                     ภาพที่ ๑ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ข้าราชการบำนาญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ และชมรมรักคลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนริมคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมการทำนาและการทำเกษตรกรรมหลายอย่างที่นำมาใช้ดำเนินชีวิตบนผืนดิน ๒๕ ไร่ รวมทั้งพัฒนาฐานชีวิตให้เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ เป็นครูของสังคม ทั้งจากในกรุงเพทมหานครและต่างจังหวัด ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในขณะที่ที่ดินในบริเวณดังกล่าว หากขายด้วยราคาประเมินในปัจจุบันจะราคามากกว่าไร่ละ ๑๐ ล้านบาท

                       

                                         ภาพที่ ๒ ผู้เขียนกำลังนั่งสนทนากับคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด และ คุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุล ประมงอาสา รองประธานกลุ่มเกษตรปลอดภัยจากสารพิษเขตทวีวัฒนาและร่วมเป็นวิทยากรและครูอาสาให้กับโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณครูวรินทร์ด้วย

    คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด เป็นอดีตครูที่เกิดและเป็นครูอยู่ที่แถวบ้านเกิดเขตทวีวัฒนานี้นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับแต่แถวคลองทวีวัฒนายังเป็นเขตชนบทอยู่ในจังหวัดธนบุรีและยังใช้น้ำมันก๊าดจุดตะเกียง บ้านของคุณครูทำนาและอยู่กับพี่น้องในครอบครัวขยายบนที่นารวมกันแล้วมากกว่า ๑๐๐ ไร่ ต่อมาพ่อแม่ก็แบ่งที่ให้ลูกหลานได้แยกบ้านและทำนาทำสวน คุณครูและครอบครัวได้ ๒๕ ไร่และได้ทำนาด้วยตนเองมาโดยตลอด

    แม้เกษียณออกจากชีวิตความเป็นครูแล้ว คุณครูวรินทร์ก็ยังคงทำนาและปลูกบ้าน พาลูกหลานดำเนินชีวิตในวิถีดั้งเดิมอย่างหนักแน่น ทว่า คุณครูก็ต้องตระหนักว่าชีวิตเกษตรกรที่เลี้ยงชีพด้วยการทำนาทำสวนนั้น ก็แรงกดดันรอบด้านให้ดำรงอยู่ได้ยากขึ้นทุกขณะ ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผืนดินเสื่อมโทรม ผลผลิตถดถอยทั้งปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรและคนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของที่ดินรอบข้างต่างล้มละลายกับการทำนาทำสวน ต้องขายที่ดินและพลิกผันชีวิตเป็นเศรษฐีใหม่ แต่คุณครูและครอบครัวก็ยังคงยืนหยัดไม่ยอมขายที่ดินของพ่อแม่และยังคงทำนาด้วยตนเองอยู่ต่อไป

    ประมาณปี ๒๕๔๗ คุณครูก็ได้แรงบันดาลใจจากแนวเกษตรทฤษฎีใหม่และแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความที่เป็นครู มีกำลังทางวิชาการ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง รวมทั้งมุ่งมั่นในวิถีเกษตรกร คุณครูจึงสะท้อนสู่การเริ่มต้นทดลองกับชีวิตจริงของตนเองด้วยหลักคิดซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ  ๓ อรรถประโยชน์ คุณค่า และความหมายแห่งชีวิต ๓ องค์ประกอบการบริหารจัดการ และ ๓ ขั้นตอนของการเติบโตอย่างเหมาะสมพอเพียง

      ๓ อรรถประโยชน์ คุณค่า และความหมายแห่งชีวิต 

    • การลดหนี้สินและพึ่งตนเองให้พออยู่พอกิน
    • สร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองและครอบครัว สร้างสวัสดิภาพ และเพิ่มโอกาสการพัฒนาด้วยการพึ่งตนเองเป็นเบื้องต้น
    • การแบ่งปัน ร่วมสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ร่วมสร้างชุมชน พัฒนาระบบการจัดการตนเองของส่วนรวมให้เข้มแข็งและทัดเทียมความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมทั้งปัจจุบันและในอนาคต

      ๓ องค์ประกอบการบริหารจัดการบนฐานชีวิตเกษตรกรและผสมผสานวิทยาการที่เหมาะสม 

    • มีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร
    • มีการคำนวณปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอในการเพาะปลูกตลอดปี
    • มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ โดยมี ๓ ขั้นตอนของทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นที่สาม

      ๓ ขั้นตอนของการเติบโตอย่างเหมาะสมพอเพียง 

    •   ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น  

           หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           " การผลิตเป็นการผลิตให้พึ่งตนเองได้ด้วยวิธีง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังพอมีพอกินไม่อดอยาก "
                                                                พระราชดำรัส เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗

            แปรไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตเกษตรกร โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและฐานชีวิตเกษตรกรเสียใหม่ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและความจำเป็นในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง ดังนี้
                   ส่วนที่ ๑ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกและใช้สอย
                   ส่วนที่ ๒ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด เป็นพื้นที่ทำนาข้าว
                   ส่วนที่ ๓ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด
                   ส่วนที่ ๔ ร้อยละ ๑๐ ของที่ดินทั้งหมด ทำเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็นอื่นๆ

    •   ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง  

           หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           " ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปของกลุ่ม หรือสหกรณ์ ร่วมแรงในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและสิ่งศรัทธา เพื่อให้พอมีพอกิน มีใช้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นพร้อมๆกัน ไม่รวยคนเดียว "
                                                                พระราชดำรัส เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๗

    •   ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม 

           หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           " เมื่อดำเนินการขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทซึ่งไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรอย่างเดียว"
                                                             พระราชดำรัส เมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

    ด้วยพื้นฐานชีวิตของท่านและแนวทางดังกล่าวอันได้มาจากแนวปรัชญาและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ก็ได้เรียนรู้ ริเริ่ม และทำสิ่งต่างๆขึ้นมากมายในชีวิตการทำนาบนผืนดินของตนเอง กระทั่งปัจจุบัน ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าสนใจมากมายทั้งสำหรับเกษตรกรและชสวบ้านทั่วไป.

    ตอนที่ ๒ พืชผักผลไม้สวนผสม  
      ความร่มรื่นและธรรมชาติความหลากหลาย 

        โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่  ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด   
    และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

    ทั่วอาณาบริเวณของผืนดิน ๒๕ ไร่ที่แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ส่วนที่แบ่งเป็นพื้นที่อาศัย ทำเป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัยทั้งของคุณครูเองและของลูกหลาน เชื่อมต่อกับบ้านญาติพี่น้องคนอื่นๆซึ่งทำอาณาบริเวณเหมือนกับลักษณะบ้านเรือนของชุมชนเกษตรในอดีต คือ ไม่มีรั้วกั้นและใช้สอยลานบ้าน ตลอดจนเก็บผักผลไม้กินด้วยกันอย่างคนที่อยู่ร่วมกัน และอีกส่วนหนึ่งที่แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักผลไม้ รวมทั้งไม้ยืนต้นเพื่อให้ความร่มรื่นหลากหลาย ก็ประกอบไปด้วยพืชผักสวนผสม

                          

                           ภาพที่ ๑ คุณครูวินทร์ เขียวสะอาดกับหลานปู่ นำแขกผู้มาเยือน : ทีมงานของบางกอกฟอรั่ม เป็นคนหนุ่มสาวจบการศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรี ซึ่งมุ่งวิถีวิชาการอิสระและเป็นเครือข่ายวิชาการแนวประชาสังคมจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เยี่ยมชมการทำนาและโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ แนวโล่งที่เห็นผ่านแนวต้นไม้นั้น เป็นพื้นที่ติดกับถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อกว่า ๑๐ กว่าปีมาแล้วก็เป็นแหล่งซึ่งที่ดินมีราคาประเมินมากกว่าไร่ละ ๑๐ ล้านบาท แต่คุณครูก็ยังคงใช้เป็นฐานชีวิตในการทำนาและทำสิ่งที่สะท้อนจิตวิญญาณความเป็นครูของท่านคือทำโรงเรียนสร้างคนจากทั่วประเทศและผลิตประสบการณ์ถ่ายทอดภูมิปัญญาสร้างสรรค์มากมายให้แก่สังคม

                          

                           ภาพที่ ๒ ผลผลิตหลากหลาย ผักผลไม้ รวมไปจนถึงไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกและงอกงามอยู่ทั่วอาณาบริเวณ ออกดอกและให้ผลสลับกันไปตลอดทุกฤดูกาล มีกินและมีขายไม่ได้ขาด

                          

                           ภาพที่ ๓ สวนกล้วย : หลักประกันและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและอาหาร ส่วนหนึ่งที่แบ่งเป็นที่ทำนาข้าวและทำสวน ได้ทำเป็นสวนกล้วยและปล่อยให้เติบโตออกดอกออกผลเอง ๔-๕ ปีมาแล้วจนคุณครูบอกว่าถึงรอบที่โคนลอยแล้ว อีกไม่นานก็อาจจะปรับปรุงและปลูกใหม่ กล้วยในสวนนี้ออกผลและทุกส่วนของกล้วยจะมีผู้เข้ามาซื้ออยู่ตลอดเวลา ทำให้มีรายได้จุนเจือเป็นภูมิคุ้มกันและหลักประกันแห่งชีวิตอีกทางหนึ่งที่ทำให้สามารถบำรุงครอบครัวและทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมได้อย่างเพียงพอ

    ในส่วนที่ทำนาข้าวนั้น คุณครูใช้วิธีทำนาซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนวัตกรรมและเผยแพร่ประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจอื่นได้อย่างกว้างขวางคือการทำนาแบบโยนกล้า โดยเตรียมผืนนาเหมือนกับการทำนาน้ำตมทุกประการ แต่การเตรียมกล้านั้น ไม่ได้หว่านกล้าในนาอย่างในอดีต ทว่า ดัดแปลงเอาแผ่นพลาสติกซึ่งมีหลุมเล็กๆเหมือนหลุ่มใส่ไข่ไก่และเคยเห็นผู้อื่นใช้เพาะเมล็ดพันธุ์กล้าไม้อย่างอื่น มาเป็นเครื่องมือสำหรับเตรียมกล้าซึ่งทำให้เตรียมดินแต่น้อยและดูแลได้ง่าย เมื่อได้ต้นกล้าตามที่ต้องการและเตรียมนาเหมือนกับการเตรียมสำหรับดำนาเหมือนกับการทำนาของชาวหนองบัวทั่วไปแล้ว ก็เดินถือเอาต้นกล้าโยนและขว้างกระจายไปให้ทั่วที่นา

    วิธีทำนาโดยวิธีโยนกล้าอย่างที่คุณครูทดลองทำและค้นพบเป็นนวัตกรรมการทำนานี้ ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ ทั้งใช้แรงงานแต่น้อย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเตรียมต้นกล้า ต้นข้าวแตกกอ แข็งแรง ไม่มีวัชพืชรบกวนเหมือนวิธีดำและหว่าน ลดต้นทุนไปมากกว่าไร่ละเกือบ ๒ พันบาทเมื่อเทียบกับวิธีดำและหว่านของการทำนาแบบทั่วไป.

    ตอนที่ ๓ สร้างเด็ก สร้างคน และสร้างภูมิปัญญาอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่สังคม  

        โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่  ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด   
    และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

    การทำนาและการดำเนินชีวิตของท่าน รวมทั้งการยกระดับเข้าสู่ขั้นที่ ๓ ของการดำเนินตามแนวทฤษฎีเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ท่านรวมตัวกับหมู่ญาติและผู้สนใจในแนวทางเดียวกัน ทำโรงเรียนให้บริการแบ่งปันความรู้และให้การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ให้ชื่อองค์กรและการรวมกลุ่มบริหารจัดการการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างคนในแนวทางดังกล่าวว่า โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดกิจกรรมให้การศึกษาเรียนรู้ทั้งจากแนวคิดทฤษฎีประสบการณ์และจากการมีแหล่งประสบการณ์ให้ทำจริงจากการทำนาทำสวน

                          

                           ภาพที่ ๑ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ในห้องประชุมเอนกประสงค์โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ในอาณาบริเวณบ้านและที่ดินทำกินของท่านซึ่งนำมาออกแบบและบริหารจัดการปรับฐานชีวิตใหม่ด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สถานศึกษา  คุณครูและเด็กๆจากโรงเรียนในเขตทวีวัฒนาที่ท่านเคยเป็นครูด้วยมาตลอดชีวิต ก็ยังคงได้มาศึกษาเรียนรู้โลกนอกห้องเรียนจากท่านและมากกว่าในช่วงที่ท่านเป็นครูเสียอีก

                          

                          ภาพที่ ๒ ร่วมขยายผลและส่งเป็นทางเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้นแก่สังคมโดยสื่อและเครือข่ายทางเลือก สื่อมวลชนและรายการสร้างการเรียนรู้แก่สังคมทางสื่อในแนวทางเลือก ร่วมขยายผลให้แก่ความริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณครูวรินทร์และโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่โดยการถอดบทเรียนและนำไปสื่อสารสร้างการเรียนรู้แก่สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ทำเป็นสื่อการเรียนการสอน ช่วยการให้ข้อมูลและการบรรยายแก่คุณครูและคณะเมื่อมีกลุ่มผู้มาเยือนกลุ่มต่างๆ นับว่าเป็นความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มพูนพลังสิ่งดี

                          

                           ภาพที่ ๓ ความเป็นหนึ่งเดียวกันและการผสานกลมกลืนของวิถีดั้งเดิมกับโลกยุคใหม่อันหลากหลายซับซ้อน ทีมทำงานของบางกอกฟอรั่ม, อาจารย์วีรบูรณ์ วิสารทกุล จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผม(ผู้เขียนซึ่งกำลังผู้ถ่ายภาพ) ร่วมสนทนาและเรียนรู้กับคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาดก่อนที่ท่านและคุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุลจะนำพวกเราเดินชมทั่วบริเวณไปจนถึงนาข้าวโดยวิธีโยนกล้า

                          

                           ภาพที่ ๔ อยู่กับธรรมชาติและพลังชีวิตจากผืนดิน เดินผ่านสวนกล้วย สวนผัก บ่อเก็บกักน้ำเลี้ยงปลา และสวนผลไม้ ผ่านออกไปสู่แปลงนาเพื่อดูการทำนาแบบโยนกล้า ทั่วทุกแห่งเต็มไปด้วยความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์

                          

                           ภาพที่ ๕ ห้องประชุมสำหรับต้อนรับและพบปะเพื่อการศึกษาเรียนรู้ก่อนดูของจริง ห้องประชุมเอนกประสงค์ท่ามกลางสวนผัก สวนผลไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับ ขนาดกำลังพอเหมาะประมาณ ๕ x ๑๕ เมตร พรั่งพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการประชุมและเรียนรู้ไม่น้อยไปกว้าห้องเรียนชั้นดีในมหาวิทยาลัย ทว่า มีความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ พอเพียงในการดูแลและพึ่งตนเอง

                          

                           ภาพที่ ๖ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด หลานปู่ และคุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุล กับทีมงานบางกอกฟอรั่มหลังการเยี่ยมชมนาข้าวแบบโยนกล้า

    นอกจากเป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่แล้ว บ้านของคุณครูและโรงเรียนที่ตั้งขึ้นก็เป็นแหล่งพบปะของกลุ่มคนที่สนใจศึกษาและพัฒนาชีวิตในแนวทางเลือก โดยรวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมรักษ์คลองและรักษ์ถิ่นชุมชนริมคลองทวีวัฒนา.

                                                                                                                  วิรัตน์ คำศรีจันทร์ บันทึกและแบ่งปัน
                                                                                                                  กรกฎาคม ๒๕๕๓

    น่าชื่นชม..มีโอกาสจะไปเที่ยวชมกะเขามั่ง...ได้เวลาจะได้เป็นอิสระกวิทยานิพนธ์แล้ววววววววววววค่ะพี่อาจารย์...15 ก.ค.นี้สอบ...ไอ้อ้อยจะเป็นไทยแล้ววววววววโยๆๆๆๆๆๆ

    • เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆเย้ ฉลองๆๆๆๆๆๆๆๆ อย่างนี้มันต้องเฉลิมฉลองกันหน่อยแล้วมั๊ง
    • ขอแสดงความยินดีด้วยล่วงหน้าครับ จะบอกหมู่มิตรและแฟนบล๊อกน้องคุณครูอ้อยเล็กนะครับ
    • อย่างนี้มันต้องปิดลานองค์พระแล้วฉลองข้าวหมูแดงสักจาน ตบท้ายด้วยของหวานไอสครีมลอยฟ้า ๑ ถ้วย กับข้าวหลาม ๑ กระบอก เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

    เรียนมาครบ..ทศวรรษ....10 ปี พอดีเลยค่ะ..เป็นนักศึกษาปี44 เขารับปริญญากันไปหมดแล้ว....ค่ะพี่อาจารย์....แต่ยังไงก็จบนะ...แม้เส้นทางที่เดินมาจะยากลำบากด้วยใจของเราเอง...ก็ถือว่าอึดสุดๆแล้วค่ะ(อิๆให้กำลังใจตัวเอง) เป็นนักศึษาใหม่ปี52ผ่องอำไพ..เธอจากมสธ.ไปไกลๆเลย...จบยากจริงๆยายคนนี้....อิๆๆอาจารย์ท่านเบื่อแย่แล้ว.....

    • ได้ยินเสียงของอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ดัง เย้ๆๆๆ เยๆๆๆๆ ทะลุมอนิเตอร์มาเลยคะ ทำให้ต้องแวะมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น =o)
    •  ขอแสดงความยินดีล่วงหน้าคะ พี่ครูอ้อยเล็ก
    • ใช้เวลานานกว่าเพื่อนคนอื่น วิชาการแน่นเปรี่ยะคะ =)
    • เอ่อ รอฉลองข้าวหมู กะของหวานโตยยยย คะ ^^"

                                            

    P....ยินดีเจ้า...งิๆๆๆๆตรงนี้เรียบร้อยแล้ว..จะไปฉลองกับพี่อาจารย์ น้องณัชพัชร์ด้วยน๊าและอีกหลายๆคน..เพราะพี่อาจารย์ท่านก็มีข่าวดีด้วยเช่นกันนิ...

    ขอแสดงความยินดีกับคุณครูอ้อยเล็กด้วยคน

    โรงเรียนนี้ "โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร" น่าสนใจมากๆ ขอบคุณอาจารย์ที่นำสิ่งดีๆมาแบ่งปันให้คนหนองบัวได้เรียนรู้ ดูจากการประเมินราคาที่ดินแล้ว ถ้าคุณครูวรินทร์ไม่ใช่คนที่รักการทำเกษตรจริงๆ เห็นท่าจะแปลงที่(ดิน)ให้เป็นทุน-เป็นเศรษฐีไปแล้วแน่เลย

    น้องคุณครูอ้อยเล็ก

    • ประสบการณ์ ความทรงคุณวุฒิ ผลงานที่ความริเริ่มและความสำเร็จที่แพร่หลายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การพัฒนาศิลปศึกษาของประเทศ เหล่านี้ พี่ว่าน้องคุณครูอ้อยเล็กเข้าถึงความเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงเลยปริญญาโทไปแล้วละครับ
    • เข้าใจว่าอาจารย์ที่ปรึกษาและทุกคนก็คงทราบ อยากส่งเสริมให้ครูและคนทำงานอย่างนี้ได้เพิ่มพูนความทรงคุณวุฒิทางวิชาการอย่างเต็มที่ คงรอเวลาทำงานตามเงื่อนไขของโปรแกรมให้ครบสมบูรณ์เท่านั้น
    • แต่พี่ดูเส้นทางการทำงาน ความมีบทบาท ความมีสปิริตที่ให้ลำดับความสำคัญแก่งานส่วนรวมและงานของคนอื่นก่อนตนเองแล้ว ก็นึกภาพออกเลยครับว่าอะไรทำให้ใช้เวลาไปถึง ๑ ทศวรรษ

     

    อาจารย์ณัฐพัชร์รอฉลองข้าวหมู !!!

    • งั้นผมขอกินแต่รำกับผักบุ้งหั่นฝอยๆต้มเปื่อยๆนะครับ ฟันไม่ค่อยดีแล้วน่ะครับ ฮ่าาา
    • ที่หน้าองค์พระ ริมคลองเจดีย์บูชา ถิ่นโรงเรียนเทศบาลนคร นครปฐมของน้องคุณครูอ้อยเล็กนี่เขามีร้านข้าวหมูแดง ลูกชิ้นหมู และหมูแผ่นที่ขึ้นชื่อมากครับ
    • แต่ลองกินข้าวหมูก็แปลกดีครับ 

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ไปเห็นแล้วก็คิดถึงเวทีคนหนองบัวโดยพลันเลยทีเดียวครับ
    • เลยต้องรีบเอามาฝากครับ
    • แต่จะขออนุญาตชาวหนองบัวไว้ด้วยนะครับว่าผมจะขอนำไปเรียบเรียงเผยแพร่ไว้เป็นหัวข้อย่อยจำเพาะอีกครับ
    • อยากร่วมเผยแพร่การพัฒนาการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้อย่างนี้ให้มากยิ่งๆขึ้นด้วยครับ
    • ความรู้ที่ย่อยและสร้างความเข้าใจในเรื่องที่อยู่ในโลกประสบการณ์อย่างนี้ คนหนองบัวและชาวบ้านทั่วไปนำไปใช้เป็นแนวการดำเนินชีวิตได้ง่ายครับ 
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท