เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน          เวทีนี้เป็นเวท...
มีต่อ

ปลดแอก-บิดแอก-สลัดแอก : บทพิสูจน์เบื้องต้นเมื่อควายต้องการอิสระ(ควายก็มีหัวใจนะ)

ปลดแอก บิดแอก สลัดแอก หนึ่งในสามคำนี้ถ้าใช้ในทางรัฐศาสตร์จะมีนัยในความหมายที่ไม่สู้ดีนัก บ่งบอกได้ว่าบ้านนั้นเมืองนั้น รัฐนั้นมีการปกครองที่ไม่ให้เสรีภาพแก่บุคคล กดขี่ ควบคุมเข้มงวด  ขาดอิสรภาพทางความคิด ไม่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงออก ปิดกั้นความคิด

ขบวนการปลดแอก คำนี้เมื่อสักสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ถูกใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายแห่งรัฐ บางรัฐ มีทั้งรัฐไทย และอีกหลายรัฐในต่างประเทศ ทั้งหมดนั้น ต้องการอิสระ ต้องการความหลุดพ้นจากการขดขี่ เสรีชนทั้งหลายก็ชื่นชนยินดีเมื่อรัฐต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสามารถปลดแอกตัวเองออกมาสู่โลกเสรี  จนเกิดเป็นประเทศใหม่ๆ ในปัจจุบันมากมายดังที่เห็นๆ กัน แต่ก็โลกก็ยังมีประเทศที่ปลดแอกตัวไม่หลุด พอมีหลงเหลืออยู่บ้างในตอนนี้

ถ้านำคำสามคำนี้มาใช้ในวิถีคนบ้านนอก คนบ้านทุ่งก็จะมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง  กระบวนการฝึกหัดวัว-ควายของชาวบ้าน เมื่อวัว-ควายเริ่มเป็นวัยรุ่น โตพอจะใช้แรงงานได้ ประมาณว่าเป็นวัว-ควายตะกอ(เริ่มเป็นหนุ่ม เป็นสาว )ตัวผู้สังเกตได้จากพฤติกรรมที่ตอนยังเล็กๆอยู่จะติดแม่ ติดพี่น้อง เพื่อนฝูง แต่เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มตะกอๆ ก็เริ่มสนใจเพศตรงข้าม เริ่มแยกตัวออกจากฝูง ไปหาเพื่อนต่างเพศ ถ้าเจอตัวเมียที่เป็นช่วงเป็นสัตว์ ก็จะลืมพรรคพวก หญ้าเย่อชักไม่สนแล้ว  เมื่อก่อนอาจทำตัวเรียบร้อยน่ารัก ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นควายที่ดุ ดื้อ ไม่กลัวคน หรือเจ้าของด้วย ฉะนั้นควายตะกอเป็นหนุ่มแล้ว คนก็จะรู้และระวังตัว ไม่เข้าไปใกล้ อันตราย ส่วนควายตัวเมียก็สังเกตได้จากการเป็นสัตว์

การฝึกก็เริ่มขึ้นในช่วงนี้หรือก่อนหน้านี้เล็กน้อยก็ได้ ฝึกไถนา ฝึกเทียมเกวียน ฝึกคราดนา ตีขลุบ วัว-ควาย ฝึกยาก ฝึกง่าย อยู่ที่พฤติกรรมนิสัยเดิมของเขานั่นเอง พูดแบบชาวบ้านว่า วัว-ควายบางตัวนั้นพูดรู้เรื่อง ไม่ดื้อ ไม่รั้น ไม่โกง ฝึกง่าย ไม่กี่วันก็สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ คล่องแคล่ว ไม่ต้องกังวล  แต่บางตัวนี่ไม่ง่ายเลย กว่าจะฝึกสำเร็จจนใช้งานได้วางมือได้ ต้องเหน็ดเหนื่อย เล่นเอาเหงื่อตกไปตามๆกัน เช่น วัว-ควายที่ดื้อๆ เวลาฝึกเทียมเกวียน ทั้งคนที่จูงเดินนำหน้า นำทาง คนขี่-ขับเกวียน ต้องระวังอุบัติเหตุอย่างสูง ผิดพลาดเกิดอันตรายขึ้นได้ ถ้าเขามีนิสัยดื้อ การฝึกก็ยากตั้งแต่เบื้องตนมาเลย คือวัว-ควายบางตัวนั้นกว่าจะยอมให้แทงดั้งจมูกที่เรียกว่าสนตะพายได้ ก็ทำเอาเจ้าของต้องออกแรงอย่างมาก

ต่อมาก็ฝึกเทียมเกวียน ทั้งที่มีตะพายแล้วก็น่าจะง่ายในการจูงไปเทียมเกวียน แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้นจูงก็ยาก ไม่อยากเดินเข้าไปเทียมแอก คอยตะแบงออกด้านข้าง ต้องมีคนคอยช่วยดันตูดให้เดินกันเลยละ เมื่อเทียมเกวียนแล้วก็ไม่ยอมอีก ตอนนี้แหละที่เรียกว่าบิดแอก บิดแอกตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทาง ลูกแอกที่ทำจากไม้ไผ่หรือไม้จริง ไม้เนื้อแข็ง อย่างแข็งแรงนั้น เอาไม่อยู่หักได้ง่ายๆ บางตัวก็ไม่ยอมเดินอีก เทียมเสร็จก็วิ่งแน็บโกยอ้าว คนจูงเกือบหลบไม่ทัน ถ้ามีกรณีเช่นนี้  ควบคุมยากมาก ทางเกวียนมีอยู่แล้วแต่เจ้าวัว-ควายมือใหม่นี้ ไม่สนหรอก วิ่งลัดทุ่ง ปีนหัวคันนา วิ่งไม่ทิศทาง ด้วยพลังของความเป็นควายหนุ่มกำลังดี ทำเอาเจ้าตัวที่เป็นงานเป็นหลักที่นำมาเทียมคู่กันเพื่อให้คอยประคับประคองกันไปนั้นต้องวิ่งตามด้วย เพราะถูกลากจากตัวฝึกใหม่ เหนื่อยทั้งควายตัวที่เป็นงานแล้ว และคนฝึก บางครั้งถึงกับทวก(ธูป)เกวียนหัก ลูกแอกหัก ทามขาด สลักหัก แบบนี้ทั้งเหนื่อยทั้งโมโห ต้องมีอีกหลายยก หลายคาบ หลายชั่วโมงกว่าจะเป็นงานสำเร็จหลักสูตร

บางตัวก็เคยเจอชนิดที่เทียมเกวียนเสร็จแล้วนอนเลย ไม่ยอมลุก นอนคาแอกเกวียน ขี้โกงแบบนี้ ต้องค่อยปะเหลาะ พูดจาดีๆ อย่าตีให้เจ็บตัวเจ็บใจเป็นอันขาด

ฝึกไถนา การฝึกควายไถนานี่ต้องใช้ครูฝึกหนึ่งคน คนจับไถเดินตามหนึ่งคน คนเดียวไม่ได้แน่นอน คนหนึ่งเดินนำหน้า นำทาง เพราะควายฝึกใหม่ๆนี้ ถ้าไม่มีครูฝึกเดินนำ แล้วแกจะเดินมั่วไปหมดหาร่องหารอยไถไม่พบไม่เจอ รอยไถมีอยู่แต่เขาไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปตามนั้น คนเดินนำก็ต้องระวังตัวบ้าง เพราะเขาจะเดินเร็วอาจเหยียบส้นเท้าครูฝึกได้ถ้าเผลอ หรือไม่ก็จะโดนควายหัวชนก้นได้เหมือนกัน กว่าเขาจะจำร่องรอยไถ แล้วเดินปล่อยหน้าได้ก็หลายวันทีเดียว

วันหนึ่งต้องไถนาหลายชั่วโมง เริ่มไถตั้งแต่เช้าก่อนตะวันขึ้น ก่อนกินข้าวงาย จนไปถึงใกล้เพล แดดร้อนมากควายเหนื่อยจนหอบ น้ำลายฟูมปาก หายใจฟืดๆ คนก็เหนื่อย ทั้งคนทั้งควายก็อยากหยุดพักเที่ยงเหมือนคนทำงานทั่วไปบ้าง เมื่อปลดแอก ปลดคอม ออกแล้ว คนและควายก็มีอิสระ ชาวบ้านจึงเรียกว่าปลดแอก

วัว-ควายฝึกใหม่มักจะตกใจ ตื่นกลัวเหตุการณ์ที่ตนประสบ จึงคอยจะวิ่งและใช้แรงมาก ก็เลยเหนื่อยเร็วเหนื่อยมาก หอบจนลิ้นห้อย(ขี้แตกขี้แตน-ขี้เรี่ยขี้ราด)ก็มี

จริงๆแล้ว วัว-ควายนั้นส่วนใหญ่เลยจะนิสัยดี เลี้ยงง่าย พูดจารู้เรื่อง ใช้งานได้อย่างสบายใจ เป็นที่รักของเจ้าของ ชาวนาจึงมีความผูกพันรักใคร่วัว-ควายเหมือนลูกเหมือนหลานตัวเองอย่างไง อย่างงั้น ที่มีดื้อบ้างก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากๆ

ชีวิตบ้านทุ่งหนองบัว เมื่อปลดแอกแล้ว ก็สบาย มีอิสระ การดำเนินชีวิตถ้าไม่ติดแอก ติดหล่ม  ติดโลกมากจนเกินไป  ชีวิตก็จะเบาปลอดโปร่ง มีสุขได้ตามอัตภาพ ด้วยประการฉะนี้ เอวัง.

เลยขอนำเอาภาพควายปลดแอกแล้วมาร่วมประกอบเรื่องราวด้วยครับ ไปกันได้พอดีอย่างยิ่งเลยทีเดียว

                            Buffalo 

                                                                                                ชื่อภาพ : ควายตัวสุดท้ายของสาคลี
                                                                                                เทคนิค :
สีน้ำบนกระดาษ
                                                                                                ผลงาน :  วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ๒๕๓๙

ภาพนี้เป็นภาพควายที่ปลดแอกแล้วเหมือนที่พระคุณเจ้าบันทึกถ่ายทอดไว้ในหัวข้อ ปลดแอก-บิดแอก-สลัดแอก : บทพิสูจน์เบื้องต้นเมื่อควายต้องการอิสระ(ควายก็มีหัวใจนะ) แต่ตอนนั้นผมนึกไม่ออกว่าควรจะเรียกว่าอย่างไร จะเรียกว่าปลดระวางก็ดูเหมือนกับเป็นเรือหรืออะไรสักอย่างที่เลิกใช้งานแล้ว เมื่อได้เห็นก็ทำให้ตระหนักว่าชุมชนเกษตรกรรมตามแแหล่งต่างๆของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ใช้ควายและการผลิตในวิถีชุมชนที่จะสามารถพึ่งตนเองได้เหมือนอย่างเดิม ต่อไปควายหรือวิถีชีวิตที่มีความเป็นตัวของตัวเองของชุมชนไทยก็จะพบเห็นได้ยากมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เลยให้ชื่อไว้ว่า : ควายตัวสุดท้ายของสาคลี[Click here] พอเห็นเรียกควายปลดแอกนี่ก็เป็นสภาพเดียวกันเลยครับ แต่เป็นมุมมองคนละด้าน เพราะปลดแอกอย่างที่พระคุณเจ้านำมาแบ่งปันนี้เป็นควายที่เพิ่งหัดงาน ส่วนปลดแอกในรูปเขียนนี้เป็นการปลดแอกเมื่อหมดภาระงาน ทั้งสภาพสังคมเปลี่ยนไปและเจ้าของเขาให้ความเป็นอิสรภาพ ปลดแอก ปลดเชือกสนตะพาย

เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์

ขออนุญาตปรึกษาอาจารย์ที่เวทีคนหนองบัว ก่อนอื่นที่หยุดเงียบหายไป ไม่ได้ท้อแท้หรือล้มเลิกที่จะลงมือทำงานหรอกโยมอาจารย์ อาตมาภาพไปปฏิบัติภารกิจทำกระบวนการเวทีส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับนักเรียนโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล จังหวัดพิษณุโลก เล่นเอาพระวิทยากรบรรยาย แบบเมื่อยมือไปเลย เพราะนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กพิเศษ พิเศษจริง ๆ (ทั้งพิการ หูหนวก เป็นใบ้ และออทิสติก) แต่ก็สนุกดี เป็นกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทั้งคณะครู นักเรียน และพระวิทยากร

อาตมาใช้กระบวนการเวที จัดแบบ ผังมโนทัศน์ หรือ mind mapping แบบทดลองดู(แผนภาพยังโหลดส่งไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เป็น member)

อาตมาภาพพิจารณากรอบแนวคิดและความเข้าใจตามประเด็นดังกล่าว ไม่ทราบว่า อาตมาภาพเข้าใจถูกหรือไม่

การวิจัยแบบมีส่วนร่วม คือเป็นกระบวนการเรียนรู้ และแสดงหาคำตอบอย่างเป็นระบบ และมีเหตุผลที่สามารถพิสูจน์วัดและอธิบายได้อย่างมีเหตุผล

การมีส่วนร่วม (participation) เครือข่ายทางสังคม(social network) เครือข่ายการเรียนรู้  (network of learning)กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม(social learning)

สามารถเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยอธิบาย พัฒนาขั้นต่อไปได้หรือไม่ โยมอาจารย์ กรุณาช่วยชี้แนะด้วย

ขอเจริญพร
พระอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

  • หัวข้อเรื่องที่กล่าวมานั้น หากพระคุณเจ้าสนใจศึกษาก็สามารถค้นหาศึกษาได้จากคุณครูกูเกิ้ลได้หมดละครับ
  • แต่ยังไม่เห็นว่าจะเชื่อมไปยังประเด็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้อย่างไรเลยนะครับ
  • ลองว่าไปเรื่อยๆก็ดีครับ อย่างน้อยก็ได้ทบทวนและทำงานความคิดไปด้วย
  • ใช้ปรัชญาคนอินเดียครับที่ว่า ชกและปล่อยหมัดเยอะก็มีโอกาสถูกเยอะ
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

เตาสามเส้า :  วิถีการทำกินและกรรมวิธีการประกอบอาหารด้วยเตาไฟของชาวบ้านทุ่ง

เตาสามเส้า เป็นเตาฟืนในสมัยก่อนโน้น ด้วยการนำก้อนหิน ก้อนดินที่ปั้นจากดินเหนียวที่มีรูปร่างปลายแหลมคล้ายเขาควาย จำนวน ๓ ก้อน มาวางบนพื้นดินให้ได้ระยะห่าง ที่พอดีกับก้นหม้อ /ปี๊บ /กระทะ เป็นมุมสามมุม ทั้งสามด้านโล่ง ทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกรอบทิศทาง

การใช้งาน  นอกจากเตาอั้งโล่ที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ยังมีการใช้เตาสามเส้าประกอบอาหารในการดำเนินชีวิตประจำวัน และใช้ในงานประเพณี งานตามฤดูกาลของชาวบ้านหนองบัวอีกด้วย เช่น ใช้เตาสามเส้า ตั้งปี๊บต้มข้าวหมู(ไม่รู้จักหัวอาหารสัตว์แบบสำเร็จรูป /อาหารหมูพื้นบ้านเมื่อก่อนมีหยวกกล้วย,ผักบุ้ง,ผักโขม-ปลายข้าว,รำข้าว)

ถ้าทำอาหารกินตามท้องนา ท้องไร่ ตามป่าเขา นิยมนำก้อนดินก้อนหินมาทำเตาสามเส้า เพราะสะดวก หาง่ายไม่ยุ่งยาก หรือตามห้างนาชาวบ้านหนองบัวจะนำก้อนหินจากเขาพระ เขามรกตมาทำเตาสามเส้าไว้ใต้ถุนห้างแบบถาวรเลย  อีกงานหนึ่งที่ใช้ประจำคือเลี้ยงควาย บางแห่งหาก้อนดิน ก้อนหินไม่ได้ ก็จะนำไม้มาทำเตาสามเส้าแทน คือหากิ่งไม้สด ๆ ขนาดกำรอบ/เท่าด้ามมีดยาวคืบกว่า ๆ มาปักลงดินเป็นสามมุมระยะห่างพอดีกับก้นหม้อ ร้อยเปอร์เซ็นต์อาหารมื้อเที่ยงนี้ก็จะเป็นแกงพริกเกลือนั่นเอง

งานประเพณีต่าง ๆ ของชาวหนองบัวที่ใช้เตาสามเส้า ทั้งงานบวชนาค ทำขนมจีน งานแต่งงาน ทำขนมนางเล็ด  ขนมนางว่าว  ทำข้าวเกรียบ คั่วพริก คั่วข้าวคั่ว งานบุญขหน่มห่อ(บุญเข้าพรรษา) งานบุญข้าวเม่า(ทำกระยาสารท) คั่วข้าวเม่า คั่วข้าวตอก งานเหล่านี้ทำของกินเป็นจำนวนมาก จึงต้องอาศัยใช้แรงงานคนช่วยกันทำเป็นกลุ่มก้อนร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่ต้นจนจบสิ้นกระบวนการ

เตาสามเส้า เป็นของใช้ในครัวเรือนกับชีวิตคนบ้านนอก ที่มีความสำคัญ และได้แสดงบทบาทรับใช้ชาวบ้านทุ่งอย่างดีเสมอมา.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ครับ

                      

  • เตา ๓ เส้าที่ทำจากก้อนดิน พอใช้เสร็จหลังหน้าทำนา ก็สลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินอยู่ตามปลวกหรือห้างนาเลยนะครับ เป็นการดัดแปลงวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น
  • เลยเอารูปวาดเตาหลุมและต้องก่อ ๓ เส้าที่ปากเตา มาเป็นภาพประกอบด้วยนะครับ เตาแบบนี้ต้องขุดหลุมดินแล้วจึงตั้ง ๓ เส้าไปด้วย ใช้กับกะทะใบบัว สำหรับทำขนมจีน กระยาสารท และกวนเข้าทิพย์

ที่บ้านไร่พนมทวนผมยังมีครกและสาก แต่กะทะใบบัวหายไปเสียดายมากกกกก

  • เพิ่งเหลือบไปเห็นครับ
  • นี่บล๊อกของเวทีคนหนองบัว มีคนคลิ๊กเข้าชม ผ่านหลักพันแรกของหมื่นคลิ๊กที่สองแล้วนะครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ
  • แถวบ้านผมก็พอจะเหลืออยู่ครบครับ
  • แต่ก็แทบไม่ได้ใช้กันอย่างทั่วไปเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้วครับ

ผ่าหมาก : ทักษะและความชำนาญเฉพาะทางของคุณยาย-คุณตาชาวบ้านทุ่ง

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านทุ่งทั้งหลายไปไหนมาไหนก็แล้วแต่ มักจะมีห่อหมาก,ถุงหมาก,กระทายหมาก,เชี่ยนหมากติดตัวไปด้วยเสมอ ๆ ถ้าวันไหนเกิดลืมขึ้นมา ไม่ได้นำหมากไปด้วย หรือหมากหมด เป็นเรื่องแน่เลย จะทำงานอะไรต่าง ๆ ดูขาดความกระชุ่มกระชวย

ผู้สูงอายุที่กินหมากเป็นประจำ ชนิดหมากขาดปากไม่ได้  ถ้าไม่ได้กิน ก็จะเกิดอาการหงุดหงิด เมื่อหิวหมากมาก ๆ มักจะได้เสียงหาวว๊อด ๆ ซึ่งเป็นเสียงของผู้ขาดหมากหรืออดหมาก หรือหิวหมากนั่นเอง

ที่หนองบัวคนกินหมากมักเป็นผู้สูงอายุ หนุ่มสาวไม่นิยมกินหมาก จะเริ่มกินก็หลังจากแต่งงาน มีลูก และมีอายุมากขึ้น

ผลของหมากหรือลูกหมากนั้นมีผิวเกลี้ยง ลูกหมากสด ๆ ผ่าง่าย ส่วนลูกหมากแห้งผ่ายาก เมื่อจะกินเนื้อใน ก็ต้องผ่าโดยใช้ตะไกรหนีบเพื่อเอาเนื้อใน หากหนีบหรือผ่าไม่ตรงกึ่งกลางลูกหมาก หมากก็จะลื่นหลุด วิธีที่ได้ผลดีคือหนีบหรือผ่ากึ่งกลางลูก ด้วยกรรมวิธีอย่างนี้เลยเรียกว่า ผ่าหมาก

เด็ก ๆ หรือคนที่กินหมากไม่เป็น เมื่อเห็นผู้ใหญ่หนีบหมากอย่างชำนาญ คล่องแคล่ว กินหมากไปคุยกันไป ผ่าหมากไปด้วย ก็จะนึกว่าทำง่าย ๆ จึงลองทำตามผู้ใหญ่ดูบ้าง  ตะไกรหนีบหมากมีคมด้านเดียว อีกด้านสำหรับวางลูกหมาก เมื่อมีคนไม่เคยทำ จะลองทำดูคนโตก็จะสังเกตการจับลูกหมาก จับตะไกร ถ้าเห็นว่าพอจะทำได้ก็แค่เตือนว่าให้ระวังตะไกรหนีบมือ แต่ถ้าเห็นบางคนจับตะไกรแล้วน่าจะเกิดอันตรายขึ้น ก็จะห้ามไม่ให้ทำ เพราะถ้าทำมักไม่พลาดคือตะไกรหนีบมือเลือดพล่านทุกราย นี่ก็เป็นของใช้ประจำวันของชาวบ้านทุ่งอีกอย่าง ที่ผู้ใช้มีทักษะอย่างมาก

จำได้ว่าที่หนองบัว ตอนเป็นเด็กผู้เขียนไม่เคยเห็นลูกหมากสดเลย เห็นมีแต่ลูกหมากแห้ง และหมากที่ผ่าแล้วเป็นแว่นๆ(ไม่ทราบเรียกแว่นหรือเปล่า-กินไม่เป็นด้วย)

ผ่าหมาก ถ้าใช้ในความหมายทั่วไปก็จะไม่เกี่ยวกับคนกินหมากเลย เช่น นักแสดงชาย แสดงละคร ในบทก็จะมีคิวเตะต่อยด้วย ฉากที่ซ้อมกับดาราหญิง ถึงตอนเตะต่อยเพื่อความสมจริงเธอก็เตะต่อยอย่างสมบทบาท เกิดผิดคิวขึ้นมา ไปเตะผ่าหมากพระเอกเข้า เล่นเอาพระเอกของเรา ตัวงอ  หน้าเขียว เสียวสันหลัง จุก หมดแรงไปหลายนาที.

นมัสการพระอาจารย์มหาแล

สวัสดีพี่อาจารย์และเหล่าพี่น้องชุมชนคนหนองบัว....

การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์คณะกรรมการให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข..ค่ะ..ก็ต้องดำเนินการอย่างรีบเร่งค่ะ...ขอบคุณทุกกำลังใจนะคะ...เอาภาพพิมพ์บัวของอ.วัชรี วงศ์วัฒนอนันต์อาจารย์สอนภาพพิมพ์ของครูวัชรี ค่ะ...

 

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ในรูปการทำกระยาสารทมุมบนซ้ายของภาพผมก็มีรูปตั้งวงผ่าหมากและปาร์ตี้หมากกันของกลุ่มคนรุ่นปู่ย่าตายายที่มานั่งเป็นขวัญกำลังใจแก่ลูกหลานกันด้วยนะครับ การปลูกหมากพลู การตำและทำคำหมาก การม้วนยาฉุนและขี้โย หรืออย่างน้อยที่สุดการต้องหมั่นดูแลสีเสียด การเอากาบกล้วยหมักยาฉุนให้ฉุนได้ที่และไม่แตกร่วนเป็นฝุ่นผง และการดูน้ำในปูนกินหมากไม่ให้แห้ง เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เด็กๆและลูกหลานต้องหัดปฏิบัติดูแล เป็นการน้อมคารวะและแสดงออกถึงความเคารพ รู้สำนึกกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่และบุพการี

เมื่อก่อนเวลาผมกลับบ้าน ซื้อของกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่อย่างไรก็ไม่ถูกใจเท่ากับผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หมาก ทั้งหมากสดเป็นทลายและหมากแห้ง เมี่ยงและขี้โย พอไปถึงบ้าน ที่ชานบ้านก็จะกลายเป็นเวทีรวมญาติไปเลย การกินหมากและสูบยาในอดีตเป็นสื่อสานความผูกพันของสังคมชาวบ้านที่ต้องอยู่ร่วมทุกข์สุขกันอย่างหนึ่งเหมือนกันเลยนะครับ.

   สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก  

  • ในที่สุด หลังจากผ่านความเหนื่อยยากมานาน ก็มาถึงเส้นชัยอย่างงดงามนะครับ รู้สึกยินดีและดีใจไปด้วยมากเลยนะครับ
  • ภาพพิมพ์ของอาจารย์วัชรี อาจารย์ของคุณครูวัชรี-คุณครูอ้อยเล็กของเราภาพนี้นี่ ช่างงามและให้ความเป็นสมาธิ-ความสงบ ดีจริงๆเลยนะครับ
  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีงานสัปดาห์หนังสือ พี่ไปเตร็ดเตร่ดูความเคลื่อนไหวของงานสร้างสรรค์และงานความรู้ที่สะท้อนอยู่ในหนังสือจากทั่วโลก แล้วก็ไปเจอหนังสือดีๆหลายเล่ม เอามาอวดน้องคุณครูอ้อยเล็ก คุณณัฐรดา คอศิลปะและคอหนังสือให้ตาร้อนผ่าวก่อนสักเล่มสองเล่ม แล้วจะค่อยๆย่อยมาคุยให้ฟังนะครับ
  • ทั้งสองเล่ม ในทรรศนะของพี่แล้ว จัดว่าเป็นงานแนวบูรณาการพหุปัญญา Integration and Multi-Intellectualistic และ Transformative Learning งานแนวนี้ เป็นงานแนวข้ามโหมด ส่องทางกัน และสะท้อนซึ่งกันและกันข้ามกรอบ ข้ามพรมแดนความแตกต่าง มีอยู่เยอะเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมาน้อยมาก แต่ครั้งนี้เห็นหลายเล่ม ทำให้ตื่นเต้นมากครับ เลยหมดไปกว่าครึ่งหมื่น
  • วิถีพหุปัญญาบนงานศิลปะแนวนี้ จะเห็นวิธีชมงานศิลปะอย่างเข้าถึงความซาบซึ้งและสุนทรียภาพของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็อ่านภาษาศิลปะ ข้ามโหมดงานสร้างสรรค์ทางปัญญา ให้วิธีมอง วิธีวิเคราะห์ พิจารณา หยิบยืมวิธีการกันและกันไปมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจต่อโลกของสรรพสิ่งอย่างหลากมิติและรอบด้าน
  • ดูสีสันและภาษาองค์ประกอบของศิลปะ ------> แล้วเชื่อมโยงไปอธิบายสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ พัฒนาการทางเทคโนโลยี และสารพัดที่เป็น Transformative Learning ในอีกแนวทางหนึ่ง
  • เหมือนกับฟังเพลง----->แล้วเขียนถ่ายทอดเป็นรูป ดูรูป----->แล้วเขียนสะท้อนความคิดเป็นบทกวี อ่านบทกวี----->แล้วได้วิธีคิดแก้ปัญหาสังคมเชิงบวก เหล่านี้เป็นต้น
  • เป็นความรู้และวิถีปัญญาที่สามารถกระโดดข้ามโหมดทั้งวิธีการ ลักษณะข้อมูล ชนิดของประสบการณ์ เหมือนกับเป็นโรคปวดหัวแล้วหาวิธีเปลี่ยนขนาดรองเท้าเลยทำให้หายปวดหัว อย่างนั้นเลยทีเดียว

                        

  • เล่มแรก   Art Practice as Research : Inquiry in Visual Arts   การเขียนรูปและกระบวนการทางศิลปะเพื่อเป็น Entry-Point เข้าสู่พรมแดนความรู้และงานทางปัญญาในมิติอื่นๆ รวมทั้งการใช้วิธีทำงานศิลปะและกระบวนการศิลปะเพื่อวิจัยและสร้างความรู้ที่ลึกซึ้ง
  • เมื่อประมาณปี ๒๕๔๙ พี่และกลุ่มนักวิชาการสหสาขาของมหิดล เคยไปนั่งเวิร์คช็อปกันโดยผสมผสานความเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และศิลปะ เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เดียวกัน ต่อมาก็บันทึกแนวคิดและวิธีการ การพัฒนาการคิดคลี่คลายโดยวิธีการทางศิลปะ[*][คลิ๊กเข้าไปชมและอ่านรายละเอียดที่นี่] ทำหมายเหตุขึ้นกรอบและแนวคิดทดไว้ก่อน แล้วก็หาหนังสือและงานวิจัยอ่านเพื่อมาสนับสนุนแนวคิดกับวิธีการอย่างนี้ แต่ก็หาไม่ได้อย่างใจสักที เมื่อกว่า ๑๕ ปีก่อน เคยอ่านบทความและงานเขียนของต่างประเทศพอได้สะดุดความคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่กรุ่นอยู่ในใจได้บ้าง แต่ตอนนั้นก็เป็นงานเขียนที่เขาพยายามมองจากทรรศนะนักวิทยาศาสตร์สังคม ซึ่งก็มีข้อจำกัดด้วยขาดจุดยืนของคนทำงานศิลปะ
  • เล่มนี้เป็นอีกฟากหนึ่ง มีข้อจำกัดต่อทรรศนะจากมิติอื่น เนื่องจากเป็นการเดินออกจากกรอบตนเองของนักวิชาการศิลปะ มีข้อจำกัดต่อกรอบทรรศนะสาขาอื่นที่มองเข้ามายังศิลปะ
  • กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะยังขาดการมองเข้ามาจากทรรศนะของคนนอกความเป็นศิลปะ แต่ก็นับว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ของการเดินเข้าหาความเป็นเอกภาพความต่างกันของปัจเจกและสังคม ศิลปะไม่ใช่เรื่องศิลปะมิติเดียว ทว่า เป็น Entry-Point เพื่อสร้างความรู้อย่างเป็นระบบ เดินเชื่อมโยงไปหาทรรศนะและศาสตร์สาขาอื่น พร้อมกับในทรรศนะการเข้าใจและจัดความสัมพันธ์ในกรอบใหม่ๆที่งดงามและเติมเต็มแก่กันได้มากยิ่งๆขึ้น

                         

                        

                        

  • อีกเล่ม  Art : The Definitive Visual Guide  คอหนังสือและคอศิลปะเห็นแล้วต้องนั่งครางฮือๆเลยทีเดียว
  • โดยเนื้อหาแล้ว ควรจะเป็น Encyclopedia ทางศิลปะของโลกที่แยกเล่มได้สัก ๔๐ เล่ม ของ ๔-๕ ยุคสมัย ยุคละสัก ๑๐ เล่มย่อยๆ นับแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโบราณ ยุคศิลปะสมัยใหม่ กระทั่งความเคลื่อนไหวที่เป็นความก้าวหน้าทางศิลปะของทั่วโลก แล้วก็ผนวกตำราว่าด้วยหลักทฤษฎีทางศิลปะ กับการวิเคราะห์ทางศิลปะด้วยหลากหลายกรอบ
  • มีผลงานของศิลปินและจิตรกรทั้งหมดที่เราเคยรู้จักและไม่เคยรู้จัก รวมทั้งงานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่เป็นลายมือและจิตวิญญาณของสังคมต่างๆ ซึ่งรวมถึงของประเทศไทย กลุ่มประเทศอาเซียน และทุกอารยธรรมของโลก
  • ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในหนังสือหนาเตอะเล่มเดียว ความหนา ๖๑๑ หน้า ขนาดกระดาษ A3 เจียนขอบย่อมกว่าหนังสือมติชนสุดสัปดาห์นิดหน่อยเท่านั้น ภาพประกอบ ๔ สีบนกระดาษอาร์ตด้าน ๘๐ แกรม
  • เห็นขนาดนี้แล้วเลยได้แต่นั่งดู เปิดชม แล้วก็ลูบๆคลำๆอยู่เป็นนาน ไม่คิดว่าจะซื้อ และมั่นใจว่าไม่มีกำลังซื้อแน่นอนครับ เพราะเมื่อก่อนนี้ หนังสืออย่างที่พรรณามานี้ ควรจะเล่มละหมื่นกว่าบาท
  • แต่เจ้าของและพนักงานขายมาบอกว่า เล่มละ ๑,๙๐๐ บาท !!!! โดดใส่เลยสิครับ เหลืออยู่เล่มเดียวด้วย แล้วก็สั่งเข้าห้องสมุดให้ด้วย
  • เป็นงานเขียนที่ระดมนักวิชาการแนวนี้มาศึกษาค้นคว้า วิจัย และเขียนร่วมกัน ๑๒ คน Andrew Graham-Dixon เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา และมีบรรณาธิการร่วม ๔ คน เป็นหนังสือออกเมื่อปี ๒๐๐๘ หรือ ๒๕๕๑ เมื่อปีกว่ามานี้เอง
  • เปิดพรมแดนต่างศาสตร์ สรรพวิชา และมิติใหม่ๆของศิลปะ ความงาม ความดี ความจริง และสุนทรียภาพ ที่ต่างสะท้อนกันและกันในความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ของสังคมต่างๆทั่วโลก ข้ามยุคสมัยครอบคลุมกรอบเวลากว่า ๕,๐๐๐ ปี แทบจะข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลกจนเป็นของสากลที่ไม่ปรากฏเชื้อชาติและขอบเขตประเทศอย่างเจาะจงเลยทีเดียว
  • กระนั้นก็ตาม เป็นวิธีศึกษาและประมวลอารยธรรมและคลังปัญญาของโลกโดยใช้กรอบการพิจารณาอิงอยู่กับศิลปะยุโรป อเมริกา และสังคมโลกตะวันตก รวมทั้งวิธีวิเคราะห์โดยใช้ภาพรวมในภูมิภาคต่างๆของโลก เป็นแนวในการพิจารณา ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในการเห็นความหลากหลายในแง่มุมที่ต่างออกไป โดยเฉพาะศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ในการดำรงอยู่ของสังคมต่างๆ
  • แล้วจะค่อยๆย่อยมาแบ่งปันให้ฟังนะครับ คอศิลปะและคนทำงานแนวบูรณาการต้องชอบแน่นอน
พระอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ

เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์

อาตมาภาพจะขอปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับการใช้ทฤษฏีและแนวคิดวาทกรรม อำนาจ ความรู้ และการวิเคราะห์วาทกรรม ชองมิเชล ฟูโกต์  มาใช้เป็นกรอบแนวคิด

กรณีศึกษา : เวทีคนหนองบัวผ่านระบบจัดการความรู้เว็บไซต์โกทูโน

กรอบแนวคิดของอาตมาภาพ ประเด็นเหล่านี้เป็นไปได้หรือไม่ ในการศึกษาเวทีคนหนองบัว

เรื่อง : วาทกรรมการสร้างความรู้ อย่างมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัวและผลต่อการพัฒนา สื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่น

ประเด็นหลักของงานศึกษา “วาทกรรมการสร้างความรู้ สึกนึกรักท้องถิ่น” นี้มีความหมายที่จะวิเคราะห์ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัวและผลต่อการพัฒนาสื่อสาร เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่นนั้น แท้ที่จริงแล้วคือ รูปแบหนึ่งของการใช้อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ แฝงเร้นอย่างแยบยลในนามของ “ความรู้” ของศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อสร้าง/ยืนยันความชอบธรรม/เผยแพร่/ตอกย้ำ สิ่งที่ได้รับการเลือกสรรให้เป็นตัวแทน “เอกลักษณ์” ของ “สำนึกรักท้องถิ่น” อาทิ การใช้ความรู้ ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติชนวิทยา เพื่อยืนยันความจริงที่ว่าชุมชน แห่งนี้มีอดีตอันยาวนาน ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติของตนเอง

วัฒนธรรมที่ดีงามต่าง ๆ ยังคงได้รับการศึกษาสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วย “ทุนเดิม” ทั้ง “ทุนทางวัฒนธรรม” และ “ทุนทางสังคม” ที่ชุมชนมีอยู่ เพื่อได้รับการบริหารจัดการทรัพยากรความรู้

ผู้ศึกษาใช้แนวความคิดเรื่อง “วาทกรรม อำนาจ ความรู้ และการวิเคราะห์วาทกรรม” ของมิเชล ฟูโกต์ เพื่อเผยให้เห็นว่า กระบวนการสร้างความรู้รักท้องถิ่นอันประกอบด้วยองค์ความรู้ที่จะช่วยอธิบายและชี้นำการพัฒนาในอนาคตว่า คนในชุมชนบ้านนอก และชนบทจะเริ่มเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อให้โอกาสพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี่ที่ก้าวหน้า เอื้อประโยชน์ต่อคนท้องถิ่น
ขอเจริญพร
พระอธิการโชคชัย   ชยวุฑฺโฒ

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

  • นี่ต้องถือว่าคืบหน้าไปหลายก้าวเลยนะครับ
  • วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมนั้น โดยฐานคิดแล้ว เป็นแนวทฤษฎีการต่อสู้กันโดยวิถีที่สันติผ่านการรื้อและประกอบสร้างชุดความหมาย เพื่อให้ชุดใหม่เข้าไปทดแทนชุดเก่า
  • มองอย่างพระคุณเจ้ากล่าวว่าเป็นการต่อสู้เชิงอำนาจ ก็ต้องเรียกว่าต่อสู้กันด้วยวิถีทางความรู้และงานทางปัญญา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจและวิธีการต่อสู้ ปะทะกัน ที่ไม่ใช้ความรุนแรงแบบแข็ง (หมายความว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน)
  • เป็นแนวทางที่ดีสำหรับหลายเรื่องครับที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในพรมแดนต่างๆ ในบ้านเราก็มีคนใช้ศึกษาเรื่องต่างๆเยอะพอสมควรครับ
  • หากถามผมว่าจะใช้แนวการวิเคราะห์วาทกรรม ของมิเชล ฟูโกต์ กับเรื่อง วาทกรรมการสร้างความรู้ สึกนึกรักท้องถิ่น จากกรณีเวทีคนหนองบัว ว่าดีไหมหรือไม่นั้น ก็ไม่ควรจะตอบได้นะครับ เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยสนใจเรื่องอะไรก็ย่อมพัฒนาไปตามความสนใจนั้น ให้คนอื่นสะท้อนข้อเสนอแนะในแง่นี้ก็จะไม่เหมาะครับ หากชอบก็ต้องเดินต่อประมาณนี้เลยครับ.....

            (๑) ประเด็นการวิจัย วาทกรรมการสร้างความรู้สำนึกรักท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม กระบวนการก่อเกิด พัฒนาการ การดำรงอยู่ และความเปลี่ยนแปลง กรณีการจัดการความรู้เวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล๊อก gotoknow .....หรือจะอย่างไรก็ว่าไปครับ
            (๒) เหตุผล ความสำคัญ และความเป็นมา เป็นอย่างไร ?
            (๓) วัตถุประสงค์การวิจัยคืออะไร ? ๑ / ๒ / ๓ .......
            (๔) คำถามการวิจัย คืออะไร ......
            (๕) ระเบียบวิธีที่สนใจคือ การวิเคราะห์วาทกรรมนั้น Source of power อยู่ในรูปใดบ้าง กลุ่ม Power Play ในแนวคิดที่สนใจเป็นอย่างไรและมีอย่างไรบ้าง จะออกแบบ เลือกกลุ่มตัวแทน และกำหนดขั้นตอนสำคัญๆอย่างไร
            (๖) ทำแล้วจะก่อเกิดมรรคผลอะไรขึ้นมาบ้าง หรือผลที่คาดหวังคืออะไร
                  .....คิดและดึงออกมาแค่นี้ก่อนก็ได้ครับ

  • แต่ถ้าหากให้ผมสะท้อนไปตามแนวคิดผม จำเพาะในเรื่องการสร้างความรู้และการจัดการความรู้ รวมทั้งวาทกรรมเกี่ยวกับการสร้างความรู้ ในบริบทสังคมไทยนั้น ผมจะตอบอย่างฟันธงเลยละครับว่าไม่เหมาะครับ
  • เหตุผลแรกคือ วิธีวิเคราะห์วาทกรรม โดยเฉพาะในแนวทางของฟูโกต์นั้น ก่อเกิดและพัฒนาขึ้นในสังคมยุโรป ซึ่งความรู้ สื่อ การแสดงปาฐกถาตามเวทีสาธารณะ การไฮปาร์คในแหล่งสาธารณะ เขาแพร่หลาย ปฏิบัติกันในทุกกลุ่มสังคม รวมทั้งในปัจเจก คนชั้นกลาง เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่กับวาทกรรม ความรู้ ข่าวสาร และชุดความหมายที่หลั่งไหลท่วมท้นไปกับข่าวสารและพื้นที่ความรู้มากมาย
  • มี Stake holder หรือผู้เล่นกับอำนาจผ่านความรู้หลายขั้วความคิด หลายชุดความหมาย หลายช่องทางของการสื่อสาร หลายบริบท หลายคุณค่า หลายวิธีคิด หลายกรอบ และต่างก็มีพลังในการเคลื่อนไหวสังคม มีระบบและโครงสร้างปฏิบัติการต่อความเป็นสาธารณะที่เกื้อหนุนส่งเสริมพรักพร้อม การวิเคราะห์และสร้างวาทกรรมเพื่อให้ได้มิติความหมายที่ดีมากยิ่งๆขึ้นสำหรับรองรับความดำรงอยู่ของอีกชุดความหมายหนึ่งๆบนโครงสร้างเชิงอำนาจที่เสมอภาค เท่าเทียม ยุติธรรม เหมาะสม สมดุล จึงมีความสำคัญ
  • ทว่า ในสังคมไทยนั้น โดยเฉพาะในชนบทและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร อย่าว่าแต่จะมีความรู้และวิธีคิดหลากหลายมาต่อสู้ให้ทัดเทียมกันเลยครับ สร้างขึ้นมาให้เป็นความรู้เกี่ยวกับตนเองสักชุดเดียวในแต่ละชุมชนของประเทศ ก็แทบจะไม่มีแล้วครับ ยังไม่ทันจะสร้างให้พอมีความรู้และพอได้วาทกรรมที่เป็นความหมายเกี่ยวกับตนเองสักชุดสองชุดเลย ภาษาการวิจัยก็เรียกว่า ไม่มีความซับซ้อนหลากหลายพอที่จะให้ทำวิจัยได้ ดังนั้น แนวการวิเคราะห์ความสัมพันเชิงอำนาจโดยวิธีการแบบฟูโกต์จึงไม่เหมาะครับ แต่ผมก็เห็นการนำมาใช้ศึกษาในสังคมไทยอยู่บ้างพอสมควรนะครับ
  • เหตุผลที่สอง การวิเคราะห์วาทกรรมในทรรศนะผมนั้น ต้องมีแนวการสร้างความรู้เชิงวิเคราะห์และวิพากษ์อย่างเข้มข้น ต้องใช้วิธีคิดและกรอบทฤษฎีในการมองเป็นฐานการวิเคราะห์หลากหลายกรอบ ซึ่งบางเรื่อง โดยเฉพาะ การจัดการความรู้ นั้น แทบจะเป็นวิธีคิดที่อยู่นอกกระบวนระบบและวิธีคิดคิดดั้งเดิมของสังคมไทย ดังนั้น ก็จำเป็นต้องใช้ฐานทฤษฎีของต่างประเทศเป็นหลักมาวิเคราะห์วาทกรรม ซึ่งการศึกษาเรื่องที่เป็นตัวเองมากที่สุดด้วยสายตาของต่างประเทศ ก็บอกได้อยู่ในตัวเองแล้วละครับว่าคงจะไม่เหมาะสมเพียงพอแน่ๆ 
  • หากจะพิจารณาว่า ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ เป็นอำนาจและการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อกันของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องบนโครงสร้างเชิงอำนาจต่างๆ แล้วต้องการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการต่ออำนาจดังกล่าวนั้นแล้วละก็ ในทรรศนะผมสำหรับประเทศไทยแล้ว แนวคิดที่ทำให้เห็นตนเองและเห็นความสามารถพึ่งตนเอง พึ่งความรู้และได้ความหมายใหม่ๆแก่ตนเอง แล้วสามารถเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งบนความเป็นตัวของตัวเองได้มากยิ่งๆขึ้น ซึ่งก็เป็นพลังอำนาจอีกแบบหนึ่ง จะเหมาะสมกว่าครับ แนวนี้อาจจะออกไปทางการศึกษากระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการบริหารจัดการการมีส่วนร่วม
  • หากจะประยุกต์ใช้วิธีวิเคราะห์วาทกรรม ก็อาจจะนำมาวิเคราะห์ให้เห็นสำนึกและความรู้เกี่ยวกับตนเองที่พอมี ให้มีความหนักแน่นและเป็นระบบมากขึ้น เห็นสถานะของความหมายและการดำรงอยู่ รวมทั้งเห็นระบบและโครงสร้างเชิงอำนาจในการผลิต-ขับเคลื่อนสังคม ให้มีพลังเพียงพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในขอบเขตต่างๆได้ แต่วิธีการนี้ ศึกษาโดยการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีจากฐานประสบการณ์ชุมชน (Grounded Theory Research) และการวิจัยถอดบทเรียนชุมชน (Community-Based Research) ดูจะเหมาะกว่าครับ ได้สร้างทั้งความรู้ เรียนรู้ชุมชน สร้างชาวบ้าน และสร้างคนของชุมชน แต่ก็แล้วแต่ความสนใจนะครับ
  • คงพอได้แนวคิดนะครับ 

หัวปลวก

หนองบัวเมื่อก่อนนี้(สามสิบปีที่ผ่านมา) ตามหัวไร่ปลายนา จะมีหัวปลวกอยู่มากมายจริง ๆ โดยเฉพาะท้องทุ่งนาที่เป็นนาดินเหนียวมีมากเหลือเกิน ส่วนนาดินทรายนั้นเกือบจะหาหัวปลวกเอาไว้เป็นที่นั่งกินข้าวในฤดูทำนาไม่ได้เลย ในทุ่งนาดินทรายจึงมีห้างนาทุกเจ้า บางเจ้ากว่าจะสร้างห้างนาได้ต้องขุดดินมาถมให้สูงพ้นน้ำ 

หัวปลวกมีทั้งเล็กและที่ใหญ่มากๆ อันนาบางอันถูกหัวปลวกกินพื้นที่การปลูกข้าวไปอย่างมาก เพราะอันนาอันเดียวมีหัวปลวกจำนวนมาก เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์  จะมีบ้างที่หัวปลวกจะเป็นที่ที่ทำประโยชน์ได้ สำหรับปลูกผัก พืชประจำฤดูกาล เช่น หน้าฝน ก็จะปลูกพริก มะเขือ ฟักทอง ข้าวโพด แตงไทย แตงกวา กระเจี้ยบ ถั่วฝักยาว งา มันแกว มันเทศ และตามหัวปลวกก็จะมีพืช ผัก ที่ไม่ได้ปลูก แต่ขึ้นเองก็มี ตำลึงมากที่สุด ผักไห่ ผักหวาน บุก หน่อเอื้อง ไผ่ ไม้ใหญ่ต่างๆ สะเดา กุ่ม พุทรา ตะโก มะขาม มะขามเทศ(เจ้าของนาปลูก)ยอดรักนก  ต้นโทงเทง  ชงโค ต้นคูณ(คนสูงอายุได้อาศัยถากเปลือกคูณมาเก็บไว้กินกับหมากได้ตลอดปี)    

ตอนจ้างรถไถนา(ดะนาหรือไถแปร) นาใครที่มีหัวปลวกมาก ตอนวัดนา(พื้นที่นา)ต้องวัดคร่อมหัวปลวกทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่นาด้วย (ถ้านำพื้นที่หัวปลวกของนาทั้งแปลง บางเจ้านั้นน่าจะได้พื้นที่หลายไร่-แต่รถที่รับจ้างไถนาคิดเป็นพื้นที่นา-เจ้าของนาต้องจ่ายค่าแรงหรือค่าหัวปลวกด้วยนั่นเอง)

หน้าน้ำนอง น้ำท่วม น้ำหลาก พวกสัตว์จะหนีน้ำมาอาศัยอยู่ตามหัวปลวก เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง มด แมลงต่างๆที่มีพิษ และหัวปลวกในหน้าน้ำนี้ก็ใช้ประโยชน์ได้ด้วย เป็นที่ล่ามวัว ล่ามควาย บางครั้งน้ำท่วมมากๆก็ใช้หัวปลวกเป็นคอกควายด้วยเลย เพราะคอกควายเดิมน้ำท่วม

หัวปลวกใหญ่ๆรกมาก แล้วก็มีต้นไม้ใหญ่ๆขึ้นเต็มไปหมด จะดูน่ากลัวน่าเกรงขามไม่น้อย บางทีเดินผ่านไปใกล้ ๆ มีนกฮูก นกเค้าแมว ตกใจ กระพือปีกเสียงดังพึบพับ ทำเอาสะดุ้งใจหายวาบเลยแหละ หัวปลวกรกๆ ใช้เป็นที่ซ่อนเครื่องมือทำนาได้ เช่น ไถ คราด คอม ขลุบ ฯลฯ

หน้าทำนา ดำนาแช่น้ำนานๆ จนมือเท้าซีด เมื่อได้ขึ้นมานั่งพักเหนื่อยบนหัวปลวก เป็นการพักเอาแรง แม่ได้กินหมากสักคำ พ่อสูบยาหมดมวน เพียงเบรคน้อยๆแค่นี้ก็มีแรงดำนาได้ใหม่สบายๆ ถ้าน้ำน้อย ต้องวิดน้ำสาดน้ำขึ้นให้ถึงตีนหัวปลวกที่อยู่ไกลน้ำ เพื่อจะให้ดินเปียกจนดำนาได้ อย่างนี้ต้องวิดน้ำกันเหนื่อยหน่อย เหนื่อยจนซี่โครงบานเชียวแหละ

เมื่อถึงตอนเกี่ยวข้าว มันแกวที่ปลูกไว้บนหัวปลวกก็ลงหัวแก่กินได้พอดี ขุดมากินสดๆก็ชื่นใจดี  เวลาจ้างแขกเกี่ยวข้าว จะวัดเฉพาะพื้นที่นาที่มีข้าวเท่านั้น จะไม่วัดคร่อมหัวปลวกเป็นอันขาด ฉะนั้นตามหัวปลวกจึงมีเศษ พื้นที่เหลือจากการวัด เพราะต้องวัดให้เป็นเส้นตรง จะได้คิดพื้นที่ที่เกี่ยวข้าวจริงๆ ที่เหลือจึงเป็นมุมเป็นเศษ เจ้าของนาต้องตามไปเกี่ยวเอง

ชาวนาเมื่อก่อนได้อาศัยหัวปลวกปลูกผักไว้กินเอง ไม่ต้องซื้อหากับข้าว เมื่อไปนา ผักเหล่านั้นก็ไม่ได้ใช้สารเคมี เป็นผักปลอดสารพิษอีกต่างหาก ผู้บริโภคๆได้อย่างปลอดภัย เป็นวิถีง่ายๆตามธรรมชาติ พึ่งตนเองได้ เรียกว่าได้ทั้งเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีและลดภาระรายจ่ายในครอบครัวด้านเศรษฐกิจด้วย

ต่อมาหัวปลวกถูกไถทิ้งหมด ที่นาไม่มีที่ปลูกผัก ไปนาจึงต้องซื้อผักจากตลาด กินผักที่มีสารพิษ สุขภาพก็แย่หน่อย อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางไปนา(น้ำมันรถ-เมื่อก่อนขี่เกวียน ขี่ควาย เดิน)และค่าอาหารประจำวัน

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • เป็นสารานุกรมชายทุ่งเลยนะครับ
  • ตอนนี้ เขียนรวบรวมไว้อย่างนี้ไปก่อน เขียนไปตามความสะดวกตามอัธยาศัย ให้เป็นความสำเร็จเล็กๆ สะสมไว้
  • เมื่อมีโอกาสผมจะมาวาดรูปใส่ในแต่ละหัวข้อและเสริมการเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านที่ผมต่อเติมเข้าไปได้ให้อีกครับ
  • ก่อนที่จะแยกไปรวบรวมไว้ให้เป็นสัดส่วน ก็เขียนลงในนี้ไว้ก่อนอย่างที่คุณฉิกเคยเสนอแนะไว้ก็ดีครับ ที่หัวข้อนี้จะได้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ เมื่อจะแยกหมวดก็ดึงออกไปจากที่นี่แล้วไปทำเป็นหัวข้อย่อย วาดรูปใส่  ซึ่งอาจจะอยู่ในหัวข้อเฉพาะ
  • ความรู้พวกนี้ เมื่อรวบรวมให้รอบด้านและทำให้เป็นระบบ มีภาพประกอบให้สวยงาม ก็จะเป็นสารานุกรมและแผนที่ความรู้เกี่ยวกับชุมชนและท้องนา ทั้งปัจจุบันและในอนาคตก็จะเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ที่มีความหมายมากต่อการเรียนรู้ของลูกหลานคนรุ่นใหม่ครับ ความรู้ด้านอื่นก็มีความจำเป็น ซึ่งก็มีคนช่วยกันเขียนได้เยอะครับ แต่ความรู้เพื่อการรู้จักตนเองและผืนดินที่ตนเองได้ก่อเกิดเติบใหญ่นั้น ใครจะเขียนและจูงมือลูกหลานไปซาบซึ้งได้ดีเท่าชาวนาและคนของชุมชนเอง
  • เด็กๆและคนทั่วไปเห็นท้องนาก็คงรู้จักเพียงคันนาและต้นข้าว หรือภาพรวมๆ คงไม่รู้ว่าหากมีแผนที่ความรู้มากมายให้รู้จักโลกกว้างในผืนนา ปลวก ห้างนา รูปู รูหนู หนองน้ำ สระน้ำ .....ความรู้ที่เหมือนกับสารานุกรมประกอบภาพอย่างนี้ หากโรงเรียน พ่อแม่ หรือกลุ่มที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆหรือคนในสังคมเมืองที่ออกไปสัมผัสโลกกว้างในชนบท อยากทำให้ท้องนาเป็นห้องเรียนของนักสำรวจและนักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองของเด็กๆ ข้อมูลและความรู้แบบนี้ ก็จะเป็นทรัพยากรความรู้ให้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างนั้นได้เป็นอย่างดีเลยละครับ

ตอนนี้ กล่องนับจำนวนประเทศของผู้ที่เข้ามาอ่านและชมบล๊อกเวทีคนหนองบัวเต็ม ๒๐ ประเทศไปหลายสัปดาห์แล้ว เชื่อว่าระหว่างนี้คงจะมีผู้เข้ามาอ่านและชมนอกเหนือจาก ๒๐ ประเทศนี้อีก อาจารย์ณัฐพัชร์ มิตรทางวิชาการท่านหนึ่งของเวทีคนหนองบัว เลยกรุณาทำ Flag counter ให้เวทีคนหนองบัวใหม่ให้มากกว่า ๒๐ ประเทศ แต่พอติดตั้งใหม่ ข้อมูลและสถิติอันเก่าก็จะหายไป ผมเลยเสียดาย ตอนนี้กำลังศึกษาดูก่อนนะครับว่าใส่เข้าไปอย่างไรสถิติเก่าจึงจะไม่หาย และสามารถนับจำนวนต่อเนื่องไปได้เลย

อาจารย์ครับ รู้สึกมหัศจรรย์กับบันทึกมากๆ คนมาอ่านทั่วโลกเลย ผมเคยติด Flag counter ปรากฏว่าทางจีน เวียดนาม เอามาอ่านมาก มีนักศึกษาจีนส่งจดหมายมาด้วย แต่เขียนเป็นภาษาไทย ช่วงหลังได้หลายภูมิภาคแล้ว แต่มันมีไวรัสเลยเอาออกครับ ส่วนใหญ่จีน เวียดนามและคนอื่นๆเข้ามาอ่าน สำนวนไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีโครงงานภาษาอังกฤษครับ แบบนี้ครับ

http://gotoknow.org/blog/yahoo/16301

สำนวนไทยและอังกฤษ

http://gotoknow.org/blog/yahoo/46786

เกม เพลงภาษาอังกฤษด้วยครับ

http://gotoknow.org/blog/yahoo/28058

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัย
ขอถวายข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยนะครับ

  • ผมเคยซื้อหนังสือของฟูโกต์มาอ่านและศึกษา ทั้งที่เขาพิมพ์เผยแพร่ในต่างประเทศ ก็ที่แปลและตีพิมพ์เผยแพร่ในภาษาไทยอยู่บ้าง ก็พอจะเข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า วิธีวิเคราะห์วาทกรรมนั้น อาจใช้ไม่เพียงจำกัดอยู่ในแนว Power Relation Approach เพื่อนำไปสู่การหักล้างโครงสร้างเชิงอำนาจที่ไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้อง แล้วนำเสนอวาทกรรมชุดใหม่เข้าไปแทนที่ก็ได้นะครับ
  • แนวที่ไม่เน้นการรื้อและประกอบสร้างวาทกรรมชุดใหม่ ก็จะต้องมุ่งวิเคราะห์วิธีคิด ระบบคุณค่า ความหมาย และนัยสำคัญต่อการกระทำทางสังคม (Social practice Social action) รวมไปจนถึงการวิเคราะห์ระบบและโครงสร้างที่เป็นกลไกผลิตซ้ำความคิดและความหมายในชุดวาทกรรมดังกล่าว ซึ่งการศึกษาในแนวนี้ก็จะเรียกว่าเป็น Soft-Culture Structure
  • วิธีคิดของการศึกษาความคิด ระบบคุณค่า ความหมาย และการกระทำที่ให้ความหมายดังกล่าวมีผลทางการปฏิบัติ ของการศึกษาวาทกรรมในแนวนี้นั้น ก็เข้าใจได้ง่ายครับ คือ วางอยู่บนทรรศนะและความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความรู้และข้อมูลข่าวสารต่างๆนั้น ความหมายและความสำคัญของมันไม่ได้อยู่แค่ระดับตัวภาษาและถ้อยคำ แต่มาจากบริบททางสังคม กลุ่มกระทำปรากฏการณ์ทางสังคม ระบบ โครงสร้าง การปฏิสัมพันธ์ ความขัดแย้ง การต่อสู้ ซึ่งทำให้การวิเคราะห์วาทกรรมชุดหนึ่งๆ สามารถเข้าใจสังคม หน่วยทางสังคม และโครงสร้างความมีปฏิสัมพันธ์ที่ประกอบสร้างความหมาย ให้มุ่งไปสู่จุดหมายตามวิถีต่างๆในชุดของวาทกรรมนั้นๆ
  • หากจะวางแนวศึกษาในลักษณะนี้ ก็น่าจะได้นะครับ แต่จะต้องใช้วิธีการเชิงวิพากษ์และใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มาสนับสนุนมาก

สวัสดีครับท่านอาจารย์ขจิตครับ

  • ผมเองก็รู้สึกอัศจรรย์ใจมากครับ เปิดการรับรู้ให้แก่ตนเองหลายอย่าง
  • ตอนนี้ผมนึกถึงชุมชนทางความรู้และความมีจินตนาการร่วมกันผ่านข้อมูลและการเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนอำเภอหนองบัว ๔ กลุ่มครับ (๑) คนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วต้องการรักษาความใกล้ชิดและการติดต่อกับบ้านเกิด เมื่อเข้าถึงข้อมูลด้วย Search engine ก็มองเห็นเวทีคนหนองบัว (๒) ชาวต่างประเทศในต่างประเทศที่อยากเรียนรู้ประเทศไทยและคิดถึงประเทศไทย (๓) ชาวต่างประเทศในประเทศไทยซึ่งมีที่อยู่อินเทอร์เน็ตของตนเองอยู่ที่บ้านเกิดในต่างประเทศ (๔) ชาวต่างประเทศที่เป็นนักศึกษาโปรแกรมที่เกี่ยวกับประเทศไทยและสังคมไทย
  • แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ต่างก็ทำให้เป็นช่องทางหนึ่งที่คนหนองบัวและเวทีคนหนองบัวได้ร่วมทำหน้าที่เปิดสังคมไทยให้เชื่อมโยงผูกพันกับเพื่อนทั่วโลก การได้รู้จักประเทศไทยและลมหายใจของสังคมไทยในด้านที่เป็นเพื่อนร่วมโลกเดียวกันกับทุกคนจากทุกประเทศนั้น มีเรื่องราวของชุมชนหนองบัวเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปร่วมสร้างและสานความรู้จักกันไว้ ซึ่งถ้าหากมองเพียงด้านการทำสื่อเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์อย่างนี้แล้วละก็ คงต้องทุ่มทรัพยากรและลงแรงทำมากมายกว่าจะได้อย่างนี้ เวทีคนหนองบัวทำกันไปโดนไม่ได้วางจุดหมายไว้อย่างนี้ ทว่า ก็ก่อเกิดผลดีในลักษณะนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ใจมากครับ
  • ตามเข้าไปดูในลิ๊งก์ของอาจารย์แล้วครับ ทั้งน่าประทับใจและน่าอัศจรรย์ใจมากยิ่งขึ้นไปอีกนะครับ

เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์ขจิต

ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์ขจิตที่ได้มาเยี่ยมเวทีคนหนองบัว
คุณครูอ้อยเล็กนำสิ่งดีๆมาฝากเวทีแห่งนี้โดยตลอด
อาตมาตามไปดูกิจกรรมของอาจารย์ขจิตแล้ว ดูเหมือนว่าท่านจะไม่มีวันหยุดเลย ช่างมีพลังสร้างสรรค์มากจริง ๆ
ขออนุโมทนา

   Healthy Literacy Nong-Bua   

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ

เมื่อวานผมไปช่วยดำเนินรายการสนทนาสร้างความสุขและสุขภาวะของผู้สูงอายุ เนื่องในครบรอบ ๒๘ ปีของที่ทำงานก่อนหน้านี้ของผม คือ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มีกลุ่มผู้สูงอายุมานั่งคุยกันเรื่องเรียนรู้และปฏิบัติตนเพื่อดูแลตนเองทั้งในเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆตามความสนใจ ว่ากำลังทำในชุมชน ได้แนวคิด และบทเรียนต่างๆกันอย่างไร มีความสุขและได้ความงอกงามต่างๆเกิดขึ้นในส่วนที่เกิดจากการดูแลตนเองนี้อย่างไร

มีผู้สนทนาเพื่อนำการเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆกัน ๒ คน คือ พล.ร.ต.สัมพันธ์ ภู่ไพบูลย์ อดีตนายทหารราชนาวี ซึ่งเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุพุทธมณฑล และ ดร.สุทธิลักษณ์ สมิตตะสิริ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำโครงการรณรงค์สร้างสุขภาวะชุมชนด้วยเรื่องอาหารและการสร้างความเชื่อมโยงกันของกลุ่มพลเมืองสองวัย คือ กลุ่มผู้สูงอายุกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผมเป็นผู้ดำเนินรายการ แต่วิทยากรอีกท่านหนึ่งมาไม่ทัน อีกทั้งผมเองก็พอได้ทำกิจกรรมกับชาวบ้านพุทธมณฑลมาโดยตลอด รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ เขาก็เลยให้ทั้งดำเนินรายการและร่วมอภิปรายนำการสนทนาไปด้วย

มีตัวแทนของชมรมผู้สูงอายุจากดอนแฝก อำเภอนครชัยศรี และสมาชิกกลุ่มชาวบ้านคลองโยง ซึ่งเป็นตำบลอยู่ชายขอบอำเภอพุทธมณฑล มาร่วมด้วย ประเมินด้วยสายตาแล้วก็น่าจะมากกว่า ๕๐-๖๐ คน สถาบันเปิดห้องประชุมบอร์ด ต้อนรับและให้กลุ่มผู้สูงอายุได้นั่งสนทนากัน

เวทีได้คุยกันเรื่องความสุขของการเป็นผู้ให้ และการให้ก็ทำให้ผู้ให้กลายเป็นผู้ได้รับความสุขอย่างมากมายกลับมาด้วย คุยกันเรื่องความหมายของบ้านและความสุขที่กว้างออกไปสู่ชุมชนและผู้คนในอำเภอ วิธีเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุเพื่อให้ความรักความเมตตาแก่เด็กๆและคนรุ่นลูกรุ่นหลานในโอกาสต่างๆ การอาสาตนเองเป็นเครือข่ายอาสาป้านง สัญลักษณ์ผู้สูงอายุใจดีของอำเภอพุทธมณฑลซึ่งเป็นโครงการวิจัยและปฏิบัติการรณรงค์โภชนาการศึกษา โดย ดร.สุทธิลักษณ์ สถาบันวิจัยโภชนาการ และเครือข่ายชุมชน การสนทนาดำเนินไปอย่างอบอุ่น อวลด้วยความสุขและได้ความชื่นชมยินดีในทุกสิ่งต่อกัน เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน

ได้สัมผัสบรรยากาศเวทีดังกล่าวนี้แล้ว ก็เลยเห็นพลังของกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนสิ่งดีให้กันที่ก่อให้เกิดความสุข ความงดงาม ทำให้ผู้คนได้มีที่นั่งคิด คุยกัน หาความลึกซึ้งและแยบคายในชีวิตด้วยกัน เพื่อเดินกลับออกไปดำเนินชีวิตและทำการงานให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่สอดคล้องกับพัฒนาการที่กำลังปรากฏขึ้นในเวทีคนหนองบัว

ในเวทีคนหนองบัวนี้ โดยเฉพาะการได้มีเครือข่ายสื่อสารเรียนรู้ด้วยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมุ่งสร้างสุขภาวะและสร้างสิ่งดีให้แก่สังคม ซึ่งถ้าหากคิดจะทำให้ได้ผลอย่างนี้โดยการทำสื่อแจกจ่ายและทำโครงการเผยแพร่สื่อสาร สร้างการเรียนรู้แก่สังคม เพื่อให้รองรับความสนใจของคนท้องถิ่นและช่วยส่งเสริมการเปิดออกปสู่โลกกว้างของชุมชนเล็กๆในชนบท แม้นไม่มากนัก แต่ก็เป็นเครือข่ายเรียนรู้ที่แผ่ออกไปทั่วโลกได้อย่างนี้ ก็เชื่อว่าจะต้องใช้เงินและทรัพยากรอย่างมหาศาล อีกทั้งเชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ปรากฏในเวทีเล็กๆของคนหนองบัวนี้เป็นแน่ เลยขอนำมาเป็นชื่อหัวข้อนี้ของเวทีคนหนองบัว ให้สื่อสะท้อนลักษณะการพูดคุยกันในนี้ว่า Healthy Literacy Nong-Bua : เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว นะครับ

สวัสดีครับทุกๆคน

ไม่มีเวลาเข้ามาพูดคุยด้วยเลย

แต่ก็แอบเข้ามาฟังเค้าคุยกันอยู่ในนี้เรื่อยๆ

ช่วงนี้งานเข้าทั้งเรื่องการงาน และเรื่องของเตี่ยที่ล้มหัวน็อคพื้น ต้องเข้ารพ.ที่นครสวรรค์ผ่าเอาเลือดคั่งที่หัวออก

แต่ตอนนี้ออกมาอยู่บ้านที่หนองบัวแล้ว

เลยต้องวิ่งขึ้นๆลงๆกรุงเทพ-หนองบัว/นว.อยู่บ่อยๆ อีกไม่เกิน 1ชม.จากนี้ก็ต้องออกเดินทางไปหนองบัวอีกแล้วครับ

แค่นี้ก่อนครับ

 

ประวัติบุคคลสำคัญของชุมชนเมืองหนองบัว(๒)

 

พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ /พรมบุญ พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๙)

ต่อจากท่านแรกคือท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ.๖ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์-๒๔๓๘-๒๔๙๙) 

 

พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ /พรมบุญ พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๙)

อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปแรก(๒๔๙๙-๒๕๑๖)เป็นชาวหนองบัว เกิดที่บ้านใหญ่ หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองกลับ เป็นศิษย์หลวงพ่อคล้าย วัดพนมรอก อำเภอท่าตะโก โดยหลวงพ่อคล้ายบวชให้ และก็เป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมด้วย เป็นผู้นำชุมชนเมืองหนองบัวรุ่นแรก ๆ ที่ได้นำกลุ่มศรัทธาชาวหนองบัว-หนองกลับ ช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชุมชนไว้อย่างมากมาย เช่น เมื่อท่านเป็นเจ้าอาวาสได้กราบนิมนต์หลวงพ่อเดิม  วัดหนองโพ ให้มาเป็นประธานในการสร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิ บูรณะอุโบสถ วัดหนองกลับ

โดยเฉพาะศาลานั้นเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่เสาร้อยกว่าต้น เสาศาลาใหญ่ ขนาดโอบคนเดียวไม่รอบ การสร้างศาลาหลังนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชน ด้วยเป็นศาสนสถานที่มั่นคงและเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจยุคแรกในหนองบัว  การระดมรวมพลังคนสร้างเสนาสนะครั้งนี้ โดยใช้แรงศรัทธาคนทั้งเมืองร่วมกันทำ เลยต้องถือว่าเท่ากับเป็นการสร้างเมืองหนองบัวนั่นเอง

พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาเลื่อมใสแก่คนในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบจำนวนมาก จนคนทั่วไปนำชื่อของท่านไปเรียกเป็นชื่อวัดก็มี เช่น วัดหนองกลับ ก็เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อยเป็นต้น สิ่งที่หลวงปู่ท่านสร้างไว้ล้วนเป็นร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นที่มาแห่งความสามัคคีของคนหนองบัว

ประเพณีบวชนาคหมู่ท่านก็มีส่วนในการริเริ่มจัดขึ้นร่วมกับหลวงพ่อเดิม และประเพณีบวชนาคหมู่ที่ริเริ่มโดยหลวงพ่อเดิมนั้น ต่อมาหลวงปู่ท่านก็ได้สืบสานงานชิ้นนี้อย่างเข็มแข็งและต่อเนื่อง จนกระทั่งการบวชนาคหมู่ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำอำเภอในที่สุด

ท่านเป็นผู้มีอายุยืนยาว ดำรงอยู่ในสมณเพศเกือบ ๗๐ ปี ถึงแม้จะเป็นพระสงฆ์ก็ตาม แต่ท่านก็ถือคตินิยมแบบโบราณในการสร้างสรรค์ความดีตามยุคสมัยของสังคม โดยท่านได้บริจาคที่ดินของวัดให้สร้างสถานศึกษาซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของอำเภอหนองบัวอีกด้วย นั่นก็คือโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว) ทางด้านสาธารณูปโภคก็มีสระน้ำหลวงพ่ออ๋อยซึ่งมีจำนวน ๒ สระนั้น ก็กินพื้นที่ถึงเกือบยี่สิบไร่แล้ว  และสระน้ำแห่งนี้ก็เป็นแหล่งน้ำสำคัญของอำเภอหนองบัวที่คนทั้งอำเภอได้ใช้อุปโภคบริโภคกันตลอดมา

ศาสนสถานวัดวาอารามในอำเภอหนองบัวท่านก็ได้สร้างขึ้นใหม่และบูรณะของเดิมไว้หลายแห่งด้วยกัน การที่หลวงปู่ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนมาก ทำให้การเป็นอุปัชฌาย์ของท่านนั้นมีบทบาทต่อกุลบุตรอย่างมากทั้งในหนองบัวและจังหวัดใกล้เคียง โดยแต่ละปีจะมีผู้มาสมัครขอบพรรบชาอุปสมบทอย่างมากมาย เฉลี่ยเป็นรายปีไม่น้อยกว่าปีละ ๓๐๐ คน คนหนองบัวหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลานต้องผ่านการบรรพชาอุปสมจากท่านด้วยกันทั้งนั้น

แม้แต่ช่วงที่ท่านชราภาพแล้ว ทั้งสุขภาพไม่ค่อยดี มีปัญหาทางด้านสายตาด้วย ก็ยังมีผู้คนทั้งอำเภอมาบวชกับท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะคนรอบนอกอำเภอ จะนิยมมาบวชตอนเช้ามืด นาคต้องเตรียมตัวออกเดินทางจากบ้านกลางดึก ตีหนึ่ง ตีสอง ถึงวัดหนองกลับ ตีสี่ ตีห้า บวชเสร็จแล้วยังไม่สว่างเลย เหตุการณ์อย่างนี้(บวชเช้ามืด) ผู้เขียนยังไม่ได้ยินว่าที่อื่น ๆ จะมีเช่นนี้

 กรณีเช่นนี้นับเป็นความมีเมตตาธรรมและความเสียสละของพระเดชพระคุณหลวงปู่อย่างมาก ที่ท่านได้ทำหน้าที่ของสงฆ์อย่างองอาจ อาจหาญ อดทน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ชุมชน ประชาชน สังคม ฉลองศรัทธาปสาทะ อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต แม้แต่เมื่อสู่วัยชรา อีกทั้งมีปัญหาสุขภาพก็ตาม

หลวงปู่อ๋อยท่านมีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และทำสิ่งดีงามทั้งหลายไว้ในชุมชนเมืองหนองบัวมากมาย  โดยเฉพาะสิ่งที่ท่านสร้างไว้ที่เป็นวัตถุสิ่งของที่นับจำนวนได้ก็ต้องถือว่าท่านเป็นผู้นำชุมชนในยุคแรกที่ได้พัฒนาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากกว่าผู้ใดทั้งสิ้นในหนองบัว(ในช่วงชีวิตของท่าน) 

เราทั้งหลายซึ่งเป็นคนรุ่นหลัง เมื่อได้เรียนรู้ เห็นคุณค่า คุณประโยชน์และเกิดความซาบซึ้งในความดีงามเหล่านั้นแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพนับถือศรัทธาในองค์ท่านมากยิ่ง ๆ ขึ้น

 

หมายเหตุ รูปหลวงปู่อ๋อยรูปนี้ถ่ายเมื่ออายุ ๖๓ ปี (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕) ในงานทำบุญครบรอบ  ๖๓ ปี

 

พระมหาแล  อาสโย(ขำสุข) 

วัดศรีโสภณ  ตำบลวังทอ 

อำเภอวังทอง  จังหวัดพิษณุโลก

๑๔  กรกฏาคม  ๒๕๕๓ ผู้จัดเตรียมข้อมูล

 

 

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ผมได้นำข้อมูลของท่านหลวงปู่อ๋อยที่ท่าน หลวงอามหาแล ขำสุข อาสโย ได้ค้นหาข้อมูลมา ก็เลยถึงเอาเป็นของฝากวันเข้าพรรษานะครับ เข้าพรรษานี้ คนหนองบัวก็คงเตรียมจับจ่ายซื้อของมาทำขนมห่อ เพื่อแจกจ่ายให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ เป็นการลำลึกถึงพี่น้องอีกอย่างหนึ่ง สมัยก่อนถ้ากินไม่หมดก็จะนำมาตากแดดเพื่อไว้ทอดกินตอนนอนดำนา หากใครได้กลับบ้านหนองบัวอย่าลืมเอามาฝากกันบ้างนะครับ

เจริญพรคุณฉิก

ไม่ได้เข้าอ่านมาสองสามวัน เนื่องเพราะระบบอินเทอร์เน็ตมีปัญหานิดหน่อย
วันนี้อินเทอร์เน็ตใช้ได้ เข้ามาเห็นคุณฉิกพอดี นึกว่าไปธุระที่ไหนเสียแล้ว เห็นหายเงียบไปหลายวัน
ขอบคุณที่แจ้งข่าวเรื่องเตี่ยที่ไม่สบายให้ได้รับรู้กัน
ขอให้เตี่ยให้หายไวๆมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

 

 

เจริญพรคุณเสวก ใยอินทร์

หลวงอาขอขอบคุณคุณเสวกด้วย ที่ได้ช่วยนำภาพหลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ/พรมบุญ มาโพสต์ไว้ที่เวทีคนหนองบัวนี้ นี่นับเป็นภาพถ่ายบุคคลสำคัญในชุมชนเมืองหนองบัว ท่านที่สองที่ได้นำมาลงไว้ในเวทีแห่งนี้ ท่านแรกที่ได้นำมาลงไว้ก่อนหน้านี้คือท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ-อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์)

พูดถึงขหน่มห่อ(ขนมห่อ)หรือบุญขนมห่อของคนหนองบัวก็คือบุญเข้าพรรษานั่นเอง คุณเสวกบอกว่าทำขนมห่อเยอะๆกินไม่หมด นำไปตากแดด แล้วเอามาทอดกินในตอนดำนาเวลาไปเลี้ยงควายนั้น นึกตามแล้วเห็นภาพชัดเจนเลยแหละ นับไปนับมาเป็นเวลาสักสามสิบปีแล้วเหมือนกัน ที่หลวงอาไม่ได้กินขมห่อหนองบัว
บุญขนมห่อนี้เป็นกิจกรรมงานบุญใหญ่ของชาวหนองบัว-หนองกลับเลยทีเดียว
คุณเสวกและหลวงอาเคยเขียนถึงเรื่องบุญขนมห่อมาบ้างแล้ว ในเวทีคนหนองบัว ท่านใดสนใจก็ลองตามไปอ่านกันได้

ขนมห่อ

กราบนมัสการหลวงอามหาแล ขำสุขอาสโย สวัสดีท่า่นอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และทุกท่านครับ

เข้าพรรษานี้ผมเองไม่ได้กลับบ้านหนองบัว พอดีน้าเอาขนมห่อมาฝากที่กรุงเทพ เลยนำมาฝากที่เวทีนี้ให้ทุกๆท่านเลยนะครับ

อันที่จริงนี้อย่าว่าแต่หนองบัวเรานั้นที่ทำขนมห่อ ยังมีบ้านใกล้เคียงกับหนองบัว แถวๆออกไปทางวังตระกรู สำนักขุนเณร ห้วยพุก ก็ทำอย่างในช่วงเข้าพรรษาเช่นเดียวกับบ้านเราถ้าสืบสาวเหล่าเครือญาติก็ใช่อื่นไกลกันที่ไหน แต่ที่ทำกันมากก็เห็นจะเป็นหนองบัวนี่แหละครับ

ขหนมห่อนี้จะทำคลายกับขนมใส่ใส้ทุกอย่างเพียงแต่ ไม่นิยมใส่เตี่ยวใบตอง และจะไม่ใส่หน้ากระทิครับ

นมัสการ พระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล อาสโย และชาวชุมชนหนองบัวทุกท่าน

  • พร้อมกายกรรม วิจีกรรม และมโนกรรมอันเป็นกุศล ขอน้อมกราบนมัสการพระคุณเจ้าเนื่องพรรษากาลด้วยครับ
  • อ้างอิงกุศลกรรมทั้งมวลส่งความดีงามสู่ลานเวทีชุมชนหนองบัวครับ...

นมัสการ พระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัย และ สวัสดี ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ..

หากจะประยุกต์ใช้วิธีวิเคราะห์วาทกรรม ก็อาจจะนำมาวิเคราะห์ให้เห็นสำนึกและความรู้เกี่ยวกับตนเองที่พอมี ให้มีความหนักแน่นและเป็นระบบมากขึ้น เห็นสถานะของความหมายและการดำรงอยู่ รวมทั้งเห็นระบบและโครงสร้างเชิงอำนาจในการผลิต-ขับเคลื่อนสังคม ให้มีพลังเพียงพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในขอบเขตต่างๆได้ แต่วิธีการนี้ ศึกษาโดยการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีจากฐานประสบการณ์ชุมชน (Grounded Theory Research) และการวิจัยถอดบทเรียนชุมชน (Community-Based Research) ดูจะเหมาะกว่าครับ ได้สร้างทั้งความรู้ เรียนรู้ชุมชน สร้างชาวบ้าน และสร้างคนของชุมชน แต่ก็แล้วแต่ความสนใจนะครับ

อ้างอิง ความเห็ฯ 715

  • นับเป็นนิมิตหมายอันดีครับ  "เวทีหนองบัว" กำลังก้าวสู่ "กระบวนการวิจัย" ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการความรู้ และกระบวนการวิเคราะห์ที่ระบบ
  • กรอบทฤษฎี สนับสนุนแนว Grounded Theory Research ครับ... สด ดีครับ...

เจริญพรคุณเสวก

ขอบคุณคุณเสวกที่ให้ข้อมูลรายละเอียดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบุญขนมห่อ ทั้งข้อมูลชุมชนและบอกสูตรขนมห่อด้วย เลยทำให้นึกถึงบ้านห้วยร่วมอีกที่หนึ่ง คนห้วยร่วมส่วนหนึ่งก็โยกย้ายไปจากหนองบัว-หนองกลับ
บุญขนมห่อนี้เกี่ยวเนื่องผูกพันไปถึงกิจกรรมในการมีคู่ดอง(คู่หมั้น)ด้วย โดยปรกติเทศกาลบุญนี้ลูกๆหลานๆ ลูกสะใภ้หรือหญิงสาวที่มีคู่ดองที่เป็นชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับ จะนำขนมห่อที่ทำขึ้นเองไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อแม่สามี ถวายพระสงฆ์ และคู่ดอง
ฉะนั้นชายหนุ่มที่มีคู่ดองเมื่อถึงบุญขนมห่อคราใด ก็จะได้กินขนมห่อคู่ดองของตน แม้แต่คู่ดองบวชเป็นพระ เป็นหลวงพี่อยู่ที่วัดแล้วก็ตาม ก็ไม่พลาดที่จะได้ฉันขนมห่อจากคู่ดองนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อก่อนไม่มียวดยานพาหนะอะไร รถยนต์ก็ไม่มี การนำขนมห่อไปให้ญาติๆ ถวายพระ ให้คู่ดอง จึงมีวิธีเดียวเท่านั้นคือเดินหาบกระเช้าขนมห่อบ้าง หิ้วกระเช้าขนมห่อบ้าง ใครมีบ้านญาติอยู่ไกลๆก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องเดินหาบของไปไกล

วันสองวันก่อนทำบุญเข้าพรรษา จะได้เห็นคนหาบกระเช้าขนมห่อ หิ้วกระเช้าขนมห่อ ตามสอก ถนน หนทางในทุกหมู่บ้านเลยทีเดียว

 

ขนมห่อของคุณเสวก...น่าทานจัง...

เจริญพรคุณช้างน้อยมอมแมม

ขอบคุณคุณช้างน้อยฯอย่างมาก ที่แวะมาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวในเทศกาลงานบุญสำคัญเช่นนี้ ขอให้คุณช้างน้อยฯมีพลังใจในการสร้างสรรค์ ประสบแต่สิ่งที่งดงามในช่วงพรรษากาลและตลอดไป
ขออนุโมทนา

วันนี้ที่พิษณุโลกฝนตกแรงมาก พื้นดินชุ่มฉ่ำ อากาศสดชื่น เป็นบรรยากาศแห่งฤดูกาลเข้าพรรษา ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้พี่น้องชาวนาของเรามีความสุข จิตใจเบิกบาน สุขทั้งได้ทำบุญ สุขทั้งได้มีน้ำทำนา(สุขใจได้ทั้งนาบุญ และนาข้าว) 
ยิ่งเมื่อได้เห็นขนมห่อที่คุณเสวกเอามาฝากและคุณครูอ้อยเล็กได้นำมาโพสต์อีกด้วยแล้วมันให้อารมณ์เป็นช่วงฤดูหน้าดำนายิ่งนักเลยแหละ ทำให้นึกถึงท้องนาท้องไร่ นอนห้างกลางทุ่งนา ฟังเสียงฝนตกโปรยปรายฟ้าร้องครืนๆแสนเพลินใจ

พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และคุณโยมช้างน้อยมอมแมม

ขออนุโมทนาบุญที่คุณโยมได้ถวายความรู้ และมีข้อเสนอแนะอย่างเป็นกัลยาณมิตร เปรียบได้กับคำพุทธพจน์ที่ว่า “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง  ชินาติ” คือให้ความรู้เป็นทาน ชนะการให้ทานทุกอย่าง

สำหรับคุณโยมทั้งสองที่ได้สนับสนุนและมีข้อเสนแนะที่ดีให้กับอาตมาภาพมาตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการศึกษาด้วยตนเอง เรียกว่าเอาแบบปรัชญาคนอินเดียที่โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ แนะนำไว้ว่า ชกและปล่อยหมัดเยอะๆ

ขออนุญาตให้โยมอาจารย์วิรัตน์ช่วยบรรยายกรอบ/แนวคิด วิธีการศึกษาโดยการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฏีจากฐานประสบการณ์ชุมชน(Grounded Theory Research) และการวิจัยถอดบทเรียนชุมชน (Community-Based Research) ที่ต้องใช้วิธีการเชิงวิพากษ์ว่าเป็นอย่างไร และเราจะอธิบายให้ผู้อื่นรู้ได้อย่างไร

เพราะว่าทุนความรู้ด้านนี้ยังมีน้อย จึงขอให้โยมอาจารย์ช่วยสะท้อนข้อเสนอแนะ
และขออนุโมทนาบุญ ในการให้ความรู้ ของคุณโยมอาจารย์และโยมช้างน้อยมอมแมม
ขอให้สุขภาพพลานามัยแข็งแรง อย่าจน อย่าเจ็บ ด้วยเทอญ....เจริญพร
พระอธิการโชคชัย  ชยวุฑฺโฒ

 

คึกคักมากเลยครับ ขอกราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และขอร่วมสวัสดีทุกท่านครับ คุณช้างน้อยมอมแมม น้องคุณครูอ้อยเล็ก และคุณเสวก ใยอินทร์

  • มีการเข้ามาสนทนาของผู้ใช้นามว่าภูเขา สนทนากับคุณเสวกด้วยครับ
  • ทักทายกันเป็นภาษาถิ่นอย่างคนกันเองมาก แต่ไม่รู้ว่าคุณคนภูเขาไปได้ยินชาวบ้านในชุมชนแล้วนำมาพูดต่ออีกทีหนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นการทักทายที่แสดงความเป็นกันเองดีหรือเปล่านะครับ
  • คือ ในนั้นมันมีคำที่อาจจะไม่เหมาะสมน่ะครับ พูดกับคนกันเองและต้องสนิทกันมากๆพอได้ครับ แต่พูดทั่วไปโดยเฉพาะในสื่อสาธารณะอย่างนี้คงไม่เหมาะครับ เลยขออนุญาตลบออกไปนะครับ ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ หากไม่คิดมากก็ออกจะเป็นเรื่องขำๆด้วยซ้ำ เหมือนกับฝรั่งถูกสอนให้พูดว่า 'ขอบคุณฉิบหายเลย' แล้วก็นำไปกล่าวขอบคุณในโอกาสต่างๆ โดยเข้าใจว่าเป็นการขอบคุณเฉยๆ ทำนองนั้นแหละครับ ต้องขออภัยคุณภูเขามา ณ ที่นี้ด้วยเช่นกันนะครับ เข้ามาคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกเรื่อยๆนะครับ
  • ขอร่วมแสดงความทุกข์ใจกับฉิก ต่อการเจ็บไข้ของเตี่ยด้วยนะครับ รวมทั้งร่วมแสดงความทุกข์ใจกับรักษ์ พี่ชายของฉิก และพี่ๆด้วยครับ
  • ขอแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าพระอธิการโชคชัยด้วยครับที่สะท้อนว่าได้ประโยชน์สำหรับนำไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไป เป็นการสะท้อนให้เป็นกำลังใจแก่การพูดคุยและแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆในนี้ด้วยกันของเวทีน่ะครับ
  • อยากแนะนำให้สนทนากับคุณช้างน้อยมอมแมมต่อได้เลยครับ เข้าไปในบล๊อกของท่านโดยตรงได้เลยครับ เป็นมือวิจัยชุมชนแนวมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชุมชนตัวจริงท่านหนึ่งเลยครับ
  • แต่ว่าพระคุณเจ้าต้องขึ้นประเด็นที่เจาะจงและสะท้อนการเกิดประเด็นความสนใจจากการอ่านทบทวนทางวรรณกรรมเพิ่มขึ้นอีกครับ หากคำถามใหญ่ๆว่า วิธีการเชิงวิพากษ์ | การสร้างทฤษฎีจากฐานประสบการณ์ หรือ การวิจัยถอดบทเรียน ก็จะทำให้คุยกันได้ลำบากมากครับ จะกว้างและเยอะจนเหมือนกับการเรียนกันทั้งคอร์ส ซึ่งพื้นฐานลักษณะอย่างนี้ศึกษาเอาจากเอกสารหรือสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตก่อน แล้วจึงค่อยตั้งประเด็น หรือทบทวนข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ ความสนใจ และทรรศนะที่เรามีก่อนในเรื่องต่างๆ จากนั้นก็ผุดประเด็นและหยิบยกคำถามขึ้นมา เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จึงจะเหมาะสำหรับหารือกันในสื่อนี้ครับ
  • ขอให้ได้ความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆอยู่เสมอๆครับ
  • นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีค่ะพี่อาจารย์วิรัตน์และสมาชิกชุมชนชาวหนองบัว

    วันนี้31-10สิงหาคมโรงเรียนกีฬาไปแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนกีฬา โดยปีนี้จังหวัดนครสวรรค์เป็นเจ้าภาพจัดงาน..นักกีฬา โค้ต และแม่ครัวเดินทางกันในวันนี้ โดยพักที่โรงเรียน เทศบาล 2 ค่ะครูอ้อยเล็กจะตามไปในวันที่ 2 มีโอกาสอาจแวะกราบนมัสการท่านอาจารย์นะคะ..

    ชมรมเพาะช่างนครสวรรค์ก็เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมการรวมตัวกันอยู่เหมือนกันนะครับ เป็นกลุ่มนักธุรกิจ ครูอาจารย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์และสถานศึกษาในจังหวัด และคนทำงานสาขาต่างๆ มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและการทำสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมท้องถิ่น ให้เป็นโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ชีวิตสังคมท้องถิ่นบ้างเหมือนกันครับ

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็ก

    ต้องขอขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่แสดงความมีน้ำใจที่จะมาเยี่ยมเยียนอาตมาภาพ ถ้าจำพรรษาที่อำเภอหนองบัวคงมีโอกาสได้พบเจอกันได้ง่าย เพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนครสวรรค์มากนัก(ประมาณ ๗๐ กม.) 

    แต่ว่าตอนนี้อาตมาจำพรรษาอยู่ที่พิษณุโลก ซึ่งห่างจากนครสวรรค์ก็ร้อยสามสิบสี่สิบกิโลเมตรได้
    ชาวปากน้ำโพขอต้อนรับคณะนักฬาและทุกท่านด้วยความยินดี
    ขออนุโมทนากับคุณครูอ้อยเล็กด้วย

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    กราบนมัสการงามอีกครั้งค่ะในการกล่าวต้อนรับคณะนักกีฬาโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม ตอนนี้โทรศัพท์ไปหาน้องที่อยู่ครัว บอกเหตุการณ์เรียบร้อยดี พี่อ้อยไม่ต้องเป็นห่วง...

    วันนี้ตอนเที่ยงวัน ท่านเจ้าอาวาสวัดโคกสะอาด ตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัวมาเยี่ยมถึงที่วัด มีเวลาพูดคุยไม่นานนัก พอดีได้ปริ้นบทความในเวทีคนหนองบัวไว้หลายเรื่องด้วยกัน ก็เลยได้ถวายท่านไป และฝากถวายท่านเจ้าคณะตำบลวังบ่อด้วยหนึ่งชุด  
    บ้านโคกสะอาดนี้ห่างจากตัวอำเภอประมาณสิบห้ากิโลเมตร เด็กหนุ่มที่ขับรถมาด้วยกัน อายุแค่ยี่สิบกว่าปี คนวัยนี้หลายเรื่องก็ยังจำได้ ส่วนที่จำได้แม่นยำเลยก็คือไอ้เป๋หนองบัว เขาบอกว่ายังนึกถึงรายละเอียดที่อาจารย์วิรัตน์เล่าไว้ได้ดีอีกด้วย

    ที่บ้านโคกสะอาดติดอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่ไม่เคยได้ทราบเรื่องราวเวทีคนหนองบัวเลย ไหนๆที่บ้านโคกสะอาดก็มีอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็เลยบอกว่ากลับไปบ้านจะลองไปเปิดอ่านเรื่องราวชุมชนหนองบัวดูบ้างก็ได้ หรือมีอะไรจะพูดคุยสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลชุมชนก็สามารถเข้ามาเขียนได้ตามสะดวก

     ส่วนท่านสมภารยังหนุ่มอายุสามสิบกว่าปี แต่ก็ยังสามารถระลึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในภาพวาดได้เกือบทั้งหมด มีวงเวียนหอนาฬิกาสี่แยกตลาดหนองบัว แห่นาคหมู่ โรงไฟฟ้าเกาะลอย ท่านบอกว่าเกิดไม่ทัน

    สองท่านี้นับเป็นคนหนองบัวชุดแรกที่ได้อ่านข้อมูลชุมชนชุดนี้ ได้เห็นคนในท้องถิ่นเจ้าของเรื่องราวต่างๆที่มาเยี่ยมมีความสนใจ ก็รู้สึกดีใจไม่น้อยเหมือนกัน

    ตั้งใจว่าจะนำข้อมูลที่เขียนนี้ไปให้ญาติๆและพระผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ที่หนองบัวได้อ่านกันบ้าง ก็ยังไม่ได้นำไปให้สักที

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ขอกราบอนุโมทนาไปกับพระคุณเจ้าและชาวบ้านทั้งที่บ้านโนนสะอาดและคนทั่วไปของชุมชนหนองบัวเลยละครับ พระคุณเจ้ากำลังเป็นทั้งครูทางด้านจิตวิญญาณ และเป็นครูของชุมชนในการรณรงค์ให้คนหันมาเรียนรู้ตนเอง ใกล้ชิดกับการอ่านและการเรียนรู้ และหาหัวข้อคุยกันเพื่อสร้างความรู้ ช่วยกันทำอย่างนี้ให้หลากหลายมากขึ้น ผมว่าก็จะมีส่วนที่จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้มากยิ่งๆขึ้นของชาวบ้านอย่างไม่เคอะเขิน

    หากจะติดอินเตอร์เน็ตในชุมชน ไม่วาจะที่บ้านโนนสะอาดหรือในที่ไหน อย่างน้อยก็ในชุมชนหนองบัว ก็จะยิ่งมีตัวอย่างให้ก้าวเดินต่อยอดขึ้นไป ไม่ใช่มีแต่ระบบอินเทอร์เน็ตที่ว่างเปล่า ไม่กี่เดือนก็ล้าสมัยและไม่มีเงินมารักษาระบบ เข้าถึงความรู้และข้อมูลต่างๆได้รวดเร็วกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะไม่มีเรื่องของตนเองเลยแล้ว ก็ยิ่งพาปัญญาและการเรียนรู้ให้ห่างไกลออกจากชุมชนตนเองมากยิ่งๆขึ้น ซึ่งในเวทีหนองบัวได้ช่วยกันทำให้ชุมชนอำเภอของเราพ้นจากสภาพดังกล่าวนี้ไปแล้ว จึงขอร่วมอนุโมทนาในความบุกเบิกริเริ่มของพระคุณเจ้าและทุกท่านเป็นอย่งยิ่งครับ

    ตอนนี้ผมไปประชุมอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามครับ เป็นการประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ชาวบ้านได้ช่วยกันจัดประสบการณ์ชุมชนของตนให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของคนมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศด้วยครับ

    ทำให้ผมนึกถึงเวทีคนหนองบัวของเราครับ แลกเปลี่ยนสื่อสารและสร้างการเรียนรู้กับผู้คนได้อย่างกว้างขวางไม่น้อย แต่มีองค์ประกอบของการสร้างความรู้และการจัดการความรู้ที่น่าจะเป็นบทเรียนที่มีลักษณะหลายอย่างต่างออกไปจากประสบการณ์ของชุมชนอื่นๆ ซึ่งสักระยะหนึ่งคงจะสามารถหาวิธีสรุปบทเรียนดีๆออกมาเผยแพร่กันได้นะครับ

    พริกเกลือ : อาหารชุมชนอีกความมั่นใจหนึ่งของชุมชนเมืองหนองบัว

    พริกเกลือถือเป็นอาหารหลัก อาหารท้องถิ่นอาหารคู่ครัวไทยของ(คนหนองบัว-หนองกลับ)โดยเฉพาะเลยทีเดียว ที่ต้องกล่าวอย่างนี้ก็เพราะถ้าเรียกพริกเกลือแล้ว คนต่างถิ่นทั่วไปไม่รู้จักว่าคืออะไร แม้คนในท้องถิ่นอำเภอหนองบัวที่อยู่รอบนอกหมู่บ้านหนองบัวเองก็ตาม อาจยังมีที่ไม่รู้จักพริกเกลือ แต่คงรู้จักในชื่ออื่นๆ(เมื่อก่อนนี้)

    คนหนองบัว-หนองกลับใช้พริกเกลือปรุงอาหารในหลายรูปแบบ เช่น เป็นเครื่องแกงก็ได้ ขยำข้าวกินก็ได้ ใช้จิ้มผักแทนน้ำพริกก็ดี ใช้ประกอบอาหารประเภทหมกก็ได้เรียกว่า หมกพริกเกลือ การหมกพริกเกลือให้ได้รสชาติอร่อย ๆ ต้องมีบรรยากาศแบบลูกทุ่ง ๆ และต้องใช้ใบตองควงห่อด้วยจึงจะเข้ากันดี บรรยากาศลูกทุ่ง ๆ ดังกล่าว ก็คือนิยมทำกินกันในป่า เมื่อออกหาของป่า หาหน่อไม้ ตัดไม้เผาถ่าน เลี้ยงควายหน้าน้ำหลังฤดูทำนา หรือทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ทำไร่ถั่วลิสง ตามเขามรกต เขาพระ เขาสูงฯลฯ

    คนหนองบัว-หนองกลับเมื่อไปนา ไปไร่ ไปป่า ไปเขา เลี้ยงงัวเลี้ยงควาย หรืออยู่ตามท้องทุ่งนาก็ตาม ต้องทำงานหนักใช้แรงงานมากเหน็ดเหนื่อย พักเที่ยงถึงกับหมดเรี่ยวหมดแรงกันเลย เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาก ๆ  ฉะนั้นอาหารมื้อกลางวันจึงจำเป็นอย่างยิ่งของคนในท้องทุ่งบ้านนา

    คนทำงานหนักต้องกินข้าวกลางวันให้อร่อยจึงจะมีเรี่ยวแรงทำงานภาคบ่าย พริกเกลือจึงถูกนำมาปรุงเป็นอาหารมื้อเที่ยงนี้อย่างเต็มที่และคนบ้านทุ่งหนองบัวก็ถือว่าเมนูนี้อร่อยสุดๆ โดยวิธีแกงพริกเกลือร้อนๆนั่นเอง ข้าวเย็นไม่เป็นไรแต่แกงร้อนนับว่าเข้ากันได้อย่างดี การได้ซดน้ำแกงร้อน ๆ มันชื่นใจและมีแรงทำงานต่อได้ตลอดถึงเย็นเลยเชียว

    พริกเกลือนี้คนหนองบัว-หนองกลับ นิยมอย่างมากสามารถบอกได้เลยว่าขาดไม่ได้ก็แล้วกัน แต่ก็แปลกมาก ที่อาหารสำคัญชนิดนี้ชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับมักไม่กล้าพอที่จะนำเสนอหรือบอกกล่าวให้คนต่างที่ต่างถิ่นได้รู้จัก เหมือนจะอายเมื่อต้องพูดถึงพริกเกลือกับคนบ้านอื่น

    ความรู้สึกอายของคนหนองบัว-หนองกลับในเรื่องเกี่ยวกับอาหรพื้นบ้าน(พริกเกลือ)นี้ เป็นมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันก็ว่าได้ คนต่างถิ่นหลายคนที่มาหนองบัวใหม่ ๆ แล้วไม่กล้ากินพริกเกลือ แต่เมื่ออยู่นานไปก็ได้ลองกินพริกเกลือ แล้วก็มีไม่น้อยเลยที่กินพริกเกลือแล้วติดอกติดใจ ถึงกับเมื่อออกจากหนองบัวไปแล้วคิดถึงคนหนองบัวและพริกเกลือก็ต้องกลับมาเยี่ยมและกินพริกเกลืออีกครั้ง

    แม้แต่คนรุ่นใหม่อย่างคุณเสวก ใยอินทร์ เจ้าของบทความเรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือนี้เองก็ตามเถอะ กว่าจะกล้าเขียนลงบล็อกโกทูโน(GotoKnow)นี้ได้ก็ต้องรวบรวมพลังความกล้าหาญอย่างมาก อาตมาต้องคอยลุ้นคอยเชียร์ให้กำลังใจ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง อธิบายเหตุผลและความจำเป็นต่าง ๆ ให้ฟังอยู่สักพักใหญ่ ๆ เธอจึงตัดสินใจเขียนลงไว้ในอินเทอร์เน็ต และตอนนี้เรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือของคุณเสวก ใยอินทร์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในชุมชนเมืองหนองบัวที่มีคนเข้าไปอ่านกันเป็นจำนวนมาก

    ปัจจุบันคำว่าพริกเกลือในโลกไซเบอร์ ถ้าใช้คำพูดของคนในวงการนักร้องนักแสดงต้องถือว่าได้แจ้งเกิดเรียบร้อยแล้วแหละ และด้วยความสำนึกรักท้องถิ่นรักบ้านเกิดของคนหนองบัวที่ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่จังหวัดระยองตอนนี้ถึงกับรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมพริกเกลือคลับขึ้นมาได้ นี่ถือเป็นกลุ่มพริกเกลือกลุ่มแรกที่อยู่นอกหนองบัว

    ในท้องถิ่นหนองบัวเองตอนนี้พริกเกลือได้เป็นสินค้าโอท็อปไปหลายปีแล้ว ทั้งคนท้องถิ่น คนต่างถิ่น ต่างก็รู้จักพริกเกลือหนองบัวกันเป็นอย่างดี ในตลาดหนองบัวนั้นจะมีพริกเกลือขายตลอดวัน หาซื้อมาบริโภคได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสินค้าที่ขาดตลาด

    พริกเกลือมีความสำคัญอย่างไรกับคนหนองบัวบ้างนั้น อาตมาขอมายืนยันสั้นๆด้วยคำกล่าวที่ว่า ถ้าใครไปหนองบัวแล้วไม่ได้กินแกงพริกเกลือ ถือว่ายังไปไม่ถึงหนองบัวก็แล้วกัน.

     

     

     

    • ได้อีกเรื่องแล้วละครับ หากผมเขียนรูปแล้วจะดึงหัวข้อนี้แยกไว้ต่างหากอีกหนึ่งหัวข้อเพื่อจะได้เป็นฐานสำหรับรวบรวมเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆต่อไปได้อีกนะครับ เช่น วัตถุดิบและสูตรการปรุงที่อาจจะมีเคล็ดจวักแตกต่างกัน
    • การมีพริกเกลืออยู่ในวัฒนธรรมอาหารการกินของคนหนองบัวและใกล้เคียงนั้น ใครเป็นลูกหลานคนในชุมชนหนองบัว ก็ย่อมเห็นภาพได้ว่า พริกเกลือนี้ ในแง่ของ Functional หรือความมีบทบาทหน้าที่ในความเป็นห่วงโซ่อาหารทางสังคมและเศรษฐกิจ กับการย่อยสลายในระบบนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติแล้ว เป็นเงื่อนไขของการทำเกษตรผสมผสาน ไร่พริก หอมกระเทียม ข่า ซึ่งทำให้การทำนาไร่และการทำผลผลิตในสวนครัว สามารถดำรงอยู่ได้
    • ขณะเดียวกัน การที่จะต้องกินกับผักและสามารถเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการแกงและใช้พืชผักมาทำอาหารเมนูต่างๆต่อไปอีก นอกจากจะทำให้ระบบการผลิตแบบเกษตรกรสามารถอยู่ได้หลายอย่างแล้ว ก็กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการกินและสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสิ่งที่ตนเองผลิตได้ ชุมชนและครัวเรื่อนจะเข้มแข้ง พึ่งตนเองได้ และเกิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อตั้งหลักพัฒนาตนเองออกจากฐานที่เข้มแข็งกว่าเดิมได้ดีขึ้นได้
    • คงต้องหาโอกาสไปเขียนต่อในบล๊อกของคุณเสวกแล้วละครับ จะได้เป็นกำลังใจแก่กลุ่มพริกเกลือด้วยครับ

    นา : แหล่งรวมความหลากหลายความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

    ช่วงที่ผู้เขียนทำนาอยู่  เมื่อสามสิบปีทีแล้วนั้น สภาพท้องทุ่งนามีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างครบถ้วน เพราะอะไร  เพราะในทุ่งนานั่นเองมีทั้งสัตว์และพืชผักอยู่เต็มไปหมด สัตว์มีกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด หนู นก กระรอก กระแต พังพอน ฯลฯ พืชผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็มากด้วย เช่น หน่อไม้ กุ่ม สะเดา ผักหวาน มะยม ผักอีซึก แค มะขาม  มะรื่น มะม่วงป่า มะค่าแต้ บุก ตำลึง ผักบุ้ง ฯลฯ ผลไม้บางชนิด พุทรา ตะโกนา ยอ ไข่เน่า มะดูก ขี้อ้าย ฯลฯ แม้แต่หญ้าที่งอกงามก็ไม่ต้องกำจัด หรือทำลายด้วยวิธีที่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่หญ้านั้นเองกลับมีประโยชน์แก่วัว-ควายเสียอีก

    จะเห็นได้ว่าในทุ่งนามีของกินอยู่มาก เป็นแหล่งเรียนรู้ ทำมาหากินได้เกือบจะทั้งปี  ดังนั้นท้องนาจึงไม่เงียบเหงา ว่างเปล่า เวิ้งว้าง ไร้ชีวิตชีวา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนหัวเปลือก ที่โนนที่สูงก็มีพืชผัก น้ำในท้องนาก็ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย ความอุดมสมบูรณ์ของท้องนานั้นดูๆไปก็จะคล้าย ๆ ตลาดเลย มีของกินที่ปลอดภัยให้พ่อแม่นำกลับมาบ้าน มีปลาบ้าง ผักบ้าง และวันไหนพ่อแม่มีผลไม้จากท้องนามาฝากลูกๆหลานๆ วันนั้นก็จะทำให้เด็กๆ ได้กินของอร่อย เหมือนได้กินของจากห้างสรรพสินค้าก็ไม่ปาน

    ชาวนาทุกคนจึงต้องเป็นผู้ทำกินเป็น คือถ้าผู้ชายไปนาคนเดียวก็ต้องสามารถปรุงอาหารเป็น พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งอาหารถุง อาหารสำเร็จรูป บางครั้งการไปนาก็จะนำข้าวสุกไปอย่างเดียว ส่วนอาหารไปหาเอาที่นาแล้วทำกินเอง  แกง หมก ปิ้ง ฯลฯ

    กาลต่อมาท้องนาไม่มีสภาพดังกล่าวแล้ว กลายเป็นทุ่งนาที่เงียบเหงา  อาหารตามธรรมชาติหมดไป สัตว์น้ำก็หายไป น้ำก็กินไม่ได้ ไปนาก็ต้องซื้อกับข้าวจากตลาด นา ที่เคยมีของกินได้มากมาย ก็เหลือข้าวเพียงอย่างเดียว  ด้วยประการฉะนี้ แหละโยม เอวัง

    นมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์และพี่ๆน้องๆทุกๆท่าน

    ช่วงนี้ขับรถออกตจว. ได้เห็นทุ่งนาเขียวๆสุดลูกหูลูกตาแล้วชื่นใจจริงๆ

    ตอนมาเรียนหนังสือที่เมืองกรุง บอกกับเพื่อนว่า ที่บ้านเราก็มีห้างด้วย ถึงไม่ได้ติดแอร์แต่ก็เย็นสบายยามลมพัดเอื่อยๆ

    เวลาเห็นห้างตามนาแล้วอยากจะจอดรถลงไปนอนเล่นสักงีบ

    ขอตัวก่อนนะครับ ไม่ค่อยมีเวลามาเขียนอะไรให้อ่านกัน แต่ก็แอบอ่านอยู่เรื่อยๆ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณฉิก

    ขอบคุณที่เข้ามารายงานความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เวทีคนหนองบัวของเรานี้ก็ตามสะดวกของแต่ละท่านอยู่แล้ว มีเวลาว่างช่วงไหน ที่พอจะเขียนแบ่งปันความรู้กันได้บ้างก็ค่อยเขียนตอนนั้นก็แล้วกัน

    นาสมัยใหม่ ยุคนี้เคยได้ยินมาว่า คนเฒ่า คนแก่ไม่อยากไปนากันแล้ว เพราะสภาพท้องทุ่งนาได้เปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่เหลือเค้าเดิมอีกเลย คือในทุ่งนามีสภาพคล้ายโรงงานผลิตสารเคมีเข้าไปทุกที คนแก่ คนเฒ่าไม่เคยชินกับกลิ่นยาฆ่าแมลง บางครั้งกลิ่นยาเหล่านั้นเล่นเอาท่านชาวนารุ่นเก่าของเราจะเป็นลมล้มพับในนาตัวเองซะให้ได้

    ชาวนารุ่นใหม่หลายคนสุขภาพร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคภัยไข้เจ็บกันมาก ใช้สารเคมีทุกปีจนสะสมไว้ในร่างกายทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบภายในอันเนื่องมาจากสารพิษต่างๆสภาพอย่างนี้ทำให้คนเก่าๆเข็ดหลาบไม่อยากไปนา ไปเนอแล้วหละ

    สุขภาพเตี๋ยเป็นอย่างไรบ้าง คงหายป่วยแล้วนะ ขอให้หายโรคหายภัยมีสุขภาพแข็งแรง

    กราบนมัสการหลวงอามหาแล และกราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

    ผมเองถ้าไม่มีแรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์วิรัตน์ และหลวงอามะหาแลแล้วก็คงไปไม่เป็นเช่นกัน ครั้งหนึ่งผมอยากรู้ว่า ไอ้คำว่า กะแหล่งง่ามปู จะมีใครรู้แล้วพูดเหมือนคนหนองบัว แต่แล้วก็ไม่มี แต่ไม่เป็นไร ลองพิมหาใหม่ ว่า โมบายก้ามปู แล้วก้อเจอ ว่าได้ยินเสียงโมบายก้ามปูดัง แล้วมีหนองบัวต่อ.......... เท่านั้นแหละครับผมเองก็เข้าไปเพลิดเพลนจนถึงทุกวันนี้ ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงเลยครับ

    แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง

    ห้างฉันอยู่กลางนา กลางทุ่ง กลางโลกกว้าง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สายลม แสงแดด สายฝน อากาศบริสุทธิ์ ห้างนามักปลูกสร้างในบริเวณที่เป็นจุดตรงกลางพื้นที่นา ที่ต้องปลูกตรงกลางก็เพื่อให้ระยะการเดินไปห้างจากหัวนา ปลายนามีระยะทางเท่าๆ กัน

    ห้างนา
    เป็นที่พักชั่วคราวระหว่างไปนา ขนาดของห้างขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณคนในครอบครัว ถ้าครอบครัวใหญ่มีหลายคนทั้งลูกเขยยังไม่แยกครัว ก็จะปลูกห้างใหญ่หน่อย ครอบครัวเล็กๆ พ่อแม่ลูกสามสี่คนก็เป็นห้างเล็ก

    ประโยชน์ใช้สอยของห้างหลักๆ เลยก็คือเป็นเหมือนตะครัวของบ้าน เป็นร้านอาหารย่อมๆ ของครอบครัวประมาณนั้นก็ได้ เป็นที่หลับนอนเอาแรงสักงีบ เมื่อต้องทำงานอย่างหนักในท้องนา

    หน้าน้ำนองเมื่อไปหาปลา ปักเบ็ด ดักข่าย ดักรอบ ดักไซ ดักโต่ง ห้างนานี่แหละเป็นที่นอนค้างคืนอันแสนสบายอบอุ่นจริงๆ

    ในท้องนามีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติล้วนๆให้ดูชมมากมาย ทั้งพืชผักและสัตว์ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นมาเทียมๆ ไร้ชีวิตชีวา

    สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งและกัน เคารพความมีอยู่ อยู่อย่างไม่คิดทำลาย หรืออยากจะกอบโดยเอามาเป็นของตัวแต่เพียงผู้เดียว

    ทุกคนร่วมกันใช้ร่วมกันรักษาปกป้องดูแล ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เป็นพิษ เน่าเสีย หรือปล่อยปละละเลยทอดทิ้งอย่างไม่รู้คุณค่า

    ครอบครัวเล็กๆที่มีลูกคนแรกคนที่สองมักจะไม่มีคนเลี้ยงเด็ก พ่อแม่ต้องทำงานทำนา เลยต้องนำลูกน้อยไปนาด้วย เพราะถ้าแม่หยุดเลี้ยงลูกน้อยอยู่บ้าน งานนาก็จะขาดแรงงานไปหนึ่งแรง ฉะนั้นเพื่อให้การทำนาให้แล้วเสร็จเร็ว จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนในครอบครัวทั้งหมดช่วยกัน แม้ครอบครัวนั้นจะมีลูกอ่อนก็ตาม

    แม่ไม่มีโอกาสลาคลอด ลาหยุดงานนาเลย เท่าที่เห็นแม่เลี้ยงลูกมาสามสี่คน ทุกคนเติบโตในท้องนา นอนอู่บนห้างนาบ้าง บางครั้งก็ได้นอนอู่ใต้ต้นไม้ก็มี นอนอู่ใต้ถุนเกวียน-ท้ายเกวียนก็มี เด็กบ้านทุ่งเนี่ยสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยเป็นโรคไข้เจ็บอะไรมากนัก ไม่อ่อนแอ การเลี้ยงดูเป็นไปตามธรรมชาติให้ต่อสู้กับสิ่งรอบตัวด้วยความเป็นจริง ไม่ค่อยได้พะเน้าพะนออะไรมาก อะไรที่เป็นไปตามธรรมชาติมักเข้มแข็งเอาตัวรอดได้ ตรงข้ามกับการเป็นอยู่ที่หลีกเลี่ยงธรรมชาติอาศัยสิ่งที่ปรุงแต่งมากๆ มักอ่อนแอ

    ฉันนอนอู่ที่ผูกไว้บนห้าง ฉันยังเห็นนกเอี้ยงมาเลี้ยงควายของแม่อยู่ทุกวัน ข้างๆห้างก็เป็นอันนามีน้ำขัง ฉันอยากเห็นปลา ฉันก็จะนำข้าวสุกซักหยิบมือน้อยๆ มาโปรยลงน้ำ สักครู่ก็จะมีปลาว่ายมากิน บางทีก็มีปู มีกุ้ง

    ห้างของฉันไม่ได้ติดแอร์ ไม่มีห้องใต้ดิน ไม่มีลานจอดรถ มีแต่เกวียนของแม่จอดอยู่ แต่ฉันก็รู้สึกว่าห้างนาของแม่ฉันนี้เย็นสบายมากๆ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบทิศทาง มองเห็นได้ระยะไกลๆ และในท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ที่มองเห็นจนสุดลูกหูลูกตานั้น จะมีห้างนาอยู่เรียงรายตามท้องทุ่งทั้งใกล้ไกล

    แม้ห้างของฉันจะหลังเล็กๆแคบๆ แต่ก็เป็นห้างของเรา แม่ฉันทำขึ้นมาใช้เอง ชำรุดผุพังเสียหายก็ซ่อมแซมเองได้ ทรัพย์สินที่มีอยู่ในห้างทั้งหมดก็เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ 

    แม่ฉันทำงานหนัก ทำนาที่ต้องใช้แรงงานอย่างผู้ชายได้ทุกอย่างเหมือนอย่างพ่อ เป็นแม่บ้านต้องตื่นแต่เช้ามืด ตื่นก่อนคนในบ้าน ลุกมาหุงข้าว ทำอาหาร อาหารที่แม่ทำตอนเช้ามืดนั้น ต้องแบ่งเป็นหลายส่วนด้วยกัน สำหรับให้พ่อเฒ่า แม่เฒ่าได้ใส่บาตรตอนเช้า ใสปิ่นโตให้ลูกๆนำไปกินที่โรงเรียน ให้พ่อนำไปกินที่นา ทำให้ผู้อื่นได้กินก่อนแล้วตนเองจึงจะได้กิน

    ตอนเย็นกลับจากนาแม่ก็ต้องเข้าครัวอีก กว่าจะเสร็จภาระงานครัว งานบ้าน ก็ตกดึก แม่จึงนอนทีหลัง ตลอดชีวิตของแม่ฉันนั้น แม่มีห้างหลายห้าง(นาแต่ละแปลงก็จะมีห้างนาอยู่หนึ่งหลัง-สองแปลงก็สองหลัง)

    แม่ฉันไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้าง ไม่รู้จักห้าง
    แต่แม่ของฉันก็มีห้าง และเป็นเจ้าของห้างอีกด้วย.

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย
    สวัสดีครับฉิก สวัสดีครับคุณเสวก
    คึกคัก รื่นรมย์เหมือนอยู่กลางทุ่งเลยนะเนี่ย

    • เรื่องกะแหล่งก้ามปูหรือโมบายก้ามปูนี่ต้องขอเอาไปทำอีกหัวข้อหนึ่งละครับ เป็นงานศิลปะพื้นบ้านและเสียงดนตรีจากธรรมชาติ ที่ให้จิตวิญญาณของชุมชนชาวบ้านมากเลยละครับ
    • เรื่องโพน จอมปลวก และห้างนาของพระคุณเจ้าก็เช่นกันครับ สนุกครับ-สนุก
    • ฉิกมีกำลังใจนะครับ พวกเราชาวเวทีคนหนองบัวและเวทีของกลุ่มพริกกับเกลือห่วงไยและเป็นกำลังใจกันเสมอนะครับ

     พ่อแม่ : พระดี พระแท้แท้ประจำบ้านของทุกคน

    พระพุทธองค์ตรัสว่า “พ่อแม่เป็นพรหม เป็นเทวดาองค์แรก เป็นอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของบุตร”
    หลายคนต้องการและแสวงหาพระดี พระแท้ ที่อยู่นอกบ้าน เลยต้องใช้เวลาและทรัพย์ไปเป็นจำนวนมากเพื่อจะให้ได้พระแท้ที่ตนต้องการมากราบไหว้บูชา
    แสวงหาพระนอกบ้านก็หาไป แต่อย่าลืมแสวงหาพระประจำบ้าน พระประจำครอบครัวก็แล้วกัน
    พระในบ้าน มีอยู่รุ่นเดียวและเป็นพระแท้อีกด้วย
    พระนอกบ้านมีทั้งแท้และเก๊
    แต่พระในบ้านนั้น เป็นพระแท้อย่างเดียว
    บูชากราบไหว้พระแท้สององค์ที่บ้าน เป็นอุดมมงคลแก่ชีวิตตลอดไป.

     

    สปาบ้านทุ่ง : สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกผ่านกิจกรรมการเหยียบหลัง

    • สปาบ้านทุ่ง ในความหมายง่ายๆของคนบ้านทุ่งก็คือของใช้ เครื่องใช้ และของเล่นของคนรุ่นเก่า
    • การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ หลายเรื่องเป็นการทำความเข้าใจปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ที่ท่านได้ถ่ายทอดผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ตามบ้าน บางอย่างก็ยังมีอยู่ หลายอย่างก็สูญหายไปหมดแล้ว เพราะไม่มีผู้เก็บรวมรวมไว้
    • วิธีรักษาผิว ประเทืองผิว ของหนุ่มสาวบ้านนาก็นี่เลยใช้ขมิ้นชันบ้าง มะกรูดบ้าง มะขามบ้าง ทั้งขัด ทั้งพอก แค่นี้ก็ทำให้ผิวเนียนได้แล้ว
    • น้ำประปาไม่ต้องพูดถึงหรอก เพราะไม่รู้จัก ไม่มีให้ใช้เลย แต่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้ำคลอง น้ำหนอง และที่ขุดสร้างขึ้นใช้เอง  สระบ้าง บ่อบ้าง  น้ำแร่ น้ำนมไม่เคยได้ยินชื่อ ได้แช่น้ำคลอง น้ำหนอง ก็แสนสุขใจนักหนา
    • เด็กๆ ปวดเมื่อยก็มีวิธีรักษาสุขภาวะตนเองอย่างง่าย ๆ เดินข่าหยั่ง เดินกะลา เป็นการนวดฝ่าเท้าไปในตัว เมื่อยคอยมีหมอนกะลามะพร้าว  นี่ถือเป็นหมอนสุขภาพอย่างหนึ่ง 
    • พ่อแม่ ต้องทำงานหนัก ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว อยู่กลางแสงแดด สายฝนตลอดทั้งวัน เมื่อเลิกงานแล้วก็ถึงกับนอนแผ่ หมดเรี่ยว หมดแรงเลยทีเดียว วิธีทำให้ร่างกายหายปวดเมื่อย กลับมามีเรี่ยวแรงดังเดิม ก็ใช้สปาบ้านทุ่ง นั่นก็คือการนวดนั่นเอง ผู้ใช้แรงงานทุกคนหมดทั้งบ้านต่างก็หมดแรงไปตาม ๆ กันแล้ว จะเหลือก็แต่สปาตัวน้อยๆในบ้านนี่แหละ ลูกสปาน้อยบ้านทุ่งนี้พึ่งได้อย่างดีมากๆ ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องไปใช้บริการอาบน้ำแร่ แช่น้ำนม ที่เขาเปิดบริการในเมือง
    • สปาบ้านทุ่งนี้ประหยัดรายจ่าย ประหยัดเวลา สร้างความรักความกลมเกลียวในครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นมั่นคง
    • การเหยียบหลังพ่อแม่ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว เด็กๆจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่ก็จะหลีกเลี่ยงได้ยาก บางครั้งพ่อแม่ให้เหยียบนานมาก เราเหยียบไปจนท่านผ่อนคลายหายเมื่อยถึงกับหลับก็มีอยู่บ่อยๆ เหยียบไปนานๆ เด็กก็จะมีอาการเบื่อ ที่รู้สึกเบื่อไม่ใช่เหนื่อยหรือไม่อยากเหยียบให้ท่านหรอก แต่มันอยากไปวิ่งเล่นกับเพื่อนต่างหาก ใจมันไม่อยู่กับการเหยียบแล้ว
    • เด็กๆ หลายคนเหยียบหลังให้พ่อแม่จนชำนาญ คือสามารถเหยียบได้โดยไม่ต้องใช้มือจับเสา หรือฝาบ้าน เรียกว่าเหยียบจนสามารถทรงตัวยืนได้ และก็เดินต่ายหลังตั้งแต่ปลายเท้า ถึงต้นคอ แต่กว่าจะมีทักษะได้ขนาดนี้ ต้องผ่านการเรียนรู้จากภาคปฏิบัติมาหลายคาบไม่น้อยเหมือนกัน
    • ฝึกครั้งแรกๆ ต้องอาศัยจับเสา หรือไม้ช่วยพยุงการทรงตัวไม่ให้ตก ถ้าเด็กน้ำหนักตัวไม่มาก เหยียบเต็มๆฝ่าเท้าคนถูกเหยียบเหมือนจะไม่ผ่อนคลายเลย พ่อแม่ก็จะชี้จุดให้เหยียบโดยให้ปักส้นเท้าลงแล้วกดให้น้ำหนักมารวมที่เดียว วิธีนี้จะได้ผลดี หลังจากเหยียบหลังแล้วก็เหยียบหน้าท้องต่อ ดัดหลัง บีบแขน บีบขา  ขณะเหยียบหลัง บางทีอาจมีนิทาน เรื่องเล่า จากผู้ใหญ่ให้ฟังด้วย ผู้ใหญ่ได้ความสบายเนื้อสบายตัว เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อขา ตลอดถึงมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยผู้ใหญ่ในบ้าน
    • นี่แหละคือสปาบ้านทุ่งหนองบัวของเรา

    เจ้าทุย : เพื่อนแท้เพื่อนร่วมวิชาชีพของฉันที่มีบทบาทต่อสังมคไทยอันยาวนาน

    ฉันได้อ่านข่าวทางโลกไซเบอร์ว่า เพื่อน ๆ ไถนาไม่เป็นกันแล้วนะ อ่านข่าวแล้วมีความรู้สึกสองประการ (๑) เพื่อนสบายแล้วที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องลากไถ ลากเกวียน นวดข้าว ลากคราด ลากครุบ ลากเลื่อน ย่ำลานอีกต่อไป ส่วนฉันเองนั้นก็หยุดทำนามานานมากแล้ว จะเรียกว่าปลดเกษียณหรือเออรี่ประมาณนั้นก็ได้ (๒) เมื่อไถนาไม่เป็นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะมีชีวิตอยู่ดีมีสุขประการใดบ้าง อีกความรู้สึกหนึ่งที่ฉันเห็นแล้วทำใจลำบากจริง ๆ คือฉันเห็นเขานำเจ้าทุยใส่รถวิ่งไปตามท้องถนนทีละหลาย ๆ ตัว ใจฉันนั้นนึกว่าเจ้าทุยลำบากมากว่าตอนไถนาเป็นไหน ๆ ถ้าเขานำไปเทียมเกวียน ไถนา งานเบากว่านี้เยอะ แต่นี่เขานำเจ้ามาขึ้นรถเดินทางไกล เมื่อฉันเห็นฉันก็นึกภาวนาว่าขอให้เขานำเจ้าทุยกลับไปไถนาเถอะนะ ฉันขอร้องในใจ ฉันไม่อยากนึกถึงภาพต่อจากนั้นเลย

    ถึงอย่างไรเสีย  การไถนาเป็น การลากเกวียนเป็นนั้น เป็นการทำงาน สร้างาน ทำประโยชน์สร้างคุณค่าให้แก่ส่วนรวมทั้งชาวนาและสังคมอย่างใหญ่หลวงนัก เจ้าทุยไทยนั้นเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกก็ว่าได้ เพราะประเทศนี้เคยเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรส่งออกไปขายยังทั่วโลก โดยในยุคนั้นได้อาศัยแรงงานจากเจ้าทุยนี่แหละเป็นหลัก คิดแล้วทุกคนก็ภูมิใจในผลงานอันสำคัญนี้ คนไทยจะลืมบทบาทอันสำคัญนี้ไม่ได้ บทบาทอันยิ่งใหญ่นี้ใครจะกล้าปฏิเสธ

    เท่าที่ฉันจำได้ฉันเติบโตมาในท้องทุ่งนา นอกจากเพื่อนบ้านญาติพี่น้องผู้ร่วมอาชีพเดียวกันแล้ว ก็ยังมีเพื่อนดีเพื่อนที่มีบุญคุณคือเจ้าทุยนี่เลย  โดยเฉพาะวิถีชีวิตฉันในช่วงที่ทำนาอยู่นั้น มีแต่เจ้าทุยอย่างเดียวที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมกันสร้างชีวิตฉันและครอบครัว

    สวรรค์ชาวนาคือบรรยากาศที่เขาสร้างขึ้นเป็นหนัง ละคร นิยาย บทเพลงต่างๆมากมาย จะเห็นได้ว่าเรื่องราวในท้องทุ่งนาที่มีเจ้าทุยปรากฏตัว มักจะเต็มไปด้วยความสนุกสนานผู้ฟังผู้เสพเมื่อได้เห็นหรือฟังก็เคลิบเคลิ้มตามไปด้วย

    การอยู่ร่วมกัน ฉันเองนั้นควรจะเป็นผู้ใช้เหตุผลให้ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางครั้งที่ขาดเหตุผล ใช้อารมณ์กับเพื่อนซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้แต่ก็ยืนยันได้ว่าไม่บ่อย

    ชาวนานั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าทุยตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรชดค่ำ  หน้าทำนาต้องตื่นแต่เช้า ก่อนแจ้ง พวกเราชาวนา ก็พากันแบกไถ จูงเจ้าทุย ออกสู่ท้องนา การได้ขี่หลังเจ้าทุยเป็นความอบอุ่นและผูกพันระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้น คนที่รักเจ้าทุยมากๆถึงขนาดกล่าวกับคนรักว่าทิ้งฉันได้แต่อย่าทิ้งเจ้าทุย อย่างที่เพลงคนดังลืมหลังควายของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ว่า...นึกไว้ทุกนาทีถ้าเข้าไปได้ดีแล้วคงไม่มาขี่ควาย เขานั้นคงแหนงหน่าย เบื่อนั่งหลังควายเบื่อเคียวเกี่ยวหญ้า...  

    บางคนก็บอกว่าเหม็นกลิ่นโคลนสาบควาย  แต่สำหรับฉันแล้วละก็ ต้องบอกว่าฉันรักกลิ่นโคลนสาบควาย ดังรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องเพลงไอดินกลิ่นสาว ....กลิ่นโคลนสาบควายมันติดหัวใจพี่นัก ทั้งกลิ่นฟางข้าวสาวรัก เมื่อคิดแล้วอยากหวนคืนยังถิ่น...

    ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสัตว์ต่างสายพันธ์คือคนกับเจ้าทุย สิ่งนี้ฉันลืมไม่ได้และไม่มีวันลืมโดยเด็ดขาด

     

     

    เจ้าทุย : สินสอดอันทรงคุณค่าและสร้างความภูมิใจแก่เจ้าบ่าวชาวบ้านหนองบัว

    สังคมไทยเป็นเกษตรกรรมมาแต่โบราณ การทำนาถือเป็นอาชีพหลัก ทำไร่ ทำสวน ก็รองๆลงมา ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมของพี่น้องชาวนาของเรานั้น ต้องอาศัยแรงงานจากสัตว์ใหญ่ไม่ว่าช้าง ม้า วัว ควาย

    นับว่าสัตว์ดังกล่าวได้มีบทบาทต่อการประกอบอาชีพเกษตรอย่างสูง พูดง่ายๆว่าในอดีตนั้นการเกษตรขาดแรงงานจากสัตว์ไม่ได้เลย คนไทยจึงมีความผูกพันกับสัตว์ โดยเฉพาะวัว-ควายอย่างมาก ถึงกับยกให้เจ้าทุยเป็นสัตว์มีบุญคุณ

    นาห้าไร่ สิบไร่ ยี่สิบไร่หรือมากกว่านั้น ดูเหมือนไม่มากมายอะไรนัก แต่เมื่อทำจริงๆแล้วจะรู้ว่าโหดเลยแหละ เจ้าทุยของเราไถนากว่าจะได้แต่ละไร่ เหนื่อยมาก หอบลิ้นห้อยทีเดียว คนก็หอบไม่แพ้กัน เหนื่อยหอบตับแลบ

    ด้วยความสำคัญดังกล่าว เจ้าทุยไม่ใช่สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงโชว์ ไม่ใช่สัตว์สวยงาม ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงประดับบารมีเกียรติยศ ไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์  แต่สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นสมาชิกในบ้านที่มีความสำคัญมากกว่าความเป็นสัตว์ ทำนองว่า ขาดฉัน(เจ้าทุย)แล้วเธอจะรู้สึก(อดข้าวแน่)

    สินสอดงานแต่งงานของคนหนองบัว-หนองกลับ นอกจากเรือนหอหลังใหม่ เงิน ทอง ที่เป็นสินสอดแล้ว ก็ยังจะมีเจ้าทุยและวัวด้วย วัวก็หนึ่งคู่ ใช้เทียมเกวียนเล่มใหม่เอี่ยม ถ้าเป็นรถยนต์ก็ออกใหม่ชนิดไม่ต้องดาวน์ เป็นเกวียนมือหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น เจ้าทุยที่เป็นสินสอดงานแต่งงานนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานะเจ้าบ่าว ถ้าเจ้าบ่าวมีพี่น้องหลายคน น้องๆยังมีความจำเป็นต้องใช้เจ้าทุยไถนาอีกหลายปี กรณีนี้การนำเจ้าทุยไปเพียงตัวเดียวก็พอ  เพราะกว่าจะได้บ้านเรือนหอแต่งงาน เกวียน วัวหนึ่งคู่ เจ้าทุย ๑-๒  ตัวนั้น ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆเพียงสองปี พ่อแม่ต้องตระเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้ลูกแต่ละคนด้วยเวลาหลายปีทีเดียว ลูกชายแต่ละคนกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องผ่านงานสักสองสามงาน งานหมั้น(งานดอง) งานบวช  คัดเลือกทหาร

    ส่วนบ้านหรือเรือนหอนั้น ส่วนใหญ่ก็ทำขึ้นใหม่ ถ้าในกรณีลูกสาวคนเล็ก ส่วนมากพ่อแม่จะยกบ้านของท่านให้เป็นเรือนหอ  ไม่ต้องทำเรือนหอก็เรียกว่าแต่งบ้านเก่า  ภาษาท้องถิ่นจะมีคำพูดว่าแต่งบ้านใหม่ แต่งบ้านเก่า –แต่งเรือนใหม่ แต่งเรือนเก่า

    เจ้าทุยและวัวบ้านหนองบัว-หนองกลับ จะถูกแยกออกจากบ้านเดิมไปอยู่เรือนหลังใหม่กับเจ้าบ่าวในวันนี้ทั้งเจ้าทุยและวัวจะดูดีกว่าทุกวัน  จะมีคนคอยดูแลทำความสะอาด เช็ดถูเนื้อตัวให้ดูดี เขาก็ทาน้ำมันเลื่อมเป็นเงาดำเมื่อม

    ทั้งวัวและเจ้าทุยที่นำมาเป็นสินสอดวันแต่งงานนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นสมบัติของเจ้าบ่าวมาก่อนหน้านี้แล้วสองสามปี  คือถูกเลือกใช้หรือพ่อแม่เตรียมยกให้ลูกชายตั้งแต่ยังไม่บวชโน่นแล้ว และเจ้าบ่าวนั้นก็เคยนำไปช่วยงานคู่ดองไถนาบ้าง เข็นข้าวฟ่อนบ้าง นวดข้าวบ้าง ตั้งแต่ดองกัน ก่อนบวช และต่อมาจนกระทั่งถึงวันแต่ง

    นี่ก็คือบทบาทของเจ้าทุยหนองบัวที่พิเศษกว่าในท้องถิ่นอื่น ๆ

    วัว-ควายคู่ห่อ : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัว

    คำว่า วัว-ควายคู่ห่อนี้ สำหรับคนนอกพื้นที่ชุมชนอำเภอหนองบัว เห็นแล้วคงจะคาดเดาและตีความไปต่าง ๆ นาน ๆ ตามความเข้าใจของตน หรืออาจจะนึกว่ามันคืออะไร ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความเข้าใจกันถึงศัพท์นี้ก่อนดีกว่า คู่ห่อ คืออะไร คู่ห่อ ก็คือ คู่หอ นั่นเอง  คงมีบางท่านสงสัยต่อไปอีกว่าเอ  ...แล้วคู่หอนี่คืออะหยังหนอ   เฉลยดีกว่าเดี่ยวยิ่งอ่านจะยิ่งงงไปกันใหญ่

    คำๆนี้คนหนองบัว-หนองกลับ นำมาพูดย่อๆ โดยละไว้ในฐานที่(ไม่)เข้าใจ คนเก่าๆเวลาพูดถึงคำว่าหอ มักจะออกเสียงว่าห่อ  ฉะนั้นคู่ห่อในที่นี้ก็คือคู่เรือนหอ  คนหนองบัว-หนองกลับเมื่อลูกจะแต่งงานมีครอบครัว นิยมสร้างเรือนหอให้ลูก กิจกรรมนี้เป็นงานใหญ่ที่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายต้องทำต้องจัดให้ลูกตน จนเป็นประเพณีของชุมชนอย่างหนึ่งทีเดียว

    ภารกิจนี้คนหนองบัวไม่ปล่อยให้ลูกของตนแต่งงานแล้วค่อยทำบ้าน ซึ่งต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่สร้างบ้านหลังแต่งงาน ถ้าผู้อ่านที่ไม่เคยไปหนองบัว และไม่เคยเห็นเรือนหอ คงจะนึกว่าแค่เรือนหอหลังเล็กๆ อยู่กันสองคน น่าจะทำหลังแต่งงานก็ได้อะไรประมาณนั้น ถ้าบ้านหลังเล็กๆ จริงดังที่กล่าวมานั้นก็ทำไม่ยากหรอก  แต่นี่เป็นเรือนหอคนหนองบัว-หนองกลับ เป็นบ้านหลังใหญ่มาก ใหญ่จริงๆ ถ้าปล่อยลูกเราสองคนทำกันเองคงใช้เวลาหลายปีเป็นแน่

    คนจากชุมชนอื่นที่มาเป็นเขยหนองบัว ส่วนมากจะสู้ค่าสินสอดเป็นเงิน เป็นทอง มากกว่าที่จะสร้างบ้านขึ้นใหม่  นี่ถือเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าการสร้างบ้านหรือเรือนหอนั้นงานช้างเลยแหละ การทำบ้านต้องใช้แรงงานจากญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันทำเป็นเดือน เป็นการขึ้นแรงกันบ้าง เอาแรงกันบ้าง

    บางครั้งทั้งสองฝ่ายขาดความพร้อมที่จะทำคราวเดียวให้เสร็จ เพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง การเงินไม่คล่อง นาแล้ง น้ำท่วม ก็จะเลื่อนไปเป็นปีหน้าต่อไป โดยปีนี้แค่ยกบ้านไว้ก่อนก็มี รุ่งขึ้นอีกปีขายข้าวได้แล้วค่อยมาทำบ้านต่อให้เสร็จแล้วจึงแต่งงาน

    ปลูกเรือนหอแค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีของอย่างอื่นประกอบด้วย อะไรบ้าง เกวียน ๑ เล่ม วัว ๑  คู่  ควาย  ๑  ตัว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการทำอยู่ ทำกิน สร้างฐานะสร้างตัวเริ่มต้นชีวิตคู่ ถ้าได้อย่างนี้  ถือว่าได้มาตรฐาน เกณฑ์ทั่วๆไปก็ประมาณนี้ จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัวค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว มีเรือนหอหลังใหม่ และมีสิ่งที่คู่กับเรือนหออย่างพร้อมสรรพอีกด้วย มีเกวียน วัว ควาย ไถ ตู้ ชั้ว และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

    พอจะกล่าวได้ว่า นี่ก็คือสวรรค์บ้านนาของชาวบ้านทุ่งของเราได้กระมัง

     

    • เห็นพระคุณเจ้าเขียนบันทึกประสบการณ์และข้อมูลชุมชนในแง่มุมวิถีชีวิตชาวบ้านแล้วก็ให้รู้สึกอยากเก็บเอาไปวาดรูปรวบรวมไว้มากเลยนะครับ
    • แต่ตอนนี้ขออ่านไปก่อนครับ ขอเขียนงานสักพักหนึ่งครับ

    ย่อภาพวิถีบ้านทุ่ง : สีสันชีวิตจริงของชาวบ้านนามีความงดงามจริงใจโดยไม่ต้องโปรโมทหรือสร้างภาพ

    การดำเนินชีวิตของชาวบ้านนาป่าดงอย่างเรานั้น ไม่มีความกังวลเรื่องบุคลิกภาพ  หน้าตา เพราะวันๆ อยู่กับสายลม แสงแดด กลิ่นโคลนสาบควาย เหยียบย่ำลุยโคลนตมทั้งวัน เรื่องการดูแลสุขภาพแบบหนุ่ม-สาวบ้านนา สปาบ้านทุ่งก็พอใช้ได้แล้ว คุณน้าคุณป้าและผู้ใหญ่กินหมากปากแดง โดยไม่ต้องใช้ลิปติก ขี้ผึ้งสีปากก็พอ สุขภาพฟันดีไม่เคยไปคลีนิคหมอฟันเลย หนุ่มสาวบ้านนาใช้เครื่องสำอางบ้างนิดหน่อย กวนอิมทาหน้า หน้าหนาวก็ใช้โลชั่นทากันผิวแตก ไม่ต้องทาครีมกันแดด ดำนาเกี่ยวข้าวใช้ผ้าพันหน้าก็ป้องกันแดดได้  เพียงแค่นี้ก็ดูดี มีคลาส เน้นแนวธรรมชาติ เป็นวิถีธรรมชาติบำบัดประมาณนั้น

    สีสันในท้องนา เป็นวิถีที่มีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง ห่อเหี่ยว เพราะอะไร เพราะสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วย สิ่งที่มีเอง เกิดเอง ตามธรรมชาติอยู่มากมาย การดำเนินชีวิตก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าทุกวัน(ตื่นสายเหมือนชาวนาสมัยนี้ไม่ได้เป็นเด็ดขาด เพราะนาอยู่ไกลบ้าน ถ้าตื่นสายเหมือนขาดงานไปครึ่งวันเชียวนะ)

    การเดินทางไปนาก็ใช้เวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับระยะความใกล้ ไกล ไถนาอยู่ก็จะมีสมาชิกตัวน้อย ๆ มาร่วมทำมาหากินเดินตามหลังต้อย ๆ คือนกเอี้ยงดำ นกเอี้ยงแดง นกเอี้ยงโคลง ในรอยไถมีอาหารเพียบให้เลือกสรร แมลงต่างๆ กระโดดไปมา ไส้เดือน นอกจากนกแล้ว ก็จะมีบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ จะชอบเดินตามพ่อแม่เวลาไถนา เดินตามรอยไถ เหยียบขี้ไถ เล่นน้ำ จับปลา ปู หอย สนุกสนาน ไม่แพ้การเล่นเกมตามร้านเกมที่ตลาดเลยแหละ

    นาที่มีน้ำมาก ขี้หญ้าจะขึ้นเยอะงอกงาม  ไถนาไปควายก็จะและเล็มหญ้าไปด้วยตลอด น้ำลึกหน่อยควายก็กินหญ้าได้ โดยกลั้นหายใจแล้วก็มุดน้ำไปกินหญ้า ทำนาแต่ละวันนั้นจะกำหนดกะละกี่คาบดีนะ ก็กำหนดง่าย ๆ เป็นวันละสองกะก็พอ  ไม่ต้องถึงขนาดทำโอ กะแรกก็ตั้งแต่ตะวันขึ้นหรือก่อนรุ่งก่อนแจ้ง ไปจนถึงประมาณเคารพธงชาติ ก็หยุดพักกินข้าวงาย(เช้า) กินบนห้าง ใต้ต้นไม้-แบกะดิน บนเกวียน ได้บรรยากาศดีกว่านั่งภัตตาคาร อาหารเช้านี้ใช้เวลาไม่มากสักยี่สิบนาทีก็พอ อิ่มข้าวแล้วก็ทำต่อ จนถึงน้องเพล ใกล้เพล ใกล้เที่ยง ทำไงดีนะ นาฬิกาก็ไม่มี  ก็ต้องคอยฟังหลวงพี่ที่วัดตีกลองเพล ถ้าหลวงพี่ลืมตีกลองก็ดูตะวันแทน อาหารมื้อเที่ยงมื้อกลางวันนี้  คนงานและควายก็จะได้พักเหนื่อยนานหน่อย นานพอๆ กับเด็กนักเรียนหยุดพักเที่ยงกินข้าวกลางวัน

    อาหารย่อยแล้วก็ได้เวลาทำนากะที่สองต่อไป กะบ่ายนี้ถ้าไถนา ก็จะไถได้ไม่มากนัก เพราะจะต้องเหลือเวลาให้เจ้าทุยเพื่อนของเรา ได้หยุดพักกินหญ้าบ้าง ไม่งั้นเดี่ยวหมดแรง ถึงตอนกลางคืนจะไม่มีหญ้าให้เคี้ยวเอื้อง เจ้าทุยนี่ก็แสนรู้ไม่เบา เมื่อตะวันบ่ายคล้อยใกล้ค่ำ ทุกตัวจะพากันเดินและเล็มหญ้าบ่ายหน้ากลับบ้าน(คอก)อย่างรู้เวลา

    เครื่องมือทำนา(ไถ คราด ครุบ จอบ เสียม)ไม่ต้องนำกลับบ้านทุกวัน ซ่อนไว้ใต้น้ำลึกบ้าง จมดินบ้าง ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่มีใครมาลักหรอก

    ชุดเครื่องแบบปฏิบัติการทำนายอดฮิต ยอดนิยม ทั้งหญิงและชายก็คือเสื้อผ้าเน้นสีคราม ชุดเลี้ยงควาย ชุดทำนาของผู้ชายจะเป็นกางเกงขาก๊วย(คนที่บ้านฉันเรียกกางเกงจีน) เสื้อก็เป็นผ้าดิบสีคราม ผู้หญิงใส่ผ้าถุง เสื้อก็เป็นผ้าดิบสีคราเหมือนกัน วิถีย่อ ๆ เช่นนี้ไม่จำเป็นต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือสร้างภาพให้ดูดีมีคลาสแต่ประการใด แต่ก็ดูดีมีคุณภาพแบบบ้านน้อกบ้านนอก

    วิถีบ้านทุ่งหนองบัวโดยย่อดังว่ามานี้ก็ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ -๒๕๒๓  หลังจากนี้ไม่นานก็จะไม่มีแรงงานเจ้าทุยอีกเลย

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

    สองวันมานี้ได้ร่วมงานกับทีมวิถีประชา ของศาลายา ในการถอดบทเรียนของกรมมนามัย มีความสุขมากครับท่าน ที่ได้ร่วมงานกับทีมคุณจตุพร

    กราบนมัสการรพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ หัวข้อ แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง ของพระคุณเจ้า ผมได้ดึงทำให้เป็นหัวข้อต่างหากเก็บสะสมไว้ พร้อมกับจัดภาพประกอบให้อีกด้วย คนสนใจและเข้ามาอ่านมากมายครับ พระคุณเจ้าอาจหาโอกาสแวะเข้าไปสนทนากับผู้ได้เลยครับ ที่นี่ครับ แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง  : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/385674 และอีกเรื่อง นา : แหล่งรวมความหลากหลายและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/385666

    • สวัสดีครับลุงวอญ่ผู้เฒ่าครับ
    • ทำงานเหน็ดเหนื่อยแต่มีความสุขนี่ ต้องนับว่าเป็นผู้ให้ใจกับงานอย่างแท้จริงเลยนะครับ
    • คุณเอก ดิเรก ปุ๋ม เกียง....มาช่วยกันทำให้ใช่ไหมครับ
    • สปิตริตและความเป็นวิชาการแนวเชื่อมโยงกับภาคประชาชนสำหรับทีมนี้แล้วละก็ ต้องนับว่าเยี่ยมครับ

    หญ้าคา : วัชพืชศัตรูในนาข้าวและวิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรแบบดั้งเดิมด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    • จริง ๆ แล้วหญ้าคาเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านสมุนไพร แต่ในที่นี้ฉันจะขอกล่าวถึงหญ้าคาในด้านที่เคยสัมผัสเกี่ยวข้องมาบ้าง ถึงจะไม่มากมายนักก็ตาม  
    • หญ้าคาจัดเป็นวัชพืชหรือศัตรูอย่างหนึ่งของชาวนา  หน้าฝนก็จะขึ้นเขียวระบัดแตกใบอ่อน ตอนยังเป็นใบอ่อนนี้วัวควายชอบกิน แต่เมื่อโตเต็มที่แล้วใบจะคมมาก วัวควายไม่อยากกิน เพราะถ้าไปและเล็มใบแก่ที่คมๆนั้น ก็จะเจอดีใบบาดปากเอาได้  หญ้าคาสูงกว่าต้นข้าวนิดหน่อย(ประมาณ ๒ เมตร) ใบของมันเวลาบาดจะแสบ ๆ คัน ๆ
    • ช่วงที่แตกหน่ออ่อน หน่อก็จะแหลมเปี้ยบ ถ้าไม่ใส่รองเท้าอย่าเดินผ่าเข้าไปในบริเวณกลุ่มที่หญ้าคาขึ้นอย่างหนาแน่นเป็นอันขาด หน่ออ่อนก็จริงแต่ทิ่มฝ่าเท้าแล้วละก็ถึงเลือดได้ ฤดูแล้งหญ้าคาก็จะเหี่ยวแห้งตาย  ตายจากความร้อน ไฟป่า(รากใต้ดินไม่ตาย) พอถึงฤดูฝนก็แตกหน่อขึ้นมาใหม่
    • ด้วยความทนทานตายยากนี่แหละ เมื่อถึงหน้าทำนา ทำให้ชาวนาหนักใจที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยในการกำจัด ไถดะพลิกหน้าดินก็จะเป็นเหมือนขุดรากหญ้าคาขึ้นมาตากแดด แต่การกำจัดด้วยวิธีไถก็ยังไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะการไถก็ไถได้ระดับความลึกไม่มาก ด้วยรากหญ้าคานั้นทั้งแน่นทั้งลึก ถ้าจะให้ดีต้องลงแรงขุดซ้ำอีกครั้ง ขุดชนิดถึงรากถึงโคน
    • มีจำนวนน้อยๆ ก็พอรับมือไหว ถ้ามากๆ สักครึ่งงานแค่นั้น ก็เล่นเอาเราท้อเลยเหมือนกัน ขุดหญ้าคาเหมือนใช้แรงสองเท่า คือขุดดินก็หนักอยู่แล้วนี่มีหญ้าคาที่รากแน่นมากๆเพิ่มขึ้นอีก เหนื่อยเลยงานนี้
    • ทั้งไถทั้งขุดรากขึ้นมาแค่นี้ จะถือว่าหมดภาระแล้วยังไม่ได้นะ  เพราะหญ้าคายังอยู่เช่นเดิม ยังไม่ตาย ต้องถึงเผาไฟโน่นแหละถึงจะวางใจได้ ก่อนจะที่เผาไฟ ก็ต้องนำรากมาตากแดดให้แห้งดีเสียก่อน
    • บริเวณไหนมีหญ้าคา ข้าวก็จะไม่งาม เพราะหญ้าคาจะข่ม-แย่งอาหาร จนข้าวไม่โตหรือต้นข้าวจะเหลือน้อย เหลือบางๆ
    • ที่กล่าวมาเหมือนหญ้าคาจะดูไร้ประโยชน์สิ้นดี  แต่อย่างไรก็ตามหญ้าคานั้น ก็ยังมีคุณค่าอยู่ไม่น้อยใช้มุงหลังคาบ้าน มุงเล้าไก่ เล้าเป็ด คอกหมู มุงหลังคากระท่อม มุงหลังคายุ้งข้าว มุงหลังคาห้างนา เมื่อก่อนนี้จะมีบ้านมุงแฝก บ้านหลังคามุงหญ้าด้วย
    • หลังฤดูเก็บเกี่ยว  ฉันกับพ่อก็จะไปหาเกี่ยวหญ้าคากันละ ตามท้องนาไม่มีก็ต้องไปหาตามชายป่า ริมทุ่ง ตามโนน ตามหัวปลวก ถ้าเป็นตามโนน ตามชายป่าก็ไม่ใช่มีเฉพาะหญ้าคาอย่างเดียว แต่จะมีหญ้าแฝกด้วย บางทีก็จะพูดกันว่าไปเกี่ยวแฝกเกี่ยวคา
    • เกี่ยวแฝกเกี่ยวคาก็เกี่ยวเหมือนกันกับเกี่ยวข้าว แต่เกี่ยวแฝกเกี่ยวคาต้องเกี่ยวทั้งต้นเลย เพื่อให้ได้ลำต้นยาวๆ แล้วมัดเป็นกำๆ โดยขนาดมือกำรอบ เมื่อได้ปริมาณเต็มตู้(เรือน)เกวียน (แค่นี้ก็พอเพราะที่บ้านจะใช้ไม่มากมีมุงห้างนาและคอกหมู ยุ้งถ่าน) บางปีก็ไม่ต้องลุหลังคาห้างนาคือไม่เปลี่ยนหลังคาใหม่ ก็เข็นกลับบ้าน ตากแดดให้แห้ง  แล้วพ่อแม่ฉันจะช่วยกันสางต้นที่หักและเศษหญ้าออกทีละกำมือ สางได้หลายๆกำมือ แล้วนำมารวมกันเป็นมัดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางสัก ๒๐ เซนติเมตร(ขนาดประมาณต้นกล้วย)เพื่อเตรียมกอง(ไพ-ถักทอ)เป็นตับแฝก ตับคาต่อไป
    • กิจกรรมกรรมกองแฝก-กองคา(คนบ้านฉันเรียกกองแฝก)จะเกิดขึ้นประมาณเดือนสี่เดือนห้า(มีนาคม-เมษายน) งานหน้าแล้งที่มีสีสันของชาวบ้านที่เห็นเด่นชัดสำหรับแม่บ้านและสาวๆก็คือการกองแฝกนี่เอง เพราะทุกบ้านก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เหมือนกัน ไปบ้านไหนก็จะพบเห็นคนนั่งกองแฝกตามใต้ถุนบ้านบ้าง ใต้ร่มไม้บ้าง
    • วิธีการกองแฝก อุปกรณ์ คือไม้ไผ่ไม้ลวกผ่าซีกแบนๆ ยาว ๒ เมตร กว้างสัก ๑ นิ้ว(ขนาดเท่าหน้ากว้างไม้บรรทัด) ไม้ตอก,ปอกระเจา,ต้น-เครือย่านาง,ปอกล้วย,ปอแก้ว,เชือกฟาง,ใบจากกับหญ้าคา-หญ้าแฝก นำหญ้าคามาวางเรียงไว้ด้านหน้า ไม้ตับคาวางข้างตัวด้านซ้าย ปอจากธรรมชาติดังกล่าวก่อนจะนำมาใช้ ต้องแช่น้ำให้อ่อนตัว จะทำให้ปอนั้นเหนียว และไม่หักเวลานำมาผูกมัด
    • ผู้นำนาญการในเรื่องกองแฝก จะหยิบจับหญ้าคา-หญ้าแฝก มาพาดไม้ซีก(ไม้ตับ) พับ หัก ให้ก้านหญ้าอยู่ด้านเดียวกัน ส่วนใบจะอยู่ตรงข้าม ใช้ปอผูกมัดทีละเปลาะ จนสุดปลายไม้ แล้วก็เปลี่ยนไม้อันใหม่ต่อไป  คนที่ทำจนคล่องแคล่วแล้วนั้น ขณะทำก็เคี้ยวหมากไปพูดคุยกันไปด้วย ไม่มีผิดพลาด ไม่ผิดคิว เสียหาย ทำได้เร็วดูเพลินดี  แต่ผู้ฝึกใหม่ๆ ต้องค่อยๆทำไปอย่างช้าๆ
    • หญ้าคาที่สำเร็จรูปเป็นตับแล้ว ก็จะนำไปตากแดดให้ปอที่มัดนั้นแห้ง แล้วก็จะนำไปเก็บไว้ที่เพิงเก็บแฝกข้างยุ้งข้าว
    • เวลาเปลี่ยนหลังคาใหม่แต่ละครั้ง นอนกลางคืนจะหอมกลิ่นหญ้าคาโชยมาตามสายลม ปลายหญ้าคาจะถูกมัดเป็นจุก เพื่อรองน้ำฝน พอฝนตก น้ำฝนก็จะไหลจากหลังคาทั้งหมดมารวมที่ปลายจุก เพียงแต่เอาถังหรือโอ่งน้ำไปรองน้ำฝนมาไว้กินได้ตลอดปี ถ้าจะให้ดีแล้วละก็ ก่อนรองน้ำฝน ควรให้น้ำฝนชะล้างหลังคาสักสองสามครั้ง แล้วเราก็จะได้น้ำฝนบริโภคที่ปลอดภัย  
    • จากวัชพืชที่มองเห็นเป็นศัตรูร้ายไม่มีคุณค่า ก็กลับกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้งานได้อย่างดี
    • จะเห็นได้ว่าการกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานของคนและสัตว์(ไถ)นั้นเป็นวิธีทางธรรมชาติง่ายๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก พูดให้ทันสมัยเท่ ๆ หน่อยก็คือทำอยู่ ทำกินทุกอย่างล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
    • โดยปรกติบ้านหลังคามุงแฝก จะเย็นกว่าบ้านมุงหลังคาสังกะสี
    • วันฝนตกก็จะได้ยินเสียงเม็ดฝนตกใส่หลังคาแฝก มีเสียงเบา ๆ ฟังเพลิน ๆ ไม่น่ารำคาญเหมือนหลังคาสังกะสี เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น นอนหลับสนิทท่ามกลางเสียงกบเขียดที่ร้องดังระงมในท้องทุ่งนา
    • ผมได้แยกเรื่องนี้ไปทำเป็นหัวข้อเรื่องจำเพาะอีกหัวข้อหนึ่ง เรื่อง : หญ้าคา : วัชพืชศัตรูในนาข้าวและวิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรแบบดั้งเดิมด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่  http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/387235 นะครับ
    • แต่ก็ลิงก์กลับมารวบรวมไว้ที่นี่ด้วยตามแนวคิดของคุณฉิกนะครับ
    • เมื่อสัปดาห์ก่อน ในช่วงวันแม่ผมได้กลับมาเป็นเพื่อนแม่ไปร่วมงานกลุ่มผู้สูงอายุและสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติของจังหวัดนครสวรรค์ ขากลับก็ได้อาศัยรถของรุ่นพี่ที่หนองคอกกลับกรุงเทพฯ เลยได้แวะทักทายคนหนองบัวที่เป็นศิษย์เก่าหนองคอก รวมทั้งได้ทราบความเคลื่อนไหวของคนรอบข้างไปด้วยครับ
    • ได้ทราบว่า คุณพ่อของคุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ หนองบัว เพื่อนผมและสามีเพื่อนของผมกับอีกหลายคนในหนองบัว ได้ถึงแก่กรรมและจัดงานฌาปนกิจที่บ้านจังหวัดชัยนาท ขอบอกกล่าวและขอแสดงความเสียใจกับคุณครูพนม ญาติมิตร และลูกศิษย์ลูกหาอย่างยิ่งด้วยครับ
    • และในช่วงวันหยุดเดียวกัน ที่วัดหนองกลับก็มีงานฌาปนกิจของคุณครูละออง คุณครูเก่าแก่ของคนหนองบัว มีผู้คนมาร่วมงานกันทั้งอำเภอ รวมทั้งลูกศิษย์ของคุณครู เสธ.เล็ก พี่โกศล หรือ พันเอกโกศล ประทุมชาติ อดีตเด็กบ้านนอกลูกแม่ค้าที่ช่วยคุณแม่หาบขนมขายอยู่หน้าตลาดสดหนองบัวที่กลายมาเป็นนายทหารเสนาธิการของกองทัพ ที่ชาวหนองคอกและคนหนองบัวแสนจะภูมิใจ ก็เดินทางมาจากค่ายกาวิลละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าภาพพร้อมทั้งเป็นแกนรวมพี่น้องศิษย์เก่าทั้งหนองบัวและหนองคอกให้ได้มาเจอกันมากมาย
    • ขอกราบน้อมคารวะดวงวิญญาณของคุณครูละออง และขอคารวะความกตัญญูกตเวทิตาของลูกศิษย์ลูกหาชาวหนองบัวของท่าน
    • ได้แวะไปที่วัดป่ามะเขือของหลวงพ่อหมอหลุยส์ ได้กราบพระ และได้เจอหนุ่มน้อยท่านหนึ่งแนะนำตนเองว่าเป็นครู ได้ยินรุ่นพี่แนะนำผมแก่พระว่าชื่อวิรัตน์ ก็เลยมาถามผมว่าใช่อาจารย์วิรัตน์ที่เขียนเรื่องหนองบัวในอินเทอร์เน็ตไหม พอบอกว่าใช่ก็เลยได้เพื่อนเพิ่มอีกครับ เพราะน้องเขาแนะนำตนเองว่าเขาเป็นเพื่อนของคุณฉิกและเป็นน้องของเพื่อนร่วมห้องเรียนของผมอีกคนหนึ่งชื่อกาหลง
    • ได้นั่งคุยกับรุ่นพี่ๆและเพื่อนๆชาวหนองคอกและหนองบัว ก็ให้ได้ตระหนักว่า เวทีคนหนองบัวเป็นสื่อที่ดีมากสำหรับสื่อสารและสร้างความตื่นตัวที่จะนำเรื่องราวต่างๆมาพูดคุย รวบรวมข้อมูลให้กัน ได้ดีมากครับ
    • ผมได้เจอพัฒนากร ๒ ท่านเป็นรุ่นพี่ที่ไปอยู่ชัยภูมิ เคยอยู่หนองบัวและเป็นคนนำชาวบ้านไปหารถแทรคเตอร์ที่นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ใช้ขุดสระข้างอำเภอ มาติดตั้งเป็นอนุสรณ์หน้าอำเภอทุกวันนี้ และพี่เขาเคยเป็นนักร้องวง Yellow Brown ของหนองบัวที่ผมเป็นนักดนตรด้วย เลยคุยกันสนุกสนาน หลายคนบอกว่าลูกหลานอ่านเจอเวทีคนหนองบัวแล้วนำมาถาม พูดคุย
    • ทำให้เห็นภาพอย่างที่ทุกท่าน รวมทั้งผมอยากเห็น คือ เป็นสื่อที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนสื่อสารและเรียนรู้ ทั้งในครอบครัวและชุมชน ดูคึกคักและมีความหวังดีครับ
    • ขอบคุณอาจารย์ที่ได้รายงานข่าวสดๆจากพื้นที่หนองบัวให้ทราบว่ามีอะไรเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
    • ต้องแสดงความยินดีกับเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ที่ช่วยให้ลูกหลานคนหนองบัวได้เข้าถึง เข้ามาอ่าน และได้นำความรู้ข้อมูลจากที่นี่ไปสอบถามพูดคุยสนทนากับพ่อแม่ผู้ใหญ่ที่บ้าน
    • แค่ได้ทราบว่ามีลูกหลานชาวหนองบัวเข้ามาอ่านก็ชื่นใจแล้ว แม้จะไม่ปรากฏตัว ฝากร่องรอยไว้เลยก็ตาม

    มะพร้าว : หมอนรปภ.และคนทำงานนักเรียนนักศึกษา

    • หมอนมะพร้าวมี ๒ อย่าง คือ(๑)แบบบากเปลือกด้านข้างสองด้านใช้ทั้งลูก(๒)แบบผ่ามะพร้าวออกเป็นสองซีก ทำเป็นหมอนได้สองลูก มะพร้าวที่จะใช้ทำหมอนได้ต้องเป็นมะพร้าวแก่เท่านั้น
    • แบบแรกหนุนได้สบายหน่อยเพราะรอยบากจะพอดีกับศีรษะ รอยบากด้านล่างเป็นฐานตั้งติดกับพื้นช่วยให้ลูกมะพร้าวไม่กลิ้ง
    • ส่วนแบบที่สองนั้น เมื่อผ่าด้านขวางของลูกมะพร้าวแบ่งเป็นสองซีกแล้ว  ใช้รอยผ่าเป็นฐานตั้ง ส่วนจุกมะพร้าวที่มีความแหลมพอสมควร ใช้เป็นที่หนุนหัวนอน 
    • อีกซีกหนึ่งที่ใช้ทำหมอนก็จะเป็นซีกที่เป็นส่วนที่มีก้นหรือชาวบ้านเรียกตูดมะพร้าวนั่นเอง เป็นส่วนที่มีความแหลมอยู่ด้วย รอยผ่าเป็นฐานตั้งใช้ด้านที่เป็นก้นของมะพร้าวหนุนหัวนอน
    • ที่ลานบ้านฉันมีต้นมะม่วงกะล่อนหลายต้น ใต้ต้นมะม่วงกำปั้น จะมีเพิงหมาแหงนหลังเล็กๆของพ่อเฒ่าอยู่หนึ่งหลัง เพิงหลังนี้อยู่กลางลานบ้าน ถ้านั่งหรือนอนบนนั้น ใครไปใครมา เดินผ่านหน้าบ้านหรือเข้ามาในบ้าน ก็จะเห็นแต่ไกล  คนที่นอนหนุนหมอนมะพร้าวเป็นประจำเลยก็คือพ่อเฒ่าและแม่เฒ่าของฉัน
    • หมอนมะพร้าวปลายแหมนี้ผู้นอนจะนอนตะแคงหรือนอนหงายก็ตาม เมื่อเผลอหลับเพียงนิดเดียวเท่านั้น ก็ต้องสะดุ้งตื่น เพราะเสี้ยนแทงคอและคอเคล็ด ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่บ้านมักจะมีผ้าขาวม้าติดตัวอยู่เสมอๆ พ่อเฒ่าก็เหมือนกันจะมีผ้าขาวม้าห้อยบ่าประจำ ใช้ปูนอนก็ได้ ใช้หนุนหัวนอนก็ได้ ใช้ปัดพื้นแทนไม้กวาดก็ได้ ใช้ไล่แมลงวัน ยุง ฯลฯ ถ้าใครอยากจะหลับนานๆหน่อยก็ใช้ผ้าปูบนหมอนมะพร้าว
    • พวกเราเด็กๆเมื่อพ่อเฒ่าไม่อยู่ ก็จะขึ้นไปเล่นกัน และมักจะลองนอนหนุนหมอนมะพร้าวนี้ด้วย หนุนได้แป๊บเดียวก็เลิกหรือลุกขึ้นทันทีเพราะเจ็บหัวมากๆ
    • มะพร้าวผ่าซีกนี้ทำเป็นแปลงถูบ้านก็ได้  บ้านแม่เฒ่าตรงบริเวณที่นอนที่นั่งของท่านกระดานพื้นบ้านจะสะอาดและเงาเป็นมันเลย  เพราะท่านทั้งสองนั่งตรงไหนก็จะถูด้วยแปลงลูกมะพร้าวนี่แหละ ยิ่งที่ที่นั่งประจำ ใกล้ๆกระทายหมากด้วยแล้วกระดานจะเป็นมันเห็นได้ชัด
    • หมอนมะพร้าวนี้เหมาะสำหรับคนที่เฝ้าเวรยาม เหมาะสำหรับเป็นหมอนหรือนาฬิกา รปภ. คนทำงานหนักๆที่ต้องการพักเหนื่อยสักงีบเล็กๆ และนักเรียนนักศึกษาที่ดูหนังสือหนักๆในช่วงใกล้สอบ
    • กรณีตัวอย่าง พระเณรนักศึกษา ในสมัยโบราณที่ท่านเล่าเรียนภาษาบาลี แต่ละวันต้องท่องแบบ(ไวยากรณ์,คำศัพท์ภาษาบาลี) กันตลอดวัน และกลางคืน ท่านก็ใช้หมอนมะพร้าวนี้เป็นเครื่องมือสร้างความเพียรกันอย่างหนักหน่วง เอาจริง เอาจังกันอย่างมาก
    • คนหนองบัวล่ำลือ เล่าต่อๆกันมาว่า ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ) ตอนท่านศึกษาเรียนภาษาบาลีทั้งที่นครสวรรค์ และที่กรุงเทพฯนั้น ท่านได้ใช้หมอนมะพร้าวนี่แหละเป็นอุปกรณ์ช่วยให้ท่านได้ต่อสู้พากเพียร จนเรียนบาลีสำเร็จถึงขั้นเป็นเปรียญขั้นสูง
    • อาจกล่าวได้ว่าหมอนมะพร้าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างคนหนองบัวให้ได้เป็นมหาเปรียญขึ้นเป็นคนแรกของชุมชนหนองบัวเรา และต่อมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณเทพฯก็ได้เป็นพระสังฆาธิการบริหารกิจการพระศาสนาในระดับจังหวัดคือเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    • และชาวหนองบัวก็ถือว่าท่านเจ้าคุณเทพฯเป็นบุคคลสำคัญในลำดับต้นๆของชุมชนหนองบัวอีกด้วย

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    ....สงสัยว่าผมต้องหาหมอนมะพร้าวมาใช้สักลูกล่ะครับ

    แวะเวียนมาเยี่ยมชุมชนคนหนองบัวค่ะ..จิกรูบล็อกอ.ขจิตมาฝากค่ะ...

    ค้นพบหนองบัวอีก1 แห่ง ที่จ.กาญจนบุรี บ้านอ.ขจิต แต่หนุ่มเอมเป็นคนบันทึกค่ะพี่อาจารย์.....

    http://gotoknow.org/blog/noomaim/389493

     หนุ่มเอม

    เรียนท่านอธิการโชคชัยครับ

    • ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจเวทีคนหนองบัว
    • ผมนึกว่าจะไม่มีคนรู้จักหมอนมะพร้าวซะแล้วนะครับ ผมเขียนไปผมก็นึกถึงพ่อเฒ่า แม่เฒ่าไปด้วยเลยแหละครับ
    • ผมคิดไม่ถึงนะว่าหมอนมะพร้าวของใช้ของคนบ้านนอกนี้  จะเหมาะกับนิสิตปริญญาโทและเอกในสมัยปัจจุบัน
    • ผมมีประสบการณ์เมื่อเป็นเด็กครับ ครั้งหนึ่งไปไหว้พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นงานประจำปีวัดพระพุทธบาทงานเดือนสาม กับญาติๆ โดยเดินทางอ้อมโลกเลยนะครับ คือช่วงนั้นถนนเส้นจากสิงห์บุรี ตากฟ้า ผ่านหนองบัวยังไม่มี
    • คนหนองบัวจะไปเหนือไปใต้หรือกรุงเทพฯ จะต้องไปขึ้นรถไฟที่อำเภอชุมแสง ครั้งนั้นผมกับญาติๆก็มาขึ้นรถไฟที่ชุมแสง ไปลงที่สถานีรถไฟลพบุรี ต่อรถเมล์จากลพบุรีไปสระบุรีพระพุทธบาท
    • ตกกลางคืนก็ไม่ต้องไปตอนโรงแรมหรอก เพราะทางวัดมีศาลาหลายหลังให้ผู้มาไหว้พระได้พักในวัดอย่างสะดวกสบายมาก นอนรวมๆกัน อย่างอื่นก็พร้อมดีทุกกประการสำหรับคนทำบุญ
    • แต่มีอย่างหนึ่งครับที่คนไปไหว้พระแล้วต้องจดจำได้ไม่ลืมเลยคือหมอนครับ
    • หมอนวัดพระพุทธบาทยุคนั้น เป็นหมอนหินนะซิ เราเคยแต่นอนหนุนหมอนกะลามะพร้าวมาบ้าง ก็ถือว่าแข็งและเจ็บศีรษะมากแล้ว และก็ไม่ได้หนุนนอนจริงจังอะไร แค่หนุนนอนเล่น ๆ ตามประสาเด็กๆ ซึ่งก็เจ็บหัวอย่างมากจนเกือบทนไม่ได้
    • แต่นี่มาเจอหมอนหินแข็งๆเข้าให้ ถึงเราจะใช้ผ้ารองหมอนก็จริงอยู่ ก็ไม่ได้ช่วยให้เรานอนสบายขึ้นแม้แต่น้อย ก็จำใจนอน ตัวแข็งทื่อ กว่าจะหลับลงได้ เมื่อยคนแทบแย่

     

    • ขอแก้คำผิดในความเห็นที่๗๗๐
    • คำว่าตอนโรงแรม แก้เป็นนอนโรงแรม เมื่อยคนแทบแย่ แก้เป็นเมื่อยคอแทบแย่

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล พระอธิการโชคชัย
    สวัสดีน้องคุณครูอ้อยเล็กและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    • หมอนมะพร้าวที่ท่านพระอาจารย์มหาแลเล่าบันทึกไว้นี่ดีจังเลยนะครับ
    • ขอแสดงความยินดีกับท่านพระอธิการโชคชัยที่ทำบล๊อกขึ้นใช้เองได้แล้วนะครับ
    • บ้านหนองบัวที่จังหวัดกาญจนบุรีที่คุณครูอ้อยเล็กพูดถึงนี่ดูเหมือนว่าผมก็เคยเห็นนะครับ อยู่ข้างๆมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เวลานั่งรถไปแล้วก็จะผ่าน เป็นที่เดียวกันหรือเปล่านะครับ
    • บล๊อกของหนุ่มเอมผมเคยเข้าไปอ่านครับ ทำเรื่องสื่อชุมชนและฝึกให้เด็กๆทำสื่อ น่าสนใจมากครับ

                            

                           

                            

                           

    • เอารูปอาจารย์ขจิตและน้องคุณครูอ้อยเล็กแวะไปเยือนและกินข้าวเย็นด้วยกันที่พุทธมณฑลมาแถมให้อีกครับ
    • อาจารย์ขจิตได้นำหนังสือไปฝากเล่มหนึ่งด้วยครับ เป็นหนังสือ ไผเป็นไผ เล่ม ๒ ที่ครูบาสุทธินันท์และกองบรรณาธิการของท่านร่วมกันดึงเรื่องราวจากบล๊อกเกอร์หลายคนใน GotoKnow  มาทำเป็นรวมเล่มและรวมผลงานของนักเขียนหลายคน
    • ทั้งสองท่านเป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่ง เป็นน้องที่น่ารัก น่าภูมิใจ ทำงานให้กับสังคมได้อีกเยอะครับ อุตส่าห์มีน้ำใจ วางมือจากงานที่โรงเรียนกีฬา เทศบาลนคร นครปฐมแล้วก็พากันนั่งรถตะรอนๆไปหากัน
    • นอกจากในภาพแล้ว ก็มี ผอ.สมชาย รัตนอารี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดประชานาถ อำเภอนครชัยศรี ร่วมพบปะด้วยอีกคนหนึ่งครับ แต่ท่านติดภารกิจ เลยต้องกลับไปก่อน
    • อาจารย์ขจิตบอกว่ากำลังเตรียมตัวจัดเวิร์คช็อปให้กับเด็กๆหนองบัวด้วยนะครับ
    • ขออภัยครับ
    • ชื่อหนังสือไม่ใช่ ไผเป็นไผ ครับ แต่ชื่อ เจ้าเป็นไผ ครับ

    เรียนท่านพระมหาแล เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    ...โยมอาจารย์วิรัตน์ อาตมภาพเขียนงานโครงร่างThesis ฝากอยู่ในE-mailของโยมไม่ทราบว่าได้รับหรือเปล่าครับ และรบกวนโยมอาจารย์กรุณาช่วยให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะตามประเด็นดังกล่าวด้วยครับ

    ...ท่านพระมหาแลครับ ขอบพระคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จุดประกายนักประดิษฐ์อีกแล้วครับท่าน แถวๆบ้านผม ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม มีต้นมะพร้าวเป็นดงเลยครับ

    E-mail : [email protected]

    หลงตะเข็บ : ร่องรอยการสร้างตัวของชาวบ้านที่ตั้งอยู่บนฐานความพอเพียง

    •  หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของคนเรา ก็คือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
    • ชาวบ้านโดยทั่วไปจะมีชุดทำงาน(นา-ไร่)เลี้ยงงัว เลี้ยงควาย กันคนละประมาณ ๒ ชุด เสื้อผ้าชุดนี้ จะมีอายุการใช้งานได้หลายปี  วันไหนทำงานกลางแดดร้อนๆ กลางทุ่งนา จะมีเหงื่อขี้เกลือขึ้นเต็มหลังเป็นแผนที่เลยแหละ คราบเหงื่อที่แห้งกรังจนขึ้นขาวเป็นวงที่หลังเสื้อจะเห็นได้ชัด ใช้กันจนเก่า มีสภาพเปื่อย ขาด เมื่อขาดแล้วจะเย็บ ปะ ชุนด้วยมือตนเอง เพราะจักรเย็บผ้าไม่มีใช้หรอก เย็บเสร็จแล้ว ใช้ได้ต่อไป เสื้อผ้าเก่ามากๆ นี่ ซักแต่ละครั้งต้องค่อยๆขยี้ เผลอไปขยี้แรงๆ จะได้ยินเสียงผ้าขาดดังแคว้กๆ
    • ผู้ที่ใช้ได้คุ้มค่าได้ถึงขนาดนี้ ส่วนมากก็จะเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  เห็นผู้ใหญ่ใส่เสื้อผ้าขาด มีรอยเย็บ รอยปะทั้งตัว ก็อดขำไม่ได้ และในใจก็นึกชื่นชมผู้ใส่ไม่น้อย
    • ผู้ที่ใช้เสื้อผ้าที่เย็บทั้งตัวแบบนี้ ลูกๆหรือภรรยามักจะโดนผู้สูงอายุวัยเดียวกันแซวว่า  ทำไมจึงปล่อยให้พ่อหรือฝาละมีเป็นคนอนาถา ใส่เสื้อผ้าขาดโชว์ชาวบ้านเขาอยู่ได้  ควรจะไปหาซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ที่บ้านเจ๊กสักชุดมาเปลี่ยนได้แล้ว  กูเห็นพ่อมึงใส่ชุดนี้มานานเต็มที นำไปทำผ้าขี้ริ้วได้แล้วมั้ง
    • คนที่ถูกแซว ก็จะให้เหตุผลในทำนองว่า ก็พ่อบอกว่าชอบชุดนี้  อีกอย่างในเมื่อยังใช้ได้ ก็ขอใช้ไปก่อนก็แล้วกัน
    • ก็มีเหมือนกันที่แม่บ้านหรือลูกสาวของท่านจะรู้สึกอายชาวบ้านแทนพ่อ โดยที่ผู้สวมใส่นั้นไม่มีความรู้สึกอายแต่ประการใด
    • นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับคนส่วนมาก
    • แต่ที่เป็นที่พูดถึงกันของชาวบ้านที่ได้สังเกตเห็นและมีเสียงสะท้อนให้ได้ยินก็คือคนมีฐานะ คนมีอันจะกิน หลายคนใส่เสื้อผ้าเก่าๆ และเย็บปะทั้งตัวยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก ทั้งๆที่ในสายตาของชาวบ้าน เขาประเมินว่า คนมีฐานะเหล่านั้น ไม่เห็นจำเป็นต้องใส่ผ้าเก่าหรือขาดมากขนาดนั้นก็ได้ ทำนองนั้น(คงเห็นใจคนมีอะไรประมาณนั้น)
    • และด้วยความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ ก็มักเป็นเช่นที่ชาวบ้านกล่าวถึงนั่นแหละ คือคนที่ชาวบ้านเรียกว่าคนมีนั้น มักจะใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาดๆ จริงเสียด้วยนะซิ อย่างนี้ชาวบ้านจะพูดกันว่าเป็นคนขี้ตระหนี่
    • ด้วยความเป็นผู้มีฐานะประกอบด้วยมีมัจฉริยะคือความตระหนี่นี่เอง ทำให้ต้องนุ่งผ้าเก่าดังว่า  เก่าเย็บทั้งตัวจนหาร่องรอยตะเข็บเดิมไม่พบ คนมีนี่ใช้คุ้มเกินคุ้มจริงๆ ถ้าจะนำไปให้ช่างตัดเสื้อมืออาชีพซ่อมให้ ช่างเห็นแล้ว คงหลงตะเข็บแน่เลยเชียว

     

    ต่อหนังสือ : เทคนิควิธีสร้างสติให้ตื่นตัวต่อการศึกษาเรียนรู้แบบมุขปาฐะ

    • การสอนพิเศษเรียนต่อตัวที่คนปัจจุบันนิยมเรียนกันนั้น ที่จริงมีมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณกาลนานมา  การเรียนพิเศษยุคก่อนเขาเรียก   ว่า ต่อหนังสือ คือการเรียนด้วยการให้ผู้เรียนท่องจำ เช่น ท่องแบบบาลีไวยากรณ์ บทสวดมนต์  คาถา ตำรา ความรู้ วิชาการต่าง ๆ เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีสมุดจดบันทึก อีกทั้งหนังสือ หรือตำราเรียน มีจำนวนจำกัด คือผู้สอนเท่านั้นที่มีหนังสือไว้อ่าน ท่อง ศึกษา เรียนรู้
    • ส่วนผู้เรียนไม่มีตำราเรียน เมื่อจะเรียนรู้อะไร จะต้องไปเรียนกับครูอาจารย์ โดยการเรียนสมัยนั้นก็จะเน้นการท่องจำเป็นหลัก การท่องครูก็จะให้ท่องวันละไม่มากนัก เมื่อใครท่องจำได้แล้ว ก็จะไปหาครูอาจารย์เพื่อให้ครูเพิ่มบทเรียนใหม่ต่อไป หรือถ้าบทสวดยาวมากก็จะให้ท่องครั้งละครึ่งบท เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เรียกว่าไปต่อหนังสือ เรียนต่อจากบทเก่า หรือไปต่อความรู้เพิ่มเติมเรื่องใหม่จากครูอาจารย์
    • การเรียนด้วยวิธีนี้ผู้เรียนต้องจำความรู้เดิมที่ครูให้มาก่อน เมื่อจำได้แล้วก็ไปท่องให้ครูฟัง แล้วครูจึงจะเริ่มให้เรียนบทใหม่ต่อไปได้ เรียกว่าท่องแบบส่งครูอาจารย์(บทสวดมนต์,แบบ-บาลีไวยากรณ์,คาถา,บทมนต์ต่างๆ)

    หลวงพ่อประทวน  ปิยธมฺโม(ยิ้มอยู่) : ผู้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการท่องบทสวดมนต์เจ็ดตำนานแบบมุขปาฐะด้วยวิธีจุดธูป

    • ปีนี้(๒๕๕๓)ท่านมีอายุ ๗๔ ปี บวชได้ ๒๑ พรรษา จำพรรษาที่วัดศรีโสภณ
    • เมื่อท่านบวชครั้งแรก อายุ ๒๒ ปี ที่วัดวังทองฯ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก (๒๕๐๑)
    • เนื่องจากท่านมีโอกาสได้เรียนหนังสือแค่เพียงป. ๑ เท่านั้น ทำให้อ่านหนังสือไม่ออก ก่อนบวช ผู้บวชจำเป็นต้องท่องคำขอบวชให้ได้ก่อน เมื่อเป็นดังนั้น การท่องขานนาคจึงต้องอาศัยให้ผู้อื่นท่องให้ฟัง(หลวงพ่อประพันธ์-เจ้าคณะอำเภอวังทอง) แล้วจึงท่องตามทีละเล็กทีละน้อย  จนท่องได้หมด โดยใช้เวลาท่องเพียง ๑๐ เท่านั้น
    • เมื่อบวชแล้ว  เรื่องท่องมนต์เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากของพระบวชใหม่ การท่องหนังสือไม่ได้นั้นหมายถึงความล้มเหลมแห่งการบรรพชาอุปสมบท เพราะยุคนั้นจะนิยมบวชกันนานๆอย่างน้อยก็หนึ่งพรรษาขึ้นไป
    • การบวชนานขนาดนี้ ถ้าผู้บวชไม่วางแผนเรื่องการสวดมนต์ไว้ล่วงหน้า เมื่อออกกิจนิมนต์ สวดมนต์ไม่ได้ หรือได้ไม่กี่บท ยิ่งบวชหลายเดือนด้วยแล้ว  ถ้าสวดมนต์ไม่คล่อง ไปนั่งมิ(สวดไม่ได้) ต่อหน้าญาติโยม รู้ไปถึงไหนอายไปถึงนั่น ถ้าญาติโยมรู้จักว่าพระใหม่องค์นี้เป็นลูกใครด้วยแล้ว
    • ก็จะทำให้ข่าวสารนี้กระจายรู้ไปถึงบ้าน พระก็ไม่สบายใจและโยมพ่อโยมแม่ก็จะอายเขาอีกด้วย
    • หลวงพ่อประทวนท่านเล่าว่าการบวชครั้งนั้น ท่านต้องใช้ความเพียรมากกว่าพระที่บวชพร้อมกันหลายเท่าตัว  เพราะส่วนมากท่านเหล่านั้นอ่านหนังสือออก ตัวเองอ่านไม่ออกจึงต้องอาศัยจำบทสวดจากพระรูปอื่นๆ(หลวงพ่อม้วน,หลวงพ่อวาว ซึ่งท่านทั้งสองรูปนี้ต่อมาก็ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอวังทอง และเจ้าคณะตำบลวังทอง)ที่สวดให้ฟัง
    • ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีความเป็นจำดี  จดจำได้เร็ว ท่องต่อจากพระพี่เลี้ยงพระอาจารย์ได้สองสามบรรทัด เพียงครึ่งชั่วโมงจำได้แล้ว  ฉะนั้นวันหนึ่งจึงท่องได้มาก อย่างเช่น บทกรณีฯ ซึ่งเป็นบทที่สวดยากและเป็นบทที่มีความยาวมากด้วย ท่านสวดคืนเดียวได้ ซึ่งพระที่อ่านหนังสือออกทั้งวัดไม่มีรูปใดสวดได้ภายในวันเดียวเลย  มีท่านรูปเดียวที่สวดได้ ท่านจึงเป็นที่รักของอุปัชฌาย์และคู่สวด
    •  วิธีที่ท่านใช้ในการท่องบ่นบทสวดมนต์ในเวลากลางคืน คือท่านจำมากท่านเจ้าคุณพิษณุฯ เจ้าอาวาสวัดใหญ่(วัดพระพุทธชินราช)เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก โดยท่านแนะนำพระบวชใหม่ว่า การท่องหนังสือตอนกลางวันมักมีเสียงลบกวน ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิในการท่อง
    • ถ้าจะให้จำดี ต้องท่องกลางคืน จะทำให้จำได้เร็ว เมื่อง่วงนอนให้จุดธูป แล้วนำธูปที่จุดนั้นมาเหน็บไว้ที่ระหว่างนิ้วเท้า ไม่อยากหลับนานก็ให้หักก้านธูปออกครี่งหนึ่ง  เมื่อไฟไหม้ธูปจนมาถึงนิ้วเท้าก็จะสะดุ้งตื่นแล้วท่องหนังสือต่อได้
    • ท่านบอกว่าท่านใช้วิธีนี้ทั้งขี้ธูปและไฟจากก้านธูปล่วงใส่นิ้วเท้า หลังเท้า จนหลังเท้าและนิ้วเท้าบวมทั้งสองข้าง

     

    กราบนมัสการรพะคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มหาแล พระอธิการโชคชัย
    และขอสวัสดีทุกท่านของเวทีคนหนองบัวครับ

                            

                             

                            

                            

    ผมได้พานักศึกษาไปดูงานที่สิงคโปร์มาครับ สิงคโปร์มีเพื่อนชาวหนองบัวที่เข้ามาอ่านและชมเวทีคนหนองบัวด้วยครับ เลยนำรูปมาฝากกันก่อนครับ ได้รูปสวยๆและแลแปลกตาดีครับ

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    •  มีคนถามหาอาจารย์อยู่เหมือกันว่า อาจารย์วิรัตน์คงไม่อยู่แน่เลย เพราะเงียบหายไป
    • ขอบคุณอาจารย์ที่นำภาพจากการทัศนศึกษาดินแดนลอดช่อง(สิงคโปร์)มาฝากเวทีคนหนองบัว
    • ขอต้อนรับเพื่อนใหม่จากประเทศสิงคโปร์ด้วยความยินดี
    • และขอถามอาจารย์เป็นความรู้ ด้วยความไม่รู้จริงๆว่า ประเทศสิงคโปร์ เขาทำนากันบ้างไหมหนอ

     

    เจริญพรโยมอาจารย์

    ขอบคุณอาจารย์ที่นำภาพจากการทัศนศึกษาดินแดนลอดช่อง(สิงคโปร์)มาฝากเวทีคนหนองบัว น่าอิจฉานักศึกษาจัง... ตอนเรียนวิชาภูมิภาคศึกษามีโปรแกรมที่จะไปดูงานที่สิงคโปร์เหมื่อนกัน อุตสาเก็บเงินเก็บทองแทบแย่จะได้ไปต่างประเทศ..บทสรุปไปได้แค่เขาค้อ เพชรบูรณ์เองครับ...แมเสียดายจังๆๆ

    โยมอาจารย์สบายน่ะครับ เจริญพร

    ทุ่งรวงทอง : ความสัมพันธ์อันชื่นมื่นระหว่างคนกับควายในฐานะคู่ทุกข์คู่ยากด้วยกิจกรรมการทำงาน

    • ทุ่งรวงทอง ท้องนาของฉัน อุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชผักที่ปลูกกินเอง พืชผักของป่านานาชนิดที่กินได้ มีอยู่ทั่วไป หากินได้ตามฤดูกาล นอกจากพืชผักแล้วในท้องทุ่งนา ก็ยังมีสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลา นก หนู อีกมากมาย
    • การดำเนินชีวิตเช่นนี้ เป็นการพึ่งพิงธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ อาศัยธรรมชาติเป็นหลัก เป็นการเรียนรู้ที่อยู่กับความเป็นจริง ของที่มีอยู่จริง ใกล้ชิดธรรมชาติ
    • ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องไม้เครื่องมือ ส่วนใหญ่ทำขึ้นเอง วัสดุมีอยู่ตามท้องไร่ปลายนาหาได้ไม่ยาก สิ่งที่ทำเองนี้ เมื่อผุพังเสียหาย จะซ่อมแซมบำรุงรักษาหรือสร้างทำขึ้นใหม่ก็ทำด้วยตัวเราเองอีกนั่นแหละ พึ่งตนเองสูง ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ เพราะเมื่อไปยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจแล้ว ถ้าเขาไม่ให้ขึ้นมา ก็จะทำให้เราไม่มีลมหายใจ ก็เท่านั้นเอง(หมดลมนะซิ)
    • เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในทุ่งรวงทองนี้ ต้องเป็นคนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาให้เป็นด้วย นี่คือปรัชญาชาวนานะเนี่ย
    • คอกควายอยู่ใต้ถุนบ้าน เช้ามืดหน้าทำนาจะได้ยินเสียงการเปิดคอกควายของบ้านที่อยู่ใกล้ๆกัน เสียงตอกลิ่มกลอนประตูดังโป๊กๆเป๊กๆ  ตกตอนเย็น งัว ควายเข้าคอกแล้ว ก็จะได้ยินเสียงนี้อีกครั้งทุกวี่วัน
    • ในท้องทุ่งนา ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จึงเต็มไปด้วย งัว ควาย เสียงร้องของงัวเปลี่ยว ดังระงมเซ็งแซ่ มีเสียงคนไล่ควายทั้งจากคนไถนา ตีครุบ คราดนา ดังข้ามท้องนารอบ ๆ ตัวเราทุกทิศทาง เพลินใจดี อีกทั้งเสียงวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่วางอยู่ตามหัวคันนา ก็ดังก้องทุ่งนาเลยเชียว เสียงที่ได้ยินนั้น ก็ตามรสนิยมของผู้ฟังแต่ละเจ้า มีทั้งลิเก นิยาย ละคอน เพลงลูกทุ่งยอดฮิต รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งจะเยอะนิดนึง
    • อีกภาพหนึ่ง เหมือนขบวนพาเหรดกลางท้องทุ่งเลย ก็คือการเดินทางไปนา ทั้งขาไป ขากลับ ที่ต่างคนต่างไปก็จริงอยู่ แต่เมื่อไปรวมกันอยู่บนท้องถนนหรือในสอกแล้ว เกวียนจำนวนมากๆ ที่ทะยอยตามกันไปนั้น  จะต่างจากรถบ้างก็คือรถนั้นแซงกันได้ไม่ยาก ใครมีธุระรีบด่วนก็ไปก่อนได้ แต่เกวียนนี่ ยากมากที่จะแซงคิวกัน นอกจากงัวคู่นั้นจะมีฝีเท้าระดับฉกาจ ชนิดเร่งได้อย่างใจเจ้าของ ถ้าฝีเท้าขนาดนี้ก็มีโอกาสแซงหน้าคนอื่นได้อยู่ นี่เป็นภาพที่สวยงามภาพหนึ่ง
    • งัว ควายในฐานะคู่ทุกข์คู่ยากของชาวนา ส่วนใหญ่เรื่องความสัมพันธ์กับเจ้าของแล้ว บอกได้คำเดียวว่า สามารถสื่อสารกันได้อย่างดี เขาจำเสียงเจ้าของได้ ไม่ว่าจะให้สัญญาณถอย เดินหน้า เลี้ยวซ้าย-ขวา หยุด เจ้าทุยสามารถแยกคำสั่งดังกล่าวได้โดยไมมีผิดคิว
    • ความสัมพันธ์ระหว่างควายที่กินหญ้ากับควายที่กินน้ำมันนั้นต่างกันอย่างมาก
    • ควายมีความสัมพันธ์กับคนแบบมีจิตวิญญาณ มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึก สุข ทุกข์ ทั้งหมดเป็นไปด้วยกันรับรู้กันได้
    • แต่ควายที่กินน้ำมันนั้น เป็นควายที่ไร้วิญญาณ ไร้ชีวิตจิตใจ กินแต่น้ำมันเท่านั้นก็หาไม่ แต่กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ผลผลิตรายได้ทั้งหมดควายตัวนี้กินเรียบ กินทั้งต้นทุน ทั้งดอกเบี้ย กินจนพี่น้องชาวนากระดูกสันหลังของชาติชักอยากจะขายนาหนีควายตัวนี้กันหมดแล้ว

     

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมไม่ได้เข้ามาพูดคุยกับหลาย ๆ ท่าน นานพอ ๆ กับที่ไม่ได้กลับไปบ้านที่หนองบัว

    มีแต่สอบถามทางโทรศัพท์ ก่อนหน้านี้อาทิตย์นึงที่บ้านเราแล้งจัด น้ำประปาในบ่อแห้งขอด ข้าวบางส่วนยืนตายแล้ง

    อาทิตย์นี้กลับตาลปัตร ปรากฏว่าน้ำเหนือไหลบ่าล้นคลองมาจากทางห้วยถั่วเหนือ จนข้าวในนา ช็อค.....ตั้งตัวไม่ทัน นึก ๆ ไปก็น่าสงสารชาวนา

    การควบคุมน้ำให้มีปริมาณพอดีไม่ได้นี่ ทำให้ชาวนาแย่ ลืมตาอ้าปากไม่ได้สักที

    เจริญพรอาจารย์สมบัติ

    • อาจารย์หายเงียบไปซะตั้งนานเลย
    • ทางหนองคายเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนหน้านี้ได้ยินข่าวว่าแม่น้ำโขงแห้งแก๊ก
    • ปีที่แล้วที่หนองบัว ข้าวดี แต่เจอทั้งแล้ง ทั้งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เลยงอมพระรามไปตามๆกัน(ติดหนี้)
    • ปีนี้ก็อีกแล้ว แล้งมาก่อน ตอนนี้ก็ท่วมอีกแล้ว
    • เคยได้ยินนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ศรคีรี ศรีประจวบ ตอนยังไม่บวชสามสิบปีที่แล้ว ร้องเพลง ชื่อเพลงน้ำท่วม เพลงนี้ดังมาก หน้าน้ำท่วมก็ดัง หน้าแล้งก็ดัง
      .....น้ำท่วม น้องว่า ดีกว่าฝนแล้ง
      พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า......
      .....น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา
      ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย.
      จำได้แค่นี้แหละ
      อาจารย์สมบัติคงสบายดีเนาะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีครับคุณสมบัติ และทุกท่านนะครับ

    • คุณสมบัติหายไปนานเลยนะครับ
    • เมื่อเดือนที่ผ่านมาในช่วงวันแม่ ผมได้กลับบ้านและนั่งรถตู้ผ่านเข้าไปบ้านน้ำสาดและธารทหาร ก็พยายามมองละแวกบ้านสองข้างทางแถวนั้นและยังนึกถึงคุณสมบัติกับเพื่อนๆที่อยู่บ้านแถวนั้น
    • ที่นึกถึงก็เนื่องจากรู้สึกว่ามันไกลจากหนองบัวเอาเรื่องเหมือนกัน ทำให้นึกถึงเมื่อก่อนนี้ว่าพวกเพื่อนๆที่อยู่แถวบ้านนั้น ต้องเดินทางไปเรียนหนองคอกด้วยความลำบากมากทีเดียว

    นมัสการพระคุณเจ้าฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ฯ ครับ

    เมื่อเช้าอ่านพบใน Intranet ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารภายในกรมฯ พบว่ามีประกาศบิดาข้าราชการเสียชีวิต นามสกุลคุ้น ๆ เหมือนเคยอ่านพบใน blog ของท่านอาจารย์วิรัตน์ฯ หรืออย่างไรนี่แหละ

    นามสกุล...พานทองดี.....น่ะครับ

    กำหนดสวดพระอภิธรรม 3 - 8 กันยายน 2553 ณ วัดเทพสทุธาวาส ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัวบ้านเรา พระราชทานเพลิงศพ วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายนนี้ เผื่อว่าพี่น้องท่านใดที่เป็นญาติ หรือใครที่รู้จัก ก็ขอบอกต่อครับ อ้อ....ผู้เสียชีวิตชื่อนายอำนาจครับ ส่วนข้าราชการคนดังกล่าวชื่อนางสาวสุชาดา

    เห็นชื่อนี้ผ่าน ๆ ตา แต่ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นชาวอำเภอหนองบัว

    ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่ได้ช่วยแจ้งข่าวนี้
    ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวพานทองดีและลูกๆด้วยที่ได้สูญเสียคุณพ่อไปในครั้งนี้
    และก็ขอประชาสัมพันธ์ต่อให้ญาติพี่น้องหรือคนที่รู้จักกับผู้วายชนม์(คุณอำนาจ พานทองดี)ได้ทราบว่าพรุ่งนี้(๙ กันยายน ๒๕๕๓) มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพสุทธาวาส

    ครอบครัวนามสกุลพานทองดีนี่ ผมรู้จักอยู่แต่ในตลาดฝั่งวัดหนองกลับครับ ไปจัดงานอยู่ฝั่งวัดเทพสุทธาวาสนี่ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นญาติของเพื่อนหรือเปล่านะครับ หากใช่ประเดี๋ยวเพื่อนๆก็คงบอกกล่าวถึงกัน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องขอแสดงความเสียใจและขอคารวะผู้วายชนม์ด้วยครับ

    กราบนมัสการพระคุณอาจารญืมหาแล และพระอธิการโชคชัย และสวัสดีพี่วิรัตน์ฯ น้องสมบัติ และทุกๆท่านครับ

    ผมเองก็เงียบหายไปนาน พอๆกับน้องสมบัติเลย

    แต่ว่าก็เข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยมีเวลามาเขียนอะไรต่ออะไรมากนัก

    อีกหน่อยคงต้องเข้ามาตอกบัตรให้รู้ว่าเข้ามาแล้วนะ

    วันนี้จะไปหนองบัว ก็จะไปงานศพเตี่ยเพื่อนที่วัดเทพสุทธาวาสนี่แหละ

    ตั้งใจว่าจะออกจากบ้านเที่ยงตรง คงต้องล่าช้าออกไปครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงแน่ๆ

    เพราะมีปัญหาเครื่องซักผ้า เพิ่งซื้อเครื่องใหม่มาเมื่อวาน เครื่องเก่ามันเสียไปเมื่อหลายวันก่อน เมื่อคืนแม่บ้านได้ทดลองซักโดยเครื่องใหม่ครั้งแรก ตอนเช้าเราก็ไปเอาผ้าที่ซักแล้วไปเข้าเครื่องอบ (ช่วงนี้แดดไม่ค่อยมี เครื่องอบได้ทำหน้าที่เยอะหน่อย) ก็รู้สึกว่ามันมีกลิ่นอยู่นะ เดี๋ยวเข้าเครื่องอบกลิ่นคงจะหาย ส่วนแม่บ้านก็มาจัดการเสื้อผ้าอีกกองเข้าเครื่องซัก แล้วก็ลองเปิดตู้อบเพื่อดูผ้าที่ซักไว้เมื่อคืนว่าผลงานเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็รีบโทรเข้ามือถือเราตอนที่กำลังขับรถไปส่งลูกไปโรงเรียน ว่ากลิ่นเหม็นอย่างนี้เอาเข้าอบได้อย่างไร มันก็เลยทำให้มีผ้า 2 กองที่ต้องมาซักตอนเช้า ตอนนี้กองแรกอาไปตากแล้ว ก็ยังมีกลิ่นตุๆอยู่ ระหว่างกำลังรอกองสุดท้ายซักเสร็จก็รีบเข้ามาคุยกับพวกเรานี่แหละ เสร็จธุระที่บ้านก็จะรีบไปหนองบัวแล้ว

    อาเจ็กยู้ที่เสียชีวิตไปนี่ น่าจะเป็นลูกฮั้งคีมนะ เมื่อ20-30ปีก่อนเคยทำฟาร์มไก่ที่หนองบัว ตอนหลังไปอยู่กับลูกที่กรุงเทพฯที่จรัญฯซ.13

    ลูกสาวคนโตนี่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผม ชื่อสุรีย์พร ทำชุดชั้นในจินตนาอยู่ที่จรัญฯ13 นั่นแหละ

    พูดถึงฮั้งคีม คนเก่าๆในหนองบัวต้องรู้จัก รถเมล์หนองบัว-ชุมแสงยุคแรกๆนี่ก็เป็นของฮั้งคีม

    พี่น้องของฮั้งคีม ก็จะมีชื่อขึ้นต้นด้วยฮั้ง เช่น ฮั้งลั้ง เจ้าของโรงสี , ฮั้งชอในตลาดหนองบัว เป็นต้น

    แค่นี้ก่อนครับ ต้องรีบไป กลับจากหนองบัว เจอะเจออะไรจะมาเล่าให้ฟังครับ (ไม่มีเวลามาจัดรูปแบบตัวหนังสือ ไม่รู้ว่าจะติดเป็นพืดไปเลยรึเปล่า)

    • สวัสดีครับฉิกครับ
    • ฮั้งคีมนี่เป็นเจ้าของรถเมล์แดงใช่ไหมครับ รถเมล์ของหนองบัว-ชุมแสง มีรถเมล์แดงและเมล์เขียว
    • ลูกโรงสีฮั้งลั้งนี่ เป็นรุ่นพี่ผมที่หนองคอกคนหนึ่ง 

    เมื่อตอนกลางวัน เพื่อนที่ปากน้ำโทรมาบอกว่า เมื่อวานนี้ได้เห็นสคริปต์โฆษณารายการทุ่งแสงตะวันที่จะออกอากาศช่อง3 วันพรุ่งนี้ (เสาร์ที่ 11 ก.ย.) เวลา 06.25 เค้าโปรยไว้ว่า "อุ้มน้องคืออะไร ไปรู้จักดอกไม้ที่ชาวบ้านและเด็กๆ อ.หนองบัว นครสวรรค์ รอคอย" อยากจะฝากให้พวกเราเฝ้าจอช่วงวัน-เวลาดังกล่าวครับ

    แต่ถ้าไม่ว่างในช่วงเวลาดังกล่าว ก็สามารถดูรายการย้อนหลังได้ทางอินเตอร์เน็ตนี่แหละ ก่อนที่ผมจะมาบอกกล่าว ผมก็ต้องไปย้อนดูรายการเมื่อวานหาโฆษณาที่ว่านี้ เพื่อจะได้ยืนยันข้อมูลตามที่เพื่อนบอกมา

    เมื่อวานไปงานพระราชทานเพลิงศพที่หนองบัว ได้อยู่ที่หนองบัวไม่ถึง 3 ชม.ก็ต้องกลับกทม. ไว้มีเวลาจะมาเล่าให้ฟังว่าไปเจอะเจออะไรมาบ้า ง แค่นี้ก่อนครับ

    เจริญพรคุณฉิก

    • ดีจังเลย ที่คุณฉิกได้ช่วยส่งข่าวบอกกล่าวความเคลื่อนไหวในหนองบัว
    • ถ้าคนหนองบัวอยู่ที่บ้าน เข้ามาอ่านตอนนี้ คงได้บอกกล่าวข่าวนี้กันเกลียวกราว แบบคนบ้านนอกเลยแหละ คือใช้วิธีกระจายข่าวง่ายๆบอกกันชนิดถึงตัวถึงบ้าน
    • เดี่ยวผู้เขียนดูแล้ว(ถ้าไม่ลืม) คงจะได้นำมาบอกเล่าให้พี่น้องชาวหนองบัวที่ไม่ได้ชมกันบ้าง
    • ดอกอุ้มน้องนี้เป็นผักป่า ผักพื้นบ้านของหนองบัว ที่ชาวบ้านรู้จักกันดี ถือเป็นของป่าที่ชาวบ้านได้นำมาบริโภคกันทุกปีตามฤดูกาล
    • ได้ทราบจากเว็บไซต์โรงเรียนหนองบัว(หนองคอก)ว่า ดอกอุ้มน้องเป็นพืชหายาก ถึงขั้นต้องอนุรักษ์กันเลยทีเดียว
    • ก็น่ายินดีกับเด็กๆและชาวบ้านหนองบัวอย่างมาก ที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ดอกอุ้มน้อง พืชเศรษฐกิจหนองบัวและนำมาเผยแพร่ให้ได้รู้จักกันในวงกว้าง

    เสริมต่อจากคุณอาฉิกครับ

    (2010-09-11) -อุ้มน้อง ทุ่งแสงตะวัน เด็กๆ บ้านร่องดู่ ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ชวนเข้าป่าหน้าฝน พาไปรู้จักกับดอกไม้พื้นถิ่นกินได้ สีเหลืองสะดุดตา เด็กๆ มีวิธีนำดอกไม้ป่าออกมาอย่างไร โดยไม่เป็นการทำลายธรรมชาติ ต้องติดตามในทุ่งแสงตะวัน เสาร์นี้

    ภาพจากรายการทุ่งแสงตะวัน

    เสาอากาศทีวี : นวัตกรรมอันมหัศจรรย์บนหลังคาบ้าน

    • ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม เรื่องข่าวสารข้อมูลนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญเสมอมา ชาวบ้านตามชนบทนั้นยากเหลือเกินที่จะได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
    • ความรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชาวบ้านรับรู้ได้ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นวิทยุ และวิทยุนั้นก็ใช่จะมีกันได้ทุกบ้านก็หาไม่ รายการข่าวชาวบ้านจะออกอากาศเวลาเช้า กลางวัน และกลางคืนจนถึงช่วงดึก
    • ส่วนรายการข่าวที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ จะออกช่วงเดียว คือภาคค่ำ เป็นการนำเสนอข่าวแบบจืด ๆ ชืด ๆ เชย ๆ ไม่ได้เน้นการนำเสนอแบบที่หวืหวา ตื่นเต้น แข่งขันช่วงชิงกันนำเสนอชนิดดุเดือดเป็นรายชั่วโมงตลอดวันตลอดคืนเหมือนยุคนี้แต่ประการใด
    • รายการข่าวเมื่อยุคก่อนหน้านี้ ผู้ชมทางบ้านได้ชมแต่ภาพข่าวอย่างเดียว ไม่มีโอกาศได้เห็นผู้อ่านข่าวเลย ได้ยินแต่เสียง เหมือนฟังข่าวจากทางวิทยุ ยังไง ยังงั้น ไม่แตกต่างกัน
    • ทีนี้มาพูดถึงนวัตกรรมมอันหัศจรรย์บนหลังคาบ้านกันดูบ้างว่าจะเป็นเช่นไร นวัตกรรมที่ว่านั้นก็คือเสาอากาศทีวี เสาโทรทัศน์นั่นเอง
    • การติดตั้งเสาอากาศฯ ตามต่างจังหวัดหรือตามบ้านนอกนั้น ก็แสนจะน่าทึ่งเสียเหลือเกิน เพราะค่าติดตั้งเสามันจะแพงกว่าตัวโทรทัศน์นะซิ
    • เสาอากาศทีวีนี้สูงเสียดฟ้าเลยทีเดียว สูงปานเสาโทรเลขนั่นแหละ เคยนั่นรถไฟผ่านตลาดอำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก จ.พิจิตร ตลาดอำเภอชุมแสง ตลาดปากน้ำโพ ตลาดเมืองนครสวรรค์ ในตลาดดังกล่าวมีสิ่งมหัศจรรย์อันหนึ่งนั่นก็คือเสาอากาศโทรทัศน์ที่สูงเทียมฟ้าเรียงกันเป็นตับ ยิ่งมีบ้านช่องหนาแน่นมากๆ ก็จะดูแปลกตาดีแท้ๆ โดยปลายเสาแต่ละเสาจะมีก้านแยกย้ายกันออกไปดักจับคลื่นในอากาศ
    • สำหรับที่ตลาดหนองบัวนั้น ก็มีเสาทีวีเยอะไม่แพ้ที่อื่น โดยเพฉาะเมื่อมองจากชั้นสองของกุฏิพระวัดหนองกลับด้วยแล้ว จะมองเห็นนวัตกรรมนี้เมือบ(เยอะแยะ)มากมายทั้งตลาด
    • เสาสูงมากขนาดนี้เมื่อถูกลมกระทบแรงๆเสามักเคลื่อนตัวทำให้ภาพทีวีไม่ชัด ทั้งเสียง และภาพ การจะขึ้นไปขยับเสาอากาศบนหลังคาบ้านเพื่อปรับสัญญาณ ต้องอาศัยคนใจกล้า ใจถึงหน่อย คนอยู่ข้างบนขยับเสาไปมา แล้วก็จะตะโกนถามคนข้างล่างว่า
      “ แจ่มยังล้าว.....”
      ทางข้างล่างที่จ้องหน้าจอ สังเกตการณ์ภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็รายงานผลขึ้นไปว่า
      “ยัง ๆ ภาพยังลายอยู่ ภาพยังซ้อนอยู่เลย”
      ช่างประจำบ้านที่อยู่ข้างบนก็ขยับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลงตัว ประมาณนั้น
    • บนเสาสูงนี้ยังมีปัจจัยหรือองค์ประกอบอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นกันจนชินตาเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปของชาวบ้านเลยก็คือ กาละมังสังกะสีขนาดย่อมใบหนึ่งใช้สำหรับปรับภาพทีวี
    • ไม่แน่นะ ชาวบ้านใช้นวัตกรรมกาละมังสังกะสี และนวัตกรรมนี้อาจเป็นที่มาของเทคโนโลยี่ยุคไอทีก็ได้ คือจากกาละมังฯ กลายมาเป็นจานดาวเทียม

     

     

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับฉิกและคุณเสวกครับ

    รู้สึกได้ถึงความสุขและความภาคภูมิใจของทุกท่านเลยนะครับที่เห็นเรื่องราวจากท้องถิ่นหนองบัว ได้เป็นสื่อการเรียนรู้ของสังคมและสิ่งแวดล้อมของสาธารณะ

    รายการทุ่งแสงตะวัน ของคุณนิรมล เมธีสุวกุลนี่ ทำให้ผมนึกถึงสื่อพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมที่สร้าง Mass Culture ที่ในยุคหนึ่งๆก็จะมี หล่อหลอมและให้ประสบการณ์ร่วมกัน สร้างบุคลิกของคนแต่ละรุ่นในสังคม เช่น ยุคลุงล้วน ควันธรรม ต่อมาก็ยุคสโมสรผึ้งน้อย แล้วก็มาถึงยุคทุ่งแสงตะวัน  เป็นความงดงามและเป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่ดีนะครับ

    • เมื่อวาน(๑๑ กันยายน ๒๕๕๓)ตั้งใจว่าจะดูรายการทุ่งแสงตะวันที่นำเสนอเรื่องดอกอุ้มน้อง ผักป่าจากหนองบัวบ้านเรา แต่ดูไม่ทัน
    • อินเตอร์เน็ตก็ช้ามากๆ จะเข้าไปดูย้อนหลังจากทีวีก็คงไม่สะดวก(เน็ตอืด)
    • คงต้องรอจากผู้ได้ชม(คุณฉิก)หรือท่านใดที่ได้ดูแล้ว จะช่วยนำมาเล่าให้ฟัง ก็น่าจะทำให้ได้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก
    • ขอเจริญพร

    พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ (เอี่ยมยัง) เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 12 กันยายน 2553

    เรียนท่านพระมหาแล อาสโย เจริญพรอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • เสียงสะท้อน การคุยและฟังเสียงหัวใจของพระนิสิตนักศึกษา กับการปรึกษาวิชาการและวิทยานิพนธ์ การให้การศึกษาอบรมและการวิจัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษานั้น ต้องจัดความสำคัญใหม่ให้เป็นการเรียนรู้และทำวิจัยด้วยกัน มากกว่าจะคิดว่านักศึกษาและผู้เรียนเป็นผู้ที่ยังไม่รู้และได้ความรู้ความเชี่ยวชาญไปจากอาจารย์ผู้สอน.... เราต้องมองว่า การศึกษาและการทำวิจัยของนักศึกษานั้น ไม่ควรมองว่าเป็นนักเรียนและนักศึกษา แต่เป็นการมาทำงานด้วยกันกับอาจารย์และทีมวิชาการในสภาพแวดล้อมที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการให้เขาได้ทำงานได้เป็นอย่างดีและอย่างมีอุดมคติ เป็นเวทีที่นำเอาปัญหาจากความเป็นจริงมาเรียนรู้และทำงานทางวิชาการ โดยมุ่งประสบการณ์หาความสำเร็จในวิถีวิชาการที่ทำงานเพื่อสังคม ทั้งของท้องถิ่นและของโลก

    • แล้วกระบวนการทำวิจัยก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน อีกทั้งหลายเรื่องก็กลายเป็นการได้ทำงานด้วยกันที่สามารถเป็นโอกาสแสดงออกทางวิชาการในเชิงอุดมคติ กล่อมเกลาและพัฒนาสภาวะตัวตนไปด้วยกันมากกว่าจะเป็นการทำงานให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดให้ต้องแบบแกนๆของเขา (วิรัตน์ คำศีรจันทร์, วิถีประชาศึกษา, หน้า205-206)

    • “ ...กระบวนการเรียนรู้ คือการพาคนอื่นพัฒนาความรู้และสร้างศักยภาพเพื่อนำไปปฏิบัติต่างๆนั้น หากไม่ให้สังคมภายนอกเขานึกถึงและพึ่งพาคนมหาวิทยาลัยแล้วละก็ คนเขาจะไปพึ่งใครและสังคมเขาจะสร้างมหาวิทยาลัยมาทำไม??? ...... “ (การใช้บล็อกช่วยเพิ่มขีดความสามารถคนทำงานความรู้/สอนและบริการวิชาการฯลฯ)

    • โยมอาจารย์วิรัตน์ครับจากที่อาตมาอ้างมาในเบื้องต้นนั้น ทำให้การศึกษาวิจัยเวทีคนหนองบัวดูจะเข้มข้นมีรสชาติ และสืบเนื่องจากที่อาตมาไม่ได้พูดคุยถึงความคืบหน้างานวิจัยกับอาจารย์วิรัตน์มานานพอสมควรปัญหาเกิดจากการติดตั้งอินเตอร์เน็ตยังไม่สมบูรณ์ แต่ได้นำประเด็นการศึกษาวิจัยไปเสนออาจารย์ที่คณะ มีคำถามที่ถามอาตมาเกิดขึ้นมากมาย พอจะพูดคุยแลกเปลี่ยนให้อาจารย์ทราบและรบกวนอาจารย์วิรัตน์ช่วยตอบด้วยครับ

    • ประเด็นหรือหัวข้อเรื่องที่นำไปเสนอคือ การใช้เครือข่ายทางสังคม(Social Networks)เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่น กรณีศึกษาเวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล๊อกGotoknow

    • หมายเหตุ: อาตมาใช้คำว่า เครือข่ายทางสังคม (Social Networks) แทนคำว่า สื่อสารเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต/ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

    โดยมีวัตถุประสงค์/กรอบแนวคิด คือ

    1. เพื่อศึกษาการใช้เครือข่ายทางสังคม ( Social networks ) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่นของเวทีคนหนองบัว

    - ศึกษาประวัติความเป็นมาในอดีต

    - ศึกษาการดำเนินงานในปัจจุบัน

    2. เพื่อศึกษาแนวคิด วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการใช้เครือข่ายทางสังคม ( Social networks ) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่นของเวทีคนหนองบัว

    - ศึกษาแนวคิด/ทฤษฎี

    - ศึกษาวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือรูปแบบ

    - ศึกษาเนื้อหา/ประเด็น ที่เป็นนโยบายสาธารณะท้องถิ่น/สำนึกรักท้องถิ่น

    3. เพื่อศึกษาผลของใช้เครือข่ายทางสังคม ( Social networks ) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่นของเวทีคนหนองบัว

    - ศึกษาผลทางชุมชนท้องถิ่น ( ในพื้นที่ชุนชนหนองบัว )

    - ศึกษาผลชุมชน Online

    - วิธีคิดและวิธีปฏิบัติ

    • จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว ถูกตั้งคำถามมากมาย แต่ในการถามถ้าถามแล้วทำให้เกิดการเรียนรู้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถามและผู้ตอบ (ปุจฉา-วิสัชนา ปริศนาวิถีวิทยา) เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ ชวนให้คิด เกิดจินตนาการในการอยากที่จะเรียนรู้ และตอบได้โดยอัตโนมัติก็จะเป็นสิ่งที่ดี เช่น การศึกษาวิจัย เราจะศึกษาอะไร ศึกษาเพื่ออะไร ศึกษาทำไม ซึ้งเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นมาแล้วหาคำตอบ/ตอบโจทย์ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ก็พอจะรับได้ตอบได้

    • แต่มีคำถามที่ผู้ศึกษาวิจัยถูกถามแบบไม่ทันตั้งตัว(เหมือนถูกชกโดนน็อกล้มลงกลางเวที)

    • ถาม: เวทีคนหนองบัวในเว็บบล็อกโกทูโนก่อเกิดขึ้นมาเมื่อไร? เป็นเวทีที่ประสบความสำเร็จแล้วใช่ไม? มีใครบ้างยอมรับ เคยได้รับรางวัลอะไรมาบ้างหรือว่าประสบความล้มเหลว? แล้วทำไมจึงศึกษาเวทีคนหนองบัว ข้อดี/ข้อเสีย ? มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ เวทีอื่น/เว็บอื่นก็มีเกิดขึ้นมากมาย ทำลักษณะนี้ก็มีเยอะแยะ คนเขียนเว็บบล็อกเป็นคนทำวิจัยเองหรือเปล่า หรือเป็นการสร้างกระแส เชียร์เว็บตัวเองเพื่อดูให้น่าสนใจ แล้วจำนวนคนที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อ่านบทความมีจำนวนสถิติเท่าไรจึงถือว่าประสบผลสำเร็จ คนบางคนเข้ามาครั้งเดียวก็หายเงียบไปก็มีเยอะ คนๆเดี่ยวกันใช่ชื่อหลายชื่อก็มี และที่สำคัญเวทีคนหนองบัวมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นนโยบายสาธารณะได้อย่างไร/มีประเด็นอะไรน่าสนใจ?

    • อาตมภาพต้องขอรบกวนอาจารย์วิรัตน์ และท่านผู้รู้ ช่วยอธิบาย ให้ความเห็นตอบคำถามเหล่านี้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป

    • เจริญพร ขอบพระคุณ ณ โอกาสนี้

    เปิดเข้าไปในพันทิปและเวปอื่น ๆ มีแต่คำชมว่า......ดอกอุ้มน้อง......เป็นคำที่น่ารักมาก รูปร่างสีสันดูสวยงามดี

    ผมเองก็เคยได้ยินญาติ ๆ ที่ร่องดู่และหนองขามพูดถึงเหมือนกัน แต่นานมาแล้ว เพิ่งมาเห็นภาพจากสื่อเมื่อไม่กี่วันมานี้เองครับ

    • ดอกอุ้มน้องของหนองบัวเราดังใหญ่แล้วตอนนี้ เห็นสื่อต่างๆนำมไปเผยแพร่กันหลายแห่ง
    • ดอกอุ้มน้องเมื่อก่อนเยอะมากๆ มีตั้งแต่ป่าบริเวณใก้ล้ๆโรงเรียนหนองคอกขึ้นไปจนถึงเขาพระ เขามรกต เทือกเขาต่างๆ ของอำเภอหนองบัวมีหมด
    • คนหนองบัวนำไปทำเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น หมกกับพริกเกลือ(ใส่เนื้อ),ต้ม, ผัด,ดิบๆจิ้มพริกเกลือ
    • ที่อร่อยมากและขึ้นชื่อเลยก็คือหมกดอกอุ้มน้อง(หมกพริกเกลือ) ถ้าให้ได้บรรยากาศแบบเที่ยวไป กินไปแล้วละก็ ต้องหมกกินกันในป่า หมกด้วยใบตองควง(พลวง)ร้อนๆ นั่งล้อมวงกินใต้ต้นไม้ บนห้างนาจะอร่อยไม่รู้ลืม
    • ช่วงนี้ในตลาดหนองบัวก็มีขาย หาซื้อกินได้
    • อาตมานั้นไม่ได้กินหมกดอกอุ้มน้อง สักยี่สิบ-สามสิบปีได้แล้วละ

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าฯ ในนสพ.ข่าวสดวันที่ 10 ก.ย. ก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในทุ่งแสงตะวันมาเป็นตัวหนังสือ แต่จริงๆอยากให้ดูในทีวีมากกว่า

     http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEV3TURrMU13PT0=&sectionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBeE1DMHdPUzB4TUE9PQ==

    ไปดูลูกหลานของเรานำเสนอรายการว่าน่าสนใจแค่ไหน การถ่ายทำจากทีมงานมืออาชีพที่ได้เนื้อหาสาระและมุมมองหนองบัวที่สวยงาม เสียงบรรยายที่น่าฟังของคุณนิรมล รวมทั้งเพลงประกอบที่ไพเราะและสวยงาม ขนาดแม่บ้านผมตื่นลงมาข้างล่างตอนที่เพลงนี้กำลังร้องพอดี ยังเอ่ยปากชมเลยว่าเพลงเพราะจัง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องราวอะไร

    เนื้อเพลงอุ้มน้องที่ทางทีมงานทุ่งแสงตะวันแต่งเพื่อใช้ประกอบรายการ
    อุ้มน้อง
    ป่าอุ้มฝน ฝนอุ้มน้ำ น้ำอุ้มป่า
    คลองอุ้มปลา ฟ้าอุ้มเมฆ หมอกอุ้มภู
    ดินอุ้มไม้ ไม้อุ้มรัง-รวงนกอยู่
    คนอุ้มรัก รักอุ้มชู โลกชื่นบาน
    โอ้เจ้าดอกอุ้มน้อง  อุ้มน้องอุ้มนาน
    อุ้มดอกสวย อุ้มดอกหวาน อุ้มดอกไหว
    อุ้มโอบด้วยรัก ฟูมฟักด้วยใจ
    ฟ้าหว่านฝน คนหว่านฝัน อุ้มน้องดอกไม้

    เจริญพรคุณฉิก

    • อนุโมทนาขอบคุณคุณฉิก ที่ตามข่าวนี้และได้นำบทความเรื่องดอกอุ้มน้องจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด มาให้ชาวหนองบัวได้อ่านกันในที่นี้
    • แค่เห็นเพียงเนื้อเพลง ยังไม่ได้ยินเสียงคนร้องเลย ก็ได้เนื้อหาใจความเรื่องราวของดอกอุ้มน้องอย่างดี
    • ได้ตามไปอ่านบทความแล้ว ครบถ้วนดีมาก ยังไม่ได้ดูทางทีวีเลย
    • ขอบคุณรายการทุ่งแสงตะวัน คุณนิรมล เมธีสุวกุล,หนังสือพิมพ์ข่าวสด

       ดอกอุ้มน้องกับทุ่งแสงตะวัน   
    สื่อพัฒนาเด็กและการเรียนรู้สร้างภูมิปัญญาทางสังคม
    เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงและยั่งยืน

    คึกคัก ได้บรรยากาศทั้งความภูมิอกภูมิใจและได้ขยายการเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่ใกล้ๆนี่เองแต่เรายังไม่ได้เข้าไปเรียนรู้ ไม่ได้เข้าไปเห็นความน่าชื่นชมซาบซึ้ง อีกทั้งเป็นโอกาสสร้างสรรค์สิ่งที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะหนองบัว ถิ่นฐานของดอกอุ้มน้องและคนหนองบัว เลยต้องขยับเท้าก้าวเข้ามาร่วมเสวนาบนลานปัญญาของคนหนองบัวด้วยนะครับ แต่จะเสริมมุมมองให้เพิ่มความหลากหลายและได้แนวคิดเอาไว้ทำงานไปด้วยนะครับ

    ดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือของคนหนองบัว  เป็นสองสิ่งที่บ่งชี้สองระบบของความเป็นชุมชนหนองบัวที่สำคัญมากเลยครับ คือ .. ดอกอุ้มน้อง เป็นสิ่งบ่งชี้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของหนองบัว และพริกเกลือ ก็เป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมการเป็นอยู่ที่เชื่อมโยงอยู่กับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

    การได้เรียนรู้และทำให้ดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือ ยังคงมีบทบาทความสำคัญ กลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของคนหนองบัว รวมทั้งคนหนองบัวได้เรียนรู้และปฏิบัติต่อดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือด้วยความสำนึกผูกพันกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้วยการมีความรู้ความเข้าใจของการดำรงอยู่ของดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือ ก็จะทำให้วิถีการกิน วัฒนธรรมอาหาร ไลฟ์สไตล์ ของทุกคน มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุลและยั่งยืนอยู่ได้ เป็นการกินอยู่ ในสิ่งที่ผลิตและมีอยู่ในชุมชน ทำให้มีพลังการพึ่งตนเองและมีความพอเพียงอยู่ในตนเองในระดับหนึ่ง

    นอกจากนี้ การที่ยังคงมีดอกอุ้มน้องงอกงามและสามารถทำมาหากินได้ตามฤดูกาลนั้น ย่อมบ่งบอกถึงความสมดุลของหลายปัจจัยที่ยังคงรักษาไว้ได้ดีอยู่โดยชุมชนและคนหนองบัว หากได้เรียนรู้ระบบและความเชื่อมโยงของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติดอกอุ้มน้อง ก็จะทำให้คนหนองบัวรู้ว่า การที่เราได้รักษาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนกันและกันนั้น นับว่าเป็นการรักษาและสืบทอดภาวะความพออยู่พอกินไว้กับชุมชน ซึ่งทำให้ยังคงมีดอกอุ้มน้อง ให้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอีกด้วย 

    ส่วนพริกเกลือนั้น ส่วนประกอบของพริกเกลือ ก็ล้วนมาจากวัตถุดิบที่มีอยู่กับชุมชนและวิถีการทำมาหากินของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ปราร้า กระเทียม หอม พริก มะกรูด มะนาว ข้าวคั่ว มะขาม ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำนาทำไร่ และการปลูกพืชผักตามปลวกโพน ที่รกร้างและคันนา

    ดังนั้น การกินพริกเกลือและหวงแหนวิถีวัฒนธรรมอาหาร ให้มีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน จึงทำให้เกิดพลังการบริโภคและความมีคุณค่าอยู่ในสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน คนทำนาทำไร่จึงสามารถทำผลผลิตที่ผู้คนและชุมชนยังคงบริโภคและใช้สอย ทำให้สามารถมีกำลังพัฒนาการดำเนินชีวิตอยู่กับที่ดิน และสร้างความเป็นชุมชน มีสุขภาวะด้วยความพึ่งพิงอิงกันในระบบชีวิตของชุมชน

    รูปแบบรายการของทุ่งแสงตะวันนั้น ก็ให้ปัญญาและเป็นแบบอย่างของความริเริ่ม ทำความแตกต่างและเพิ่มความหลากหลายให้กับสังคมมากเลยนะครับ โดยเนื้อหาแล้ว ก็เป็นการสื่อสารและสร้างการเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำได้ยาก และมีสื่อแนวนี้อยู่รอดได้ยาก

    การที่รายการทุ่งแสงตะวันสามารถทำได้และยังคงเป็นรายการที่เป็นกัลยาณมติรต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งเป็นสื่อแบบสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับครอบครัวและชุมชนได้นั้น จึงให้วิธีคิดสำหรับการริเริ่มทำสิ่งดีๆได้อีกหลายอย่างครับ

    ทุ่งแสงตะวัน เป็นการสร้างความรู้ขึ้นจากท้องถิ่นและจากชุมชนในแหล่งต่างๆของประเทศ ซึ่งโดยรายการนั้น นอกจากจะขยายผลสิ่งดีจากพื้นถิ่นต่างๆไปสู่การสร้างการเรียนรู้และเสริมพลังความรอบรู้เกี่ยวกับตนเองของสังคมในวงกว้างแล้ว ก็เป็นสื่อที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ตนเองและทำให้ชาวบ้านได้เข้าไปอยู่ในสื่อเพื่อถ่ายทอดความมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับตนเองออกไปผ่านสื่อ ไม่ใช่รูปแบบที่มุ่งให้คนอื่นที่มีความรู้หรือมีความเป็นที่นิยมของผู้ชม มาเป็นตัวดึงดูด ทำรายการ และรายงานผ่านสื่อให้คนท้องถิ่นได้รู้จักและเรียนรู้ตนเองเหมือนรายการสื่อทั่วๆไปเท่านั้น

    ที่สำคัญคือ เป็นรายการที่สร้างให้กลุ่มเด็กๆ ซึ่งมีธรรมชาติเป็นสื่อเกี่ยวกับสิ่งดีๆ สิ่งๆที่เป็นเรื่องอนาคตและความยั่งยืน ความใสบริสุทธิ์ ความมีธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ทรงพลัง มาเป็นผู้นำเสนอ เดินเรื่องราว และถ่ายทอด ให้ผู้ชมได้เข้าไปสัมผัสโลกและสิ่งแวดล้อมที่โอบอุ้มความเป็นเด็กๆ นอกจากการสื่อสารจากบทสนทนาต่างๆแล้ว ความเป็นชีวิตและการแสดงออกของกลุ่มเด็กๆ ที่คุณนิรมลเธอเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเดินจูงมือและส่งเสริมการพูดคุยของเด็กๆ พาผู้ชมเดินท่องเข้าไปมีประสบการณ์ต่อสิ่งงดงามผ่านสายตาของเด็กๆ ก็มีพลังในการสื่อสะท้อน สร้างการเข้าถึงสิ่งต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง

    การเรียนรู้ชุมชน การสืบทอดรักษาภูมิปัญญา และการมีความผูกพันต่อสิ่งต่างๆของชุมชน ตลอดจนการนำเอาความรู้และภูมิรู้เกี่ยวกับตนเองมาชี้นำการดำเนินชีวิต จึงมีส่วนที่ทำให้เรื่องราวชีวิตชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ ดังเช่น เรื่องดอกอุ้มน้อง ของคนหนองบัว เป็นความน่ารื่นรมย์ น่าเรียนรู้ อีกทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ทางสังคมทางสื่อ ทำให้สังคมได้เห็นสิ่งดีงามและมีพลังความรู้สำหรับพัฒนาตนเองที่มั่นคงและยั่งยืน จัดการตนเองได้เพียงพอกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ได้อยู่เสมอ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท