เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน          เวทีนี้เป็นเวท...
มีต่อ

  สวัสดีครับคุณสมบัติครับ 

  • ขอแสดงความยินดีกับคุณสมบัติด้วยเช่นกันครับ
  • ขอให้มีกำลังใจครับ คุณสมบัติได้ทำงานสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมมากนะครับ ต้องถือว่าเป็นเกียรติยศของข้าราชการและเป็นความน่าชื่นชม-ภาคภูมิใจของลูกหลานชาวบ้านหนองบัว
  • ผมเองนั้นแม้เป็นรางวัลเล็กๆน้อยๆ แต่ความเป็นข้าราชการนั้นผมก็ภูมิใจในชีวิตมากแต่เมื่อก่อนไม่ได้พูดถึงแง่มุมนี้ทั้งที่ผมก็ได้รางวัลอย่างนี้จากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยมาแล้ว ๓ ครั้ง เพราะยังอยู่ในสถานะการพูดให้ตนเองดูดีและได้ประโยชน์ไปด้วย แต่ตอนนี้ผมลาออกจากราชการไปแล้ว จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการพูดให้เป็นความดีอีกแล้ว แต่อยากให้เป็นกำลังใจแก่คนข้างหลัง
  • คนทำงานราชการนั้นเก่งและจะต้องเก่งให้มากๆขึ้นอีกครับ เงินเดือนของข้าราชทุกประเภทนั้นต่ำ แต่การทำงานของข้าราชการเป็นงานที่ต้องทำด้วยสำนึกคุณธรรมต่อความเป็นส่วนรวมและมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำด้วยจิตใจเหมือนการทำความดีงามอยู่ข้างหลัง ทว่า มุ่งให้ผลแห่งการปฏิบัติงอกงามขึ้นในสังคมและผู้อื่น
  • ผมไม่กล้าใช้คำพูดว่า เป็นการงานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมแห่งชีวิต  มากครับ 
  • เคยมีคนหนองบัวชักชวนกันพบปะและกินข้าวด้วยกัน แล้วก็เชิญคุณครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองคอกไปเป็นขวัญกำลังใจด้วยคือ คุณครูสุนทร สันคามิน และ คุณครูลัดดา พูลสวัสดิ์ ประสานงานกันแบบขลุกๆขลักๆเพราะต่างก็ไม่ค่อยมีข้อมูลอยู่ในมือ ใช้บอกต่อๆกัน ปรากฏว่ามีคนไปอย่างกับเป็นงานขนาดใหญ่ เห็นแล้วก็ต้องตื่นตาตื่นใจว่ามีศิษย์เก่าคนหนองบัวไปทำการงานอยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงอยู่มากมาย
  • พอพูดถึงการหาโอกาสเจอกันแล้ว ก็เลยขอพูดเพื่อขออภัยเพื่อนๆสักหน่อยเรื่องหนึ่งนะครับ เผื่อพรรคพวกได้เข้ามาอ่าน
  • เมื่ออาทิตย์ก่อน แมวลูกเถ้าแก่อ๋าหัวตลาดได้จัดงานแต่งงานลูกสาว บอกกล่าวแก่ผมและเพื่อนๆซึ่งผมก็ตั้งใจดิบดีว่าจะไปร่วมงานและดีใจที่จะได้เจอเพื่อนๆคนหนองบัวโดยไม่ต้องกลับบ้าน
  • ผมนั่งทำงานกระทั่งก่อนถึงเวลาว่าจะเดินทางไปร่วมงาน ก็วางมือ แต่ก่อนจะไปอาบน้ำท่าและแต่งตัว ก็นอนแผ่ให้หายเมื่อยหลังกับหลับตาให้หายตาลาย-เจ็บลูกตา ผลก็คือดันหลับผล็อยไปราวกับหมดสติ ตื่นขึ้นอีกทีก็เป็นเวลางานที่เขาจัดงานที่สโมสรนายตำรวจที่บางเขนไปแล้ว วันต่อมา ผมจะไปร่วมฟังปาฐกถาพิเศษงานหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากแล้วก็เป็นโอกาสจะได้เจอครูบาอาจารย์ด้วย ก็ดันเป็นอย่างนั้นอีก เลยต้องขออภัยเพื่อนๆด้วยครับที่ไม่ได้ไปเจอกัน

เห็นกิจกรรมความเคลื่อนไหวของคนหนองบัว รวมทั้งเห็นฉิก คุณครูอนุกูล และคุณสมบัติ บอกกล่าวเรื่องราวที่รับทราบจากคนรอบข้าง พร้อมกับบอกต่อๆกันให้ได้ทราบ ผมเลยได้ความคิดทำสื่อให้อีกชิ้นหนึ่งดีไหมครับ เป็นสื่อที่เอาไว้ใช้สำหรับบอกข่าวคราวและคุยถึงกันเป็นข่าวสังคมของคนหนองบัว รวมทั้งเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ เหมือนกับเป็นแผ่นพับหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ทำเป็นสื่อออนไลน์แต่มีเรื่องราวความเคลื่อนไหวให้เข้ามาติดตามได้เป็นระยะๆ เหมือนกับมีร้านปากซอยและแผ่นป้ายโปสเตอร์ตามแยกต่างๆของหนองบัว...........

  •   เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะของคนหนองบัว   ก็เอาไว้คุยเชิงเสวนา อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนทรรศนะต่อความเป็นส่วนรวม โดยถือเอาท้องถิ่นหนองบัวและการได้สร้างพลังความสำนึกต่อสุขภาวะของหนองบัวเป็นตัวตั้ง รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูล แบบสบายๆ คนที่เข้ามาอ่านก็ได้ประโยชน์และได้ความบันดาลใจ คนเข้ามาคุยก็มีที่ตกผลึกความคิดพร้อมกับได้แบ่งปันประสบการณ์ออกไปให้เป็นประโยชน์ ได้มีแหล่งบ่มเพาะการทำเรื่องดีๆให้กับบ้านเกิด ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่การงานอย่างไม่จำกัดว่าทำอยู่ที่ไหน และเมื่อมีโอกาสก็จะได้เป็นกำลังพัฒนาชุมชนหนองบัวร่วมกันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
  •   ลานปัญญาของคนหนองบัว   ก็เอาไว้เป็นที่รวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูล สะสมเอาไว้เป็นความรู้ของหนองบัว คนที่เข้ามาอ่านก็จะมีแหล่งได้เรียนรู้สังคมท้องถิ่นของหนองบัวเพิ่มขึ้น ครูอาจารย์ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น ก็จะได้มีแหล่งนั่งเรียนรู้ คิดทบทวน เพื่อวางแผน ปฏิบัติการ และริเริ่มสิ่งดีๆด้วยความจำกัดในการทำงานอย่างที่มีอยู่ ทว่า ด้วยกำลังความคิด กำลังจินตนาการสร้างสรรค์ และกำลังข้อมูลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
  •   สังคมหนองบัวออนไลน์   สองหัวข้อข้างบนนั้นมีแล้ว แต่หัวข้อหลังนี้คือที่กำลังกล่าวถึงและยังไม่มีครับ น่าจะเป็นสื่อบอกกล่าวประชาสัมพันธ์และคุยกันง่ายๆสั้นๆเหมือนกับเอิ้นถามกันหรือตะโกนบอกกล่าวถามไถ่กัน ดีไหมครับ เหมือนกับมีแผ่นพับหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ทำเป็นออนไลน์ในนี้ ผมเพิ่งแค่คิดเฉยๆนะครับ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไหม และถ้าหากทำอีกหัวข้อ ก็จะชื่ออย่างนี้หรือใช้ชื่ออย่างไรดีถึงจะฟังดูง่ายแต่สื่อให้เข้าใจได้ดี
  • ลองทำในนี้ไปก่อนดีไหมครับ เพราะในโปแกรมอื่นๆเริ่มมีโปแกรมที่สามารถออนไลน์และรองรับเครือข่ายที่จำกัดความเป็นท้องถิ่นจำเพาะกลุ่มได้ หากทำในนี้ได้ผลดีแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป เราก็อาจจะย้ายไปใช้งานในโปรแกรมอย่างนั้นได้ครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขอสนับสนุนแนวคิดของอาจารย์ที่จะเปิดเวที สังคมหนองบัวออนไลน์ว่าน่าทำมากๆ
อาตมานึกถึงรายการเพลงทั้งลูกทุ่งลูกกรุงสตริงเพลงเพื่อชีวิตทางวิทยุเอฟเอ็มทันทีเลย
รายการดังกล่าวจะมีดีเจที่มีผู้ฟังเป็นแฟนคลับ เป็นแฟนขาประจำของดีเจแต่ละคนที่คอยติดตามฟังอยู่เป็นจำนวนมาก ดีเจสามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้ฟังเข้าตัวถึงดีเจได้ด้วยการโทร.มาพูดคุยและขอเพลงอย่างเป็นกันเอง เรียกกันว่าหน้าไมค์ ผู้ฟังบางท่านก็ใช้นามจริง บางท่านก็ใช้นามแฝงหรือใช้ชื่อหมู่บ้าน มีทั้งขอเพลงที่ฟังเองและขอมอบใฟ้ผู้อื่นที่รู้จักกัน

หนองบัวออนไลน์ก็คล้ายกันกับรายการหน้าไมค์ทางวิทยุคือเป็นการสื่อสารพูดคุยประชาสัมพันธ์ติดต่อกัน บอกกล่าวเรื่องราวความเคลื่อนไหวทั้งท้องถิ่นและคนไกลบ้าน ใครสะดวกที่จะใช้ชื่อจริงก็ได้ ถ้าไม่สะดวกในการใช้ชื่อจริงก็ไม่เป็นไร ใช้นามแฝงหรือใช้หมู่บ้านเราในหนองบัวก็ได้

ถ้าให้คาดเดาผู้ที่เข้ามาอ่านในบล๊อกหนองบัวเวลานี้ น่าจะเป็นคนหนองบัวไม่ใช่น้อยเลย แต่ก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น เพราะท่านผู้อ่านทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนหลังไมค์ทั้งหมด พูดแบบวัยรุ่นตามรายการวิทยุก็ต้องบอกว่าคนหน้าไมค์มีแต่เจ้าเก่าเจ้าเดิมเจ้าประจำ อันที่จริงรายการวิทยุผู้ฟังส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนหลังไมค์อยู่ดีนั่นแหละก็ขอให้เวทีคนหนองบัวบ้านเรานี้ จงเป็นครอบครัวคนหน้าไมค์ร่วมกัน.

  • ที่ท่านพระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ที่เข้ามาอ่าน-เข้ามาดูนั้นไม่น้อยเลย แต่คนหน้าไมค์หรือคนที่ชวนคุย-ชงลูก เสาะหาเรื่องราวต่างๆมาคุยกันนั้นมีขาประจำเจ้าเดิมๆอยู่ไม่กี่คน
  • ดูจำเพาะตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงวันนี้ก็ ๖ วันเท่านั้น ก็มีคนเข้ามาดูรวมแล้วก็ ๗๕๙ คลิ๊กของ ๑๓๗ IPคน-เครื่อง เฉลี่ยแล้วก็ ที่ IPคน-เครื่องหนึ่งก็เข้ามาอ่านประมาณ IPคน-เครื่อง ละ ๕.๕ ครั้ง
  • โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นการซื้อสินค้าและการใช้บริการสาธารณะต่างๆนั้น หากภายใน ๑ สัปดาห์มีการใช้บริการซ้ำมากกว่า ๓ ครั้งนี่ถือว่าให้ความนิยมสูงมากนะครับ ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ใช้ได้มากเลยทีเดียวครับ
  • แต่เจ้าประจำหรือคนหน้าไมค์ที่เขียนนั้น แม้มีอยู่ไม่กี่คนแต่ก็มีผู้คนแวะเวียนมาคุยกันหลากหลายอยู่พอสมควร ซึ่งก็ต้องยอมรับมากเลยครับ โดยทั่วไปแล้วก็มักเป็นอย่างนี้และขาดแคลนมากกว่านี้อีกครับ
  • ผมยังมองว่าการที่พวกเราได้ทำทิ้งไว้ให้ชุมชนหนองบัวได้อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเหมือนกันครับ เพราะความที่โดยทั่วไปแล้ว ก็มักขาดแคลนคนเข้ามาใช้เครื่องมืออย่างนี้สร้างความรู้ สร้างแหล่งข้อมูล ทำเป็นสื่อ สื่อสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในระดับชุมชนตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ แต่หนองบัวเรากลับมี และมีมากกว่าหลายแห่งของประเทศ
  • ในอนาคตอันใกล้นี้ เวทีอย่างเวทีคนหนองบัวนี้ก็จะยิ่งเป็นพื้นฐานที่สามารถสร้างความแตกต่างได้มากยิ่งๆขึ้น ผมมองว่าอย่างนั้น เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านข่าวสาร สารสนเทศ และสื่อมัลติมีเดียทั้งหลายนั้น เขาก็มุ่งสนองตอบกับสภาพโดยทั่วไปที่คนประพฤติปฏิบัติ เมื่อคนไม่ชอบอ่าน-คิด-เขียน พวกสื่อต่างๆก็กำลังจะกระโดดข้ามอุปสรรคพวกนี้ไป โดยเน้นการพูดแบบได้ยินเสียง เห็นหน้าตา เก็บรวบรวมเป็นคลังข้อมูลและส่งผ่านข้อมูลเป็นภาพเคลื่อนไหว สังคมทั่วไปกำลังจะเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านไปทางนั้น เพราะฉนั้น อย่างเวทีคนหนองบัวนี้ จะเป็นสิ่งที่ยิ่งเกิดขึ้นได้ยากในชุมชนอื่นๆครับ
  • อย่างที่พระคุณเจ้าชวนเชิญให้คนเข้ามาเขียน โดยยังไม่ต้องเกร็งมาก แค่เข้ามาสัมผัสและหาความคุ้นเคย หาความวางใจ รู้จักใช้แบบลองผิดลองถูก หรือถ้าหากยังกลัวๆอยู่ก็เข้ามาลองใช้ดูก่อนก็ได้นั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ผมเห็นว่าเหมาะสมดีครับ ชาวบ้านและเด็กๆโดยทั่วไปนั้น แค่เสียบและถอดปลั๊กไฟก็ปอดแหกแล้วครับ
  • ด้านหนึ่งของเวทีนี้ ก็เลยเป็นเหมือนแหล่งให้ประสบการณ์เพื่อพัฒนาพลเมืองยุคใหม่ให้แก่คนของเราในสังคมไปด้วยเลยนะครับ เป็นการเรียนรู้และศึกษาเทคโนโลยีความรู้ เพื่อจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมน่ะครับ ถือว่าทำให้ชาวบ้านและทำให้ลูกหลานของเราได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน
  • แล้วผมจะเปิดอีกหัวข้อให้เป็นสื่อสังคมคนหนองบัวอย่างที่หารือพระคุณเจ้าและทุกท่านนะครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • อันที่จริงต้องขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านซึ่งเป็นเจ้าเก่าเจ้าประจำเจ้าเดิมหรือเจ้าใหม่แม้จะอยู่หลังไมค์ก็ตาม ขอให้ได้รับความขอบคุณจากใจผู้ที่ร่วมเขียนข้อมูลในชุมชนหนองบัว ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเจ้าเก่าเจ้าประจำเจ้าเดิมเหมือนกับผู้อ่านนั่นเอง
  • อาตมาในฐานะผู้ร่วมเขียนด้วยคนหนึ่ง ไม่ได้มาเชียร์มายกย่องผู้ที่ช่วยกันขีดเขียนให้ความรู้ในชุมชนบ้านเรา ซึ่งผู้ให้ข้อมูลความรู้นั้นก็เป็นเจ้าเก่าที่สลับหมุนเวียนกันมาแสดงความคิดเห็นบ้าง ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลความรู้ในบางแง่บางมุมที่อาจตกหล่นไปในเรื่องนั้นๆให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นบ้าง ถึงอย่างไรก็ต้องขอขอบคุณนักเขียนเจ้าเดิมแม้มีอยู่น้อย แต่ก็มากด้วยคุณภาพ(ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่ประการใด)ล้วนมีน้ำใจและปรารถนาดีต่อคนบ้านเราอย่างเต็มใจและจริงใจอย่างมากด้วย
  • และขอขอบคุณผู้อ่านที่เสียสละเวลาและมีน้ำใจต่อชุมชนหนองบัวทุกท่าน จงได้ความรู้ ความเบิกบานใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ทุกเมื่อ

ขอร่วมชื่นชมทุกท่านกับพระคุณเจ้า รวมทั้งขออนุโมทนากับพระคุณเจ้าด้วยครับ

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่ได้แสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ

ผมเห็นด้วยกับความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องทั้งที่ได้ทำมาแล้วและที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคตเพื่อชุมชนของเรา

ขอชื่นชมกับทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทุ่มเทอย่างชนิดเอาการเอางานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ผมเองนั้นได้ความรู้จากการแสดงความเห็น การวิเคราะห์วินิจฉัยปัญหา การแสดงออกทางปัญญาอย่างจริงใจและซื่อตรงของท่านทั้งสองเรื่อยมาตั้งแต่รู้จักชุมชนนี้...คิดว่าท่านอื่น ๆ ที่เข้ามาก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน

สัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องที่ต้องทำอยู่หลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งแม้มิใช่เนื้อหาของงานในหน้าที่โดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดน....หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน...ที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้น่ะครับ

สัปดาห์ที่แล้วมีวิทยากรสองคน เป็นคนนครสวรรค์ทั้งคู่คือ อาจารย์สิทธิพร ณ นครพนม นายอำเภอโพธิ์ตาก ท่านเป็นคนในตลาดปากน้ำโพครับ อีกคนใช่ใครอื่น..ผมเองครับ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับวันนี้ /เมื่อวาน /พรุ่งนี้ ท่านรองศาสตราจารย์ นู ไซญะสิทธิวงศ์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว นับเป็นความภาคภูมิใจจริง ๆ ครับที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นเจ้าของภาษาแท้ ๆ มาถ่ายทอดให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร (แตกต่างจากผมซึ่งเป็นลาวครึ่ง ๆ กลาง ๆหรือไม่ก็มีเสี้ยวหนึ่งของความเป็นลาว)

เอาไว้มีโอกาส จะนำบรรยากาศในชั้นเรียนมาเล่าสู่กันอ่านครับ.

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์สมบัติถือเป็นกำลังใจที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่ได้ช่วยส่งเสียงให้ได้ยิน อาตมานึกถึงเมื่อตอนเป็นเด็กยุคนั้นชาวบ้านนอกอย่างเรา การจะเข้าถึงความทันสมัยได้นั้นดูห่างไกลเหลือเกิน จะมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงได้นั่นก็คือสถานีวิทยุเอเอ็ม

ได้รู้จักเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างก็แต่ทางเสียงเท่านั้น ถึงจะรู้จักกันแต่เพียงทางเสียงโดยที่ไม่เห็นหน้าค่าตาเลยก็เถอะ แต่มีความสนิทสนมเป็นกันเองระหว่างผู้จัดรายการกับผู้ฟังเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันคล้ายเป็นญาติยังไง ยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นรายการเพลงลูกทุ่ง นิทาน ละครคณะนกฮูก(เสนอเรื่องผีตอนกลางคืน)ละครยอดฮิตคณะนีลิกานนท์(วิเชียร นีลิกานนท์) ลิเก ข่าวชาวบ้าน โฆษกหรือนักจัดรายการทางวิทยุดังกล่าวล้วนแต่มีแฟนคลับแฟนประจำขาประจำด้วยกันทั้งนั้น ใครชอบรายการอะไรก็จะจำตารางเวลาที่รายการนั้นออกอากาศในแต่ละวันได้แม่นยำเหมือนบันทึกไดอารี่เลยเชียว ทั้งหมดนี้มีเพียงศิลปินลิเกและนักร้องลูกทุ่งเท่านั้นที่ชาวบ้านจะได้เห็นตัวจริงบ้างในหน้าแล้งตามงานวัด งานงิ้วหนองบัว งานประจำปี

มีครั้งหนึ่งที่น้องสาวได้รับรางวัลจากรายการเพลงถ้าจำไม่ผิดคือสถานีวิทยุ วปถ.๙ นครสวรรค์ ด้วยการส่งชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปชิงโชคที่สถานีวิทยุได้เสื้อกระเป๋า เครื่องสำอาง น้องสาวได้เดินทางเข้าตัวเมืองนครสวรรค์กับโยมแม่ในครั้งกระโน้นยังจดจำได้ดีถึงทุกวันนี้แม้เพียงแค่นี้ก็ทำให้ภูมิใจได้

ถ้าจะเปรียบเทียบบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนรายการวิทยุและนักจัดรายการต่างๆ แล้ว ผู้ที่เป็นกำลังใจและทำให้รายการนั้นๆอยู่ได้ก็คือผู้ฟังชาวบ้านทั้งหลายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท เรียกว่าชาวบ้านนั้นเป็นทั้งกำลังใจและเป็นผู้มีอุปการคุณต่อดีเจและบริษัทนั่นเอง

คนสมัยนี้เข้าถึงความรู้ข้อมูลข่าวสารและสิ่งบันเทิงต่างๆได้สะดวกรวดเร็วและง่ายมากเพียงเข้าไปในตลาดหนองบัวไม่กี่นาทีก็สามารถได้เห็นได้รับรู้โลกอย่างกว้างไกล ถ้าเป็นเมื่อก่อนการเขียนจดหมายส่งไปตามรายการเพลงที่สถานีวิทยุในเมืองนครสวรรค์ต้องใช้เวลาหลายวัน และเมื่อได้ยินโฆษกอ่านจดหมายของตัวออกอากาศทางวิทยุกำลังดำนา หรือเกี่ยวข้าวอยู่รู้สึกหายเหนื่อยเลยแหละ

แม้แต่โทรทัศน์หลายคนก็ยังจำได้ รายการข่าวภาคค่ำประจำวันทางโทรทัศน์เมื่อก่อนผู้อ่านข่าวไม่ได้ปรากฏตัวหน้าจอโทรทัศน์เหมือนสมัยนี้ ผู้ชมทางบ้านก็จะได้ยินแต่เสียงผู้อ่านข่าวเท่านั้นเหมือนข่าวทางวิทยุเลย ก็เลยดีใจที่เห็นอาจารย์วิรัตน์จะทำสื่อออนไลท์สำหรับคนท้องถิ่นหนองบัวเรา ให้พี่น้องชาวหนองบัวได้พบปะพูดคุยสื่อสารบอกกล่าวข่าวสารถึงกัน และคงจะได้เห็นบรรยากาศความเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่หนองบัวและที่ไปทำงานไปเรียนหนังสือตามภูมิภาคต่างจังหวัด ขอให้ทุกท่านได้ฝากร่องรอยไว้ในเวลาที่ท่านเดินทางผ่านเข้ามาในเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ได้ตามสะดวก.

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ชุมชนหนองบัว-หนองกลับเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านกันมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีผู้รู้ท่านได้สันนิษฐานไว้ว่า ชุมชนหนองบัว-หนองกลับที่เก่าแก่ดั้งเดิมในยุคแรกๆนั้นมีบางส่วนได้โยกย้ายลงมาจากเมืองสุโขทัย โดยไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าชาวหนองบัวที่ย้ายมาจากสุโขทัยชุดแรกนั้นย้ายลงมาปีใดแน่

ข้อสันนิษฐานนี้ได้ตอบโจทย์ในใจผู้เขียน(คนเดียว)ที่มีความสงสัยมาอย่างยาวนานที่มีอยู่ว่า ทำไมสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่โดยเฉพาะคนในหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับแท้ๆนั้นจึงมีสำเนียงภาษาพูดที่คล้ายภาษาพูดของคนสุโขทัยอย่างมาก(เหน่อสุดๆในหนองบัวนั้น-ใกล้เคียงกับเหน่อสุโขทัยมาก)แม้ภาษาจะกร่อนหรือเพี้ยนไปบ้าง ตามยุคสมัยก็ตาม แต่ก็ยังมีคำพูดที่เหน่อคล้ายกันอยู่ไม่น้อย

พระเณรชาวภูเก็ตที่รู้จักกันเคยมาหนองบัว ญาติอาตมาที่มีอายุมากๆพูดเหน่อสุดๆ ท่านต้องเงี่ยหูฟังบางคำฟังไม่ออก เราต้องรับหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาเหน่อหนองบัวให้ท่านฟังอีกต่อหนึ่งจึงเข้าใจกัน แปลกดี ผู้อ่านหลายท่านที่เคยได้ยินคนสุโขทัยพูดสำเนียงเหน่อๆ หรือเหน่อสุพรรณฯก็ตาม แล้วก็จะนึกชอบความเหน่อนั้น และก็มักจะกล่าวถึงสำเนียงที่เหน่อๆนั้นว่า เพราะดีเนาะ มีเสน่ห์ น่ารัก น่าฟัง จริงใจดี

พระสุโขทัยมาเยี่ยมที่วัดครั้งใดท่านก็จะพูดสำเนียงเหน่อๆพื้นบ้านของท่าน เมื่อท่านพูดสำเนียงดั้งเดิม หลายท่านได้ที่ยินแล้วมีทั้งหลวงตาพระหนุ่มเณรน้อยก็อยากจะพูดแบบนั้นบ้าง แต่ก็พูดได้ไม่เหมือน หรือเหน่อไม่เท่าต้นฉบับ ก็กลายเป็นพูดล้อเลียนท่านไป แต่การล้อเลียนนั้นก็ทำให้เกิดบรรยากาศที่สนุกสนาน เป็นกันเอง ได้หัวเราะกัน

นี่ละมั้งที่เราบอกว่าภาษาที่เหน่อๆนั้น เป็นภาษาที่มีเสน่ห์อยู่ในตัว ฟังแล้วได้ความจิรงใจดี พูดง่ายๆก็คือภาษาพื้นบ้านหรือคำพูดเหน่อๆนั้น เป็นภาษาที่บ่งบอกหรือสื่อความหมายได้ตรงกับคำพูดที่ผู้พูดประสงค์จะสื่อไปยังผู้ฟัง เป็นภาษาที่ไม่มีเลศนัยแฝงเล้นในคำพูดนั้น ฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีเลย ไม่ต้องตีความให้ยุ่งยากปวดหัวว่าที่พูดนี่หมายถึงอะไรกันแน่

คำพูดชาวบ้านนิยามง่ายๆได้ว่า "ปากกับใจตรงกัน" นั่นเอง ผู้อ่านท่านใดสนใจ(ภาษาถิ่นหรือคำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว)ก็ขอให้เข้าไปอ่านในหัวข้อ"ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์" ได้ตามอัธยาศัยเลยพี่น้อง วันนี้ขอยุติไว้แค่นี้ก่อน เอวัง.

 

สวัสดีทุกๆท่านครับ ยังไม่มีเวลามาเขียนอะไรเลย ได้แต่อ่านผ่านๆ ไว้มีเวลาก่อนครับ สวัสดี

นมัสการพระคุณเจ้า น้อมคารวะท่านอำมาตย์วิรัตน์ อำมาตย์สมบัติ และชุมชนหนองบัว ....

  • ห่างหายไปหลายสัปดาห์กลับมาอีกคราว ชักจะหวั่นใจ จะวางตัวเช่นไรดี ... ??? ช้างน้อยมอมแมมเป็นเครือข่ายอำมาตย์โดยไม่รู้ตัว แต่อำมาตย์ผู้ทรงอิทธิพลทาง "ภูมิรู้" และ "จิตใหญ่" เฉกเช่น อำมาตย์วิรัตน์ อำมาตย์สมบัติแล้วน่าคบหาครับ...
  • อดทึ่งกับ "สาระ" จากกับ "บทสนทนา" และ "ถ่ายทอด" สู่สาธารณะ ระหว่างพระคุณเจ้า อาจารย์วิรัตน์ และชุมชน โดยเฉพาะพระคุณเจ้านอกจากเนื้อหาแล้ว "สำนวน" พื้นถิ่นบางคำนั่งอ่านไปแล้วนึกขันไปในที "วิ่งตับแลบไปยืนล้อมดูเฮลิปคอปเตอร์" ...!!! ประสาคนบ้านนอกเช่นช้างน้อยมอมแมมอ่านแล้วเหมือนได้ร่วมกลับไปสู่เหตุการณ์นั้นและร่วม "เป็นสุข" ไปด้วย พระคุณเจ้าเป็น "นักประวัติศาสตร์ชุมชน" โดยแท้
  • อ่านไปจินตนาการไปถึงภาพที่ "ท่านอำมาตย์วิรัตน์" จะไปจัด "เวทีเสวนา" เยือนถิ่นเกิดดังที่เคยดำริและเล่าสู่ฟังครับ อยากให้เกิดเร็วๆ ครับ
  • และจินตนาการไปถึงอยากจะเห็น"หนังสือ"สักเล่ม เนื้อในประกอบด้วยการประมวล "ภูมิรู้" อันเป็น "บทเรียน" และ "ประสบการณ์" จากบล๊อกชุมชนหนองบัวนี้ เอาเป็นว่าแค่ "ที่มา" ก็น่าสนใจแล้วล่ะ และจากสถิติผู้ชมจะเรือนหมื่นแล้ว ติต่างว่าท่าทางจะมีผู้สนใจไม่น้อยครับ....
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เมื่อมหาอำมาตย์สมานฉันท์ ยอมเจรจาชาวประชาก็หน้าใส

เจริญพรท่านอำมาตย์"ช้างน้อยมอมแมม"

กำลังคิดถึงอำมาตย์ช้างน้องมอมแมมอยู่พอดีเชียว อนุโมทนาขอบคุณที่คุณช้างน้องมอมแมมได้มาเยี่ยมชาวหนองบัว เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ สถานการณ์ฮอตๆ อาตมาเลยขออนุญาตนำ เรื่องกรณีความขัดแย้งของมหาอำมาตย์สมัยพุทธกาลมาเสนอเผยแพร่ในเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว อาจจะเป็นประโยชน์และให้บทเรียนแก่คนยุคเราได้บ้าง ก็ขอเชิญทุกท่านโปรดสดับได้ ดังต่อไปนี้

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภการผูกเวรของคนมีเวร ตรัสพระธรรมเทศนานี้
ได้ยินว่า มหาอํามาตย์สองคนเป็นหัวหน้าทหารเป็นเสวกของพระเจ้าโกศล เห็นกันและกันเข้าก็ทะเลาะกัน. การจองเวรของเขาทั้งสองเป็นที่รู้กันทั่วนคร. พระราชา ญาติและ มิตรไม่สามารถจะทำให้เขาทั้งสองสามัคคีกันได้.
อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งพระศาสดาทรงตรวจดูเผ่าพันธุ์สัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของเขาทั้งสอง วันรุ่งขึ้นเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต พระองค์เดียวเท่านั้น ประทับยืนที่ประตูเรือนของคนหนึ่ง. เขาออกมารับบาตรแล้วนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ปูอาสนะให้ประทับนั่ง. พระศาสดาประทับนั่งแล้ว ตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาแก่เขา ทรงทราบว่ามีจิตอ่อนแล้ว จึงทรงประกาคอริยสัจ. เมื่อจบอริยสัจ เขาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
พระศาสดาทรงทราบว่าเขาบรรลุโสดาแล้ว ให้เขาถือบาตรทรงพาไปประตูเรือนของอีกคนหนึ่ง. อำมาตย์นั้นก็ออกมาถวาย บังคมพระศาสดากราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จเข้าไปเถิดพระเจ้าข้า แล้วทูลเสด็จเข้าไปยังเรือนอัญเชิญให้ประทับนั่ง. อำมาตย์ที่ตามเสด็จก็ถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาเข้าไปพร้อมกับพระศาสดา.
พระศาสดาตรัสพรรณนาอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ ทรงทราบว่าเขามีจิตสมควรแล้ว จึงทรงประกาศสัจธรรม. เมื่อจบแล้ว อำมาตย์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. อำมาตย์ทั้งสอง บรรลุโสดาบันแล้ว ก็แสดงโทษขอขมากันและกัน(ยินยอมที่จะเจรจากัน หันหน้าเข้าหากัน ปรองดอง สมานฉันท์ –ผู้เขียน) มีความสมัครสมานบันเทิงใจ มีอัธยาศัยร่วมกันด้วยประการฉะนี้.
วันนั้นเองเขาทั้งสองบริโภคร่วมกัน เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาเสวยภัตตาหารเสร็จแล้วได้เสด็จกลับพระวิหาร. อำมาตย์สองคนนั้นก็ถือดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ และเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ออกไปพร้อมกับพระศาสดา. เมื่อหมู่ภิกษุแสดงวัตรแล้ว พระศาสดาทรงประทานสุคโตวาท แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฏี

ที่มา(อรรถกถาอุรคชาดก ที่ ๔ หน้าที่ ๒๒-๒๓)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริพรคุณฉิก

ช่วงนี้งานงิ้วหนองบัวคงจบไปแล้ว ไม่ทราบว่าบรรยากาศของงานเป็นอย่าไรบ้าง
ว่างๆก็อยากจะขอร้องให้คุณฉิกลองเขียนถึงบรรยากาศงานงิ้นในสมัยปัจจุนให้คนไกลบ้านอย่างอาตมาได้อ่านบ้าง เพื่อจะได้รำลึกถึงงานงิ้วเปรียบเทียบบรรยากาศของงานในยุคก่อนโน้น ยุคที่ยังมีเกาะลอย และในหมู่บ้านหนองบัวยังไม่มีไฟฟ้า(ชอบฟังเรื่องเก่า-โดยไม่กลัวใครว่า เป็นคนแก่หรอก)
ถ้าเป็นไปได้มีภาพถ่าย ก็มาโพสต์ลงไว้ให้ได้ชมกันบ้างจะยิ่งดีใหญ่เลยแหละ อย่าลืมเด้อ.

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ในคห.๔๑๑ ของคุณช้างน้อยมอมแมมที่บอกว่าอยากเห็นการทำหนังสือเรื่องราวในชุมชนหนองบัวนั้น อาตมาขอยกสองมือเลยเอ้า เห็นด้วยอย่างยิ่ง และเรื่องนี้ก็เคยได้ปรารภกับท่านอำมาตย์วิรัตน์ไปบ้างพอสมควรแล้ว แต่ก็เงียบๆไป

ว่าจะเดินทางไปหนองบัวเพื่อหาแนวร่วมในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ไปสักที นานแล้วไม่ได้ไปหนองบัว น้องๆถามว่าเมื่อไหร่จะมาเยี่ยมญาติ มาเที่ยวบ้านบ้าง เอาเป็นว่าไปแล้วจะมาแจ้งให้ทราบ ตั้งใจไว้แต่แรกแล้วเรื่องทำหนังสือและยังไม่ลืมความตั้งใจอันนี้แน่นอน

หวังว่าความปรารถนาของคุณช้างน้อยมอมแมมน่าจะอยู่ไม่ไกลมากนักหรอก(เพราะตัวเองทำไม่เป็น-ต้องอาศัยอาจารย์วิรัตน์ไม่ทราบว่าท่านผู้ทำมีเวลาว่างบ้างไหม)

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

อาตมาเหลียวหน้า-แลหลังไปรอบๆตัวแล้วเห็นหลายท่านเป็นอำมาตย์กันหมดแล้วนะเนี่ย ทำไงดีท่านอำมาตย์ช้างน้อยมอมแมม เวทีคนหนองบัวนี้เป็นเวทีอำมาตย์ไปแล้วหรือไร
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น ก็เหลือแต่อาตมาคนเดียวน่ะซิที่เป็นไพร่ ถึงอาตมาจะเป็นไพร่ก็ขอเป็นไพร่ที่ไม่มีวัน โค่นอำมาตย์ แน่นอน ขอเอาเกียรติลูกผู้ชายไพร่ๆนี่แหละเป็นประกัน ขอให้อำมาตย์ทุกท่านสบายใจได้ ขอยืนยันๆ

 

นมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย

  • คร่ำเคร่งกับการงานที่ประหนึ่งจะบีบคั้น  เบียดเบียนตน  และต่อเติม "ทุกขภาวะ" แก่ตนเองขึ้นทุกวัน พอเข้ามาเวทีชุมชนคนหนองบัว โดยเฉพาะบทสนทนาของ "พระอาจารย์มหาแล อาสโย" แล้ว ดุจดังการเข้ามาเสริมเติมพลังอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว บ่อยครั้งครับโยมอดที่จะ "ยิ้ม" ตอบรับให้กับหน้อจอคอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ ช่วยให้ดึง "สติ" และ "การรำลึกรู้สึกตัว" กลับมาในบัดดล ...
  • ต้องน้อมรับ และเปล่ง "สาธุการ" ดังๆ สัก 3 ครา  เพื่อน้อมรับ "คติธรรม" จากชาดกว่าด้วย "กรณีขัดแย้งมหาอำมาตย์" ครั้งพุทธกาลที่พระคุณเจ้านำมาเพื่อเป็น "อนุสสติ" เตือนสติให้กับสังคมไทยครับ  แหม่... !!! อ่านแล้ว ต้องนมัสการกราบเรียนด้วยจิตคารวะว่าซาบซึ้งยิ่งนัก  โยมหน่ะอยากจะอาราธนาพระอาจารย์มาตั้งธรรมาสน์ ณ ท้องสนามหลวง สักกัณฑ์นะขอรับ .... สังคมไทยจะได้หายจากภาวะ "คับข้องและวุ่นวาย" จาก "โมหะภูมิ" ดังที่ปรากฎให้เห็นในเวลานี้.... (ปัจจัยติดกัณฑ์เทศน์รวบรวมมาตั้งกองทุนพิมพ์หนังสือชาวหนองบัวครับ...... คิดแบองค์รวมครับ..)
  • โยมว่านะครับ... แม้นพระอาจารย์จักถ่อมตนเปรียบเปรยดุจไพร่ (ซึ่งแท้จริงก็หาใช่ไม่)  แต่หากเปรียบแล้ว  โยมว่าชาวอำมาตย์ทั้งหลายหากได้เสวนากับ "ไพร่" ผู้คอยให้สติสังคม และเป็นผู้ทรงภูมิรู้กอรปด้วยสติปัญญาดุจบัณฑิตแห่ง "เขาโงลังกั๋ง" ในพงศาวดารสามก๊กแล้ว อย่าว่าแต่เหล่า "เสนา" และ "อำมาตย์" ทั้งแผ่นดินเลยครับ แม้แต่ "จักรพรรดิ์ทั่วสากลโลก" ต้องสยบยอม และ "น้อมเศียร" คำนับงามๆ เป็นร้อยครั้งพันครั้งให้กับ "ไพร่" ผู้มีสติปัญญาและเป็นมหาปราชญ์แห่งแผ่นดินขอรับ.....

เรียนอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ...

อ้างอิงความคิดที่ 402

ผมเลยได้ความคิดทำสื่อให้อีกชิ้นหนึ่งดีไหมครับ เป็นสื่อที่เอาไว้ใช้สำหรับบอกข่าวคราวและคุยถึงกันเป็นข่าวสังคมของคนหนองบัว รวมทั้งเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ เหมือนกับเป็นแผ่นพับหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ทำเป็นสื่อออนไลน์แต่มีเรื่องราวความเคลื่อนไหวให้เข้ามาติดตามได้เป็นระยะๆ เหมือนกับมีร้านปากซอยและแผ่นป้ายโปสเตอร์ตามแยกต่างๆของหนองบัว ....

ขอสนับสนุนความคิดนี้ขอรับ.. และขอร่วมวงเรียนรู้กับปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากสื่อที่จะสร้างขึ้นด้วยคนครับพ๊ม

กราบนมัสการ พระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) สวัสดีค่ะ คุณสมบัติ ฆ้อนทอง, คุณศักดิ์ศรี-ฉิก, คุณช้างน้อยมอมแมม และชาวหนองบัวทุกๆ ท่านค่ะ

  • ก่อนอื่นขอน้อมคารวะแด่ท่านอำมาตย์น้ำดีทุกๆ ท่านค่ะ
  • และขอแสดงความยินดีกับคุณสมบัติ ฆ้อนทอง ชาวหนองบัว ที่ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นเช่นกันค่ะ
  •  วันนี้เข้ามาทักทาย  เผื่อไปยังท่านอำมาตย์อาจารย์ ดร.วิรัตน์ ด้วยค่ะ อาจารย์ได้เดินทางไปเวิร์คช๊อปที่จังหวัดสระแก้ว พร้อมกับคณาจารย์จากภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ฯ เป็นเวลา ๓ วัน ค่ะ แต่อาจารย์ท่านลืมมือถือสำหรับต่ออินเตอร์เนทไปด้วยค่ะ ท่านอำมาตย์อาจารย์วิรัตน์เลยไม่สามารถเข้ามาคุยได้ในขณะนี้ค่ะ ..
  •  ท่านพระอาจารย์พระมหาแลค่ะ  เรื่องของหนังสือได้พูดคุยกับท่านอาจารย์วิรัตน์ และคุณช้างน้อยฯ ไว้ว่าจะทำการสังเคราะห์ข้อมูล ประสบการณ์ บทเรียนจากเวทีหนองบัว รวมไปถึงทุกความคิดเห็นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันด้วยค่ะ ทรงคุณค่ามากๆ ค่ะ ซึ่งถ้าจะรวบรวมออกมาจริงๆ คงแยกได้หลายเล่มเลยหล่ะค่ะ แต่คงต้ออดใจรอกันอีกสักหน่อยนะค่ะ ...
  • ส่วนเรื่องของ  เวทีหนองบัวออนไลน์  ... ทำให้นึกถึงการมาตั้งวงโสเหร่กัน จิบน้ำชากาแฟกันไป อยากบอกข่าวคราวอะไรก็มาโพส มาแปะฝากข่าวกันได้ โดยอาจไม่ต้องเกร็งกันว่าจะต้องเป็นเชิงวิชาการเสียอย่างเดียวหน่ะค่ะ หนองบัวโสเหร่ หรือจะเรียกว่าอะไรดีค่ะ? เหมือนๆ อสม. ตามแต่ละหมู่บ้านบอกข่าวผ่านวิทยุชุมชนเลยนะค่ะ ...
  • พรุ่งนี้ท่านอาจารย์พร้อมด้วยคณาจารย์ก็จะกลับมาแล้วค่ะ คงได้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับทุกท่านค่ะ ..

ถึงอาตมาจะเป็นไพร่ก็ขอเป็นไพร่ที่ไม่มีวัน โค่นอำมาตย์ แน่นอน ขอเอาเกียรติลูกผู้ชายไพร่ๆนี่แหละเป็นประกัน ขอให้อำมาตย์ทุกท่านสบายใจได้ ขอยืนยันๆ

  • สาธุ สาธุ สาธุ

โยมว่านะครับ... แม้นพระอาจารย์จักถ่อมตนเปรียบเปรยดุจไพร่ (ซึ่งแท้จริงก็หาใช่ไม่)  แต่หากเปรียบแล้ว  โยมว่าชาวอำมาตย์ทั้งหลายหากได้เสวนากับ "ไพร่" ผู้คอยให้สติสังคม และเป็นผู้ทรงภูมิรู้กอรปด้วยสติปัญญาดุจบัณฑิตแห่ง "เขาโงลังกั๋ง" ในพงศาวดารสามก๊กแล้ว อย่าว่าแต่เหล่า "เสนา" และ "อำมาตย์" ทั้งแผ่นดินเลยครับ แม้แต่ "จักรพรรดิ์ทั่วสากลโลก" ต้องสยบยอม และ "น้อมเศียร" คำนับงามๆ เป็นร้อยครั้งพันครั้งให้กับ "ไพร่" ผู้มีสติปัญญาและเป็นมหาปราชญ์แห่งแผ่นดินขอรับ.....

  • ขอขอบคุณอำมาตย์ช้างน้อยฯ ค่ะ

ขอเอาใจช่วยคนไทยทุกคน ให้อยู่เย็นเป็นสุขศรี

  • กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และขอสวัสดีทุกท่านเลยนะครับ คุณสมบัติ คุณฉิก คุณไกสร โดยเฉพาะกัลยามิตรเวทีคนหนองบัว อาจารย์ณัฐพัชร์และคุณช้างน้อยมอมแมม รวมทั้งท่านผู้อ่านและชาวหนองบัวทุกท่านครับ
  • ผมไปประชุมต่างจังหวัดมาครับ ๓ วันเต็มๆ ไปโน่นครับ...อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประทับใจมากหลายอย่างครับ ทั้งการประชุม การศึกษาดูงานรายทาง การไปเที่ยวตลาดโรงเกลือในตอนเย็นหลังเลิกประชุม และผู้คนที่นั่น โดยเฉพาะคนท้องถิ่น ชาวไทย-เขมร

                           

                           ภาพที่ ๑ การประชุมพัฒนาภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ ผู้เข้าร่วมประมาณ ๔๐ คน ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการศึกษา กลุ่มบริหารวิชาการและงานสนับสนุนวิชาการ สาขาประชากรศึกษา สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา สาขาการจัดการกีฬา และสาขา Educational Management(International Programme)

                           

                           ภาพที่ ๒ การประชุมระดมสมองของสาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา ในสาขานี้มี ดร.วีร์ ระวัง (ผู้ชายเสื้อสีเขียวขี้ม้า กำลังยืนมองบอร์ด) และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำวิจัยพัฒนาการสอน-การเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับคนไทย เคยทำค่ายพัฒนาการสอนและการเรียนภาษาอังกฤษให้เครือข่ายครูและนักเรียนในนครสวรรค์-หนองบัวหลายแห่ง 

                          

                           ภาพที่ ๓ การประชุมระดมสมองของสาขาประชากรศึกษา

                           

                           ภาพที่ ๔ การประชุมระดมสมองของสาขา Educational Management (International Programme)

                          

                           ภาพที่ ๕ การประชุมระดมสมองของสาขาการจัดการกีฬา ในสาขานี้มีนักกีฬาทีมชาติ อาจารย์เสาวลี แก้วช่วย นักวิ่งทีมชาติขวัญใจคนไทยคนหนึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร จึงมักจะพร้อมกับคณาจารย์ในหลักสูตร คือผู้ช่วยศาสตราจารย์วิฑูรย์ ยุตตานนท์ และ ดร.เรืองฤทธิ์ อุปละนาละ จัดกิจกรรมฟื้นฟูความตื่นตัว ทำให้การประชุมเป็นการสร้างสุขภาพใจ-สุขภาพกาย (Healthy and Empowerment Meeting) ได้ความสุขอยู่ตลอดเวลาไปด้วยเสมอ

                          

                           ภาพที่ ๖ เรียนรู้ พัฒนาคุณภาพและการบริหารจัดการทางวิชาการ เช่น Research Ethics การพัฒนาตัวชี้วัดและ Performance agreement นวัตกรรมการบริหารจัดการโดยการกระจายอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับอย่างเป็นระบบ การเตรียมกำลังคนเพื่อการพัฒนาในระยะยาว การพัฒนานวัตกรรมด้านศึกษาศาสตร์ของประเทศเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงในบริบทใหม่ๆของประเทศและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งมีประเด็นของคนหนองบัวและนครสวรรค์เข้าไปหารือกันผ่านประเด็นของการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์

                          

                           ภาพที่ ๗ การประชุมระดมสมองกลุ่มย่อยของกลุ่มสนับสนุนวิชาการและกลุ่มบริหารจัดการทางวิชาการ สำนักงานภาควิชาศึกษาศาสตร์

                          

                          

                          

                           ภาพที่ ๘,๙,๑๐ : ตลาดโรงเกลือ ตลาดชายแดนไทย-เขมรที่คลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เลิกประชุมและเดินทางจากที่ประชุม โรงแรมอินโดจีนในตัวเมืองอรัญประเทศ ประมาณ ๓๐ นาทีก็ถึง เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดผู้คนเลยไม่มาก สภาพเหมือนกับตลาดของชุมชนในชนบท ผู้คนมีอัธยาศัย เหมือนกับชุมชนอยู่ด้วยกันและทำมาหากินด้วยกัน ไม่เหมือนกับภาพจากการรับรู้ทางสื่อหรือจินตนาการเอา

  •  ผมลืมเอาโทรศัพท์ที่ต่อสัญญาณ Wireless Internet ได้ ไปด้วย ก็เลยหายเงียบไปเลยครับ ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์มากเลยครับที่กรุณาบอกกล่าวให้ทุกท่านได้ทราบ
  • แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ลืมเสียทั้งหมด ผมเดินออกจากที่พักนิดเดียวก็นึกขึ้นได้ แต่นึกดูแล้วก็คิดว่าดีเหมือนกัน จะได้อยู่กับตัวเอง นั่งทำงานและนั่งคุยกับคนที่ไปประชุมด้วยกัน ได้อย่างเต็มที่ เพราะหลายปีมานี้ผมไม่ค่อยได้ไปไปประชุมในลักษณะนี้มากกว่า ๒ วันเลย จัดเวลาให้ได้อยู่ตัวเองเสียบ้างก็คงจะดี ซึ่งก็ไม่ผิดหวังครับ
  • ที่ประทับใจมากเข้าไปอีกก็เมื่อเข้ามาในนี้อีกและพบ ๓ เรื่องที่น่าประทับใจครับ คือ (๑) เวทีคนหนองบัวคึกคักเป็นอย่างยิ่งครับ พระคุณเจ้า คุณสมบัติ คุณฉิก รวมทั้งอาจารย์ณัฐพัชร์และคุณช้างน้อยมอมแมม เสวนากันได้ม่วนและลึกซึ้งแท้ (๒) มีเพื่อนๆคนหนองบัวจากอเมริกาเข้ามาเยือนถึง ๕ คนแน่ะครับ (๓) คนเข้ามาในระยะนี้เป็นพันกว่าคลิ๊กเลยทีเดียว

  การได้ทำมาหากิน-ทำมาค้าขาย  ติดต่อสร้างสังคมด้วยกัน เป็นสุขภาวะและเป็นโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิมหลายอย่าง เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนผมเคยไปขายของตามแนวชายแดนเขมรก่อนเกิดสงครามครั้งสุดท้ายและในที่สุดเขมรก็แตก ณ เวลานั้น ได้เห็นสภาพผู้คนที่อพยพหนีสงครามและเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อยู่สภาพยากแค้น กระเสือกกระสน เทียบกับในวันนี้แล้วก็ต่างกันมากอย่างยิ่ง ในวันนี้ผู้คนมีอัธยาศัย ได้คุย ได้สมาคมกัน ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่แววตาตื่นตระหนก หวาดกลัว ไม่มีความเป็นชีวิต แววตาไร้ความหวัง                    

                          

                           ภาพที่ ๑ ศูนย์สุขภาพชุมชน หน่วยสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ที่ตลาดโรงเกลือ คลองลึก

                           

                           ภาพที่ ๒ เด็กหญิงนั่งเล่นอยู่บนลานกว้างคนเดียว บางครั้งก็วิ่งไปเกาะผู้คนที่มาซื้อของในตลาดโรงเกลือ ในขณะที่พ่อแม่ขายของอยู่ข้างๆ ความรู้สึกปลอดภัยของเด็กและความวางใจของพ่อแม่ที่สามารถให้เด็กวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าชุมชนผสมข้ามวัฒนธรรมบนแนวชายแดน (Borderless and Cross-Cultural Community) แห่งนี้มีความสงบสุขร่มเย็นเพียงพอสำหรับทำอยู่ทำกินไปด้วยกัน 

                          

                           ภาพที่ ๓ ชาวบ้านในชุมชนรอบข้าง บางส่วนเป็นชาวไทยพื้นถิ่น และบางส่วนเป็นชาวกัมพูชาทั้งจากพนมเปญและจากชุมชนใกล้แนวชายแดน เดินเท้าผ่านแดนเข้ามาขายของและเดินกลับในยามเย็น

 ฉาย  : เครื่องมือสางฟางข้าวของชาวนาชุมชนหนองบัวและท้องถิ่นภาคกลาง 

ก่อนไปประชุมต่างจังหวัด ผมได้รับติดต่อขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากผู้ซึ่งแนะนำตนเองว่าเป็นผู้ช่วยนักวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งที่กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการถอดรหัสเพื่อประมวลองค์ความรู้การทำเกษตรนาจากบันทึกของพรเพ็ชร เหมือนศรี ชาวนาหนองบัวที่ประท้วงรัฐบาลอย่างมาราธอนและถูกฆาตกรใจอำมะหิตทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตอย่างหาร่องรอยไม่ได้กระทั่งปัจจุบันนี้ เธออ่านให้ฟังหลายอย่างที่หาข้อมูลและหาคนที่พอจะรู้จักคุยให้ฟังไม่ได้ รวมทั้งฉาย

ผมนั้น คุยไปก็ลังเลไปว่าวิธีศึกษาเรื่องอย่างนี้จะคุยแล้วจินตนาการเอาจากการเล่าพรรรณาได้อย่างไร หากเป็นลูกศิษย์ผมเองแล้วคงจะต้องโดยดุและให้กลับไปหาวิธีศึกษาใหม่ แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกันแล้วผมกลัวเด็กเสียความมั่นใจในชีวิตที่เขาจะทำสิ่งต่างๆดีๆในอนาคตได้อีกเยอะมากกว่ากลัวเสียเวลาไปกับงานที่ผมเองก็ไม่เห็นความหมายที่จะทำออกมาเลย เลยก็คุยพรรณาไปกระทั่งจนที่สุดก็ค่อยๆบอกว่าพอเหอะ กลับไปทำการบ้าน-ค้นคว้าต่อเอาเองเถอะ

พอไปต่างจังหวัดผมก็เลยร่างภาพไว้แล้วก็กลับมาลงหมึกให้เป็นรูปวาดลายเส้น เลยนำมาถ่ายทอดแลเผยแพร่ไว้นะครับ

                           

 ฉาย เป็นเครื่องมือสำหรับการนวดข้าวของชาวนา ทำจากไม้ไผ่ที่มีกิ่ง ลักษณะของลำไผ่จะต้องเลือกสรรจำเพาะลำไผ่ที่ไม่มีรูกลวงในปล้อง ขนาดพอมือ สูงประมาณเสมอหน้าผาก และต้องมีกิ่งที่แข็งแรงพอที่จะทำเป็นตะขอ เหลาปล้องและผิวให้กลมนุ่มมือ หากลำไผ่คดมากแต่ความยาวและความแข็งแรงใช้ได้ ก็จะตัดตบแต่งแล้วใช้ไม้ดัดทิ้งไว้ก่อน ๒-๓ วัน จากนั้น ก็จะนำมารมไฟให้อ่อนและดัดให้ตรง ดัดและตบแต่งกิ่งให้เป็นตะขอแล้วนำไปตากให้แห้งสนิท

ฉายเป็นอุปกรณ์แยกฟางข้าวออกจากเม็ดข้าวเปลือกในขั้นตอนการนวดข้าว การนวดข้าวนั้น ชาวนาจะนำเอามัดข้าวมาตั้งกอง แล้วใช้ฟางข้าววางปิดไว้ชั้นหนึ่งสำหรับให้ควายเหยียบหรือใช้รถบดลงไปโดยไม่ทำให้เมล็ดข้าวเสียหาย เมื่อนวดไปได้ระยะหนึ่งเมล็ดข้าวจะหล่นไปกองอยู่ด้านล่างของฟาง ชาวนาก็จะใช้ฉายกรีดแยกเอาฟางออกทีละชั้น ฟางจะติดขึ้นมากับตะขอฉายและเมล็ดข้าวก็จะหล่นกลับลงไป เมื่อสางแยกฟางออกจากเล็ดข้าวหมดแล้ว ก็จะกองมัดข้าวลงไปอีก แล้วก็นวดอีกหลายรอบ กระทั่งหมดทั้งลอมข้าว จึงจะฝัดข้าวเปลือกด้วยสีฝัดข้าวต่อไป

 ฉายซึ่งทำด้วยไม้ไผ่นั้น  มีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้สางฟางข้าวบนข้าวเปลือกมากกว่ามากกว่าใช้เหล็กทำ เพราะเปลือกข้าวเปลือกและละอองฝุ่นจากข้าวเปลือกนั้นแข็ง ทำให้มีด เคียว ตะขอ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่ทำด้วยเล็ก นอกจากจะทื่อและหมดสภาพการใช้งานอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะถูกกร่อนและเสียหายไปอย่างรวดเร็วมากกว่าอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้และไม้ไผ่.

(ข้อมูลอย่างนี้จะขออนุญาตแยกไปทำเป็นหัวย่อยและเพิ่มรายละเอียดไว้เป็นต่างหากอีกนะครับ)

  • ไม่ได้เข้ามานานเลย คคห (ความคิดเห็น) ที่แต่ละคนเข้ามาแบ่งปันไปเร็วมากเลย จนไม่รู้จะเริ่มจากอะไรก่อนดี
  • ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีกับน้องสมบัติด้วยกับรางวัล อำมาตย์ดีเด่น
  • เรื่องสังคมหนองบัวออนไลน์ ก็เป็นความคิดที่ดีครับ อะไรที่เป็นเรื่องราวที่มีสาระ อยากจะแบ่งปันกัน ก็มาอยู่ที่นี่ ส่วนอะไรที่ไม่ได้เป็นสาระเท่าไหร่ หรืออยากจะฝากข่าวคราวอะไรไว้ ก็ไปที่ออนไลน์
  • อ.ณัชพัชร์ครับ ไอ้วงโสเหร่นี่ผมไม่เคยได้ยินเลย ย่านไหนเขาพูดกันครับ คงจะเหมือนกับสภากาแฟหรือเปล่า
  • พูดถึงการกล่าวทักทายกัน คนหนองบัวนี่เวลาเจอกันมักจะถามว่า ไปไหน่มาล่าว (ไปไหนมาเล่า และคำว่าเล่านี่ต้องลากเสียงยาวๆๆๆ) อีกฝ่ายก็จะตอบว่า เปล่า..ไปตลาด (คำว่าตลาดก็ออกเสียงตรี และไม่รู้ว่าทำไมจะต้องบอกว่าเปล่าไว้ก่อน ทั้งที่ที่ไปตลาดมา)
  • งานงิ้วปีนี้ที่เพิ่งผ่านมา วันนั้นผมไปถึงหนองบัวเอาก็บ่ายสองกว่าๆแล้ว ขบวนต่างๆที่แห่รอบตลาดนั้น ก็กลับไปที่งานที่เกาะลอยเกือบหมดแล้ว เลยไม่ได้ถ่ายรูปอะไรมาเลย แต่ยังได้ไปช่วยแบก เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ซึ่งเป็นขบวนสุดท้ายที่ให้ชาวหนองบัวได้กราบไหว้ แต่ก็จะติดต่อคณะกรรมการจัดงานขอรูปถ่ายเพื่อเอามาลงให้พวกเราได้ดูกัน
  • กับอ.นุ ก็ไม่มีโอกาสได้เจอ ผมแวะไปที่บริเวณฉายหนังกลางแปลงตอนเกือบหกโมงเย็น ซึ่งอยู่ใกล้ๆโรงฆ่าสัตว์ ด้านหลังเกาะลอย เจอแต่เด็กเฝ้าจออยู่ 2 คน พอช่วงหัวค่ำต้องพาเตี่ยนั่งรถเข็นมาที่งานเลี้ยงบริเวณงานที่มีการประมูลของกัน และอยู่คุยกับเพื่อนฝูงอีกยาวเลย ฝากขอโทษ อ.นุด้วยนะครับ
  • เรื่องคนหน้าไมค์หลังไมค์นี่ก็อยากจะให้มีคนหน้าไมค์เพิ่มเข้ามาอีก มาช่วยกันรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับหนองบัว เพื่อทำให้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน
  • ใครมีลูกหลานที่กำลังอยากฝึกให้ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ก็ลองโยนการบ้านให้ฝึกวิธีสร้างความรู้ง่ายๆเกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่นและชุมชนหนองบัว มาเผยแพร่ไว้ในนี้ก็ดีนะครับ
  • จะได้พัฒนาตนเองให้เป็นสื่อชุมชนด้วย อาจเริ่มต้นจากรอบๆตัว หรือเอาเรื่องพ่อแม่ญาติพี่น้องของตนเองก่อน ฝึกถ่ายรูป วาดรูป เก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องราวที่น่าสนใจแต่ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย มาเผยแพร่ให้เป็นเรื่องราวของชุมชนหนองบัว สักวันหนองบัวจะเป็นชุมชนที่มีข้อมูลและองค์ความรู้ท้องถิ่นของตนเองที่ดีจากการช่วยกันทำขึ้นมาอย่างสะสม
  • กลุ่มคนอื่นๆที่เป็นเครือข่ายผู้นำชุมชนก็น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาเป็นคนหน้าไมค์ได้อย่างดีนะครับ โดยเฉพาะ อสม. คนทำงานท้องถิ่น และกลุ่มลูกหลานของชุมชนที่ได้ศึกษาเล่าเรียน
  • แค่ค่อยๆมีชุมชนละหนึ่งคนเพิ่มไปเรื่อยๆทีละเล็กละน้อย ก็จะทำให้มีเครือข่ายของคนที่สามารถสร้างความรู้แบบชาวบ้าน ที่ค่อยพัฒนาตนเองไปตามกำลังความสนใจ สักพักก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่มีบทเรียนตรง ทั้งทำด้วยตนเองและสอนลูกหลาน-สอนคนรอบข้างกันเองได้อย่างดี 
  • การบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ พี่น้องชาวหนองบัว และทุกท่านครับ

    ผมเองก็ไม่ได้กลับบ้านช่วงงานงิ้วเลยไม่ได้ชมบรรยากาศแบบหนองบัวเลยครับ เพิ่งไปงานบวชหลานชายมาก่อนหน้านี้เองครับ ประเภณีงานบวชก็ยังคงเดิมอาจผิดต่างไปบ้างแต่ก็ยังคงรักษ์ของเดิมอยู่ วันเมื่อสองสามวันอากาศร้อนมาก ผมไปนังหาหนังสือพิมอ่านที่สวน กทม.ห้องสมุดเขตลาดกระบัง.ห้องสมุดเป็นตึกกระจกล้อมรอบสามารถมองทะลุผ่านชมต้นไม่ด้านนอกได้บังเอิญ ผมมองผ่านไปตรงสระวายน้ำ มีน้องๆหนูๆมาเรียนว่ายน้ำกันก็นั่งมองอยู่พักหนึ่ง ก็นึกถึงตอนเรียนชั้นประถมขึ้นมาเลย ว่าเคยเสียเพื่อนร่วมชั้นเรียนไป ช่วงงานงิ้วพอดี เพราะแอบไปเล่นน้ำที่ไดเจ็กห้า แล้วจมน้ำเสียชีวิต

    เด็กต่างจังหวัดมักเสียชีวิตเพราะแอบหนีพ่อแม่ไปเล่นน้ำตามที่ต่าง ไกลหูไกลตาผู้ใหญ่แล้วน้ำที่เล่นกันบางที่ยังมีควายเคยลงไปด้วย ทั้งขี้ควาย ปลิง ต่างๆนานามากมาไปหมดเพราะความซน ว่าแล้วก็อิจฉาเด็กในเมืองขึ้นมาเลยครับ

    อย่างไรก็ตามขอฝากเวทีนี้ถึงท่านผู้ปกครองทุกท่านช่วยคอยดูแลบุตรหลานท่านอย่าให้ไปเล่นน้ำกันตามลำพังนะครับ

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คุณช้างน้อยมอมแม คุณณัฐพัชร์ พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

    หลังจากการบรรยายของ รศ.นู ไซญะสิทธิวงศ์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (วิทยาเขตดงโดก) จบลง ผมมีศัพท์ 2 คำมาฝากพี่น้องชาวหนองบัวครับ นั่นคือคำว่า...... ปลาแดกนอกไห กับคำว่า...ลาวข้าวเจ้าครับ

    ปลาแดกนอกไห.... เป็นคำเรียกผู้ที่มีเชื้อสายลาว ที่อยู่นอกประเทศลาว.....ไทย ฝรั่งเศส สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ

    ลาวข้าวเจ้า........... เป็นคำเรียกผู้ที่มีเชื้อสายลาว ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางรอบ ๆ กรุงเทพมหานคร

    สำหรับเรื่องของรถถัง (ลาวเรียกว่า ลดตัง) รถยีเอ็มซี เฮลิคอปเตอร์ (ลาวเรียกแอลิกอบแต) ต้องยอมรับว่าผมไม่ทันจริง ๆ ครับ อาจเป็นไปได้ว่าบ้านอยู่ห่างจากถนนสาย 225 มาก(ในสมัยนั้น)

    เห็นภาพในหัวข้อที่ 421 ของท่านอาจารย์ดร.วิรัตน์แล้วให้นึกถึง ตอนที่ผมไป SUNDAY MARKET BRISBANE AUS.เมื่อปลายปีที่แล้ว ไปเดินเลือกซื้อผัก พอคนขายรู้ว่าผมเป็นคนไทยและมาจากชายแดนไทย-ลาว เขาแสดงความยินดีอย่างออกนอกหน้า แถมผักให้อีกพะเรอเกวียน แม่ค้าชาวลาวคนนั้นเล่าว่า เขาหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ในศูนย์อพยพ ที่อำเภอปากชม จังหวัดเลย (ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ...ที่นายกฯอภิสิทธิ์นั่งเครื่องบินไปตรวจภัยแล้งแม่น้ำโขงด้วยความรวดเร็ว เมื่อไม่กี่วันมานี้) แม่ค้าคนนั้นได้ชี้ไปยังเด็กหนุ่มผิวขาวเหลือง รูปร่างสูงใหญ่ไม่แพ้ฝรั่ง ซึ่งยืนจัดเตรียมของอยู่ในร้านให้มาทำความรู้จักแล้วกล่าวว่า ลูกชายคนนี้เป็นวิศวกรเกิดที่ประเทศไทย เกิดในค่ายอพยพอำเภอปากชม UNHCR เป็นผู้ออกเอกสารการเกิดให้และทุกวันนี้ก็ยังเก็บรักษาไอย่างดี ส่วนลูกสาวอีกคนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ นั้นมาเกิดที่ออสเตรเลีย

    ตั้งแต่จากแผ่นดินลาวมาไม่เคยกลับไปประเทศลาวและประเทศไทยอีกเลย เอาไว้มีโอกาสที่เหมาะสมจะพาครอบครัวทั้งหมดกลับไปเที่ยวลาว และจะขอให้ผมพาไปดูจุดที่เขาคลอดลูกเพราะลูกชายอยากเห็นมากซึ่งผมก็ยังรอการติดต่อจากครอบครัวชาวลาวม้งครอบครัวนี้อยู่ครับ

    และก่อนที่ครอบครัวนี้จะมาพบ ผมได้ขับรถลัดเลาะไปตามความคดเคี้ยวของแม่น้ำโขงยามแล้งดู พบว่าบริเวณนั้นเป็นเนินเขา ลาดลงแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นไร่ข้าวโพดของชาวบ้านไปแล้วครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    เห็นภาพวาดตะเกียงเจ้าพายุ(กะเตียงโคม)ห้อย-แขวนกิ่งไม้ข้างลานนวดข้าวตอนกลางคืนพร้อมมีคนสงฟาง รุข้าว ส่งฟางขึ้นลอมฟางของอาจารย์วิรัตน์(ในคห.๔๒๒)แล้วนึกถึงบรรยากาศหนองบัวอันเก่าก่อนที่จะมีรถเกี่ยวข้าวโน่นเลย ช่วยดึงอารมณ์หวนย้อนกลับไปไกล

    บรรยากาศแบบนี้ส่วนมากก็มีแถวภาคกลางเพราะโดยทั่วไปบริเวณภาคกลางของไทยนั้นลักษณะเป็นที่ลุ่มส่วนใหญ่ก็ทำนาเป็นหลัก แต่ละบ้านจะทำนากันด้วยปริมาณมากแต่ละเจ้ามีนานับสิบไร่ถึงร้อยไร่เลยทีเดียว

    การนวดข้าว รุข้าวที่แต่ละบ้านมีลอมข้าวฟ่อนขนาดใหญ่มากๆ ปริมาณข้าวฟ่อนเป็นพันสองพันฟ่อนนั้นทำครอบครัวเดียวสามสี่คนนั้นหมดแรงเลยทีเดียว เมื่อก่อนใช้ควายนวดทั้งคนและควายเหนื่อยหอบตามๆกัน ควายนวดข้าวหลายๆวันเข้าเมื่อยมากๆถึงกับนอนคาตกข้าวในกองฟางเลยหนา เดินมากจนเล็บควายที่เหยียบฟ่อนข้าวฟางข้าวหลายวันนั้นเล็บเลื่อมเป็นมัน เล็บคมเพราะเสียดสีฟางข้าว

    ควายชอบกินเมล็ดข้าวเปลือกเวลาหยุดพักเอาฟางลอยออก ฟางลอยคือฟางที่เมล็ดข้าวร่วงแล้ว เมื่อสง(เขี่ย)ฟางด้านบนออกนอกลาน ควายแต่ละตัวก็จะบุ๋นฟางจนถึงเมล็ดข้าวกินอย่างสบายโดยเจ้าของก็จะถือว่าเป็นรางวัลค่าตอบแทนการนวดข้าว แต่ถ้ามูมมามกินมากเกินไปก็จะถูกเตือนเล็กๆน้อยๆย้ายที่ซะ ควายบางตัวกินข้าวเปลือกมากเราจะสังเกตได้เวลาถ่ายมูล(ขี้)จะเหลวสีเหลืองเหมือนข้าวเปลือกเลย

    วิธีที่ที่จะช่วยให้เราเหนื่อยน้อยหน่อยในการนวดข้าวก็คือการเอาแรงกัน ขึ้นแรงกัน เรียกว่าเอาแรงรุข้าว เพราะข้าวแต่ละตก(จำนวนฟ่อนข้าวที่นำมานวดแต่ละครั้ง)นั้น ตกน้อยก็เป็นร้อยสองร้อยฟ่อน ถ้าลานใหญ่ก็ตกใหญ่หลายร้อยฟ่อน ตอนรุข้าวนี่แหละเล่นเอาลิ้นห้อยเลย ต้องงัดข้าวฟ่อนที่ยังไม่ได้ตัดตอก ทุบ ตี ฟาด เขย่าฟ่างฟ่อนข้าวให้เมล็ดข้าวที่ร่วงไม่หมดให้ร่วงหล่น เมื่อยจนแขนจะหลุด ทั้งคายทั้งคันทั้งร้อนทั้งฝุ่นลองข้าว นี่แหละรสชาตินวดข้าวละ

    ฉะนั้นการเอาแรงกันขึ้นแรงกันนวดข้าวในหมู่ญาติเพื่อนบ้านจะสนุก ได้พูดคุยเสวนาหัวเราะกันในขณะรุข้าวนี่เลย ไม่มีซีเรียด ไม่เคร่งเครียด เรียกว่าเหนื่อยแต่ก็สนุก

    การนวดข้าวรุข้าวมีทั้งเหมือนและแตกต่างจากชุมนุมสมัยนี้แลยแหละ เหมือนอย่างไรละ ที่เหมือนก็คือมันคึกคักเพราะช่วยกันรุข้าวหลายคนนั่นเอง ที่ต่างก็เห็นจะเป็นเรื่องสีรุข้าวส่วนมากสีเขียว สีดำ สีน้ำเงิน กางเกงจีนสีดำ(ม่อฮ่อม)

    พี่น้องเรามาชุมนุมที่ท้องถนนเรียกร้องสิทธิพื้นฐานอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิทำได้ อันนี้ดูให้ดีคล้ายเอาแรงกัน หรือการขึ้นแรงกันเลยเชียว เป็นการเอาแรงขึ้นแรงกัน เพราะอะไร เพราะผลัดกันชุมนุมทีละฝ่าย ทีละสี บางฝ่ายบางสีก็ใช้ทำเนียบเป็นที่ชุมนุม เป็นฐานที่มั่น ข่าวทางใน(ในห้อง)รายงานว่าเป็นม็อบมีเส้น ม็อบมีสี บางฝ่ายไม่มีเส้นก็ชุมนุมในที่สาธารณะเพราะพื้นที่สาธารณะนั้นสร้างด้วยภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคน เขาก็ควรมีสิทธิใช้พื้นที่ดังกล่าวชุมนุมได้ เออน่าจะจริงแฮะ(โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น)

    เอ... พูดถึงเรื่องคันฉาย เรื่องนวดข้าว รุข้าวที่หนองบัวโน่น ทำไมมาลงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ท้องสนามหลวง หน้าทำเนียบรัฐบาลในพระนครเมืองหลวงของเทวดา(กรุงเทพฯ)ได้ละเนี่ยพี่น้อง ขอจบก่อนเด้อ ไปก่อนละ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณเสวก ใยอินทร์

    ไดเจ็กห้า หรือไดอื่นๆ รวมทั้งกะบังทั้งหลายในหนองบัวนั้นถือว่าเป็นสระว่ายน้ำเทียบได้กับสระว่ายน้ำตามโรงแรมห้าดาวโรงแรมหรูของไฮโซก็ว่าได้เลยแหละ
    หนองบัวบ้านเราหาน้ำหาท่าได้ยากยิ่ง การจะได้เล่นน้ำโดดน้ำอย่างสนุกสานานตามประสาเด็กน้อยนั้น ต้องรอให้ถึงหน้าน้ำ หน้าฝนโน่น

    ฉะนั้นลูกบ้านดอน บ้านนอก บ้านป่าอย่างหนองบัวเรา ยากที่จะว่ายน้ำได้เก่งเหมือนลูกคนแม่น้ำอย่างชาวชุมแสง ชาวปากน้ำโผล่-ปากน้ำโพทั้งหลาย คนตกน้ำตายที่หลวงอายังจำได้ที่คนเก่าเล่าให้ฟังก็มี สระตาเจ้น(บ้านเนินตาเกิด)ต.หนองกลับอยู่ติดกับสระน้ำหนองกลับ ปัจจุบันคงถมไปแล้ว ตาเจ้นตกสระน้ำตายหรือมีข่าวบางกระแสว่าถูกฆาตกรรมโยนสระน้ำ ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อน จะได้ตรวจสอบอีกที

    อีกที่หนึ่งคือสระน้ำวัดใหญ่-หนองกลับ ตรงข้างเมรุวัดหนองกลับใกล้กับต้นมะขวิดต้นมะสังข์ มีสระน้ำเล็กๆอยู่ ต่อมาก็ถมไปเรียบร้อยแล้วสระน้ำนี้ลูกพระของพ่อเฒ่ารถ-แม่เฒ่าเย็น ซึ่งเป็นลูกพี่ของโยมแม่หลวงอาท่านบวชพรรษาแรกและตกน้ำมรณภาพที่นี่

     เมื่อหลายปีก่อนนี้ก็มีข่าวสะเทือนใจคนหนองบัวเราที่ท่านเจ้าอาวาวัดหนึ่งสมรณภาพในรถยนต์ โดยรถตกน้ำในลำคลองข้างถนนท่านเปิดกระจกออกไม่ได้ ทั้งพระและชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์หมดปัญญาที่จะช่วยนำรถและตัวท่านให้ขึ้นจากน้ำได้ จนท่านต้องเสียชีวิตในรถ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่ได้แบ่งปันความรู้เรื่องศัพท์แสงภาษาลาวคำใหม่อีกสองคำ ปลาแดกนอกไห ลาวข้าวเจ้า ถ้าไม่มีคำแปลมาให้ด้วย อาจจะเดาไม่ถูกก็ได้

    เรื่องไทยมุง หนองบัวมุงเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ลงหน้าอำเภอนั้น สนุกและตื่นเต้นระลึกใจอย่างมากจริงๆ ห้วยปลาเน่านั้นอยู่ไกลอำเภอไม่น้อยตั้งเกือบสิบกิโลเมตรแนะ คนที่วิ่งกันลิ้นห้อยไปดูระบินเฮลิคอปเตอร์ก็คือคนแถวหนองบัว-หนองกลับนี่เลยเพราะใกล้ความเจริญหน่อย ว่ากันอย่างงั้นเถอะ(ขอคุยซะหน่อย)

    มีนักศึกษาอยู่ที่กุฏีอาตมาจากสองภาค เลยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรื่องนวดข้าว และเมื่อสักครู่ได้ลองถามเด็กหนุ่มชาวสกลนครและอุตรดิตถ์โดยให้ดูภาพวาดคันฉายของอาจารย์วิรัตน์ใน(คห.๔๒๒)ทั้งสองคนตอบว่าไม่รู้จักและยังไม่เคยเห็นคันฉาย เพราะที่บ้านของเขาไม่ได้ใช้ควายนวดข้าว และใช้คันฉาย

    ลูกชาวนาหนองบัวรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาปัญญาชนทั้งหลายจะรู้จักคันฉายกันบ้างไหมหนอ? คันฉายนี้เป็นอุปกรณ์ประจำตัวของแต่ละคนเวลานวดข้าว ใครใช้คันไหนก็จะถนัดมือคันนั้น จับอย่างจำหนับมือเหมาะแก่ใช้งานใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าเปลี่ยนคันกันแล้วละก็ ก็จะมีความรู้สึกว่าเหมือนมีความไม่คุ้นเคย แปลกๆมือ ใช้งานได้ไม่เต็มที่

    ตอนเป็นเด็ก ผมก็มีคันฉายประจำตัวเหมือนกันครับ มีการจุดตะเกียงเจ้าพายุ ใช้ควาย (วน ๆ ) นวดข้าวเหมือนกัน เหมือนในภาพของท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์เปี๊ยบเลยครับ

    ที่บ้านออกเสียง...คันฉาย.....ได้กันทุกคน เพราะมีพ่อเป็นคนไทย/พูดภาษาไทยกับลูก ๆ ตลอด แต่ญาติพี่น้องที่มีพ่อแม่เป็นลาว เป็นพวน เป็นยวน เป็นแง้ว เป็นโซ่ง ออกเสียงเป็น....คันสาย.....กันทั้งนั้น

    แต่ที่สำคัญ พวกแม่ครัวก็จะช่วยกันเตรียมอาหารไว้เลี้ยงแขกที่มาช่วยนวดข้าว ซื้อน้ำแข็งเป็นมือ ๆ มาแช่ในถังน้ำขาดใหญ่ไว้ให้แขกได้ดื่มกินยามเหน็ดเหนื่อย ส่วนใหญ่บ้านใหนก็บ้านนั้นครับ อาหารหลัก ๆ มักจะเป็นแกงไก่ใส่หน่อไม้เปรี้ยว/ใส่ฟักทอง/ใส่ฟักแฟง น้ำพริกปลาร้า/ผักต้ม ประเภทผักบุ้ง/ผักตำลึง/สะเดา ส่วนอาหารหวานนั้นก็พื้น ๆ ครับเป็นจำพวกข้าวเหนียวเปียกใส่แห้ว/มะพร้าว/ลำใยแห้ง/เผือก

    ความหวังของเด็ก ๆ อย่างพวกผมซึ่งตอนนั้นเป็นลูกหล้าด้วย (ลูกคนสุดท้อง) เป็นที่รู้กันว่า ตับไก่ทุกตัวที่ถูกปลิดวิญญาณ จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของเราเพียงคนเดียว.....ประเภทที่ว่า..... ตับของข้า ใครอย่าแตะ........

    เข้าใจว่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือเปล่าครับ ที่ว่า... ตับไก่...... จะต้องสงวนไว้เป็นพิเศษสำหรับใครบางคน โดยเฉพาะคนที่ตัวเล็กที่สุดในบ้านหลังนั้น ส่วนไตไก่นั้น เด็ก ๆ อย่างผม..หมดสิทธิ์ครับ เห็นผู้ใหญ่เขาบอกว่า เด็กกินแล้วจะปัญญาทึบ เป็นงั้นไป.

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ นานๆแวะมาคุยนี่ต้องรีบปัดกวาดที่นั่งและตักน้ำท่าต้อนรับขับสู้เพื่อจะได้นั่งคุยกับคุณฉิก พระอาจารย์มหาแล คุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณช้างน้อยมอมแมม อาจารย์ณัฐพัชร์ และอีกหลายๆท่าน อย่างเต็มที่สักหน่อยนะครับ

    รู้จักไดเจ๊กห้าด้วยหรือครับ มิหนำซ้ำบอกว่าเคยไปเล่นน้ำที่ไดเจ๊กห้าอีกด้วย เป็นคนรอบรู้กว้างขวางมากเลยนะครับ หากรู้จักบ้านป่ารัง บ้านรังย้อย หรือห้วยปลาเน่า แหล่งหลักๆเหล่านี้ ก็จะไม่แปลกใจครับ แต่รู้จักไดเจ๊กห้านี้ ต้องเป็นคนรอบรู้หรือไม่ก็เก่าแก่ดั้งเดิมมาก หรือไม่ก็ต้องมีเพื่อนอยู่แถวนั้น

    แต่ก็ไม่แน่นะครับ เดี๋ยวนี้แถวไดเจ๊กห้าดูเหมือนจะมีโรงสีหรือกิจการขนาดใหญ่พอสมควรไปลงแถวนั้นแล้ว เลยอาจจะเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปได้ดีขึ้น ผมเลยวาดรูปไดเจ๊กห้าและบรรยากาศเก่าก่อนมาให้รู้จักด้วยครับ รายละเอียดเหมือนกับที่คุณเสวกพูดถึงเลยทีเดียว

                                

     ไดเจ๊กห้า  : ได้เจ๊กห้าเป็นกลุ่มบ้านเรือนอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านตาลินกับบ้านป่ารัง อำเภอหนองบัวจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๒๕ ของถนนจากชุมแสง-หนองบัว แต่เดิมนั้น บริเวณได้เจ๊กห้าเป็นทางน้ำหลากจากเหนือล่องไปจบกับห้วยปลาเน่าและห้วยวารี ในหน้าน้ำหลากกระทั่งน้ำทรงในเดือนสิบสองถึงเดือนยี่-เดือนอ้าย ก็จะเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมาก ชาวบ้านจะมารวมตัวกันจับปลาในบริเวณไดเจ๊กห้านี้เมื่อน้ำแห้ง ก้นคลองและดินโคลนตามลำห้วยแตกระแหง ก็จะเต็มไปด้วยเขียด ก็จะมาจับเขียดกันอีก

    เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนนั้นไดเจ๊กห้าเป็นทุ่งนาไม่มีบ้านเรือนชาวบ้าน ในหน้าทำนา ชาวนาหนองบัวและกลุ่มชาวบ้านจากชุมชนโดยรอบที่มุ่งมาหาปลา ก็มักจะมาทำห้างและตั้งเรือนพักชั่วคราว ต่อมาก็มี พ่อใหญ่เรือง : ครูเรือง พินสีดา ไปลงหลักปักฐานอยู่อาศัยที่ไดเจ๊กห้าอย่างเป็นการถาวรกระทั่งปัจจุบัน บ้านพ่อใหญ่เรืองกับไดเจ๊กห้าจึงเป็นแหล่งอ้างอิงกันและกัน

    ครูพ่อใหญ่เรืองนี้ เป็นคนร่วมรุ่นกับครูเสริญบ้านป่ารัง ครูเสริญเป็นครูสอนและดูแลโรงเรียนบ้านป่ารัง ส่วนครูพ่อใหญ่เรืองนี้เป็นครูที่ร่วมกับนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ และคนรุ่นบุกเบิกของบ้านตาลิน บ้านป่ารัง รังย้อย ห้วยถั่วใต้ และห้วยถั่วเหนือ ขอให้กองทุนวันครูของครูทั่วประเทศไทยในปี ๒๕๐๔ เอาทุนที่จะสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ ลงไปสร้างโรงเรียนที่บ้านตาลิน ทำให้มีโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อยู่ที่บ้านตาลินตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งในปีนั้นการระดมทุนของเหล่าคุณครูทั่วประเทศ สามารถสร้างโรงเรียนเนื่องในวันครูปี ๒๕๐๔ ในจังหวัดต่างๆของประเทศได้เพียง ๕ แห่งเท่านั้น โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ของอำเภอหนองบัวเป็นเพียง ๑ ใน ๕ โรงเรียนดังกล่าวนั้นและในปี ๒๕๕๔ นี้ก็จะก่อตั้งมาได้ครึ่งศตวรรษครับ ส่วนโรงเรียนบ้านป่ารังและโรงเรียนห้วยถั่วใต้ ต่อมาก็ได้ยุบให้เด็กๆไปเรียนที่โรงเรียนวันครู 

    ครูพ่อใหญ่เรืองนี้ หากอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นครูต้นแบบของการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงท่านหนึ่งแน่นอน เพราะครูพ่อใหญ่เรืองท่านขอลาออกจากราชการก่อนเกษียณ แล้วก็แปรผืนดินที่ไดเจ๊กห้าทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีคิดที่ล้ำยุคเกินใครจะคาดคิด โดยท่านขุดสระขนาดใหญ่ ๒ ลูกเชื่อมต่อกันและสามารถจัดการน้ำถ่ายเทถึงกันได้ รอบคันสระก็ปลูกพืชสวนผสม ในสระก็เลี้ยงปลา ที่ขอบสระด้านหนึ่งก็ทำคอกไก่และเลี้ยงไก่ให้ไก่ขี้ลงไปในสระให้เกิดไรเป็นอาหารปลา รอบสระเต็มไปด้วยแปลงผัก และที่สุดจะก้าวหน้ามากก็คือท่านล้อมตาข่ายเลี้ยงกบและแมงดานา ซึ่งเมื่อกว่า ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้นไม่มีใครคิดได้ทันอย่างที่ครูพ่อใหญ่เรืองทดลองทำด้วยตนเองอย่างนี้เลย

    เวลาถึงวันพระหรือมีกิจกรรมประเพณีต่างๆ ครูพ่อใหญ่เรืองจะเป็นศูนย์กลางของการตีวงเข้ามานั่งคุยและศึกษาหัวข้อธรรมต่างๆด้วยกันของชาวบ้าน ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว แต่ลูกหลานและภรรยาของท่านคือแม่ใหญ่คูณก็ยังคงอยู่ที่ได้เจ๊กห้า กระทั่งทุกวันนี้.

    วาดรูปตามคำบอกเล่าของคุณเสวกเพื่อให้เห็นภาพอีกอย่างหนึ่งคือ อุบัติเหตุการจมน้ำและเสียชีวิตของเด็กๆ ดูสภาพแหล่งที่เด็กๆชอบเล่นน้ำแล้วก็คงจะนึกออกนะครับว่าทำไมเด็กๆจึงมักเสียชีวิตจากการเล่นน้ำและจมน้ำ หน้าน้ำนั้นน้ำจะไหลแรงมาก 

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : อ่านการถ่ายทอดประสบการณ์รอบโลกของคุณสมบัติแล้วได้ความรู้และความรอบรู้ใหม่ๆงอกขึ้นมาทุกที ที่สำคัญคือมักเป็นความรู้สำหรับเห็นความงดงามของผู้อื่น เกิดความเคารพและเป็นมิตรกับผู้อื่น อย่างปลาแดกนอกไห หรือลาวข้าวเจ้า เป็นบทสรุปไปในตัวให้เห็นอัตลักษณ์-ความเป็นตัวตนที่สะท้อนสังคมและสภาพแวดล้อมไปด้วยอย่างดีเลยนะครับ การคิดคำพูดขึ้นได้อย่างนี้นี่ช่างสะท้อนการเรียนรู้และการตกผลึกบทเรียนเชิงระบบในชีวิตได้ดีมากจริงๆเลยนะครับ

    คุณสมบัติพูดถึงการซื้อน้ำแข็งเป็นมือๆเพื่อไปทำน้ำเย็นเลี้ยงดูกันของชาวบ้านเวลาลงแขกนวดข้าวด้วยแล้ว ก็ต้องนึกถึงน้ำยาอุทัยหมอมีด้วยเลยนะครับ และน้ำแข็งนี่ก็ต้องมาจากโรงน้ำแข็งกับโรงไอติมข้างสระหลวงพ่ออ๋อย

    ส่วนตับไก่กับกึ๋นไก่นี่ นึกถึงแล้วก็ขำไปด้วยเช่นกันครับ อันที่จริงพวกเด็กๆไม่ชอบกินตับไก่เพราะมันขม แต่พวกผมนี่ชอบแย่งกันที่หัวไก่ เพราะเชื่อกันว่าไก่ตื่นเช้า ต้องแย่งกินหัวไก่เพราะอยากตื่นแต่เช้าก่อนตะวันขึ้น กึ๋นไก่นั้นไม่อยากกินเพราะกลัวปัญญาทึบ ตับหรือก็ขมเลยก็ไม่กินอีก ขาและตีนไก่ยิ่งไม่กินใหญ่เพราะกลัวลายมือยุ่งเป็นไก่เขี่ย ตกลงก็เหลือแต่ของอร่อยๆให้ผู้ใหญ่กิน ส่วนผมก็จ้องกินหัวไก่นั่นละ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน ก็นึกถึงคลอเลสเตอรอลไว้ก่อนละครับเพราะกำลังใกล้จะเดินหลังงุ้มเป็นไก่แล้วสิ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • พระคุณเจ้าพรรณาเรื่องการนวดข้าวได้ดีจังเลยครับ ผมจะหาเวลาดึงออกไปทำเป็นเนื้อหาหัวข้อย่อยและเขียนรูปประกอบไว้ให้นะครับ
    • ข้อเขียนในส่วนนี้ทั้งของคุณฉิก คุณเสวก พระอาจารย์มหาแล และคุณสมบัติ ดีมากจริงๆเลยนะครับ หากเมื่อก่อนนี้มีใครมาทำไว้ให้พวกเราอย่างนี้ เด็กหนองบัวก็คงจะมีแหล่งค้นคว้าและอ่านเรื่องราวชุมชนของตนเองให้เกิดความรอบรู้กันได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ 

     การนวดข้าว  : บรรยากาศอย่างที่พระอาจารย์มหาแล และคุณสมบัติเล่าถ่ายทอดไว้ครับ

                                

                                                                                                        วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ภาพการนวดข้าวในหัวข้อที่ 435 ผมขอแสดงความชื่นชมและชื่นชอบอย่างเป็นที่สุดเลยครับ ในเรื่องของการให้บรรยากาศและรายละเอียดอย่างครบถ้วน/สมบูรณ์ ไม่ละเลยแม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทรงคุณค่า โดยเฉพาะของเด็ก ๆ

    ตอนเป็นเด็กที่อยู่ตามบ้านนอกนั้น ของเล่นที่เด็กในเมืองเขาเล่นกันนั้น มีน้อยนักและ หายากเต็มที

    สิ่งที่นิยมเล่นกัน...... ผมเห็นปรากฏอยู่ในภาพของอาจารย์ครับ นั่นคือการเล่นกับเงาของตัวเอง เต้นลิงเต้นค่าง อยู่ตรงกลาง ระหว่างตะเกียงเจ้าพายุกับฝาบ้านหรือพื้นผนังอะไรซักอย่าง

    สมัยนั้น....เพียงได้เล่นแค่นี้ก็สนุกสนานมากพอแล้วครับ......สมัยนี้ เมื่อได้พบ/ได้เห็นกับภาพแบบนี้ มันได้ช่วยเตือนความทรงจำในอดีตได้ดีมาก ถึงดีสุด ๆ

    ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงและขอบคุณจริง ๆ ครับ สำหรับภาพนี้.

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ   

    • ผมขออนุญาตแยกเอาเนื้อหาที่คุณสมบัติกับท่านพระอาจารย์มหาแลเขียน ไปทำเป็นหัวข้อต่างหากอีกหัวข้อหนึ่งเรื่อง การนวดข้าวด้วยควายเหยีบของชาวหนองบัว นะครับ เนื้อหาและข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อคนเข้ามาอ่าน จะได้ค้นหาสะดวกมากขึ้นครับ แล้วก็วาดรูปประกอบให้ด้วยแล้ว เป็นรูปที่นำมาโพสต์ไว้ที่นี่ด้วยแหละครับ
    • การเล่นของเด็กๆในชนบทอย่างที่คุณสมบัติชอบใจนั้น มันช่างสนุกจริงๆนะครับ ความสามารถที่จะสนุกกับวิธีเล่นอย่างไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมากมายนักนั้น มองในแง่หนึ่งมันก็เป็นการพัฒนาพลังจินตนาการและความสร้างสรรค์ได้ดีมากเลยนะครับ  
    • ใครได้ดูแล้วรำลึกถึงความสนุกอย่างง่ายๆอย่างนี้นี่คงจะเริ่มคิดถึงบ้านไปด้วยเลยนะครับ 

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ครับ

    ยินดีและเห็นด้วยครับ ผมตามไปดูมาแล้ว รู้สึกว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน/แสดงความคิดเห็นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงทั้งสิ้น ดีใจด้วยครับ.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าฯ สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่านทั้งอยู่หน้าไมค์และหลังไมค์  ไม่ค่อยได้เข้ามาพูดคุยด้วย รู้สึกว่ามีเรื่องราวต่างๆมากมายเหลือเกิน ทั้งเฮลิคอปเตอร์เอย ครูนุชเอย การนวดข้าวลงแขกอีก คงต้องเข้ามาคุยบ่อยๆแล้วแหละ จะได้ไม่หลุดวงโคจรไป คราวนี้มาแจมเรื่องไดเจ๊กห้าก่อนละกัน

    • ผมเองเพิ่งเคยได้ยิน ไดเจ๊กห้าก็จากพระคุณเจ้าคราวนี้แหละ และจากข้อมูลที่พี่วิรัตน์ว่ามา ไดเจ๊กห้า น่าจะหมายถึง แถวๆห้วยใหญ่ หรือเปล่า ซึ่งตรงนั้นจะมีโรงสีอยู่ 1 โรง
    • ก่อนหน้านี้ผมก็รู้จักแต่ไดนาโม ที่หมายถึงเครื่องปั่นไฟ (เครื่องแปลงพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า ตรงข้ามกับมอเตอร์ที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลจากการหมุนของมอเตอร์) หรือชาวเลจะมีเรือไดหมึก ซึ่งก็คือเรือประมงที่มีเครื่องปั่นไฟ จ่ายไฟฟ้าให้หลอดไฟเพื่อใช้แสงไฟล่อปลาหมึกมาเล่นไฟใกล้เรือเพื่อจะได้จับได้ง่าย (พูดถึงทะเลแล้ว มีเรื่องตื่นเต้นตอนที่จะได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟัง)
    • สมัยที่เรียนชั้นประถม เพื่อนๆจะมีบ้านอยู่ที่ตลาดหรืออกไปรอบนอกไม่ไกลนัก หรือไม่ก็เป็นลูกครูลูกตำรวจข้าราชการอำเภอ จึงไม่ค่อยได้รู้จักสถานที่ต่างๆที่ออกไปรอบนอกไกลๆมากนัก จนมาเรียนมัธยมจึงมีเพื่อนจากรอบนอกที่เข้ามาเรียนต่อที่หนองคอก (ก็ทั้งอำเภอมีรร.มัธยมแค่โรงเดียว) ทำให้รู้จักสถานที่รอบนอกมากขึ้น บางที่ก็ไม่เคยได้ยินเช่น ไดลึก ไดรัง วังแรด เป็นต้น จึงเริ่มจะรู้จักชื่อได ซึ่งก็เดาเอาว่าน่าจะเป็นที่ลุ่มน้ำเพราะอยู่เลยห้วยร่วมออกไปอีก (ไม่แน่ใจว่าอยู่เขตพิจิตร หรือว่าเขตหนองบัว) อย่างถนนสาย11 (อินทร์บุรี-เขาทราย) ตรงสี่แยกท่าตะโก-ไพศาลี ก็มีชื่อเรียกว่าสี่แยกไดตาล พอมาขับรถมาถึงตรงนี้ทีไรก็จะบอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวกลับกทม.จะไปเปิดพจนานุกรมดูทีว่า ได หมายถึงอะไร แต่ก็ลืมทุกคราไป เพิ่งจะได้มาเปิดเอาเมื่อวานนี้เอง ซึ่งก็ไม่มีกล่าวถึงที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เลย
    • เรื่องการจมน้ำตายนั้น พี่ชายผมก็จมน้ำเสียชีวิตที่เกาะลอย(ท้ายหนอง) ตั้งแต่ที่ผมยังเล็กมาก ไม่ประสีประสาอะไร เลยไม่ได้รับรู้เรื่องราวในขณะนั้น พอเริ่มโตขึ้นแม่ก็จะห้ามไม่ให้ไปเล่นน้ำ แต่ผมก็แอบหนีไปเล่นกับเพื่อนๆที่เกาะลอย และก็ว่ายน้ำเป็นที่เกาะลอยนี่แหละ สมัยนั้นโดดน้ำจากราวสะพานลงน้ำ ตู้ม ตู้ม สนุกมาก มีตาเปรื่องเป็นคนดูแลเกาะลอย แกมักจะคอยมาไล่ไม่ให้เล่นน้ำ ด้วยกลัวว่าจะเกิดการจมน้ำขึ้น เวลาเล่นน้ำต้องคอยดูตลอด ถ้าเห็นแกขี่จักรยานมาก็จะรีบขึ้นจากน้ำ คว้าเสื้อผ้าหนีไปตั้งหลักแล้วค่อยใส่เสื้อผ้ากัน บางคนหนีไม่ทันโดนแกยึดเสื้อผ้า เนื้อตัวล่อนจ้อนหรือถ้าเด็กโตหน่อยก็เหลือกกน.ตัวเดียวที่ใส่เล่นน้ำ ต้องให้เพื่อนๆไปขอเสื้อผ้าคืนจากแก ก็จะโดนแกดุแกว่าเอา

      สวัสดีครับคุณสมบัติและคุณฉิกครับ

    • วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ นี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลกับจังหวัดนครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ จะจัดสัมมนาและการระดมสมอง เรื่อง วิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัย - มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและอาจารย์หมอประเวศ วะสี จะไปบรรยายให้วิธีคิดและผุดประเด็นการระดมสมองกันด้วย หากมีโอกาสผ่านไปในเมือง ก็อยากชวนแวะไปร่วมเวทีนะครับ ที่ห้องเรียนรวม ชั้น ๓ อาคารเรียนรวม ทั้งวันเลย ผมเองก็ว่าจะไปร่วมเวทีด้วยครับ จะไปประชุมเครือข่ายวิจัยที่พิจิตรในวันที่ ๘ เมษ.ย.แล้วก็จะอยู่แถวนั้นเพื่อร่วมประชุมต่อในวันรุ่งขึ้นเลย
    • ท่านอื่นๆด้วยก็ขอบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ให้ไปร่วมได้นะครับ สำหรับคนหนองบัวนั้น หากมีใครที่พอจะสามารถไปฟังแล้วได้แนวคิดมาจัดเวทีพูดคุยกันของคนหนองบัวต่อ ก็คิดว่าจะสามารถทำสิ่งต่างๆไปได้ทีละเล็กละน้อยได้อีกหลายอย่าง หากผ่านไปก็แวะนะครับ
    • หากได้ไปร่วมผมก็จะรวบรวมประเด็นมาเล่าถ่ายทอดให้ฟังครับ

    วันที่ 9 เม.ย. นี้ คงไม่ได้ไปร่วมฟังบรรยายครับ อย่างไรพี่วิรัตน์ช่วยสรุปให้ฟังด้วยละกัน เอ..ที่นว.เรา มีม.มหิดลหรือยังครับ คล้ายๆว่า ใกล้ๆ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จะมีอยู่หรือเปล่า ไม่แน่ใจ

    จำได้ว่าที่ นบ. บ้านเราก็เคยมีป้ายมาปักว่าจะสร้าง วิทยาเขต แต่น่าจะเป็นราชภัฏฯ นะ แล้วเรื่องก็เงียบหายไปแล้ว

    พรุ่งนี้ (วันศุกร์) ไปธุระแม่สอดครับ เย็นวันเสาร์เข้าหนองบัว บ่ายวันอาทิตย์กลับเข้ากทม.

  • ที่นครสวรรค์มีมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์แล้วครับ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาไปเป็นแหล่งจัดการเรียนการสอนทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • เคยทราบอยู่บ้างเหมือนกันครับว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์จะพัฒนาวิทยาเขตไปหนองบัว มีการรวบรวมที่ดินไปได้พันกว่าไร่และมีการระดมทุนไว้จัดประชุมและริเริ่มประสานงานในขั้นต้นอยู่เล็กน้อย แต่ก็คงจะยังทำอะไรต่อไปได้ไม่มากนัก ทำที่ลองถามดูก็ดูเหมือนว่ายังต้องสร้างความพร้อมและระดมการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นให้มากกว่าเท่าที่มีอยู่ครับ ไม่อย่างนั้นก็คิดและทำอะไรต่อไม่ไหว ซึ่งเข้าใจได้ครับ
  • ที่มหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ก็ยังทำไปได้เป็นบางส่วนเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณ รวมทั้งแนวทางที่เน้นสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ จะเน้นการมีส่วนร่วมและพัฒนาขึ้นจากท้องถิ่นแล้วให้มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนทางวิชาการ มากกว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อขยายความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีอยู่ในส่วนกลางออกไปสร้างขึ้นอีกในนครสวรรค์อย่างเดียว
  • ทางผู้นำในท้องถิ่น คนจากอำเภอ และพวกเราที่เป็นศิษย์เก่าหนองคอกและคนหนองบัวที่อยากให้มีสถาบันการศึกษาสูงกว่ามัธยม เคยอยากรวมตัวกันหารือเรื่องนี้และชวนผมไปนั่งคุยกันด้วยอยู่เหมือนกันครับ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการการเรียนรู้ที่ดีก่อนมากเหมือนกัน
  • นี่ก็เป็นแรงดลใจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ต้องมานั่งเขียนและชวนฉิกกับทุกท่านคุยกันอยู่ในนี้แหละครับ ผมอาจจะช่วยเสริมเข้าไปอีกทางหนึ่ง แต่อยากให้เรามีเวทีคุยทำความคิดให้ดีๆ มีข้อมูลและได้ปรึกษาหารือกัน หากทำงานวิจัยได้หรือเห็นประเด็นทบทวนข้อมูลต่างๆได้ ก็อาจจะได้ประเด็นที่เชื่อมโยงออกจากเรื่องราวต่างๆที่มีคนได้คุย คิด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้สักจำนวนหนึ่ง แล้วก็คิดว่าคนหนองบัวน่าจะมีเวทีคุยกันเรื่องพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาอนาคตของตนเองด้วย แต่เรื่องอื่นๆนั้นก็คงมีคนช่วยกันทำบ้างพอสมควรครับ
  • อย่างปีนี้ไปจนถึงปี ๒๕๕๔ ผมอยากร่วมกับทุกท่านให้คนหนองบัวตื่นตัวว่าเป็น ๕๐ ปีหรือกึ่งศตวรรษของการศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่นหนองบัวครับ เพราะโรงเรียนหนองคอกนั้นก่อตั้งในปี ๒๕๐๓ ครบรอบก่อตั้ง ๕๐ ปีในปีนี้ และหนองบัวมีโรงเรียนวันครู ๒๕๐๔ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่เพียง ๕ แห่งและปีหน้าก็ครบรอบก่อตั้ง ๕๐ ปีเช่นกัน เราคุยหาความรู้-หาประเด็นในนี้กันสักระยะหนึ่งผมคิดว่าจะพยายามจัดสัมมนาเรื่องการศึกษากับการพัฒนาหนองบัว หรืออาจจะยกเป็นกรณีศึกษา เพื่อคุยวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องของสังคมไทยก็เชื่อว่าจะเหมาะสมดี แล้วก็หาทางทำสิ่งต่างๆไปข้างหน้า
  • แต่คิดว่าจะทำเฉยๆนะครับ ตอนนี้ทำไปตามสภาพ ทำเวทีคนหนองบัวนี้ให้เป็นสื่อการแลกเปลี่ยนสื่อสารและรวบรวมข้อมูลไปสบายๆกันก่อน และตอนนี้ก็ดึงเรื่องที่ผมเขียนเรื่องแม่ 'ดังลมหายใจ' ออกมาทำต้นฉบับหนังสืออยู่ ๑ เล่มครับ แล้วก็พอหนังสือเสร็จก็จะลงมาจัดกิจกรรมกับโรงเรียนวันครูและชาวบ้านที่บ้านผมครับ จะพาเด็กๆ อสม.และลูกหลานในชุมชน เรียนรู้ชุมชน ฝึกเป็นนักวิจัยชุมชนและสร้างความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นตนเอง คิดว่าสักเดือน-สองเดือนนี้หนังสือคงเสร็จครับ
  • ไปร่วมเวทีมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์มาแล้ว จะนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังนะครับ
  • สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่น้องชาวหนองบัวครับ

    เมื่อสักครู่ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า ที่วัดน้ำสาดกลาง ต.ธารทหาร อ.หนองบัวบ้านเรา มีงานใหญ่ครับ คือว่ามีพี่น้องไทดำและพี่น้องไทเพชร จากจังหวัดเพชรบุรี มาทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีกันเป็นจำนวนมาก

    มาเป็นรถบัส รถตู้ รถปิคอัพและรถส่วนตัว เกือบ 20 คัน มีแขกผู้มาเยือนจากจังหวัดเพชรบุรี กว่า 200 คน ว่ากันว่าเป็นครั้งแรกที่จัดงานใหญ่ขนาดนี้ เป็นการจัดงานเพื่อการประสานงาน/เชื่อมโยง/ผูกสัมพันธ์กันระหว่างชาวไทดำ/ไทยเพชรในอำเภอหนองบัว กับชาวไทดำ/ไทยเพชรจากจังหวัดเพชรบุรีครับ

    ที่บ้านน้ำสาดกลางและหมู่บ้านใกล้เคียงนั้น มีพี่น้องชาวไทดำและชาวไทยเพชร อพยพเข้ามาหักร้างถางพงอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก อพยพมาทางรถไฟเมื่อประมาณ 70 - 80 ปีก่อน.....จากเพชรบุรีมาลงรถไฟที่สถานีอำเภอชุมแสง แล้วพายเรือเข้ามาจับจองที่ดินในแถบนี้และอยู่กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นชุมชนขนาดใหญ่และกระจัดกระจายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง

    เจ้าภาพได้ต้อนรับขับสู้กันเต็มที่ มีหมอลำ / หมอแคน และการละเล่นอื่น ๆ เลี้ยงฉลองต้อนรับกันคึกครื้น

    ท่านใดที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ยังสามารถไปร่วมงานได้ทันครับ...... เพียงแค่การได้เห็นการแสดง/การแต่งตัวและได้ยินภาษาพูดของพี่น้องชาวไทดำหรือลาวโซ่ง ผมก็ว่าคุ้มค่าแล้วครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขนาดอยู่ที่พิษณุโลกยังรู้สึกตื่นเต้นไปกับชาวบ้านน้ำสาดกลางที่ได้มีโอกาสต้อนรับพี่น้องไทยดำ-ไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง)จากเพชรบุรีด้วยเลย เมื่อก่อนบ้านโยมป้าอยู่หน้าวัด ตอนหลังย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุวันติดกับบ้านวังข่อย รับรู้อยู่ว่าพี่น้องบ้านน้ำสาดกลางนั้นเป็นคนลาวแต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นคนโซ่งเลยจริงๆ เมื่อได้อ่านพจนานุกรมสามภาษาของอาจารย์สมบัติจึงได้รู้ว่าที่หนองบัวมีลาวโซ่งด้วย

    ที่อำเภอบางระกำ พิษณุโลก จะมีงานทำบุญทอดผ้าป่าและรวมญาติเชื่อมความสัมพันธ์พบปะสังสรรค์เครือข่ายพี่น้องไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง)ทั่วประเทศขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ ที่วัดยางแขวนอู่(วัดคุยพยอม) พระที่รู้จักกันท่านเล่าว่าเป็นงานใหญ่มากๆของพี่น้องไทยทรงดำบ้านยางแขวนอู่ และเป็นความภูมิใจของชาวบ้านด้วยที่ได้ต้อนรับญาติซึ่งมาจากเขาย้อย เพรชรบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆอีกมากมาย

    ฟังข่าวที่ส่งมาและบรรยากาศงานใหญ่ที่วัดน้ำสาดกลางในวันนี้ที่มีพี่น้องไทยทรงดำจากเพชรบุรีมาเชื่อมความสัมพันธ์กับพี่น้องชาวบ้านน้ำสาดกลางมากขนาดนี้แล้ว ก็ไม่แตกต่างจากที่อำเภอบางระกำพิษณุโลกเลย ถ้าพี่น้องชาวหนองบัวได้เห็นเอกลักษณ์การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีการแสดงของไทยทรงดำที่หาชมได้ยากแค่นี้ก็สุดประทับใจแล้ว

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ และสวัสดีครับคุณสมบัติครับ  

    • เมื่อก่อนเวลาได้ยินบ้านน้ำสาดนี่ จะรู้สึกว่ามันไกลมากจริงๆนะครับ นานทีปีหนถึงจะสามารถไปได้ถึงบ้านน้ำสาด อย่างผมนั้นปีหนึ่งๆก็อาจจะได้ๆไปหนสองหนเพราะไปเป่าแตรงานบวชนาค
    • แต่เดี๋ยวนี้ บางทีนั่งรถตู้กลับบ้านหนองบัว เขาก็อาจพาแวะเข้าไปในบ้านน้ำสาดและธารทหาร เวลาผ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันใกล้หนองบัวนิดเดียว อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมเมื่อก่อนนี้รู้สึกว่ามันไกลมากจริงๆ
    • การเดินทางไปทอดผ้าป่าอย่างนี้ เป็นการนับญาติและเยี่ยมยามกันอย่างหนึ่งของชาวบ้าน หากเป็นเมื่อก่อนนี้ก็จะต้องมีการฟังเทศน์ กินขนมจีนและรำวงกันสัก ๑ คืน แต่เดี๋ยวนี้การเดินทางสะดวก พอทอดผ้าป่าเสร็จก็สามารถเดินทางกลับและถือโอกาสแวะเที่ยวไปตามแหล่งต่างๆ
    • งานอย่างนี้ ครูหรือมัคนายก หรือคนที่เป็นโฆษกชุมชนเป็น จะสามารถเป็นคนที่ช่วยทำให้มีความหมาย ได้ความประทับใจ ได้ความเป็นญาติ และได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี แต่ต้องปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะแก่สภาพเงื่อนไขหลายอย่างที่เปลี่ยนไป เช่น ทำหน้าที่เป็นสื่อการเรียนรู้ชุมชน คุยเรื่องราวให้คนได้รู้จักกันและกัน เหมือนอย่างในกรณีนี้ก็สามารถเล่าให้ฟังเรื่องไทยทรงดำ ลาวโซ่ง และคนไทย-ลาวตามท้องถิ่นต่างๆ ก็จะทำให้เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางสังคม ไม่ได้สนุกอย่างเดียว เวลากลับบ้านและเมื่อมีงานอย่างนี้ ผมกับพระและมัคนายกของชุมชนที่บ้าน ก็มักจะช่วยกันทำอย่างนี้แหละครับ 
    • ดีใจและอบอุ่นใจไปกับคนบ้านน้ำสาดกลางครับ และขอบคุณคุณสมบัติครับที่ช่วยเป็นสื่อท้องถิ่นให้ทุกคนครับ 
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ในความเห็นที่๔๓๙(คห.๔๓๙)คุณฉิกได้กล่าวถึงเรื่องชื่อได และความหมายของคำว่าไดโดยบอกว่าไม่พบว่ามีการอธิธายและให้ความหมายคำนี้ไว้ด้วย เรื่องนี้อาจารย์วิรัตน์ได้ตอบโดยตรงไว้ที่หัวข้อ ได้เจ๊กห้า : แหล่งบุกเบิกเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียงของหนองบัว ที่คุณครูคิดได้ถามข้อสงสัยเรื่องได คอมเม้นต์ที่ ๗ วันที่๓๐มีนาคม๒๕๕๓ ขออนุญาตนำมาฝากคุณฉิกและทุกท่าน ดังต่อไปนี้

    "....ผมไม่รู้ว่าถิ่นอื่นๆใช้คำนี้บ้างหรือเปล่านะครับ แต่แถวบ้านนั้น หากพื้นที่ลุ่มตรงไหนลุ่มเป็นแอ่งน้ำขังเล็กกว่าบึง และไม่ลึกอย่างคลอง บ่อ หรือสระ ลักษณะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ราบโดยรอบจนแทบจะแยกให้เห็นขอบเขตฝั่งไม่ออก กระทั่งลุ่มลงไปเป็นแอ่ง แล้วก็มีปลาชุกชุม มีพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ ลักษณะอย่างนี้ก็มักจะเห็นเรียกกันว่า ได น่ะครับ"

    สำหรับอาตมาพอเข้าใจเรื่องไดและลัษณะพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ที่สงสัยอยู่นิดเดียวก็ตรงชื่อไดเจ๊กห้าและที่มา ยังเดาไม่ถูดว่ามีที่มาอย่างไร ไดเจ๊กห้า มีเจ๊กห้าคนมาทำอะไรที่นี่หรือเปล่า จะว่ามาหาปลา-ขายปลาหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ และว่าโดยชื่อแล้วก็ทำให้คนเข้าใจได้ว่าน่าจะหมายถึงเจ๊กมาทำอะไรที่นี่แน่ๆ ชื่อนี้คนรุ่นเก่ารู้จักกันดี แต่ก็ยังกังขา สงสัยที่มาอยู่นั่นเอง

    อยากรู้ด้วยคนครับ ใครรู้ที่มาที่ไปเรื่องชื่อ ไดเจ๊กห้า มากเล่าถ่ายทอดไว้หน่อยนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เคยมีการพูคุยกับคนรุ่นใหม่ลูกหลานคนหนองบัวที่ไปศึกษายังต่างจังหวัดจนจบการศึกษาระดับปริญญาและอื่นๆโดยมีงานมีการทำอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นล้วนเป็นลูกชาวนาชาวไร่ด้วยกันทั้งสิ้น มีบ้างที่ไม่ใช่เป็นลูกหลานชาวนาชาวไร่ เพราะหนองบัวก็เหมือนท้องถิ่นอื่นๆ คนในท้องถิ่นหนองบัวก็มีหลากหลายอาชีพมีทั้งชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ รับจ้างฯลฯ

    สิ่งที่พูดคุยนั้นหลายสิ่งหลายอย่างก็มาตรงกับหัวข้อในเวทีคนหนองบัวนี้เลย เช่น หนองบัวบ้านเราเป็นบ้านนอก บ้านดอน บ้านป่า เป็นสถานที่ไกลปืนเที่ยง ห่างไกลจากตัวจังหวัด ห่างไกลความเจริญ อยู่ชายขอบของจังหวัดนครสวรรค์ การจะเข้าตัวเมืองนครสวรรค์แต่ละครั้งแต่ละคราเหมือนกับจะต้องเดินทางไปเชียงใหม่ ไปกรุงเทพฯ ไปเมืองหลวง หรือไปพระนครเลยทีเดียว

    การไปศึกษาต่อของรุ่นพี่ของคนหนองบัวในยุคก่อนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบากนานาประการ ยากทั้งการเดินทางออกจากหนองบัว น้องๆที่จบม.๖ปีนี้นึกภาพออกไหม ว่าทำไมการเดินทางไปศึกษายังต่างจังหวัดของรุ่นพี่รุ่นน้ารุ่นลุงของเราจึงยากนักยากหนา ที่ยากก็เพราะสมัยโน้นมีแต่เกวียน มีแต่ล้อกันทั้งบ้านทั้งเมือง ใครมีรถยนต์ใช้ก็จะเป็นรถประเภทที่ใช้เกี่ยวกับการเกษตรทั้งนั้น เช่น รถบรรทุกไม้ รถบรรทุกข้าวเปลือก รถไถนา คนในเมืองหนองบัว และชาวบ้านต่างก็มีเครื่องมือที่ใช้ทางการเกษตรทั้งนั้น มีรถก็เป็นเครื่องมือทำมาหากิน รถส่วนตัวชนิดที่ต้องอวดฐานะความมั่งมีอวดรวยนั้นไม่มีให้เห็นเลย

    เห็นมีอยู่บ้างก็รถของสส.บ้าง ผู้สมัครสส.บ้าง จากในตัวเมืองนครสวรรค์โน่นแหละที่มาหาเสียงตามศาลาวัด แต่ก็ไม่ได้เห็นบ่อยนัก จะได้เห็นบ้างก็ตอนมีผู้สมัครมากราบนมัสการหลวงปู่อ๋อยที่วัดใหญ่และพบปะพูดคุยกับพี่น้องบนศาลานั่นแหละ

    ฉะนั้นการเดินทางไปเรียนของรุ่นพี่เราจึงไม่ง่ายเลย ยากลำบากจนคนยุคเรานี้คิดคาดไม่ถึงว่าเป็นได้ยังไง น้องๆอาจคิดว่าเป็นไปได้ขนาดนั้นเชียวหรือ เป็นนิทานมากกว่าซะละมั้ง ยกตัวอย่างให้เห็นจะจะเลยก็ได้ โรงเรียนหนองบัว โรงเรียนหนองคอก(ชาวบ้านเรียกโรงเรียนแดง) โรงพยาบาลหนองบัว หรือสี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดงหนองบัวปัจจุบัน) เมื่อก่อนนี้น้องๆรู้ไหม บริเวณแถบนี้เป็นป่า เป็นชายแดนหนองบัว เป็นบ้านนอกของบ้านหนองบัวอีกทีหนึ่งคือมันไกลมากเลยทีเดียว ไกลชนิดที่ที่ดินบริเวณนี้หาคนมาจับจองเป็นที่ทำกินได้ยาก ใครก็ไม่อยากมาจับจองที่ดินที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ซึ่งทำกินก็อะไรก็ไม่ได้ สู้ทุ่งนาในบริเวณอื่นที่เป็นที่ราบ-ลุ่มทำกินได้สะดวกกว่าเยอะ แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นเมืองหรือชานเมืองหนองบัวไปแล้ว

    การไปเรียนต่อเมื่อก่อนไม่ต้องพูดไปเรียนต่างอำเภอต่างจังหวัดหรือในตัวเมืองนครสวรรค์หรอก เอาแค่ต่างหมู่บ้านก็ไป-มายากมากแล้ว แต่สมัยนี้เราสามารถไปเรียนได้ถึงต่างจังหวัดไปเช้า-กลับเย็นก็ยังได้ผู้เขียนนั่งนึกว่ามันไม่น่าเป็นได้ได้เลยจริงๆ ถ้าย้อนไกลไปถึงปู่ ย่า-ตา ยาย ก็จะยิ่งนึกไม่ออกไปกันใหญ่ เพราะชีวิตท่านเกิดที่หนองบัว โตที่หนองบัวและจากไปโดยที่ท่านไม่ได้ไปไหนไกลจากหนองบัวเลยซึ่งมีอยู่หลายท่าน

    สถานที่พักอยู่อาศัยสำหรับการเรียนหนังสือก็ไม่ใช่หาได้ง่ายสะดวกอีกเหมือนกัน เพราะฐานะยากจนหนึ่ง เพราะไม่ญาติไม่มีพรรคพวกอยู่ในเมืองหนึ่ง จะเห็นได้ว่าอยู่หนองบัวก็ลำบากอยู่แล้ว เมื่อออกไปจากหนองบัวแล้วก็ต้องไปเผชิญกับความยากลำบากยิ่งกว่าอยู่ที่บ้านอีกมากโข

    เมื่อเป็นดั่งนี้ อารามบอยก็เกิดขึ้นกับคนบ้านนอกทุกภาคคือเป็นเด็กวัดที่มาอาศัยวัดในเมืองในกรุงเทพฯกันอย่างถ้วนหน้า น้องๆอยากรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบ้างไหม ที่บางช่วงที่ผ่านมามีเด็กวัดบางท่านได้เป็นผู้บริหารบ้านเมืองในตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหาร(นายกรัฐฯ)อยากรู้ว่าเป็นใครก็ให้ลองไปค้นคว้าหาจากแหล่งต่างๆได้โดยไม่ยาก แม้เด็กหนองบัวเราหลายท่านก็เป็นเด็กวัดและปัจจุบันท่านเหล่านั้นก็มีตัวตนและมีความเจริญก้าวหน้ากันมากมายให้เราได้รู้จักให้เราได้ศึกษาชีวิตของท่าน สามารถนำมาเป็นบทเรียนให้เราเอาเป็นตัวอย่างได้และก็ก้าวเดินตามท่านไปให้ได้อย่างไม่เคอะเขิน เรียกให้ทันสมัยว่าท่านเหล่านั้นเป็นอำมาตย์ที่ดีสร้างสรรค์ประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แม้เป็นคนบ้านนอกก็ตาม

    ยุคนี้อะไรๆก็ดูเหมือนจะสะดวกสบายไปเสียทุกอย่างแต่การสะดวกสบายนั้นหากพิจารณาให้ดีแล้วอยู่บนฐานความจริงมากน้อยเพียงใด ความสะดวกสบายที่ว่านั้นตั้งอยู่บนฐานอะไรบ้าง ตั้งอยู่บนฐานหนี้สินล้นพ้นตัวไหม เพราะบางอย่างเรายอมหรือจำนนต่อการได้มาซึ่งความสะดวกสบายเพียงผิวเผินหรือเพียงให้ตัวเองมีสิ่งนี้บ้างโดยเพื่อให้ตัวเทียมเท่ากับคนอื่นบ้าง แต่กำลังฐานะของเราจริงๆอาจไม่เอื้อให้สร้างได้เท่าผู้อื่น

    กระแสความนิยมทางวัตถุเปลือกนอกโดยทิ้งคุณค่าที่แท้จริงอันเป็นแก่นสารมีมาก มองกันเพียงรูปแบบภายนอก สังคมมักวัดกันด้วยฐานะทรัพย์สินเงินทองมีมากขึ้น ค่านิยมติดยึดอำนาจและอวดโก้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ให้ความสำคัญเรื่องที่โก้หรูนั้นมีความจำเป็นน้อยกว่าเรื่องปากท้อง แต่ค่านิยมอันนี้มักเกิดกับลูกๆที่มักเอาแต่เสพสุขบริโภคความสะดวกสบายที่เกิดจากหยาดเหงื่อหยาดน้ำตาของผู้ปกครองที่ทั้งชีวิตนั้นมอบให้คุณลูกทั้งหลายได้ตลอดเวลา แม้จะมีหนี้สินท่วมหัวก็ทำได้ คุณพ่อคุณแม่เหน็ดเหนื่อยจนสายตาแทบกระเด็น ก็เพื่อความสุขความเจริญความก้าวหน้าและความสำเร็จแห่งชีวิตของลูกซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างสูงสุดโดยประการเดียวเท่านั้นนั่นเอง.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อย่าเทือกมาก ๆ

    เทือกนี้ไม่เกี่ยวกับบุคคลหรือการเมืองแต่ประการใด แต่มันคือการทำนาดำ การทำเทือกนี้ทำได้เฉพาะนาดำเท่านั้นเป็นการไถดินเตรียมหน้าดินในระยะการไถแปรไถนาครั้งสองเพื่อตีหน้าดินที่ได้ไถดะไว้ก่อนหน้านั้นเป็นการทิ้งระยะเวลาประมาณสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ด้วยจำนวนวันเวลาประมาณนี้พอที่จะให้หญ้าวัชพืชต่างๆเน่าๆสลายกลายเป็นปุ๋ยและหน้าดินนั้นก็จะก่อเกิดเป็นขมุยไส้เดือน โดยไส้เดือนช่วยทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นคือทำการชอนไชทำให้ดินร่วนซุย ทำให้การระบายน้ำและอากาศไปสู่ดินได้อย่างดี การชอนไชของไส้เดือนเป็นการไถพรวนทางธรรมชาติที่ดีที่สุด และไส้เดือนยังช่วยทำให้ดินสมบูรณ์โดยการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุที่เป็นอาหารแก่ดินอีกด้วย นอกจากนั้นไส้เดือนยังเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์บอกถึงการปนเปื้อนของสารเคมีในดินได้อีกโสตหนึ่ง

    หนองบัวมีดินเหนียวดินทรายดินร่วน การทำนาที่หนองบัวที่เป็นดินเหนียว การทำเทือกไม่ยากเพราะดินเหนียวมีสภาพโครงสร้างของดินที่มีปุ๋ยมากกว่าดินทราย เมื่อทำเทือกแล้วดินเหนียวก็สามารถรักษาความอ่อนตัวของหน้าดินได้หลายวันโดยที่ไม่เกิดเป็นดินมับ(หน้าดินแข็งตัว) ดินเหนียวจึงทำเทือกไว้ได้หลายวัน และสามารถจ้างคนดำนาได้จำนวนมากด้วยเทือกที่ทำไว้นั้นจะรอแขกที่จะมาดำนาได้ไม่จำกัดวันนั่นเอง

    ส่วนดินทรายดินร่วนนั้นเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างดีคืออย่าเทือกมากโปรดฟังอีกครั้ง นี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะพี่น้อง แต่มันคือการทำนาดำ การทำเทือกไถดินไว้ดำนาต่างหาก นาดินทรายดินร่วนนี้ข้าวไม่ค่อยงอกงาม เพราะดินมีปุ๋ยอินทรีย์สารอยู่น้อยดินจะมีสีแดงบ้างสีขาวบ้างแม้แต่หญ้าวัชพืชอื่นๆก็ไม่เจริญเติบโตงอกงามเพราะขาดปุ๋ยดังกล่าวแล้ว

    ฉะนั้นการทำเทือกในนาดินทรายจึงทำได้ในปริมาณจำกัด เพราะดินทรายนั้นถ้าทำเทือกไถหน้าดินไว้นานๆแล้วหน้าดินมักจะแข็งตัวเร็ว(ดินมับ)เมื่อดินมับการดำนาทำได้ยากมาก เพราะไม่สามารถจะปักต้นกล้าลงดินได้ง่ายๆ ปักได้ก็ต้องใช้แรงกดของนิ้วมืออย่างมาก ถ้าดินมับดำกล้าได้สักครึ่งกำก็เก่งแล้ว มันจะเจ็บปวดนิ้วมือ เล็บอาจฉีกได้ คนทำนาดินทรายจะมีปรัชญาประจำตัวอย่างเหนียวแน่นเลยทีเดียวว่า อย่าเทือกมาก

    ขอฝากข้อคิดให้พ่อแม่รุ่นใหม่สำหรับคนหนองบัวที่นิยมส่งลูกไปเรียนหนังสือว่าควรให้ลูกเราได้ไปนาไปไร่ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้ปกครองของตนบ้าง ไม่ใช่จะเอาใจตามใจด้วยกลัวลูกจะเหน็ดเหนื่อยลำบาก ทำให้เขาไม่ได้สัมผัสความจริงของพ่อแม่อาจมีส่วนทำให้เขาเป็นคนอ่อนแอ อ่อนต่อโลกและชีวิตอันจะมีผลต่อชีวิตของเขาในภายหน้า ขอให้การเรียนรู้ของเขาในท้องนาท้องไร่ที่เป็นจริงนี้ จะส่งผลโดยตรงและทำให้พวกเขานั้นมีความแกร่งกล้า สูชีวิตสู้สิ่งยากและสำเร็จสมความประสงค์ของเราได้อย่างสมภาคภูมิ

    ปัจจุบันชาวนาหนองบัวก็ทันสมัย-ทันเหตุการณ์อย่างมากคือไม่นิยมเทือกแล้วเพราะทำนาหว่ากันหมดนั่นเอง

    เอวัง

    • เนื้อหาเรื่องการทำเทือกนี้ดีจังเลยครับ แล้วผมจะดึงออกไปทำรูปภาพประกอบและทำเป็นหัวข้อเรื่องต่างหากให้อีกครั้งนะครับ
    • วิธีเขียนอย่างนี้ก็ดีมากเลยนะครับ มันมี ๓ มิติที่ทำให้ได้หลายอย่างไปด้วยกัน คือ(๑) การบันทึกและเรียนรู้ความเป็นชุมชน (๒) การให้ความรู้เทคนิควิธีการทำนาของชาวนาในขั้นการทำเทือก และ (๓) วิธีคิดกับการตกผลึกบทเรียนของชีวิตที่สะท้อนว่ามีที่มาที่ไปจากการเรียนรู้-ได้ความบันดาลใจจากวิถีทำกิน
    • โครงสร้างการดำเนินชีวิตที่มีมิติการเรียนรู้และตกผลึกหาความแยบคายในชีวิตจากอริยาบทต่างๆของชีวิตอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านมีการเรียนรู้และเป็นคนที่ลุ่มลึกตามตามความมีประสบการณ์ชีวิตได้อย่างดีเลยนะครับ ผู้มีวิถีอย่างนี้คงเทียบได้กับมรรควิถีของผู้รัตตัญญู ใช่หรือเปล่าครับ เป็นผู้มีประสบการณ์และเรียนรู้งอกงามไปกับประสบการณ์ชีวิต ไม่ใช่เพียงมีชีวิตที่แก่นานยืนยาวไปตามวันเวลาเท่านั้น

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์

    เมื่อวันที่ 2-4 เม.ย.ไปสัมมนาเข้มชุดวิชาสัมมนาการวิจัยทางการศึกษาและสื่อสารการศึกษาที่มสธ....เปิดบล็อกพี่วิรัตน์ดูการเรียนแบบผสมผสาน..น้องอำภา แสงสว่าง เห็นสนใจแกถามว่าใครน่ะพี่..เลยแนะนำว่าเป็นรุ่นพี่จ้า เอ้าแล้วเกี่ยวอะไรกับชุมชนหนองบัว หนองบัวนครสวรรค์ใช่ไหมพี่..บอกว่าใช่จ้า..เอ้าแล้วรุ่นพี่พี่อ้อยเกี่ยวอะไร ก็บอกว่าอ้อ..รุ่นพี่เป็นคนหนองบัว แล้วไปเป็นอาจารย์ที่มหิดล..น้องดีใจใหญ่บอกว่า เย้ๆคนหนองบัวได้เป็นถึงดร.ด้วยดีใจจัง..ก็เลยรู้ว่าน้องเขาเป็นคนหนองบัว..ก็เลยบอกว่าว่างๆภาเข้ามาเยี่ยมชุมชนคนหนองบัวบ้างนะ.น้องก็รับปาก..แต่ไม่รู้น้องจะหาบล็อกเจอหรือเปล่านะคะ...

    น้องภา..ตากลม คนหนองบัวค่ะ

    เราอยู่กลุ่มเดียวกันคือศูนย์กรุงเทพกลุ่ม 3 ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกันจนประสบผลสำเร็จ

    ผลสำเร็จของศูนย์กรุงเทพฯ กลุ่ม 3

     

    ..คาดว่าในอนาคตข้างหน้าคนหนองบัวจะมีมหาบัณฑิตเพิ่มขึ้นอีก 1 คนค่ะ...

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กคุณอำภาชาวหนองบัวทุกท่าน

    ขอบคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ได้แนะนำใหได้รู้จักชาวหนองบัวและได้บอกความรู้สึกว่า คุณอำภา แสงสว่าง มีอาการดีใจที่ได้รับทราบมีคนหนองบัวเป็นดร. เธอคงแปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร 
    อาตมานึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของน้องเขาได้ทันทีเลยว่า น้องอำภาเธอต้องนึกว่าบ้านหนองบัวเราแสนจะบ้านนอกนั้น คาดไม่ถึงเลยจริงๆว่าจะมีคนจบดร. จบแพทย์ จบการศึกษาระดังสูงได้ถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นพี่คุณครูอ้อยเล็กด้วยแล้ว น้องคงนึกว่ายุคนั้นมีแต่ทำนา ทำไร่ เลี้ยงงัว-ควายเต็มไปหมดไม่น่าจะมีใครเล็ดรอดไปได้ถึงดร. น้องคงทึ่งและอัศจรรย์ใจอย่างมากซิเนาะ

    ไม่ใช่เฉพาะน้องภาเท่านั้นหรอกที่คิดอย่างนี้ แม้อาตมาเองก็ยังเคยคิดอย่างนี้ด้วย ยิ่งรุ่นพี่อาตมาด้วยแล้วนับจำนวนคนได้เลยว่า ในอำเภอมีลูกใครบ้างทั้งในตลาดหนองบัวในหมู่บ้านที่ได้ไปเรียนหนังสือในเมือง ในกรุเทพฯ คือเหมือนกับว่าคนในอำเภอหนองบัวมีลูกเต้าเหล่าใครบ้างที่ออกนอกพื้นที่ไปเรียน ไปทำงาน ไปทำกิจการค้าขาย ไปชนิดที่ตามตัวได้ไม่ยากนัก เพราะจะรับรู้กันไปหมดว่าใครไปอยู่ที่ไหน ไปเรียนที่ไหน อยู่ตรงไหน สามารถไปพบไปพี่งพาอาศัยเมื่อคราจำเป็นได้จริงๆ ดูเป็นชุมชนเล็กมากเลยใช่ไหม อำเภอก็คล้ายหมู่บ้านนั่นเอง

    ชาวบ้านเขาจะรู้ว่าลูกใครเป็นตำรวจ เป็นนายร้อย เป็นครู เป็นทหาร เป็นพ่อค้าแม่ค้า เป็นนักมวย เป็นกระเป๋ารถเมล์ เป็นคนขับรถสส. เป็นอะไรทุกอย่างรู้กันทั่วไปหมด ไม่ใช่ญาติกันอยู่กันคนละหมู่บ้านแต่รู้จักกันด้วยการนับญาติไล่เรียงกันตั้งแต่ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อแม่ ไล่เรียงจนถึงทวดโน่นแหละ นับไปนับมาอ้าวไม่ใช่ใครอื่นนี่หว่า เรานี่มันญาติกันแท้ๆ อย่างนี้ก็มี

    ก็เลยดีใจอย่างมากเลยที่คุณครูอ้อยเล็กเจอน้องอำภาคนหนองบัวและแนะนำให้รู้จักชุมแห่งนี้ หวังว่าคุณอำภาคงได้เป็นญาติกันอีกคนนะ ยินดีและดีใจจริงๆ ดีใจไม่แพ้น้องเขาเหมือนกัน ชุมชนหนองบัวออนไลน์ขอต้อนรับว่าที่มหาบัณฑิตบ้านนอกจากหนองบัวที่มีคุณภาพอีกหนึ่งท่าน

    นมัสการพระอาจารย์ ท่านมหาแลฯ และสวัสดีท่านดร.วิรัตน์ครับ

    กรณีเกี่ยวเนื่องกับ ไทดำเมืองเพชรมาเยี่ยมเยือนลาวโซ่งที่น้ำสาดกลางครับ เวลามีเพื่อนฝูงหรือญาติทางไกลมาเยี่ยมบ้านเราที่หนองบัวนี่ ผมคิดอยู่เสมอว่าเราไม่ค่อยมีอะไรให้เขาดู/เขาเที่ยวสักเท่าไหร่

    พอทอดผ้าป่าเสร็จ คณะที่มาทั้งหมดก็กระจายตัวไปอาบน้ำ/นอน ตามบ้านของพี่น้องชาวน้ำสาดกลาง แล้วแต่ใครจะสะดวก หลังละ 7 - 10 คน ไม่ต้องเสียค่าโรงแรม...และโรงแรมก็ไม่มีให้เช่าด้วย

    รูปแบบการต้อนรับแบบนี้ผมคิดว่าก็ดีเหมือนกันนะครับได้ความสนิทสนมกลมกลืน /เป็นกันเอง บรรยากาศแบบนี้ผมเคยสัมผัสเมื่อคราวไปร่วมงานไทพวนที่ อ.ศรีสัชนาลัยเมื่อหลายปีก่อนครับ...

    วันรุ่งขึ้น ได้รับรายงานว่าพี่น้องชาวเพชรบุรีได้เดินทางเป็นคาราวานไปเที่ยวชมบึงบรเพ็ด แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะพบแต่ความแห้งแล้ง...น้ำไม่มี

    หนองบัวบ้านเรา ผมเห็นว่ามีศักยภาพอยู่แห่งหนึ่งครับ คือ บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาพระ ถ้าพัฒนาดี ๆ ก็น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอได้ ระยะทางก็ไม่ไกลจนเกินไป หรือท่านใดเห็นว่ายังมีแหล่งอื่น ๆ จะลองเสนอมาบ้างก็ได้นะครับ ถือว่าช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองของเราครับ

      สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก 

    • ดีใจครับ เลยก็ขอร่วมแสดงความยินดีพร้อมไปกับพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลด้วยครับ
    • การมีเวทีเสวนาพูดคุยกันก็ดีอย่างนี้เลยนะครับ ได้สร้างความรู้จักมักคุ้นและคุ้ยเคยกันดังญาติมิตร ซึ่งไปๆมาๆก็เชื่อมโยงเหมือนมีความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขในสังคมเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้อง รู้สึกเห็นโลกกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นอยู่ตลอดเวลา
    • ได้เห็นรูปของคุณอำภาแล้ว ก็ต้องยิ้มและอุทานเลยละครับว่า หน้าตาและบุคลิกอย่างนี้นั้น หนองบั๊ว-หนองบัวเลยละครับ เหมือนคนท้องถิ่นหนองบัวพันธุ์แท้เลยครับ แต่นามสกุลนี่ผมไม่คุ้นเลย แต่ก็ไม่แปลกใจแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้คนหนองบัวมีมากขึ้น เมื่อก่อนลูกหลานคนหนองบัวแทบจะทั้งหมดต้องเรียนโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) และโรงเรียนหนองคอก นามสกุลใคร-ญาติพี่น้องใคร อยู่บ้านไหนนี่แทบจะรู้จักและจำกันได้หมดครับ ตกรถที่ไหนพอบอกลูกเต้าเหล่าใครก็พาไปส่งกันได้แล้วครับ

     กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ  : เมื่อก่อนนี้ลูกหลานชาวหนองบัวที่เรียนหนองคอก เพียงได้ไปแข่งกีฬาแถวโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ โรงเรียนโพธิสาร หรือโรงเรียนชายนครสวรรค์ ก็ตื่นเต้นและนอนไม่หลับเหมือนกับได้ไปต่างประเทศเลยละครับ แรกๆนั้นเวลาไปแข่งก็แพ้หลุดลุ่ยตลอดเพราะเราเคยวิ่งแต่ในสนามที่ใช้เลี้ยงวัวควาย ลูกฟุตบอลมันกระดอนไปทางโน้นทางนี้

    บางทีก็เตะบอลแต่ก็ฟาดไปโดยขุยดินจนเล็บและหลังนิ้วเท้าเปิดเลือดกระจาย แต่ก็วิ่งเล่นกันต่อหน้าตาเฉย นี้เป็นเรื่องปรกติ เรียกว่าเรื่องอึดละก็ใช้ได้ แต่พอไปแข่งในเมือง สนามเขาเรียบกริบ นอกจากประหม่าและตื่นสนามมากทั้งนักกีฬาและกองเชียร์แล้ว ก็วิ่งทางราบไม่ค่อยจะทันครับ นึกถึงแล้วก็สนุกดีครับ เดี๋ยวนี้คนหนองบัวได้ออกไปเรียนต่อ ไปทำงานและไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างๆเยอะเลย

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ   ผมเคยออกไปทางถนนที่แยกออกไปทางชัยภูมิ เลยไปนิดเดียวก็เห็นพื้นที่ดูสลับกับแนวป่าและที่ราบลดหลั่น สวยดีเหมือนกันครับ วิธีต้อนรับแบบช่วยๆกันแล้วก็กระจายไปตามบ้านเป็นกลุ่มเล็กๆนั้นน่าประทับใจดีและเจ้าบ้านก็รวมกลุ่มกันย่อยๆได้ความสนิทสนมและได้ประสบการณ์ที่ดีมากด้วยนะครับ 

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่วิรัตน์อีกครั้งหนึ่งค่ะ...ขอแก้ไขนามสกุลน้องเขาก่อนนะคะ

    ..น้องภาชื่อจริงว่า...อำภา นามสกุล อ่อนสำอางค์ค่ะ..น้องบอกว่าพี่อ้อยจำนามสกุลน้องผิด ฮาๆเลย...เป็นคนในตลาด ตำบลที่น้องอยู่นั้น ชื่อตำบลหนองกลับค่ะ...

     

    • ขอชื่นชมน้องอำภาด้วยนะครับ น้องคุณครูอ้อยเล็กชวนเชิญเข้ามาเขียนในเวทีคนหนองบัวนี้บ้างนะครับ
    • ยินดีกับน้องคุณครูอ้อยเล็กกับเพื่อนๆด้วยนะครับ เกือบถึงเส้นชัยกันแล้วนะครับ

    ก็ขอขอบคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ช่วยแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนามสกุลของคุณอำภา แสงสว่างขอแก้ไขให้ถูกต้องตามที่แจ้งมา เป็นอ่อนสำอางค์

    ข้อปุจฉาของคุณอำภาที่ว่าหนองบัวก็มีดร.ด้วย? ขอวิสัชนาว่าอันที่จริงลูกชาวนาชาวไร่ชาวบ้านชาวตลาดหนองบัว-หนองกลับนั้น ได้รับการศึกษาเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบันมีจำนวนมากมาย จบแพทย์ จบโรงเรียนนายร้อยปจร.นายร้อยสามพรานก็มีหลายท่าน มีดร.บ้านอยู่ในตลาดหนองกลับใกล้ๆกับบ้านคุณอำภาที่ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็เป็นคนบ้านอยู่ห้องแถวในตลาดวัดใหญ่(หนองกลับ)นี่เอง

    พูดแบบชาวบ้านก็อาจจะพูดได้ว่ามีดร.จากหนองบัวบางท่านที่เคยทำนาทำไร่เลี้ยงงัวเลี้ยงควาย ขับเกวียน ดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกมัน ปลูกถั่ว หาหน่อไม้ไผ่ตงที่เขาพระเขาสูงเขามรกตตั้งแต่คนรุ่นคุณอำภายังไม่เกิดโน่นแนะ ฟังดูโบราณมากไหม

    จากท้องทุ่งนา ป่าเขา ขี่หลังควาย หาของป่าที่หนองบัว สู่เส้นทางการศึกษาจนจบถึงระดับสูงสุดมีทั้งฝ่ายบรรพชิต(พระ)คือจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ฝ่ายฆราวาสก็จบปริญญาเอก(ดร.) ชีวิตท่านเหล่านี้ผ่านอุปสรรคความเหนื่อยยากนานาประการมากมาย เพราะพ่อแม่ยากจนทำนาทำไร่ ตั้งแต่เกิดกว่าจะได้เข้าเมืองนครสวรรค์ก็แสนยากเต็มที บางท่านอายุเกือบยี่สิบปีจึงได้เห็นปากน้ำโพ แม่น้ำเจ้าพระยา

    เปรียบเทียบกับคนรุ่นคุณอำภาแล้วช่างแตกต่างกันเหลือคณานับจริงๆ คนรุ่นหลวงน้านั้นแต่ละปีกว่าจะได้ของใช้แต่ละอย่างต้องรอให้เกี่ยวข้าวขายข้าวก่อนจึงจะได้สมใจ เสื้อผ้าสักตัว กางเกงสักตัวหนึ่ง ต้องรอให้ข้ามปีเลยแหละ ถ้าปีไหนฝนแล้งเหมือนกับหนองบัวปีนี้ละก็ ก็อดซื้อได้ของใหม่ใช้ แต่จะมีของแถมพ่วงมาด้วยเลยก็คือหนี้สินจากธนาคารที่พ่อแม่ไปกู้มาลงทุนทำนา ทำไร่ กู้นอกระบบก็เยอะ ข้าวก็ไม่ได้หนี้สินก็รกรุงรัง ดอกเบี้ยขึ้นอย่างงอกงาม

    กู้นอกระบบไม่กี่พันบาท เจอภาวะภัยแล้ง ฝนแล้งซ้ำซ้อนสักปีสองปีดอกเบี้ยบานตะเกียงเลย หลายเจ้าก็ถูกยึดนา ยึดที่ดินเพราะไม่มีเงินใช้หนี้เถ้าแก่ ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยทบกันแล้วมีราคาเท่ากับราคาที่ดิน(นา) หมดปัญญาหาเงินมาใช้หนี้ ก็ต้องถูกยึดนาไปตามระเบียบ

    คนรุ่นปัจจุบันอยากได้อะไรก็ได้ แต่พ่อแม่นั้นก็เป็นหนึ้สินเหมือนเดิม คือหนี้ธกส. กู้มาทำนา ทำไร่ ทำสวน ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซื้อรถบ้าง โทรศัพท์บ้าง เฟอร์นิเจอร์บ้าง เครื่องใช้ไม้สอยจำเป็นเยอะเหลือเกินคนสมัยนี้ ไม่ใช่หนี้สินทำนาอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่เพิ่มเติมมาอีกหลายอย่าง ภาระหนักสุดก็ประเด็นเรื่องลูกเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็เหนื่อยยากคือเก่า ส่วนลูกก็สบายมากเพราะแบมือขอตังค์จากพ่อแม่ทีไร ท่านก็ต้องหามาให้เพราะเป็นลูกบังเกิดเกล้า พ่อแม่เป็นธนาคารของคุณลูก เบิกได้ตลอดเวลา หลับก็เบิกได้ เสาร์-อาทิตย์ก็เบิกได้ เบิกได้ไม่มีวันหยุด สบายจริงหนอลูกน้อยกลอยใจ

    ใครจะรู้ถึงหัวอกพ่อแม่ที่ทุกข์ระทมขมไหม้บ้างไหมหนอ แต่ด้วยอานุภาพแห่งความรักที่มีต่อลูกถึงจะทุกข์ยากเพียงใดพ่อแม่ก็ยอม ขอบูชาชาวนาชาวไร่รากหญ้าชาวไพร่ที่มีหัวใจกล้าแกร่งและทำเพื่อลูกอันเป็นที่รักปานดวงใจทุกท่าน

    • ที่บ้านห้วยร่วม ชายขอบของหนองบัวติดกับบางมูลนากและชุมแสง ก็มีหลายคนครับ คนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ทางชลประทาน อีกคนหนึ่งเป็นหลานกำนันมา รอดสการ บ้านห้วยร่วมและเป็นเพื่อนรุ่นน้องผม ไปจบปริญญาโทคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพภาคประชาชนอยู่นครสวรรค์ พื้นที่ดูแลของเขาก็ครอบคลุมหนองบัวกับภาคกลางตอนบนไปจนถึงภาคเหนือ มีเครือข่ายทำงานวิชาการชุมชนเก่งครับ
    • อีกคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ผมเคารพและนับถือในแทบทุกด้านคือ คุณสยาม เอี่ยมพิชัยฤทธิ์ เป็นมืออาชีพทางการถ่ายภาพ เทคโนโลยีการถ่ายภาพ และศิลปะของการนำเสนอ เรียกได้ว่าอยู่แถวหน้าในวงการของประเทศ พื้นเพเป็นคนห้วยร่วมและเป็นญาติๆของหมอวีรวัฒน์ พานทองดีลูกเจ๊กต่าย ผมได้รู้จักกันในงาน เชิญไปเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาการประชุมอบรมวิชาการมากมายกระทั่งได้คุยและรู้ต่อมาว่าเป็นคนห้วยร่วม
    • สภาพของหนองบัวแต่ก่อนนั้น คนหนองบัวน้อยคนมากที่จะได้มีโอกาสเดินออกไปสู่โลกภายนอก แต่ด้วยการศึกษาเรียนรู้ก็ทำให้ค่อยๆมีโอกาสแล้วก็หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาทางการศึกษาเรียนรู้ จึงเพิ่มโอกาสการพัฒนาได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งคงจะเป็นคนส่วนใหญ่ของอำเภอหนองบัว
    • ตอนนี้เรามีเพื่อนบ้านจากอเมริกา ๕ คน จากออสเตรเลียก็ ๓ คน และจากญี่ปุ่น ๒ คน ต้องนับว่าทุกท่านได้ช่วยกันเผยแพร่สิ่งดีๆทั้งของท้องถิ่นหนองบัวและของสังคมไทยให้กับเพื่อนนานาชาติ ซึ่งด้วยหัวใจและตามกำลังสองมือของทุกท่าน  ที่เป็นสื่อเรียนรู้และทำออกมาได้ขนาดนี้นี่ นอกจากได้เรียนรู้และเกิดการพัฒนาที่ได้แก่ตัวเองแล้ว ก็เป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมมากเลยนะครับ

                                

                                 ปลาบู่มหิดล mahidolia mystacina valenciennes  พบเป็นครั้งแรกของโลก ที่ชายฝั่งทะเลอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อ ดร.ฮิว แคคอร์มิค สมิธ ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก ประมาณปี ๒๔๖๙
                                 ภาพโดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน
    http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/thumbnail/65/Mahidolia.JPG

    เลยขอสันถาวะหมู่มิตรและผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวด้วยรูปวาด ปลาบู่มหิดล ปลาหายาก พบครั้งแรกในประเทศไทยในทะเลชายฝั่งจันทบุรี ระนอง ภูเก็ต เมื่อ ปี ๒๔๖๙ ในยุคที่ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ชาวอเมริกัน เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก และก่อนหน้านั้นประมาณ ๓ ทศวรรษ คณะมิชชั่นนารีอเมริกันเช่นกันก็ได้ตั้ง โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่มณฑลพายัพ เชียงใหม่

    ภาพวาดปลาบู่มหิดลของอาจารย์สวยดี ดูมีชีวิตอย่างมากเลย ดูกลมกลืนกับธรรมชาติอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกันช่วยเหลือกันดีมาก พูดให้เท่ๆหน่อยดูเป็นชุมชนสังคมมาก แม้ต่างกันโดยชนิดอีกข้างหนึ่งเป็นปลา อีกฝั่งเป็นกุ้ง แต่ไม่มีปัญหาอยู่ร่วมกัน พึ่งกันได้อย่างสบาย

    ลักษณะปลาบู่ที่เห็นนี้รู้สึกคุ้นตามากเลย เหมือนจะเคยเห็นตามท้องนาที่หนองบัว ไม่ทราบจะใช่หรือเปล่า

    ถ้าเป็นนิทานก็สามารถสอนเด็กและเตือนสติสังคมได้ว่า แม้ต่างความคิด ต่างความเห็น คิดต่างขั้ว เชื่อต่างขั้ว รักชอบต่างขั้ว แต่อยู่กันได้ รวมตัวกันได้ คือต่างก็เคารพความเห็นต่าง ความเชื่อต่าง โดยไม่ไปตัดสินความเห็น ความเชื่อที่ต่างจากตนว่าเป็นความผิด ความคิดเห็นต่างก็เหมือนดอกไม้หลากสี ซึ่งมีแต่ความสวยงาม สวยอย่างตระการตา เป็นความงามอันอลังการงดงามน่าชื่นชมเสียนี่กระไร

    ในสภาพการณ์เช่นนี้ ร้อนระอุไปทั้งเมือง ย่อมมีความเห็น ความคิดต่างกันได้ จะด้วยการรับรู้ข่าวสารได้ไม่ทั่วถึง ได้รับข้อมูลข่าวสารต่างกันก็ได้ หรือมีความเชื่อหลักเกณฑ์การตัดสินความดีต่างกันก็เป็นได้ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เราไม่ควรไปตัดสินผู้เห็นแย้งกับเราว่าเป็นคนเลว คงเป็นเช่นนั้นไม่ได้แน่นอน

    ทุกคนเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติมิตร อย่ามองผู้อยู่ตรงข้ามกับเราเป็นศัตรู ทุกความเห็นทุกความคิดที่ต่างกันมีจุดร่วมอันเดียวคือทุกฝ่ายก็รักชาติ รักบ้านเมืองเหมือนกันหมด

    ควรแผ่เมตตาให้ผู้มีความคิดเห็นต่าง อย่าโกรธ อย่าเกลียด อย่าอาฆาตมาดร้าย จองเวรซึ่งกันและกันเสียจนมองหน้ากันไม่ติด ชนิดไม่เผาผีกันเลยถึงขึ้นนี้ถือว่ามากไป ความขัดแย้งทางการเมืองไม่นานก็จบ สงบ ราบเรียบ เป็ปรกติ

    ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นเอาตายกันอย่างเดียว ก็จะไม่เกิดความสุข ความสงบ ความสันติได้ ทุกฝ่ายคือคนบ้านเดียวกัน ใยจะต้องฆ่า ห้ำหั่น ประจัญบานทำลายกัน อย่าเป็นเหยื่อกิเลสตัวเอง อย่าตกเป็นเครื่องมือใครเขา อย่าให้ความเกลียด ชัง โกรธ แค้น มาเผาลนจิตใจให้เล่าร้อนมากกว่านี้อีกเลย

    อามิตตาพุทธ

    ทฤษฎีมดแดง(ทั้งแผ่นดิน)

    ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านหนองบัวเคยเล่าให้ฟังว่า อตีเต กาเล ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสัตว์สองจำพวก ฝ่ายหนึ่งมีขนาดใหญ่มากแต่มีจำนวนน้อยนั่นคือช้าง อีกฝ่ายตัวเล็กนิดเดียวแต่มีปริมาณมากก็คือมดแดง ช้างซึ่งตัวใหญ่ได้แสดงอำนาจเหนือคนอื่นเหมือนเป็นเจ้าป่าตลอดมา

    วันหนึ่ง ได้ใช้งวง งาฟาดเข้าใส่กิ่งไม้ที่มีรังมดแดง มดแดงจำนวนมากที่กำลังชุมนุมปรึกษาหารือเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมดแดงทั้งแผ่นดินอยู่ ถึงกับรังแตกกระจายเหมือนกับโดแก๊สน้ำเลยเชียว ต่างก็วิ่งหนีเอาตัวรอดเพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็สู้ช้างไม่ได้แน่ แต่ก็มีตัวที่ฉลาดฉุกคิด และคิดสู้โดยวางแผนกับเพื่อนมดแดงทั้งแผ่นดินว่า เรานี่แดงกันทั้งแผ่นดินจะไปกลัวอะไรกับอำมาตย์ เอ๊ยไม่ใช่ ช้างแค่ตัวเดียว ตัวที่กลัวก็กล่าวว่า ช้างมันตัวใหญ่นะ เราตัวนิดเดียวจะไปสู้อะไรได้ ตัวที่กล้าหน่อยกล่าวว่า ถ้าเรารวมพลังกันทำไมจะสู้ไม่ได้ แล้วก็วางแผนให้เพื่อนลงมือปฏิบัติ ฟังนะเพื่อน ให้พวกเราเข้าโจมตีจุดอ่อนของช้างให้ได้ ช้างมีจุดอ่อนด้วยหรือเพื่อนขี้สงสัยถามขึ้น มีซิ จุดอ่อนของช้างจะอยู่บริเวณที่เนื้ออ่อนๆตามตัว แต่ไม่ใช่งาแน่นอน อาทิ ตา หู ปาก รูก้น อวัยวะเพศ เมื่อทุกท่านเข้าใจแล้วก็ลงมือทันที

    กลุ่มแรกเข้าโจมตีที่ตาก่อน ด้วยความเจ็บปวดช้างล้มทั้งยืน มดที่เหลือก็โจมตีจุดอ่อนที่เหลือ ในที่สุดช้างก็ตาย ตั้งแต่นั้นมา ช้างก็ไม่ฟาดงวงไปที่รังมดแดงอีกเลย

    ปัญหา อุปสรรค หรือศัตรู สามารถพิชิตได้ความพลังอานุภาพแห่งความสามามัคคี

    กราบนมัสการมหาแล

    ยามนี้..กลุ่มนั้นกำลังท้าทายคำสอนของพ่อ...ที่ให้คนไทยรู้รักสามัคคี..ไม่มีประโยชน์บนซากปรักหักพังของบ้านเมือง...

    เขาก็อาจใช้ทฤษฎีมดแดง..สนองความต้องการของเขา..โดยลืมไปว่าในธรรมชาตินั้น มดแดงไม่ได้มีอยู่รังเดียว และความต้องการของมดแดงรังอื่นๆก็ไม่ได้มีความต้องการเหมือนเขา...

    ก็กราบเรียนพระอาจารย์มหาแลว่ามดแดงที่อาศัยทำรังอยู่บนต้นไม้ของพ่อ..คงมีรังมดแดงที่เหลืออยู่อีกหลายล้านตัว..ได้ปกป้องต้นไม้ของพ่อ..ให้เป็นที่อยู่อาศัยของมดแดงรังอื่นๆตัวอื่นๆต่อไปค่ะ...

    สถานการณ์บ้านเมืองและบรรยากาศทางการเมืองในระยะนี้ มานึก ๆ ดูแล้วก็น่าขำดีนะครับ

    เมื่อได้ยินคำว่า....มดแดงแล้ว ก็ให้อดคิดถึง......มดเหลืองไม่ได้

    นอกจากนั้นยังมี......มดชมพู.......มดแดงเทียม/แดงปลอม....มดน้ำเงิน....มดสารพัดสี ฯลฯ

    เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่าคนแถวบ้านผม ถูกหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งจ้างไปกรุงเทพฯ วันละ 500 บาท/คน เกณฑ์ไปได้ 5 คน ตอนนี้กลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัยแล้วครับ อวัยวะยังอยู่ครบถ้วนเหมือนตอนก่อนไป

    เหตุเกิดที่กรุงเทพฯแท้ ๆ เลย แต่คนบ้านนอกอย่างพวกเรายังอดเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้

    กลับมาในหัวข้อของหนองบัวบ้านเราดีกว่า

    .....คำว่า เทือก......ตามความเห็นในข้อ 449-450 นั้น ที่บ้านผมออกเสียงว่า คี้เตื้อก ครับ ถ้าภาษาไทยคงเป็นคำว่า ขี้เทือก

    ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็ก อาตมาอ่านข้อเขียนครูอ้อยเล็กแล้วอดขำไม่ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้โดยเนื้อหาแล้วก็ไม่มีอะไรจะโยงให้มาสู่เหตุการณ์ปัจจุบันได้ จะมีก็แต่ชื่อเรื่องเท่านั้นที่ดูคล้าย พ้องโดยชื่อกับสถานการณ์ปัจจุบัน สาระหลักใจความของนิทานเรื่องนี้ก็พูดถึงความสามัคคีเป็นหลัก มดแดงสามัคคีดีเลยแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงไปได้

    ส่วนข้อคิดของครูอ้อยเล็กที่สื่อโยงไปถึงเหตุการณ์ในขณะนี้ก็ได้แง่คิดสอนใจอย่างดี ก็ขอให้เหตุการณ์ที่ระอุอยู่ในขณะนี้จบลงได้ด้วยความรัก ความสามัคคี ปรองดองเข้าใจกันและกันยุติด้วยความสงบ สันติด้วยกันทุกฝ่าย  เจริญพร

    30กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล

    ...เขาเรียกว่านิทานธรรมะเนี่ยไม่ตกยุคค่ะพระอาจารย์...

    พลังมด...

    • คึกคักมากเลยนะครับ
    • ท่านพระอาจารย์มหาแลให้คติเรื่องความสามัคคีอย่างมดแดงสู้กับช้าง ส่วนคุณครูอ้อยเล็กก็รณรงค์สำนึกรู้บุญคุณของฝูงมดและสำนึกคุ้มครองดูแลเพื่อเหล่ามดที่อ่อนแอกว่า ส่วนคุณสมบัติก็มาแนวมดหลากสีกับแนวมดรับจ้างชั่วคราว
    • แล้วก็กลับมาเรื่องขี้เทือก หลากรสดีครับ
    • วกมาเรื่องทำเทือกและขี้เทือกนี่ ก็ต้องนึกถึงพวกมดตะนอยนะครับ แปลกมากเลย มดตะนอยกับหน้าทำขี้เทือกนี่เป็นของคู่กัน เวลาตีครุบทำเทือกแล้วคราดเอาหญ้าออก เตรียมเทือกสำหรับดำกล้าข้าว ตามกองหญ้าที่คราดไปกองก็มักจะกลายเป็นแหล่งจับจองของฝูงมดตะนอยไปทันที เด็กๆไม่ระวังละเป็นเจอดี
    • นึกถึงแล้วอยากวาดรูปครับ การทำเทือกนี่ก็เป็นศิลปะและสะท้อนภูมิปัญญาของชาวนามากครับ

    มดตะนอยต่อยต้นพริก คนไหนดุกดิก คนนั้นต้องตดดังปั๋ง เสียงดังดังโป้ง....

    คริๆ...พวกครูอ้อยเล็กท่องแบบนี้..เวลาหาต้นเหตุของกลิ่นไม่เจอค่ะ...ฮาๆ....

    เวลาท่องก็ไล่ไปๆดังโป้งตรงคนไหน..คนนั้นแหล่ะ..คนที่ไม่ใช่แต่โดนชี้ก็จะโวยวายไปตามระเบียบ....ค่ะคริๆๆ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ หลวงอามหาแล อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง คุณครูอ้อยเล็ก คุณอาฉิก และทุกๆท่านครับ

    ผมขอหยิบยกเสนอแนวคิดของท่าน หลวงอามะหาแล ดังต่อไปนี้ครับ

    นาแล้งสอนน้อง ขออาราธนาพระคุณเจ้า และขอเชิญคนหนองบัวและทุกท่าน เขียนแบ่งปันแนวคิด ให้สติ ให้ความรู้ ให้การเสนอแนะ แสดงทรรศนะ ตอนนี้ เป็นหน้าแล้งซึ่งเป็นความทุกข์ร้อนของคนทำไร่และคนทำนาปรัง เมื่อฤดูทำนาที่ผ่านมาของปีนี้ ข้าวปลาก็เสียหายล่มจมกันไปหลายรายตั้งแต่ฝนแล้งและข้าวตายแล้งไปรอบหนึ่ง พอเหลือเล็ดรอดออกรวงกำลังจะแก่ ก็กลับเจอฝนตกน้ำท่วมผิดฤดู เสียหายไปอีกรอบ พอถึงหน้าแล้งนี้ ก็ได้ข่าวว่าจะต้องหยุดทำไร่และหยุดทำนาปรังไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ลูกหลานที่เรียนประถมศึกษาก็จบการศึกษา จะต้องออกนอกหมู่บ้านเพื่อไปเรียนต่อประถมปลายในอำเภอหนองบัว ชุมแสง หรือแหล่งไกลออกไป ส่วนคนที่จบมัธยมศึกษา ๖ ก็ถึงคราที่ชีวิตจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ต้องเริ่มไกลบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัยและระดับที่สูงขึ้น พ่อแม่ ก็กำลังทุกข์ใจที่จะต้องขวนขวายหาเงินทอง ครอบครัวชาวนาและเกษตรกรก็กำลังจะเป็นหนี้ครั้งใหญ่อีกยาวนาน ขณะเดียวกันก็มีกำลังใจที่ได้ทำหน้าที่ส่งลูกหลานไปข้างหน้า เราเตรียมพร้อมและได้หลักคิดที่ดีเพื่อการเตรียมตัว เรียนรู้เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง และจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดได้อย่างไร ก็ขออาราธนาพระคุณเจ้าและขอเชิญทุกท่านว่าอย่าลืมที่จะแตะๆหัวข้อเรื่องพวกนี้สอดแแทรกไปด้วยนะครับ.

    ผมเองก็เป็นลูกชาวนามาโดยกำเหนิดตังแต่เกิดมาถ้ามองโดยรวมก็จะเห็นภาพอะไรหลายอย่างที่ผ่านมา ความลำบากซึ่งคนเป็นพ่อและแม่ที่ไม่อยากต้องให้ลูกต้องมาตากแดดขุดตออย่างตนเอง ทุกครั้งเป็นวันหยุดเรียนไม่ว่าจะไปไหนก็จะพาลูกไปด้วยอยากให้เห็นความเนื่อย อยากให้ลูกได้เรียนสูงๆเพื่อที่มีความก้าวหน้าเท่าเทียมกับยุคเทคโนโลยี พ่อจบ ป.4ส่งลูกเรียนป.ตรีจบแล้วได้มีอาชีพเป็นคนดีในสังคมนี่แหละคนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนต้องการทั้งนั้นแม้แต่ตอนเข้าโรงเรียนชั้นเตรียมครั้งแรก แม่กับป้าช่วยกันปีนยุ้งข้าวปลูกตักใส่กระสอบ2ถังเพื่อไปขายเอาเงินไปซื้อของเข้าเรียนภาพนั้นติดตามากเกือบ30ปีแล้วยังจำได้ดีเพราะตอนนั้นที่บ้านยังขัดสนมาก ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องผิดหวังกับลูกหลานซึ่งพ่อแม่ตั้งใจหาเงินทองส่งเสียแต่กับรำเรียนไม่จบมีอีกมากมาย นอกจากการทำนาแล้วเมื่อน่าแล้งอย่างนี้ชาวบ้านหนองบัวส่วนใหญ่ยังมีกิจกรรมเสริมรายได้นอกจากการทำนาอีกคือการทำไรมันสัมปะหรังซึ่งตอนนีกำลังได้ราคาดีมากเนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตพลังงานทดแทนดังนั้นยังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากชาวบ้านจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าหน้านี้เป็นหน้าแล้งชาวนาถึงร้อนขหนาดไหนก็ต้องทำกันอย่างไม่มีวันหยุดพักร้อน

    ไร่มันสำปะหรังนี้สร้างคนหนองบัวเป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชน เป็นดร.มาแล้วมากมาย แต่กว่าจะเป็นได้ถึงวันนี้ ก็ต้องผ่านความเหนื่อยยากของพ่อแม่มาอย่างลำบากที่สุดในชีวิตของท่าน ซึ่งก็เพื่อลูกนั่นเอง

    วันนี้ผมมีภาพมาประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน อดีตประทานนักเรียนโรงเรียนหนองบัวซึ่งปัจจุบันได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิชาการประมง จังหวัดตราดเป็นนักวิจัยถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่กลับบ้านไปก็จะไปช่วยพ่อแม่ไถไรนำนาถึงแม้ว่าจะทำงานระดับนักวิจัยก็ตาม

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน / ต้นกล้าตัดเป็นท่อนพร้อมปักชำ

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน / ไถไปปักไปดินจะได้ไม่แห้งเร็ว

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน /หลายคนช่วยแรงกัน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน / อีกไม่นานใบอ่อนก็ผลิมารับฝน

    นอกจากนี้เขาสูงเมื่อก่อนนี้จะเป็นป่าทึบมากแต่ก็ยังขาดแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติไว้ใช้กัน ต่อมาพระครูไกร(พระนิภากรโสภณ -ไกร ฐานิสสโร ศรสุรินทร์) ได้สร้างอ่างเก็บกักน้ำเขาสูงไว้ใช้หน้าแล้งทั้งยังเป็นแหล่งที่หาอาหารจำพวกสัตว์น้ำเช่น กุ้ง หอย ปลา ปู ซึ่งชาวบ้านสามารถไปหามากินกันได้ทั้งปีผิดจากแต่ก่อนเมื่อหน้าแล้งก็จะแล้งเลยไม่มีทีเก็บกักน้ำส่วนประวัติกราสร้างนั้นผมเองยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงครับ

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    นอกจากนั้นเมื่อช่วงเปิดอ่างตอนแรกๆมีคนมาเที่ยวมากมาย มีทั้งห่วงยาง เรือถีบ และของขายมากมายแต่มาภายหลังขาดการปรับปรุงด้านความปลอยภัยด้านต่างเพราะห่างไกลน่าเสียดายไม่มีภาพให้ชมกันครับ

    1 คืนที่เขาพระ-เขาสูง หนองบัว

    • ตอนเด็กๆก็มีเล่นอย่างที่แถวบ้านน้องคุณครูอ้อยเล็กเล่นเหมือนกัน
    • บางที่นั่งจับกลุ่มเป็นวงกันอยู่ กำลังนั่งคุยกันหรือกำลังคร่ำเคร่ง เจ้าเพื่อนทะเล้นสักคนก็จะเดินเตร่มาเหนือลมแล้วก็มาหันก้นตดแบบเผาขนใส่วง ก็จะหงายหลังวิ่งฟาดกันไป บ้างก็หัวเราะ บ้างก็โวยวาย แล้วก็อุบไว้รอคิกมุขเอาคืน
    • ความเป็นเพื่อนกันของมนุษย์นี่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่น่าอัศจรรย์มากนะครับ เป็นพื้นฐานการจัดความสัมพันธ์ที่ทำให้ทำอะไรก็สนุกและต่อความคิดสร้างสรรค์กันให้มีพลังได้อยู่เสมอ
    • คุณเสวกโผล่มาทีนี่ตุนมาโพสต์คับจอเลยนะครับ ด้วยความคิดถึง และขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันนะครับ
    • รูปแบบการทำเกษตรแบบนี้ เป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือ Mono-crop เมื่อก่อนก็จะได้ผลดีครับเพราะระบบธรรมชาติและคุณภาพดินพอจะจัดการตนเองได้ แต่เดี๋ยวนี้พอทำไม่กี่ Crop ก็จะมีปัญหามากครับ ทั้งดินและสภาพแวดล้อมจะทรุดโทรมทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มการลงทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก
    • ผมเคยเจอชาวนาและชาวสวนแถวนครปฐมและสมุทรสงครามเปรยเรื่องสุขภาพให้ฟังระหว่างคุยกันเรื่องทำมาหากิน มีหลายคนที่บอกว่าเคยหน้ามืดและหมดสติอยู่ในสวนและแปลงนา ทั้งที่ตนเองเป็นคนแข็งแรงและไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน เพราะฉีดยาโดยไม่มีหน้ากากปิดหน้าและสัมผัสกับสารเคมีสะสมต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา พอถึงระดับหนึ่งก็น็อคเลยครับ บางคนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง บางคนเป็นแผลนิดหน่อยแค่หนามต้นส้มโอตำแต่ก็กลายเป็นอักเสบและกลายเป็นเจ็บป่วยรุนแรง
    • เดี๋ยวนี้ก็เลยมีคนพัฒนาวิธีทำการเกษตรในแนวทางต่างๆที่ต่างหลากหลายไปจากเดิม หลายแห่งในหนองบัวก็ทำในแนวเศรษฐกิจพอเพียง
    • กิจการขนาดใหญ่เดี๋ยวนี้ก็เลือกทำในแนวทางอื่นๆมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

    ผมติดตามงานของคุณเสวกเรื่อยมา...จากบล็อคนี้แหละครับ

    แต่คราวนี้ เห็นภาพที่นำมาลง.....ผมรู้สึกคุ้นตามากเลยครับ ถ้าเดาไม่ผิด น่าจะเป็นเชิงเขาตรงโค้งหักศอก ระหว่างสี่แยกต้นอีซึกกับบ้านร่องดู่ ใกล้ ๆ กับสำนักสงฆ์เขาลานวัว/สำนักงาน อบต.หนองบัว

    แล้วอีก 2- 3 ภาพก็น่าจะเป็นอ่างกักเก็บน้ำเขาพระ...หรือเปล่า ?

    หรือว่า....ใกล้สงกรานต์แล้ว คิดถึงบ้าน ผมจินตนาการไปเองครับ

    คนที่จบการศึกษาชั้นสูงแล้วกลับไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนานี่ น่านับถือน้ำใจจริง ๆ นะครับ

    เด็กข้างบ้านผมก็มีครับ จบวิศวะ ทำงานกับบริษัทต่างชาติ/เงินเดือนสูง มีรถประจำตำแหน่ง ทำหน้าที่ดูแลระบบของตู้ ATM ของธนาคารหลายแห่ง ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ค่อยมีเวลากลับบ้าน ตอนนี้ย้ายมารับผิดชอบเขตนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก พอมีเวลาพักก็มักกลับบ้านมาช่วยพ่อแม่ทำนา......ส่วน้องสาวอีกคนจบปริญญาตรีเหมือนกันเพิ่งทำงานในตัวเมืองนครสวรรค์ เมื่อมีเวลาก็กลับมาช่วยพ่อแม่ทำนาเหมือนกันครับ

    เด็กทั้งสองคนนี้ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวทั้งคู่ครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

    เนื้อหาในเวทีคนหนองบัวเคลื่อนไปเร็วจริงช่วงนี้ นี่ขนาดยังไม่มีคนหน้าไมค์หน้าใหม่เข้ามาเลย จะว่าไปทีละเรื่องละกัน เอาจากล่าสุดย้อนขึ้นไป
    • เห็นรูปที่คุณสถิตฝากมาให้คุณเสวกลงมาให้พวกเราดูแล้วรู้สึกร้อนจริงๆ ขนาดมีอ่างเก็บน้ำมาให้ดูก็ไม่ช่วยให้รู้สึกเย็นลงสักเท่าไหร่ มันดูโล่งๆไร้ร่มเงาไม้ เห็นเงาเมฆ แล้วอยากจะเหาะไปอยู่ตรงนั้นจังเลย นี่แหละสภาพหนองบัวบ้านเราในยามหน้าแล้ง ยิ่งปีนี้น่าเป็นห่วงมากถึงสภาวะภัยแล้ง
    • กลับหนองบัวล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ผ่านไปแถวเขาพระ ชาวบ้านกำลังเตรียมที่ เตรียมดินเพื่อลงมันสำปะหลังกันทั้งทุ่งเลย สภาพดินแถวหนองบัวโดยเฉพาะแถวๆ เขาพระนั้นเป็นดินปนทราย อย่างที่เห็นในภาพนั่นแหละ (บางที่เป็นทรายล้วนๆเลย เคยไปช่วยเจ๊กมุ้ยที่ทำไอติมขาย เอารถจิ๊ปไปขนมาขายเพื่อใช้ผสมปูนซีเมนต์ก่อสร้าง) จะปลูกพืชไร่อื่นก็คงจะไม่เหมาะ ยิ่งทำไร่แบบ Mono-crop แบบที่พี่วิรัตน์บอก ก็จะทำให้สภาพดินแย่ลงๆและเพลี้ยศัตรูพืชต่างๆจะมากขึ้นๆ
    • เมื่อ30ปีย้อนหลังไป แถบนี้ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่เลย ถึงเป็นป่าก็เป็นป่าโปร่ง หน้าแล้งนี่ร้อนตับแลบ ลักษณะตามที่เห็นในภาพนั่นแหละ เคยเดินป่าจากหนองคอกมาเขาพระตอนเด็ก แย้เยอะมาก วิ่งตัดหน้าตลอดการเดินทาง เลย แต่ขับรถผ่านไร่มันแถวตีนเขาพระครั้งนี้ไม่เห็นแย้สักตัว แต่ยังได้เห็นงูเหลือมขนาดย่อมเลื้อยผ่านหน้ารถไป และมีกระแตปีนเล่นบนต้นไม้
    • ภาพปลาบู่ของพี่วิรัตน์ ดูแล้วคล้ายปลาบินมากเลย ตอนเรียนวิชาวิทย์ชั้นป.ต้นในหนังสือเคยมีภาพปลาบินกับปลาตีน ดูแล้วก็ฉงนสงสัยว่าปลามันจะบินจะเดินได้อย่างไร จนเมื่อโตขึ้น ได้รับรู้โลกภายนอกมากขึ้น รวมทั้งได้เห็นปลาตีนของจริงที่บางปู และปลาบินในทะเลอันดามัน นั่นแล โอ้โฮเวลามันโผล่ขึ้นมาบินบนอากาศนี่ได้ระยะทางไกลโขอยู่นะ ประมาณร้อยเมตรได้ อยู่บนอากาศได้นานประมาณ 30 วินาที ตื่นตาตื่นใจดีจัง
    • ตอนเด็กเห็นปลาบู่ในสระหลวงพ่ออ๋อยอยู่บ่อยๆนะ แถวหนองบัวไม่เคยเห็นใครกินปลาบู่เลย จับได้ก็จะเอาไปปล่อยที่สระ คงเป็นเพราะสงสารเอื้อยในปลาบู่ทองเป็นแน่ ผมเองได้ลิ้มรสปลาบู่เอาก็ตอนเรียนจบมาทำงานแล้ว เอาไปนึ่งซีอิ๊วนี่รสชาติเยี่ยมเลย
    • เรื่องผมลาย-ผายลม นี่ ตอนเด็กๆจะมีเพลงร้องเพื่อหาคนตด โดยร้องไปชี้ไปพยางค์ละคน วนไป พยางค์สุดท้ายไปตกที่ใครก็ให้ถือว่าเป็นคนตด เนื้อร้องก็จะมีดังนี้

      "ใครตดไม่บอก ดากเน่าดากหนอน พระอินทร์ถือศร ขี่ม้าไล่ฟัน ดวงจันทร์ลั่นป้อ ย่อปั๋งดังปุ๋ง"

    ต้องทำหมายเหตุไว้สักหน่อย ตอนนี้เวลา ๑๔.๐๗ นาที เวทีคนหนองบัวมีคนคลิ๊กเข้ามาคน/ครั้งที่ ๗๙๙๙ และ กล่อมคอมเม้นต์ที่ ๔๗๗ หากท่านที่เข้ามาเวลาหลังจากนี้ ท่านก็เป็นคนที่ทำให้ครบแปดพันและแปดพันขึ้นไปแล้วครับ เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่สงกรานต์พอดีครับ

       สวัสดีครับคุณสมบัติครับ  

    • ขอสวัสดีปีใหม่สงกรานต์นะครับ
    • แถวเขาพระเดี๋ยวนี้เขาไปขนาดนี้แล้วหรือครับ ผมนึกภาพไม่ออกเลยละครับ
    • เมื่อก่อนมีแต่ป่า มองพ้นยอดไม้ก็มีแต่ภูเขา หากเป็นหน้าฝนก็เขียวครึ้มด้วยป่าไผ่ไม้รวก ป่าพลวง และต้นรัง หน้าแล้ง ก็จะเห็นแต่ป่าไผ่สีน้ำตาลและป่าต้นปรง
    • ยินดีต้อนรับน้องภา-ตากลม ที่จะได้เป็นมหาบัณฑิตในเร็ววันนี้ ถ้ามีเวลาก็ออกมาอยู่หน้าไมค์กับพวกเราได้เลยนะ ไม่มีหน้าใหม่มาออกไมค์นานแล้ว (ผมเป็นคนสุดท้ายรึเปล่าเอ่ย)
    • พูดถึงความสำเร็จด้านการศึกษา ลูกหลานหนองบัว-หนองคอกนี่ก็ไม่น้อยหน้าใครนะ ผมว่าปัจจุบันนี่นับกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ถ้าย้อนไปสมัยผมยังเรียนอยู่หนองคอกนี่ อาจารย์มักจะพูดถึง พ.อ.โกศล ประทุมชาติ (ยศปัจจุบัน นบ.รุ่น13) ที่สอบเข้าเตรียม ทหารได้ หรือหมอวีระวัฒน์ (นบ.รุ่น16)ที่ได้ที่1ของประเทศ (ความจริงหมอวีรวัฒน์นี่เรียนป.1รุ่นเดียวกันผมนะ แต่พอขึ้นป.2 หมอขอพาสชั้นไปเรียนป.3เพราะละแวกบ้านมีแต่คนเรียนอยู่รุ่นนั้น อีกอย่างแกหัวไบรท์ด้วยไม่งั้นไม่ได้ที่1ของประเทศหรอก
    • นบ.รุ่น14 (รุ่นพี่วิรัตน์) ก็จบ ดร.อย่างน้อยก็ 2 คน คือพี่วิรัตน์กับพี่เสน่ห์
    •  รุ่นผม(17) ก็มีดร. 2 คนคือ อ.ดร.สุภา อยู่ราชมงคลธัญญบุรี และคนห้วยด้วน อ.ดร.สิทธิชัย (อ.ง้วง) คณะเกษตร มช.
    • หรือรุ่นน้องก็อย่างหมอน้อยรุ่น19 และหมอเกี้ยรุ่น20 (รุ่นคุณสมบัติ)
    • ไม่รู้ว่าตอนผมจบหนองคอกออกมาแล้ว พวกครูอาจารย์ได้พูดถึงผมและเพื่อนๆให้รุ่นน้องฟังไว้อย่างไรบ้าง
    • หนองบัวในยุคนั้น ย้อนหลังไปไม่น้อยกว่า 30 ปี ตอนที่ยังไม่มีถนนสาย 11 อินทร์บุรี-เขาทราย นั้น มีทางเลือกด้านการศึกษาน้อยมาก จบม.ต้นแล้วถ้าได้เรียนต่อก็ต่อม.ปลายที่ชุมแสง หรือ ตัวเมือง หรือกทม. บ้างก็เรียนสายอาชีพ สายครู-ตำรวจ-ทหาร ดังที่พี่วิรัตน์กล่าวไว้นั่นแล
    • คนหนองบัวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ตปท.นั้น ยุคแรกเลยที่ผมรู้จักก็คือลูกสาวโกลก(พี่อรวรรณ)ไปอยู่ออสเตรเลียนานมากแล้ว พี่เค้าจะกลับมาหนองบัวอยู่เรื่อยๆนะ 1-2 ปีมาที จะสนิทกับพี่สาวคนโตผมมากด้วยเรียนหนองบัวรุ่นใช้กระดานชนวนรุ่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าเพื่อนบ้านเราจากออสเตรเลียจะใช่พี่เขาหรือเปล่า
    • แย้ กระรอก กระแต อึ่ง เหล่านี้นี่ในหนองบัวเมื่อก่อนเยอะจริงๆ ตามบ้านชาวบ้านก็มี ที่ลานวัดหนองกลับมีต้นมะม่วงป่าก็เยอะ หรือในป่าหลังโรงเรียนหนองคอกนี่ เดินออกมาวิ่งอย่างกับเป็นเพื่อนคน
    • อ่านเรื่องฉิกตื่นเต้นได้เห็นปลาตีนและปลาบินแล้วก็ต้องยิ้มอีก
    • ผมเห็นทะเลครั้งแรกเมื่อเรียน รด.ปี ๓ และอายุถึงเกณฑ์ได้ทำบัตรประชาชนแล้ว ปี ๒๕๑๘ ครูพาไปเขียนรูปทะเลที่หาดวรรณกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนที่นั่งรถไฟไปพอเริ่มเห็นทะเลแต่ไกลจากหน้าต่างรถไฟ ผมก็ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว
    • ตอนทีเรียนวาดเขียน เวลาวาดรูปทิวทัศน์ก็มักจินตนาการใส่รูปทะเลและมีเรือใบ ในใจก็คิดว่าทะเลมันก็คงจะคล้ายๆบึงบรเพ็ดที่นครสวรรรค์ หรือแม่น้ำวังตอนน้ำขึ้นสูงที่หลังตลาดชุมแสงนั่นแหละ หรืออย่างมากก็คงจะเหมือนทุ่งนาตอนน้ำหลาก
    • แต่พอเห็นจริงๆแต่ไกล...อุแม่เจ้า !!! มันโคตรกว้างใหญ่พอๆกับท้องฟ้าเลย มันเกินกว่าที่ผมเคยจินตนาการได้ พอไปถึงที่พักก็มืดค่ำ มองไม่เห็นอะไรแล้ว คืนนั้นทั้งคืนผมนอนไม่หลับ อยากไปดูให้เห็นทะเลจะๆ แล้วก็จะต้องไปวักน้ำขึ้นมากินดูว่ามันเค็มอย่างที่ครูสอนและหนังสือว่าไว้ไหม
    • ถึงตอนเช้าผมทนรอคอยให้สว่างไม่ไหว เดินไปชายหาดตั้งแต่ก่อนสว่าง แต่ฟ้าก็เริ่มเปิดแล้ว พอไปถึงชายหาด ผมไม่รอช้า วิ่งลงไปแล้วก้มลงวักน้ำทะเลใส่ปาก แล้วก็ต้องพ่นออกจากปากพรวดอย่างไม่ต้องฉุกคิด เพราะมันเค็มแสนเค็มเกินกว่าที่คิดอีกเช่นกัน 
    • ตอนที่ได้เห็นปลาตีนก็เหมือนกัน ผมได้ไปบ้านเพื่อนที่เขามีสวนอยู่แถวบางคณฑี-แม่กลอง นั่งๆอยู่ก็มองลอดไปยังใต้ถุนเห็นปลาตีนเดินเดาะแดะขึ้นมาเล่นกันเต็มไปหมด  พระเจ้า....มันมีตีนและขา เดินขึ้นมาบนบกได้จริงๆ ชูหัวสลอนเหมือนกบ ผมนั่งมองดูจนหมดความสนใจที่จะทำอย่างอื่น เพื่อนๆที่เขาเคยเห็นและเป็นคนท้องถิ่นก็คงนึกไม่ออกหรอกว่าเรากำลังเกิดการปฏิวัติในความคุ้นเคยกับโลกรอบข้างอย่างขนานใหญ่
    • ก็ตอนที่อยู่แถวบ้านหนองบัวนั้น แค่เห็นปลาหมอและปลาดุกแถกไปบนบกจากแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง ข้ามถนนหรือสนามหญ้าไปอีกแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องอัศจรรย์มากแล้ว แต่นี่มันพากันเดินและวิ่งเล่นอย่างกับแย้ ดูไปใจก็คิดไปว่า(กู)เชื่อแล้วว่าปลาตีนมีจริง มันมีตีนและเดินได้จริงๆ !!!!!
    • กลับไปบ้านผมก็คุยให้ญาติพี่น้องฟังเป็นคุ้งเป็นแคว เพราะญาติพี่น้องผมก็ไม่มีใครเคยเห็นหรอก ทั้งทะเลและปลาตีน อย่างมากก็เห็นแต่หอยแครงกับปลาทูเค็ม !!!เวลาถ่ายรูปก็ไปยืนหน้าฉากที่มีรูปทะเลกับสถานีรถไฟหัวหิน แค่นั้นแหละ....ต้องผมนี่ ผมไปเห็นมาแล้ว !!!! คิดทำนองนั้น ขำดีจริงๆ

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    พี่อาจารย์วิรัตน์ คุณเสวก คุณสมบัติ และชาวหนองบัวทุกท่าน ได้อ่านคอมเม้นท์ที่478ของพี่อาจารย์แล้วครูอ้อยเล็กยิ้มกับจอคอมฯกว๊างกว้างแบบไม่เกรงใจเลยอิๆๆๆ...ดีใจด้วยค่ะ..ที่คนต่างถิ่นคนนี้ได้เดินพลัดหลงตามพี่ชายชาวเพาะช่างมาสนทนากับชาวหนองบัวด้วยความอยากรู้ความเป็นไปของชุมชนอื่นๆว่าเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง และด้วยความเป็นลูกทุ่งแต่ก่อนมาอย่างอบอุ่นค่ะ..ณ วันนี้ได้ฉลอง 8000 แปดพัน ถึงจะไม่ใช่แปดหมื่นพระธรรมขันธ์ ก็เป็นการฉลองแบบ8พันฆราวาสก็แล้วกันนะคะพี่อาจารย์...ไชโยๆ

    • ฝากไปเลี้ยงเฉลิมฉลองอย่างเป็นกรณีพิเศษสำหรับน้องคุณครูอ้อยเล็กหน่อย ให้น้องอำภาเป็นเจ้าภาพในนามของชาวหนองบัวและผมไปก่อนสักครั้งหนึ่งนะครับ
    • น้องคุณครูอ้อยเล็กนี่ ต้องแนะนำน้องอำภาให้ทราบว่า รูปหน้าจอหน้าแรกของเวทีแรกที่เป็นเรื่องเป็นราวของชาวหนองบัวนี้ เป็นฝีมือคอมพิวเตอร์กราฟิคของน้องคุณครูอ้อยเล็กเพื่อนของน้องอำภาและเพื่อนของคนหนองบัวนี่เอง แล้วก็ประสานงานทำให้กันผ่านทางเว็บบล๊อกนี้แหละ
    • ความงอกงามเล็กๆในเวทีนี้ของชาวหนองบัว จึงเป็นส่วนหนึ่งจากน้ำใจสร้างสรรค์ของน้องคุณครูอ้อยเล็กไปด้วย

    พูดถึงเรื่องมงเรื่องมดในคห.๔๖๕ ขออนุญาตฮาเล็กๆซะหน่อยนึง เลยทำให้นึกถึงเรื่องมดเอ็ก มดแดงกาตูร์นญี่ปุ่นทันที ชวงที่กำลังดังออกอากาศทางโทรทัศน์นั้น วันเสาร์-อาทิตย์ พวกเด็กผู้ชายในหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับ เมื่อกินข้าวเช้าแล้วก็ออกจากบ้านเดินเข้าแถวไปตามหัวคันนาไปดูโทรทัศน์ในตลาดหนองบัว ที่ร้านกาแฟ ร้านของขายชำเหมือนโรงหนังย่อยๆเลย เวลาเช้าก็มีกาตูร์น บ่ายก็มีรายการมวยไทย มวยตู้ เป็นช่วงเวลาของคนโตในหมู่บ้านทั้งร้านแกฟ ร้านตัดผม ก็จะมีแฟนมวยตู้เยอะจริงๆเสียงเชียร์มวยดังเชียว 

    นี่ก็คือเหตุการณ์ที่ในหมู่บ้านหนองบัวหนองกลับยังไม่มีไฟฟ้านั่นเอง(สามสิบกว่าปีมาแล้วแค่นั้นแหละ)

    ขี้เทือก-มดตะนอย

    ไม่ใช่เทพเทือกและก็ไม่ใช่วันนี้คุณเทือกแล้วรียังอีกด้วยนะจะบอกให้ แต่เป็นขี้เทือก คี้เตี้อก ต่างหากละ นึกว่าจะไม่มีใครรู้จักขี้เทือกซะแล้วพี่น้อง ที่ไหนได้มีอำมาตย์ที่มาจากชาวนาตัวจริง ตัวเป็นๆชาวนามืออาชีพอยู่หลายท่านไม่น้อยเลย

    ตีครุบทำเทือกตีหน้าดินให้เละ และไล่น้ำให้ขึ้นไปในมุมอันนาที่เป็นที่โคก-สูงพื้นนาไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าโคกมากหน่อยต้องใช้ะซ้อมาช่วยกันวิดน้ำสาดหน้าดินที่น้ำขึ้นไม่ถึงเพื่อให้ดินอ่อนตัว การตีครุบทำเทือกก็เพื่อจะให้หน้าดินเละเละ ขี้หญ้าก็จะจมลงน้ำเน่าเป็นปุ๋ย

    ส่วนหญ้าที่ผุดโผล่น้ำขึ้นมานั้นก็จะเป็นที่อาศัยทำรังของมดตะนอยเป็นกลุ่มๆ คนที่แพ้มดตะนอยนี่ก็จะต้องระวังตัวแจเชียว และถ้าโดนต่อยแล้วก็จะน่าสงสาร แต่เมื่อดำนาไปเรื่อยๆก็อดที่จะพลาดท่าเจ้ามดตะนอยต่อยปวดไปไม่ได้ เมื่อใครโดนมดตะตอยต่อย มีสองอารมณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น คือเห็นใจและอดขำไม่ได้ คนที่ขำนี่ต้องกลั้นเสียงหัวเราะไม่ให้คนที่ถูกมดตะนอยต่อยได้ยิน เพราะจะเสียมารยาทจึงได้แต่อมยิ้มและแสดงอาการกลบเกลื่อนให้พ้นไป

    อดีตกาลดำนาในขี้เทือกจะถูกมดดำมดตะนอยต่อย ปัจจุบันมดแดงกำลังต่อยเทือก(ฮา)

    นึกถึงตอนดำนาแล้วก็อดฮาอดขำไม่ได้ทุกที

    ๘ พันฆราวาส แปดพันโยม แปดพันคลิ๊ก/คน/ครั้ง
    ได้อ่านสำนวนนี้ของคุณครูอ้อยเล็กแล้ว ฮาเลย เข้าใจคิดจังเลยเนาะ คุณครูอ้อยเล็กนี่นอกจากจะเก่งคอมพิวเตอร์แล้วยังเก่งการประพันธ์อีกด้วย และแล้วเวทีคนหนองบัวก็เดินทางมาถึงก้าวย่างที่ ๘ พันคลิ๊กในวันนี้

    ทั้งข้อมูลสาระความรู้เรื่องราวในชุมชนก็นับว่ามากพอสมควร ในฐานะผู้มีหุ้นส่วนเล็กๆน้อยๆในชุมชนด้วนคนหนึ่ง ก็รู้สึกดีใจภูมิใจในปรากฏการณ์นี้

    ขอขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่มีส่วนช่วยให้บ้านหลังนี้เป็นครอบครัวที่อบอุ่นและเจริญงอกงามทางปัญญาได้ดีมากๆตลอดมา

     

    คห.๔๗๑คุณเสวกนำภาพถ่ายไร่มันสำปะหลัง อ่างเก็บน้ำพระครูไกร(พระนิภากรโสภณ-ฐานิสฺสโร,ศรสุรินทร์)เจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกอ่างเก็บน้ำหลวงพ่อไกรอยู่ใกล้เขาพระ

    เมื่อ๔๐ปีที่แล้วชาวหนองบัวเรียกรวมๆบริเวณพื้นที่ตั้งแต่สี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดงหนองบัว) เขาพระ เขาสูง เขามรกต คลองสมอ เขาบ่อผักไห่ เขาเหล็ก คลองลานฯลฯนี้ว่าป่าเหนือ นอกจากแย้ กระรอก กระแต อึ่งแล้วยังมีบึ้ง(แมงมุมยักษ์)อีกด้วย ซึ่งบึ้งนี้จะหากินโดยการขุดรูอยู่ตามพื้นดิน สัตว์เหล่านี้เมื่อก่อนชุกชมในป่าแถบนี้ ปัจจุบันคงเหลือไม่มากนักแล้ว แต่บึ้งน่าจะสูญพันธ์ไปแล้ว

    นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าป่าเหนือที่อาตมาเคยเลี้ยงควายในหน้าฝนนั้นจะมีสภาพดังภาพถ่ายนี้ ตอนนั้นเป็นป่าไม้เมื่อมาเลี้ยงควายหรือมาหาหน่อไม้บนเขาสูงพอตะวันบ่ายต้องรีบหาทางกลับบ้านแล้ว เพราะอะไรเพราะมันไกลจากบ้านไม่น้อยโดยใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะถึงบ้าน พาหนะคือเกวียน หรือไม่ก็เดินเท้า ไกลไม่ไกลก็ลองคิดดูว่าการมาหาผักป่า หรือมาหาหน่อไม้ที่อ่างเก็บน้ำนี้ จะมาได้วันละเที่ยวเท่านั้นเอง

    ปัจจุบันได้พาปู่ย่าตายายคนเฒ่าคนแก่ไปเที่ยวชม ณ สถานที่ที่ท่านเคยไปหาผักหาหน่อไม้ในยุคที่ท่านยังหนุ่มยังสาวเพื่อรำลึกถึงอดีตที่ยังอยู่ในความทรงจำ ท่านนึกในใจแล้วพูดขึ้นว่าโอเมื่อก่อนกูเดินและขับเกวียนมาแถบนี้วันละครั้งก็แย่แล้ว แต่ปัจจุบันนั่งรถ ๕ นาทีเอง ช่างต่างกันเหลือหลายแท้หนอ 

    ผมจำไม่ได้เลยนะครับ นึกภาพอย่างเมื่อก่อนไม่ออกเลย เมื่อก่อนนี้ หากเดินทางเข้าไปทำไร่ ก็จะใช้เกวียนเดินทางออกจากบ้านไปยังไร่แถวนี้ได้ขาไปหรือขากลับได้เที่ยวเดียวเท่านั้น ตอนหน้าแล้ง เมื่อจะต้องไปหาหน่อไม้ กลอย ฟืน และไม้ทำบ้าน ทำศาลา ก็จะต้องขี่เกวียนเดินทางออกจากบ้านกันตั้งแต่ไก่ขันครั้งแรกซึ่งจะประมาณตี ๓ อ้อมออกด้านนอกของบ้านหนองบัวซึ่งก็จะไปสว่างเมื่อเข้าแนวป่าแล้ว พอหาหน่อไม้ เลื่อยไม้ เก็บฟืนจากไม้แห้ง ผัก กลอย ไม้ไผ่รวก จนถึงประมาณบ่าย ๒-บ่าย ๓ ก็เริ่มเดินทางกลับ ไปถึงบ้านก็มืดค่ำอีกสักทุ่ม-สองทุ่ม เลยรู้สึกว่ามันไกลมาก แล้วก็เต็มไปด้วยป่าเขา

    อาจารย์รำลึกถึงเขาพระและบอกว่าจำไม่ได้เลยนั้นทำให้อาตมานึกถึงข้อเขียนของคุณเสวกที่ได้เคยเขียนเรื่องทำนองนี้ไว้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่สี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดงหนองบัว) อ่านทีไรก็อดอมยิ้มไม่ได้ สั้นๆเรื่องมีอยู่ว่า....

    "...สี่แยกต้นอีซึก ชื่อนี้เด็กสมัยใหม่คงจะไม่รู้จักแต่ผมทันครับ และผมมีเรื่องเล่าครับ ครั้งหนึ่งมีลุงแก้วคนแถวๆบ้านผมเองนี่แหละครับแกไปอยู่ต่างจังหวัดมาหลายปี ไม่ได้มาหนองบัวว่างั้นเถอะ แกจำได้ว่าหนองบัวมีต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดง)แต่พอมาถึงกระเป๋าบอกว่าหนองบัวแกก็มองดูไม่พบต้นอีซึก จนไปถึงเขาทรายจึงรู้ว่าเลยบ้านแล้วครับ..."

    ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นกับโยป้า(พี่สาวโยมพ่อ)ท่านมีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านห้วยถั่วเหนือ(ทางเข้าบ้านป่ารัง) ต่อมาประมาณหลังพ.ศ.๒๕๑๐ ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านแม่วงก์(ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ-อำเภอลาดยาว) จังหวัดนครสวรร์ ต่อมาเป็นกิ่งอำเภอ และปัจจุบัน อำเภอแม่วงก์อยู่ทิศตะวันตกตัวจังหวัดห่างประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เขตติดต่อกำแพงเพชร อุทัยธานี

    ช่วงนั้นบ้านแม่เล่ย์แม่วงก์แม่เปินมีสภาพเป็นป่าเขาลำเนาไพร น้ำตก การคมนาคมลำบากมากไม่มีถนนหนทาง เป็นป่ายิ่งกว่าที่อำเภอหนองบัวในยุคเดียวกัน เมื่อย้ายไปแล้วการจะได้ติดต่อกับพี่น้องที่หนองบัวนั้นไม่ต้องพูดถึง เหมือนไปแล้วไปเลยทีเดียว ๕ ปี ๑๐ ปี จะได้มาบ้านเดิมที่หนองบัวสักครั้งหนึ่ง

    จะด้วยบุคลิกป้า หรือการที่ป้าได้ไปอยู่บ้านห้วยถั่วเหนือซึ่งเป็นหมู่บ้านพี่น้องชาวลาวเลยทำให้บุคลิกป้าดูกลมกลืนเป็นคนลาวไปด้วย จุดนี้เองพวกหลานๆที่หนองบัวมักแซวโยมป้าด้วยอารมณ์ขันๆว่า ป้านั้นเหมือนคนลาว มากกว่าจะเหมือนคนหนองบัว ได้ยินหลานแซวแล้วก็จะได้ยินเสียงตอบจากป้าแทนคำพูดดังมาเบาๆว่า อือๆๆ

    ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตโยมป้าได้มาเยี่ยมญาติพี่น้องลูกหลานที่หนองบัวด้วยวัยชรามากแล้ว นั่งรถโดยสารจากอำเภอแม่วงก์มาเพียงคนเดียวเมื่อลงรถเมล์ที่ตลาดหนองบัว แล้วก็เดินไปบ้านพี่ชาย(ทายกว่อน ขำสุข)และบ้านน้องชาย(โยมพ่อ) เดินเลยซอยบ้านญาติหาทางเข้าบ้านไม่ถูก เมื่อมาถึงบ้านหลานๆแล้วป้าก็พูดว่าเออ..กูหลงไปบ้านใครไม่รุ หาบ้านพวกมึงไม่เจอว่ะ

    • เรื่องทะเลกับคนหนองบัวนี่ช่างห่างไกลกันเหลือเกิน เมื่อก่อนนี้ชาวตลาดมักจะจัดทัวร์เที่ยวกัน สถานที่ยอดนิยมอันดับหนึ่งก็คือทะเลนี่แหละ เด็กๆใครที่เคยเห็นเคยสัมผัสทะเลนี่ถือว่าเป็นคนที่มีโชควาสนาเหนือคนอื่น ตอนเรียนวิชาวาดเขียน/ศิลปะนี่ เวลาครูให้วาดวิว ภาพทะเลในจินตนาการผมจะนึกถึงภาพโฆษณาเหล้าแม่โขงภาพนี้ ทะเล เรือใบ ต้นมะพร้าว ก้อนเมฆ ดวงตะวัน นกบิน
    • ทะเลครั้งแรกของผมก็ตอนเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯแล้ว ไปเยี่ยมไอ้นุลูกเจ๊กแจง เพื่อนหนองบัวที่ไปทำงานที่พัทยา เขียนจดหมายนัดแนะวัน-เวลากัน นั่งรถบขส.ไป คนเดียวเลือกที่นั่งด้านขวามือด้วยคาดว่าจะได้เห็นทะเลที่น่าจะอยู่ด้านขวาได้ชัดเจน ผ่านหนองมน บางแสน ก็เริ่มชะเง้อมองไปทางหน้าต่าง ทะเลที่ว่ากว้างใหญ่สุดลูกหู ลูกตานี่มันจะขนาดไหนหนอ เค็มขนาดน้ำปลาเลยรึเปล่า จะโดนฉลามมันมางาบไป มั้ย สารพัดคำถามมันผุดขึ้นมามากมาย จนได้เห็นทะเลครั้งแรกบนรถบขส.เมื่อใกล้จะ ถึงพัทยานั่นแหละ อารมณ์ที่ได้สัมผัสทะเลครั้งแรกก็คงไม่ต่างจากพี่วิรัตน์เลย สงกรานต์นี้ก็มีโปรแกรมหนีร้อนไปชะอำอีกแล้ว
    • เพิ่มเติมเรื่องสัตว์เล็กสัตว์น้อยในป่าหนองบัว นอกจากแย้-กระรอก-กระแต-กบอึ่ง- บึ้ง-นก-หนู-งู ที่ว่ามาแล้วก็ยังมีตัวตุ่น-อ้นอีกที่ชาวบ้านมักจะจับมากินกันอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้พวกผลไม้ป่าก็มีไข่เน่า เป้ง ทับเยี่ยว มะขามป้อม ที่เดี๋ยวนี้หาไม่เจอแล้ว

    ร่วมฉลอง 8,000 คน/ครั้ง/คลิกด้วยครับ (เป็นพลุที่ไปถ่ายมาเมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่ใต้สะพานแขวนฝั่งตรงข้ามตึก ธ.กสิกรไทย)

    สวัสดีครับพี่ฉิกครับ เวทีหนองบัวของเราคลื่นไหวเร็วจริง ๆ ด้วย

    แม้จะอยู่ในตลาด แต่พี่ฉิกก็เข้าถึงความเป็นท้องถิ่นได้สะใจจริง ๆ อึ่งอ่าง/ผักหวานเนี่ยเป็นของคู่กับวิถีชีวิตของคนหนองบัวอย่างปฏิเสธไม่ได้ ส่วนแย้นั้น เดี๋ยวนี้หาได้ยากแล้วครับ

    สวัสดีปีใหม่สงกรานต์เช่นเดียวกันครับ อาจารย์ดร.วิรัตน์ครับ

    1 มกราคม ลาวเรียกว่าปีใหม่สากลครับ..... 13 เมษายนที่จะถึงนี้ พี่น้องประเทศเพื่อนบ้านเราเขาเรียกว่า ปีใหม่ลาว

    ปีใหม่ลาวปีนี้สถานเอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว ณ บางกอก จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ทางสถานทูตส่งบัตรเชิญมาแจ้งว่าสมเด็จพระเทพฯเสด็จด้วย ผมได้แจ้งหนังสือตอบรับไปแล้วว่าสามารถเดินทางไปร่วมงานด้วยได้ครับ

    หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้านที่ผมรับผิดชอบ การบรรยายในชั้นเรียนและการซ้อมเต้นรำจังหวะบั๊ดสะลบ ได้จบลงแล้ว วันนี้บ่าย ๆ จะพาลูกศิษย์ออกสำรวจและทดสอบหลักสูตรในพื้นที่จริง

    บางคนเพิ่งย้ายมารับราชการใหม่ ๆ ยังไม่เคยไปเวียงจันทน์ก็มี บรรยากาศทั่วไปดูน้อง ๆ แต่ละคนตื่นเต้นกันน่าดูเลยครับที่จะได้ทดลองใช้ภาษาลาวกับคนลาวในประเทศลาว

    ขอชื่นชมและประทับใจคุณฉิกอย่างมากเลย
    อย่างคุณฉิกนี่ต้องถือว่าเป็นคนเมือง คนในตลาดจุดใจกลางหนองบัวเลยแหละ แต่สามารถรู้จักและจดจำพืชผักผลไม้ต่างๆในป่าเหนือได้ขนาดนี้ต้องถือหนองบัวขนาดแท้เลยเชียว ในป่าเหนือนั้น ยังมีพืชผัก ผลไม้ต่างๆที่กินได้อีก เช่น ผักอีนูน(นางนูน) ดองกับน้ำซาวข้าวกินอร่อยดี สมอ ไม้มะรื่น(กะบก) มะเลื่อม ลูกไม้ลายใช้ยิงไม้อีโบ๊ะ(ไม้อีทบ)และกินได้ด้วย

    P...สวัสดีวันสุดสัปดาห์ค่พี่อาจารย์..น้องภาและพวกครูอ้อยเล็กจะสอบวันที่ 24-25 เมษายนนี้ค่ะ..ซึ่งน้องพาและเพื่อนจะต้องสอบ 2 ชุดวิชา คือสัมมนาวิจัยกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ค่ะ..ซึ่งค่อนข้างหนักค่ะ..เลยเงียบๆอยู่ก่อนค่ะ...

    ส่วนอ้อยเล็กรีเกรดสัมมนาค่ะคริๆ..เรียนซ้ำมันอยู่นั่นแหล่ะค่ะ ล้วนแต่วิจัยทั้งคู่ รีเกรดตอนยังไม่ทราบชะตาว่าจะไม่จบ 1 ตัว คือการวิจัยเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มาตัวที่กำลังรีเกรดนี่ก็วิจัยอีก แต่เป็นสัมมนาวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เอาเข้าไปๆรีกันให้แจ่มไปเลยเน๊าะพี่อาจารย์เน๊าะ...

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ ครูอ้อยเล็กและทุกๆท่าน

    • ช่วงนี้จะไม่ได้อยู่หน้าจอหลายวัน ฝากความคิดถึงทุกๆท่านด้วยนะครับ กลับมาอีกทีก็อาจจะปลายๆสัปดาห์ (ไม่ได้ไปไหนไกล แค่ชะอำ-หัวหินนี่เอง) ที่หนองบัวนี่ชาวบ้านร้านตลาด กับชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาจริงๆ ผมว่าใกล้กันมากนะ ชีวิตต้องสัมผัสพึ่งพากันแบบใกล้ชิดตลอดเวลา ถึงแม้ผมจะไม่ได้ใส่งอบออกไปไถนา เกี่ยวข้าว แต่ตลอดชีวิตในวัยเด็ก หรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็ยังต้องจับจอบจับเสียมอยู่บ่อยๆ รายละเอียดเรื่องชีวิตชาวนาชาวไร่อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่ากับพระคุณเจ้า พี่วิรัตน์ น้องสมบัติ คุณเสวก หรืออีกหลายๆท่าน แต่ก็ได้สัมผัสรับรู้วิถีชิวิตของพวกเขาได้ดี
    • อีโบ๊ะนี่ไม่รู้ว่าปัจจุบันแถบรอบนอกหนองบัวยังมีเล่นกันอยู่รึเปล่า แต่แถวตลาดนี่ไม่เห็นนานมากแล้ว ( เดี๋ยวนี้เค้าไปเล่น บีบีกัน กันหมดแล้ว) ตอนเด็กๆรร.ปิดเทอมนี่ได้เล่นกันประจำ บางทีก็ใช้กระดาษสมุดมาแช่น้ำ แล้วฉีกขยำเป็นก้อนกลมขนาดพอที่จะยัดเข้ารูอีโบ๊ะเป็นลูกกระสุนแทนลูกไม้ลายได้
      - เคยมีอุบัติเหตุบางคนถึงกับสูญเสียตาเพราะโดนลูกอีโบ๊ะเข้าตาพอดี
      - อีกอย่างที่ไม่เห็นเล่นกันเลยคืออีหึ่ม เกริ่นนำไว้เผื่อใครจะมาขยายต่อก็เชิญนะครับ พอดีตอนนี้ไม่มีเวลาแล้ว จะต้องเตรียมตัวเดินทาง รวมทั้งเรื่องไม้อีโบ๊ะด้วยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก
    • เอาใจช่วยครูอ้อยเล็ก(ชื่อเหมือนผบ.ทบ.ผมเลยครับ แต่ของผมนี่ไม่มีเล็กนะ) กับน้องภา ให้สอบผ่านฉลุย
      - เรื่องการเรียนระดับปริญญาบัตรกับผมนี่จบกันตั้งแต่เมือปี 2538-2541 แล้วครับ หลังจบป.โท MBA ที่มธ.นี่ผมบอกไม่เอาแล้ว เหนื่อยมาก ทั้งทำงาน เลี้ยงลูก(ตอนนั้นคนโต 3 ขวบส่วนคนเล็กเพิ่งอุแว๊ๆ)
    สงกรานต์สร้างสรรค์
    ยึดมั่นประเพณี
    ปลอดภัยทุกชีวี
    สามัคคีทั่วไทย

    ปล. เกือบจะห้าร้อยคคห. (ความคิดเห็น) แล้วนะพ่อแม่พี่น้อง

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท