เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน          เวทีนี้เป็นเวท...
มีต่อ

สวัสดีครับฉิก ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอำนวยพรให้แม่หายวันหายคืนนะครับ แล้วก็ขอให้ฉิก พี่ๆน้องๆ และลูกหลานของแม่ ได้ของขวัญ มีความสุข และความเจริญงอกงามที่ได้ปฏิบัติดูแลแม่ในยามแก่เฒ่าอย่างนี้นะครับ ขออนุโมทนาครับ

ภาพกิจกรรมงานทอดผ้าป่าการศึกษาและ ๔๙ ปีโรงเรียนหนองคอก : คุณสมบัติเคยบอกไว้อยู่นะครับว่าเว็บของโรงเรียนหนองคอกได้นำเอาภาพ(ภาพนิ่งและวิดีโอ) งานทอดผ้าป่า งานพบปะศิษย์เก่าและงาน ๔๙ ปีของโรงเรียนหนองบัว มาแขวนไว้ในเว็บของโรงเรียนแล้ว พี่เข้าไปดูแล้วครับแต่ไม่สำเร็จ ไฟล์มีอยู่ ๓ ไฟล์แต่ข้อมูลคงจะมหึมามากหรืออย่างไรก็ไม่รู้เพราะไฟล์แรกบอกข้อมูลเวลาเราคลิ๊กลงไปว่าความยาว ๔ ชั่วโมง ไฟล์ที่ ๒ สองชั่วโมงกว่า และไฟล์ที่ ๓ ก็ชั่วโมงกว่า พอลองโหลดดูแล้วก็แทบจะลิงหลับไปเลย ลองเลือกไฟล์ ๓ ที่สั้นที่สุดแต่ก็โหลดไปกว่าครึ่งชั่วโมงก็ยังโหลดไม่หมด เลยหมดความเพียรและทดไว้ก่อน รอให้มีใครเขาแนะนำวิธีดูให้ได้ว่าจะต้องทำอย่างไรก่อนดีกว่า

การทำข้อมูลภาพและข้อมูลชีวิตชุมชนหนองบัว : นิทรรศการรูปวาดของพี่ที่จัดแสดงที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายานั้น จะแสดงถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ นี้ครับ คงจะเก็บรูปประมาณเย็นวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ ที่บอกว่าประมาณก็เนื่องจากมีพี่ๆและพรรคพวกในท้องถิ่นขอให้ติดตั้งทิ้งไว้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์เพราะอยากจะให้หลายคนว่างแล้วมานั่งพบปะพูดคุยกัน แต่พี่คิดว่าคงจะเก็บตามกำหนดการเดิม

แต่หลังจากนั้นแล้ว ก็จะไปจัดแสดงและทำเป็นเวทีนั่งสนทนากันกับคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งในปี ๒๕๕๓-ต้นปี ๒๕๕๔ ได้หารือกันว่าจะจัด ๔ ครั้ง เพื่อเป็นการเผยแพร่และสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมในการสร้างความสุข สร้างการงานและสร้างชีวิตอันเกษม มีความเบิกบ่าน แจ่มใส ด้วยศิลปะและการพัฒนาสุนทรียภาพทางจิตใจและการเจริญสติภาวนา พร้อมกันนั้น ระหว่างตระเวนไปที่ไหนก็จะเก็บรวบรวมข้อมูลมาเขียนหนังสือ ถ่ายรูป และวาดรูป สะสมเป็นงานอื่นๆ สำหรับขยายผลให้เกิดพลังสิ่งดีในสังคมต่อไปอีก

แรกเลยก็คิดว่าจะไปจัดร่วมกับฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานของพี่เอง ท่านรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาท่านมาชวนไปทำให้กับนักศึกษา ซึ่งพี่ก็ว่าจะทำ จากนั้นก็จะไปจัดร่วมกับคนราชบุรี ซึ่งคาดว่าจะเป็นโรงพยาบาลราชบุรีและองค์กรท้องถิ่นราชบุรี จากนั้นก็ว่าจะไปจัดและนอนคุยกันเล่นกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์  ปทุมสูติ ที่ทุ่งสักอาศรม เมืองสุพรรณบุรี

แล้วก็พอปลายปี ๒๕๕๓ หรือปลายปี ๒๕๕๔ ก็คิดว่าหากโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัว จัดงาน ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว ผมก็จะขอพื้นที่สักหน่อยหนึ่งมาจัดแสดงนิทรรศการและเวทีนั่งคุยกันของชาวบ้านท้องถิ่น ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย ซึ่งก็คงจะเป็นช่วงปลายปี ๒๕๕๓ หรือไม่ก็ถือโอกาสเอาตอนงานงิ้วต้นปี ๒๕๕๔ ไปเลย แต่ถึงแม้จะไม่มีหน่วยงานและกลุ่มใดจัด พี่ก็จะจัดเองครับและจะใช้ข้อความสื่อสารสร้างความตื่นตัวให้มีสีสันและมีชีวิตชีวากันสักหน่อยว่า ๕๐ ปี กึ่งศตวรรษของการพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว

พี่หารือกับทีมเป็นเบื้องต้นว่า ชุดที่จะจัดแสดงที่หนองบัวนั้น จะไปถ่ายสำเนาต้นฉบับรูปเขียนและทำงานเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง พอแสดงเสร็จ ชุดที่จัดแสดงพี่จะยกให้หนองบัวบ้านเราทั้งหมดเลย ส่วนต้นฉบับนั้น พี่จะนำไปติดตั้งไว้ในหอศิลป์ส่วนตัวเล็กๆที่บ้านสันป่าตองเชียงใหม่ เปิดให้คนไปเยี่ยมเยียนและเข้าชมได้ตลอดต่อไป ในรายละเอียดอาจมีปรับเปลี่ยนไปบ้าง

ซึ่งดูแนวโน้มแล้วก็คงจะเป็นการเพิ่มรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีเพื่อนๆและน้องๆหลายคนแสดงความสนใจและบอกว่า หากจะทำข้อมูลเป็นสื่อสวยๆและทำเป็นคำบรรยายสิ่งจัดแสดงต่างๆให้เป็นเรื่องราวของท้องถิ่นให้น่าสนใจ ทำไปตามกำลังของเราให้นำร่องที่คนอื่นจะมาสานต่อ เขาก็ยินดีจะมาร่วมลงแรงด้วย ก็เลยจะคิดกันดูก่อน เพราะทำกันไปเรื่อยๆไม่ต้องรีบดีกว่า

๕๐ ปี กึ่งศตวรรษ การพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัวและชนบทไทย

อีกทั้งปี ๒๕๕๔ ถัดไปนั้น ก็จะเป็นวาระ ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) พอดีอีก พี่คิดว่าจะมีเวลาลงแรงตนเองและระดมคนที่สนใจด้วยกัน มาทำงานข้อมูลและจุดประกายให้คนมีกำลังใจในการริเริ่มสิ่งดีๆไปตามแต่จะทำกันได้หลายอย่าง ก็คงจะทำงานสร้างความเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องให้ดีได้พอสมควร แล้วก็คิดว่าควรจะทำให้มีความหมายต่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อชนบทของสังคมไทยด้วย เพราะอำเภอหนองบัวและโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)นั้น มีนัยะของการก่อตั้งที่สะท้อนความเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในท้องถิ่นและจากส่วนกลางและหน่วยงานที่เคยเกี่ยวข้อง ก็จะได้มีกำลังใจ อยากให้เป็นการเรียนรู้ความเป็นชุมชนที่ทำให้เกิดความเคารพตนเองและให้การจดจำต่อคนที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆไว้ให้กับผู้คน ใช้โรงเรียนและชุมชนหนองบัวของเราเป็นแกนนี่แหละ เป็นรูปธรรมที่สื่อสะท้อนให้จับต้องกันได้ดี

เลยบอกกล่าวไว้ก่อนเผื่อฉิก รวมทั้งทุกท่านในเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะพระคุณเจ้าพระมหาแล คุณเสวก และคนอื่นๆ จะได้มีเวลาบ่มความคิด หากไม่ได้ทำอะไรกันเลยก็เสมอตัว แต่หากมีโอกาสทำไปตามกำลังและเงื่อนไขของเรา ก็มีคนค่อยๆลุกขึ้นมาทำงานพัฒนาสุขภาวะหนองบัวไปด้วยกันเสมอๆ นะครับ อย่างที่คุยและทำอย่างนี้กันไปเรื่อยๆนี่ พี่ว่าก็ดีมากเลยทีเดียว เพราะในหนองบัวนั้น มีพวกเราแทบทุกรุ่นที่ได้ทำสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว เหลือตรงได้สื่อสารและมีเวทีชวนกันคุย ปรึกษาหารือ และทำข้อมูลความรู้ที่ให้มีวิธีคิดดีๆ เท่านั้นเอง

ต้องขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเฉลิมฉลองให้กับตนเองและเวทีคนหนองบัวเวทีนี้ ที่ตอนนี้มียอดคนคลิ๊กเข้ามาเยือนเกิน ๕,๐๐๐ คนครั้งแล้วครับ แล้วการเข้ามาสนทนากันก็น่าสนใจมากครับคือ ๓๐๐ กว่ากระทู้แล้ว 

                        

เวทีนี้ท่านพระอาจารย์มหาแลและผมช่วยกันริเริ่ม แล้วก็ดูแลกันไปตามอัตภาพ ทำเพื่อเป็นสะพานและอิฐก้อนแรกๆให้กับคนหนองบัวน่ะครับ แต่ไปๆมาๆก็ทำท่าคึกคักดีเหมือนกัน ตอนนี้มีฉิก คุณสมบัติ ฆ้อนทอง และอีกหลายท่านที่เป็นมือดีๆเข้ามาเสริม ซึ่งดูแล้วมีพลังความสด เป็นวิชาการ และมีน้ำใจต่อถิ่นฐานบ้านเกิดมาก อยากให้กำลังใจเพื่อเป็นคนช่วยกันดูแลสบายๆ มีเวลาว่าก็เข้ามาชวนคุย และไปไหนมาไหนก็เป็นสื่อเรียนรู้ ทำให้เห็นโลกรอบข้าง เก็บข้อมูลมาถ่ายทอดและบันทึกเก็บไว้นะครับ หากมีความคิดและความบันดาลใจดีๆ ก็นำมาโยนสะสมไว้ในนี้นะครับ

ความประเทืองปัญญา ให้วิถีทรรศนะที่เปิดกว้าง และความมีเสน่ห์
ในหนังสือ ถ้อยเสียงสำเนียงลาว
ของ คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล | ฉิก |คุณสมบัติ | และทุกท่านครับ

ผมก็ทึ่งและประทับใจทั้งผลงานหนังสือและความเป็นคนจากชุมชนรอบนอกหนองบัวของคุณสมบัติอย่างที่ฉิกกล่าวเหมือนกันนะครับ 

หนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวของคุณสมบัติ อ่านแล้วทั้งสนุก ได้ความรู้ ได้อารมณ์ขัน อีกทั้งเรื่องราวต่างๆที่นำมาเสนอในหนังสือก็สะท้อนรสนิยมและทรรศนะที่สร้างสรรค์มากครับ ยิ่งภาคผนวกและเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่อยู่ท้ายเล่มนั้น ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาหลักของหนังสือ ผมเลยเอารูปมาฝากให้เห็นเป็นตัวอย่างครับ

                        

รูปแรกเป็นประกาศลงโฆษณาเพื่อแจ้งหมาหาย ซึ่งคำลาวพูดว่า แจ้งหมาเสีย เห็นแล้วก็นึกถึงรายการ จส ๑๐๐ และรายการสดทางวิทยุที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์เข้ารายการได้ของบ้านเรา ที่มักจะมีคนแจ้งหมาหาย แมวขึ้นต้นไม้ไม่ยอมลง งูเหลือมเข้าบ้าน ตุ๊กแกมาเกาะปากประตูเข้าบ้านไม่ได้ แร้งพลัดหลงมาจากต่างประเทศและโดนพายุฝนตีตก นกแสกโดนกาวดักหนู ซึ่งให้อารมณ์ขันและน่ารักดีครับ เพราะมีการแจ้งข้อมูลที่เป็นสาเหตุด้วยว่า ที่หมาเสียหรือหมาหายนั้นเพราะตกใจตื่นหมากกระโพก !!!! ลองจินตนาการและเดาสักหน่อยกันไหมครับว่าอะไร ปะทัดครับ ปะทัด เจ้าหมาน้อยตัวนี้หายไปเพราะหนีเตลิดเปิดเปิงจากการตกใจเสียงปะทัด เจ้าของลงแจ้งความว่าอย่างนั้น

เป็นการให้การเรียนรู้ภาษาผ่านอริยาบทของสังคม ที่ผสมผสานเรื่องราวหลายมิติดีจริงๆครับ นอกจากได้เห็นโลกกว้างและน่ารื่นรมย์ผ่านมุมมองของคนเขียนแล้ว ก็ได้ความรู้ และได้อารมณ์ขันดีจริงๆ

แรกเลยก็ขันเจ้าของและคนลงแจ้งความตรงที่ว่า มาบอกทำไมล่ะว่าหายไปเพราะตกใจหมากกระโพก มันช่วยเป็นข้อมูลให้คนช่วยหาได้เสียที่ไหนกันล่ะเนี่ย พื้นที่โฆษณาก็มีนิดเดียวและคงจะแพงทีเดียวในการลงโฆษณาในสื่อ ทำไมเขาไม่ให้รายละเอียดอย่างอื่นที่ช่วยเพิ่มโอกาสที่คนจะได้เจอหมาของเขาให้มากที่สุด เช่น หายจากที่ไหน น่าจะพลัดไปอยู่แถวไหน หากคนเห็นและเข้าไปจับจะกัดไหม  ดันมาบอกว่าหายไปเพราะตกใจหมากกระโพก แหม๊..!!! อย่างนี้แหละครับ ช่างให้ความเพลิดเพลิน ได้ความรอบรู้ และน่าสนุกไหมครับ

ผมเองนั้นยิ่งขำครับ เพราะผมก็มีหมาอย่างนี้ตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมันเป็นพันธุ์ขี้ตื่นและมักประสาทแดกอย่างเดียวกันอย่างนี้ก็ได้ เนื่องจากเจ้าหมาน้อยของผมนั้น ปรกติก็จะดี เห่าส่งเสียงกระดี๊กระด๊า แต่ช่วงเทศกาลเมื่อไหร่ที่มีการจุดปะทัด ตะไล พลุ ทั้งตอนวันเฉลิม ปีใหม่ ตรุษจีน หรือแม้แต่เวลามีงานฌาปนกิจศพตามสุสานแถวบ้านซึ่งเขาจะจุดพลุตูมตาม เหล่านี้นั้น ก็จะน่าสงสารมากครับ เจ้าหมาน้อยผมที่ว่านี้ก็จะวิ่งกระเจิง หัวซุกหัวซุน หายไปจากบ้านสองสามวัน 

พอกลับมาก็จะกระเซอะกระเซิง หัวเหอและทั้งตัวเต็มไปด้วยโคลน มอมแมมมล่อกมแล่ก ซึ่งเห็นแล้วก็พอจะนึกภาพออกว่าหมอคงแถกหนีไปตามพงหญ้าแล้วก็ซุกหลบอย่างสุดชีวิต เขาจุดปะทัดกี่วัน มันก็หายไปนานเท่านั้น แรกๆก็สงสารมากครับ แต่เห็นเขาเป็นของเขาอย่างนี้ทุกครั้งก็ต้องละวางละครับ มันคงจะเป็นหมาพันธุ์ตื่นหมากกระโพกเหมือนกัน !!!!

บางส่วนก็เป็นข้อมูลและให้การเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมลาวทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ถือเป็นคู่มือท่องเที่ยวลาวและเหน็บไปอ่านศึกษาค้นค้วาไปด้วย ก็จะทำให้การท่องสังคมเพื่อนบ้านได้ความสุขและได้สาระของชีวิตมากมายอย่างมหาศาลนะครับ

อีก ๒ กรอบแต่ผมนำมาให้ดูกรอบเดียว เป็นรายงานข่าวทางวิชาการจากการศึกษาค้นคว้าเล็กๆ เกี่ยวกับภาษาอันเป็นอัตลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรมลาว ความว่าอักษรลาวนั้นเกิดก่อนอักษรไทย ๓๐๔ ปี ซึ่งเป็นหลักฐานจากศิลาจารึกที่พระธาตุหลวง เมืองเวียงจันทร์ และอีกกรอบหนึ่ง เป็นข้อมูลจากศิลาจารึกวัดวิชุนนะราช ก็บอกว่าอักษรลาวเกิดก่อนอักษรไทย ๑๑๓ ปี จึงนำมาเผยแพร่ให้เป็นความภูมิใจ

อันที่จริงนั้น นอกจากจะเก่าแก่มากแล้ว มรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของลาวหลายอย่างก็มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง เช่น แนวคิดเรื่องการกำเนิดโลก จักรวาล และสรรพสิ่ง อย่างเรื่องพระยาแถน พระยาคางคาก รวมไปจนถึงเรื่องการก่อเกิดของมนุษย์และอารยธรรมมนุษย์จากลูกน้ำเต้า และต้นตระกูลของมนุษย์คู่แรกหลังไฟประลัยกัลป์ล้างโลกอันได้แก่ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งของไทยนั้นส่วนใหญ่นั้นมักเป็นการเปิดรับจากสังคมอื่น โดยเฉพาะอินเดีย แล้วก็ปรับปรุงมาเป็นของตน 

ถ้าหากมีการเรียนรู้ทางสังคมกันและกันด้วยท่าทีอย่างนี้มากๆ แต่ละสังคมก็คงต่างจะลดอหังการ์และตัวตนอันคับแคบ สามารถเคารพกันและกัน ติดต่อสมาคมกันอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันมากยิ่งๆขึ้นเลยนะครับ จึงขอร่วมชื่นชมอีกและให้กำลังใจแก่ความสร้างสรรค์มากๆอีกครับ.

วันนี้ไปทำหุ่นฟางในการจัดเต้นท์นิทรรศการทางวิชาการที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนครูเทศบาลหัวหินเต็นท์ใกล้กันโรงเรียนน้องเค้ามีดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำโรงเรียน ชอบใจหุ่นฟางและโคมแขวน ส่วนครูอ้อยเล็กก็ชอบใจดอกบัวของน้องเค้า เลยคุยไปคุยมาน้องบุญญิสา สว่างโคกกรวด เลยมีน้ำใจเอาบัวมาติดให้กอหนึ่ง เลยเอามาฝากชุมชนคนหนองบัวด้วยค่ะ..

กราบนมัสการท่านอาจารย์พระมหาแลฯ สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

เสียงสะท้อนที่ได้รับกลับมาจากการทำหนังสือเล่มนี้ ดีพอสมควรครับ...ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ผู้ใหญ่ในเมืองลาวหลายท่านก็ถามถึงแรงบันดาลใจว่า คิดอย่างไรจึงทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และหน้งสือเล่มนี้ก็ได้รับเผยแพร่อยู่ในเมืองลาว (โดยฉพาะตามด่านศุลกากรลาวที่อยู่ติดชายแดนประเทศต่าง ๆ) ประมาณ 1 ใน 3 ของยอดพิมพ์ทั้งหมด คุณคำรณ หว่างหวังศรีที่เคยมาสัมภาษณ์และนำไปออกรายการช่อง 7 จนทุกวันนี้ก็สนิทสนมกันดี มาหนองคายคราวใดก็เป็นต้องแวะมาหา สนุกสนานเฮฮาดีครับ

สำหรับเรื่องการไปร่วมกิจกรรมกับทางมหิดลที่อาจารย์วิรัตน์ให้เกียรติเชิญนั้น ด้วยความยินดีครับ แต่ขอดูเรื่องเวลานิดนึง ส่วนมากแล้วที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ นั้น เป็นเพราะหน่วยงานและท่านต่าง ๆ เหล่านั้นเดินทางมาศึกษาดูงานนอกสถานที่กันและที่หนองคาย หรือไม่เช่นนั้นก็เวียงจันทน์ครับ จะว่าไปแล้วผมเป็นนักเลงชายแดนมากกว่าครับ เข้าเมืองหลวงไม่ค่อยจะถูก ถ้าจะให้ชำนาญทางจริง ๆ ประเภทขับรถชิดขวา - แซงซ้ายแล้วก็ ต้องเป็นเมืองหลวงของลาวครับ

ต้องยอมรับว่าจารย์ทำให้หัวข้อ เวทีคนหนองบัว คึกคักดีจริง ๆ ครับ

ในหัวข้อนี้และอีกหลาย ๆ หัวข้อที่มีคนโพสต์เข้ามา พบคำว่า...ถอดบทเรียน...อยู่หลายครั้ง

ภาษาลาวก็มีครับ พบอยู่บ่อย ๆ เป็นคำคล้าย ๆ กัน ที่นั่นเขาใช้คำว่า...ถอดถอนบดเฮียน.....ซึ่งหมายความว่าประชุมหรือสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน บางครั้งก็ใช้คำว่า...ส่องแสงครับ

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็กและคณะ :น่าสนใจมากทุกอย่างเลยนะครับ เป็นการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้ และทางด้านศิลปะหัตถกรรม ก็เป็นการบูรณาการศิลปะและมิติสุนทรียภาพ มาเป็นแนวคิดทำสิ่งของเพื่อการใช้สอย ให้ทั้งความสวยงาม อีกทั้งสื่อสะท้อนการนำเอาการเรียนรู้และความเอื้ออาทรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสืบทอดวิถีชุมชนและมรดกทางภูมิปัญญาของชาวบ้าน กล้าเล่นและทุ่มเทดีครับ ผมเคยทำกันอย่างนี้เหมือนกัน จึงซาบซึ้งดีครับว่าเบื้องหลังนั้นมันทั้งเหนื่อยและยุ่งยาก หากไม่มีจิตใจรักที่จะให้แก่เด็กและชุมชน รวมทั้งพัฒนาการศึกษาให้เกิดสิ่งดีในทรรศนะของเราแก่ส่วนรวมแล้วละก็ นอกจะคุยและนำเสนอความคิดกันในห้องประชุมหรือโต๊ะวางแผน แล้วละก็ ไม่มีใครอยากทำจริงๆหรอกครับ จึงขอให้ความสำเร็จเล็กๆอย่างนี้จากน้ำมือตนเอง ได้เป็นกำลังให้ความชื่นชูใจคุณครูอ้อยเล็กและคณะ แล้วก็....อยู่ในบรรยากาศเดือนมกราคม ทั้งเริ่มปีใหม่และเป็นเดือนวันครูด้วย ก็เลยขอให้ 'เป็นครู' ก็แล้วกันนะครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติ :

ชอบการนิยามความเป็นตัวตนของตนเองว่า'นักเลงชายแดน'ของคุณสมบัติมากเลยนะครับ

รวมทั้งคำว่า 'ถอดบทเฮียน' กับความหมายว่า 'ส่องแสง' ก็ทั้งมีความหมายที่สะท้อนความเป็นกระบวนการเสริมพลังกลุ่มคนโดยทำให้ข้อมูลประสบการณ์ได้แปรเป็นองค์ความรู้เพื่อสร้างความลุ่มลึกและชี้นำการปฏิบัติในโอกาสต่อไปอย่างที่เรียกว่า 'ถอดบทเรียน' แล้วก็มีความไพเราะ กระชับ ในแง่ของนามบัญญัติที่มีนัยะการเป็นนิยามของสิ่งที่ถูกอ้างอิงถึงพร้อมกับทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพไปด้วยได้อย่างดีมากเลยนะครับ ฟังดูง่ายและงามมากทีเดียว

กล้าเล่นและทุ่มเทดีครับ  กล้าเล่นเพราะมีเด็กเล่นด้วย มีจิตใจเหมือนกัน และที่สำคัญ

พ่อ-แม่ครูอ้อยเล็กสนับสนุนด้วยค่ะเด็กๆมาทำโครงงานนี้ได้อย่างเหมือนลูกเหมือนหลานคนหนึ่งกันเลย กินข้าว นอนหลับทุกอย่างที่จะสนับสนุนได้ท่านสนับสนุนค่ะ ชิ้นงานโคมแขวนท่านก็ปลาบปลื้มและยอมรับในความพยายามของลูกสาวและลูกศิษย์ของลูกสาวเป็นกำลังเลยค่ะ พ่อ-แม่เข้าใจว่าลูกกำลังทำอะไร เงินทองบางทีก็ไม่ได้ให้ความสุขกับลูกได้เท่ากับการให้ความรักและกำลังใจแก่ลูกสาวยามก้าวเดินในทางที่ชอบมีความสุขและเป็นประโยชน์ ครูอ้อยเล็กโชคดีที่มี่พ่อ-แม่ที่เข้าใจลูกมากๆเลยค่ะ..

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษต่างประเทศ(ลาว) มีคำน่ารัก ๆ มาฝากครับ

กมปูกฝังครับ..... กรม ๆ นี้สังกัดกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ บ้านเราไม่รู้ว่าจะเป็นกรมอะไรดี

ลดไฟตำกัน ......รถไฟ 2 ขบวนชนกันนั่นเอง เวลามีการดื่มฉลองในงานเลี้ยงต่าง ๆ เขาก็ใช้คำว่า... ตำจอก... เหมือนกัน

กองปะซุมวงแคบ.....เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ(ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เวียดนามเมื่อวานนี้น่ะครับ)

กองปะซุมโต๊ะมน.....คงเดาออกนะครับว่าเป็นการประชุมโต๊ะกลม

ในเนื้อข่าวยังมีอีกว่า แผนกศึกษา 4 แขวงภาคเหนือ.....จัดกองปะซุมถอดถอนบดเฮียน เมื่อวันที่ 14 มังกอน 2010...... ที่แขวงสะหวันนะเขด

สุดท้ายครับเป็นข่าวกีฬาครับ... นางคริสติน่า สิงห์ดารา (แปลเป็นไทยสำเร็จรูปแล้ว) อายุ 17 ปี ลวงสูง 172 ซังติเม็ด ลูกซอดสาวลาว - ลัดเซีย ได้เหลียนคำจากการแข่งขันกีลาดำน้ำตีนเป็ดเดี่ยว (ซีเกมส์ครั้งที่ 25) สำหรับคำว่า...นาง...นี้ในประเทศลาวใช้กับผู้หญิงทุกคน/ทุกวัย/ทุกชนชั้นครับ ประเทศนี้ไม่มีคำว่าเด็กหญิง นางสาว คุณหญิง คุณนาย ท่านผู้หญิง ฯลฯ ตั้งแต่อุแว้ออกมาก็เป็นนางแล้วครับและใช้ติดตัวไปจนกระทั่งเสียชีวิต แต่ถ้าสามีเสียชีวิต ก็จะเปลี่ยนเป็น...นางหม้ายครับ.

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก : เป็นทั้งการสอนหนังสือ เป็นครูให้ได้หลักใจและหลักชัยของชีวิตในช่วงพัฒนาการค้นให้พบตนเอง กล่อมเกลาทางสังคม บ่มสร้างการใช้ชีวิต เหมือนลูกเหมือนหลาน ให้ประสบการณ์และความทรงจำในชีวิต เป็นทุนชีวิตและจิตวิญญาณเพื่อเกิดพลังใจสำหรับเผชิญปัญหาด้วยตนเองในอนาคต เลยนะครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : เห็นแล้วอยากอ่านภาษาลาวออกเลยนะครับ เคยได้ยินน้องมาจากอีสาน ดูเหมือนจะเป็นอุบลราชธานี ดูรายการมวยจากทีวี เขาบอกว่า "ดูมวยตีกัน" บางครั้งก็บอกว่า "มันตำกันดุเดือด"

สวัสดีครับ

  • เห็นครูอ้อยเล็กทุ่มเทประดิษฐ์ประดอยแล้วน่าปลื้มใจแทนคนรอบๆตัวเลย ทั้งพ่อแม่ ลูกศิษย์ลูกหา
  • พูดถึงภาษาลาวแล้วมีหลายคำมากที่เราคนไทยได้เห็นได้ยินแล้วก็จะรู้สึกขำๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไปค้นหาในเน็ตก็จะมีเยอะมาก ยิ่งตอนที่มีแข่งซีเกมส์ก็จะได้ยินอยู่ จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูบ้างเช่น
    • ร้านถ่ายรูป = ฮ้านแหกตา
    • เข้าที่ = เข้าซ่อง
    • กระดาษทิชชู่ = ผ้าอนามัย
    • กระทรวงต่างประเทศ = กระทรวงพัวพัน (กระทรวงนี่ทางลาวเรียกว่าอะไรมิทราบ)
    อยากรู้เหมือนกันว่า มีคำไหนของไทยบ้างที่คนลาวได้ยินแล้วก็รู้สึกขำๆแบบที่เรารู้สึกน่ะ
  • ๕๐ ปี กึ่งศตวรรษ การพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัวและชนบทไทย งานนี้น่าสนใจดี ผมยินดีช่วยเต็มที่ อยากให้ผมช่วยอะไรก็บอกได้เลยครับ

สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ

การนำเอาวาระ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองคอก มาเป็นประเด็นสร้างจุดสนใจเพื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกัน คงจะดีในแง่ที่ทำให้ใครก็ได้ พอจะสามารถทำสิ่งต่างๆแบบแยกย้ายกันทำไปตามเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ตามแต่ใครพอจะริเริ่มทำกันได้ แล้วใช้ระยะเวลาที่มีพอสมควรนี้ ค่อยๆคุยปรึกษาหารือก็คงจะประมาณกำลังกันได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับว่าพอจะทำอะไรกันได้บ้าง

พี่เองก็จะพยายามพัฒนางานและเชื่อมโยงงานให้ลงมาทำได้ในหนองบัว ควบคู่กับแหล่งอื่นๆของประเทศที่ทำอยู่ไปด้วย จะได้ช่วยรวบรวมข้อมูล ความรู้ และถักทอผู้คนเตรียมความพร้อมไว้ให้ แนวคิดและเรื่องที่น่าทำนั้นก็เห็นพอสมควรครับ แต่กำลังกะขนาดให้พอเอาอยู่ในมือได้

เอารูปพวกเราหนองคอกรุ่น ๑๔ กลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งมาฝากนะครับ มีพี่ของฉิกด้วยครับ แต่ถ่ายรูปหลานสองหน่อไม่ได้ กำลังน่ารักมาก อีวิ่งไม่หยุดเลย  

                         

ครอบครัวของศิริจิตต์ เชาวน์ไกลวงศ์และลูกสาวสองคน คนหนึ่งกำลังศึกษาทันตแพทย์ปีสุดท้าย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกคนหนึ่งกำลังศึกษามัธยมปลาย น้องชายคนหนึ่งของศิริจิตต์ คือ หมอเกี้ย เพื่อนร่วมรุ่นหนองคอกของฉิก ก็เป็นอาจารย์ทันตแพทย์อยู่ที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครอบครัวศิริจิตต์อยู่ข้างตลาดสดหนองบัว เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียน และตอนนี้ทำธุรกิจส่วนตัวเพื่อดูแลการศึกษาให้ลูกๆอยู่ที่กรุงเทพฯ

                        

ครอบครัวของนิจ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักทางหลวงชนบท ที่ ๒ สระบุรี และภรรยา จุฬาลักษณ์ เพ็ชรคง ศูนย์สงเคราะห์คนชรา จังหวัดปทุมธานี กับลูกสาว ลูกน้ำ : ชลากร เพ็ชรคง กำลังศึกษา ม. ๔ อยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต นิจ เพ็ชรคงนี้เป็นคนจากวัดเทพสุทธาวาส 

                         

รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับภรรยา นารีรัตน์ จุ้ยโต และลูกชาย เกล้า : สยุมภู จุ้ยโต กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน กับลูกสาว ลูกไม้ : สโรชา จุ้ยโต กำลังศึกษาอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

                        

ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔ แถวหน้าจากซ้าย : ทันตแพทย์อมรเทพ วีระนิติเวชสาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ | ศิริจิตต์ เชาวน์ไกลวงศ์ ทำธุรกิจส่วนตัว | อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถวยืนหลัง : รักษ์ พิทักษ์อำนวย วิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย | รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต สาขาวิทยาการจัดการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช | ประเวศ รักษพล ตุลาการศาลปกครองกลาง | นิจ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๒ (สระบุรี)                         

งานนี้ไปเจอกันในงานแต่งงานลูกสาวท่านตุลาการประเวศ รักษพล ศาลปกครองกลาง ซึ่งนอกจากจะดีใจที่ได้เจอเพื่อนและลูกหลานแล้ว ก็เป็นงานแรกที่ส่งนัยให้รับรู้ได้ว่าชีวิตได้เปลี่ยนผ่านไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะนี่เป็นงานแต่งงานลูกของเพื่อนคนแรก ก่อนหน้านี้มีแต่เรื่องงานบวชลูกหลานและการพบปะกันที่เกี่ยวเนื่องไปกับการศึกษาเล่าเรียนของรุ่นลูกๆเพื่อน ทว่า ต่อไปนี้กำลังเป็นตาและปู่ ก้าวสู่คนรุ่นหลานเหลนกันแล้วนะครับ เร็วจัง

เลยเอามาฝากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆและญาติพี่น้องหนองบัวจะได้เยี่ยมเยียนกันผ่านเวทีนี้กันไปด้วยเลยอีกโอกาสหนึ่งนะครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ผมไปประเทศลาว 4 วัน เพิ่งกลับมา ได้เห็นภาพของรุ่นพี่ ๆ ที่อาจารย์นำมาลงไว้ รวมทั้งได้กล่าวถึงลูก ๆของท่านเหล่านั้นแล้ว น่าภูมิใจกับพี่น้อง ลูกหลาน/ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวจริง ๆ ครับ

หากน้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ ได้เข้ามาและเห็นสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ในบล็อคนี้แล้วก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้เขามึความมุ /มานะในการขยันเรียนหนังสือ

เห็นความสำเร็จของแต่ละท่านแล้ว.....ผมว่าการศึกษาเท่านั้นครับ ที่จะสามารถยกระดับ/ความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง/สังคมและมนุษยชาติได้

สำหรับภาษาลาวที่พี่ฉิกทราบมานั้น ผมขออนุญาตปรับแก้นิดนึงนะครับ

กระทรวงการต่างประเทศ ลาวก็เรียกเหมือนเราครับ กระดาษทิชชู่นั้น..ลาวเรียกว่า เจี้ยเซ็ดสบ....เจี้ย/กระดาษ สบ/ปาก ส่วนผ้าอนามัยนั้น เขาใช้เรียนผ้าเย็น (สำหรับเช็ดหน้า) ธรมมดา ๆ นี่เองครับ ...การทำความสะอาดตามถนนหนทาง เขาจะใช้คำว่า อนามัยแคมทาง

ส่วนคำอื่น ๆ นั้น คนไทยที่ไปเที่ยวเมืองลาว อาจจะได้ยินจากไกด์ลาวบางคนที่...ค่อนข้างจะทะลึ่ง...อยากจะพูดหรือสร้างบรรยากาศให้ตลกโดยไม่รู้กาละเทศะ แล้วคนไทยคนนั้นนำมาเขียนเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แต่ถ้าคนของรัฐบาลลาวได้ยินแล้ว ไกด์พวกนี้เดือดร้อนแน่ รัฐบาลเขาไม่ตลกด้วยหรอกครับ โดยเฉพาะองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติและกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม.

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เมื่อสองเดือนที่แล้วหลาน(ลูกเพื่อนที่บวชพร้อมกัน)ได้ขอให้หลวงลุงตั้งชื่อให้ลูกเขา
  • เมื่อก่อนก็เป็นหลวงลุง ตั้งชื่อให้หลาน ตอนนี้ก็เป็นหลวงปู่บ้าง หลวงตาบ้างถึ่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • เรามักมองตัวเองไม่ค่อยเห็นนะเรื่องวัย เรื่องสังขารเนี่ย แต่พอมองเพื่อนทีไรเห็นชัดทุกที
  • คือเห็นเป็นสว.กันมากหน้าหลายตา คำพูดนี้(ท่านพระครูเลขาฯ เจ้าคณะอำเภอหนองบัวเคยพูดให้ฟัง) พิจารณาแล้วก็เป็นจริงตามนั้นชัดเจน
  • ได้เห็นศิษย์เก่าหนองคอกรุ่นที่ ๑๔ แล้วก็น่าภูมิใจ แม้อาจารย์จะกล่าวถึงกลุ่ม-รุ่นอย่างถ่อมตนว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็ตาม แต่เมื่อดูการงานและหน้าที่ของแต่ละท่านแล็ว แม้เพียงรุ่นเดียวก็ยังได้เห็นถึงบทบาทการสร้างสรรค์ การทำประโยชน์ให้ก่อเกิดในวงกว้างได้อย่างมากมาย.

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : น่าม่วนใจแทนคุณสมบัติจริงๆ ไปลาวเป็นว่าเล่น ๔-๕ ปีมานี้ผมวางแผนจะไปต่างบ้านต่างเมืองแทบจะทุกปีกับภรรยา ว่าจะไปลาว เวียดนามเขมร ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน ไปถ่ายรูป เขียนรูป ดูงาน ถือโอกาสไปนำเสนอผลงานวิชาการ แต่ก็เหลวทุกปีได้เหมือนกัน ปีนี้ก็ว่าจะไปจีน ตกลงใจกันใหม่เมื่อวานนี้เองว่าจะไม่ไปแล้ว เพราะอยากได้โรงเตี๊ยมขายข้าว ทำที่นั่งอ่านหนังสือ และขายกาแฟ หน้าบ้าน กับจะเอาเงินไปทำกิจกรรมให้เด็กๆที่บ้านเกิด

แต่จะว่าไปแล้ว ก็ไม่เหลวไปเสียทั้งหมด เพราะเวลาตั้งโปรแกรมไว้นั้น ผมกับภรรยาก็จะเก็บเงิน แต่เมื่อมันจะล้มเลิกก็คือ พอเก็บเงินได้พอ แล้วก็ตั้งท่าจะไปนั้น เมื่อหันมานึกถึงความที่ต้องกระเหม็ดกระแหม่และเสียสละโอกาสที่จะใช้จ่ายตามใจตนเองมากมายแล้ว ก็รู้สึกว่ามันต้องเหนื่อยยากเป็นปี พอจะเอาไปใช้จ่ายให้หายวูบไปในอาทิตย์เดียวก็คิดหนักทุกที เมื่อคิดแล้วก็กลับเอามาทำบ้าน ดูแลพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ทำกิจกรรมที่เป็นการลงทุนทางศิลปะ ความรู้ และงานที่สะสมแล้วทั้งเราเองและคนอื่นก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากยิ่งๆขึ้นไปด้วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต แล้วก็หาโอกาสเที่ยวในประเทศของเราไปตามโอกาสต่างๆไปก่อน เลยก็กลายเป็นกุศโลบายให้ตนเองได้สิ่งต่างๆแทนการได้ไปเที่ยว 

เห็นเหล่าหลานๆที่เป็นลูกของเพื่อนแล้ว ก็รู้สึกและได้วิธีคิดแบบเดียวกับคุณสมบัติเช่นกันครับ พวกเขาไม่เหมือนคนรุ่นเราแล้ว แตกต่างกันอย่างมากมาย ทว่า มีความเป็นมาที่สืบเนื่องและยกระดับอย่างเป็นเหตุเป็นผล

คุณสมบัติเองนั้น ก็เป็นลูกชาวบ้านที่ห้วยวารี ญาติพี่น้องและคนรอบข้างก็เป็นตาสีตาสาที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมหมู่บ้าน ได้ประสบการณ์ชีวิตจากท้องไร่ท้องนา แต่ลูกๆของคุณสมบัติเป็นลูกครอบครัวของคนมีการศึกษาสูงและทำงานระหว่างประเทศ แวดวงสังคมก็ไม่ใช่อย่างที่เราเจอ

รุ่นพวกเราแค่คุยกันเรื่องจบหนองคอกแล้วจะไปนครสวรรค์ เชียงใหม่ หรือไปกุรงเทพฯ อย่างไรกันดี หรือจะออกไปทำไร่แถวเขาเหล็ก-เขาสูง แค่นี้ก็ไม่มีปัญญาจะคิดออกและไม่รู้จะหาใครในหมู่บ้านมาคุยด้วยแล้ว แต่ลูกหลานของคุณสมบัติซึ่งถัดมาจากรุ่นของพวกเราอีกไม่กี่ปีกลับไปอยู่ถึงอเมริกา พักร้อนทีก็ไม่ใช่แค่ไปเที่ยวบ้านปู่ย่าตายายเหมือนอย่างเรา แต่บินข้ามฟ้ากลับมายังแผ่นดินมาตุภูมิแล้วก็ตระเวนเที่ยวทั่วประเทศ

นิจนั้นก็ลูกชาวนาวัดเทพสุทธาวาส บ้านนอกมากๆ พ่อแม่จบประถม ๔ และญาติพี่น้องหลายคนก็เป็นชาวนา เติบโตในชุมชนรอบๆวัด ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ลูกของเขา เป็นลูกของพ่อซึ่งเป็นวิศวกรแม่เป็นนักวิชาการสังคมสงเคราะห์ อยู่บ้านหรูในเมืองกรุง เพื่อนๆของพ่อซึ่งก็เหมือนญาติพี่น้องและสังคมรอบข้างของเขาก็เป็นหมอ ตุลาการ วิศวกร อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าของกิจการ

รักษ์ ศิริจิตต์ ประเวศ และอมรเทพนั้น ก็เป็นลูกหลานของคนค้าขายกิจการเล็กๆในตลาดหนองบัว เมื่อตอนเด็กๆก็วิ่งเล่นบนลานและถนนดินแดงปนทรายตัวมอมแมม แต่ลูกๆของเขาเป็นลูกของวิศวกร ลูกหมอ ลูกตุลาการ ลูกคนเมืองกรุง ลูกของ ดร.เสน่ห์นั้น ก็ไม่ใช่ลูกผู้ใหญ่บ้านหนองบัวอย่างเด็กชายเสน่ห์เมื่อครั้งอยู่หนองบัว แต่เป็นลูกของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีคนรู้จักทั่วประเทศและมีลูกศิษย์มากมาย แม่ก็จบมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ประถม ๔ อย่างพ่อแม่ของพวกเรา

อย่างหลาน หรือลูกของตุลาการประเวศและลูกเขยนั้น พอแต่งงานกันแล้ว ก็บอกกล่าวแก่แขกเหรื่อซึ่งก็เป็นญาติมิตรของทั้งสองฝ่ายนั่นเองว่า ขอกราบลาไปประเทศญี่ปุ่นแล้วก็จะไปทำกิจการต่อจากครอบครัว จากนั้นก็จะศึกษาต่อในต่างประเทศที่ประเทศญี่ปุ่นนั่นเลย ญาติพี่น้องของพวกเขาทั้งห้องนั้น ก็เป็นคนอีกชั้นหนึ่งของสังคมทั้งของไทยและต่างประเทศ คนละเรื่องกับพวกเราเลยนะครับ รุ่นของตุลาการประเวศ รักษ์ ศิริจิตต์ และหมออมรเทพนั้น เมื่อจัดงานก็ต้องลากรถเข็นไปเข็นน้ำที่สระวัดหลวงพ่ออ๋อยกันตัวมันมะเมื่อม

หากไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางความเป็นญาติและเครือข่ายทางสังคมแล้วละก็ คนรุ่นเรากับลูกหลานของเราที่เห็นนี้ต้องจัดว่าเป็นคนละกลุ่มทางสังคมเลยทีเดียว พวกเขามีบทบาทต่อสังคมมากกว่าจุดเริ่มต้นของเรา นั่งดูแล้วก็ประทับใจและเห็นความงอกงามเติบโต ผ่านกระบวนการทางการศึกษา แล้วก็ได้สะดุดคิดในหลายเรื่อง อันที่จริงในการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาสังคม และการพัฒนาชุมชนระดับต่างๆของประเทศผ่านการให้กระบวนการศึกษาสร้างคนนั้น อย่างนี้ไม่ใช่หรือที่เราต้องการ ให้ผู้คนได้พัฒนาตนเองและจัดวางตนเองให้ทำหน้าที่ต่อสังคมอย่างเหมาะสมไปตามกำลังและอัตภาพของตัวสืบต่อจากคนรุ่นก่อนที่ทำไว้ให้แก่ตัว ทุกคนต้องได้เข้าถึงหลักชัยไปตามกำลังแห่งตน

แต่โดยมากแล้วเรากลับมักผลักดันการศึกษาแบบแพ้คัดออกในมาตรฐานเดียวกันของคนส่วนน้อย แข่งกันเอาตัวรอด บำบัดความล้มเหลวทั้งระบบโดยเลือกให้เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งเป็นผู้แสดงความสำเร็จไปตามจินตนาการแทนคนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวและไปไม่รอด นั่งคิดและได้เห็นความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องมากเลยทีเดียวครับ

งานนี้มีความประทับใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เจ้าภาพทั้งสองฝ่ายและแขกเหรื่อ รวมทั้งสถานที่จัดงานนั้น จัดว่าเป็นงานที่มีระดับมากๆในสังคมไทยเลยทีเดียว ทั้งโรงแรมนั้นปิดเพื่อจัดงานนี้งานเดียว แต่เป็นการจัดเลี้ยงที่ไม่มีสุราเลยครับ แถมมีคณะตลกมาแสดงเสียอีก แต่เป็นตลกคณะของยาว อยุธยา ซึ่งเป็นญาติของฝ่ายเจ้าบ่าว แถมแสดงเสร็จก็แจกจ่าย VCD เพื่อบอกบุญระดมทุนไปช่วยคนตกยากอีก เลยดูงดงามดีจากความผสมผสานกันอย่างที่อยากคิดและทำก็ทำไปเลยอย่างจริงใจ

เห็นคุณสมบัติกับฉิกคุยกันแล้วก็นึกได้ว่า เจี้ยและเกี้ยนั้น ในภาษาลาวที่พูดคุยกันตามปรกติก็จะหมายถึงเยื่อไม้ไผ่และเยื่อบางๆ เช่น เยื่อไผ่จากกระบอกข้าวหลามที่ติดกับข้าวเหนียว ก็จะเรียกว่า เจี้ยข่าวหลาม หรือเกี้ยข่าวหลาม 

ลอกเกี้ยหอม ลอกเจี้ยหอม ก็หมายถึงการดึงเอาผิวของเปลือกหัวหอมออกมา เจี้ยขลุ่ยผิว ก็หมายถึงเยื่อไผ่ที่ทำเสียง Vibration ให้กับขลุ่ยโดยการนำไปปิดตรงรูที่ระบายลมใต้ลิ้นขลุ่ย ทำให้ได้เสียงขุล่ยในอารมณ์ขลุ่ยผิวของดนตรีจีน

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : เมื่อสอง-สามอาทิตย์ที่แล้วผมรื้อข้าวของหาธนาณัติของพระคุณเจ้าจนเจอแล้วครับ ยังไม่ได้เอาไปขึ้นเงินเลยจริงๆด้วยครับ แต่ได้มีโอกาสถามไปรษณีย์แล้ว เขาบอกว่าขึ้นเงินได้ในระยะ ๔ เดือน ผมจะดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ของพระคุณเจ้าที่ขอมีส่วนร่วมในการนำไปทำกิจกรรมให้กับเด็กๆและชุมชนบ้านตาลินกับชุมชนโรงเรียนวันครูนะครับ

สวัสดี ครับ อาจารย์

เข้ามาเจอ อาจารย์พอดี ครับ ผมขออนุญาต นำต้นแบบในชีวิตของผมมาใส่ไว้ที่นี่ นะครับ

http://gotoknow.org/blog/sangsri/329442

กราบขอบพระคุณมาก ครับ

                           

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ : ผมชอบเข้าไปอ่านเรื่องราวของผู้คนในภาคใต้จากงานของคุณแสงแห่งความดีอยู่เป็นระยะๆนะครับ รูปนี้ก็ดูมีชีวิต อบอุ่น และให้ความทรงจำได้ดีมากเลยนะครับ

สวัสดีครับพี่ฉิกและท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ที่ผมไปเมืองลาวมาก็ไปในหลายงานครับ ทั้งงานมวลชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องชาวลาวที่ทำงาน/เคยเรียนหนังสือมาด้วยกัน งานที่ว่าก็อย่างเช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ อยู่กำแอน้อย(ทารก)เกิดใหม่ บายสีสู่ขวัญส่งญาติพี่น้องที่จะกลับอเมริกา/กานาด้า/อ๊ดส่ะต่าลี่ (ออสเตรเลีย) ซึ่งบางท่านเป็น 7 ปีหรือเกือบ 20 ปีถึงได้กลับเมืองลาวสักครั้งนึง เด็ก ๆ ที่เกิดในแต่ละประเทศนั้นก็พูดลาว/ฟังภาษาลาวไม่ค่อยจะรู้เรื่องแล้วละครับ

นอกจากนั้นก็ไปทำงานด้านวิชาการ งานที่ว่าคือเป็นวิทยากรให้แก่... การเสวนาทางวิชาการเรื่อง... SMEs หลังกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25...มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเข้าร่วมเสวนาหลายหน่วยงานครับ อย่างเช่น ....สถานทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สภาธุรกิจไทย - ลาว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จังหวัดหนองคายและด่านศุลกากรหนองคาย (โดยมีผมเป็นตัวแทน) ทีมงานที่ดำเินินการและรับผิดชอบเรื่องนี้คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครับ

การไปลาวของผมครั้งนี้ ทั้งขาไปและขากลับไปรถบัสปรับอากาศคันใหญ่ ขาไปผมก็ถือไมค์พูดไปเรื่อย ๆ ตอบปัญหา/ข้อซักถามต่าง ๆให้แก่คณะผู้ร่วมเดินทาง แต่ขากลับให้ไกด์สาวลาวรับหน้าที่ ...และตรงนี้แหละครับที่มีเรื่องสนุก ๆ มาเล่า(ต่อ)ให้พี่ฉิก อาจารย์วิรัตน์รวมถึงท่านอื่น ๆ ได้ฟังกัน คืออย่างนี้ครับ

มี 3 เกลอ (ไม่ทราบว่าหัวแข็งหรือเปล่า ?) ลาว เวียดและจีนเป็นเพื่อนสนิทกัน ยืนคุยกันอยู่ที่ริมแม่น้ำ และแล้วก็เริ่มคุยโวข่มกัน

เพื่อนจีน........ควักโทรศัพท์มือถือจากกระเป๋ากางเกง ทันใดนั้นก็ขว้างลงแม่น้ำพร้อมกับ พูดขึ้นว่า....โทรศัพท์มือถือที่บ้านกูผลิตได้เยอะแยะ แค่นี้กูไม่เสียดายหรอก

เพื่อนเวียด.....จูงจักรยานมาด้วยและผลักจักรยานคันนั้นตกลงไปในแม่น้ำ แล้วพูดขึ้นว่า ......รถจักรยานบ้านกูก็เยอะแยะเหมือนกัน ราคาก็ไม่แพง

เื่พื่อนลาวครุ่นคิดอยู่นิดนึง.....กระโดดถีบเพื่อนทั้ง 2 คนตกลงไปในแม่น้ำ แล้วไม่พูดว่ากระไร....ทั้งเพื่อนจีนและเพื่อนเวียดซึ่งลอยคออยู่ในแม่น้ำตะโกนถามขึ้นมาพร้อมกันว่า....มึงถีบกูทำไม?

สวัสดีครับ

มีเรื่องแจ้งให้ทราบว่า คุณแม่ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อตอนประมาณ 20.30น.วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์

พรุ่งนี้แต่เช้ามืดต้องไปรับแม่ที่นว. เพื่อไปประกอบพิธีที่วัดหนองกลับ

สวัสดีครับพี่ฉิกครับ

ขอแสดงความเสียใจด้วย และฝากบอกน้อย/กวีศักดิ์ แซ่แต้ ด้วยนะครับ

ท่านไปดีแล้ว...ไปสงบแล้ว ขอดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สุคติด้วยเทอญ สาธุ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณฉิก

อนุสสวนาลัยแด่คุณแม่

ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวคุณแม่และลูกหลานของคุณแม่ด้วย

พระมหาแล อาสโย

นมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
สวัสดีครับคุณสมบัติ ฉิก และทุกท่านครับ

ก่อนอื่น ต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่ของฉิกด้วยนะครับ ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่ได้สู่สุขคติในสรวงสวรรค์

ดูกิจกรรมที่คุณสมบัติได้มีโอกาสไปทำกับพี่น้องลาวนั้น ได้ความน่าสนใจไปด้วยมากมายเลยนะครับ คุณสมบัติได้ทำหน้าที่ทั้งต่อการงานและต่อสังคมได้มากมายดีจริงๆนะครับ ประสบการณ์ที่ได้ไปด้วย ก็เป็นประสบการณ์และวัตถุดิบสำหรับเขียนหนังสือได้ดีจริงๆ

คุณสมบัติเล่าให้ทราบเรื่องที่กำลังทำนั้น ผมเลยลองมองดูรอบๆตัวว่าจะมีอะไรบ้างที่พอจะเห็นโอกาสพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและให้การสนับสนุนทางวิชาการหรือคิดริเริ่มที่จะเกิดการทำงานให้เชื่อมโยงกัน ก็พอจะเห็นอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน อันที่จริงผมเคยร่วมจัดอบรมและพัฒนาเครือข่ายผู้นำการพัฒนาของลาวในสาขาต่างๆอยู่หลายโครงการเหมือนกัน เช่น พัฒนาเครือข่ายครูเพื่อพัฒนาหลักสูตรกับการสอนประชากรศึกษาของลาว ให้กับครูและนักวิชาการของหน่วยงานทางการศึกษา ในช่วงที่โรคเอดส์เริ่มเป็นปัญหาอย่างกว้างขวางและลาวต้องการดำเนินโครงการพัฒนาทางประชากรผ่านการให้การศึกษาเยาวชนพลเมือง

ในเรื่องการพัฒนาคนเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจและสู่แนวโน้มการพัฒนาตามความจำเป็นใหม่ๆทั้งของสังคมท้องถิ่น สังคมภูมิภาค และของสังคมโลกนั้น ก็พอจะมีอยู่หลายด้านเหมือนกันครับ ผมขอคุยให้ข้อมูลไปเรื่อยเปื่อยไปก่อนก็แล้วกันนะครับ แต่ถ้าระหว่างที่ทำงานไปนั้น มีโอกาสได้เห็นความจำเป็นหรือได้ความคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้คุยกันก็อาจจะได้ระดมความร่วมมือริเริ่มทำสิ่งต่างๆให้บรรลุจุดหมายได้อย่างดีที่สุดอย่างที่เราพอจะทำได้นะครับ

ในเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กลุ่มอินโดจีน แหลมทอง และกลุ่มอาเซียนนั้น ในขอบเขตที่ทำเหมือนเป็นโครงการเล็กๆนั้น หากจะยกระดับให้มีความหมายต่อนโยบายสำคัญของระหว่างประเทศ รวมทั้งให้มีแง่มุมที่สะท้อนนัยสำคัญต่อวิถีการพัฒนาในแนวคิดใหม่ๆ เพื่อมุ่งสู่สุขภาวะของประชาชาติที่ต่างออกไปจากกระแสการพัฒนาอย่างในอดีตแล้วละก็ ก็คงจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ที่สถาบันวิชาการจะมีส่วนร่วมและในส่วนของผม ก็อาจจะช่วยส่งลูกและประสานงานเป็นแรงหนุนให้ได้นะครับ เช่น........

  • การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจในแนวทางใหม่ๆ หากต้องการใช้บทเรียนของประเทศไทยเป็นฐาน ทั้งเพื่อจะได้ทำให้ดีกว่าที่สังคมไทยได้ผ่านมาแล้ว และเพื่อจะได้ร่วมมือกันขยายผลความริเริ่มสิ่งที่เป็นความสร้างสรรค์ของสังคม ทว่า อยู่นอกกระแสหลักของการพัฒนา จึงต้องการกระบวนการหลายอย่างที่จะช่วยขยายผลและยกระดับให้เป็นทางเลือกการพัฒนาที่หลากหลายมากยิ่งๆขึ้น  การสร้างคนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มต่างๆในแนวทางใหม่ๆด้วยจึงมีความจำเป็น นับแต่กลุ่มเด็ก เยาวชน กระทั่งกลุ่มที่อยู่ในภาคการผลิตและบริการต่างๆที่จะเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนระบบสังคมในชุมชนระดับต่างๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนางานเชิงนโยบายเหล่านั้น ประสบความสำเร็จผ่านการลงทุนสร้างคน แล้วก็ก่อให้เกิดทางเลือกการพัฒนาในแนวทางใหม่ๆที่เป็นผลดีทั้งต่อท้องถิ่นและสังคมประเทศในภูมิภาค ในแง่มุมนี้  หากนึกถึงการพัฒนาศักยภาพครู นักวางแผน กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นฐานการสร้างกำลังคนสู่ภาคการผลิตในวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ นักพัฒนาประชากรศึกษาชุมชน การจัดการชุมชนและเครือข่ายกิจการวิสาหกิจชุมชนที่เน้นทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ ทุนสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น วิสาหกิจเพื่อการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรมที่ส่งเสริมบทบาทการจัดการของประชาชน
  • การพัฒนาการบริหารจัดการของภาครัฐผ่านการจัดการการพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในความจำเป็นของท้องถิ่นและในแนวโน้มการพัฒนาของสังคมโลกนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นอนาคตเพื่อการพัฒนาก็คือ...| การบริหารจัดการและสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมือง | การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน | การพัฒนาองค์กรการรวมตัวของประชาชนในชนบทโดยกลวิธีที่หลากหลายเพื่อระดมการมีส่วนร่วมในการจัดการความเป็นสาธารณะให้สอดคล้องกับความจำเป็นซึ่งดูแล้วจำเป็นมากสำหรับสังคมลาว | การประสานความร่วมมือการพัฒนาบทบาทของกลุ่มสตรี เด็ก เยาวชน และกลุ่มการรวมตัวของปัจเจก
  • การพัฒนาศักยภาพและอำนาจการริเริ่มตัดสินใจของประชาชน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาของรัฐบาลมีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต เช่น ... การพัฒนาบทบาทของภาคศิลปะและวัฒนธรรมต่อกระบวนการเรียนรู้และนำการเปลี่ยนแปลงแก่ภาคสาธารณะ | การสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง | การวิเคราะห์และดำเนินโครงการประชากรศึกษาชุมชนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์
  • การพัฒนาเวทีสาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการเชิงนโยบายตามแนวชายแดนและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางสังคม โดยเฉพาะสำหรับแรงงานและชนกลุ่มย่อยชาวลาวที่อยู่ในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ หากจะดมนักวิจัย งานข้อมูล นักวิชาการ และจัดประชุมระดับนโยบาย รวมไปจนถึงการประชุมแบบซัมมิทในขอบเขตต่างๆ(ที่ผมประสานงานได้)

เรื่องพวกนี้ นอกเหนือจากหลายเรื่องที่หลายแห่งเขาก็ทำดีๆกันอยู่แล้วนั้น ก็พอจะสะท้อนอยู่ในแวดวงการทำงานผมอยู่บ้างครับ หากสามารถคิด-ทำ ก็จะได้ครอบคลุมความจำเป็นหลากหลายเพิ่มขึ้นกระมังครับ คุยพอให้เห็นโอกาสการทำงานให้เกื้อหนุนส่งเสริมกันไปนะครับ หากมีจังหวะก็อาจจะเชื่อมโยงและหาความร่วมมือกันได้โดยจะได้พอมีเค้าโครงความคิดเป็นตัวตั้งต้นอยู่บ้าง และบางส่วนอาจจะมีนครสวรรค์และหนองบัวเป็นฐานการทำได้อีกด้วย ผมจะทดเรื่องราวพวกนี้ไว้ในใจระหว่างทำงานต่างๆไปด้วยนะครับ

เรื่องสนุกแก้ง่วงระหว่างเดินทาง ที่ไกด์สาวเล่าบนรถนั้น ผมอ่านแล้วก็ยิ้มเพราะพอจะนึกออกว่าสามารถเล่นมุขต่อได้อย่างไรบ้าง แต่อย่างนี้ต้องเล่นในหมู่ที่มีคนลาวปนอยู่ด้วยให้มีบรรยากาศและท้องเรื่องที่จะรับมุขต่อ คือ...พอคนเล่า เล่ามาถึง ๒ คนที่ถูกถีบลงไปลอยคอในแม่น้ำ แล้วก็ถามว่า...มึงถีบกูทำไม? คนเล่าก็หยุด คนฟังก็งง ยิ่งคนที่คิดแบบคนพูดๆฟังลาวไม่ถึงอารมณ์ก็จะยิ่งง พอคนฟังเริ่มอยากรู้ คราวนี้เราก็จะมีโอกาสเล่นมุขได้อย่างแน่นอนใน ๒ แง่

หากมีใคร คนใดคนหนึ่ง มีส่วนร่วมในการตอบ คนเล่าหรือสมาชิกกลุ่มผู้ฟัง ก็จะสามารถอำและสวนกลับเข้าให้ว่า มึงเป็นลาวหรือ งั้นต้องเอาคืน..!!!!

หากไม่มีคนพยายามตอบ แต่ถามกลับ ทำนองว่า หมายความว่าอย่างไรวะ ไม่เห็นรู้เรื่อง !!! หรือ แล้วคนลาวที่ถีบตอบว่าอย่างไร ? คนเล่า ซึ่งหากเป็นลาวอย่างผมหรือคุณสมบัติ หรือพี่น้องลาวจริงๆ ก็จะยิ่งได้อารมณ์ขัน โดยเล่นมุขกลับไปว่า ไม่รุ...กูไม่ใช่ลาว หรือ กูบ่แม่นคนถีบ

อย่างนี้หรือเปล่าครับ เดาเอา เพราะเคยเล่นกันคล้ายๆอย่างนี้ 

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

การไปลาวครั้งล่าสุด ลิมไปครับยังมีอีกงาน...งานวันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเศวร มหาราช สถานทูตไทย(ผู้ช่วยทูตทหาร) จัดขึ้นที่โรงแรมลาวพลาซ่า มีทูตทหารหลายสิบประเทศแต่งเครื่องแบบเต็มยศมาร่วมงาน ดูพรึ่บพรั่บ ตระการตา สวยงามดีจริง ๆ ครับ แต่ไม่ทราบว่างานนี้สถานทูตไทยในพม่าจัดหรือเปล่า

สำหรับเรื่องที่ไกด์สาวลาว ชื่อน้องตุ้ยเล่า แล้วผมนำมาเล่าต่อนั้น ท่านที่อ่านกระทู้นี้คงจะงง ... อย่างที่ผมคิดไว้จริง ๆ แหละครับ

คนที่อยู่ในรถบัสบางคนก็งงครับ แต่ส่วนใหญ่ฟังแล้วก็ยิ้มไปจนถึงหัวเราะ

เรื่องนี้จะสังเกตเห็นว่า ประเด็นที่เล่า เขาเน้นเรื่อง...ปริมาณหรือจำนวน...ครับ ในแต่ละประเทศที่กล่าวถึงนั้น ของที่แต่ละคนขว้างลงน้ำหรือผลักลงแม่น้ำนั้น ในประเทศตัวเองมีมากจริง ๆ ท่านที่เคยไป 2 ประเทศนี้จะทราบดี ทั้งจักรยานและโทรศัพท์มือถือ

แล้วในประเทศลาวนั้น อะไรล่ะครับที่มาก.....คนจีน กับ คนเวียดนามครับ มากมายจริง ๆ

แค่มาสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ให้ลาว ก็มีครอบครัวคนจีนเข้ามาอยู่ในเวียงจันทน์แล้ว 50,000 คน .. (คุณนิติภูมิก็เขียนถึงเรื่องนี้ลงในไทยรัฐเมื่อไม่กี่วันมานี้เมื่อคราวไปประชุมที่ลาวกับ รมช.พาณิชย์ แต่นั่นที่แขวงบ่อแก้ว)....ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ คนจีนเป็นเจ้าของและคนจีนเป็นคนขาย มีคนลาวจากชายแดนจีนหรือชายแดนเวียดนามเป็นลูกจ้างและเป็นล่ามไปในตัว ตามบ้านอกคอกนา ชนบทห่างไกล/ทุรกันดารแค่ไหน ก็มีคนจีน/คนเวียดนามขี่จักรยาน / ขี่มอเตอร์ไซค์/หาบหามเข้าไปขายแบบบริการถึงที่ ของกินของใช้มีครบทุกอย่างให้เลือกซื้อ....เหมือนบ้านเราที่หนองบัวสมัยเมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ๆ เลย แต่คนจีนบ้านเรามีร้านเป็นหลักแหล่ง ไม่ค่อยมีบริการถึงที่เหมือนที่เป็นอยู่ในเมืองลาว.. เมื่อตอนเด็ก ๆ นาน ๆ จะได้สตางค์สักที ได้มาแล้วก็จะไปแต่บ้านเจ๊ก...เจ๊กตี๋ เจ็กกุ่ย เจ๊กยิ้น เจ๊กใบ เจ๊กสูง..

ส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาถูก ไปกันได้กับรายได้และค่าครองชีพของพี่น้องชาวลาว

เรื่องพวกนี้คนส่วนใหญ่บนรถบัสก็พอจะทราบกันมาบ้าง เพราะอยู่ในแวดวงการทำธุรกิจ/ค้าขายกับลาวมาก่อน ก่อนที่เวียดและจีนจะมาแรงแซงโค้งในระยะเมื่อไม่กี่ปีมานี้

แต่เรื่องที่ไกด์สาวชาวลาวเล่านี้ ยังจับสีหน้า/แววตาได้ไม่ถนัดนักว่า เล่าด้วยความสนุกสนานหรือว่าเล่าด้วยความขมขื่น

ขอแสดงความเสียใจกับคุณศักดิ์ศรี-ฉิก และครอบครัวของคุณแม่ด้วยค่ะ ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่ของคุณฉิกสู่สุขคติสัมปรายภพชั้นสูงสุดด้วยค่ะ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

อ่านแล้วสนุกได้ความรู้ได้เห็นความเคลื่อนไหวในเมืองลาวดีจริง ๆ ได้เห็นทั้งการค้าขายการพัฒนาบ้านเมืองการดำเนินชีวิต

แค่ได้เห็นเพียงตัวหนังสือก็นึกตามไปได้มาก ถ้ายิ่งมีภาพถ่ายวปัจจุบันของเมืองลาวด้วยแล้วจะยิ่งมีความสดใหม่ ชนิดวันต่อวันทันสมัยทันเหตุการร์ยิ่งกว่าข่าวประจำวันที่แข่งขันนำเสนอความเป็นหนึ่งความเป็นเสือปืนไวตั้งมากมายเสียอีก อยากเห็น อยากเห็น เพราะว่าไม่ได้ไป

อาจารย์สมบัติเล่าถึงการดำเนินชีวิตของคนลาว มีเจ๊กหาบของขายตามหมู่บ้านแล้วก็นึกเห็นภาพตามไปด้วยเลยทีเดียว

ยิ่งเมื่อนำมาเปรียบกับหนองบัวเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว ก็ยิ่งเห็นภาพเหล่านั้นแจ่มชัดขึ้นทันที

เจ๊กหนองบัวจะมีร้านขายอยู่ในตลาดก็จริง แต่ก็มีเหลายท่านที่เดินหาบสิ่งของเครื่องใช้ของกินไปแลกข้าวเปลือกข้าวสารตามหมู่บ้าน

สิ่งของที่หาบไปนั้นก็มีจำนวนมาก ทั้งหนักทั้งหาบยากเพราะไม้คานดูใหญ่แข็งทื่อ ๆ ไม่อ่อนตัวเอาเสียเลยน่าเจ็บบ่าไม่น้อย

อีกทั้งหมาก็ดุด้วย แต่เจ๊กไม่กลัวหมาเลย ไปหมู่บ้านไหน หมาก็จะเห่าเดินตามเป็นพรวน แค่เดินแกว่งไม้ไล่หมาไป-มา ไม่รู้ไม่ชี้สบายใจเฉิบ เห็นแล้วทึ่งมาก ๆ

ญาติ ๆ เราเวลามาเยื่ยมเยือนกันสักครั้งก็จะตะโกนเรียเจ้าของบ้านให้ดูหมาไล่หมาให้ สามารถได้ยินเสียงตะโกนข้ามหมู่บ้านเลยหนา เพราะกลัวหมากัด ยิ่งคนเฒ่าคนแก่หลายท่านโดยเฉพาะคุณป้า ย่า ยาย ชาวหนองบัว-หนองกลับด้วยแล้วละก็ โคตรกลัวเลยหมาเนี่ย.

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

เรื่องเล่าของไกด์สาวเลยเป็นทั้งเรื่องสร้างบรรยากาศระหว่างการเดินทาง แล้วก็เป็นการระบายความกระทบกระเทือนใจให้แปรไปเป็นการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของสังคมไปเลยนะครับ มองในแง่ความเป็นศิลปะที่ช่วยลดแรงกดดันทางสังคม ให้ไปเป็นการแสดงออกทางกิจกรรมที่ไม่เป็นการใช้ความรุนแรงอย่างปราศจากเหตุผล อย่างนี้ ในสังคมต่างๆก็มีเยอะในทุกยุคทุกสมัยเลยนะครับ มองในระดับที่เป็นความสบายใจ ได้ความรื่นรมย์ใจ ก็ได้ มองให้เห็นการเสียดสีเหน็บแนม ให้รู้ว่า ภายใต้สถานการณ์ต่างๆดังเช่นอยู่ในบ้านเมืองของตนเองแต่ก็กลับมีต่างชาติมาอยู่(ในสถานะที่ดีกว่าคนทั่วไปของพื้นถิ่น)อย่างมากมาย เมื่อคิดอย่างเอาความเป็นตัวกูของกูที่ยังมีความคับแคบเป็นธรรมดาของคนทั่วไปเป็นตัวตั้ง ก็ย่อมรู้สึกเคืองๆละครับ จะเก็บไว้ในอกอย่างไม่รู้สึกรู้สาเลยก็เหมือนจะไม่มีหัวใจ แต่ครั้นจะแสดงออกทางการกระทำแบบปะทะก็คงไม่ถูกเรื่อง ก็แปรไปสู่การแสดงออกอย่างนี้ละกระมัง

เหมือนอย่างนิทานลุงพรจากรายวิทยุในอดีต ที่คนนครสวรรค์และอีกหลายแห่งของประเทศก็ชอบฟังเหมือนกันนะครับ เช่น พ่อตากับลูกเขย สามเณรกับหลวงตา คนมีปัญญากับนักเลงหรือเสือร้าย ซึ่งในโลกความเป็นจริงแล้ว ลูกเขย เณร และคนมีปัญญา ก็มักจะไม่กล้าหือกับพ่อตา หลวงตา นักเลงและเสือร้าย ก็ต้องทำให้น่าแปลกใจทำนองเดียวกับในนิทานอย่างที่คุณสมบัติเล่านี้เหมือนกัน โดยทำให้เป็นไปอีกทางหนึ่ง เป็นต้นว่า ลูกเขยหลอกให้พ่อตากินเปลือกมันเพราะเวลาย่างปลาดุกแล้วหนังปลาจะอร่อย พอกินเปลือกเผือกมันเผาจนเกลี้ยง ก็แอบภูมิใจ ส่วนลูกเขยก็เอาเนื้อเผือกมันเผาไปกินสบายใจเฉิบ 

หากคิดด้วยจิตใจที่ละเอียดอ่อน ก็จะเห็นว่าภายใต้เรื่องเล่า เราก็สามารถมองเห็นชีวิตจิตใจของคนต่างบ้านต่างเมืองได้มากเหมือนกันนะครับ ใจเขาใจเรานะครับ เหมือนเมื่อตอนเด็กๆที่อยู่หนองบัวก็เหมือนกันครับ พวกเพื่อนๆที่อยู่ในตัวตลาดที่เป็นลูกหลานเจ๊กและคนท้องถิ่นหนองบัวที่พูดเหน่อๆ พวกผมเด็กๆที่อยู่ชุมชนรอบนอก ก็มักจะล้อเลียนเสียดสีว่า เป็นลูกเจ๊กและพูดเหน่อ ในขณะที่เพื่อนๆผมและคนที่อยู่ตัวตลาด ก็จะแกล้งพูดลาวแบบไม่ชัด ล้อเลียนและเสียดสีพวกผมเช่นกัน ความภูมิใจตนเอง และบางครั้งก็อาจจะเผลอไปเอาอัตตาของเราเองไปเข่นคนอื่นนั้น คงจะเป็นเรื่องที่มีอยู่ทั่วไปราวกับเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์ แล้วก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้นะครับผมว่า

ขอสวัสดีอาจารย์ณัฐพัชร์ และกราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลด้วยครับ

อนุกูล วิมูลศักดิ์

เรียน อ. วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่านครับ

ต้องขออภัยอย่างมากที่หายไปนานมาก เพราะตอนนี้วุ่น ๆ อยู่กับการเตรียมการสอน เลยทำให้ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมเลย แต่ก็ยังนึกถึงอยู่เสมอครับ

นอกเหนือจากหน้าที่หลักด้านการสอนแล้ว ก็มีหลายอย่างซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ต้องดูแล ไม่ว่าจะเป็น

* นำเสนอข้อมูลโปรแกรมภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ชานเมืองของกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ในเว็บ "เพื่อนคนรักหนัง" [http://www.thaicine.com ที่ผมเคยนำเสนอเรื่อง "โรงภาพยนตร์ใน อ. หนองบัว" นั่นแหละครับ] ทางเจ้าของสายหนังที่ซื้อ - เช่าฟิล์ม เพื่อเข้าฉายโรงเหล่านี้ จะโทรมาแจ้งหรือส่งอีเมล์ในช่วงวันพุธ หรือพฤหัสบดี เพื่อให้ผมได้จัดการเปลี่ยนโปรแกรมภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ก่อนที่จะ UPDATE ในวันศุกร์

* ตอนนี้ผมรับทำสปอตโฆษณาเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชน (คงเคยได้ยินมาบ้าง) และรถแห่โฆษณา จริง ๆ แล้วเคยทำก่อนหน้ามาแล้ว เมื่อปีก่อน แต่ไม่ได้บอกกล่าว วันนี้ก็เลยนำคลิปสปอตมาฝาก เป็นงานประจำปีวัดหนองกลับที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 17 - 21 กุมภาพันธ์นี้ครับ ที่http://www.youtube.com/watch?v=aAZbolB7ddM

* ตอนนี้ผมได้เปิดเว็บไซต์ (เพิ่งตั้งไข่) ในชื่อ "บ้านหนังครูนุ" ซึ่งจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเผื่อสำหรับคนที่สนใจ หรือศิษย์เก่าที่เคยเรียนกับผมมาก่อน ซึ่งมีหลายโรงเรียนครับ แล้วก็ยังมีเรื่องภาพยนตร์ด้วย ขณะนี้เพิ่งจะมีเพียงไม่กี่กระทู้ครับ นอกจากนี้ยังมีห้อง CHAT สำหรับโพสต์ข้อความได้โดยตรงกับผม (แล้วแต่จังหวะว่าจะเจอกันหรือไม่) และยังมี hi 5 ด้วยครับ คนที่เล่น hi 5 อยุ่ก่อนแล้ว หรือไม่ได้เล่น hi 5 ก็สามารถเข้าไปชมรูปภาพ (หรือคอมเมนต์ สำหรับคนที่เล่น) ได้ครับ

บ้านหนังครูนุ http://ban-krunufilm.pantown.com/

ไฮไฟว์ http://anukoolv.hi5.com

* ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศลาวแล้ว มีหลายอย่างที่น่าสนใจครับ ผมเองก็ตั้งใจว่าจะไปเที่ยวนครหลวงเวียงจันทน์ให้ได้ครับ

สวัสดีครับคุณครูอนุกูล

 ผมแวะเข้าไปฟังสป็อตประชาสัมพันธ์งานวัดหนองกลับในยูทิวต์ของครูนุแล้วละครับ ได้บรรยากาศงานวัดดี เดี๋ยวนี้การทำสื่อเผยแพร่และภาวะผู้นำในการสื่อสารกับสาธารณะผ่านช่องทางสื่อต่างๆนี่จำเป็นสำหรับท้องถิ่นมากนะครับ

 

นมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมพิธีทางศาสนา 2 งานครับ งานแรก เป็นพิธีเปิดห้องว่าการพาสี (ศุลกากร) เขต 5 (นครหลวงเวียงจันทน์และแขวงเวียงจันทน์) งานที่ 2 เป็นงานฌาปนกิจศพ (คนลาวเรียกว่า...ส่งสะกาน) ที่วัดโสกบ่าหลวง ถนนมิตรภาพลาว - ไทย ทั้งสองงานก็ให้นึกถึงพระอาจารย์มหาแลฯ และอาจารย์วิรัตน์ในเวลาพระท่านสวดมนต์เป็นภาษาลาว

ผู้ที่เสียชีวิตนี้มีประวัติที่น่าสนใจครับ ท่านเกิดที่แขวงหลวงพระบาง เป็นพ่อตาของอดีตอธิบดีกรมพาสีลาว(ที่ผมประสานการทำงานด้วยตลอดมา) มีอาชีพเป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลฝรั่ง สมัยฝรั่งเศสยังปกครองราชอาณาจักรลาว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านก็ไปทำงานอยู่ที่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ หลังเกษียณท่านอยู่ที่สวิสจนอายุ 80 ปีก็กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเวียงจันทน์จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว สิริรวมอายุ 87 ปีครับ ตอนท่านป่วยผมเคยไปเยี่ยม ท่านได้พูดถึงสมเด็จย่าและเอารูปมาให้ดูด้วยครับ

ซึ่งทั้งงานก่อน ๆ และสองงานหลัง ผมจะนำภาพมาลงให้ได้ชมกันตามที่ท่านพระอาจารย์ได้บิณฑบาตไว้ในกระทู้ที่ 328 เมื่อวันที่ 23 /01/2553 เร็ว ๆ นี้ครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เคยไปเมืองแพร่งานสัมมนาที่วิทยาเขตแพร่(มจร.)
  • มีพิธีแบบล้านนาสวยงามอลังการดี ดูแล้วมีพลังและให้คุณค่าทางจิตใจดีมาก
  • ตอนพระเถระเจริญพระพุทธมนต์ พระท่านสวดมนต์เร็วและแต่ละองค์ต่างก็สวดโดยไม่ต้องรอกันเลย
  • พระหนุ่ม ๆ จากภาคกลางที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเห็นนั่งอมยิ้มอยู่หลายท่าน
  • อย่างภาคใต้เวลาพูดมักพูดเร็วแต่เวลาสวดมนต์จะสวดทำนองช้า ๆ คล้ายภาคกลาง
  • พระสงฆ์ลาวสวดมนต์หรือสวดเป็นทำนองลาวอย่างที่อาจารย์สมบัติว่านั้นยังไม่มีประสบการณ์ได้สัมผัสพบเจอ
  • อาตมาเคยไปร่วมงานกับพระสงฆ์รามัญ(มอญ) เมื่อทำภัตกิจเสร็จให้พรบทบาลีสั้น ๆ พระไทยท่องไม่จบบท ว่าตามท่านไม่ได้เลย นั่งฟังท่านสวดเหมือนกับญาติโยมเลย
  • โยมอาจจะนึกว่าทำไมพระองค์นั้นองค์นี้สวดไม่ได้เลย ที่จริงสวดได้นั่นแหละ แต่ออกเสียงสวดตามท่านไม่ได้ จำได้จนทุกวันนี้ ทั้งที่ผ่านมาสิบห้าสิบหกปีแล้วก็ตาม
  • ก็เป็นเรื่องความแตกต่างของสำเนียงภาษา แต่ละชาติแต่ละภาษาก็ไม่เหมือนกัน 
  • แต่พระสงฆ์ของแต่ละประเทศท่านก็สวดมนต์หรือสาธยายมนต์บทต่าง ๆ ด้วยภาษาบาลีเหมือนกัน บทเดียวกัน คำเดียวกันนั่นแหละ ต่างแต่สำเนียงของภาษาเท่านั้นเอง
  • นึกถึงตอนรวบรวมพระธรรมวินัยสมัยพุทธกาลท่านได้จารึกพุทธพจน์คำสอนต่าง ๆเป็นภาษามธค(บาลี)
  • ในทางภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาบาลีนั้นเป็นภาษาที่ตายแล้ว คือไม่มีคนใช้พูดกันแล้ว แต่ก็ยังมีพระสงฆ์หลายชาติหลายประเทศ ที่ยังใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันอยู่บ้าง.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ แล้วก็สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • คุณสมบัติมีท่าทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมที่มีความเคารพนอบนอบต่อกันอย่างสุดซึ้งเหมือนมีความเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง รวมทั้งเรียนรู้เพื่อเคารพยกย่องความดีงามกันของมนุษย์
  • ส่วนพระคุณเจ้า ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เราดำรงอยู่ในสังคมของความแตกต่างหลากหลาย แม้ความเชื่อและความศรัทธา อีกทั้งต้นเรื่องเป็นภาษาเดียวกัน แต่ผู้คนต่างสังคม ภาษา และวัฒนธรรม ก็ทำให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน เมื่อทำด้วยกันหรือทำพร้อมกัน ก็ทำอย่างเดียวกันไม่ได้ แม้จะเป็นสิ่งเดียวกัน
  • ทำให้ผมอยากเสริมความคิดว่า การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะคนต่างสังคม ต่างวัฒนธรรม และต่างวิถีปฏิบัตกันนั้น ช่างมีความสำคัญและจำเป็นมากอย่างยิ่งครับ
  • อย่างเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ได้เจอกับสิ่งที่ช่วยย้ำเรื่องนี้ด้วยเหมือนกันครับ คือ ผมร่วมกับคณะอาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรนักศึกษาปริญญาโทนานาชาติด้วยกัน พานักศึกษาออกไปฝึกภาคปฏิบัติและดูงานจากของจริงของประเทศไทยด้านบริหารการศึกษา พอตอนกลางวันดูงานเสร็จผมก็จัดเวิร์คช็อปวิเคราะห์บทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ปรากฏว่าระหว่างที่กิจกรรมต่างๆก็ไปได้ราบรื่นดีนั้น จู่ๆก็เกิดการปีนเกลียวกันขึ้นในเรื่องชาตินิยมของนักศึกษา ๒ ประเทศในภูมิภาคเอเชียของเรานี่เอง
  • ผมตะลึงและทำอะไรไม่ถูกเลย แม้ว่าจะเคยเจออย่างนี้มาด้วยเหมือนกัน มีอาจารย์สุภาพสตรีท่านหนึ่งพยายามเข้ายุติ เพราะนี่มันเป็นเวทีวิชาการของนักศึกษา และไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศอะไร ก็ขอให้เอาการศึกษาเรียนรู้ด้วยกันเข้ามาในห้อง อย่าแบกตัวตนอย่างอื่นเข้ามา แต่ก็ถูกคู่กรณีฝ่ายหนึ่งก้าวร้าวเลยเถิดใส่เข้าให้อีก เรื่องนี้หากเป็นนักศึกษาไทยก็คงต้องถูกเชิญให้ออกจากห้องไปแล้ว  เพราะแทบไม่ต้องนำมาพิจารณาเลยว่าการสู้กันในเรื่องชาตินิยมอย่างนั้น ฝ่ายใดถูกหรือผิด เพราะในห้องเรียนขั้นปริญญาโท อีกทั้งมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา และศาสนานั้น การต้องมีวิจารณญาณและมีวุฒิภาวะด้วยว่า เรื่องอย่างนี้อย่าเอามาเป็นเหตุขัดแย้งกัน เป็นสิ่งที่เขาจะต้องมีเสียก่อน แต่ในสถานการณ์อย่างนั้น หากพูดอย่างนี้ก็คงจะเหมือนกับราดน้ำมันใส่กลองเพลิง เลยต้องยืนดูและคิดอยู่ภายในตนเองอย่างหดหู่ใจ สิ่งที่หดหู่ใจนั้น ผมนึกไปถึงการสร้างความรู้และการเรียนรู้เกี่ยวตนเอง และการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมของสังคมต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายตัวเองของกันและกันของผู้คนเมื่ออยู่ในสังคมที่กว้างขึ้นได้เหมือนกันครับ
  • พอวันรุ่งขึ้น เขามีเวลาคิดและอยู่กับตนเองไปหนึ่งคืน ก็คงสงบใจ มีสติ และรู้เหตุผลที่ดี ดีขึ้น ก็กลายเป็นอีกคนหนึ่งเลย คือเดินขอโทษเพื่อน และท้ายที่สุดก็เดินขอโทษอาจารย์ทุกคน ผมจับมือเขาและไม่รู้จะพูดอะไร นอกจากบีบแน่นๆ หลังจากนั้น เพื่อนฝูงก็เข้าไปห้อมล้อมเขา เขาอยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะและยิ้มแย้มด้วยความเป็นมิตร แล้วก็ถ่ายรูปด้วยกัน ผมเองตอนนั้นรู้สึกแปลกๆ รู้สึกตื้นตันใจไปกับเขาและมีความสุขอยู่ลึกๆ
  • ผมเลยอยากเสริมว่าการเรียนรู้อย่างที่คุณสมบัติและพระคุณเจ้ากล่าวถึงมานี้ แม้นเล็กน้อยแต่ก็สำคัญจริงๆนะครับ
  • เพิ่มนิดหนึ่งครับ มีคนที่ช่วยทำให้คู่กรณีในเรื่องนี้ปรับอารมณ์และการแสดงออกแบบนี้ได้ด้วยเหมือนกันครับ และคนที่ทำหน้าที่เป็นแกนให้กับเพื่อนๆในครั้งนี้ เป็นนักศึกษาจากอีกประเทศหนึ่งและเป็นมุสลิมคนเดียวในห้อง ทว่า มีความอาวุโส สุภาพ พูดคุยมีเหตุผล และมักมีส่วนร่วมในสิ่งที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของเพื่อนๆ เขาเป็นคนที่ช่วยคุยทำให้บรรยากาศยังคงเป็นการสนทนากัน และพอเลิกทำงาน ก็พาเพื่อนของเขาที่เกิดทะเลาะกับเพื่อนเพราะการติดยึดกับความรู้เรื่องชาตินิยมของตนเป็นพิษ ไปเดินและคุยกัน เข้าใจว่าตรงนี้ทำให้เพื่อนเขาได้คิด
  • เรื่องนี้ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นว่าสำคัญมากไหม แต่ผมคิดว่าสำคัญมากครับ อาจจะต้องเรียนรู้ให้ได้ความคิดใหม่ๆเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคมและปรับการศึกษาเรียนรู้ที่ผิดพลาดตรงโอกาสที่เราต่างก็ทำกันได้ โดยเฉพาะอนาคตของการสร้างประชาคมอาเซียน ประชาคมอนุภูมิภาคอินโดจีน หรือการสร้างสำนึกและจิตวิญญาณเอเชีย เหล่านี้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยถ้าเรื่องอย่างนี้ไม่นำมาทบทวนและร่วมมือกันวางทรรศนะเสียใหม่ ดูกรณีของเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา กรณีอย่างภาคใต้ และการแตกเป็นขั้วแบ่งสีแบ่งข้างของสังคมไทย ฝ่ายที่หนุนและสกัดอองซานทั้งในและนอกประเทศเมียนมาร์ เหล่านี้แหละครับ
  • อย่างเวลาไปต่างประเทศและเป็นกลุ่มที่มีผู้คนต่างสังคมอยู่ด้วยกันนั้น บางเรื่อง ณ เวลานี้ ผมว่าก็ไม่เหมาะสมที่จะคุย เช่น เราคนไทยมักอวดความเป็นชาตินิยมหน่อยๆว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร(อย่างเป็นทางการ) ดูเหมือนกับคุยเรื่องตนเองอย่างเดียวละครับ แต่ในกลุ่มเมื่อมีหลายๆชาติ มันก็จะกลายเป็นการข่มน้ำใจคนอื่นไปในที แล้วก็กลายเป็นอุปสรรคในการสร้างความเป็นส่วนรวมที่ไม่ติดพรมแดนประเทศกันได้
  • เรื่องอย่างนี้นำมาคุยและสื่อสารกันเยอะๆก็ดีครับ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของสาธารณะด้วยครับ 

นมัสการท่านอาจารย์พระมหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ นี่เป็นภาพเพียงบางส่วนที่เก็บมาจากเมืองลาวครับ

                

              

        

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ขอบคุณมากเลยอาจารย์สมบัติที่นำรูปบรรยากาศทางฝั่งลาวมาให้ได้ดูกัน
  • เห็นในภาพนี้มีทหารหลายท่านคิดเอาว่าคงเป็นงานประชุทูตทหารระหว่างเทศใช่ไหมเพราะแปลภาษาอังกฤษไม่ออก
  • แต่ภาษาลาวน่าจะอ่านว่าห้องเกียรติยศ คงจะไม่ผิด ชื่อนี้ก็สื่อความหมายได้ดี
  • แต่คนไทยเราก็จะเรียกทับศัพท์โดยตรงว่า ห้องวีไอพี(v.i.p.) หรือห้องรับรองพิเศษ
  • ภาพสุดท้ายคิดว่าเป็นวัด เพราะเห็นเมรุที่อยู่ในป่าไกล ๆ วัดนี้ร่มรื่นดีมาก ต้นไม้ใหญ่ ๆ เยอะแยะเลย คงเป็นงานศพที่เคยกล่าวถึงในกระทู้ที่ ๓๓๓ ที่ผ่านเมื่อหลายวันก่อน

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และสวัสดีครับคุณสมบัติครับ

งานแกรนด์เลยนะครับนั่น พอสัมผัสได้ครับว่าเป็นภาษาการให้เกียรติกันอย่างเต็มที่ทั้งสองฝ่าย ดูเพลินและงดงามดีครับ

กราบสวัสท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

วันนี้ผมเอาคลิป งานวัดหนองบัวหนองกลับ และงานงิ้ว ส่งเป็น e-mail ให้กับพักพวกชาวหนองบัวที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นได้ชมกัน

พักเดียวเองครับหลายคนส่งสัยเลยถามกลับมาว่า เดี๋ยวนี้หนองบัวเค้าพัฒนาไปถึงนี้แล้วหรือนี่ จะว่าท่านอาจารย์อนุกูล วิมูลศักดิ์ ก็ไม่เบาเลยครับ

http://www.youtube.com/watch?v=aAZbolB7ddM

http://www.youtube.com/watch?v=T1vdGs2lrY8

สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

เงียบกันไปเสียนานเลยนะครับ ผมเพิ่งเอารูปถ่ายคันไถของชาวหนองบัวของคุณเสวก ไปให้ท่านอื่นได้ชมที่หัวข้อ เกษตร-ศิลปะ ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ที่นี่ครับ http://gotoknow.org/blog/civil-learning/337768 

ถึงเทศกาลงานงิ้ว-งานเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวแล้วหรือนี่ เอารูปวาดสภาพตลาดหนองบัวกับคนหนองบัวมาฝากให้ได้รำลึกถึง หากกลับบ้านในช่วงนี้ ก็จะยิ่งได้ความประทับใจและอยากกลับไปทำสิ่งต่างๆให้ยิงมีความหมายไว้เป็นความสุขเมื่อรำลึกถึงในอนาคตอีก

Pebulls Playingground2 

ภาพ ๑ บนซ้ายนี้  เป็นด้านหน้าของตลาดสดเจริญผล หนองบัว เดินตามถนนอย่างเห็นตามแนวสายไฟนั้นก็จะเป็นเกาะลอย ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัว ศาลหลวงปู่ฤาษีณารายน์ และบริเวณที่จัดงานงิ้ว หน้าตลาดสดก็จะเป็นแยกออกจากด้านหน้าตลาดตรงไปวัดหนองกลับและหัวมุมของร้านปานขลิบโอสถของหมอหลุยพอดี โดยปรกติแล้วขบวนแห่มังกร กระตั้วแทงเสือ รวมทั้งวงดุริยางเด็กๆ วงดนตรีจีน และขบวนสาวงาม ก็จะหยุดเล่นโชว์ตรงนี้อยู่สักพักหนึ่ง ในภาพนี้เป็นรูปไอ้เป๋หนองบัวและวัวหลวงพ่ออ๋อย ส่วนภาพ ๒ บนขวา  สนามฟุตบอลของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) หรือ โรงเรียนอนุบาลหนองบัว จะเป็นที่ตั้งขบวนของวงดุริยางค์ที่จะมาช่วยแห่ที่มาจากโรงเรียนชายนครสวรรค์บ้าง บางทีก็เป็นวงดุริยางค์ของทหารจากค่ายจิระประวัติบ้าง เวลามาตั้งขบวนและซ้อมกำกับจังหวะกันที่สนามโรงเรียน ผู้คนก็จะแตกตื่นมาห้อมล้อม ดูระลานตา พร้อมเพรียง สวยงาม และน่าอัศจรรย์มาก

Nongbuamarket Electricitygeneratornb 

ภาพ ๓ บนซ้ายนี้ หัวตลาด ในยุคแรกก่อนจะมีศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั้น ตรงนี้จะเป็นท่ารถเมล์หนองบัว-ชุมแสง บางครั้งก็เป็นที่เล่นกลเร่ขายยา-ขายของ อีกคูหาหนึ่งที่เป็นหัวตลาดเหมือนกันนี้ก็เป็นร้านตาต๋า พอขบวนแห่มาถึงตรงนี้ ก็จะหยุดโชว์กันอีก ภาพ ๔ บนขวา เป็นบริเวณเกาะลอย แต่เดิมนั้น ตรงกลางเกาะลอยก็จะมีเวทีไหว้เจ้าหรือแสดงลิเก อาคารสองหลังเล็กๆเยื้องบนซ้ายจากห้องแถวนั้น เป็นโรงปั่นไฟฟ้าเมื่อแรกมีของหนองบัว เยื้องขึ้นไปอีกนิดก็เป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีหรือที่เรียกกันว่าตีนกุด บริเวณนี้ พอถึงงานงิ้วก็มักจะเป็นที่ตั้งโรงงิ้ว ที่ไหว้เจ้า ที่ประมูลของบริจาคและระดมทุน รวมทั้งเป็นที่ตั้งเวทีรำวง ฉายหนัง และเอกลักษณ์ของงานงิ้วในยุคก่อนคือ มอเตอร์ไซค์ไต่ถังของตาเปรื่อง เรืองเดช

ขอให้ชาวหนองบัวและชุมชนใกล้เคียงเที่ยวงานงิ้วให้สนุกครับ ใครที่กลับบ้านก็ขอให้ได้พบปะเพื่อนฝูง เพื่อนพ้องน้องพี่ และได้กำลังใจกลับไปดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เห็นภาพข้างบน คห.๓๔๒ นี้แล้วคิดถึงบ้านคิดถึงบรรยากาศงานงิ้วและเกาะลอยจริง ๆ ๓๐ ปีผ่านไปไวเหลือเกิน ที่ไม่ได้ดูงานงิ้ว
  • คือตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ปีนี้ ๒๕๕๓ ก็สามทศวรรษ พอดี
  • งานงิ้วตอนเป็นเด็กนั้น ไปเที่ยวงานกันไปทั้งกลางวันและกลางคืน เดินจากบ้านเนินตาโพไปถึงเกาะลอยก็ประมาณ ๑ กิโลเมตรกว่า ๆ เอง
  • กลางวันมียี่เก,ลิเก รถต่ายถัง ชิงช้าสวรรค์ งิ้วก็แสดงกลางวันด้วย มีร้านขายเสื้อผ้า แต่ของที่ขายดีสำหรับแม่บ้านเห็นจะเป็นพวก ถ้วย จาน กาละมัง ขันน้ำ ช้อน หม้อ กะทะ พริก หอม กระเทียม และของกินอื่น ๆ พริก หอม กระเทียม หมาก เป็นสินค้าที่ขายดีก็เพราะที่หนองบัวนั้นหายาก คนทั้งอำเภอหนองบัวต้องรอซื้อสินค้าประเภทนี้ตอนงานงิ้ว-งานคัดเลือกทหารที่วัดใหญ่บ้างวัดเทพฯบ้างซึ่งหลังจากงานงิ้วประมาณหนึ่งเดือน ฉะนั้นสองงานนี้ชาวบ้านจ่ายกันชนิดต้องขายข้าวในยุ้งเป็นเล่นเกวียนเลยแหละ
  • พูดถึงลิเกมีคนฝากคำถามเรื่องโรงลิเก,โรงยี่เก ก็เลยนำคำถามดังกล่าวมาถามอาจารย์ในที่นี้ด้วยเลย
  • คนรุ่นใหม่เขาถามว่าทำไมภาคกลางเกือบทุกวัดเลย มีโรงลิเกประจำวัด ลิเกมีความสำคัญอย่างไรต่อชาวบ้าน ต่อชุมชน มำไมความบันเทิงชนิดนี้จึงเข้าถึงชาวบ้านและมีอิทธิพลมาก คล้ายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของหมู่บ้าน
  • ถ้าจำไม่ผิดที่หนองบัวตลาดอาเขตมีลิเกเล่นตองกลางวันน่าจะเล่นเป็นเดือน ๆ ไม่แน่ใจว่างานอะไร นึกไม่ออกจริง ๆ จะเป็นงานเปิดตลาดแห่งใหม่หรือไร ข้อมูลตรงนี้ลืมเลือนไปแล้ว.
  • เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าได้แผ่เมตตาและอนุโมนาในทาน-กุศลกรรมต่อการร่วมสร้างความเป็นสาธารณะร่วมกับสาธุชน : ดังที่ได้กราบนมัสการพระคุณเจ้า แจ้งให้ทราบว่า ผมจะขอนำเอาเงินที่พระคุณเจ้าส่งไปร่วมสมทบทำหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ผมและคณะจะพากันมาทำกับชุมชนหนองบัวตามแต่จะทำกิจกรรมอย่างไรกันได้ก็ได้จำนวน ๒ พันบาทนั้น มาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน แล้วก็นำ ๑ พันไปสมทบกับอีกหลายท่าน ตั้งกองทุนผ้าป่า ไปร่วมทอดผ้าป่าให้กับศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ที่อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นี้แล้วครับ

พระคุณเจ้าให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาคนและการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนมาก อีกทั้งเป็นพระชาวบ้านจากชนบทที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สามารถเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเองได้ เลยก็อยากจะทำให้บรรลุสิ่งดีทั้งสองด้าน คือ อยากให้เป็นการปฏิบัติสิ่งดีๆต่อสาธารณะขนาดเล็กๆในครั้งนี้ ให้พระคุณเจ้าได้มีกำลังใจ และอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการระดมพลังความดีงามให้เป็นกำลังส่งเสริมสิ่งดี ที่ท่านผู้ริเริ่มสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ได้ทำขึ้น ทำให้สิ่งดีที่กระจายกันอยู่เล็กๆน้อยๆ ให้เชื่อมโยงเป็นพลังความดีด้วยกันน่ะครับ

ผมได้มอบให้คณะที่ไปร่วมงานแล้วครับ แต่เดิมนั้น ผมเองก็ตั้งใจจะไป และทางผู้จัดก็อยากให้นั่งบรรยายนำการสนทนาให้กับหมู่คณะที่ไปด้วย แต่ผมกำลังทำงานเขียนหนังสือเพื่อใช้ในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆอยู่และไม่ค่อยมีวันหยุดอย่างนี้เลย ก็เลยยังไม่ได้ไปครับ คิดว่ากิจกรรมในแนวนี้และศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมนี้ผมเองจะได้ไปบ่อยอยู่ตลอดไป เลยขอทดครั้งนี้ไว้ก่อน

โรงลิเกในวัด : จริงอย่างที่พระคุณเจ้าว่าครับ ในยุคก่อนนั้น ทุกวัด จะต้องสร้างโรงลิเกทิ้งไว้ เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของวัดเลย รวมทั้งวัดหนองกลับด้วย โรงลิเกหลักก็อยู่ข้างเมรุและข้างต้นมะสังข์ เมื่อถึงหน้าเทศกาล หลังการเก็บเกี่ยว นวดข้าว งานส่วนรวมอย่างหนึ่งของชาวบ้านในชุมชนก็คือ ไปซ่อมศาลาวัด ซ่อมโรงลิเก ดายหญ้าและปรับลานดินตะปุ่มตะป่ำของลานวัดให้เรียบ พอถึงหน้างานวัดประจำปี ก็ใช้เป็นโรงมโหรสพ เวลาได้ยินคนเขาตอกตะปูโป๊กเปก ใครที่ไม่คว้าขวาน ฆ้อน เดินไปทำงานลงแรงให้แก่วัด ก็จะต้องรู้สึกละอายใจ อยู่ไม่ได้ ต้องไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ไปนั่งคุยและอยู่ด้วยกันให้เป็นการอุ่นใจพร้อมหน้าพร้อมตาในชุมชน

ที่ตลาดอาเขตหนองบัวนี่ หมายถึงตลาดใหม่ที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์หรือเปล่าครับ หากใช่ก็เคยมีโรงลิเกและล้อมรั้วสังกะสี สำหรับจัดมโหรสพเก็บตังค์หลายอย่าง ทั้งชกมวย ดนตรี และแสดงลิเก ผมเคยร่วมเป็นสมาชกวงดนตรีของโรงเรียนหนองคอก เล่นก่อนเวลารอวงดนตรีและคณะตลกล้อต๊อกด้วยครั้งหนึ่ง ที่เวทีนี้แหละครับ

ลูกของเพื่อนโรงเรียนหนองคอกแต่งงานเป็นคนที่ ๒
งานแต่งลูกสาวแมว ลูกตาต๋า หัวตลาด

ผมเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหนองคอกรุ่นที่ ๑๔ ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มมีบรรยากาศใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นความงอกงามของชีวิตทั้งของตนเองและเพื่อนๆว่า กำลังเปลี่ยนผ่านในชีวิตอีกขั้นหนึ่งแล้ว สิ่งที่บอกให้ทราบก็คือ ลูกของเพื่อนร่วมรุ่นแต่งงาน เพราะก่อนหน้านี้ เรามักมีแต่ข่าวคราวถึงกันเรื่องงานรับปริญญาของตนเอง ต่อมาก็งานบวชงานแต่งของตนเอง ต่อมาก็มักโทรบอกถึงกันว่าไปโน่นนี่ไม่ได้เพราะต้องพาลูกไปโรงเรียน สักพักก็ข่าวคราวลูกจบมหาวิทยาลัย ทำงาน บวช มาเมื่อเดือนที่แล้วของปีนี้ ประเวศ รักษพล อัยการศาลปกครองกลาง ก็ประเดิมด้วยการบอกข่าวใหม่ของชีวิต คือ แต่งงานลูก นับว่าเป็นคนแรกสำหรับผมและเพื่อนๆครับ

คราวนี้เป็นลูกของเจ้าแมวครับ แมวเป็นคนใจใหญ่ใจนักเลงสำหรับเพื่อนๆ เวลากลับบ้านไปเจอกัน ก็มักเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการประสานงานให้กับเพื่อนๆ ไม่มีที่นั่งคุยกันและไม่อยากแยกกัลบบ้านกัน ก็คุยกันแล้วก็ไปนอนบ้านแมวตรงหัวตลาดนั่นละ เลยขอบอกกล่าวประชาสัมพันธ์มายังเพื่อนๆ รวมทั้งคนรู้จักเคารพนับถือกันในหนองบัวไปด้วยอีกแรงหนึ่งเลยนะครับ

แต่ง ลักษิกา ชัยสุกัญญาสันต์ กับ กันตพัฒน์ กาญจนกูลกิจ คู่บ่าวสาว

จงกล ชัยสุกัญญาสันต์ และนายซุ่ยฮวด-นางละออ กาญจนกูลกิจ เป็นเจ้าภาพ จัดเลี้ยงและร่วมแสดงความยินดีที่ ห้องบุณยะจินดา ๓ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต เสาร์นี้ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐ น.(จัดเลี้ยงโต๊ะจีน)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ขอขอบคุณอาจารย์ที่แจ้งข่าวบุญให้ทราบ เลยขอร่วมอนุโมทนาบุญกับญาติโยมทุกท่านที่ได้จัดทอดผ้าป่าร่วมกันสร้างสำนักปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาพอดี(๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
  • ตลาดอาเขตหนองบัว ก็คือศูนย์การค้าธารบัวสรรค์ที่อาจารย์กล่าวถึงนี่แหละ

เลยขอลิงก์ มาฆะบูชา : การบูชาในเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือเดือน มาฆะ มาฝากทุกท่านครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน

หายหน้าหายตาไปนานเลย ตั้งแต่งานศพแม่เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความอาลัยต่อคุณแม่ด้วย

เห็นรูปวาดบรรยากาศเก่าๆของชุมชนหนองบัวแล้ว ทำให้หวนนึกถึงวัยเด็กนุ่งขาสั้นวิ่งเล่นในหนองบัว

ทั้งรูปไอ้เป๋ (ของแท้ต้องเรียกว่า ไอ้เป๋ ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนจะเรียกแบบนี้หมด ไม่เคยได้ยินใครพูดว่า คุณเป๋ พี่เป๋ ลุงเป๋ ตาเป๋ เลย) พี่วิรัตน์วาดได้เหมือนมากโดยเฉพาะมือที่บิดพลิกไปด้านหลัง และอีกมือคอยจับรั้งขอบกางเกงไว้

รูปโรงเรียนก็ทำให้นึกถึงอาคารหลังยาวของชั้นป.1-2 ด้านหน้าที่ขนานไปกับถนนใหญ่ ด้านหน้าโรงเรียน ปัจจุบันถูกรื้อออกไปแล้ว

รูปห้วตลาด และเกาะลอยอีก เอาไว้สัปดาห์หน้าผมจะมาเพิ่มเติมข้อมูลเท่าที่จะนึกได้ พอดีจะต้องไปหนองบัวอีกแล้ว ในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้านี้ ไปงานศพพ่อของทนายสะอาด เพื่อนที่ห้วยด้วน เพื่อนคนนี้ก็จบหนองคอกมาเหมือนกัน เป็นทนายความอยู่

มีโอกาสได้ไปเวียนเทียนที่หนองบัวอีกครั้ง แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะเป็นที่วัดหนองกลับ หรือที่ห้วยด้วน

ช่วงนี้ผมมีแต่งานศพครับพี่วิรัตน์ ช่วง 2 เดือนมานี่ 5 งานแล้วครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเสียชิวิตของพ่อแม่เพื่อนๆ (รวมงานแม่ของตัวเองด้วย)

กลับมาแล้วจะมาต่อครับ

สวัสดีครับฉิก : หลายท่านที่เข้ามาคุยในเวทีของเรา นอกจากช่วยกันทำหน้าที่เหมือนกับถ่ายทอดเรื่องราวและจดบันทึกความเป็นชุมชนหนองบัวไว้แล้ว ก็เปรียบเสมือนเป็นวิทยากร คุยให้ความคิด สร้างความรู้ความเข้าใจ และทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันขึ้น ทั้งพระอาจารย์มหาแล คุณสมบัติ ฆ้อนทอง ฉิก คุณเสวก ใยอินทร์ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ และอีกหลายท่าน ซึ่งก็มักจะหมุนเวียนสลับกันมาอย่างนี้แหละครับ ผมว่าดีนะครับ ดูสบายๆดี

ผมเคยสังเกตตนเองอย่างที่ฉิกเล่าห้วงชีวิตยามนี้ของตนเองเหมือนกันว่า เมื่อถึงช่วงวารวัยหนึ่ง กิจกรรมชีวิตและงานสังคมของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปและนำความเข้าใจชีวิตมาให้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนอีกด้วย เมื่อก่อนนี้ เวลามีงานศพและเกิดความสูญเสียคนรอบข้าง ก็จะรู้สึกได้รับผลกระทบที่รุนแรงและลึกซึ้งต่อชีวิตของเราเองมากจริงๆ ทว่า ต่อมาก็เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมชีวิต

การถามไถ่ถึงผู้คนรอบข้างและการทบทวนตนเองเกี่ยวกับชีวิต ก็จะเปลี่ยนจากการถามว่า ทำงานที่ไหน แต่งงานมีครอบครัวแล้วหรือยัง มีลูกกี่คน พ่อแม่เป็นอย่างไรบ้าง....ก็จะกลายเป็นว่า  ไอ้นั่น...มันยังอยู่หรือเปล่าวะ พ่อแม่ยังอยู่และแข็งแรงดีอยู่ไหม แล้วเดี๋ยวนี้เวลาไปเจอกันในงานศพต่างๆ ก็เป็นโอกาสการคุย ทบทวน รำลึกถึงความผูกพัน ความดีงาม รวมไปจนถึงการได้คุยกันอย่างเป็นธรรมดา ไม่ทุกข์เหมือนอย่างเมื่อก่อน ได้บทสรุปอย่างหนึ่งว่า คำว่า...ชีวิตเป็นการเรียนรู้นั้น ช่างลึกซึ้งนัก

ที่เคยคิดและจินตนากรไว้ล่วงหน้านั้น ทำให้รู้ว่า ความเป็นจริงของชีวิตหลายอย่าง คิดและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ผู้อื่น รวมทั้งจากแหล่งความรู้ทางอื่นนั้น ไม่ได้

เวลามีงานศพ ทำบุญ หรือมีงานพิธีกรรมต่างๆที่ทำให้ผู้คน ญาติสนิท มิตรสหาย มารวมตัวกันนั้น ผมจึงมักอดไม่ได้ที่จะถือโอกาสทำให้มีกระบวนการพูดคุย สืบทอด และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตด้วย โดยเฉพาะการทำหนังสือและทำสื่อเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ การทำให้ได้นั่งคุยกัน การลดสิ่งอึกกระทึกซึ่งทำให้จิตใจไม่นิ่งและไม่เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการได้คุยกัน เพราะการได้เห็นชีวิตและทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้ความลุ่มลึกต่อชีวิตนั้น เป็นเพื่อนเดินทางในชีวิตและทำให้เรามีสุขภาวะของชีวิตที่แข็งแรงดีที่สุด ชนิดที่เรียกว่า เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งผูกพันภายนอกทั้งหลายนั้น แทบจะไม่มีความหมายใดได้เท่าเลย

ขอให้สุขภาพดีเด้อ มีรูปถ่ายงานงิ้ว และเจอผู้คนมาอย่างไร ก็อย่าลืมนำมาเล่าเผื่อแผ่แบ่งปันกันบ้างนะครับ

กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ หลวงอามหาแล และทุกท่านเลยครับ

ผมเองเพิ่งรู้เองว่า เค้าเรียกว่าตลาดอาเขต รุ่นหลังผมได้ยินแต่เค้าพูดกันว่า ตลาดสามเขต ตามที่เข้าใจจะอยู่ตรงหน้าร้านโกลก ตรงนั้นเมื่อก่อนเดินทะลุได้ถึงศุนย์จะมีลิเกมาปิดวิกตีสังกะสีล้อมและเล่นอย่างนั้นเรื่อยมาแต่ตอนนี้รู้สึกว่าจะเป็นที่จอดรถว่างๆ ไอ้ลิเกที่ว่านั้นมีมากมายจริงครับแหมพอพูดอย่างนี้ก็นึกถึงลิเกตาแหวงขึ้นมาเลยแกร้องจนแก่ ชาวบ้านขนาดนอนนาเกี่ยวข้าวกันยังเดินลัดทุ่งมาดูกันพอกันกับเขาทรายต่อย ยังเคยมีหลายคนมาพูดล้อกันเมื่อเวลาคนที่ร้องเพลงแล้วขุดเอาเพลงเก่าๆมาร้อง เค้าก็จะมักพูดกันว่า นี่ถ้าเป็นลิเกก็ตาแหวงเลยนะเนี่ย

ร้านโกลก !!!! ร้านโกลกนี่เป็นแหล่งอ้างอิงที่ดั้งเดิมมากเลยนะครับ คนหนองบัวเมื่อก่อนนี้แทบทุกคนต้องรู้จักร้านโกลก ชาวบ้านรอบนอกแถวบ้านผมก็รู้จักกันทั้งนั้นครับ ลิเกตาแหวงก็เหมือนกัน   

ตลาดสามเขต จำได้ว่าสร้างขึ้นตอนที่ผมยังเรียนอยู่ประถมต้น ตอนกำลังก่อสร้างมีกองดินมาเทไว้สูงประมาณ 5-10 เมตร หลายกอง กลายเป็นสนามให้เด็กๆอย่างพวกเราเล่นปีนขึ้นไปแล้วลื่นลงมา หรือเล่นยิงกันแบบในหนังโดยมีกองดินเป็นฉากประกอบ ตอนที่มีการเปิดตลาด มีลิเกคณะชายน้อยมาเล่นทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลาหลายวัน มีแม่ยกติดกันเกรียวกราว เดี๋ยวนี้แม่ยก ก็คงเป็นย่าเป็นยายกันไปหมดแล้ว รายละเอียดพี่ประเวศน่าจะมีข้อมูลมากกว่าผม เพราะอยู่หลังบ้านพี่เค้าพอดี

บ้านผมก็ย้ายจากขอบสระหลวงพ่ออ๋อยด้านทิศใต้มาอยู่ที่ตลาดสามเขต เมื่อมีนาคม 2522 ที่จำได้แม่นเพราะช่วงที่ย้ายบ้านผมจบ ม.ศ.3 พอดี เข้ามาสอบเรียนต่อที่กทม. เลยไม่ได้อยู่ช่วยย้ายบ้าน ตอนที่ย้ายมานี่ตลาดสามเขตเงียบๆแล้ว มียายไล้ขายกาแฟอยู่เจ้าเดียว และรอบๆตลาดก็จะเป็นห้องแถวให้คนเช่าอยู่ ซึ่งปัจจุบันเจ้าของตลาดคือสามเขตร์เป็นคนชุมแสง (เสียชีวิตไปแล้ว)ก็ได้รื้อถอนออกไปหมดแล้ว เพื่อจะขายที่แต่ยังขายไม่ได้ (บ้านผมก็เลยมีที่สำหรับปลูกต้นไม้ต่างๆอยู่หลังบ้านฟรีๆ)

อย่างที่คุณเสวกบอกไว้ ปัจจุบันเป็นที่ว่างเปล่า คนทางใต้เช่นห้วยด้วนเวลาขับรถมาตลาดก็จะมาจอดรถไว้ที่นี่ ตลาดสามเขตไม่ได้รับความนิยมเท่าตลาดโกลก (ก็คือตลาดสดในปัจจุบันนี้แหละ) ส่วนร้านโกลก ก็อยู่ตรงหัวมุมตรงข้ามตลาดสามเขต ปัจจุบันลูกชาย (เฮียครก) ดำเนินกิจการแทน ส่วนโกลกกับยายผลเมียโกลก ก็ไปอยู่บ้าน 2คนตายายอยู่หลังตลาดซึ่งทะลุออกไปที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ได้

พูดถึงร้านโกลกแล้ว เมื่อก่อนนี้จะเปิดอีกด้านหนึ่ง ที่หันหน้าเข้าบ้านหมอหลุย ตรงนั้นจะเป็นสี่แยก ถ้าเริ่มจากบ้านโกลก และวนไปตามเข็มนาฬิกา ถัดไปก็จะเป็นบ้านหมอหลุย วนถัดไปก็จะเป็นสระน้ำหลวงพ่ออ๋อย และวนกลับมาอีกทีเป็นบ้านสำราญ ถนนสายนี้เป็นถนนเศรษฐกิจของหนองบัวในยุคนั้น จากบ้านสำราญลงมาทางใต้ตรงข้ามกับสระน้ำหลวงพ่ออ๋อยก็จะเป็นห้องแถว หลังห้องแถวนี้ก็จะเป็นตลาดเก่า (ก่อนที่จะมีตลาดโกลก) และจากสี่แยกหมอหลุยขึ้นไปทางเหนือ จนสุดที่โรงแรมบัวสวรรค์ จะเป็นห้องแถว 2 ชั้นขายของต่างๆ เป็นย่านธุรกิจของหนองบัวในสมัยนั้นจริงๆ ปัจจุบันร้านรวงแถวนั้นปิดกันไปเกือบหมดแล้ว เป็นเพียงบ้านพักอาศัย ห้องแถวที่ว่านี้ เป็นที่ของวัดหนองกลับทั้งนั้นเลย ทุกบ้านต้องจ่ายค่าเช่าให้วัด

พูดถึงลิเก เมื่อก่อนถิ่นลิเกของหนองบัวก็ต้องที่หน้า รร.อนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) แต่ผมไม่ค่อยมีข้อมูลมากนัก ไว้มีเวลาจะลองถามพรรคพวกที่อยู่แถวนั้นดู ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว

เมื่อเดือน-สองเดือนก่อนผมได้กลับบ้าน และน้องสาวได้พาไปหาคุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ กับคุณครูสุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองคอก ซึ่งบ้านของแกอยู่หลังตลาดศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ ใกล้ๆกับบ้านพ่อแม่-ญาติพี่น้อง ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต ของ มสธ. กับบ้าน ผช.สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ โรงเรียนหนองคอก นั่งรถมองสองข้างทางตลอดก็รู้สึกว่าแทบจะไม่เหลือสภาพเดิมของชุมชนชาวบ้านหนองบัวอย่างในอดีตแล้วครับ หนาแน่นและเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากจริงๆ

เหลือร่องรอยเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นหนองบัวอยู่บ้างเหมือนกันครับ โดยเฉพาะลักษณะบ้านเรือนที่อยู่กันแบบครอบครัวขยาย หลังคาติดกันแบบไก่บินไม่ตกฟากและบันไดขึ้นทางเดียว พื้นยกสูงและหลังคามุมป้าน ทาสีสันจัดจ้าน หากไม่ทาสีก็จะเปลือยเนื้อไม้ไปเลย เมื่อก่อนนี้หากนั่งหลับและไปตื่นในหมู่บ้านคนหนองบัวแล้วละก็ ผมจำได้แน่นอน แต่เดี๋ยวนี้คงจะหลง-จำไม่ได้ นึกไม่ออกแน่นอนเหมือนกัน เหมือนชุมชนเมืองทั่วไปแล้ว

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ผมได้ติดตามผลงานของอาจารย์อยู่เสมอครับ แม้ว่าจะไม่ค่อยได้เข้ามาพูดคุย/ทักทายก็ตาม

สัปดาห์ก่อนเข้าไปที่กรมฯ ได้เรียกให้หลานชายซึ่งเป็นตำรวจอยูที่ยะลาและมาศึกษาต่อที่สถาบัน A.I.T. มาพบพร้อมแนะนำให้รู้จักผลงานทาง online ของอาจารย์ เจ้าหมอนี่ก็ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวครับ แต่ไม่จบ ม.6....สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ก่อน

ที่ว่าเข้ากรมฯ ก็ไม่พ้นที่จะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองลาวครับ ถูกมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน จะเชิญใครมาสอนหรือจะสอนเองทางกรมฯ (สถาบันวิทยาการศุลกากร) ก็ไม่เกี่ยง จัดสรรงบประมาณมาให้แล้วทางกรมฯจะลงมาประเมินผลภายหลัง ลูกค้าก็เป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วยกันเองที่ทำงานตลอดชายแดนไทย-ลาวนี่แหละครับ ไม่ใช่อื่นไกล.....ชายแดนด้านพม่า กัมพูชา มาเลเซียก็มีหลักสูตนี้เหมือนกันครับ เป็นหลักสูตรที่กรมศุลกากรไม่เคยจัดขึ้นมาก่อน(หน้านี้) ประกอบกับช่วงนี้กำลังทำผลงานชำนาญการพิเศษและมีภารกิจที่ต้องไปลาวอยู่เนือง ๆ ที่เข้ามาแทรกงานประจำ...พรุ่งนี้ท่านประธานคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาครัฐพร้อมคณะมาก็ต้องไปกับท่าน ช่วงนี้อาจจะดูห่างเหินไปบ้างก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ.

อนุกูล วิมูลศักดิ์

เรียน อ. วิรัตน์, คุณเสวก ใยอินทร์ และผู้อ่านทุึกท่านครับ

ขอสละเวลาช่วงวุ่นวายของการสอบปลายภาคของเด็ก ๆ มาตอบคำถามครับ

* สำหรับสปอตที่ปรากฏบนคลิปในเว็บ Youtube นั้น ตัวแรกที่เป็นงานประจำปีวัดหนองกลับนั้น เป็นเสียงของผมเองครับ เพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุึชุมชน F.M. 90 MHz ส่วนงานงิ้วนั้นเป็นของเจ้าอื่นครับ แต่ผมนำมาเลือกเพื่อทำเป็นคลิป เนื่องจากสปอตชุดนี้ ทำออกมาหลายแบบ เลยเลือกฉบับสั้น ๆ ครับ

* ส่วนตัวผมนั้น ที่บ้านรับบันทึกเสียงสปอตโฆษณา สำหรับสถานีวิทยุ และรถแห่ รวมถึงงานบันทึกเสียงเพื่อใช้งานเฉพาะ เช่น กิจกรรม, การแสดง หรืองานพรีเซ็นต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เรื่อยมา (มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมต้องพักงานนี้ชั่วคราว เนื่องจากไปสอนอยู่ที่ อ. บางมูลนาก จ. พิจิตร) ราคาไม่แพงครับ ติดต่อได้ที่ บ้านหนังครูนุ (คนโพสต์ข้อความนั่นแหละครับ) สำหรับสปอตวิทยุที่เป็นงานหรือกิจกรรมของชาวหนองบัว จะโพสต์ลงเว็บ Youtube เพื่อให้คนหนองบัวที่อยู่ต่างจังหวัดที่คลื่นเอฟเอ็มของวิทยุชุมชนไปไม่ถึง และมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ได้รับทราบถึงกิจกรรมที่จะมีขึ้นครับ

* สำหรับงานประจำปีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ผมก็มีส่วนเกี่ยวข้องในงาน ดังนี้ครับ

- ในส่วนของภาพยนตร์กลางแปลง นำเสนอโดย ศรีสมบูรณ์ภาพยนตร์ (ศันสนีย์ภัณฑ์ มินิมาร์ท) ครับ ในครั้งนี้่ผมนำภาพยนตร์ "โป๊ยเซียน" ซึ่งเป็นภาพยนตร์สั้นที่ฉายในงานศาลเจ้า ไปฉายถวายทุกคึน ร่วมกับหนังตัวอย่างใหม่ ๆ ขณะเดียวกันทางศรีสมบูรณ์ ฯ ก็จะนำเครื่องฉายภาพยนตร์ ขนาดฟิล์ม 16 มม. พร้อมฟิล์มบางส่วนไปฉายด้วย ส่วนผมก็จะนำฟิล์มภาพยนตร์ข่าวที่หลงเหลือจากโรงภาพยนตร์ศรีประทุม ความยาว 10 นาที และฟิล์มภาพยนตร์บันทึกกิจกรรมของธนาคารศรีนคร (ม้วนนี้ผมซื้อมาจากกรุงเทพ ฯ ตามแผงแบกะดินที่ขายของเก่า) ไปฉายครับ แต่ยังไม่สามารถระบุได้่ว่าจะเป็นคืนไหน

จริง ๆ แล้วผมยังมีฟิล์ม 16 มม. ที่เป็นหนังเรื่อง นั่นคือ "ดรรชนีนาง" ซึ่งเป็นหนังไทย ปี พ.ศ. 2504 แต่สภาพฟิล์มชำรุดมาก เลยไม่นำมาฉายครับ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องหานักพากย์มาพากย์กันสด ๆ ครับ แม้ว่าจะยังมีบทพากย์เหลืออยู่ก็ตาม

- วันแห่้ (20 มีนาคม) ผมต้องออกไปถ่ายภาพกิจกรรมการแสดงของนักเรียน แต่ก็จะมีภาพอื่น ๆ ด้วย ภาพกิจกรรมดังกล่าว สามารถติดตามที่เว็บ "เพื่อนคนรักหนัง" http://www.thaicine.com เดี๋ยวจะแจ้งให้ทราบในภายหลังครับ

* ขณะนี้ "บ้านหนังครูนุ" ได้จัดทำเว็บไซต์ในชื่อ http://ban-krunufilm.pantown.com/ ซึ่งเว็บนี้จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับหนัง รวมทั้งให้นักเรียนหรือศิษย์เก่าที่เคยเรียนกับผม ได้ทักทายกัน ตอนนี้เพิ่งทำข้อมูลได้นิดหน่อย ๆ เพราะต้องหาเวลาว่างจากการสอนเข้ามาทำข้อมูลครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เมื่อไม่กี่วันได้พูดคุยกับอาจารย์วิรัตน์ว่า เราและเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ไม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากนัก
  • ทั้ง ๆ ที่หลายอย่างมีพื้นฐานความคิดความเชื่อวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศที่มีวิถีชีวิตหรือแม้แต่ภาษาก็สามารถสื่อสารกันได้เกือบจะเป็นภาษาเดียวกันด้วยซ้ำไป
  • ครั้งนี้ได้เห็นบทบาทอาจารย์สมบัติชัดเจนในระดับนานาชาติที่ได้มีส่วนรับผิดชอบสร้างหลักสูตรด้านภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงบทบาทผลงานความรู้ความสามารถความมีศักยภาพและประสบการณ์ของอาจารย์สมบัติ จนนำมาซึ่งความไว้วางใจให้ทำงานอันสำคัญนี้
  • ขอให้ประสบความสำเร็จและมีพลังในการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมต่อส่วนรวม.

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : คุณสมบัติหายไปเป็นครู่นี่ หากพูดเป็นภาษาบ้านนอก ก็ต้องบอกว่าผมและทุกท่านมองทางทุกวันเลยนะครับ แต่ก็ทราบอยู่ครับว่าคงติดพันกับการงานอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีนะครับ ทำให้มันยืดหยุ่นไปกับความเป็นจริงของการงานและชีวิต จะได้ทั้งเป็นตัวเสริมกำลังกัน แล้วก็ทำให้มีความสบายๆ

ยิ่งอย่างคุณสมบัตินี่ สามารถปลีกตัวมาถ่ายทอดแบ่งปัน ทำให้เวทีอย่างนี้ของคนหนองบัว ซึ่งก็เป็นเวทีเปิดของเครือข่ายผู้สนใจเหมือนกันทั่วไปด้วย มีเรื่องราวดีๆให้ได้รู้และหลายเรื่องก็สามารถนำไปใช้ ทำให้ชีวิตกว้างขวางมากขึ้นนั้น ก็นับว่าดีมากมายแล้วครับ

การที่คุณสมบัติได้รับความเชื่อมือและมอบหมายจากกรมให้ทำหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านให้กับบุคลากรของกรมศุลกากรนี่เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากเลยนะครับ ขอให้กำลังใจครับ ทำไปสักระยะหนึ่งแล้วก็คงจะมีเรื่องราวมากมายมาบอกกล่าว เผยแพร่ ให้คนในเวทีคนหนองบัวและผมได้ยิ่งหูตากว้าง แล้วก็คงจะเป็นประสบการณ์จริงที่เปิดหัวข้อให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำเอาสิ่งดีๆกลับไปพัฒนาสังคมด้วยตนเองได้อย่างมากมายเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณครูอนุกูลครับ : งานและกิจกรรมชีวิตที่ครูอนุกูลทำไปด้วยคู่กับการสอนเด็กนี่ดูเหมือนจะเป็นงานหนักแต่ก็สนุกมากเลยนะครับ ตัวงานสื่อทางวัฒนธรรมและสื่อให้สันทนาการชีวิตอย่างนี้มีด้านที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง เลยก็จะเป็นอาหารและความอิ่มเอิบใจที่หล่อเลี้ยงคนทำให้มีพลังชีวิตและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยได้

ยิ่งมองความมีบทบาทต่อสังคมท้องถิ่น พวกสื่อและการจัดการกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมที่ดูพื้นๆง่ายๆอย่างนี้สำหรับคนในเมืองใหญ่ ก็ยังนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการทำให้ชีวิตสังคมท้องถิ่นได้เคลื่อนไหว มีความเป็นพลวัตรที่จะพัฒนาตนเองไปได้ คนของท้องถิ่นหรือคนที่รักที่จะใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนท้องถิ่นที่พอจะทำงานความคิดและแปรประสบการณ์ความรู้ ความนึกคิดดีๆที่มีต่อสังคมส่วนรวม ให้ออกมาเป็นการริเริ่มและทำได้ในลักษณะนี้ ต้องส่งเสริมให้มีเยอะๆและหลากหลายนะครับ มันเป็นเหมือนกับตัวเสริมกำลังสังคม ตัวเพิ่มภูมิพลังสังคม ให้สามารถบรรลุจุดหมายที่ต้องการได้ดีขึ้น

ยิ่งถ้าหากสะสมประสบการณ์ ทำความลึกซึ้ง แยบคาย ไม่ตามตลาดและตามกระแสสังคมอย่างลวกๆ ก็จะสามารถทำให้เป็นงานสร้างสรรค์สื่อและการตลาดเชิงสังคม ให้สะดุดความคิด สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ใฝ่ทำสิ่งดี และให้การเรียนรู้ทางสังคมด้วยทรรศนะใหม่ๆที่ดีๆไปด้วยได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ น่าสนุกและท้าทายการเรียนรู้ดีครับ

  กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  : ขอร่วมอนุโมทนากับพระคุณเจ้า ต่อโอกาสได้ทำงานดีๆต่อสังคมและต่อประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ของคุณสมบัติด้วยเช่นกันครับ ที่สำคัญอีกสองอย่างคือได้ใช้ความสามารถของตนมาสร้างคนและถ่ายทอดฝากไว้ให้กับสังคม ซึ่งเป็นการสร้างทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ที่จะช่วยโอกาสการทำสิ่งดีต่างๆได้เองอีกเยอะเลยนะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เห็นงานคุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ ในคห. ๓๕๖ แล้วนึถึงพระที่รู้จักกันที่ท่านทำงานเพื่อสังคมเพื่อชุมชน
  • ท่านทำอย่างสนุกชนิดไม่ได้หลับได้นอนได้พักผ่อน งานเขียนป้าย วาดภาพ สกรีนผ้า ช่วยวางแผนทำงาน เป็นประธาน คิดงาน ทำงาน วางแผน ลงมือปฏิบัติ
  • พลังแรงงานที่ทำเพื่อสังคมนั้น เป็นแรงหนุนให้ท่านทำอย่างทุ่มเทโดยไม่มีผลตอบแทนเป็นลผประโยชน์ใดๆ มีแต่ผลที่เกิดขึ้นทางใจอันเป็นความสุขความร่วมมือความสามัคคีความปรองดองกันของคนในชุมชน แม้จะเป็นเพียงสังคมเล็กๆ ก็ตาม
  • ได้ดูการทำงานและแนวคิดของคุณครูอนุกูลแล้วก็ดูเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อชุมชนเพื่อท้องถ่น มีน้ำใจและสร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นเยอะ อีกทั้งเป็นผู้ที่นำความเคลื่อนไหวในพื้นที่หนองบัว มารายงานให้ชาวหนองบัวที่อยู่ไกลบ้านได้รับรู้กัน ขอบคุณแทนคนไกลบ้านด้วยก็แล้วกัน
  • เจริญพร
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เรื่องเล่า ชาวสารขันฑ์

อตีเต กาเล กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีประเทศหนึ่งชื่อว่าประเทศสารขันฑ์ ประเทศนี้เป็นประเทศเกษตรกรรมมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวน ผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าว เคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศมายาวนาน และสินค้าเกษตรดังกล่าวก็เป็นสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดในโลกอีกด้วย

ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรดังกล่าวนั้น ก็มีคนทำนา ทำไร่ ทำสวน โดยสวนผลไม้ก็มีมากมายแต่ที่ขึ้นก็มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกันคือ แตงโม กับ ขนุน เพราะชาวสารขันฑ์มองเห็นลู่ทางการตลาดว่าสินค้าตัวนี้มีแนวโน้มในทิศทางการตลาดที่สดใส และผลก็เป็นไปตามที่คาดการณ์อย่างดี

ทำให้สาวสวนแตง(โม) กับ หนุ่มชาวสวนทำไร่ขนุน ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน บ้านใกล้กัน ชุมชนเดียวกัน มีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างดีตลอดมา ไม่แบ่งแยก ไม่ขัดแย้งรุนแรง ถึงจะมีความเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับแบ่งฝ่ายกันเลย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพวกตนเป็นชาวสวนที่ผลิตสินค้าเกษตรคนละชนิด ไม่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่แล้ว ลูกค้าก็เป็นคนละกลุ่ม ฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องแย่งลูกค้ากัน

กาลต่อมา ชาวสารขันฑ์ถูกระบบทุนนิยม เสรีนิยม บริโภคนิยม มาทำการกำหนดทิศทางการค้าหรือมาครอบงำผูกขาดระบบเก่า จนระบบเก่าไม่สามารถยืนอยู่ได้ ก็ถึงกาลล่มสลายลง ต้องขอยอมแพ้และไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกเลย

เมื่อระบบเก่าที่อยู่ได้ด้วยอาศัยการพึ่งพา เอื้อเฟื้อ อาทรซึ่งกันและกัน หมดคุณค่าลงไป ชาวสารขันฑ์ก็เริ่มปรับตัวปรับแนวคิด อุดมการณ์ใหม่เพื่อให้อยู่รอดในระบบใหม่

จากระบบที่เคยพึ่งพากันก็มาเป็นระบบแข่งขัน เอารัด เอาเปรียบ แก่งแย่ง ชิงทรัพยากร กอบโกย ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าถึงและใช้สอยทรัพยากร คนเพียงส่วนน้อยนิดในสังคมสารขันฑ์เท่านั้นที่มีสิทธิครอบครองทรัพยากร นี่คือความรู้สึกของชาวสารขันฑ์

ประเทศสารขันฑ์ซึ่งแต่เดิมประกอบอาชีพเกษตร และลูกหลานส่วนใหญ่ก็หลงลืมทอดทิ้งอาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลกนี้เกือบจะสิ้นเชิง อยู่ ๆ ก็หันกลับมานิยมทำอาชีพชาวสวนกันมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะทำให้พ่อแม่ยินดีและสุขใจที่ลูกหลานกลับมาหารากเดิม แต่กลับเป็นตรงกันข้าม ลูกกลับมาครั้งนี้ ได้นำพาความรู้แนวคิด อุดมการณ์ที่ตนเองยึดมั่นมาด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งอุดการณ์ดังกล่าวก็แตกต่างจากอุดมการณ์คนรุ่นพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง

ชาวสารขันฑ์รุ่นใหม่นิยมบริโภคผลไม้ตามความชอบของแต่ละคน บางคนก็นิยมบริโภคแตงโม บางคนก็นิยมบริโภคขนุน ก็ว่ากันไป บางครั้งก็มีเหมือนกันที่ตนเองชอบขนุนแต่เพื่อนชอบแตงโม ยอมรับกันได้ก็ไม่เป็นปัญหาที่เป็นปัญหาคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับผลไม้ที่คนอื่นกิน กลายเป็นแย่งชิงลูกค้า ชิงส่วนแบ่งการตลาด เมื่อแย่งชิงลูกค้าก็เกิดเป็นความขัดแย้งในหมู่พี่น้องชาวสารขันฑ์อย่างมาก

บางทีชาวสารขันฑ์ก็กล่าววาทกรรมชิงมวลชนกันก็มี เช่น ท๊ะหารแตงโม ท๊ะหารขนุน และอีกหลายอย่างจนจำไม่ได้แล้วเพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานนมกาเลเหลือเกินแล้ว แต่ที่ตลกไม่ออกก็คือประเทศสารขันฑ์มีคนพูดกันว่านักบวชแตงโม เป็นนักพรตแตงโม เป็นนักบวชขนุน เป็นนักพรตขนุน
ก็ได้แต่ขอภาวนาว่า อย่าได้เป็นเช่นนั้นเลย อามิตตาพุทธ!!!

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล และสวัสดีชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ

แวะมาแสดงความยินดีกับชาวหนองบัวค่ะ ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบรางวัลข้าราชการดีเด่นให้กับ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ชาวหนองบัวขนานแท้แน่นอนคนนี้ ด้วยความที่อาจารย์มีความดี และเด่นในการครองตน ปกครองคน และองค์กร จึงได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ ... ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะอาจารย์ =)

  กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

  • หน้านี้ ทั้งร้อนและแล้ง นั่งคิดทำให้ชีวิตได้อารมณ์ขันจากสถานการณ์ที่น่าปวดหัวอย่างที่พระคุณเจ้าเล่าเรื่องประเทศสารขันฑ์นี่ ก็ดีเหมือนกันนะครับ คิดให้ได้ความผ่อนคลายก็ได้ คิดแบบหาความเข้าใจความเป็นจริงของสังคมก็ดีครับ

ชาวสารขันฑ์รุ่นใหม่นิยมบริโภคผลไม้ตามความชอบของแต่ละคน บางคนก็นิยมบริโภคแตงโม บางคนก็นิยมบริโภคขนุน ก็ว่ากันไป บางครั้งก็มีเหมือนกันที่ตนเองชอบขนุนแต่เพื่อนชอบแตงโม ยอมรับกันได้ก็ไม่เป็นปัญหาที่เป็นปัญหาคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับผลไม้ที่คนอื่นกิน กลายเป็นแย่งชิงลูกค้า ชิงส่วนแบ่งการตลาด เมื่อแย่งชิงลูกค้าก็เกิดเป็นความขัดแย้งในหมู่พี่น้องชาวสารขันฑ์อย่างมาก

  • ให้อนุสติดีครับ เลยไม่รู้ว่าจะเป็นขำขันหรือขำขื่นดีนะครับ
  • กำลังเขียนอะไรต่อมิอะไรอยู่ เหลือบไปเห็นคุณครูณัฐพัชร์นำข่าวดีมาบอกกล่าว เลยต้องเบรคไอ้ที่กำลังเขียนอยู่ไว้ก่อน
  • ขอแสดงความยินดีกับพี่วิรัตน์ด้วยครับ
  • อย่างนี้ต้องมีฉลองกันแล้ว
  • พอดีเพิ่งไปถ่ายพลุมาเมื่อเร็วๆนี้ ก็ขออนุญาตจุดพลุฉลองให้พี่เลยละกัน

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ 

  • ขอบคุณชาวสถาบันสุขภาพอาเซียนและชาวมหิดลด้วยเช่นกันครับ เป็นการให้สิ่งที่ผมจะได้เก็บไว้เป็นความรำลึกถึงกันด้วยความประทับใจมากครับ เพราะผมได้รับเมื่อผมมาเป็นสมาชิกของคณะสังคมฯแล้ว แล้วก็เป็นการมอบให้จากสถาบันสุขภาพอาเซียนในวาระที่ก็ทราบว่าผมจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯโดยตรงต่อไปแล้ว   
  • เมื่อมองอย่างนี้ เลยไม่ค่อยสำคัญเท่ากับกระบวนการที่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา พิจารณามอบให้ผมนะครับ ผมไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง แต่ขอน้อมรับเพื่อเป็นรางวัลในความเป็นผู้ให้อย่างไม่หวังผลของทุกท่านนะครับ ประทับใจครับ-ประทับใจ แปลกและสร้างสรรค์ดีครับ
  • กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน
  • ได้อ่านเรื่องเล่าชาวสารขัณฑ์แล้ว ก็จะมีย่อหน้าสุดท้ายนี่แหละ ที่พระคุณเจ้าสรุปได้แยบยล เผอิญเรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานนมกาเลแล้ว เลยไม่รู้ว่าสมัยนั้น แตงโมสีแดงหวานฉ่ำ หรือว่าขนุนลูกใหญ่เนื้อเหลืองหวานหอมเหมือนสมัยนี้หรือเปล่า ถามไปอย่างนั้นแหละ ไม่ต้องการคำตอบหรอกครับ
  • จำได้ว่าพระคุณเจ้าเคยมีอีเมล์มาหาผมตอนก่อนที่แม่จะเสีย ได้อ่านแว้บๆแต่ไม่มีเวลาจะตอบ และจำเนื้อหาไม่ได้แล้ว อีกทั้งหาอีเมล์นั้นไม่เจอแล้วด้วย อยากจะรบกวนอีกทีครับ
  • วันที่ 20 นี้ก็จะได้กลับหนองบัวอีกครา ไปร่วมแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่และฤาษีนารายณ์ ในฐานะที่เป็นลูกเจ้าพ่อเจ้าแม่คนหนึ่ง ตอนที่ยังเรียนหนังสืออยู่หนองบัว ได้เป่าขลุ่ยจีนอยู่ในคณะล่อโก๊ว เป็นคณะเด็กรุ่นแรก (ก่อนหน้านี้จะเป็นคนวัยหนุ่มวัยสาวกัน) ก็ใช้เวลามาฝึกเอาตอนค่ำหลังมื้อเย็นแล้ว ปีแรกก็ใช้เวลาฝึกอยู่หลายเดือนเหมือนกัน ก็จะเป็นพวกเด็กๆในตลาดนั่นแหละ รุ่นนี้ที่อาวุโสสุดก็รุ่นหมอตี๋ (คุณหมอวีรวัฒน์ ปัจจุบันอยู่ที่รพ.สวรรค์ประชารักษ์) รองมาก็รุ่นผม และไล่ลงไปอีก3-4รุ่น เล็กสุดก็น่าจะเป็นหมอเกี้ยมั้ง ได้อยู่รับใช้เจ้าพ่อเจ้าแม่ประมาณ3-4ปี พอจบจากหนองคอกแล้วก็ไม่ได้จับขลุ่ยอีกเลย เดี๋ยวนี้นอกจากคณะล่อโก๊วแล้วก็ยังมีคณะสิงโต มังกรทอง และเอ็งกออีก ทำให้ขบวนแห่ดูคึกคัก ตื่นตาตื่นใจ ทุกปีก็จะนัดเพื่อนๆมาเจอกันตอนงานงิ้วนี่แหละ
  • หวังว่างานงิ้วคงได้เจอครูนุนะครับ แล้วจะแวะไปดูหนังกลางแปลง
  • ฝากรูปงานงิ้วเมื่อปี 2552 ถ่ายทีหน้าบ้านผมครับ (ตลาดสามเขต)
  • น้องสมบัติ วันไหนเข้าเมืองหลวงไทย นัดกันหม่ำข้าวก็น่าจะดีนะ จะได้รู้จักหน้าค่าตากันไว้ กับพี่วิรัตน์ผมก็ยังไม่เคยเจอเลย ไว้มีโอกาสแล้วมาว่ากันใหม่ ถามจริงว่าน้องสมบัติเข้าเมืองหลวงไทยหรือลาวมากกว่ากัน
  • อะฮ้า มีจุดพลุเฉลิมฉลองด้วยหรือนี่ฉิก 
  • ผมเพิ่งทราบเมื่อวันพระราชทานนามของมหาวิทยาลัยนั่นแหละครับ เลยไม่ได้ไปรับครับ แต่ก็ได้ไปร่วมงานของมหาวิทยาลัยนิดหนึ่งครับ เดินไปเพื่อไปฟังปาฐกถาโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติสิรินทร์ ในเรื่อง ประเด็นสุขภาพในอนาคตของโลก แต่ไปถึงท่านก็เริ่มบรรยายแล้วครับ จะเดินเข้าไปก็เกรงจะเป็นการทำลายสมาธิและหันเหความสนใจผู้ฟัง เลยรีบเดินกลับและเปิด IPTV ทีวีออนไลน์ของมหาวิทยาลัย แล้วก็นั่งฟังปาฐกถาไปพร้อมกับทุกท่านเหมือนกันครับ

เอ่อ .. ว่าจะมาเขียนรายละเอียดต่อจากไดอาล๊อคที่ ๓๖๒ แต่เนทกลับหลุด กว่าจะต่อกลับเข้ามาได้ และเลยไปทำงานในหน้าเวิร์ดด้วยเลยมาช้าไปนิด เห็นอาจารย์เขียนตอบพระอาจารย์มหาแลไปแล้วด้วย แต่คงไม่เป็นกระไรกระมังค่ะ ถ้างั้นขอเพิ่มรายละเอียดไว้สักนิดให้กับเวทีชาวหนองบัวล่ะกันนะค่ะ .....

อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำ และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น ในโอกาสครบรอบ ๔๑ ปี ของวันคล้ายวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ค่ะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจารย์ ดร.วิรัตน์ จะได้ย้ายไปเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ฯ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ดี ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยมากๆ ค่ะ =)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์ อาจารย์วิรัตน์ คุณฉิกและพี่น้องชาวหนองบัวทุกทาน

ต้องขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์เป็นอย่างมากที่แจ้งข่าวอันน่ายินดีนี้ให้ชาวหนองบัวได้รับทราบกัน อาตมาภาพในฐานะคนหนองกลับ ด้วยความยินดีเลยขออนุญาตเป็นตัวแทนพี่น้องชาวหนองบัวแสดงมุทิตาจิตและยินดีกับอาจารย์วิรัตน์ที่ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ด้วย

ขอให้อาจารย์วิรัตน์และครอบครัวจงประสบแต่สิ่งที่ดีงามสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิตตลอดไป

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ดูบรรยากาศงานงิ้วที่คุณฉิกนำมมาฝากในคห.๓๖๖ นี้แล้วก็คงทำให้คนหนองบัวหลายท่านที่อยู่ไกลบ้านได้คิดถึงบ้านกันอีกครั้ง

คุณฉิกนี่ดูแล้วยังมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมในท้องถิ่นบ้านเกิดที่หนองบัวดีอยู่บ่อยๆ เนาะ แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีน้ำใจและให้โอกาสตัวเองได้กลับไปร่วมงานที่บ้านอย่างไม่ขาดตอน ก็ขอให้มีความสุขในการช่วยเหลือส่วนรวมชุมชนหนองบัว ขออนุโมทนา

อ้อเรื่องเมล์ที่คุณฉิกพูดถึงนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชนหนองบัวนี่แหละ เป็นกิจกรรมเพื่อท้องถิ่นในรูปแบบหนึ่ง ได้ส่งไปให้แล้ว

  • กราบขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ คำอำนวยอวยพรของพระคุณเจ้านี้ถือว่าเป็นมงคลและเป็นกำลังใจอย่างยิ่งครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยอีกรอบครับ ฉิกด้วยอีกครั้งครับ
  • เพิ่งได้ทราบว่าฉิกก็เป็นคณะดนตรีขบวนแห่งานงิ้วด้วย น่าจะมีส่วนที่ทำให้ฉิกมีสำนึกผูกพันและมีความเป็นเจ้าของของชุมชนหนองบัวมากด้วยนะครับ 
  • ขอให้ฉิกและชาวหนองบัวทุกคนอยู่ในบรรยากาศแห่งความสุขความรื่นเริง ในงานงิ้วชาวหนองบัวครับ
อนุกูล วิมูลศักดิ์

กราบนมัสการพระคุณเจ้า, เรียน อ. วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่าน

* เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ผมได้รับเมล์จากพระคุณเจ้าเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือแล้วครับ เมื่อช่วงก่อนโรงเรียนเลิก พอดีผมก็รู้สึกไม่สบายด้วย เลยได้แต่ก็อปข้อความมาแปะใส่เวิร์ดเก็บไว้ วันนี้ก็เช่นกันยังมีอาการไม่สบายอยู่ ขอให้อาการทุเลาก่อน และจัดการเรื่องคะแนนสอบของเด็กให้เรียบร้อย ก่อนที่จะอ่านในภายหลังครับ

* สำหรับคุณฉิก เกี่ยวกับงานงิ้ว ก็เจอผมได้ที่ที่ตั้งเครื่องฉายหนังครับ ขณะที่โพสต์ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเค้าจะตั้งกันตรงไหน เดี่ยวไปสอบถามก่อนแล้วค่อยกลับมาตอบในภายหลังครับ

  สวัสดีครับคุณครูอนุกูล 

 

  • หายเร็วๆครับ ขอให้สุขภาพดีกลับคืนมาในเร็ววัน
  • งานเทศกาลชุมชนเดี๋ยวนี้ อย่างของหนองบัวนี่จะเป็นอย่างไรบ้างนะครับ หากไม่เป็นการเบียดเบียนกัน ก็อย่าลืมเก็บภาพมาเล่าแบ่งปันกันบ้างนะครับ
  • ยิ่งคุณครูไปร่วมฉายหนังด้วยนี่ คงได้สัมผัสกับความเป็นชีวิตและความเคลื่อนไหวของสังคมไปด้วยหลายแง่มุม
  • ผมเคยไปเดินดูงานวัด มีหนังกางแปลง สวนสนุก เวทีแสดง...แทบทุกอย่างช่างเหงาวังเวงครับ เห็นแล้วใจหายเลย มันไม่คึกคักและได้ความรื่นเริงเหมือนเมื่อก่อน เบื้องหลังแล้วคนทำคงเหน็ดเหนื่อยน่าดู
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณครูอนุกูล อาจารย์วิรัตน์และทุกๆท่าน

ขอให้หายป่วยไวๆ มีสุขภาพแข็งแรง
อินเตอร์เน็ตหลุดไปวันสองวัน กลับมาอีกทีก็มีบรรยากาศงานวัด หนังกลางแปลงของอาจารย์วิรัตน์ให้ได้ดูชมกันพอดี
ช่วงนี้ไปงานผูกพัทธสีมาตามวัดต่างๆ บางแห่งบางวัดมีร้านค้าขายของน้อยกว่าร้านค้าตลาดนัดเสียอีก
แม่ค้าเล่าให้ฟังว่า คนเที่ยวงานไม่ค่อยได้มาซื้อสินค้า ซื้อของเลย ยิ่งเจ้าที่อยู่ท้ายๆวัดห่างจุดผู้คนสัญจรด้วยแล้วแย่เลยเขาว่างั้น
สรุปได้ว่าก็ไม่ต่างจากภาพที่อาจารย์นำมาฝากนี้มากนัก เห็นแล้วก็ใจหาย เงียบเหงา หรือบางทีก็ถึงขั้นวังเวงเลยทีเดียว.

  กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

 

งานวัดห้วยส้ม บ้านห้วยส้ม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ข้างบ้านผมเอง : การจัดงานเทศกาลในอดีต เป็นการจัดการทางสังคมเพื่อดูแลความเป็นส่วนรวมและระดมทุน ระดมความร่วมมือเพื่อทำนุบำรุงสิ่งของสาธารณะไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมชุมชนอย่างนี้กำลังหายและเปลี่ยนแปลงไป หากชุมชนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีจิตสาธารณะ กลุ่มผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่อยู่อาศัยด้วยกัน มีวิธีเรียนรู้และจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมบ้างก็จะสร้างสุขภาวะของชุมชนได้อย่างกลมกลืนไปกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้บ้าง

  • เมื่อวานก่อนผมนุ่งกางเกงที่เพิ่งซื้อจากแผงลอยตลาดนัดมาตัวหนึ่ง ราคาร้อยกว่าบาทครับ ไปถึงที่มหาวิทยาลัย ระหว่างนั่งประชุมกับทีมอาจารย์ด้วยกันก็ลุกไปเข้าห้องน้ำ พอกลับไปนั่ง ตอนนั่งลงก็ได้ยินเสียงดังแคว่กครับ ก้มมองดูก็เรียบร้อยครับ เป้าขาดครับ หมดสภาพเลย โชคดีที่ผมใส่เสื้อผ้าม่อฮ่อม เวลาลุกขึ้นเดินชายเสื้อก็จะคลุมไม่ให้อุจาดได้ แต่วันนั้นผมก็ต้องนั่งอยู่กับโต๊ะทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่
  • นึกดูแล้วก็ขำครับ เพราะผมมักชอบซื้อของตามตลาดนัด ส่วนใหญ่แล้วก็ซื้อเหมือนกับช่วยซื้อ-ช่วยใช้ เพื่อให้กำลังใจในการอยู่ด้วยกัน ไม่คาดหวังว่าจะได้ของดีอยู่แล้ว นอกจากขำในใจแล้ว นึกถึงบรรยากาศคนนั่งขายของ กับกลุ่มคนที่ไปเดินจับจ่าย กระจัดกระจาย ก็นึกสงสารครับ เหมือนมีคนอีกจำนวนหนึ่งในสังคม ที่การทำกินทำอยู่นั้น เหมือนต้องการเพียงมีที่ยืนและอยู่รอดเท่านั้น เห็นแล้วก็เหงาจับใจ
  • แต่การค้าขายให้พอมีรายได้นั้น บางทีก็ไม่ได้อยู่ที่การขายให้ได้กำไรมากๆอย่างเดียว ทว่า ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีคิด วิธีการไปด้วย เป็นต้นว่า อาจจะอยู่ที่ลดค่าใช้จ่าย สิ่งฟุ่มเฟือย และการตลาดเพื่อจูงใจแบบเก่าๆที่ไม่จำเป็น ก็ได้นะครับ ผมเคยร่วมทำงานกับเครือข่ายประชาสังคมตามจังหวัดต่างๆ บางส่วนที่เขาทำตลาดทางเลือก ร้านค้าแบกะดิน ถนนคนเดิน ก็เห็นได้ครับว่าพอมีอนาคต-คนชอบ แต่ต้องปรับรูปแบบเยอะเหมือนกัน
  • มีกิจกรรม ห้างแบกะดิน หรือ ถนนคนเดิน มาฝากคนหนองบัวและผู้สนใจท่านอื่นๆด้วยครับ ออกจะเงื่อนไขต่างจากหนองบัวมากไปหน่อยเพราะเป็นของเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีศักยภาพสูงในหลายเรื่องอยู่ในตนเอง แต่ก็ดูพอเป็นแนวคิดได้ครับ ฉิกและหลายท่านเคยคุยถึงอยากชวนคนหนองบัวคุยกันเรื่องนี้ ผมเลยนำมาให้ดูอีกครับ
  • งานงิ้วหนองบัวก็อาจนำมาคิดเพื่อทำบางอย่างใหม่ๆได้เช่นกันครับ หากได้ฟังบทเรียนและมุมมองของคุณครูอนุกูล ก็คงได้มุมมองที่ดีหลายอย่างนะครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กระแสร้อน ๆ จ้า

สงบ สันติ อหิงสา ไม่มีอาวุธ ปราศจากน้ำตาล : วิถีแห่งสุขภาพดีที่ยั่งยืน

  • โดยปรกติการชุมนุมต่อสู้กันไม่ว่าในทางใดก็ตาม การเมือง การช่วงอำนาจ ทาง
    อุดมการณ์ ทางความคิด ทางชนชั้น สีผิว ลัทธิความเชื่อ หรือจะเรียกร้องอะไรก็ล้วนแต่ไม่เคยก้าวข้าวความสูญเสียไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสอยฝ่าย มากน้อยแล้วแต่กรณี เป็นมาอย่างนี้ตลอดประวัติศาสตร์ก็ว่าได้
  • แต่มีการต่อสู้อย่างหนึ่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อการเดินทาง ต่อเส้นทางการจราจร ไม่ทำให้คนในสังคมเกิดความเครียด วิตก กังวล หวาดผวา ถึงกับปิดบ้าน ปิดถนน หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
  • ถึงอย่างไรก็ตามการชุมนุมนั้นก็ยากเหลือเกินที่จะไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ เลือดตกยางออก ฉะนั้นการต่อสู้เข้าโลมรันในเวทีที่มีเดิมพันค่อนข้างสูงจึงต้องมีผู้กล้าหาญ ผู้เสียสละ และก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เสียด้วย
  • การต่อสู้ในแนวทางแรกนั้นสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ถ้าคู่ต่อสู้หรือฝ่ายตรงข้ามคำนึงถึงส่วนรวมความสงบสุขในสังคม หรือเดินกันคนละครึ่งทางโดยไม่มีใครเสียหน้าถอยกันคนละก้าว เกมที่ต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านและห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายก็จบได้โดยง่ายเหลือเกิน เพราะมีคนเสียสละ หรือต่างฝ่ายต่างยอมเสียสละกันบ้างนั่นเอง
  • ส่วนการต่อสู้ในแนวทางที่สองนั้นทุกคนต้องยอมเสียสละและต้องไม่กลัวการเสียหน้าเสียฟอร์มเพราะถ้ากลัวเสียฟอร์มหรือไม่ยอมเสียสละ ก็จะทำให้สุขภาพอ่อนแอ มีโรคภัยเบียดเบียน การดำเนินชีวิตก็ลำบาก เกิดทุขภาวะต่อร่างกายและอาจทำให้อายุสั้นได้
  • การต่อสู้แบบที่ว่านี้จึงต้องสละเลือดเนื้อกันเลยทีเดียว เพื่อจะให้มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ต้องอาศัยความกล้าหาญ เพราะถ้ากลัวอาวุธคือเข็มฉีดยาแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าจะนำเลือดไปตรวจหาเชื้อโรคได้อย่างไร เลือดบวกหรือเปล่า หรือมีเชื้อเอสไอวีหรือไม่ หลายโรคต้องตรวจเลือดจึงจะทราบว่ามีโรคหรือไม่
  • ฉะนั้นถ้าอยากจะมีสุขภาวะที่ดีปราศจากโรคภัย มีชีวิตยืนยาว ก็มีความจำเป็นต้องเสียเลือดเพื่อแลกกับการมีสุขภาพดีและร่างกายแข็งแรงดังกล่าว นี่คือวิถีสุขภาพที่ยั่งยืน และก็ไม่มีใครเสียหน้าแม้แต่นิดเดียว ใครอยากมีสุขภาพดีก็เชิญยอมเสียสละเลือดได้ตามอัธยาศัย
  • ถ้าสังคมหรือบุคคลใด มีความสงบ สันติ อหิงสา ไม่มีอาวุธ ปราศจากน้ำตาลแล้วละก็ ก็รับประกันได้ชัวร์เลยว่า เกิดความสงบสุขแก่สังคมบุคคลและมีสุขภาพดีกันอย่างถ้วนหน้าแน่นอนที่สุด

พุทโธ ธัมโม สังโฆ.

   กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

  • เกาะติดสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วดีจังเลยนะครับ
  • เปรียบเทียบกับเรื่องสุขภาพได้อย่างน่าตื่นเต้นที่ทุกคนสามารถสร้างวิธีคิดและมีส่วนร่วมในการทำให้กับตนเองโดยไม่ยากนัก
  • อีกส่วนหนึ่ง ผมเองก็ได้วิธีคิดจากการกรณีอย่างนี้ว่า อะไรที่มันเกินพอดี มันก็อาจจะไม่เป็นสิ่งดีเสมอไป
  • การจำกัดกับยุคสมัยและการอิงอยู่กับประโยชน์ของมนุษย์ในเงื่อนไขแวดล้อมอย่างหนึ่งและในยุคหนึ่งๆเป็นเกณฑ์ พอผ่านไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่งก็อาจกลายเป็นตรงกันข้าม กระบวนการเรียนรู้ยกระดับการตกลงใจไปด้วยกันอยู่เสมอและการได้ทำเหตุปัจจัยของปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ จึงเป็นวิธีที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยชอบ ผมเองก็คนหนึ่งละครับ การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนนี่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปด้วยอยู่เสมอเลยนะครับ
  • วิธีคิดต่อ 'ความถูกแก่กาละ - เทศะ' 'หรือการสงเคราะห์กันด้วยเหตุปัจจัย' อย่างที่ชาวบ้านทั่วไปมักถือเป็นแนวปฏิบัติตน บางทีก็นำมาใช้ได้ดีเหมือนกันนะครับ
  • อย่างเรื่อง 'น้ำตาล' นั้น หลายแห่งของชาวบ้านในชนบทคงต้องอ้าปากค้างเลยทีเดียว เมื่อคนในเมืองและผู้คนที่เกินพอดีแล้วของอีกหลายแห่งในโลกบอกแก่พวกเขาว่าอย่ากินได้เป็นดี และหากกินก็อย่ากินเยอะ เพราะมันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยแก่โรคอ้วน
  • เรียกว่าบางเรื่องที่เป็นสภาพการเป็นอยู่ที่เหลื่อมล้ำกันมากในสังคม คนที่ต้องอยู่กับความขาดแคลน ยากไร้ มองด้านหนึ่ง หากรู้จักตนเองและมีวิธีคิดที่เห็นศักยภาพตนเอง เห็นบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมสุขภาวะในชีวิตแห่งตน ก็จะตระหนักรู้ว่า เรื่องราวจำนวนมากนั้นอยู่นอกเงื่อนไขชีวิตของตน ขณะเดียวกัน มองอีกด้านหนึ่ง การไม่ไหลไปกับความเป็นไปของสังคมและต้องอยู่กับสภาพตามฐานะแห่งตน วันดีคืนดีก็กลับเป็นความดีงาม อย่างการไม่มีน้ำตาลกินและความไม่มีอีกหลายอย่างน่ะครับ วันดีคืนดีก็กลายเป็นเรื่องดีไปได้โดยที่คนอีกจำนวนมากก็ไม่ได้ทำอะไร
  • ชาวบ้านตามบ้านนอกนั้น กว่าจะได้มีโอกาสกินน้ำตาลและมีน้ำตาลที่หวานถึงพอจะทำขนมและของกินได้นั้น ต้องอดทน กระเหม็ดกระแหม่ รอจนถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ หรือไม่อย่างนั้นก็ถึงเทศกาลสารท และเข้า-ออกพรรษา โน่นแหละครับ ถึงจะดึงเอาสตางค์และของที่เตรียมแลกสินค้าจากตลาดท้องถิ่น ไปซื้อหาน้ำตาลมาได้ ๑-๒ กิโล
  • พอถึงยุคที่พอจะมีกำลังเข้าถึงและหากินได้สักหน่อย ก็กลายเป็นว่าเขาให้เลิกกินกันแล้ว และไลฟ์สไตล์อย่างใหม่ เป็นต้นว่า การไม่กินหวาน ที่เป็นที่นิยมกันใหม่ของกลุ่มสังคมที่เกินพอดีแล้วนั้น ชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ก็มีทุนเริ่มต้นในสภาพที่ยากไร้เหมือนเมื่อตอนอยากกินน้ำตาลก็ไม่มีให้กิน อย่างเดิมอีก บางทีนั้น หลายเรื่องก็คล้ายกับจะเป็นอย่างนี้เลยนะครับ คือ อย่างเดิมก็ไม่ทันจะได้เข้าถึง และอย่างใหม่ก็ต้องสะสมทุนตั้งต้นกันใหม่อีกไปเรื่อยๆ
  • บางทีนั้นคนส่วนน้อยที่กำหนดทางไปให้คนส่วนใหญ่จากตรงจุดที่ตนเองยืนอยู่นี่ ตนเองก็จะตั้งหลักได้ก่อนและไปได้ดีอยู่เสมอ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็เสียโอกาสไปอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
  • ดังนั้น ผมจึงว่าเหนือขึ้นไปอีกในการให้ความร่วมมือต่อเรื่องต่างๆนั้น ชาวบ้านต้องรู้จักเรียนรู้ 'ความพอดี' 'ความถูกแก่กาละ-เทศะแห่งตน' ในบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมของตนไปด้วยครับ อย่างเวทีเรียนรู้นี้แหละครับ
  • นี่บางวันผมก็รู้สึกเหมือนเรากำลังทำเครือข่าย มหาวิทยาลัยบนปลายนิ้วมือ ของทั้งคนหนองบัวและทุกคนที่เข้ามาในเวทีคนหนองบัวนี้เลยละครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล สวัสดีคุณสมบัติ คุณฉิก คุณครูอนุกูล คุณเสวก และหมู่มิตรของเวทีเสวนาออนไลน์ของชาวหนองบัวทุกท่านครับ

  • อาจารย์ณัฐพัชร์เธอสอนวิธีใส่ Hit Counter ให้ตามหัวข้อต่างๆ ผมเลยทดลองเริ่มทำดูในเวทีคนหนองบัว พอทำเสร็จก็ยังคุยกันว่านอกจากจะขึ้นจำนวนผู้อ่านและธงประเทศไทยแล้ว จะต้องขึ้นธงนานาชาติโดยเริ่มที่ประเทศลาวก่อนแน่เลย เพราะคุณสมบัติเดินทางไปลางอยู่บ่อยๆน่าจะคิดถึงเวทีคนหนองบัวและแวะเข้ามาเยี่ยมบ้าง แล้วผมก็มีลูกศิษย์ในลาวหลายคน
  • แต่ที่ไหนได้ มีธงสหรัฐขึ้นมาประเดิมก่อนเลยครับ นี่คนละซีกโลกเลยนะครับ
  • ผมเดาเอาว่าอาจจะเป็นคนคอยดูแล Free service ของ Hit Counter ที่ผมได้เข้าไปขอใช้บริการซึ่งคงจะอยู่ที่อเมริกา
  • แต่ถ้าหากไม่ใช่ แต่เป็นผู้อ่านและผู้เข้าชมที่แวะเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัว ก็ต้องขอทักทายด้วยความยินดีอย่างยิ่งนะครับ ที่จริงต้องให้คุณสมบัติเธอออกมาต้อนรับและทักทายสักหน่อยนะครับ หรือว่าเป็นญาติ-หลานของคุณสมบัติที่เรียนอยู่ต่างประเทศเสียก็ไม่รู้นะครับ
  • We are people of Nong-Bua community,a small rural community located in Nakorn Sawan Province,Thailand.Very welcome to our special guest, a great friend from far USA, to this our Nong-Bua Forum.
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

โอ้โฮเวทีคนหนองบัวเราไปไกลถึง USA.เลยหรือนี่ ถ้าไปถึงได้ก็ยินดี แต่ถ้าไปไม่ถึงสหรัฐ ก็น่าจะถึง LA.(ร้อยเอ็ด)แล้วแหละ
เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ยินต้อนรับทุกท่านจากแดนใกล้แดนไกลด้วยมิตรไมตรี
นี่ก็คือโลกไซเบอร์ที่สามารถย่อโลกทั้งโลกให้มาอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันติดต่อสัมพันธ์กันได้ชนิดแค่เพียงลมหายใจได้เลย แค่กระพริบตาก็สื่อสารส่งถึงกันได้ทั้งเสียงทั้งภาพโดยที่ตัวอยู่กันคนละที่คนละแห่งในทุกมุมโลก

แต่ที่เวทีนี้ไปถึงแน่นอนแล้วและยังได้เคยสื่อสารติดต่อกันข้ามประเทศก็มีอยู่บ้าง นั่นก็คือประเทศลาวเพื่อนบ้านเรานี่เอง
ชาวหนองบัวยินดีขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามาทักทายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ในเวทีแห่งนี้ทุกโอกาส

การเป็นเพื่อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเป็นมิตรต่อกัน เป็นทางหนึ่งของการทำให้สังคมและโลกกว้างน่าอยู่น่ารื่นรมย์ในชีวิต เลยถือเป็นสิ่งดีงามสำหรับเวทีคนหนองบัวและหมู่มิตรของเรานะครับ 

                           

                             เด็กหนุ่มชาวต่างประเทศ    แสดงกลกลางถนนคนเดินเมืองเชียงใหม่ เป็นที่สนใจของเด็กๆและครอบครัวที่เดินออกมาสัมผัสชีวิตและลมหายใจของวิถีชีวิตสังคมเมืองในอีกอริยาทบทหนึ่งใน ถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  | อ้างอิงภาพและบทความ : ศิลปะวิถี : รอบรู้ ลุ่มลึก รื่นรมย์ โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในชุมชนบล๊อกเกอร์ โอเคเนชั่น ของคุณสุทธิชัย หยุ่น

  บางการเรียนรู้จากญี่ปุ่น   : กลุ่มสังคมเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต 

เห็นธงชาติแสดงการเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวจากประเทศญี่ปุ่นอีกประเทศหนึ่ง เลยขอแสดงการต้อนรับและนำประสบการณ์การศึกษาดูงานและฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งหนึ่งของผมเมื่อปี ๒๕๒๙ มาคุยถึงทั้งเพื่อการเรียนรู้แบ่งปันเพื่อการรำลึกถึงไปด้วยเสียเลยนะครับ                         

  ญี่ปุ่นด้านที่อยู่กับความสามัญของชีวิต :
 ชุมชนเรียนรู้สร้างสุขภาพแบบองค์รวม
   

การไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น ๒ เดือนครึ่งเมื่อปี ๒๕๒๙ ผมขอจัดโปรแกรมด้วยการให้คำปรึกษาอย่างดีของทีมผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ผมอยากได้ไปดูกิจกรรมให้การศึกษาเรียนรู้ทางสุขภาพและบทบาทของสื่อกับการฝึกอบรม ที่เน้นเรื่องสุขภาพชุมชนและศูนย์สุขภาพที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ ช่วงหนึ่งทางญี่ปุ่นก็เลยจัดให้ไปชุมชนที่สภาพชุมชนเมืองกับชนบทยังผสมผสานกลมกลืนอยู่ด้วยกัน ที่เมืองคานากาวา ไปดูศูนย์สุขภาพครอบครัว ศูนย์สุขภาพสำหรับผู้สูงวัยซึ่งเป็นแหล่งติดตามและให้การปรึกษากลุ่มผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาสุขภาพจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน และความเสื่อถอยตามวัยต่างๆ และการทำงานสื่อรณรงค์ด้านสุขภาพชุมชนของศูนย์สาธารณสุขอำเภอของคานากาวา 

                           

  หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนในคานากาวาและทีม   พาผมไปดูกิจกรรมติดตามให้การปรึกษาครอบครัว ดูแลสุขภาพของแม่ลูกอ่อนและเรียนรู้บันทึกพัฒนาการของลูกเป็นกลุ่ม ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้สูงวัย นั่งสนทนาแล้วก็แก้ผ้าลงไปอาบน้ำร้อนด้วยกันเป็นกลุ่ม  จากนั้นก็พากันเดินเท้าไปตามถนน ผ่านทุ่งนาและสภาพแวดล้อมชนบท ขึ้นไปยังเนินเขาเตี้ยๆ แล้วก็นั่งล้อมวงกินข้าว-จับเข่าคุยกัน อาหารเป็นกล่องข้าวสุขภาพที่ทุกคนเตรียมมาด้วยตนเอง นั่งสนทนากันอย่างสบายๆไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและพอจะให้การปรึกษาและแนะนำกันได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งไปด้วยกันเป็นทีมและมีความรู้หลายด้านก็จะช่วยกันคุย เป็นการให้การศึกษาเรียนรู้ทางสุขภาพหรือสุขศึกษาชุมชน ผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Community-Based Health Education) มีชายผู้สูงอายุท่านหนึ่งในกลุ่มเดินมาขอจับตัวผมแล้วก็แนะนำตนเองว่าเขาเคยเป็นทหารเกณฑ์ไปรบที่เมืองกาญจนบุรีในยุคสงครามโลก ยุติสงครามแล้วเขาก็ไม่เคยไปประเทศไทยและที่ไหนในโลกอีกเลย แต่เขาประทับใจคนไทยและรำลึกถึงอยู่เสมอเลยขอเดินมาจับตัวผม ขอทักทาย ภาพขวาบน : เป็นอาจารย์แพทย์ที่สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติซึ่งพาผมไปดูงานและพบกับศาสตราจารย์คาเนนากะ ผู้อำนวยการ  ภาพขวาล่าง : ผู้ประสานงาน JICA และเป็นล่าม รวมทั้งเป็นคู่หูให้กับผมทุกอย่าง ระหว่างพาผมไปชมปราสาทเมืองฮาโกเน ผมได้ประสบการณ์และได้การเรียนรู้นำกลับมาทำงานได้มากมายเพราะ Coordinator ท่านนี้ซึ่งทำหน้าที่ของท่านเหมือนกับเป็นเพื่อนเรียนรู้ทุกอย่างไปด้วยกันเลยทีเดียว

                            Cheewakasemcm

ภาพบน : จะโดยประทับใจอย่างฝังลึกอยู่ในใจหรือเป็นความบังเอิญอย่างไรก็แล้วแต่ ต่อมาผมกับเครือข่ายชุมชนและกลุ่มคนที่สนใจทำวิจัย-กิจกรรมสร้างสุขภาพและเรียนรู้ที่จะดูแลการพัฒนาตนเองไปด้วย ก็มีกลุ่มทำกิจกรรม ชมรมชีวเกษม ด้วยกันที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แล้วก็พัฒนาการสู่การทำกิจกรรมอีกหลายอย่างตามมากระทั่งปัจจุบัน ในกิจกรรมที่ทำกันนั้น ส่วนหนึ่งก็มีกิจกรรมล้อมวงกินข้าว-จับเข่าคุยกัน ทำให้เห็นวิถีสุขภาพชุมชนที่มีลักษณะร่วมกันบางประการในวิถีชาวบ้าน-วิถีพลเมือง

 

ภาพซ้าย : ดร.เคน ฮาเซกาวา นักสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญขององค์การ JICA ในสภาพที่เป็นไข้หวัดงอมแงม แต่พอทราบว่าผมไปญี่ปุ่นและพักอยู่ในโตเกียว ก็ใช้วันหยุดมาเป็นไกด์นำผมไปเที่ยวหลายแห่งในโตเกียว ไปหอศิลปะสมัยใหม่ ไปสวนสาธารณะเอวโน ไปพิพิธภัณฑ์ ไปเดินดูหนังสือ ทั้งโดยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และทุกอย่างนั้น ผมนับถือ ดร.ฮาเซกาวา เหมือนกับเป็นพี่ชาย ในภาพ นั่งถ่ายภาพด้วยกันหน้างานประติมากรรมต้นฉบับชิ้นหนึ่งของโรแดง ญี่ปุ่นลงทุนซื้องานศิลปะชิ้นเยี่ยมของศิลปินระดับโลกหลายชิ้นไปให้พลเมืองเขาได้เข้าถึงที่ประเทศเขาเลย

ภาพขวา : คุณเทเรดะ ช่างกล้องและผู้กำกับการผลิตรายการทีวีเพื่อการศึกษาของสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นและครอบครัว หลังจากเป็นครูให้ผมได้ฝึกประสบการณ์ทำสื่อหลายอย่างแล้ว ชวนผมไปทำอาหารกินและนั่งดื่มสาเกด้วยกันที่บ้านของท่าน การดูแลชาวต่างประเทศอย่างนี้ ทาง JICA เข้าไปดูแลให้ด้วยเพราะถือว่าร่วมทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโปแกรมการศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นวิธีบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่ฉลาดและน่าประทับใจอย่างยิ่ง เพราะทำให้ได้ทั้งงานของราชการ การสร้างความประทับใจ และต่างเป็นแหล่งประสบการณ์ให้การเรียนรู้กันและกัน เป็นโอกาสสร้างพลเมืองของเขาไปด้วย

ขอรำลึกถึงญี่ปุ่นและนอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีหนองบัวนี้แล้ว ก็ขอเชิญมาเยือนประเทศไทยและชุมชนหนองบัวบ้างนะครับ.

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามีความรู้สึกอย่างไร แต่มันเกิดเป็นความตื้นตันใจภูมิใจสุขใจที่ชุมชนเล็กๆในหนองบัวเกิดขึ้นในโลกในไซเบอร์ในช่วงแรก และต่อมาหลายท่านก็ได้ช่วยกันสร้างสรรค์ต่อเติมทีละเล็กทีละน้อยจากคนหนองบัวที่มีใจสำนึกบ้านเกิดและช่วยกันทำอย่างสมัครใจเต็มใจ และก็มีเครือข่ายกัลยาณมิตรอีกหลายท่านที่ได้เข้ามาแบ่งปันให้การเรียนรู้กับคนหนองบัวเป็นลำดับเรื่อยมา

จนมาถึง ณ เวลานี้เวทีคนหนองบัวได้ขยายสู่เวทีเพื่อนบ้านในทวีปเอเซีย และยังไปถึงแดนไกลถึงทวีปอเมริกาอีกด้วย ขอเชิญชวนญาติมิตรจากแดนไกลได้เข้ามาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวกันบ้างขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี

เห็นรูปอาจารย์เมื่อปี ๒๕๒๙ แล้วดูดีมากเลย เท่ไม่เบาเชียว ดูเป็นทางการมากกว่าสมัยปัจจุบันจริงๆ และขอขอบคุณอาจารย์ด้วยที่นำข้อมูลเรื่องราวจากการเรียนรู้ที่ประเทศญี่ปุ่นมาฝากให้ชาวหนองบัว ถึงแม้เรื่องนี้จะเนิ่นนานแล้วก็ตาม แต่ข้อมูลและเรื่องราวด้านสุขภาพนั้นยังทันสมัยและสังคมไทยก็กำลังเรียนรู้เรื่องนี้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเขาตื่นตัวและให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพกับพลเมืองประชาชนของเขามา ๓๐ กว่าปีแล้ว เดินนำหน้าเราถึงสามทศวรรษหรือมากกว่านั้นอีก ที่เราได้ยินผู้รู้มักพูดว่าประเทศนั้นนำหน้าประเทศนี้ ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ก็เลยเห็นภาพได้จากกรณีที่อาจารย์นำข้อมูลดังกล่าวมาให้ได้เรียนรู้กันนี้อย่างมองเห็นภาพได้ชัดเจนเลยทีเดียว.

 

   กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

                           

  • ผมก็เลยรู้สึกประทับใจและตื่นเต้นไปด้วยอย่างที่พระคุณเจ้าสะท้อนทรรศนะครับ ใครที่เคยสัมผัสความเป็นชุมชนหนองบัวกับสังคมโลกภายนอก ก็พอจะนึกออกว่ามันเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกที่พิเศษมาก คล้ายกับเมื่อปี ๒๕๑๑ เลยทีเดียว
  • วันหนึ่งที่เขามีการถ่ายทอดโทรทัศน์ยานอพอลโลของสหรัฐอเมริกาลงจอดบนดวงจันทร์ เมื่อปี ๒๕๑๑ นั้น ชาวบ้านหนองบัว รวมไปจนถึงจากชุมชนวัดเทพสุทธาวาส ก็ไปรวมกันที่ร้านค้าซึ่งมีโทรทัศน์ขาวดำอยู่เครื่องเดียวที่หัวตลาดร้านเดียวกันกับในภาพนี้แหละครับ เสียดายผมนึกชื่อเจ้าของร้านไม่ออกในตอนนี้ ทั้งครูและนักเรียนของโรงเรียนในอำเภอพากันหยุดแล้วก็มานั่งดูโทรทัศน์ ทำนองเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ไปจอดที่ทุ่งเลี้ยงวัวหน้าอำเภอ พวกเด็กๆ ครู และชาวบ้านทั้งอำเภอ ก็พากันวิ่งตับแลบไปยืนล้อมดูเฮลิปคอปเตอร์
  • แต่ในเวทีคนหนองบัวในวันนี้ เรากำลังเห็นเพื่อนร่วมโลกอันห่างไกลที่อเมริกาและที่ญี่ปุ่นที่เข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวเองโดยตรง ดูใกล้ชิดและเจาะจงกว่าเมื่อตอนเราไปมุงดูทีวีขาวดำที่ร้านหัวตลาดอีกนะครับ และตอนนี้มีเพื่อนบ้านจากอเมริกา ๒ คนแล้วครับ
  • ในแง่เป็นประสบการณ์เรียนรู้ให้กับลูกหลานและคนหนองบัว เวทีนี้ก็เป็นสื่อของจริง ที่สาธิตและแสดงให้เห็นได้โดยตรงเลยนะครับว่าความเป็นชุมชนความรู้ของหมู่บ้านโลกนั้นเป็นอย่างไร คนทั่วไปอาจจะแค่เคยแต่ได้ยินเขาเล่าสืบต่อกันมา แต่ในเวทีคนหนองบัวนี้ ก็เกิดให้เห็นจริงๆจากเวทีเรื่องของท้องถิ่นเองให้เห็นเลยนะครับ
  • ต้องขออนุโมทนาไปกับพระคุณเจ้าด้วยนะครับ ความเป็นมาของเวทีคนหนองบัวกระทั่งมาถึงวันนี้นั้น ที่มาเกิดขึ้นจากพระคุณเจ้า แล้วก็ค่อยๆเติมต่อความคิดแล้วก็ปรับปรุงกันมาเรื่อย ดูท่าตอนนี้จะเป็นเรื่องเป็นราว เป็นทั้งแหล่งความรู้และเป็นสื่อท้องถิ่นหนองบัวกับโลกกว้างที่ดูแล้วจะมีพลังมากกว่าหนังสือพิมพ์รายหวยออก ๑๕ วันครั้งของจังหวัด ซึ่งครั้งหนึ่งก็จะกระจายไปถึงหนองบัวไม่ถึง ๑๐ ฉบับ อีกทั้งน้อยครั้งมากที่จะมีข่าวคราวและความรู้ของหนองบัวในสื่ออย่างที่มีอยู่
  • แต่ในสื่อออนไลน์นี้ เราเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารของชุมชนหนองบัวได้อย่างไม่จำกัด มองอย่างอนุโมทนากับพระคุณเจ้าอย่างมากด้วยก็คือ พระคุณเจ้าได้แสดงความกตัญญูในฐานะศิษย์ของหลวงพ่ออ๋อย เผยแพร่เกียรติคุณของครูอาจารย์และคนท้องถิ่นหนองบัวให้เป็นที่แพร่หลายด้วยมือและน้ำใจของพระคุณเจ้า แล้วก็ชักชวนให้ผมกับอีกหลายคนมาช่วยกัน แล้วก็ทำกันอย่างสบายๆไปตามกำลัง แต่ดูแล้วก็ได้ผลที่สร้างสรรค์ตามมาหลายอย่างนะครับ ต้องขออนุโมทนาครับ

     สื่อสารแนะนำ  

ขออาราธนาพระคุณเจ้า และขอเชิญคนหนองบัวและทุกท่าน เขียนแบ่งปันแนวคิด ให้สติ ให้ความรู้ ให้การเสนอแนะ แสดงทรรศนะ

  ตอนนี้  เป็นหน้าแล้งซึ่งเป็นความทุกข์ร้อนของคนทำไร่และคนทำนาปรัง เมื่อฤดูทำนาที่ผ่านมาของปีนี้ ข้าวปลาก็เสียหายล่มจมกันไปหลายรายตั้งแต่ฝนแล้งและข้าวตายแล้งไปรอบหนึ่ง พอเหลือเล็ดรอดออกรวงกำลังจะแก่ ก็กลับเจอฝนตกน้ำท่วมผิดฤดู เสียหายไปอีกรอบ พอถึงหน้าแล้งนี้ ก็ได้ข่าวว่าจะต้องหยุดทำไร่และหยุดทำนาปรังไปด้วย

  ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ลูกหลานที่เรียนประถมศึกษาก็จบการศึกษา จะต้องออกนอกหมู่บ้านเพื่อไปเรียนต่อประถมปลายในอำเภอหนองบัว ชุมแสง หรือแหล่งไกลออกไป ส่วนคนที่จบมัธยมศึกษา ๖ ก็ถึงคราที่ชีวิตจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ต้องเริ่มไกลบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัยและระดับที่สูงขึ้น

  พ่อแม่ ก็กำลังทุกข์ใจที่จะต้องขวนขวายหาเงินทอง ครอบครัวชาวนาและเกษตรกรก็กำลังจะเป็นหนี้ครั้งใหญ่อีกยาวนาน ขณะเดียวกันก็มีกำลังใจที่ได้ทำหน้าที่ส่งลูกหลานไปข้างหน้า

เราเตรียมพร้อมและได้หลักคิดที่ดีเพื่อการเตรียมตัว เรียนรู้เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง และจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดได้อย่างไร ก็ขออาราธนาพระคุณเจ้าและขอเชิญทุกท่านว่าอย่าลืมที่จะแตะๆหัวข้อเรื่องพวกนี้สอดแแทรกไปด้วยนะครับ.

  ผมลิงก์รูปวาดดอกกล้วยไม้คัทลียา  มาฝากคนหนองบัวด้วยครับ 

                                        

รูปวาดลายเส้นดอกคัทลียา ฝีมือคุณณัฐรดา เห็นแล้วเลยนึกถึงคุณครูนุช เจริญสุข คุณครูคนเก่าคนแก่ของคนหนองบัวและเป็นมัคนายกของวัดหลวงพ่ออ๋อย ท่านเป็นปู่ของคุณแคทลียา อิงลิช

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

คนหนองบัวขอต้อนรับแขกจากแดนไกลชาวออสเตรเลียด้วยความยินดี

เห็นธงชาติประเทศออสเตรเลียที่อาจารย์วิรัตน์นำมาฝากในเวทีคนหนองบัวพร้อมทั้งข้อมูลและเรื่องราวประเทศออสเตรเลียแล้ว ก็เลยได้ทั้งความรู้และประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียอีกมากมาย

ออสเตรเลียนอกจากจะมีจิงโจ้และนกกีวีแล้ว ก็ยังมีชนเผ่าที่โด่งดังมากๆอีกชนเผ่าหนึ่งนั่นก็คือชนเผ่าเจ้าถิ่นที่อยู่มาก่อนที่คนทั่วโลกรู้จักดีคือเผ่าอะบอริจิ้นนั่นเอง ถ้าไม่เป็นการรบกวนอาจารย์มากไป อยากให้อาจารย์นำภาพและเรื่องราวเผ่าอะบอริจิ้นมาฝากในเวทีคนหนองบัวให้ชาวหนองบัวได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีก คงจะทำให้เวทีนี้มีสีสันและเกิดความคึกคักน่าทึ่งตะลึงใจเป็นอย่างมากทีเดียว. เจริญพร

  ขอต้อนรับแขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัว  จากออสเตรเลีย 

วันนี้เวทีคนหนองบัวมีแขกมาเยือนจากต่างประเทศเพิ่มอีก ๑ ประเทศจากออสเตรเลีย ส่วนคนไทยนั้นผ่านไปไม่กี่วันก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าไปอ่านหลายหน้ามากทีเดียว

                             

                           

                            ภาพบน : ธงชาติออสเตรเลีย ภาพล่าง : ประเทศออสเตรเลีย และภูมิภาคไทย-ออสเตรีเลย

  ประเทศออสเตรเลีย  อยู่ในกลุ่มประเทศโอเชียเนียที่บางครั้งก็เรียกกันว่าดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้ซึ่งมีอยู่ ๑๗ ประเทศ เป็นประเทศเดียวในโลกที่ทั้งทวีปมีประเทศเดียวและชื่อประเทศกับชื่อทวีปเป็นชื่อเดียวกัน สัตว์สัญลักษณ์ของประเทศคือ จิงโจ้และนกกีวี พลเมืองมีอยู่ประมาณ ๒๑ ล้านคน การกระจายตัวของประชากรโดยเฉลี่ยเพียง ๓ คนต่อตารางกิโลเมตรของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ถึงแม้จะมีจำนวนประชากรและพลเมืองน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนของพื้นที่อันกว้างใหญ่มหาศาลนั้น ความภูมิใจของออสเตรเลียมากอย่างหนึ่งก็คือออสเตรเลียเป็นสังคมที่มีความเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุด มีเอกลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรมที่เป็นส่วนผสมของยุโรป อเมริกา เอเชีย และคนพื้นเมือง ที่สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกันมากที่สุด เป็นประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมความเป็นมิตรต่อความแตกต่างหลากหลายกันของมนุษยชาติมากที่สุด จนกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีกลุ่มสีผิว กลุ่มศาสนา กลุ่มวัฒนธรรม หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดที่จะสามารถอ้างได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ตนเองมีความเป็นออสเตรเลียมากที่สุด เป็นประเทศหนึ่งที่มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยที่ดีที่สุดในโลก

 ความสัมพันธ์ กับประเทศไทยนั้น ออสเตรเลียมีสัดส่วนการผลิตภาคเกษตรกรรมเพียงร้อยละ ๒ ของการผลิตทั้งหมดแต่เป็นประเทศแรกที่ร่วมกันทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๘ และเป็นประเทศที่ใช้บริการสัญญาณดาวเทียมไทยคมของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนระบบอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงและการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากดาวเทียมตรงสู่บ้าน (DTH : Direct to Home) ทั่วประเทศ ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่สร้างความสัมพันธ์ในกรอบต่างๆกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกนั้น ประเทศออสเตรเลียรับฟังและให้ความสำคัญที่จะต้องรักษาดุลยภาพต่อกันกับประเทศไทยมากที่สุด

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมส่งออกทางการศึกษาและวัฒนธรรม ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สัญญาณดาวเทียมจากสตาร์ทีวีของออสเตรเลียมีอิทธิพลที่สุดต่อวงการเพลง ภาพยนต์ ดารา ดนตรี และอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง อุตสาหกรรมการศึกษาของออสเตรเลียกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมากที่สุดของประเทศ เวทีแสดงโอเปร่ารูปเปลือกหอยเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก ทำให้กล่าวได้ว่าออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรม การสื่อสาร และการศึกษา โดยเฉพาะต่อกลุ่มเอเชียแปซิฟิก อินโดจีน หมู่เกาะทะเลใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ใต้หวัน สิงคโปร์ และบางส่วนของสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน

ขอร่วมคารวะและต้อนรับด้วยความยินดียิ่งต่อเพื่อนของเวทีคนหนองบัวจากออสเตรเลียครับ

กำลังนึกถึงชนเผ่าอะบอริจิ้นอยู่พอดีครับ กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับที่ทำให้นึกออก ผมมีอาจารย์ของมหิดลที่เป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาผมด้วย ๒ ท่านที่ท่านจบจากออสเตรเลียและมักคุยเรื่องพื้นถิ่น-ชนบทของออสเตรเลียให้ผมฟังอย่างน่าสนใจ ผมจะลองนั่งทบทวนและหาข้อมูลมาคุยให้ฟังนะครับ แต่ก็เชิญทุกท่านที่มีเกร็ดความรู้อยู่มาถ่ายทอดแบ่งปันกันนะครับ

ตัวแคร่คีย์บอร์ดผมมีนชอบพิมพ์ตกๆหล่นๆ พอกำลังปรับแก้และโพสต์ขึ้นอีกครั้ง ก็คงจะชนกับพระคุณเจ้าพอดี และพอลบอันเก่าออกข้อเขียนอันใหม่เลยขึ้นตามหลังของพระอาจารย์มหาแล ต้องกราบอภัยพระคุณเจ้านะครับ แต่อ่านดูแล้วก็คงไม่ทำให้ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆเสียไปนะครับ หมายเหตุให้คนที่เข้ามาอ่านได้ทราบไว้เท่านั้นน่ะครับ ผมกำลังดูว่าในกล่องสนทนากันหลายแห่ง เนื้อหาการเรียนรู้ดีมากจริงๆ ในอนาคตหากผมและหลายท่านมีเวลา อาจจะดึงออกไปประมวลเนื้อหาและเขียนเรียบเรียงย่อยเป็นหัวข้อจำเพาะทีละเรื่องใน ลานปัญญาของคนหนองบัว ก็เลยทำบันทึกหมายเหตุไปด้วยครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ และชาวหนองบัวค่ะ

  • เข้าใจว่า  ชาวหนองบัว  เตรียมตัว  Go  Inter  เต็มเหนี่ยวเลยนะค่ะ
  • เพียง ๓ วันที่เริ่มใส่ Counter ซึ่งเป็นโปรแกรมนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมบล๊อคของชาวหนองบัว แสดงให้เห็นว่ามีผู้สนใจเข้ามา มากกว่า ๕๐๐ คลิ๊กแล้วนะค่ะเนี่ยะ และที่สำคัญมีกัลยาณมิตรจากต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชาวหนองบัว ทำให้ชาวหนองบัว และไม่ใช่ชาวหนองบัวอย่างดิฉันพลอยตื่นเต้นไปด้วยค่ะ ..
  • ช่วงนี้เด็กๆ  นักเรียนเริ่มปิดเทอม  เด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องๆ จากหนองบัว คงได้เข้ามาเรียนรู้จากบันทึกนี้ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น นอกเหนือจากรู้เรื่องของหนองบัวแล้ว ยังได้เรียนรู้จากข้อมูลหลายๆ ชุดที่อาจารย์วิรัตน์นำเสนอ ไม่ว่าจะข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศ ยังได้รับความรู้จากสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดบทเรียน และความประทับใจจากการได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นได้น่าสนใจมากๆ ค่ะ ..
  • เวทีหนองบัวแห่งนี้เป็นเวที/ชุมชนแห่งการเรียนรู้จริงๆ ค่ะ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ในคห.๓๘๔ อาจารย์กล่าวถึงคุณครูนุช เจริญสุข คนเก่าคนแก่ในหนองบัวว่า เป็นปู่ของศิลปินดารานักร้องคนดังคือคุณแคทลิยา ลิงลิช ด้วยนั้น เลยขอแจ้งอาจารย์และขอแก้ไขข้อมูลให้ทราบเข้าใจตรงกันว่า คุณครูนุช เจริญสุขนั้นท่านเป็นตาของคุณแคทลิยา อิงลิช และคุณแคทลิยา อิงลิชนั้นเธอก็มีส่วนได้ช่วยชุมชนหนองบัวไม่น้อย บริจาคช่วยโรงพยาบาลหนองบัว โรงเรียน ชุมชนในหนองบัวและกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

ครูนุชท่านจะภูมิใจในหลานสาวคนนี้ของท่านเป็นอย่างมาก ลูกหลานคุณครูนุชที่มีสายเลือดนักแสดงสายเลือดศิลปินมากและชัดเจนก็คือคุณแคทลิยา อิงลิชนี่เอง โดยที่คุณครูนุชท่านเป็นศิลปินและมีความสามารถหลายอย่าง เป็นนักแหล่ นักพูด พิธีกร โฆษก นักขับเสภา นักแต่งกลอน นักเขียน เป็นผู้นำชุมชน

ฉะนั้นเมื่อพูดถึงหลานสาวคนดังทีไรก็มักจะพูดถึงอย่างชื่นชนและภูมิใจ พูดเป็นทำนองคล้ายกับอวดใครต่อใครได้ว่าหลานสาวฉันนั้นเก่งมีสายเลือดคุณตาและสายเลือดศิลปินตาของเขาเต็มตัวเลยแหละ.

  • ต้องขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยเช่นกันนะครับที่นำ Hit counter มาแนะนำและสาธิตใส่ให้
  • ผมสังเกตเห็นอย่างที่อาจารย์ณัฐพัชร์ว่าเหมือนกันครับว่า ช่วงนี้มีคนเข้ามาในหัวข้อเวทีคนหนองบัวเยอะกว่าปรกติ เลยคิดว่าน่าจะเป็นเพราะปิดเทอม ทำให้เด็กๆ ครู คนทำงาน คนที่ใช้เวลาปิดเทอมเรียนพิเศษทางคอมพิวเอตร์ และคนที่จบการศึกษาแล้วต้องหาข้อมูลไปเรียนต่อ เหล่านี้ มีโอกาสเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น
  • บล๊อกของอาจารย์ณัฐพัชร์เป็นอินเตอร์มากกว่าเวทีของเราอีกนะครับ  P ณัฐพัชร์ 
     
  • กราบขอบพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ คุณแคทลียา อิงลิช เป็นหลานตาของคุณครูนุช เจริญสุข นะครับ ไม่ใช่หลานปู่
  • ผมเคยเห็นตอนงานชุมนุมศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกอยู่ปีหนึ่งเหมือนกันว่าขึ้นป้ายชื่อของน้องเขาอยู่บนเวที ถึงได้รู้ว่าเธอเป็นลูกหลานคนหนองบัว
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

อาจารย์ณัฐพัชร์เข้ามาในเวทีคนหนองบัวนี้ทีไรก็ทำให้คนหนองบัวหลายท่านมีกำลังใจขึ้น ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์อย่างมากที่ได้ช่วยตั้งข้อสังเกตและเชิญชวนโดยเฉพาะเด็กๆนักเรียนคนรุ่นใหม่ในหนองบัวให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมที่เวทีนี้ซึ่งมีข้อมูลเรื่องราวของหนองบัวอย่างมากมายแล้ว ตอนนี้เวทีคนหนองบัวยังได้ก้าวขึ้นสู่เวทีสากล(Go Inter-ขอคุยสักหน่อยเหอะ หนองบัวเขาปั๊ดตะนาแล้วเด้อ)อย่างน่าชื่นใจและสร้างความตื่นเต้นแก่พี่น้องชาวหนองบัวได้อย่างดีอีกด้วย

ได้ทราบว่ามีเด็กนักเรียนที่จบม.๖ ปีนี้ จากโรงเรียนหนองคอก(หนองบัว)ได้เข้ามาอ่านบล๊อกอาจารย์วิรัตน์เพราะมีญาติ น้า-ป้า-ลุงแนะนำให้รู้จักบล๊อกชุมชนหนองบัว ก็คงจะสอดคล้องกับสังเกตของอาจารย์วิรัตน์ที่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆลูกหลานในหนองบัวคงมีเวลาว่างเลยเข้ามาอ่านกันมากกว่าปกติ

ยินต้อนรับกัลยาณมิตรทุกท่านจากทั่วโลกเลย ถ้าเป็นคนหนองบัวแล้วละก็ไม่ต้องเกรงใจกันเนาะแสดงตัวแนะนำตัวให้ได้รู้จักกันบ้างก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่ประการใดเลยพี่น้อง.

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

"....ทำนองเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ไปจอดที่ทุ่งเลี้ยงวัวหน้าอำเภอ พวกเด็กๆ ครู และชาวบ้านทั้งอำเภอ ก็พากันวิ่งตับแลบไปยืนล้อมดูเฮลิปคอปเตอร์"
นึกเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปีนั้นเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว คงเทียบได้กับสมัยนี้น่าจะเป็นวันเด็กประจำปีเลยทีเดียว ที่วันเด็กสมัยนี้แต่ละปีตามค่ายทหารต่างๆทั่วประเทศได้เปิดค่ายให้เด็กเข้าไปดูเครื่องบินนั่งขับเครื่องบินได้เรียนรู้ระบบการทำงานของเครื่องบินโดยทหารสร้างความตื่นเต้นไม่น้อยให้กับเด็ก

เหตุการณ์ระทึกใจขนาดนี้มีไม่กี่ครั้งหรอกสำหรับคนหนองบัว เฮลิคอปเตอร์ลงที่หนองบัวในปีนั้น ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์นั้นด้วยที่หลายๆคนยังจำได้อยู่ ผู้คนทั้งทั้งอำเภอแตกตื่น ตื่นเต้นกันอย่างมากทุกคนตั้งท่ารอคอยจะได้ดูระบินเฮลิคอปเตอร์ที่จะมาลงที่หน้าอำเภอ เหมือนดูหนังเลยนะนี่ที่ในหนังนั้นจะมีหมู่บ้านที่อยู่ในป่าเขาลำเขาไพร ห่างไกลปืนเที่ยง นาปีสีตชาติไม่ได้พบได้เห็นระบินอย่างใกล้ชิดสักที พอเครื่องบินลง ก็วิ่งกรูเข้าไปมุงดูกันให้แน่นขนัด ตื่นเต้นกันเหลือเกิน
ที่หนองบัวก็เหมือนกันพอเครื่องบินลงเท่านั้นแหละผู้คนวิ่งเข้าใส่เหมือนกับจะไปแย่งชิงเงินชิงทองสมบัติพัสถานยังไง ยังงั้น แต่เพราะเป็นหน้าแล้งดินแห้งแตกระแหง แรงลมจากใบพัดเครื่องบินทำให้ฝุ่นฝุ้งตลบกลบไปทั่วบริเวณ แต่ก็ไม่กลัวฝุ่นกันเลยวิ่งหน้าตั้งเข้าไปหุ้มห่อห้อมล้อมมุงดูระบินกันอย่างเป็นของแปลดประหลาด ดุจมนุษย์ต่างดาวเลย นึกถึงทีไรแล้วก็อดขำไม่ได้นะเนี่ย.

 ผมนี้ก็จำได้แม่นครับ และเวลาเลี้ยงควายไถนา ก็จะมีเครื่องบินจากสนามบินตาคลี ขึ้นลงจนคุ้นตา ยุคนั้นยังเป็นยุคกรุ่นสงครามเวียดนามและสงครามในภูมิภาคอินโดจีน รวมทั้งแถวหนองบัวเชื่อมกับรอยต่อเพชรบูรณ์ก็ยังเป็นพื้นที่สีแดงกับพื้นที่สีชมพู มีรถถังและรถยีเอ็มซีบรรทุกทหารไปรบกับคอมมิวนิสต์ในป่า

                            

 ที่คุ้นตาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือรถบรรทุกข์ไม้ ยุคนั้นหนองบัวมีป่าไม้และเหมืองแร่ยิบซั่ม รถบรรทุกไม้ รถบรรทุกแร่ยิบซั่ม กับรถถังและรถยีเอ็มซี คุ้นเคยกับชาวบ้านก่อนมีรถประจำทางเสียอีก ในจำนวนรถเหล่านี้ รถบรรทุกไม้เป็นรถที่ผู้คนกลัวที่สุด มักเรื่องเล่าเรื่องนางไม้และสาง วิญญาณของเสือสมิงที่โหดร้าย กินคนมากจนสามารถแปลงร่างเป็นคน เชื่อมโยงกับรถบรรทุกไม้ซุง พอเห็นรถบรรทุกไม้ คนก็จะกลัวผีผลักท่อนซุงใส่และดึงโซ่ขาด หรือไม่ก็เวลาเห็นคนต่างถิ่นมาพร้อมกับรถบรรทุกซุง หากหน้าตาน่ากลัวก็จะกลัวกันไปด้วยว่าจะเป็นเสือสมิงแปลงร่างเป็นคนมาหากินคน

                           

 ยุคนั้นนี่ ที่หัวตลาดก็มักจะมีคนเร่เล่นกลขายยา ยาถ่าย ว่านกันเสือและงูกัด แต่ระหว่างที่เล่น หากมีเฮลิปคอปเตอร์มาลงหนองบัวหรือใกล้ๆ ทั้งวงเล่นกล ตลาด และคนขายของ ก็แทบจะวางมือวิ่งกันไปดูเฮลิปคอปเตอร์เสียหมด

  ขอคารวะและต้อนรับเพื่อนเวทีคนหนองบัว  จากสหรัฐอเมริกา 

มีเพื่อนเวทีคนหนองบัวจากอเมริกาถึง ๒ คน แต่เรื่องราวของอเมริกานั้น ผมไม่รู้จะหาแง่มุมไหนมาคุยแสดงสันถวะเพื่อนของเราและให้เป็นที่ได้เรียนรู้ขยายโลกทรรศน์แก่ท่านผู้อ่านชาวหนองบัวไปด้วยที่แปลกใหม่ไปกว่าที่คนทั่วไปก็ทราบ เพราะในบรรดาเรื่องราวของต่างประเทศนั้น สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาคงจะเป็นประเทศที่เราได้รับรู้ มีความเกี่ยวข้องผูกพันกันมากที่สุดในโลกแทบจะทุกมิติก็คงจะได้

 

  แต่จะว่าไปแล้ว   ชุมชนหนองบัวก็มีเรื่องราวที่ร่วมเนื้อหากับสังคมอเมริกันอยู่เหมือนกัน โดยในอดีตนั้น เมื่อปี ๒๕๑๑ ที่ร้านค้าหัวตลาดดังภาพบนซ้าย เป็นร้านค้าร้านแรกของหนองบัวหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนะครับที่มีโทรทัศน์ขาว-ดำเป็นเครื่องแรก ในวันที่อเมริกาส่งยานอวกาศอพอลโล ๑๑ ขึ้นไปดวงจันทร์และมีมนุษย์ขึ้นไปด้วยและถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วยนั้น โรงเรียน หน่วยงาน และร้านรวงแทบทั้งหมดในหนองบัวก็แทบจะปิดหมด แล้วก็มานั่งดูยานอพอลโลลงดวงจันทร์จากรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ปัจจุบันนี้ ร้านค้าหัวตลาดดังในภาพนี้ไม่มีแล้ว แต่คูหาตรงกันข้ามซึ่งเป็นของเถ้าแก่อ๋าและแมวลูกเถ้าแก่อ๋า เพื่อนรักคนหนึ่งของผม ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ ลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้นแบบเดียวกัน

                                     

                    ตราแผ่นดิน และธงชาติประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างอิงภาพ : ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
                    ดวงดาวบนพื้นน้ำเงิน ๕๐ ดวงเป็นเครื่องหมายมลรัฐจำนวน ๕๐ รัฐ
                    ซึ่งรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐและปกครองบริหารด้วยระบอบประธานาธิบดี
                    ปัจจุบัน บาราค โอบามา ลูกครึ่งเอเชียอินโดนีเชีย-อเมริกันอาฟริกัน เป็นประธานาธิบดี

  สหรัฐอเมริกา  ตั้งอยู่ในทวีอเมริกาเหนือ มีพลเมืองกว่า ๓๐๔ ล้านคนซึ่งมากเป็นอันสามของโลกรองจากจีนกับอินเดีย และมากกว่าอินโดนีเซียซึ่งมีพลเมืองมากเป็นลำดับ ๔ ของโลก เป็นประเทศที่ประกาศอิสรภาพจากเครือจักรภพอังกฤษในยุคจักรวรรดินิยมได้เป็นประเทศแรก แต่ก็มีพัฒนาการด้านต่างๆอย่างรวดเร็วและในปัจจุบัน หลังการสลายตัวของสหภาพโซเวียตรัสเซีย อเมริกาก็จัดว่าเป็นขั้วมหาอำนาจเดี่ยวของโลก

ผมขอนำเอาด้านที่คนทั่วไปไม่ค่อยทราบมาคุยให้รู้จักอเมริกากับสังคมไทยดีกว่านะครับ อยากเล่าผ่านเรื่องราวของศาสตราจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินไทยที่เชื่อมสังคมไทยและสังคมอเมริกาด้วยงานศิลปะและวัฒนธรรม และเป็นผู้ที่เดินไปในนามประเทศไทยและคนเอเชียคนเดียวที่ไปร่วมเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก

 

อธิบายภาพ : ซ้าย : ผลงานศิลปะของกมล ทัศนาญชลี หนังใหญ่-อเมริกา นำเอาความเป็นสังคมไทยยุคใหม่กับยุคดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความเป็นสังคมอเมริกันแล้วสื่อสะท้อนด้วยศิลปะจัดวางองค์ประกอบ(Composition Art) ขวา : กมล ทัศนาญชลี และ ดร.อุไรวรรณ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ ขณะไปศึกษาดูงานและพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการและศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศอเมริกากับประเทศไทย

กมล ทัศนาญชลี เป็นนักเรียนศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่างประเทศไทย แต่เป็นผู้ที่ก่อเกิดและเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางตระกูลของช่างสิบหมู่ หมื่นช่างชำนาญกิจ ชาวฝั่งธน จากนั้นก็เข้าเรียนศิลปะสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับวิถีช่างดั้งเดิมของไทยที่โรงเรียนเพาะช่าง ต่อด้วยวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร และได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัวชาวอเมริกันให้ได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งใช้ชีวิตทำงานศิลปะทั้งในอเมริกา  ประเทศไทย และทั่วโลก

มองในแง่ของการศึกษาและการสืบทอดวิถีแห่งช่างในขนบการศึกษาอบรมแบบดั้งเดิมของสังคมไทยนั้น ในทรรศนะผมแล้ว ศาสตราจารย์กมล ทัศนาญชลี จัดว่าเป็นศิลปินที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนในแนวช่างไทยที่เรียนรู้และใช้ชีวิตรับใช้ครูแบบสำนักอาศรมจากสำนักครูช่างโดยตรงและรอบด้านที่สุดก่อนผสมผสานเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ของโลกคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ เป็นเพาะช่างรุ่นเดียวกับ สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องอมตะแผ่นเสียงทองคำและเป็นผู้นำทางการเมืองอีกหลายฐานะทั้ง สส.หัวหน้าพรรคการเมือง วุฒิสมาชิก

ด้วยพื้นฐานดังกล่าว ทำให้กมล ทัศนาญชลี ทำงานได้หลายแนวและสะท้อนทรรศนะต่อสรรพสิ่งได้อย่างกว้างขวาง เป็นพลเมืองของสังคมที่ไร้กรอบไร้พรมแดนที่สะท้อนความสอดคล้องกลมกลืน ผสมผสาน ลงสู่การทำงานศิลปะที่มีสตูดิโออยู่ในอเมริกา และเดินทางทำงานศิลปะไปทั่วโลก ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทย อเมริกา และทั่วโลก โดยเฉพาะทางด้านศิลปะของประเทศไทยนั้น ก็ทำให้เกิดศูนย์ศิลปกรรมไทยและสภาศิลปกรรมไทยในอเมริกา มีบทบาทหลายด้าน ทั้งต่อการเผยแพร่งานศิลปกรรมของประเทศไทยในอเมริกา ก่อให้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนทางศิลปะวัฒนธรรม สร้างคนรุ่นใหม่ทั้งโดยการศึกษาดูงานและการศึกษาต่อในต่างประเทศทางศิลปะ รวมทั้งมีบทบาทต่อการร่วมริเริ่มและก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยหลายแห่ง

นอกจากนี้ กมล ทัศนาญชลี จัดว่าเป็นศิลปินไทยและจากกลุ่มประเทศในเอเชียที่นอกเหนือจากศิลปินอเมริกาและยุโรปเพียงคนเดียว ที่ได้รับคัดเลือกเป็น ๑ ในศิลปินทุกยุคสมัย ๓๐,๐๐๐ คน เพื่อบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก 

มองผ่านบทบาทของคนตัวเล็กๆและความริเริ่มสร้างสรรค์จากศิลปะซึ่งเป็นภาษาที่สามารถข้ามพรมแดนและข้อจำกัดทางสังคมวัฒนธรรมนั้น นอกจากเห็นความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุข ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามด้วยกันมากมายโดยความริเริ่มของพลเมืองเองแล้ว ก็เห็นอีกมิติหนึ่งที่กล่าวได้ว่า แม้นเป็นมิตรประเทศที่อยู่ห่างไกลกันนั้น ก็แทบจะกล่าวได้ว่าเรามีจิตวิญญาณและลมหายใจเดียวกันเลยทีเดียว

จึงขอคารวะและร่วมต้อนรับเพื่อนเวทีคนหนองบัวจากอเมริกาทั้ง ๒ ท่าน ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ.

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรกัลยาณมิตรจากอเมริกกาด้วยความยินดี

อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญและเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเกือบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา คือเกิดขึ้นหลังจากยานอวกาศอพอลโล ๑๑ ของอเมริกาขึ้นจอดบนดวงจันทร์ ๔ ปี นั่นก็คือในปี ๒๕๑๔ ได้มีการสร้างวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้น โดยวัดดังกล่าวนับเป็นวัดไทยแห่งแรกที่ถือกำเนินขึ้นในอเมริกา ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย 

แนวคิดการสร้างวัดไทยในอเมริกาเกิดขึ้นหลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพิมลธรรม(ชอบ อนุจารีเถระ) ราชบัณฑิตเดินทางไปเยี่ยมญาติโยมที่อเมริกา พระเดชพระคุณหลวงพ่อชอบนั้นถือได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในวงการพุทธจักรอย่างมากเป็นนักคิดนักเขียนนักปกครอง เป็นนักประพันธ์ที่ผลงานทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมากถ้าเป็นปัจจุบันพูดได้ว่าท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต และเป็นผู้ที่เสนอให้มีการจัดงานวันอาสาฬหบูชาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

การกำเนิดวัดไทยที่อเมริกาเริ่มขึ้นในปี ๒๕๑๔ เมื่อหลวงพ่อเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศยุโรปได้ไปพำนักที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วเดินทางต่อไปยังอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นมี ฯพณฯสุนทร หงส์ลดารมย์ เป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี  เวลานั้นมีคนไทยผู้ใจบุญจำนวนมาก ทั้งพ่อค้า ประชาชน  ข้าราชการ นักศึกษาที่อยู่ในเมริกาตามเมืองต่างๆ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมต่างๆ เมื่อได้พบหลวงพ่อจึงได้รวมตัวกัน ปรึกษาหารือแล้วเสนอให้มีการสร้างวัด เพราะการมีวัดจะทำให้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจ เป็นที่พึ่งทางใจ แก่พี่น้องคนไทย และคนอเมริกา ทำให้มีศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในต่างแดนได้ต่อไป

และวัดไทยในอเมริกาก็ทำหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน พระท่านช่วยภาษาไทยวัฒนธรรมไทยให้กับลูกคนไทยที่เกิดเติบโตในอเมริกา สอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สอนกรรมฐานแก่คนไทยคนท้องถิ่น ตอนหลังก็มีคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในเมืองไทยไปสอนดนตรีไทย รำไทย ให้เยาวชนอเมริกันเชื้อสายไทย จนเดี๋ยวนี้วัดไทยได้จัดกิจกรรมเหมือนกับเมืองไทย มีงานสงกรานต์ งานลอยกระทง ทอดกฐิน แห่เทียนพรรษา ด้วยมีคนไทยมากและวัดก็มีมากด้วยตอนนี้วัดไทยจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจพี่น้องชาวไทย ลาว เวียดนามและคนท้องถิ่น ในระดับประเทศนั้นอเมริกาประเทศเดียวมีวัดไทยมากที่สุดในปัจจุบัน.

 

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ ท่านอาจารย์วิรัตน์ พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

ผมเพิ่งลงเครื่องที่สนามบินอุดร / กลับจากเมืองหลวงของประเทศไทยครับ พอถึงที่ทำงาน ลองเข้ามาที่ชุมชนของเรา โอ้โฮ....เวทีคนหนองบัวบ้านเราเจริญงอกงามดีเหลือเกิน เห็นคำเชื้อเชิญของพี่ฉิก ผมเองก็ว่าดีเหมือนกันนะครับลอง ๆ ทาบทามท่านอาจารย์วิรัตน์ดูก่อนว่าเวลาจะตรงกันหรือไม่

เมื่อวันอาทิตย์ (21)ผม / หลานชาย(AIT)/พี่ชายที่มาจากออสเตรเลียเมื่อวันที่ 18 มี.ค.นี้ ขับรถไปกาญจนบุรีกัน ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลก็ยังแว๊บ ๆ นึกถึงอาจารย์ ได้เล่าเรื่องของอาจารย์วิรัตน์ให้ผู้ร่วมเดินทางฟังด้วย อ้อ ! ...เพื่อไม่ให้ตกขบวน ขอแสดงความยินดีกับการได้รับรางวัล...ข้าราชการดีเด่น....ของอาจารย์ ดร.วิรัตน์ด้วย(อีกคน)ครับ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ผมเองก็ได้รับรางวัลเดียวกับอาจารย์ครับ แล้วก็เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกัน คือ มีการจัดงานใหญ่โต ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเป็นประธาน เชิญแขกทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวมาเป็นเกียรติในงาน ผมได้ช่วยจัดเตรียมงานต่าง ๆ อาทิ เชิญแขก ฯลฯ โดยไม่ทราบมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลนี้ (ไม่มีใครบอก --- เข้าใจว่าจะทำเซอร์ไพรส์) พอถึงวันงานก็บังเอิญต้องพาลูกสาวที่มาจาก สหรัฐฯไปทำพาสปอร์ตเล่มใหม่ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากเล่มเก่าจะหมดอายุภายในไม่เกิน 1 เดือน จึงไม่ได้อยู่ร่วมงานและขึ้นรับ.......ถ้าทราบล่วงหน้าสักนิด คงจะเป็นการดีไม่น้อยที่ลูกสาวจะได้อยู่ร่วมในพิธีและทราบเรื่องราวของพ่อบ้าง แล้ววันทำพาสปอร์ตก็อาจเลื่อนไปอีกสักวัน -สองวันก็ได้

ช่างบังเอิญเหลือเกินครับ ที่รางวัลของผมกับรางวัลของอาจารย์ เป็นรางวัลเดียวกัน แล้วก็เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาด เหมือนกันอีก

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขอแสดงมุทิตาและยินดีด้วยกับรางวัลข้าราชดีเด่นที่อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทองได้รับในคราวครั้งนี้ เวทีคนหนองบัวแห่งนี้จึงมีความยินดีและขอร่วมฉลองกับรางวัลนี้ด้วย
ถ้าพูดให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันก็พูดได้ว่า ทั้งอาจารย์วิรัตน์และอาจารย์สมบัตินั้นได้เป็นอำมาตย์(ข้าราชการทุกระดับเป็นอำมาตย์)ดีเด่นด้วยกันทั้งคู่ ขอให้ท่านอำมาตย์ทั้งสองมีความสุขตลอดไป.

  • ได้ความรู้ความเป็นมาของการสร้างวัดไทยในอเมริกาแห่งแรกในแคลิฟอร์เนียให้เป็นความงอกเงยของการรู้โลกกว้างไปด้วยเลยครับ
  • เห็นท่านพระอาจารย์มหาแลเรียกผมกับคุณสมบัติเป็นท่านอำมาตย์ทั้งสองแล้ว ถึงกับหัวเราะคนเดียวกับมุขนี้เลยนะครับ ทันสมัย-ทันเหตุการณ์จริงๆ
  • แต่ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นอำมาตย์แล้วครับลาออกไปได้ปีนี้ก็ย่างเข้าไปที่สามแล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท