วิจัยชั้นเรียน ตอนที่ 1 สมาธิของชั้นเรียน


สมาธิก่อให้เกิดปัญญา

สมาธิมีหลายความหมายนะครับ แต่ที่ผมจะพูดถึงสมาธินี้ในความหมายของการที่มีจิตมุ่งมั่นแน่วแน่อยู่กับการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การฟังครูสอน การลงมือปฏิบัติ การทำกิจกรรม การทำการบ้าน ฯลฯ สมาธิเป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้และมักได้กับตัวเฉพาะบุคคล มีการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า สมาธิอาจเชื่อมโยงกับสภาวะแวดล้อม สังคม และภาวะทางโภชนาการครับ (อย่างเช่น ถ้าเด็กขาดสารอาหารบางชนิด จะกลายเป็นเด็กสมาธิสั้นประมาณนั้นนะครับ)

สมาธิของชั้นเรียนเป็นพฤติกรรมหมู่นะครับ อาจจะเชื่อมโยงกับสมาธิส่วนบุคคลมากบ้างน้อยบ้าง จากการสังเกต ผมพบว่าสมาธิของชั้นเรียนจะเพิ่มตามอายุ วุฒิภาวะ และความรับผิดชอบ เช่น กลุ่มเด็กเล็กอาจมีสมาธิเพียง 3-5 นาทีที่จะอดทนฟังครูสอนเท่านั้น กลุ่มนิสิตป.ตรี อาจมีสมาธิประมาณ 20-30 นาที ส่วนนิสิตป.โท-เอก อาจมีสมาธิประมาณ 45-60 นาที ในขณะที่คณาจารย์ ผู้บริหาร อาจมีสมาธิต่อเนื่องยาวนาน 3-4 ชั่วโมง

การพัฒนาสมาธิมีประโยชน์หลายอย่างนะครับ เพราะจิตที่มุ่งมั่นแน่วแน่นั้นจะทำให้การรับรู้ดีขึ้นอย่างมาก และสิ่งที่รับรู้จะคงอยู่ในจิตใจความทรงจำไปได้นานมาก สมองทำงานทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก เมื่อถึงยามจำเป็น สมองสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาก่อนหน้านั้นมาใช้งานได้ทันที เมื่อการรับรู้ดีแล้ว ความเข้าใจลึกซึ้งก็จะตามมาด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ครับ

โจทย์ที่เราน่าจะคิดต่อคือ

1.ทำอย่างไรให้ชั้นเรียนมีสมาธิยาวนานขึ้น การฝึกสมาธิทั้งกลุ่มหรือทั้งชั้นเรียนจะช่วยไหม สำหรับเด็กที่ต้องเรียนคาบละ 50 นาที มันจะดีกว่าไหม ถ้าชั้นเรียนมีสมาธิเต็ม 50 นาที

2.สมาธิส่วนบุคคลมีผลมากน้อยอย่างไรกับสมาธิของชั้นเรียน การที่เด็กแต่ละคนมีสมาธิดี ส่งผลให้ชั้นเรียนมีสมาธิดีขึ้นด้วยหรือไม่

3.ความทนทานต่อการรบกวนเป็นอย่างไร ชั้นเรียนที่มีสมาธิสูงจะมีความทมทานต่อการรบกวนได้ดี แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งหมดสมาธิ พฤติกรรมหมู่จะชักนำให้คนเหล่านั้นกลับมามีสมาธิใหม่ แต่ถ้าชั้นเรียนมีสมาธิต่ำ คนเพียง 1-2 คนก็สามารถทำลายสมาธิของชั้นเรียนได้ครับ

4.สมัยผมเป็นเด็ก จะมีชั่วโมง home room ซึ่งมีเจตนารมย์ให้ครูประจำชั้นได้พูดคุยกับชั้นเรียนของตนเอง เราจะใช้ชั่วโมงแบบนี้ฝึกสมาธิของชั้นเรียนได้หรือไม่

5.สมาธิของชั้นเรียนเชื่อมโยงกับความตั้งใจเรียน การมีวินัยในชั้นเรียนมากน้อยแค่ไหน

6.สมาธิของชั้นเรียน (ดี ไม่ดี สูง ต่ำ) ส่งผลกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างไร ส่งผลในระยะยาวด้วยหรือไม่ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 294111เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องน่าคิดครับ สำหรับสมาธิในชั้นเรียน ตามความคิดอาจารย์ การบรรยายอะไรก็ตามทางวิชาการ สำหรับคนที่มีระดับวุฒิภาวะ ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ ต่างๆกันควรจะเป็นเท่าไหร่ จะจำแนกอย่างไร ขนาดของกลุ่มเรียน ต้องสร้างมาตราฐานความมีสมาธิกับการเป็นนักเรียนหรือไม่ 50 นาที ? จากประสบการณ์ตัวผมเองเมื่อเป็นนักเรียน เวลานั่งฟังอาจารย์บรรยายช่วงต้น มักจะคิด พิจรณาตามเนื้อหาทัน แต่พอเกิดการติดขัดเมื่อไหร่ สมองจะไม่คิดตามเหลือแต่มือที่ต้องจดไว้ก่อน บางอย่างก็เลยไม่สามารถพัฒนาความรู้ขึ้นทันทีในตอนนั้น เพราะถ้าคิดตามได้ตอนนั้น ไม่ว่าจะเข้าใจเนื้อหาหรือไม่ก็จะสามารถตั้งคำถามกับอาจารย์ผู้สอนได้ ในทางตรงข้าม ถ้าคิดตามไม่ได้ อย่าว่าแต่เนื้อหาเลย จะถามอะไรก็ยังไม่รู้เลย

อีกอย่างผมคิดว่าสมาธิของผู้เรียนกับผู้สอน มันคนละอย่างกัน เหมือนกับ คนขับรถ กับ คนโดยสารที่นั่งไปด้วย มองก็มองทางเหมือนกัน แต่ทำไมเผลอทีไร คนนั่งไปด้วยหลับทุกที....

สวัสดีปีใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท