หลากวจนะ "อริยสัจ" (๒)


ความหมายของอริยสัจ ๔ จากหลากวจนะ

ชาวพุทธส่วนใหญ่มองอริยสัจในแนวระนาบ ความรู้เกี่ยวกับอริยสัจจึงยังไม่ครบถ้วน รู้แต่เพียงแง่มุมเดียว หากเราได้มองอริยสัจเชิงปริมาตรอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอง คือมีทั้งในแนวระนาบ และในแนวดิ่ง จะพบว่าอริยสัจนี้ช่างลึกซึ้ง และโชคดียิ่งนัก ที่เกิดมาแล้วได้รู้จัก ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาพุทธเพื่อความสุขที่ถาวร

เหล่านี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาและธรรมในข้ออริยสัจ ๔ และการปริวัฏฏ์ ๓ ( หมุนเวียน ) จากการรจนาของอริยะบุคคลต่างๆ โดยพยายามเรียบเรียงให้เนื้อความติดต่อและสอดคล้องกัน เสมือนหนึ่งรจนาโดยบุคคลคนเดียว เพื่อความเข้าใจในศาสนาที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นหลักฐานทางการศึกษา

......................................................................

อริยสัจ ๔ ปริวัฎฎ์ ๓ มีอาการเป็น ๑๒

( ปริวัฏ หรือปริวัตร ก็เรียก )

......................................................................

พูดตามหลักอริยสัจว่า มองอริยสัจข้อ ๑ เห็นทุกข์ ทำตามอริยสัจข้อ ๔ เป็นสุข

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น ( หน้า ๑๙๙ ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑0๑๗0 พิมพ์ครั้ง

.......................................................................

...พระองค์ตรัสพุทธพจน์ตอนหนึ่งมีความว่า ตราบใดที่เรายังไม่มีญาณทัศนะที่มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่าได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อเรามีญาณทัศนะนั้นจึงปฏิญาณได้ว่าตรัสรู้

หมายความว่า ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ครบ ๓ ด้าน คือทั้งรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละอย่างนั้นคืออะไร และรู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว เวียนไปในทุกข้อ เรียกว่า ๓ ปริวัฏฏ์

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น ( หน้า ๑๖ ๑๗ ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑0๑๗0 พิมพ์ครั้ง

.........................................................................

ญาณ ๓ ( สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ) ที่เกี่ยวกับอริยสัจ เรียกเต็มๆว่า ญาณทัสสนะ อันมีปริวัฎหรือวนรอบ ๓ รอบ คือการหยั่งรู้เห็นครบ ๓ รอบ ที่เป็นไปในอริสัจ ๔ ครบทุกข้อ รวมเป็น ๑๒ ญาณทัสสนะ หรือมีอาการ ๑๒ ที่ท่านใช้เป็นเกณฑ์วัดความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ ว่า เมื่อใดใครก็ตามรู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่างครบปริวัฏ ๓ จนมีอาการ ๑๒ แล้ว เมื่อนั้นจึงจะได้ชื่อว่ารู้อริยสัจ ๔ แท้จริง ( หน้า ๑๘๒ )

ความรู้อริยสัจ ๔ แปลกกว่าความรู้อย่างที่เข้าใจกัน คือส่วนมากจะถือว่าความรู้กับการกระทำเป็นคนละเรื่องกัน แต่การรู้อริยสัจนี้ พระพุทธองค์ทรงกำหนด การกระทำ กำกับไว้ด้วยในตอนท้ายของทุกรอบแห่งอริยสัจ ๔ จึงจะถือว่าเป็นความรู้จริง ประเสริฐ สมบูรณ์ เปรียบคล้ายดังการรู้เรื่องยาอะไรสักอย่างหนึ่ง จะถือว่าบุคคลรู้ยาจบได้ต่อเมื่อได้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นยา รู้ว่ายานี้ควรกิน และรู้ว่ายานี้ที่ควรกินได้กินแล้ว

ดร.อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน พุทธศาสน์ แนวปฏิบัติเพื่อชีวิต ( หน้า ๑๘๓ ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.. ๒๕๕๑

...........................................................................

นอกจากอริยสัจ ๔ จะสมบูรณ์ด้วยภาคภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว ยังสมบูรณ์ด้วยภาคผลปฏิบัติอีกด้วย ภาคผลปฏิบัติก็คือนิโรธ ( นิพพาน ) นั่นเอง

เราสามารถจัดภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และภาคผลปฏิบัติให้อยู่ในอริยสัจ ๔ ซึ่งมีญาณการหยั่งรู้ ๓ ประการ ปริวัฏการเวียนครบ ๓ รอบ ได้ดังนี้

สัจญาณ หยั่งรู้สัจจะ คือหยั่งรู้ความจริงว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเป็นอย่างนี้ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ ซึ่งเห็นตรงสภาพความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นอย่างไร ก็เห็นตรงสภาพความจริงของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าเป็นอย่างนั้น มิใช่ ทุกข์เป็นทุกข์ แต่เห็นเป็นสุข สมุทัยเป็นเหตุเกิดทุกข์ แต่เห็นเป็นเหตุเกิดสุข ( เห็นตัณหาว่าทำให้เกิดความสุข ) นิโรธดับทุกข์ แต่เห็นว่าดับทุกข์ไม่ได้ (เห็นนิโรธอนัตตาว่าเป็นอัตตา ) มรรคทางดับทุกข์ แต่เห็นว่ามิใช่ทางดับทุกข์ ซึ่งเห็นไม่ตรงสภาพความจริง คลาดเคลื่อนออกไป

สัจญาณนี้ เกิดขึ้นในปริวัฏแรกรอบหนึ่ง ยังไม่มีภาคปฏิบัติใดๆ เพียงหยั่งรู้อริยสัจ ๔ เห็นตรงสภาพความจริง จึงจัดอยู่ในภาคทฤษฎี

กิจญาณ หยั่งรู้กิจ คือหยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าควรทำอย่างไร เห็นว่าควรปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนด สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ กล่าวคือ ทุกข์ พึงกำหนดรู้ ( ปริญฺเญยฺยํ ) สมุทัย พึงละ (ปหาตพฺพํ ) นิโรธ พึงทำให้แจ้ง (สจฺฉิกาตพฺพํ ) มรรค พึงเจริญ ( ภาวิตพฺพํ ) ซึ่งวางการปฏิบัติตรงสภาพของความจริงของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในแต่ละประการนั้น

กิจญาณนี้ เกิดขึ้นในการปริวัฏรองรอบสอง ยังไม่เกิดผลปฏิบัติใดๆ เพียงรู้ว่าควรปฏิบัติตรงต่ออริยสัจ ๔ ตามสภาพความเป็นจริง จึงจัดอยู่ในภาคปฏิบัติ

กตญาณ หยั่งรู้การทำสำเร็จ คือหยั่งรุ้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าได้ทำสำเร็จแล้ว เห็นว่าได้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัย ด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ กล่าวคือ ทุกข์ก็รู้แล้ว ( ปริญฺญาตํ ) สมุทัยก็ละแล้ว (ปหีนํ ) นิโรธก็ทำให้แจ้งแล้ว (สจฺฉิกตํ ) มรรคก็เจริญแล้ว (ภาวิตํ )

กตญาณนี้เกิดขึ้นในปริวัฏหลังรอบสาม มีผลปฏิบัติเกิดขึ้นบริบูรณ์เปี่ยมด้วยญาณทัศน์ที่บริสุทธิ์ ไม่แปรกลับกำเริบอีก จึงจัดอยู่ในภาคผลปฏิบัติ

พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ พระไตรปิฎกร่วมสมัย ๓ ( หน้า ๒๘ ๒๙ ) สำนักพิมพ์ธรรมดา ๑๑๓ หมู่บ้านจินดาธานี หมู่ ๑0 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑0๑๗0 พิมพ์ครั้งที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๖

.........................................................................

(ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 294108เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สำหรับคนในสังคมโดยทั่วไปหากเรานำเสนอแบบคัมภีรภาพมากไป

เขาก็รู้สึกว่ามันยากที่จะเข้าใจเลยหันหลังให้ไปเลยก็มี

แต่สำหรับคนที่เรียนรู้ได้ระดับหนึ่งง่ายมากกับการเข้าใจ

ดังนั้นการนำเสนอนี้แหละเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการจะเผยแผ่ควรเริ่มแบบเข้าใจง่ายๆ

ลองดูมุมมองการเรียนรู้อริยสัจสี่แบบฉบับของธรรมฐิตแบบง่ายๆสำหรับคนทั่วไป...

 http://gotoknow.org/blog/032012/278831

เข้ามาเรียนรู้ธรรมะที่ลึกซึ้งครับ

คงต้องค่อยๆ แกะ ค่อยๆ เข้าใจไปครับ

ขอบคุณครับ

มาชม

มองให้เห็น จะอยู่เย็นเป็นสุขใจในธรรมะนะครับ

อริยสัจสี่ภาคสองต้องอนุโมทนา         ณัฐรดาตั้งสัจจอธิษฐาน

มุ่งมั่นศรัทธาธรรมล้ำเลิศญาณ          ผู้สืบสานศาสนาห้าพันปี

พุทธศาสน์คงอยู่ผู้ศรัทธา                 แสดงเจตนาพาชวนชี้

พุทธบริษัทปฏิบัติอยู่รู้หน้าที่              เมื่อชวนชี้ก็ชี้ถูกปลูกปัญญา            

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณบันทึกนี้ที่ได้รวบรวม ความหมายของ อริยสัจ อย่างครบถ้วนเลยค่ะ

(^___^)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท