๔. ผัดไทยแม่ : ผืนดิน ชีวิต และจิตวิญญาณของสังคม


".....ผมเมื่อกินผัดไทยก็เห็นความเป็นเพียงก้อนดินเล็กๆของตนเอง ที่แม่และพลังแห่งชีวิตการอยู่ร่วมกันของผู้คน เป็นดังลมหายใจและจิตวิญญาณ..."

เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน ในขณะที่ผม พี่ชาย และน้องๆ ๗ คนยังเป็นเด็ก อยู่กับพ่อแม่เป็นขโยง ๙ คนในบ้านหลังเก่า แม่เคยทำผัดไทยเดินขายตามท้องนาและหมู่บ้าน พวกผมอยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน ต้องเรียนหนังสือ และต้องอาศัยปัจจัยเพื่อการเติบโตมากมาย ทำให้พ่อแม่ต้องมีชีวิตที่ตรากตรำ

พ่อเป็นครูบ้านนอก เงินเดือนของครูประชาบาลบ้านนอกเพียงเล็กน้อยพ่อยกให้แม่และใช้เพื่อดูแลคนอื่นหมด ทั้งแม่และพ่อเลยต้องกระเบียดกระเสียน ขวนขวายหารายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัวอย่างสุดกำลัง เด็กๆเติบโตเร็วปีต่อปี ดังนั้น เพียงแค่ทำให้ลูกๆมีเสื้อผ้าใส่ไปโรงเรียน มีเสื้อและผ้าห่มกันความหนาวร้อนได้อย่างเพียงพอเป็นรายปี แค่นี้ก็แย่แล้ว

แต่แม่ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนัดจัดการสังคมในบ้านที่เยี่ยมยอด สามารถวางแผนที่จะให้พวกผมใช้เสื้อผ้าและสิ่งของร่วมกันได้เป็นสิบปี โดยใช้ทั้งวิธีการทางเศรษฐกิจและงานศิลปหัตถกรรมในครัวเรือน การซื้อเสื้อผ้าให้กับคนใดที่โตกว่า ก็จะต้องยอมใส่เสื้อกางเกงที่ตัวโค่ง ใหญ่เกินพอดีสักหน่อยหนึ่งเพื่อเผื่อตัวโตกว่าเดิมไปอีกสัก ๑-๒ ปี ส่วนคนที่โตได้ขนาดเสื้อผ้าตัวไหนของใคร ก็ต้องรับเป็นมรดกสืบทอดกันไปจนกว่าแม่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ แม่จะปะและซ่อมแล้วซ่อมอีก หากคนสุดท้ายที่ได้ใส่แล้วก็ยังไม่หมดสภาพ แม่ก็จะนำไปให้ลูกหลานและเด็กคนอื่นๆในหมู่บ้าน

วิถีพึ่งการปฏิบัติของตนเองก่อน อีกทั้งฝีมือการเย็บเสื้อผ้าของแม่และการทำของใช้ขึ้นมาเองในบ้าน ที่ต้องรวมเข้ากับความพากเพียรและสู้งานหนักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จึงเป็นอีกหนึ่งในความมหัศจรรย์ของแม่

การทำผัดไทยขายฟังดูเป็นเรื่อง่ายดายมาก ทว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ยากจนเกินที่จะคิดและทำในหมู่บ้านของผมในยุคเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนนั้น เส้นก๋วยเตี๋ยวและส่วนประกอบต่างๆต้องไปซื้อที่ตัวอำเภอซึ่งใกลออกไปอีก ๗-๘ กิโลเมตรจากการเดินเท้าสลับกับขึ้นรถเมล์ ยิ่งทำขายในหน้าทำนาด้วยแล้ว แม่และบ้านผมก็ต้องทำนา อีกทั้งนอกจากแม่และพ่อจะต้องเพิ่มการทำงานขึ้นอีกเป็น ๒-๓ เท่าของคนอื่นแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน หากพอจะมีบ้าง การพกเงินติดตัวก็ยังไม่อยู่ในวัฒนธรรมของชาวบ้านยุคนั้น ต้องใช้วิธีกินกันไปก่อนแล้วนำมาจ่ายตามแต่จะสะดวกทีหลัง

แม่จะทำผัดไทยและห่อด้วยใบตองอย่างพอดีมื้อหนึ่ง เสร็จแล้วก็จัดแบ่งลูกๆให้เป็นพนักงานขายไปตามแหล่งต่างๆ พี่ชายผมนอกจากตัวโตแล้วก็เป็นคนทำมาหากิน ว่านอนสอนง่ายสำหรับพ่อแม่มากที่สุด ทั้งมีความเป็นผู้ใหญ่และรับผิดชอบสิ่งที่พ่อแม่ให้ทำจนเป็นที่ได้รับความเมตตาของญาติพี่น้องที่สุด แล้วก็น้องสาวผมอีกสองคนก็มีความเป็นลูกแม่สูง เลยมักจะได้เป็นคนนำผัดไทยไปขายเป็นรายย่อยแต่โดยลำพัง หลายครั้งก็นำไปขายโรงเรียน

ส่วนผมนั้น อายและขี้กลัวคนจากการเดินไปขายของ แม่เคยให้เดินถือไปขายเท่าไหร่ก็เดินถือกลับมาเท่านั้น ขายไม่ได้เลยสักห่อเพราะเดินถือไปยืนอยู่ข้างกลุ่มชาวบ้านแล้วก็เปลี่ยนไปกลุ่มอื่นๆ แล้วก็กลับ ไม่เรียกไม่ถามก็ไม่เป็นคนเริ่มเจรจาพูดคุยให้รู้ว่าผมมาขายผัดไทย แม่เลยจัดให้เป็นลูกทีมอยู่กับแม่หรือให้ไปช่วยเป็นเพื่อนพี่ชาย อย่างน้อยก็ถือกระติกน้ำ ดูทางและถือไม้ค่อยไล่หมาก็ยังดี

                           

การเดินหาบผัดไทยขายของแม่ในหน้าทำนา ต้องเริ่มเดินขายหลังจากที่ตนเองก็ทำนาแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านคนอื่นๆจะได้วางมือจากงานนาและนั่งพักซึ่งจะต้องถือเอาสัญญาณการตีกลองเพลของพระเป็นหลัก หรือไม่ก็ดูแดด โดยตอนเช้าก็ให้เงาข้อศอกเริ่มกลืนเป็นเงาเดียวกับลำตัว ซึ่งจะเป็นเวลาก่อนพระตีกลองเพลเล็กน้อย และตอนบ่ายก็เป็นตรงกันข้าม คือก่อนจะเห็นเงาข้อศอกแยกออกจากลำตัว ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวนาจะหยุดนั่งพักและเริ่มทำงานในนาอีกครั้งไปจนถึงพลบค่ำ

ลูกค้าก็ใช่ใครอื่น ก็เป็นญาติพี่น้องและผู้คนในหมู่บ้าน ขายได้จ้าวหนึ่งก็นั่งคุย แนะนำการทำนาทำไร่ให้กัน เสร็จแล้วก็เดินไปหาจ้าวอื่น เดินเท้าข้ามท้องนาเป็นทุ่งๆและข้ามไปหลายกลุ่มบ้าน ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่มีเงินพกติดตัวและจะเดินนำมาจ่ายในภายหลัง ซึ่งก็มักจะมาพร้อมกับนำเอาสิ่งของต่างๆติดไม้ติดมือมาฝากกันอีกด้วย จึงเหมือนกับการทำของไปให้กินและขอความเมตตาให้ช่วยเหลือกันมากกว่าจะเป็นการขายแบบทำธุรกิจเอาร่ำเอารวย

ผัดไทย ทำจากเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่แบบต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมอาหารของชาวจีน ทว่า การดัดแปลงให้ถูกลิ้นและเหมาะสมกับวัตถุดิบตามท้องถิ่น ก็ทำให้ผัดไทยมีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นศิลปะในอาหารที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย เป็นหนึ่งในอาหารและผลผลิตของสังคมไทยที่ไม่เพียงแพร่หลายในหมู่คนไทยเท่านั้น ทว่าเป็นที่นิยมและรู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นศิลปะอาหารที่ต่อยอดจากการผลิตและบริโภคข้าว ซึ่งในเรื่องการเป็นผู้นำการผลิตข้าวนั้น ประเทศไทยเป็นผู้นำที่อยู่แถวหน้าของโลกได้อย่างไม่ต้องลังเลทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ยิ่งเป็นจังหวัดนครสวรรค์ด้วยแล้ว ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกย่อมทราบดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางตลาดการค้าข้าวของไทยและของโลก การค้าข้าวของประเทศใดหรือตลาดกลางในภูมิภาคต่างๆของโลก จึงขาดไม่ได้ที่จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวในการกำหนดราคาข้าวของท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์

ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ ผัดไทยและความเป็นสังคมผลิตข้าวปลาอาหาร จึงเป็นเนื้อเป็นตัว อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมไทยและคนไทย สะท้อนซึ่งกันและกันจนสามารถกินผัดไทยเพื่อหอบความทรงจำเกี่ยวกับสังคมไทยไว้กับตนเองได้เลย เรื่องพวกนี้ต้องเคยไกลบ้านหรือมองเข้ามาในสังคมไทยร่วมกับจุดยืนของคนต่างบ้านต่างเมือง จึงจะเห็นคุณค่าและความหมายอีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เราอยู่ใกล้จนเป็นสิ่งพื้นๆ

เมื่อปี ๒๕๒๙ ผมไปศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น องค์การ JICA ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนได้จัดผู้คอยอำนวยความสะดวกและช่วยประสานงานเรื่องต่างๆของการศึกษาดูงาน ช่วงหนึ่งระหว่างขอไปดูงานสื่อเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ๓ แห่งที่สุดยอดของประเทศญี่ปุ่น คือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์  พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีซึ่งส่วนนี้มีเนื้อหาการจัดแสดงมากมายจนเกินกว่าจะดูได้ทั่วถึงในเวลาวันสองวันผมจึงขอเลือกดูจำเพาะของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์  แล้วก็สถานีโทรทัศน์ NHK สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผมขอจัดโปรแกรมการศึกษาดูงานเหล่านี้เองเพราะต้องการนำมาใช้เป็นแนวทำงานให้ดีที่สุด

ตอนพักกินข้าวมื้อหนึ่ง ผมกับผู้ประสานงานก็หาอาหารกิน ความที่ไม่คุ้นกับรสชาดอาหารญี่ปุ่นและคิดถึงบ้าน ผมเลยอยากหากินอาหารไทย ทว่า เมื่อได้ยินผมชวนให้เดินไปหาอาหารไทยกินเท่านั้น ก็ทำเอาผู้ประสานงานของผมถึงกับตาเหลือก แรกเลยผมก็ไม่เข้าใจ เขาเลยพยายามคุยให้ฟังอย่างไม่ให้ผมผิดหวังว่า อาหารไทยและสินค้าไทยสำหรับคนญี่ปุ่นนั้น ถือว่าเป็นของนอกซึ่งเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นและราคาแพง คนรวยหรือคนที่ต้องการทำวาระพิเศษให้กับตนเองเท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้กิน ว่าแล้วก็พาผมไปพิสูจน์ให้เห็นกะตาโดยไปเดินย่านขายสินค้า

พอถึงมุมที่มีอาหารไทย เขาก็ชี้ให้ดูครับ ผมต้องตกตะลึงพรึงเพริดไปด้วยจริงๆ เนื่องจากกล้วยหอมซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหวีละ ๑๐ กว่าบาทนั้น ที่ญี่ปุ่นเขาต้องซื้อกินคิดเป็นเงินไทยแล้วลูกละ ๗๐ บาท ลูกละนะครับลูกละ ขอย้ำว่าไม่ใช่ทั้งหวี  ละมุดลูกละ ๒๐-๓๐ บาท เรียกว่าซื้อมาหนึ่งลูกแล้วก็ต้องถืออย่างทนุถนอมครับ ข้าวแกงและผัดไทยจานหนึ่ง ๒๐๐-๓๐๐ บาท  พอๆกับเหล้าแม่โขงหนึ่งแบนก็ ๓๐๐-๔๐๐ บาทซึ่งในเวลานั้นที่ประเทศไทยแบนละไม่ถึง ๕๐ บาท เขาต้องซื้อความเป็นของนอกจากไทยกิน ซึ่งหลายอย่างก็มีอัตราส่วนราคาที่สูงกว่าคนไทยได้กินและใช้ของนอกที่เข้ามาขายในไทย มากทีเดียว

เพราะฉนั้น เวลาเห็นคนญี่ปุ่นหรือชาวต่างประเทศมาเจอเหล้าขาวและวิสกี้ไทยแล้วดื่มกินราวกับจะอาบแทนน้ำท่า หรือเจออาหารและผลไม้ไทยก็แทบจะนั่ง นอน เดิน หิ้วกิน ทั้ง ๒๔ ชั่วโมงเลยนั้น ก็อย่าแปลกใจเลยครับ  เช่นเดียวกับเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ผมซื้อเสื้อผ้าเพื่อให้เป็นของขอบคุณแก่เขา เขาก็ทั้งตาเหลือกและทำท่าไม่เข้าใจที่ผมดันซื้อให้ตนเองด้วย เพราะการรับรู้ของเขานั้น เขาบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองทำเสื้อผ้าชั้นดีส่งออกไปญี่ปุ่น  มันจึงเป็นของแพงสำหรับเขา แต่เป็นของที่ไม่น่าจะมีความหมายพอที่จะซื้อจากต่างประเทศให้แก่ตนเอง สำหรับผมซึ่งเป็นคนไทย  

ผมเคยได้กินและขายผัดไทยกับแม่ เป็นการทำอยู่ทำกินในระดับรากเหง้าชีวิตชุมชนซึ่งเป็นฐานการผลิตของสังคมไทย อยู่กับผืนดินและกระบวนการสังคมวัฒนธรรม ที่แปรหยาดเหงื่อ แรงกาย กับการปรับความสมดุลไปตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของถิ่นฐานให้เป็นเมล็ดข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว กระทั่งที่สุดก็เป็นผัดไทย ซึ่งถ้าหากผู้คนได้เรียนรู้ทางสังคมในผัดไทยอย่างตลอดสาย ก็จะเห็นการม้วนแผ่นดินและสังคมไทย จัดวางเป็นเส้นและส่วนผสมผัดไทยในหนึ่งจาน 

ชาวต่างประเทศทั่วโลกและผู้คนมากมายอาจกินผัดไทยเพื่อความอร่อยลิ้นหรือซึมซับความประทับใจทางสังคมให้แนบแน่นไว้กับตนเอง ซึ่งทำให้ผัดไทยเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก ส่วนผมเมื่อกินผัดไทยก็มักจะเห็นพลังความรักความเมตตาของแม่และชีวิตการอยู่ร่วมกันของผู้คน เห็นลมหายใจ จิตวิญญาณ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ผสานผสมเป็นผืนดินถิ่นฐานไทย และเห็นตนเองเป็นผงธุลีดินอยู่ในนั้น.

หมายเลขบันทึก: 290078เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2009 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)
  • เคยอ่านเจอว่ามีคนเปรียบเทียบว่า แม่เป็นทุกอย่าง พยาบาล ครู เพื่อนเล่น ศิราณี แบงค์ชาติ ..ฯลฯ
  • อ่านแล้วประทับใจในการเลี้ยงดูลูกของแม่ค่ะ
  • คนญี่ปุ่นชอบอาหารไทย..ผัดไทยเป็นเมนูโปรดเมนูหนึ่งของคนญี่ปุ่นค่ะ
  • สวัสดีครับคุณครูนกทะเล 
  • เป็นการเขียนและแบ่งปันกันอ่านเพื่อรำลึกถึงแม่ทุกคนในโลกครับ ขอบพระคุณที่แวะมาเยือนและแบ่งปันความคิดกันครับ

สวัสดีครับ

แวะมาอ่าน

แวะมาทักทายครับ

  • สวัสดีครับคุณครูดอย
  • แม่ฮ่องสอนคงเริ่มหนาวเย็นแล้วใช่ไหม
  • แวะมาเยี่ยมยามกันบ่อยๆนะครับ

สวัสดีค่ะ

เคยทำผัดไทยค่ะ แต่เส้นแข็งมาก เลยได้ทานผัดไทยกรอบ >_<

  • อ่านแล้วก็ขำครับ แต่หากใครเคยลวกเส้นก๊วยเตี๋ยวแล้วละก็ จะรู้ว่าเรื่องที่ดูเหมือนง่ายๆนี้ไม่ง่ายเลย
  • ผมก็ลวกเส้นก๊วยเตี๋ยวได้สองแบบครับ หากไม่แข็งเหมือนเคี้ยวท่อนไม้ ก็เละเหมือนข้าวต้มกลายเป็นแผ่น
  • เวลากินก๊วยเตี๋ยวเลยมักชอบสังเกตไปด้วย หากเขาลวกเส้นได้นุ่มและเหนียว ก็ว่าฝีมือดีเพราะรู้ว่ามันทำยาก

สวัสดีค่ะพี่ชาย

  • อ่านแล้วมองเห็นภาพชีวิตในชนบทเลยค่ะ โดยเฉพาะครอบครัวที่ส่งลูกเรียนหนังสือ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว (ดังคำโบราณที่ว่าปากกัด..เท้าถีบ)
  • ขนมที่ขายส่วนมากจะทำจากแป้งข้าวเจ้า เพื่อให้กินอิ่มท้อง ต้องเพิ่มพลังในการทำงานค่ะ 
  • เส้นก๋วยเตี๋ยวก็ทำเอง  วัตถุดิบหลายๆอย่างไม่ต้องซื้อ ลดต้นทุนได้มาก ของกินจึงมีราคาถูก ไม่เหมือนสมัยนี้ต้นทุนสูงต้องซื้อเกือบทุกอย่าง
  • พอได้เวลา คนในหมู่บ้านรวมทั้งทำงานอยู่ในไร่ในนา ที่เป็นลูกค้าประจำ ก็ชะเง้อรอทานกันแล้ว
  • เคยทานก๋วยเตี๋ยวผัดห่อละห้าสิบสตางค์ด้วยค่ะ
  • ว่าแต่ในภาพวาด น้องสาวของพี่วิรัตน์คนไหนคะ เป็นลูกมือคุณแม่ด้วยหรือเปล่า

              

            เห็นภาพวาดแล้ว นึกถึงอดีตเลยค่ะ

 

ที่บ้านน้องก็มีอาชีพเสริมค่ะ และเคยเป็นแม่ค้าขายขนมเหมือนกัน

 ที่นี่ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • มุมมอง ประสบการณ์ การอยู่ร่วมกัน การผสานกลมกลืน ปรับวิถีในการดำเนินชีวิตให้เข้ากันกับวัฒนธรรมของชุมชน ต้องยกให้กับคนชนบทค่ะ 
  • ภาพลายเส้นของอาจารย์ทำให้มองเห็นภาพในอดีตชัดเจนจังเลยค่ะ .. การเล่าเรื่องทำให้รู้ได้เหมือนเราอยู่ร่วมในเหตุการณ์ไปด้วยเลยค่ะ .. 
  • วิถีการอยู่ร่วมแบบครอบครัวของคนชนบทถือว่าเป็นแม่แบบของกระบวนการทำงานที่มีส่วนร่วมที่เป็นระบบ แต่ไม่มีทฤษฎีตายตัว แต่ลูกจะโดนตีตายถ้าไม่ช่วยแม่ทำงาน (คิดเอง ๙๐% ฮ่า)
  • เมื่อพูดถึง “ผัดไทย” ทำให้นึกถึงคุณพ่อค่ะ เป็นอาหารที่ท่านชอบ และท่านก็คาดหวังว่าสักวันหนึ่งลูกสาวคนนี้จะทำให้ท่านทาน แต่แหมมม๋ ผัดไทย เราๆ นี่เครื่องปรุง สวนผสม มันเย๊อะ เรื่องมากจริงๆ ก็ผลัดวันไปเรื่อย จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ทำให้ท่านทานเลยค่ะ และคงไม่มีโอกาส (เศร้าจังกะลูกดื้อ)
  • จึงทำให้คิดว่าผัดไทยแม่นั้นต้องใช้ความพยายามมากมายขนาดไหน แต่แม่คงเน้นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มากกว่าขายผัดไทยเอาร่ำเอารวย อย่างที่อาจารย์ว่าไว้หล่ะค่ะ (ถ้าวันไหน ถึงเวลาไม่มาขาย ลูกค้าคงคิดถึงแย่นะค่ะ ถึงแม้จะรู้ว่าวันนี้ก็คงไม่ได้พกสตางค์มาเหมือนเดิม) ฮ่า ...
  • "ตอนเช้าก็ให้เงาข้อศอกเริ่มกลืนเป็นเงาเดียวกับลำตัว ซึ่งจะเป็นเวลาก่อนพระตีกลองเพลเล็กน้อย และตอนบ่ายก็เป็นตรงกันข้าม คือก่อนจะเห็นเงาข้อศอกแยกออกจากลำตัว ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวนาจะหยุดนั่งพักและเริ่มทำงานในนาอีกครั้งไปจนถึงพลบค่ำ" โอ๊ยยย คิดได้ยังงัยค่ะ มันสุดยอดมากๆ บ่งบอกถึงการใช้ประสบการณ์ในการสังเกตุ ดู(กำหนด)เวลา พรุ่งนี้จะลองสังเกตุบ้างหล่ะค่ะ (แม่นี่เป็นนักวิจัยชุมชนได้อีกตำแหน่งค่ะ)

 

  • บ้านน้องจุฑารัตน์ดูร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์ดีจัง
  • อย่างนี้มีข้าวสารแค่กระสอบเดียวก็อยู่ทำงานได้เป็นหลายเดือนเลยนะนี่
  • อาจารย์ณัฐพัชร์นอนดึกเหมือนกันนะนี่
  • การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นชีวิตชุมชนในระดับพื้นฐานเลย ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นจากความเป็นส่วนรวมหมด แม้แต่รูปแบบการนั่งกินข้าวแบบสำรับข้าว ก็เป็นวิธีกินอาหารอย่างเป็นชุมชน จะกินแต่ของอร่อยคนเดียวอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ อยากกินของที่ตนชอบแต่พ่อแม่และน้องๆชอบ ก็ต้องหันเหตนเองให้ไปชอบสิ่งอื่น
  • เคยนั่งกินเกาเหลา ซึ่งพ่อแจกให้ลูกๆแต่ละคนได้ลูกชิ้นคนละลูก ซึ่งปรกติ อย่างดีก็ได้กินปลาป่นคลุกน้ำมันหมู การได้กินลูกชิ้นเลยเป็นของวิเศษ
  • พวกน้องๆพอเห็นลูกชิ้นก็ซัดก่อนเลย ก็มันเป็นของอร่อย ส่วนผมนั้น ต้องกินอย่างอื่นให้อิ่มก่อน เสร็จแล้วก็จะปิดท้ายด้วยลูกชิ้น ปรากฏว่า ระหว่างที่กินอยู่ น้องๆที่กินลูกชิ้นของตนเองหมดแล้ว ก็อาศัยจังหวะทีเผลอ ตักลูกชิ้นของผมแล้วโยนเข้าปากเรียบโร้ย บางทีวงสำรับข้าวเลยแปรเป็นวงตะลุมบอนและเกิดมวยหมู่กันเล็กน้อย สนุกและมีความสุขเวลาคิดถึงครับ
  • การทำอาหารอร่อย เป็นข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในความเป็นนักวิจัยเหมือนกันนะผมว่า 
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • คนในบ้าน(หนองบัว-หนองกลับ)เมื่อก่อนอายมากเลยไปขายผักขายปลาในตลาด แต่คนที่อายกว่าคือคนที่เป็นเพื่อนไปส่งแม่ค้า(แม่,พี่สาว,น้องสาว,ป้า-น้า ย่า-ยาย)ที่ตลาดหนองบัว
  • แม่ค้าจำเป็นก็จะไปแต่สี่ตีห้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มักกลัวภัยตามรายทาง จึงต้องให้พ่อบ้านบ้าง ลูกหลานบ้างไปส่งที่ตลาด ผู้ส่งไปไม่ถึงตลาดกลัวคนจะเห็น(เป็นได้ถึงขนาดนั้น)
  • อาตมาไม่มีประสบการณ์ แต่ได้ยินคนเขาเล่าให้ฟ้ง นึกไปก็ขำไปด้วย 
  • ที่วังทอง พิษณุโลก ผัดไทยมีชื่อเสียงมาก อร่อยดีคนรู้จักไปทั่วมีงานกินผัดไทยประจำอำเภอ
  • เขตหมู่บ้านหนองกลับจะมีแม่ค้าที่คนรู้จักดีและเป็นที่รอคอยของเด็กแต่ละวันชื่อยายล้อม แกหาบผัดไทยเดินขายทุกวันทั่วหมู่บ้าน ทั้งขายทั้งแลกข้าวสาร ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ยายล้อมมาจะได้ยินเสียงร้องนำมาแต่ไกล
  • เด็กที่กำลังเล่นเพลิน ๆ เมื่อได้ยินเสียงก็วิ่งแจ้นถึงตัวมีบ้างก็ซื้อบ้างก็ใช้กะละมังตักข้าวสารไปแลกผัดไทยยายล้อม

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ชาวบ้านส่วนใหญ่ นอกจากชาวไทยจีนที่ทำมาค้าขายและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นแล้ว มักสอนเด็กๆว่าอย่าทะเล้นและกล้าแสดงออกต่อผู้ใหญ่หรือแขกที่มาเยือน เพราะเป็นการทะเล้น ไม่มีสัมมาคารวะ
  • เวลาผู้ใหญ่นั่งคุยกันก็ห้ามไม่ให้เข้าไปใกล้ หากเป็นกลางค่ำกลางคืนก็ต้องให้เข้าไปนอน
  • เด็กๆจึงไม่ค่อยมีทักษะในการสร้างสังคมกับผู้อื่น ย่อมอายและจัดความสัมพันธ์-ปฏิสัมพันธ์ไม่ถูก
  • การได้ประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการติดต่อและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในวัยเด็กจึงมีส่วนสำคัญมากครับ 
  • ผมเองนอกจากก็เป็นเหมือนกันเมื่อตอนเด็กแล้ว ตอนโตหรือแม้กระทั่งบัดนี้ก็ยังอายและปอดแหกทุกทีเวลายืนต่อหน้าคน เป็นเรื่องที่พูดไปใครๆก็ต้องประหลาดใจ เพราะในที่ทำงานผม เวลาต้องการคนพูดและดำเนินรายการที่ต้องพูดกับคน(นี่ผมก็กำลังนั่งเตรียมไปพูดบรรยายอีกในวันนี้นะครับ) ก็มักจะเดินมาหาผมทั้งหัวหน้า ลูกน้อง และเพื่อนๆร่วมงาน ใครๆคงไม่รู้ว่าผมกลัวและประหม่าทุกครั้ง อย่าว่าแต่เดินไปขายของเลยครับ

มาอ่านเรื่องราวประทับใจครับ...

"ผัดไทย" อาจจะเป็นเพียงแค่อาหารจานหนึ่งสำหรับคนทั่ว ๆ ไปนะครับ...

แต่สำหรับความเป็นลูก ผัดไทยเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในใจลูกนะครับ...

ขอบคุณมากครับ...

  • สวัสดีครับคุณดิเรก
  • ขอบคุณที่แวะมาเยือนและแบ่งปันความคิดดีๆไว้ให้กันครับ
  • ตอนนี้ยังเดินได้ตัวตรงและไม่สะดุ้งตื่นกลางดึกใช่ไหมครับ คนที่กำลังเรียนป.เอกไปสักระยะหนึ่งมักชอบเดินคิดเป็น Frame work และเป็นชุดโมเดลวิชาการ เหมือนไม่สนใจโลกรอบข้าง หลังก็เลยจะงุ้มๆ ฮ่าาา สู้ๆๆ
  • มีความสุขนะครับ
  • ขนมหวานเย็นของแม่เลี้ยงช่วยพ่อหาสตางค์มาให้ลูกๆเรียนค่ะ..

     

    ปล.พิมพ์ผิดค่ะครูม่อยแก้เป็น..ขนมหวานของแม่ช่วยพ่อหาสตางค์เลี้ยงลูกๆมาจนโตและส่งลูกเรียนได้ดีทุกคนค่ะ..

    • สร้างคุณครูอ้อยเล็กให้เด็กๆด้วย
    • พื้นฐานชีวิตอย่างนี้ก็เป็นจุดแข็งอีกแบบนะครับ ทำให้คุณครูอ้อยเล็กเป็นครูชีวิตให้แก่เด็กได้ดี ดูจากสิ่งที่สะท้อนเป็นผลงานเด็กและบรรยากาศการเรียน-การปฏิบัติของเด็ก จากรูปถ่ายน่ะครับ 

    เท่าที่ทราบมีลูกๆพยายามจะสืบทอดฝีมือการผัดไทยที่มีรสชาดเอร็ดอร่อย ลงทุนขายผัดไทย หอยทอดหน้าธนาคารกสิกรไทยสาขาวัดรางบัว ภาษีเจริญ..เป็นการลองผิดลองถูกของชีวิต แล้ววันหนึ่งก็ค้นพบหนทางของตัวเองซึ่งอาศัยพื้นฐานของพ่อและแม่ที่เป็นต้นแบบ ความรู้สึกเก่าๆหวนกลับมาเมื่อได้เห็นและอ่านบทความของน้อง เสมือนเป็นกระจกส่องมองเห็นการดำเนินชีวิตที่มีทั้งผิดพลาดและสำเร็จ ใช้เป็นเครื่องเตือนสติในการดำเนินชีวิตต่อไป...ยินดีกับบทความและความคิดเห็นที่ทุกคนมอบให้กับน้อง

  • สวัสดีครับพี่ทัศน์ เดาเอาว่าเป็นพี่ชายผมน่ะครับ คนที่สามารถคุยอย่างนี้ได้ก็คงเป็นใครไปไม่ได้
  • จริงด้วยครับ ผมก็เพิ่งนึกได้ว่าพี่เคยเป็นพ่อค้าผัดไทยและหอยทอด แล้วก็มีที่มาจากการเคยช่วยพ่อ-แม่ ขายผัดไทย
  • อันที่จริง ผมตั้งใจเขียนและจะทำเป็นหนังสือให้แม่แจกแก่ญาติๆ พี่ๆ น้องๆ และชุมชนที่บ้านเรา แถวบ้านไม่มีอะไรที่จะช่วยเสริมพลังกันได้ดีไปกว่าให้การเรียนรู้ตนเองในแง่ที่จะสร้างกำลังใจ เชื่อมั่นตนเองและมุ่งการพึ่งตนเองก่อนเดินไปขอความช่วยเหลือคนอื่น มีส่วนร่วมในการทำสิ่งต่างๆให้สังคมพร้อมไปกับได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีที่สุด แต่อยากทำให้มีความหมายที่สุดโดยเผยแพร่จริงๆไป ๑ ปี แล้วก็รวบรวมทำให้แม่กับชุมชน มีภาพประกอบและเกร็ดประวัติศาสตร์ชุมชนด้านการพัฒนาเรื่องสาธารณะ คนดั้งเดิมอ่านแล้วจะได้ภูมิใจและมีความสุขที่คนรุ่นหลังจดจำรำลึก และสืบทอดไว้ให้เป็นเรื่องเป็นราว
  • เลยก็ดีแล้วครับที่พี่เข้ามาอ่าน ผมขอพี่และน้องๆไว้แล้วว่าขอเขียนอะไรก็ได้ให้แม่และบ้านเกิดสัก ๒-๓ หน้า ไม่ต้องรีบหรอกครับ 
  • ท่านอื่นๆที่เข้ามาคุยนั้น กำลังนึกอยากขออนุญาตอยู่นะครับว่าจะทำเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่คงรูปแบบนี้ไว้เลย
  • ผมดีใจและมีความสุข ที่พี่อ่านแล้วมีกำลังใจ ได้ทบทวนและตกผลึกประสบการณ์ดีๆให้กับตนเองครับ การได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต เป็นทุนชีวิตที่ดีที่สุดครับ
    • อ่านคอมเมนต์ชื่อ พี่ชาย แล้ว อ.วิรัตน์ตอบ เกิดอาการ ปลื้ม ปิติ และน้ำตาคลอเลยค่ะ  ชื่นชมที่พี่ชาย เข้ามาอ่านแล้วก็เพิ่มเติม ต่อยอดบรรยากาศที่ได้จากบทความของอาจารย์ค่ะ
    • เป็นการสื่อสาร ถ่ายทอดร่วมกัน ของเครื่อญาติ พี่น้อง มิตร บุพการี ด้วยลมหายใจจริงๆค่ะ
    • สวัสดีครับคุณ kumfun
    • คอมเมนต์ของคุณkumfun ทำให้แว๊บขึ้นมาในใจถึงกลอนวรรคหนึ่งในบทกวีชุดเพียงความเคลื่อนไหวของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ทำให้ท่านได้รางวัลซีไรต์เมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน ที่ว่า ."....เพียงใบไม้พลิ้วไหวยามลมวก ก็รู้ว่าในอกมีหัวใจ......"
    • ความเป็นนักสื่อสารสุขภาพที่ละเอียดอ่อน สามารถหยั่งใจเขาใจเราได้นี่ เหมาะที่จะทำงานกับชาวบ้านครับ สมกับเป็นเครือข่าย นสส.แพร่ครับ
    • ขอบพระคุณค่ะ
    • รอความเคลื่อนไหวจากพี่น้องท่านอื่นของอาจารย์ด้วยเช่นกันค่ะ
    • ได้สร้างเครือข่ายต่อในพื้นที่อำเภอสองค่ะhttp://gotoknow.org/blog/songhosp/282077

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท