สรุปประเด็นการพัฒนาองค์กรสู่การเป็น "Learning Organization"


.... ถือได้ว่าบรรยากาศโดยรวมค่อนข้างดีครับ ถึงแม้ว่าผู้ที่เข้าร่วมจะมีพื้นฐานที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน ช่วงอายุก็ค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ 20 กว่า ไปจนถึง 50 กว่า เรียกได้ว่ามีความหลากหลายมาก แต่สิ่งที่น่าประทับใจก็คือทุกคนล้วนเป็นผู้ที่มีจิตใจที่เปิดรับ ....

         เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "KM & LO" ขึ้นที่โรงแรมปริ้นเซส หลานหลวง มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 62 ท่าน มาจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สนง.ศาลยุติธรรม สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กฟผ. มศว. ม.รังสิต กศน. สถาบันพัฒนาข้าราชการ กทม. ฯลฯ

        ในสองวันนี้ ผมได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรดำเนินรายการ ต้องใช้ทั้งการบรรยาย การทำกิจกรรม การเล่าเรื่อง (Story-telling) การนำเสนอกรณีศึกษาผ่าน Vedio มีช่วงเวลาทำสมาธิ และฝึกสติเล็กๆ น้อยๆ ..... ถือได้ว่าบรรยากาศโดยรวมค่อนข้างดีครับ ถึงแม้ว่าผู้ที่เข้าร่วมจะมีพื้นฐานที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน ช่วงอายุก็ค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ 20 กว่า ไปจนถึง 50 กว่า เรียกได้ว่ามีความหลากหลายมาก แต่สิ่งที่น่าประทับใจก็คือทุกคนล้วนเป็นผู้ที่มีจิตใจที่เปิดรับ ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดำเนินไปอย่างมีสีสัน จากการนำเสนอของทุกกลุ่ม ผมสรุปประเด็นร่วมที่สำคัญ ได้ดังนี้:

         1. วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายในเรื่อง LO นั้นจะต้องชัดเจน หากเป็นไปได้จะต้องให้คนทั้งหลายได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย และได้ร่วมวางแผนด้วย
         2. จากภาพใหญ่ที่ได้ในข้อที่ 1 จะต้องโยงลงมาให้แต่ละหน่วย (แต่ละคน) เห็นบทบาทในส่วนของตน คือต้องเชื่อมงานในส่วนย่อยนี้ให้ต่อเข้ากับภาพใหญ่ได้
         3. ต้องมีแผนพัฒนาคน เตรียมเรื่องการปรับกระบวนทัศน์ไปพร้อมๆ กับการสร้างจิตสำนึกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้คนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เน้นการทำงานเป็นทีม
         4. ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานเป็นปัจจัยที่สำคัญ ระบบการประเมินและการให้รางวัลจะต้องโปร่งใสยุติธรรม
         5. สิ่งที่จำเป็นและท้าทาย คือการสร้างบรรยากาศแห่งมิตรไมตรีให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน ทำให้คนไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
         6. การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น สภากาแฟ Morning Meeting ถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารูปแบบที่เป็นทางการ
         7. การใช้ ICT นั้นมีได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน Web, e-mail Loop, e-Library หรือผ่าน Outlook เป็นต้น
         8. การสร้างคลังความรู้ที่เป็นระบบ จะช่วยให้การเข้าถึงและการแพร่กระจายความรู้เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และได้ผล
         9. การส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจังจากผู้บริหารระดับสูงเป็นสิ่งที่สำคัญค่อนข้างมาก
        10.  KM จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานตามปกติ ควรนำ KM เข้าไปอยู่ในแผนงาน หรือ Roadmap ของหน่วยงาน

        เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ จริงๆ แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ผมคงต้องขอให้ท่านทั้งหลายที่ได้เข้าร่วมการสัมมนา ช่วยเสริมหรือเพิ่มเติมในช่อง Comment ด้วยนะครับ ว่าท่านได้อะไรจากสองวันนี้บ้าง (สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามา Comment เป็นครั้งแรก หลังจากที่ท่านพิมพ์ชื่อและข้อความของท่านเสร็จแล้ว ท่านต้องพิมพ์ตัวเลขในช่องข้างล่างให้เหมือนกับตัวเลขที่แสดงอยู่ข้างบนเพื่อ Confirm การ Comment ของท่านก่อนที่ท่านจะกดปุ่ม "ตีพิมพ์" นะครับ)

หมายเลขบันทึก: 28616เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

 Creation Of Adam เรียน ท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์

 ได้ความรู้ดีมากเลยครับ





  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ประพนธ์ค่ะได้ความรู้เพื่อนำมาปรับใช้ค่ะ  และรอผู้เข้าร่วมท่านอื่นเข้ามาเพิ่มเติมนะคะ

 หากต้องการให้แก่นการจัดการความรู้ 2 วงที่เชื่อมกัน  วิ่งได้ต่อเนื่องอย่างอินฟินีตี้(infinity)...................คนในองค์กรนั้น ต้องรู้ ปฏิบัติ "ให้" มากกว่า "รับ"..................... LO จึงจะงอกเงย ได้อย่างงดงาม และออกดอก ผล คืนมาสู่องค์กร ให้เติบโต อย่างร่มเย็น และยั่งยืน 

พี่ๆมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ 

ผมก็รอท่าน (พี่) คนอื่นๆ อยู่เหมือนกับคุณเจริญศรี ...ถ้าไม่เขียนตรงนี้ ...จะเปิดเป็น Blog ของตนเอง ก็ยิ่งดีครับ ...อย่าลืมบอกให้พวกเรารู้บ้างก็แล้วกันจะได้เข้าไปอ่านได้

อาจารย์ขา   นำแบบไม่นำแปลว่าทำให้ดู   จะให้ถูกคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่คะ   เอาไปทายเด็กๆค่ะ   เท่าที่จำได้น่าจะแปลว่า empowerment   เรียนอาจารย์เฉลยหน่อยค่ะ

                                 ลูกศิษย์ผู้สูงอายุ

ธีระวัฒน์ เยี่ยมแสง
    อาจารย์ครับการจัดการความรู้ในองค์กรโดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ หัวใจสำคัญที่สุดอยู่ที่ผู้นำสูงสุดในองค์กรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้กิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นบรรลุเป้าหมาย และผมเชื่อว่าหากสมาชิกในองค์กรไม่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ประจำตัวแล้ว ภาษาชาวบ้านที่ว่าเต้นตามนาย การจัดการความรู้ในองค์กรคงไม่ยั่งยืนเป็นแน่  ผมกำลังใช้วิธีการจูงใจให้เพื่อนร่วมงานรู้จักศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อพัฒนางาน คนใดมีผลงานที่ดีมีความประทับใจนำมาเล่าสู่กันฟัง ขณะที่รับประทานกาแฟตอนเช้า หรือรับประทานอาหารกลางวันตามโอกาสเหมาะสม ระยะเป็นการเริ่มต้นหากดำเนินการไปสักระยะ 3 เดือนจะเล่าสู่อาจารย์ฟังอีกครั้ง ครับผม.....
Empowerment สำหรับผมแล้วเป็นการเพิ่ม "พลังชีวิต" ให้กับผู้ปฏิบัติ ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ มีคุณค่า มีความหมาย สามารถตัดสินใจเองได้ ... เป็นการนำแบบไม่นำ ..ทำ KM แบบไม่ทำ ครับ ...ไม่รู้ว่าจะงงกว่าเดิมหรือไม่ กับการสอนแบบไม่สอน อย่างที่กำลังทำอยู่นี้
เข้าใจว่าเข้าใจแบบไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจถูกหรือไม่ค่ะ
แสดงว่าอาจารย์หมออัจฉรา "เข้าใจโดยที่ไม่ต้องพยายามที่จะเข้าใจ" ใช่ไหมครับ ....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท