จิตสำนึกเรื่องคุณภาพ 1


ดิฉันจะทยอยเล่าเก็บไว้ว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างในคณะที่ดิฉันทำงานอยู่ ที่แสดงว่าบุคลากรส่วนใหญ่ มีจิตสำนึกเรื่อง "คุณภาพ" เผื่อว่า เวลากรรมการมาประเมิน ดิฉันจะได้ เปิด diary นี้ให้ท่านดูเป็นตัวอย่าง

          ในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามแบบของทบวงเดิม (ซึ่ง มน.ยังใช้อยู่) มีเรื่องที่เป็นองค์ประกอบคุณภาพเรื่องสุดท้าย คือ องค์ประกอบที่ 9 ระบบและกลไกในการประกันคุณภาพ

          ในองค์ประกอบนี้  มี ดัชนีชี้วัด อยู่ข้อหนึ่ง คือ ประสิทธิผลของการประกันคุณภาพภายใน

          ดัชนี นี้ สำหรับ มน. ได้จำแนกระดับคุณภาพออกเป็น 5 ระดับ คือ

 (1)

มีการจัดระบบประกันคุณภาพภายในที่เอื้ออำนวยต่อการตรวจสอบและประเมินคุณภาพโดยหน่วยงานภายนอก 
 (2) มี (1) + มีความพร้อมรับการตรวจประเมินจากภายนอก
 (3) มี (2) + มีการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น
 (4) มี (3) + มีการพัฒนาการดำเนินงานตามภารกิจทั้ง 4 ด้าน  
 (5) มี (4) + บุคลากรส่วนใหญ่มีสำนึกเรื่อง "คุณภาพ" และถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน 

          ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 ยังไม่ไหร่ พอจะหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรมได้ แต่ข้อสุดท้าย ระดับสูงสุดนี่แหละค่ะ ที่วัดยาก หาหลักฐานไม่พบ โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้ประเมินภายนอกที่มาตรวจสอบประเดี๋ยวประด๋าว  จะไปรู้ซึ้งถึงใจถึงจิตสำนึกในองค์กรนั้นๆ อย่างไรได้  ดิฉันเห็นใจท่านผู้ประเมินมากค่ะ ที่จะต้องประเมินในข้อนี้

          ฉะนั้น ดิฉันจะลองใช้วิธีสะสมแต้มใน Blog นี้ดู หมายความว่า ดิฉันจะทยอยเล่าเก็บไว้ว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างในคณะที่ดิฉันทำงานอยู่  ที่แสดงว่าบุคลากรส่วนใหญ่ มีจิตสำนึกเรื่อง "คุณภาพ"  เผื่อว่า เวลากรรมการมาประเมิน ดิฉันจะได้ เปิด diary นี้ให้ท่านดูเป็นตัวอย่าง


          เมื่อวันที่  7  พฤษภาคม ที่ผ่านมา  คุณเกษม พิทักษ์สืบสกุล พนักงานขับรถประจำคณะสหเวชศาสตร์ เล่าให้ดิฉันฟังว่า สัปดาห์ก่อน เขาสังเกตเห็นความผิดปกติของรถตู้ของคณะ  จึงขับไปให้ที่ศูนย์ซ่อมของบริษัท... (ยี่ห้อของรถคณะ) ตรวจสอบและตีราคา  ปรากฎว่า ช่างของบริษัทแจ้งว่า ระบบไฟคอนโทรลเสีย ต้องเปลี่ยนทั้งกล่อง เป็นเงิน หมื่นกว่าบาท

          คุณเกษม รู้สึกว่า แพงมาก จึงลองขับไปให้อู่ที่รู้จักเช็คดูอีกที นายช่างของอู่นี้ก็ดีเหลือเกิน ไล่สายไฟในกล่องไฟ จนพบความผิดปกติ และซ่อมให้จนใช้การได้ เสียค่าแรงตรวจสอบระบบไฟคอนโทรล หัวเผา และรอบเครื่อง ไปเพียง 650 บาท  เท่านั้น

          อย่างนี้ จะเรียกได้ไหมคะว่า คุณเกษม มีจิตสำนึกเรื่อง "คุณภาพ" และถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน จะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม ดิฉันขอยกย่องชมเชย คุณเกษม เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ประหยัดงบประมาณของหน่วยงาน ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนตาดำดำอย่างพวกเรา โดยไม่จำเป็นต้องรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแต่ประการใด ขอบคุณ คุณเกษม มากนะคะ

          หูตาของดิฉันอาจไม่กว้างขวางพอ หาก ชาวสหเวช-มน. ท่านใดประสบกับเหตุการณ์ ที่น่าประทับใจเช่นนี้ ขอความกรุณาเล่าสู่กันฟัง ใน blog ชุมชน:สหเวช-มน. ด้วยนะคะ และขอขอบคุณล่วงหน้า มา ณ ที่นี้ ......

 

    

หมายเลขบันทึก: 27904เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
มีคนถามผมมากว่าจะเอาอะไรมาเป็นหลักฐานในการประเมินในประเด็นนี้ ผมขอตอบในที่นี้ย่อ ๆ อีกครั้งว่า จิตสำนึก สามารถสัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยจิต ถ้าองค์กรไหนมีจิตสำนืกในเรื่องคุณภาพ คณะผู้ประเมิน (ปกติ 4 คน) จะสามารถสัมผัสหรือรับรู้ได้ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาประเมินแล้ว (จากการประสานงานและจากการจัดทำ SAR) และก้าวแรกที่เข้ามาในคณะก็อาจจะบอกอะไรบางอย่างได้แล้วจากบรรยากาศของการอยู่ร่วมกัน ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนทุกภาคส่วนขององค์กร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้คณะผู้ประเมินตัดสินใจได้ในที่สุด

          ขอบคุณอาจารย์ วิบูลย์มากนะคะ

          ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประการ

          จริงๆแล้ว คะแนนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอกค่ะ

          เพราะใจคนนั้น ยากแท้หยั่งถึง (ข้อนี้พูดในฐานะผู้ถูกประเมิน หยั่งไม่ถึงใจผู้ประเมิน)

          หรือ สิ่งที่เห็นทั้งด้วยตาและด้วยใจ ในเวลาอันจำกัด หลายครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็น (ข้อนี้พูดในฐานะผู้ประเมิน โดยเฉพาะที่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน)

           สิ่งดีดี  เหตุการณ์ดีดี ผู้คนดีดี ที่เกิดขึ้น หรือที่ดิฉันประสบ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ในแต่ละวัน ดิฉันอยากเล่าให้ฟัง และอยากฟังจากที่ทุกท่านเล่าด้วยค่ะ   

           

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท