อิสระแห่งตัวตนของตน(เอง)


เหตุการณ์เช่นนี้ ผมถือว่าต้องเลือกสายกลางคือ “อิสระแห่งตัวตนของตน(เอง)”

     ช่วงหลายวันมานี้ผมสังเกตเห็นหลาย ๆ บันทึก กล่าวถึงเรื่องการแสดงตนออกมาในสังคม GotoKnow.org มีหลายความเห็น หลายแบบ ทั้งขวาสุด ซ้ายสุด และกลาง ๆ จริง ๆ แล้วเมื่อผมอ่านทุกบันทึก ผมยังตัดสินไม่ได้เลยว่าเจ้าของบันทึกจะเอาอย่างไรแน่ เหมือนลังเลอยู่ เหตุการณ์เช่นนี้ ผมถือว่าต้องเลือกสายกลางคือ “อิสระแห่งตัวตนของตน(เอง)”

     เห็นด้วยครับที่ อ.ดร.จันทวรรณ ได้นำเสนอออกมาที่บันทึก ชื่อ-นามสกุล มีไว้ดี เพื่อร่วมกันสร้างและค้นหาผู้ชำนาญการของไทย โดยเฉพาะในฐานะที่อาจารย์และทีมงาน ได้พยายามพัฒนา GotoKnow.org และผมมองว่าที่อาจารย์ได้พยายามสื่อเชิงขอร้องที่ไม่บังคับให้ต้องทำ ก็เพื่อการสร้างสรรค์ KM ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในเบื้องต้นที่ได้เริ่มพัฒนาขึ้น ให้เป็นคลังความรู้ที่น่าเชื่อถือพอที่จะนำไปหมุนวนปรับใช้กันต่อ ๆ ไปได้

     แต่ก็นั่นแหละครับความหลากหลาย ยังไงก็หลายหลาก ก็เป็นธรรมดาขอให้เป็นธรรมชาติไป ใครใคร่จะเปิดเผยในทันทีก็ได้ ในกาลต่อมาก็ดี หรือจะไม่เปิดเผยตลอดไปก็ไม่ว่ากัน ผมมองเอาที่ตัวเนื้อความรู้เพื่อนำมาพิจารณาว่าใช้ได้ไหม (นำไปใช้) หาก Get ได้ และนำไปใช้ ก็อ้างถึงไปตามนั้นเท่านี้อ้างถึงได้ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดจากผู้นำไปใช้ที่อ้างถึงไม่ครบถ้วน กลับเป็นเพราะผู้ให้ข้อมูลเองที่ให้ไว้ไม่ครบ (ผมให้ความสำคัญกับการอ้างถึงมาก)

     ที่เขียน คห.นี้ก็เพื่อจะยืนยันว่าไม่คิดมากจะยังไงก็ได้ แต่ดูที่เนื้อหาเป็นหลัก โดยเฉพาะการ ลปรร.นี่ ผมว่าเรา (ผู้เสพ) อ่านถึงก็รู้ครับว่าจะเลือกตัดสินใจกับข้อมูลนั้นอย่างไร เชื่อ ไม่เชื่อ เอาอย่าง นำไปปรับใช้ หรือ แค่ลองดู ฯลฯ ผมว่าให้เครดิตแก่ผู้เสพ (แต่ละคน) ดีกว่าว่าจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนตัวผมเองโดยส่วนตัว พร้อมที่จะเปิดเผยทุกอย่าง เท่าที่จะไม่ถูกมองว่าเกินจริงครับ ประมาณว่าเจียม ๆ นิดนึง ที่สำคัญข้อมูลอันเป็นเท็จไม่ใช้โดยเด็ดขาดครับ

     ปล.อยากจะบอกว่าหากได้เข้ามา ลปรร.กันอย่างคุณไร้นาม มาด้วยความจริงใจ (ตามที่รับรู้) ผมจะยินดีมากแม้ไร้นาม หรือไร้ตัวตน ผมไม่อยากแสดงความคิดเห็นหรือเขียนเป็นบันทึกตั้งแต่แรกในประเด็นนี้ ก็ด้วยแคร์ครับ แคร์ว่าคุณไร้นามจะหายไปจาก GotoKnow.org ด้วยใจจริง

หมายเลขบันทึก: 26343เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

การสร้างความรู้ไม่ควรจำกัดขอบเขต
การแลกเปลี่ยนไม่ควรดูที่ตัวบุคคล
ควรดูที่ความคิดเห็นมากกว่า

คุณแวะมา

     เห็นด้วยครับแต่ขอเพิ่มเติมว่าดูจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติจริง ลงมือทำจริงด้วย จะยิ่งดีเยี่ยมเลยครับ

อย่าให้ความสำคัญกับตัวตนและรูปกายภายนอก
มากกว่าจิตใจข้างในของคน

คุณชายขอบ

ขอขอบคุณสำหรับความเห็นรวมทั้งย่อหน้าสุดท้ายที่ดูเหมือน "อยากคุย ลปรร. กับไร้นาม แม้จะไม่ต้องรู้ชื่อเสียงเรียงนามกัน แม้ว่า จะเป็นการเขียนเหมือนจะอนุญาตอิสระกับไร้นาม แต่เป็นบันทึกทรงคุณค่า ที่แท้แล้ว ให้อิสระ กับตัวเองและผู้อื่นๆ

คุณชายขอบคงเคยนั่งรถไฟสายยาวๆ และคุยกับคนแก่ๆ ใส่เสื้อปอนๆ ที่นั่งตรงข้าม ที่ "สะเออะ" พูดเรื่องต่างๆ ปรัชญาบ้าง ความเห็นการเมืองบ้าง ขัดแย้งคุณบ้าง เห็นด้วยกับคุณบ้าง เย้าแหย่คุณเป็นบางครั้ง และแถมบางที "เสือก" ใช้คำสวยๆ ละมุมละไม เกินฐานะ พร้อมกับนึกอยากรู้ว่าคนแก่มีญาติพี่น้อง มีครอบครัว มี"อะไรๆ" ไหม แต่เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง การคุย ออกรส ต่างหากที่ทำให้คุณชายขอบบอกกับตัวเองว่า "ได้เรียนรู้" และวันหนึ่งที่คุณชายขอบจะอ้างคำพูดของคนแก่ คุณชายขอบก็อาจจะเริ่มว่า

"ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...เคยนั่งรถไฟพร้อมกับเพื่อนผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง เพื่อไปทำงานยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ เพื่อออกไปร่วมพัฒนาความรู้ให้กับสังคม เพราะเชื่อว่า ในสังคมมีผู้รู้มากมายที่เรายังไปไปถึง ค้นไม่เจอ

เราหลายคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยแรงศรัทธาทำให้เรารวมตัวกันอย่างรวดเร็วและปิติที่ได้เจอ "คนคอเดียวกัน" เราต่างคารวะกัน และหลายๆคนที่เราเคยได้ยินแต่ชื่อ ก็ทำให้ "ทึ่ง" ที่เรามีโอกาสเจอตัว "เป็นๆ"

เราต่างพยายามมอง อ่าน ป้ายชื่อ บนหน้าผากของเขาเหล่านั้น และจดจำทุกคำพูดของพวกเขาเพื่อเอาไปอ้างต่อ

บนรถไฟสายที่ทอดยาว กลับมีคนแก่หนึ่งคนขึ้นขบวนมาผิดตู้ เข้ามานั่งปนคนอื่น ด้วยชุดอันเก่าปอน แถมยังเลือกที่จะนั่งทำเฉยไม่ยอมหยิบป้ายมาเขียนชื่อตัวเองติดตรงหน้าผากแต่สอดแทรกตัวเองเข้าไปในวงสนทนา

คนแก่ถูกเบียดตัวลีบและเบียดออกจากวงสนทนาเป็นระยะๆ มีเพียงคนสองคนที่หันไปเห็นและเอื้อเอ็นดูเข้าไปพูดคุย

หลายคนยัดเยียดป้ายให้คนแก่เขียนชื่อ พร้อม "เยาะเย้ยไยไพ" ว่า เรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ก็ไม่กล้าหาญพอ แล้วจะรับผิดชอบคำพูดได้อย่างไร

เมื่อขบวนรถไฟเริ่มรับผู้คนมากขึ้น ขบวนการกลุ่มจึงเริ่มออกมากดดัน ด้วยสองทางเลือก ถ้าจะนั่งอยู่ในตู้นี้ ก็ติดป้ายชื่อ"ซะ" หรือนั่งก็ได้ แต่ "คงรู้ตัวนะว่าจะทำตัวสุภาพอย่างไร" เพราะไม่งั้น คนจ่ายเงินค่าโดยสารจะเดือดร้อน

คนแก่ไม่เหลือบตามองกระดานชื่อ เหมือนทุกครั้งที่เข้าวงสนทนาก็ไม่เคยมองว่าผู้พูดมีชื่ออะไร และสุดท้ายคนแก่ก็ตัดสินใจลงจากตู้รถไฟคันนั้น  เพราะไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งของผู้ทรงเกียรติที่กำลังจะทำงานยิ่งใหญ่ทั้งหลาย

คนแก่กระซิบกับคนสองคนที่เอื้อเอ็นดูว่า คนแก่มีแรงปรารถนาว่า วันหนึ่งผู้คนที่บอกว่า สนใจและเชื่อว่าทุกคนในสังคมมีความรู้ จะสนใจการเรียนรู้จากคนที่ไม่มีชื่อ อย่างแท้จริง

...

จากนั้น ขวบนรถไฟก็ออกเดินทางต่อไป....และทิ้งคนแก่คนนั้นไว้ในความทรงจำที่เลือนๆ

 

เรียน..คุณ"ไร้นาม" และคุณ"ชายขอบ"

อึ้งคะ...จึงเขียนถึง"ชายชราที่ไร้ป้ายชื่อ"

 

ดิฉันก็ชอบที่คุณไร้นามเขียนด้านบนนะค่ะ อ่านแล้วซึ้งและเข้าใจความหมาย

อยากให้สังคมเป็นสังคมที่ไม่ต้องมองกันที่ป้ายชื่อเช่นกันคะ แต่ก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป

แต่ดิฉันเกรงว่า สำหรับสังคม on-line เพื่อการเรียนรู้แล้วนั้น การไม่มีป้ายชื่ออาจจะนำมาซึ่งการล้มสลายของจุดยืนของสังคมได้โดยง่าย จริงหรือไม่จริงนั้น พบเห็นกันได้ทั่วไปในเว็บบอร์ดหลายที่

คนที่พร้อมและยึดมั่นในการให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่มีชื่อนั้น น่าศรัทธาอย่างยิ่ง และมี Postive thinking ที่ชัดเจน แต่เขาคงต้องอาศัยความพยายามมากกว่าคนอื่นๆ ในเวลานี้

หากอยากให้สังคมแห่งนี้เกิดการเรียนรู้กันโดยไม่ต้องมีป้ายชื่อ ดิฉันขอสนับสนุนให้ท่านยืนหยัดในจุดยืนของท่านต่อไปเถิดคะ เพื่อทำให้ผู้อืนเห็นว่า ความรู้จากคนไม่มีชื่อก็เป็นความรู้ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง

ปล. ดิฉันอาจจะเขียนอธิบายไม่เก่งในเรื่องนี้นะคะ แต่ดิฉันเข้าใจว่าคุณคิดอย่างไร เพราะในโลกแห่งความจริง ดิฉันก็ไม่ชอบแขวนป้ายชื่อเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ ท่านในที่นี่คะ

อิสระแห่งตัวตนของตน(เอง)นั้น น่าจะไม่ใช่ทางสายกลาง เป็นมิจฉาทิฐิหรือเป็นสัมมาทิฐิ ลองใช้ปัญญาแห่งการละวางตริตรองดู

เรียน คุณแวะมาพบ

     หากจะให้เข้าใจ ขอความกรุณาอธิบายช้า ๆ ชัดครับ จะได้เข้าใจ

คุณบัวใต้น้ำ

     เห็นด้วยครับ แต่จิตใจที่แท้จริงนะค้นหายาก สู้ดูจากกายภายนอกไม่ได้ง่าย ๆ อย่างนี้แหละจึงเป็นอะไรที่ปลอม ๆ เสมอ

คุณไร้นาม

     หากไร้นามจะหายไป ผมคนหนึ่งครับที่ทั้งเสียดายและเสียใจ งานของคุณให้ข้อคิดดี ๆ และต่อยอดด้วยคำถาม และมีอีกหลายคำถามเปิดประเด็นที่ผมยังไม่ได้ตอบ รอผมเพื่ออ่านต่อด้วย จะหาเวลาเขียนตอบให้ครับ แต่ขออิสระเงื่อนไขเวลานะครับ

Dr.Ka-poom

     ขอบคุณมากนะครับสำหรับบันทึกที่แยก (ตัว) ไปเขียนไว้ ตามไปอ่านแล้วครับ ดีมากเลย

อ.ดร.จันทวรรณ

     ผมเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์พยายามทำและพยายามสื่อออกมาสู่สังคม GotoKnow ตามที่กล่าวไว้ในบันทึกและ คห.ในบันทึกอาจารย์ก่อนหน้านี้ แต่คุณไร้นามนี่เป็นกรณีศึกษาที่อาจารย์ช่วยพิจารณาเรื่อง Version 2 ด้วยครับ

คุณไร้นาม อีกครั้ง

     จากถ้อยคำนี้ ที่เขียนไว้ "มีเพียงคนสองคนที่หันไปเห็นและเอื้อเอ็นดูเข้าไปพูดคุย" แม้จะไม่ใช่คุณไร้นาม ผมและ Dr.Ka-poom ก็ยังทำหน้าที่นี้ด้วยใจรักครับ กับทุกคนที่เข้ามาเพื่อปกปักรักษาให้อยู่สร้างคลังความรู้กันต่อไปครับ คุณไร้นามจึงไม่น่าจะหายไปไหน หากเราได้ชักชวนแล้วก็จะชักชวนต่อครับ

คุณชายขอบ  คุณไร้นาม  ดร.ka-pook และ  คุณแวะมาพบ  ครับ

ผมเห็นด้วยนะครับ  กับการให้ความสำคัญกับความคิด  ความรู้สึกและคุณค่าของสิ่งที่ออกมาจากตัวตน  มากกว่า  การแสดงตัวตน  ว่าเป็นใคร  สำหรับสังคมปกติทั่วๆ  ไป แต่.....

ในกรณีของ gotoknow.org  นั้นผมเห็นด้วยกับ  อาจารย์จันทวรรณ  นะครับ  เนื่องจาก

ในสังคมจริงๆ เรารู้  เราเห็น  เราพบหน้า  และทุกคนรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเองด้วยตัวตนของตนเอง  ผิด  ถูก  แสดงออกไปอย่างไร  ก็ได้รับผลกระทบอย่างนั้น  แต่ในสังคม  gotoknow.org   นั้น  เราไม่มีตัวตนมายืนต่อหน้านะครับ  ผมเชื่อว่า  สังคมตรงนี้ไม่ได้ต้องการป้ายชื่อในแง่ว่า  คุณค่าของป้ายชื่อนั้นว่ามีดีกรี (มีดี) อะไรหรอกครับ  แต่เราต้องการแค่ให้รู้ว่าคุณคือใคร  มีชื่อว่าอะไร  คุณคิดและเขียนมาอย่างไรมากกว่าครับ  เพราะถ้าแม้แต่ชื่อหรือนามแฝง  คุณยังไม่กล้าที่จะบอกใคร  แล้วต่อไปเกิดคุณอยากจะด่า  อยากจะใช้คำหยาบ  อยากจะใส่ร้ายป้ายสีใคร  แล้วคุณก็เปลี่ยนชื่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ  แล้ว  สังคมนี้จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร  ดังที่  อาจารย์จันทวรรณพูดนะครับ

"สำหรับสังคม on-line เพื่อการเรียนรู้แล้วนั้น การไม่มีป้ายชื่ออาจจะนำมาซึ่งการล้มสลายของจุดยืนของสังคมได้โดยง่าย "

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ 

คุณศิลา วรบรรพต

     ขอบคุณมากนะครับ ที่เข้ามา ลปรร.ด้วย ต่างมุมมองต่างความคิดครับ

ขออนุญาตคุณชายขอบนะคะว่า เข้ามาอ่านแล้วมองเป็นประเด็น ได้ 4 ประเด็นใหญ่

หนึ่ง ในแง่การเรียนรู้ การบอกชื่อ ข้อมูลส่วนตัว ทำให้เรียนรู้อะไรกันแน่ ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า คงมีคนที่เคยเรียนรู้ด้วยการมองแม่ค้าขายขนมครกอย่างอร่อย พูดคุยซักถามอย่างบริสุทธิ์ใจ อารมณ์และสิ่งที่เรียนรู้ ขณะนั้น คุณต้องการอะไร คุณต้องการคุยเรื่องการทำขนมครกหรือต้องการรู้ว่าเรียนจบปริญญาอะไรกันแน่คะ

สอง เรื่องความกล้าหาญ การที่หลายท่านบอกว่า การระบุชื่อ รวมทั้งชื่อนามแฝง เป็นความกล้าหาญ ดิฉันยังหาความสัมพันธ์ไม่เจอ กรุณาอธิบายเพิ่มให้ทีเถอะค่ะ ว่าความกล้าหาญของคนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพราะชื่อบนทะเบียนบ้านหรืออย่างไรคะ และเราต้องการความกล้าหาญแบบไหนในสังคมการเรียนรู้

สาม เรื่องความกลัวการด่าหยาบคายและเปลี่ยนชื่อเข้ามาด่า การมีความกลัวเช่นนั้น เพราะเราต่างหวาดระแวงขาดความเชื่อมั่นในความดีของคนและความสามารถของตัวเองและคนอื่นๆ ที่จะช่วยกล่อมเกลาสร้างสังคมคุณภาพกันแล้วใช่ไหมคะ เวลาที่สอนนักศึกษาหรือเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เราเน้นการทำความดี หรือการระวังการทำผิดกันแน่คะ และเราจะไม่มีวิธีการจัดการที่ดีไปกว่าการให้ระบุชื่อแล้วใช่ไหมคะ

สี่ เรื่องการอ้างอิง ประเด็นนี้เห็นความจำเป็นของคนสร้างบล็อก และจุดประสงค์การทำบล็อก ด้วยความเคารพค่ะ ว่าถ้าท่านต้องการให้ครอบคลุม ก็ต้องกำหนดให้สำหรับคนที่แวะผ่านมาพูดคุย ที่ไม่มีบล็อกของตัวเองนั้นต้องอ้างอิงตัวเองให้ได้ด้วยใช่ไหมคะ

ด้วยความเคารพทุกท่านค่ะว่า "น่าจะดี ถ้าเราต่างไม่พยายามควบคุมคนอื่นมากเกินไป น่าจะดีถ้าเราสามารถละลายความหวาดระแวงที่เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง และน่าจะดีถ้าเราจะละทิ้งหมวกบางใบที่ติดมาทางสังคม และเปิดใจสำหรับการเรียนรู้"

ทุกความคิดเห็นเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาและปรับปรุงระบบเพื่อทุกท่านค่ะ :)

ขออนุญาตไปเร่งพัฒนาต่อแล้วนะคะ

คุณ jc

     ขอบคุณมากนะครับ สำหรับการเข้ามาเติมเต็ม ทั้ง 4 ประเด็นก็เป็นข้อสังเกตและสิ่งที่คุณตกผลึกได้ หลากหลายดีครับ ขอบคุณอีกครั้ง

อ.ดร.จันทวรรณ

     ขอบคุณมากนะครับ อ่านดูเหมือนอาจารย์จะนำไปพิจารณาเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงระบบใน GotoKnow.org version 2 ดีใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท