อัยการกับยุติธรรมทางเลือก๑


ถอยหลังไปเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว กรมอัยการมีแนวความคิดที่จะนำการชะลอการฟ้องมาใช้ แต่ถูกคัดค้านจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่บรรพอัยการยุคนั้นเริ่มมีความคิดก้าวหน้าเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน และลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งหน่วยงานอื่นยังไม่มีใครพูดถึงยุติธรรมทางเลือก แต่เราคิดจะทำ และถูกคัดค้านจนหงายเก๋งไม่เป็นท่า...

        ผมทำงานช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ มาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดของอัยการที่มีต่อประชาชนหลายเรื่อง เดิมเขาเรียกอัยการว่า ลูกอีช่างฟ้อง (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะแนวคิดของคนเป็นอัยการถ้าพยานหลักฐานห้าสิบห้าสิบ อัยการจะเลือกสั่งฟ้องไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เพราะเมื่อไหร่ที่สั่งไม่ฟ้อง สังคมรอบข้างจะมองอัยการด้วยสายตาที่ไม่มีความเชื่อมั่นเอาเสียเลย นึกไปก่อนว่าสั่งไม่ฟ้องเพราะมีการทุจริตคอรัปชั่น

        ผมเสนอสำนวนโดยทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานที่จะนำไปเสนอชั้นศาลไม่หนักแน่นพอที่จะให้ศาลลงโทษจำเลยได้ ไม่ใช่วิเคราะห์เพียงแค่ว่าพอฟ้องหรือไม่พอฟ้อง แต่ผมเห็นว่าเมื่อฟ้องแล้วต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้ถึงจะฟ้อง ไม่งั้นเสียเวลาเปล่า และที่สำคัญคนที่ถูกฟ้องเขาไม่ได้รู้สึกมีความสุขที่ถูกฟ้อง ถ้าพยานหลักฐานยังเป็นที่สงสัย ต้องมองผู้ต้องหาบริสุทธิ์ไว้ก่อน แรกๆเพื่อนๆก็มองเหมือนกับว่าผมมีผลประโยชน์กับสำนวนเหล่านั้น แต่ผมก็ไม่ยี่หระที่จะทำความเห็นตรงไปตรงมา จนระยะหลัง พี่ๆเพื่อนๆรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้

        ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดในสมัยที่ท่านเรวัต ฉ่ำเฉลิม เป็นอัยการสูงสุด ท่านมีแนวคิดนี้ท่านบอกว่าท่านจะไม่ให้ความสนใจคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องสักเท่าไหร่แต่ท่านจะให้ความสนใจคดีที่สั่งฟ้อง เพราะนั่นคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อยู่ในมืออัยการ ถ้าเราสั่งฟ้องชุ่ยๆคนที่เดือดร้อนคือประชาชน

        บรรพอัยการในอดีต ที่มีแนวคิดว่าถ้าคดีห้าสิบห้าสิบให้สั่งฟ้องไว้ก่อนนั้น เป็นรูปแบบการทำงานที่วิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่ามีพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่ ถ้าพอฟ้องก็สั่งฟ้อง ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัยและแนวความคิดของสังคมในยุคนั้นๆ พอมาถึงปัจจุบันมองแค่นี้ไม่พอแล้ว เพราะเราต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและรวมไปถึงสิทธิของผู้เสียหายด้วย

        ถอยหลังไปเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว กรมอัยการมีแนวความคิดที่จะนำการชะลอการฟ้องมาใช้ แต่ถูกคัดค้านจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่บรรพอัยการยุคนั้นเริ่มมีความคิดก้าวหน้าเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน และลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งหน่วยงานอื่นยังไม่มีใครพูดถึงยุติธรรมทางเลือก แต่เราคิดจะทำ และถูกคัดค้านจนหงายเก๋งไม่เป็นท่า...

        แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของยาเสพติด ผู้ต้องขังในเรือนจำส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด แถมคดีอื่นๆก็เพิ่มปริมาณมากขึ้น อัยการหอบสำนวนไปศาลคนละห้าหกเรื่อง ศาลก็แทบไม่ต้องเงยหน้าจากบัลลังค์ เพราะคดีเยอะมาก บางทีเรื่องเล็กๆน้อยก็ฟ้องกัน พอเศรษฐกิจไม่ดีก็จะมีคดีเช็คเยอะมาก นอกนั้นก็จะมีคดีเกี่ยวกับการจราจร จนต้องมีการรณรงค์เมาไม่ขับ และคดีอื่นๆอีกมากมาย ฉ้อโกง ยักยอก ลักทรัพย์ ทั้งๆที่บางเรื่องหากจะว่าไปแล้วฟ้องไปก็ไม่แน่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ เช่น มะม่วงเขาไปลักทรัพย์ของลำไยในเวลากลางคืน ลำไยรู้สึกตัวตื่นเห็นมีคนเข้ามาในบ้านตะโกนถามแล้วก็เฉย และไม่รู้ว่าคนที่บุกรุกมีอาวุธหรือไม่ก็เลยใช้ปืนยิง มะม่วงพยายามหลบหนีจึงถูกลำไยยิงเข้าที่กระดูกสันหลัง กลายเป็นคนพิการช่วยตัวเองไม่ได้ไปไหนมาไหนไม่ได้ ใช้กรรมที่ตนก่ออยู่/หรือลิ้นจี่ ขับรถไปทำงาน ทุเรียนถีบจักรยานพาลูกไปโรงเรียน แต่จักรยานเสียหลักลิ้นจี่เฉี่ยวชนเข้าให้ ทำให้ทุเรียนขาหัก แต่หลังเกิดเหตุลิ้นจี่ก็ช่วยพาทุเรียนไปส่งโรงพยาบาลรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด และมาแจ้งเหตุที่โรงพัก แสดงความรับผิดชอบ ท่านคิดว่าคนอย่างลิ้นจี่รู้สำนึกในความผิดของตัวหรือไม่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ คนอย่างนี้ควรถูกฟ้องหรือไม่

        เหตุเหล่านี้ เราก็รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดกฎหมาย แต่ฟ้องคนพวกนี้แล้วมันก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่สังคมบ้าง กรณีมะม่วงจะไปศาลทีก็ต้องมีคนพาไป ศาลตัดสินจะลงโทษจำคุกก็ไปลำบากเรือนจำเขาอีก  หรือกรณีลิ้นจี่ จะให้ศาลพิพากษาลงโทษเพื่ออะไร เพื่อให้รู้สำนึกความผิดหรือ ท่านคิดว่าลิ้นจี่รู้สำนึกแล้วหรือไม่

        เมื่ออัยการเสนอยุติธรรมทางเลือกในการชะลอการฟ้อง เรารับฟังเสียงจากประชาพิจารณ์ทุกอย่างดูดีมากเลยครับ สื่อมวลชนก็สนับสนุน ประชาชนที่มาฟ้งเหตุผลจากอัยการก็ต่างพูดกันว่าอัยการทำดี ส่งร่างกฎหมายชะลอการฟ้องไป ครม.ก็เห็นด้วย ส่งไปกฤษฎีกาเพื่อให้ตรวจร่างกฎหมาย ออกมาเป็นคนละเรื่องกับที่อัยการเสนอ เพราะของกฤษฎีกาจะให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะชะลอการฟ้องหรือไม่ ถ้าเป็นยังงั้นแล้วเราจะสั่งชะลอการฟ้องไปเพื่ออะไรในเมื่อเรากำลังหาวิธีการใช้ยุติธรรมทางเลือกเพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ถ้าเสนอศาลอีกแล้วมันจะลดปริมาณคดีสู่ศาลตรงไหน งง จริงๆ

        พออัยการเสนอเรื่องชะลอการฟ้อง ทำไมเขาถึงได้สงสัยกันนักว่าอัยการกำลังอยากจะได้อำนาจเพิ่มหรืออย่างไร การชะลอการฟ้องเหมือนกับที่ศาลรอการลงโทษไหม ทำไมเขาคิดถึงแต่เรื่องเหล่านี้ ทำไมไม่มองว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่ หรือมองอัยการในแง่ดีบ้างได้ไหม เพราะอัยการรุ่นใหม่เขามองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก

        ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะวันนี้เราสัมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องการใช้ยุติธรรมทางเลือก การชะลอการฟ้องเป็นส่วนหนึ่ง แต่เรายังพูดกันถึงการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทในคดีอาญา แพ่ง และคดีปกครอง บทบาทของพนักงานอัยการ วิธีการ ร่างระเบียบ และร่วมกันแสดงความคิดเห็น พรุ่งนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า เราพูดเรื่องอะไรกันบ้างครับ

หมายเลขบันทึก: 262875เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีค่ะ ท่านพี่อัยการ

จองเพราะคิดถึงค่ะ

เดี๋ยวมาอ่านนะคะ

สวัสดีครับ

ผมเข้าใจว่า ไม่นานมานี้เองที่ชาวบ้านทั่วไปเริ่มให้ความสนใจกับการทำงานของอัยการ ก่อนนี้รู้จักกันแต่ศาลกับทนายความ ผมมีเพื่อนเป็นนักกฎหมาย/นักปกครองเยอะ แ่ต่ตัวเองไม่ค่อยรู้เรื่องกฎหมาย (ไว้จะหาเรื่องปรึกษาท่านอัยการมั่ง อิๆ)

เขียนมาอย่างนี้ เป็นการเผยแพร่ ให้ความรู้ดีมากเลยครับ อีกอย่างหนึ่งคนก็คง(เข้าอก)เข้าใจการทำงานของอัยการมากขึ้น

แนวทางชะลอการฟ้องผมก็ว่าดี แต่คงต้องอีกสักพัก กว่าที่หลายฝ่ายจะเข้าใจและสนับสนุนจริงๆ จังๆ ตอนนี้พอตำรวจไม่ฟ้อง ตำรวจโดนด่า พออัยการไม่ฟ้อง อัยการโดนด่า มีอยู่ฝ่ายเดียวที่ชาวบ้านไม่กล้าด่า เพราะกลัวติดคุก อิๆๆๆ

สวัสดีค่ะ

ชอบบันทึกท่านอัยการมาก

ที่มีความชัดเจนแตกฉานในวิชาชีพ

อ่านแล้วเหมือนทำให้รู้ในเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ขอสนับสนุนให้ท่านเขียนแบบนี้

ขอชื่นชมด้วยใจจริง

แค่ดูละครแล้วนำมาตีความทางกฎหมายได้เป็นฉากๆ

ดิฉันก็รู้สึกทึ่งสุดๆแล้วค่ะ

ขอเรียนวิชากฎหมายด้วยคนนะคะ

  • สวัสดีครับ
  • มาเยี่ยมครับ
  • บันทึกนี้ได้เห็นมุมมองที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
  • ขอบคุณครับ
  • รักษาสุขภาพนะครับ
  • เร็ว ๆ นี้จะไปเที่ยวภูเก็ตครับ
  • อิอิ

สวัสดีค่ะ ท่าน พี่อัยการงานเข้า อิอิ

สวัสดีน้องพอลล่า

งานเข้าจริงๆ เป็นอย่างนี้มาเป็นอาทิตย์แล้วและจะยาวไปจนถึงสิ้นเดือนแน่ะ..อิอิ

อ.ธ.วั ช ชั ย ครับ

สิ่งที่อัยการขาดนักหนาคือการตีปี๊บ กับการใช้สื่อโต้ตอบครับ

จะเห็นได้ว่าเวลาทำอะไรดีๆไม่ค่อยประชาสัมพันธ์หรอกครับ แล้วชาวบ้านชาวช่องจะรู้อย่างไร แถมเวลามีคนด่าแทนที่จะชี้แจงโต้ตอบ เราทำเป็นผู้ดีครับอยู่เฉยๆทุกครั้ง ลองสังเกตดูสิครับ และความเป็นผู้ดีมีมารยาทก็ถูกคนอื่นเอาผลงานไปนำเสนอสังคมนักต่อนักแล้วครับ อิอิ แต่ของผมไม่ยอมให้ถกโจมตีฝ่ายเดียวหรอกครับถ้าผมไม่ผิด ดังที่เคยเล่าในเรื่องต้องออกรายการทีวีหลังถูกกล่าวหาว่าสั่งสำนวนไม่ถูกต้องกรณีครูขับรถชนนักเรียนตาย

แฮ่ะ ผมก็ไม่กล้าวิจารณ์เขาเหมือนกัน เดี๋ยวมีโกรธ..อิอิ

สวัสดีครับคุณตันติราพันธ์

ขอบคุณที่ชอบบันทึกนี้ครับ

ผมเขียนหลากหลายสไตล์มากเลยครับ ที่ยังไม่ได้นำลงมีผลงานอีกชุดหนึ่งที่เขียนไว้ตอนไปอเมริกา/จีน ว่างๆจะทะยอยนำลงเป็นเชิงสารคดีท่องเที่ยวและมุมมองผ่านเลนส์แบบอัยการชาวเกาะครับ

มะเดี่ยวบอกไปล่วงหน้าเลยนะจะได้จัดเวลาถูก เพราะเดือนนี้ทั้งเดือนจะยาวไปถึงสิ้นเดือนเลยครับที่งานเข้าครับ

  • สวัสดีครับท่าน
  • เห็นด้วย เราตกเป็นจำเลยสังคมตลอดมา โครงการดี ๆ มีมาก แต่เราขาดการตีปิ๊บครับ
  • สอข.3 จะจัดในระหว่างวันที่ 12-13 มิ.ย.52 ครับ
  • ขอบคุณ

สวัสดีครับคุณศรีกมล

เราถูกทำให้สังคมเชื่อว่าอัยการไม่ดีกินสินบาทคาดสินบน แต่หน่วยงานที่คนให้ความศรัทธาก็มีการกระทำดังว่าไม่น้อย ในสังคมเรานี้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดล้วนมีคนชั่วน้อยกว่าคนดี แต่จะบอกว่าไม่มีเลยก็คงจะยาก อยู่ที่จะยอมรับความจริงกันหรือไม่ แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมหวงกันแต่อำนาจแต่ไม่นึกถึงประชาชนตาดำๆ แล้วเรายังจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมกระนั้นหรือ

ท่านศรีกมลไว้รอฟังท่านผู้ตรวจราชการมาเล่าให้ฟังจะมันกว่านี้ครับ

สวัสดีค่ะท่านอัยการ แวะมาทักทายค่ะ ไม่ว่าสังคมจะมองอย่างไรถ้าเรายืนอยู่บนความถูกต้อง และมีจรรณยาบรรณในวิชาชีพประชาชนตาดำๆ ก็ยังมีที่พึ่งอยู่ค่ะ จะติดตามเป็นกำลังใจให้ท่านอัยการต่อไปค่ะ

สวัสดีครับท่าน

ในเรื่องการทำความดี หรือทำบุญกุศลนั้น คนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ หรือทำบุญไม่เป็น แม้จะต้องเสียทรัพย์มาก เสียเวลา และวุ่นวายมากก็ไม่ได้บุญ หรืออาจขาดทุน คือได้บาปมากกว่าได้บุญเสียอีก ส่วนคนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบุญคือทำบุญเป็น อาจเสียทรัพย์น้อยกว่า วุ่นวายน้อยกว่า แต่ได้บุญมากว่า เพราะบุญจริงๆนั้นอยู่ที่การชำระกาย วาจา ใจ ของตนเองให้บริสุทธิ์ปลอดโปร่ง ผ่องแผ้ว สะสางปัญหาชีวิตต่างๆได้อย่างถูกวิธี ไม่ก็ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ผมดีใจมากครับที่ท่านเป็นที่พึ่งในการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนชาวไทย ขอเป็นกำลังใจให้สู่ต่อไปครับ

"สติปัญญาเกิดขึ้นทำหน้าทีชั่วคราวแล้วดับไป ผลของสติปัญญายังเหลืออยู่ เหมือนจุดไฟขึ้นเขียนหนังสือเขียนเสร็จแล้วก็ดับไฟ แต่ผลงานคืนหนังสือที่เขียนเพราะอาศัยแสงสว่างนั้นยังเหลืออยู่ เป็นประโยชน์ต่อไป ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วดับไป เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งปวง" คนที่จะรุ่งเรืองทางใดทางหนึ่งจะต้องมีพร้อมทั้งสามอย่าง ปัญญา อุปนิสัย และความเพียร ผมคิดว่าท่านมีพร้อมครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครูอุ้ยที่มาทักทายและให้กำลังใจครับ

อัยการรุ่นใหม่เขามุ่งมั่นที่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม อย่าให้เรื่องรกโรงรกศาล ชาวบ้านจะได้ไม่เสียเวลาไม่เสียค่าใช้จ่าย ผมยืนยันว่าพนักงานอัยการมีศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและผู้ต้องหาให้เกิดความเป็นธรรม เพียงแต่การประชาสัมพันธ์งานที่ทำเรายังด้อย ถ้าประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบให้ชาวบ้านรักษาสิทธิของตัวเอง ทุกอย่างในสังคมก็จะดีขึ้นครับ

สวัสดีครับคุณเดชา

ขอบคุณที่เป็นกำลังใจให้อัยการครับ

เราถูกสอนให้ทำงานโดยปราศจากอคติ๔ ครับ ฉันทะ โทสะ โมหะ ภยะ แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าในกลุ่มองค์กรหากจะมีคนไม่ดีอยู่บ้าง ผมยอมรับความจริงครับ แต่ไม่ใช่ว่าคนชั่วเพียงน้อยนิดแล้วชอบเหมาทั้งองค์กรเพื่อแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะถ้าขืนเป็นแบบนี้กระบวนการยุติธรรมไทยจะลงเหวในที่สุด เพราะการวางประมวลกฎหมายในอดีตจะมีความเป็นระบบอยู่ในตัว แต่พอถึงเวลาจะแก้ก็จะแก้เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงาน มันค่อนข้างจะสับสนนะครับ

ผมจะแจ้งให้คณะอัยการที่จะมาประชุมกันที่ภูเก็ตวันพรุ่งนี้ถึงกำลังใจที่ท่านให้พวกเรานะครับ

สวัสดีครับท่านอัยการชาวเกาะ(ทางเลือก)ที่เคารพ

สงสัยว่าต้องเปลี่ยนทางเลือกใหม่ด้วยหรือเปล่าครับ

เอาแบบว่าลดกันตั้งแต่ยังไม่เกิดเรื่อง ยังไม่เป็นคดี

ถ้าทำได้น่าจะดีมากๆแต่ก็คงจะยากมากๆเช่นกันใช่หรือเปล่าครับ

แล้วกระผมจะขอติดตามตอนต่อไปนะครับ ว่าอะไรจะเปลี่ยนก่อนกันครับ

สวัสดีครับท่าน ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

ถ้าเป็นไปได้ก่อนคดีเกิด ผู้คนในสังคมรู้จักยับยั้งชั่งใจ ก็ดีสิครับ

ส่วนหนึ่งที่เราพยายามทำก็คือให้ชาวบ้านได้รับรู้กฎหมายเพื่อจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พอช่วยได้บ้างแต่จะห้ามคนไม่ให้เป็นความค่อนข้างจะยากนะครับ โจทย์ของท่านยากจังเลย อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท