คำที่มักใช้ผิด..ของฝากเพื่อนๆค่ะ


ภาษาไทยภาษาทอง

 

 

คำที่มักใช้ผิด..ของฝากเพื่อนๆค่ะ

 

สวัสดีค่ะ..วันนี้มีของฝากเพื่อนๆกัลยาณมิตรทุกท่านนะคะ.. ฝากตัวเองดัวยค่ะ   เพราะมักจะเขียนสะกดคำผิดบ่อยๆ..แบบว่า สี่เท้ายังรู้พลาด  ไม่ได้เป็นปราชญ์ก็เพราะพลั้งบ่อยๆ..นี่แหละค่ะ (อิอิ)

เพิ่งเขียนผิดมาหยกๆ ค่ะ  ในบันทึกวิจัยภาษาไทยเทิดไท้องค์ราชัน คุณ ส.พัน.๑๒.รอ.สต.สนธยา เข้ามาแสดงความคิดเห็น มีคำหนึ่งค่ะ  คำว่า ผาสุก พอดูปุ๊บก็ฉุกใจคิด เอ! ถูกหรือเปล่านะ  ด้วยความเป็นคนมือไว ก็ทดลอง เปลี่ยนดู เป็น ผาสุข เพราะคิดเอาเองว่า สุก น่าจะเปื่อยไปเลย แต่ สุข น่าจะสุขสดชื่น   แต่ความพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านที่ไม่ดีของตัวเอง   จึงต้องรีบเปิดพจนานุกรมดู   โอ๋ย..มั๊ยล่ะ เกือบไปอีกแล้ว

ดังนั้น จึงต้องให้เวลาตัวเองเพิ่มมากขึ้นในเรื่อง การอ่าน   เพราะเป็นครูรากแก้วการอ่านแล้ว   ได้อ่านพบ เรื่อง ปัจจัยที่ช่วยให้เขียนคำได้ถูกต้อง   จากหนังสือบรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๑ ของ กระทรวงศึกษาธิการ จึงนำมาฝากเพื่อนๆ ค่ะ

 

 

ปัจจัยที่ช่วยให้เขียนคำได้ถูกต้อง

 

๑. รู้ความหมายคำ  คำในภาษาไทยมีคำที่ออกเสียงตรงกันแต่เขียนสะกดต่างกัน  จึงทำให้มีความหมายไม่เหมือนกันเรียกว่า คำพ้องเสียง   ถ้ารู้ความหมายของคำ จะทำให้เขียนสะกดคำได้ถูกต้อง  เช่น 

พัน(ผูก)   พันธ์(เกี่ยวข้อง)   พันธุ์(สืบทอด)   ภัณฑ์(สิ่งของ)   พรรณ(ชนิด, ผิว, สี)

โจทก์(ผู้ฟ้อง, ผู้กล่าวหา)   โจทย์(คำถามในวิชาเลข)   โจท(โพนทะนาความผิด)

โจษ(เล่าลือ, พูดเซ็งแซ่)

สรร(เลือก, คัด)   สรรค์(สร้างให้มีให้เป็นขึ้น)

รมย์(น่าบันเทิงใจ, น่าสนุก, พึงใจ, งาม, มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น รื่นรมย์, เริงรมย์)

๒. ไม่ใช้แนวเทียบผิด   คำบางคำแม้จะมีเสียงเหมือนกันแต่ความหมายหรือรูปศัพท์  ตลอดจนที่มาต่างกัน  จะใช้แนวเทียบเดียวกันไม่ได้  เช่น

         

อานิสงส์

มักเขียนผิดเป็น

อานิสงฆ์ 

เพราะไปเทียบกับคำ  

พระสงฆ์

ผาสุก

มักเขียนผิดเป็น

ผาสุข      

เพราะไปเทียบกับคำ  

ความสุข

แกงบวด   

มักเขียนผิดเป็น

แกงบวช

เพราะไปเทียบกับคำ  

บวชพระ

๓. ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง  การออกเสียงไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจนทำให้เขียนผิด เช่น

ผมหยักศก

มักเขียนผิดเป็น

ผมหยักโศก

พรรณนา

มักเขียนผิดเป็น

พรรณา

บังสุกุล

มักเขียนผิดเป็น

บังสกุล

ล่ำลา

มักเขียนผิดเป็น

ร่ำลา

กรวดน้ำ

มักเขียนผิดเป็น

ตรวจน้ำ

ประณีต

มักเขียนผิดเป็น

ปราณีต

๔. แก้ไขประสบการณ์ที่ผิดๆ ให้ถูกต้อง  การเห็นคำที่เขียนผิดบ่อย ๆ เช่น เห็นจากสิ่งพิมพ์  ป้ายโฆษณา  เป็นต้น  ถ้าเห็นบ่อยๆ อาจทำให้เขียนผิดตามไปด้วย  ก่อนจะเขียนคำจึงต้องศึกษาให้ได้คำที่ถูกต้องเสียก่อน เช่น

ทีฆายุโก

มักเขียนผิดเป็น

ฑีฆายุโก

อนุญาต

มักเขียนผิดเป็น

อนุญาติ

โอกาส

มักเขียนผิดเป็น

โอกาศ

เกร็ดความรู้

มักเขียนผิดเป็น

เกล็ดความรู้

เกสร

มักเขียนผิดเป็น

เกษร

รสชาติ

มักเขียนผิดเป็น

รสชาด

กระทะ

มักเขียนผิดเป็น

กะทะ

         ..คำสุดท้ายนี่เห็นบ่อยมากนะคะ..ป้ายหน้าร้าน   หมูกะทะ  ผิดๆ.. ค่ะ

         ..ยังมีอีกแถวๆเชียงใหม่ ใส้อั่วป้าอ้วน ผิดอีกค่ะ ต้อง ไส้อั่วป้าอ้วน ค่ะ

๕. ต้องมีความรู้เรื่องหลักภาษา  การเขียนหนังสือได้ถูกต้องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้หลักภาเพื่อเป็นหลักและแนวทางในการใช้ภาษา  หลักภาษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง

๖. ต้องศึกษาและติดตามเรื่องการเขียนสะกดคำที่เป็นประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี  เช่น ศึกษาหนังสือและเอกสารต่างๆของราชบัณฑิตยสถาน อันได้แก่  พจนานุกรม  สารานุกรม  การใช้เครื่องหมายวรรคตอน  การกำหนดชื่อเมือง จังหวัด  ประเทศ ทวีป  ตลอดจนติดตามประกาศการเขียนและอ่านคำของทางราชการอยู่เสมอ  

         อนึ่ง ในโลกแห่งการเรียนรู้ใบใหญ่ใบนี้  มีผู้รู้ผู้เชียวชาญทางภาษาไทยหลายๆ ท่านที่รู้ลึก รู้จริง  คอยเป็นผู้ช่วยเหลือบอกกล่าว   ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามมากค่ะ   และในทุกบันทึกของผู้เขียน(ศน.อ้วน) ยินดีรับฟังการบอกกล่าวจากเพื่อนๆ ทุกท่านค่ะ    เราจะช่วยกันจรรโลง ภาษาไทยภาษาทอง  ไว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจ ตลอดชั่วกัลปาวสานนะคะ

 

สวัสดีค่ะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 257465เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2009 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

สวัสดีค่ะ

  • พี่คิมเป็นคนหนึ่งที่สะกดคำผิด ๆ มาก ๆ
  • เมื่อเด็กถามก็ตอบไม่ได้นะคะว่า..อันนี้ผิด อันนี้ถูกเพราะอะไร
  • ความรู้เกี่ยวกับหลักภาษาไม่มีค่ะ
  • อาศัยความจำที่คุ้นเคย..ซึ่งไม่ถูกเลยค่ะ
  • ตอนเป็นเด็ก..ร้องไห้กลับบ้าน  เพราะถูกหักคะแนนการสะกดคำว่า  เมฆ
  • แม่เป็นครูค่ะ..บอกว่า "เธอจะถูกได้อย่างไรในเมือ่เธอเขียนคำว่า เฆม"
  • และอีกคำก็คือ ควร..แม่ให้สะกดปากเปล่าว่า ค  ว  ร  อ่านว่า ควน  แต่เวลาเขียน ครว ค่ะ
  • ขึ้นชั้น ป.๕ อ่านออกเสียงหน้าชั้นเรียน ปาฏิหาริย์  ว่า ปา ติ หา ริ (ออกเสียง ร อย่สางชัดเจน) ไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนจึงเฮ..ลั่นห้อง
  • อ่อนแอมาก ๆค่ะ มาเรียนรู้ตอนที่เป็นครูแล้วมากมาย ไม่รู้จบ
  • ขอขอบคุณน้องอ้วนค่ะ  รักและคิดถึงเสมอนะคะ
  • จุ๊ๆๆ พี่อ้วน จับปรับหยอดกระปุกดีไหม...ผาสุก...ข้อสอง พี่อ้วนต้องเขียนคำที่สองให้ผิดด้วยสิ อิอิ
  • พรุ่งนี้ไปทานข้าวที่เก่าเวลาเดิมนะคะ พี่เหมียวด้วย
  • ต้องขอเข้ามาเรียนรู้ภาษาไทยกับน้องศน.ด้วยนะคะ
  • พี่แจ๋วเป็นครูภาษาไทยค่ะ
  • แต่การเรียนรู้ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตใช่ไหมคะ..
  • เพราะครูภาษาไทย เขียนผิด พูดผิด ฟังผิด อ่านผิด ก็ออกบ่อยไป
  • ขอบคุณค่ะ

พี่คิมขา..

พี่คิมน่ารักเสมอ

อ่านแล้วน้ำตาเกือบไหลค่ะ..การใช้ภาษาของพี่คิมในวัยเด็ก..

อิอิ.."เมก" กลายเป็น "เคม" ไปเลย

ปา-ติ-หา-ริ ..อีก..

คำว่า "ควร" อีก ออกเสียงไม่ถูกเลย..

แถมเก่งด้วยจำได้ทุกคำว่าผิดอะไรบ้าง..แสดงว่าต้องอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจเลยนะคะนี่..

เช่นกันค่ะ..น้องอ่อนแอมากเรื่องภาษาไทย

น้องเพิ่งมารักภาษาไทยตอนเป็นครู..เป็นศึกษานิเทศก์นี่เองค่ะ

เช่นเดียวกับพี่คิมนะคะ

กว่าจะค้นพบตัวเอง..เกือบทั้งชีวิตเลยค่ะ

แต่ก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่ทำให้เราต้องเรียนรู้อีกไม่รู้จบ

ขอบคุณพี่คิมมากค่ะ..ที่เป็นแขกคนแรกของบ้านน้องเสมอมา..

..มีความสุขกับวันวันนี้นะคะ..(ที่บ้านน้องฝนตกค่ะ)

 

สวัสดีค่ะ

  • พี่คิมมาอีกรอบนะคะ
  • นำสิ่งที่คิดว่าเป็นคุณค่าสำหรับครูมาฝากค่ะ
  • เด็ก ๆโรงเรียนพี่คิมได้เจออาจารย์แล้วค่ะ
  • ทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจน
  • http://gotoknow.org/blog/ariyachon/257467

สวัสดีค่ะ...

       มาเรียนเขียนสะกดคำด้วยคนค่ะ

      เป็นครูภาษาไทย  จำเป็นมากเรื่องการเขียนและการอ่าน  เพราะต้องเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้ลูกลิง

     เรื่องอ่านไม่ค่อยห่วงตัวเอง  แต่เรื่องเขียนนี่ผิด(เป็นครูตุ๊กแก)บ่อยมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

      บางทีเด็กๆถามคำนี้เขียนอย่างไร  หนูไม่แน่ใจก็ต้องแถเอาตัวรอดไปก่อนแล้วแอบไปถามพี่ๆครูคนอื่นประจำ ^_^

     โดยเฉพาะของโปรด หมูกระทะ  หนูเขียน หมูกะทะประจำ(จริงๆด้วย)

      ขอบพระคุณค่ะ...

เขียนบ่อย ๆ ครับ ... "คำที่มักใช้ผิด" ... ชอบครับ

ถือเป็นการรณรงค์ให้คนไทยเขียนภาษาของตัวเองให้ถูกต้องมากขึ้น

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ ศน.อ้วน :)

น้องดาวจ๋า..

อิอิ..เปลี่ยนแล้วๆๆ...จ้า  ขอบคุณมากค่ะ

เห็นมั๊ยล่ะคะ..พี่อ้วนนี่ ไม่รอบคอบละที่หนึ่งเลย

ดีที่คุณครูภาษาไทยอีกท่านหนึ่งไม่ได้มา..ไม่ได้หยอดกระปุกเสียน๊านนานนน...ค่ะ

กำลังคิดถึงน้องดาวพอดีค่ะ (โอ๋ยไม่ใช่ๆ..คิดถึงตั้งแต่วันศุกร์แล้วละค่ะ..มีเรื่องตลกไม่ออกค่ะ..)

คือวันศุกร์เย็น.พี่อ้วนอยากไปเยี่ยมป้าแดงที่ๆพัก  ขับรถไปถึงแล้วละค่ะ

แต่บอกเจ้าหน้าที่ไม่ได้ว่าอยากพบใคร..ก็ไม่รู้จักชื่อจริงป้าแดงนี่...

จะบอกเขาว่าป้ามณีแดงก็ใช่ที่..คิดไม่ออกเลยค่ะว่าต้องทำอย่างไร

จึงขับรถกลับ   มาถึงบ้านจึงคิดออกว่าน่าจะถามน้องดาวสิเนาะ  แต่ก็ค่ำแล้ว  เกรงใจว่ารบกวนหรือเปล่า  จึงตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะโทรถามน้องดาว

..ใจตรงกันอีกนะคะ..วันพรุ่งนี้ที่เก่าเวลาเดิม..ป้าแดงไปด้วยใช่ไหมคะ..และทุกคนๆด้วยหรือเปล่าคะ..

คิดถึงค่ะ..

ขอบคุณค่ะ...ทำให้ได้ความรู้ที่นำไปใช้งานได้ดีเลยค่ะ

สวัสดีค่ะ..คุณครูพี่แจ๋ว

ใช่แล้วค่ะ..ยิ่งเราเป็นครูภาษาไทยยิ่งต้องระมัดระวังตัวเองนะคะ

ถูกต่อว่าบ่อยๆค่ะ..เป็นศึกษานิเทศก์ภาษาไทย ..ยังผิดอยู่อีกหรือ

ทำให้ต้องระมัดระวังและขยันอ่านเพิ่มขึ้นค่ะ..

ขอบคุณพี่แจ๋วมากนะคะ..ที่แวะมาเยี่ยมน้อง

มีความสุขฉ่ำเย็นในวันหยุดนี้นะคะ

ด้วยรัก..

ครูตุ๊กจ๋า..

ต่อไปไปกินหมูกระทะ นะจ๊ะ..จะได้อร่อยๆ

แล้วก็วิธีแถเอาตัวรอด..นี่ก็น่าสนใจดีด้วย

สำหรับ ศน.อ้วน..ต้องทำงานให้ช้าลง  เพิ่มความรอบคอบให้มากขึ้น

(เตือนตน..จ้า)

ขอบคุณนะจ๊ะ..

สวัสดีค่ะ..อาจารย์วสวัต

ขอบคุณมากค่ะ..ที่กรุณามาเยี่ยม

และก็ดีใจมากด้วยเช่นกันที่อาจารย์ก็เป็นคนรักการใช้ภาษาไทย (ติดตามอ่านจากหลายบันทึกค่ะ..เพียงแต่ไม่ได้คุยด้วยเท่านั้นเอง)

เรามาร่วมแรงร่วมใจ..เพื่อ "ภาษาไทยภาษาทอง" อันเป็นที่รัก

มีความสุขกับอากาศเย็นสบายของวันนี้นะคะ

ศน.อ้วนค่ะ..

 

P

 

สวัสดี..และขอบคุณ  คุณ noktalay ค่ะ..ที่มาเยี่ยมและได้ความรู้ไปใช้ในการทำงาน..

โชคดีค่ะ..

 

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ถึงตอนนี้แล้วก็เขียนผิดเป็นประจำค่ะ บางครั้งก็คิดไม่ออกว่าเขียนอย่างไรค่ะ
  • ขอบคุณมากเลยค่ะ ที่นำมาลงไว้ค่ะ

แวะมาอีกรอบ...มาส่งยิ้มค่ะ

          (^__________^)

      ไปทำงานต่อดีก่า คริ..คริ

สวัสดีครับ

ตามมาเก็บ อิๆๆ

การเขียนบนกระดาษ น่าจะสะกดผิดน้อยกว่าเขียนในเว็บ

เพราะมีการตรวจทานก่อน แก้ไขได้ง่ายกว่า

ในเว็บ บางครั้งเขียนแล้วก็ลบไม่ได้

ผิดแล้วผิดเลย...

การเขียนผิด สะกดผิด นอกจากเรื่องทางกายภาพ (เช่น นิ้วกระดิกไปโดยอัตโนมัติ)

อาจจะเป็นเพราะเห็นที่ผิดบ่อยๆ พวกป้ายใหญ่ๆ นี่ตัวดีเชียว

ชื่อ นามสกุล ก็ชวนให้เขียนผิด เช่น เอนก พงษ์ พบบ่อยๆ

แต่พจนานุกรมท่านให้เขียน อเนก, พงศ์

บางทีก็เป็นเรื่องทางจิตวิทยา เราคิดว่า คำหรูๆ คงจะเขียนยากๆ

เช่น ทีฆายุโกฯ พบว่าเขียนใช้ "ฑ" กันมาก เพราะคิดว่าคำยากๆ น่าจะเขียนพิเศษ

แบบแผนการสะกดของเราน่าจะเพิ่งมีราว 100 ปีนี้เอง คือ เมื่อมีการพิมพ์แพร่หลาย และมีปทานุกรม พจนานุกรม อย่างเป็นทางการ ก่อนนั้นสะกดหลากหลายแบบ เช่น ศุข สุข, เพ็ชร เพชร จะว่าไปแล้ว การกำหนดแบบแผนให้ชัดเจน มีจุดดีจุดด้อยที่น่าสนใจ

หากกำหนดให้สะกดได้หลากหลาย การเรียนเขียนอ่านจะยุ่งยาก และสับสน (การเรียนในโรงเรียนก็เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 5) แต่เมื่อจำกัดวิธีเขียนเพียงแบบเดียว ผู้ที่นิยมใช้แบบอื่นก็อึดอัด และกลายเป็นเขียนผิดไป

การอ่านและเขียนบ่อยๆ ช่วยให้สะกดแม่นยำขึ้น และควรมีตัวช่วย อย่าง พจนานุกรม หรือหนังสือแนะนำการเขียนอื่นๆ ไว้ใกล้ตัวครับ

..ขอบพระคุณพี่คิมค่ะ..

น้องไปมาแล้วค่ะ..แวะอ่านเสียนานเลย

ท่านเขียนดีจังนะคะ เก็บร่องรอยเรื่องราวได้เยอะมาก

แต่น้องยังไม่ได้คุยกับเจ้าของบ้านท่านค่ะ..

จะเข้าไปอ่านอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งค่ะ..

(ความคิดเห็นนี้แก้ไขค่ะ เพราะเขียนผิดอีกแล้ว เหมือนคุณครู ธวัชชัยบอกจริงๆ เขียนบนกระดาษผิดน้อยกว่าเขียนบนเว็บ..ใช่เลยค่ะ)

ป้าแดงขา...

กำลังคิดถึงป้าแดง  คุยกับน้องดาวอยู่ค่ะ..(อิอิ..คุยแล้ววว)

หากพรุ่งนี้..ไม่มีอะไรมาแทรกเราจะได้พบกันอีกนะคะ

ขอบคุณค่ะ..ที่เรื่องนี้เป็นประโยชน์สำหรับป้าแดง

ทำให้คิดค่ะ..ว่าอยากคุยอีกหลายๆเรื่อง  ทบทวนตัวเองด้วยค่ะ

แล้วป้าแดงมาอีกนะคะ..คิดถึงค่ะ

ฝนตก..อากาศดีจังนะคะวันนี้

ครูตุ๊กจ๊ะ

  เห็นแล้ว (^__________^)..ยิ้มซะกว้างเลย

  ขอบคุณจ้ะ

เอาแก้วเปล่า เก่าๆ แก่ๆ มาขอเติมความรู้จากบันทึกนี้ด้วยคนครับ ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ..คุณครูธวัชชัย (คุณครูภาษาไทยตัวจริงเสียงจริง)

กำลังกลัวอยู่ค่ะ..ว่าบันทึกนี้มีคำอะไรที่ผิดอีก

รู้สึก "พ่านๆ เจ้า" (พ่าน หมายถึง รู้สึกกลัวๆ ค่ะ..เป๋นกำเมืองบ้านข้าเจ้า) ..พ่านคุณครูภาษาไทยมาแอ่ว..

สะกดผิดทางกายภาพนี่..ใช่เลยค่ะ บ่อยมาก  ยิ่งบวกกับการมือไว ยิ่งไปกันใหญ่ค่ะ  ทำให้ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น

อ่านรายละเอียดความคิดเห็นแล้วได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะเชียวค่ะ

เปิดบันทึก ห้องเรียนภาษาไทย..นะคะ เพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นับว่าเราได้ช่วยกันอนุรักษ์และเผยแพร่ภาษาไทยให้กว้างขวางขึ้น  และบางทีอาจมีเด็กๆ เข้ามาอ่านด้วย  ก็จะบังเกิดประโยชน์

เห็นเว็บต่างๆ แล้ว เด็กๆใช้ภาษาพูดสนทนากันแล้ว  รับไม่ได้เลยค่ะ 

ทำให้เด็กๆติดด้วย  ..ใช้ภาษาพูดเล่นๆ มาเป็นภาษาเขียนในงานจริงๆ  ซึ่งบางทีอาจเกิดจากการไม่รู้ และก็เคยชินนั่นเอง

ยุค่ะ..ยุให้คุณครูธวัชชัยเปิดบันทึกใหม่ ให้ความรู้เรื่องภาษาล้วนๆ..นะคะ

ขอบคุณค่ะ..สำหรับเรื่องราวความรู้และแนวคิดที่ได้เพิ่มมากขึ้น

ตอนนี้ที่บ้านก็ซื้อพจนานุกรมไว้เยอะอยู่ค่ะ..จะพยายามใช้ให้มากขึ้น

ขอบคุณอีกครั้งหนึ่งค่ะ

พี่อ้วน

P

 

สวัสดีค่ะ..ท่าน ผอ.

เจ้าของบ้านก็เหมือนแก้วเก่าๆ..เช่นกันค่ะ (แก่ด้วย..อิอิ)

ต้องเติมให้ตัวเองอีกเยอะ เหมือนกันค่ะ  บางเรื่องราวอยู่ใกล้ๆตัวนี่เอง แต่ก็ไม่รู้  คงต้องเติมไปเรื่อยๆตลอดมีลมหายใจอยู่นะคะ

ขอบพระคุณค่ะ..ที่บันทึกนี้เป็นประโยชน์ต่อท่านผอ.ด้วย

สวัสดีครับ ศน.อ้วน

มาชื่นชมกับการรักษ์ภาษาไทยที่ถูกต้องครับ

ขอบคุณครับและจะมาติดตาม..ขอคำแนะนำด้วยคนนะครับ

P

 

สวัสดีค่ะ..ท่านรองฯ

ขอบคุณค่ะ..สำหรับมิตรภาพที่มีต่อบ้านภาษาไทย

ยินดีอย่างยิ่งค่ะ..

แวะมาอีกนะคะ..เจ้าของบ้านใจดี ชอบสนุกค่ะ

 

ม่ายเหนจะเปงรัยเลย อ่ะนะ

เราช้ายบ่อยๆอ่ะ

มันพิมง่ายดีออก

ก้อม่ายเหนจาอ่านยากตรงหนัยเรยนิ

555555+++++

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่จัดให้มีเว็บแบบนี้ขึ้น

*-* อาย-สิงห์ปทุม

ขอบรรณณษนุกรมหน่อยค่ะจำเป็นมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ

ม่าย =ไม่

@ หลินปิง

น้องเป็นคนไทยป่ะคะ มันไม่ตรงประเด็นว่ามันเขียนง่าย

เเต่มันคือภาษาไทย ของชาติเรา ถ้าเราเขียนผิด เด็กๆรุ่นหลังก็จะทำตาม

พี่ว่าใช้บางคำมันก็ดูน่ารักดี เเต่ใช้เกือบทุกคำอย่างนี้...เหมือนคนปัญญาอ่อนน่ะค่ะ

รัย=ไร ช้าย=ใช่ ก้อ=ก็ จา=จะ หนัย=ไหน

คำที่เขียนถูก ลดลงไปตั้งตัวนึง ไหนว่าภาษาวิบัติเขียนง่ายไง เปลืงพลังงานจะตาย

รสชาด เขียนแบบนี้ก็ไม่ผิดครับ

แค่คำแรกรู้เลยว่าผิด ที่จริงใช้คำว่า”พึ่ง”นะครับไม่ใช่”เพิ่ง”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท