Digital divide คือความเหลื่อมล้ำหารสิบ


อ่าน วันนี้ไม่เหมือนวันก่อนเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ของ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ตั้งประเด็นคำถามถึงการเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความรู้ของสังคม

การเหลื่อมล้ำ มีอยู่จริง

แต่ปัญหาที่แท้จริง มีการเหลื่อมล้ำเป็น เหตุ หรือการเหลื่อมล้ำเป็น ผล ?

ถ้าการเหลื่อมล้ำเป็นเหตุต้นตอของปัญหา การมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น search engine ดี ๆ หรือการสามารถเข้าถึงระบบ IT (ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์) ก็จะเป็นคำตอบ ที่ต้องเร่งส่งเสริม

แต่ถ้าการเหลื่อมล้ำดังกล่าว เป็น ผลบั้นปลาย ของสาเหตุมูลฐานอื่นที่เรามองไม่ออก ล่ะ ?

นั่นอาจหมายความว่า search engine ดี ๆ หรือการสามารถเข้าถึงระบบ IT (ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์) อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำนี้ถ่างขึ้น

คือคนที่เก่ง สามารถเข้าถึงสรรพคำตอบ หรือข้อมูลที่เคยซ่อนเร้นอยู่ ก็จะยิ่งทวีขีดความสามารถขึ้นไป และคนที่ไม่รู้ ก็จะยังไม่รู้อยู่เช่นเดิม

 

ประเด็นนี้ ผมไม่ได้มีเจตนากวนประสาท แต่นี่คือสิ่งที่ผมเห็น

 

ลองมาดูเหตุผล

 

เอา google เป็นตัวอย่าง น่าจะดี เพราะเชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์ของกุญแจไขสู่สรรพความรู้ของยุคปัจจุบัน

 

ผมทันเห็นโลกก่อนมี search engine และโลกยุคปัจจุบันที่ search engine กลายเป็นปัจจัยมูลฐานของการเข้าถึงความรู้

 

เด็กไทยมีความรู้มากขึ้นหรือไม่ เมื่อมี search engine ?

คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่

 

เราเห็นเด็กยุคใหม่บางคนที่เก่งมาก ๆ มีฝีมือที่ไม่อายใครในโลก มีความรู้บางเรื่องที่ล้ำหน้าครูอาจารย์ เพราะใช้ search engine "เป็น" คือยิ่งใช้มาก ยิ่งเก่ง ยิ่งใช้มาก ยิ่งฉลาด

แต่เราก็เห็นเด็กยุคใหม่ ที่ทำอะไรไม่เป็น เพราะใช้ search engine แบบ "ไม่เป็น" คือยิ่งใช้มาก ยิ่งสมองฝ่อมาก

การบ้าน หากไม่จ้างร้านถ่ายเอกสารทำ ก็ใช้อาจารย์กู(เกิล)ไปแอบขโมยสิ่งที่คนอื่นเขียนมาสวมชื่อ คนตรวจหากดูไม่ทัน ก็อาจยกมาตรฐานเกรดของโรงเรียนโดยไม่รู้ตัว (ให้เกรด "เอ" ยกชั้น ของรายงานสำเนาเดียวกัน)...

ตัวอย่างที่เป็นเรื่องเล่านั้น ก็พอมีอยู่ ที่ใช้ search engine หนักไป จนสมองเสียหายอย่างสิ้นเชิง

 

ความแตกต่างนี้ กลับมีไม่มากนัก ก่อนยุคของ search engine

หากจะบอกว่า search engine นี้ เป็นตัวถ่างความเหลื่อมล้ำนี้ ก็คงไม่ผิด

 

ปรากฎการณ์เดียวกันเกิดกับ IT ด้วย

มีคนที่ผมรู้จัก ผมเคยเขียนโปรแกรมเล็ก ๆ ให้เขาใช้สมัยเพิ่งมีคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ ทำให้เขาประทับใจมาก ว่า IT มีประโยชน์ ช่วยงานเขาได้มาก เมื่อมีลูก เขาก็ส่งเสริมลูกเต็มที่ให้ได้ลองได้ฝึกเรื่อง IT ตั้งแต่เด็ก ได้หัดประกอบเครื่อง จนตั้ง server เองในบ้าน ทำโน่นทำนี่ออกมาประกวด จนได้รางวัลระดับประเทศไปครอง

 

แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมาก ที่ช่วยตัวเองไม่ได้เรื่อง IT

หากจะบอกว่า IT เป็นตัวถ่างความเหลื่อมล้ำนี้ ก็คงไม่ผิด

หากจะบอกว่า digital divide คือ digital เป็นตัว divide เสียเอง ก็คงไม่ผิด

 

แต่หากนี่คือเหตุผลว่า เราไม่ควรใช้ digital เพราะจะยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำให้เกิดมากขึ้น นั่นก็ผิดแล้ว

 

Boltzmann นักฟิสิกส์ ผู้บุกเบิก statistical mechanics ชี้ให้เห็นตั้งแต่ร้อยกว่าปีมาแล้วว่า เรายิ่งอัดฉีดพลังงานเข้าไปในระบบ gas จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำแยกถ่างออก ระหว่างโมเลกุลที่มีพลังงานต่ำ และโมเลกุลที่มีพลังงานสูง นั่นคือ จะมีโมเลกุลจำนวนน้อย ที่ถือครองพลังงานส่วนใหญ่ และโมเลกุลส่วนใหญ่ ถือครองพลังงานส่วนน้อยที่เหลือ

นี่คือกฎธรรมชาติ ที่แม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต ก็ปฎิบัติอยู่แล้วเป็นปรกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่กลับเป็นเรื่องแปลก หากเราทำให้ระบบกลุ่มก้อนสามารถมีพลังงานเท่าเทียบกันได้ทุกโมเลกุล หลังอัดฉีดพลังงานเข้าไป !

 

โอกาสใหม่ ๆ จะนำความเหลื่อมล้ำรูปแบบใหม่ ๆ ติดมาด้วยเสมอ

สิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่ปิดกั้นโอกาสใหม่ ๆ นั้น แต่ควรเป็นการทาทางลดความเลื่อมล้ำนั้น

สิ่งที่ดียิ่งไปกว่านั้น ควรจะเป็น เปิดโอกาสใหม่ ๆ และหามาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่กันไป

 

สิ่งที่เป็นสาเหตุมูลฐานของความเหลื่อมล้ำของ digital divide อาจอยู่ในวิถีคิด วิถีความเชื่อ วิถีปฎิบัติ ของเรา ของสังคมนั่นเอง ไม่ใช่เพราะตัว digital เองเป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำ

 

เป็นเรื่องของ คน ไม่ใช่เรื่องของ วัตถุภายนอก

 

เป็นวิถีปฎิบัติที่ทำให้ครอบครัวหนึ่ง ทุ่มเทไม่อั้นให้ลูกมีความรู้คอมพิวเตอร์ขั้นแนวหน้า

 

เป็นวิถีปฎิบัติ ที่ทำให้นักเลียนเรียนไปขโมยลอกข้อเขียนของคนอื่นผ่าน search engine เพื่อมาสวมชื่อตัวเองได้มาส่งการบ้านเพื่อเอาเกรดเอ

 

เป็นวิถีความคิด และวิถีความเชื่อ ที่ในระยะยาว กลับสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง

 

ถม digital divide ด้วย digital แล้วตัวหารที่แบ่งความเหลื่อมล้ำ อาจจะยิ่งสูงชะลูดเสียดฟ้า

 

ให้แต่โอกาส ไม่พอเพียงครับ

 

การเหลื่อมล้ำ มีอยู่จริง ไม่ใช่เหลื่อมล้ำโอกาสอย่างเดียว แต่เป็นการเหลื่อมล้ำในวิธีการใช้โอกาสด้วย

การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงต้องเพิ่มโอกาส แต่ต้องให้วิธีคิดพ่วงไปด้วย

 

ต้องให้เคล็ดลับ

ต้องถ่ายทอดความเชื่อ

ต้องให้กำลังใจ

ต้องให้มิตรภาพ

และอาจต้องตะล่อมนำ

 

ที่จะทำให้โอกาสที่ให้ไปนั้น ไม่กลายมาเป็นอาวุธสำหรับการฆ่าตัวตาย เพราะใช้โอกาสไม่เป็น

 

นั่นคือหน้าที่ของชุมชนนักปฎิบัติครับ ที่จะเป็นผู้เกลี่ยความเหลื่อมล้ำนั้น และทำให้ภาพรวม ยกระดับขึ้นมา

เกลี่ยด้วยวิถีคิด วิถีความเชื่อ วิถีปฎิบัติ ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา ที่ควรค่าแก่การบอกเล่าสืบต่อ

 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บอกเล่าถ่ายทอด ดูเผิน ๆ เป็นแฟชันใหม่ของสังคม

แต่เรื่องนี้ มีมานานแล้วครับ และอาจนานกว่าที่เราคิด

 

File:Bacterial Conjugation en.png

ภาพ: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Bacterial_Conjugation_en.png

 

แม้แต่เชื้อโรค ก็ยังรู้จักการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตนมี ให้แก่แวดวงเชื้อที่ไปพบปะสมาคม โดยใช้ pilus ช่วยถ่ายเทคลังพันธุกรรมในตัวมาแลกเปลี่ยนกัน

 

หมายเลขบันทึก: 254942เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2009 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

เทคโนโลยีเหมือนดาบสองคม ...

ขอบคุณครับ :)

บันทึกนี้ของอาจารย์ คล้ายคลึงกับสิ่งที่พี่คิดเมื่อคืนนี้ ตอนอ่านบันทึก วันนี้ไม่เหมือนวันก่อนเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว
จริงๆ ก็เห็นด้วยอย่างที่อ.จ.จันทวรรณเขียน แต่มีคิด ไม่เหมือนบางประเด็น แต่ไม่ได้คอมเม้นท์อะไร เพราะ กลัวว่า จะดูเหมือนว่า เป็นคนชอบแย้ง และเห็นต่างออกไป
พออ่านบันทึกนี้ เห็นด้วย ในจุดที่ว่า.ให้แต่โอกาส  ยังไม่พอเพียง ค่ะ

คนปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือให้เป็น มากกว่า การให้รู้จักใช้เครื่องมือครับ มันจึงแก้ไขบางจุดของปัญหาไม่ได้

ขอบคุณครับ

วันนี้ คืนนี้ อ่านรอบนี้ ชอบประโยคนี้ค่ะอาจารย์

"เป็นเรื่องของ คน ไม่ใช่เรื่องของ วัตถุภายนอก"

วันไหนจะเล่าเรื่องเด็กสองคนให้ฟังค่ะ..ลูกและเพื่อนของลูก
เอาเขาสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้วดีอย่างไร..

วันนี้เราต้องนอน..ซะแล้ว

เสียงก ร น แห่งชีวิต..มาแล้ว

สวัสดีครับ

อย่างนี้ต้องเจอ digital multiply

สวัสดีค่ะอาจารย์

คนพัฒนา และคนก็ก่อเกิดปัญหา แล้วนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาอีกครั้ง

แต่ปัจจุบันการแก้ไขอย่างเดียวคงไม่พอ คงต้องสอนให้คิดด้วยอย่างที่อาจารย์แนะนำด้วยค่ะ

ยกมือเห็นด้วยอีกคนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

การมีข้อมูลเยอะแยะมากมายบนเน็ตก็มีดีและไม่ดีค่ะ อย่างที่อาจารย์ยกตัวอย่างมานั่นก็อย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างที่ไม่ดีและเคยเจอคือข้อมูลไม่ได้กรอง บางครั้งดูเหมือนน่าเชื่อถือแต่หลักลอย ขาดการอ้างอิงที่มาที่ไปแต่เขียนภาษาดี เรียบเรียงดี อันนั้นก็ยิ่งน่ากลัวค่ะ คนจะเข้าใจผิดได้ง่าย ยิ่งคนที่อ่านหนังสือมาน้อย ข้อมูลรอบด้านน้อยก็ยิ่งจะเชื่อง่าย และหยิบข้อมูลผิดๆ ไปใช้

P  Wasawat Deemarn

 

  • ดาบสองคม คมหนึ่งทำร้ายคนอื่น คมหนึ่งทำร้ายตัวเอง
  • ดาบสองคม คมหนึ่งช่วยคนอื่น คมหนึ่งช่วยตัวเอง
  • ดาบสองคม คมหนึ่งป้องกันคนอื่น คมหนึ่งป้องกันตัวเอง

สวัสดีครับ

  • ผมว่า คล้าย ๆ กับตอนที่สร้างนวัตกรรม "รถยนต์" ขึ้นมาใหม่ ๆ นะขอรับ ผู้คนไม่น้อยโดยเฉพาะนักวิชาการยุคนั้นก็ออกมาคัดค้านว่า เป็นผลเสียมากกว่าผลดีจะเกิดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิต ทำนองนั้นครับ อิ อิ

ขอบคุณ

บทเรียน ยุค IT ค่ะ

พี่ P Sasinand

  • สิ่งที่ขาด ผมมองว่า ไม่ใช่โอกาสเพียงอย่างเดียวครับ
  • ขาด วิธีคิด ด้วย
  • ดูปัญหาบ้านเมืองเดี๋ยวนี้สิครับ เกิดเพราะมีคนมีโอกาส แต่ใช้ไม่เป็น หรือเกิดเพราะขาดโอกาส แต่ใช้เป็น ?
  • ผมมองประเด็นแบบนี้ครับ
  • คือเราไม่ได้สอนให้เด็กๆๆของเรา
  • ค้นหาความรู้อย่างเป็นระบบ
  • เด็กไม่รู้จักคิดเอง ไม่ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์คิดสังเคราะห์
  • ที่สำคัญไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกนี่น่ากลัวครับ
  • เราจึงเห็นการลอกผลงานกัน ลอกงานเขียนจาก internet โดยที่ผู้ใหญ่บางท่านถือว่าเป็นเรื่องปกติ  ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
  • ผมพบว่าเด็กๆๆเขียนมาให้ช่วยแปลงาน มาให้หาโน่นหานี่ให้ โดยไม่ได้คิดจะทำเองก่อน
  • ไม่ใช่ว่าเด็กขาดเทคโนโลยี ลองไปร้าน internet cafe นะครับ
  • จะพบว่าเด็กๆๆเข้ามาเล่นเกมมากกว่าค้นหาความรู้
  • ผู้ใหญ่เจ้าของร้าน internet ไม่ได้ชิ้แจงอะไร
  • ก็เขาได้เงินมากจากเด็กเหล่านี้ครับ
  • มาก่อกวนอาจารย์ก่อนครับ
  • ขอบคุณครับ

น่าสนใจครับ ผมคิดว่า digital devide เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น (แปลว่าเป็นผลลัพธ์จากอะไรสักอย่าง)
ไม่ใช่เหตุ แต่เป็นคำเก๋ๆ ที่ฝรั่งคิดขึ้น แล้วมีคนให้ความสนใจเหมือนกับคำอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะ blue ocean, long tail, หรือแม้กระทั่ง web2.0

จากอีกบันทึกของอาจารย์ จันทวรรณ Digital Divide คือ ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ อาจจะมองได้ว่าปัญหา (เหตุ) น่าจะอยู่ที่การขาดความสมดุลย์
ถึงแม้บางทีบางที่จะมี technology มี device เข้าถึง แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ผู้คนจะยอมรับและสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ได้สูงสุดอยู่ดีครับ

 

เห็นเยอะครับ ก๊อปจากในเน็ตไปส่งอาจารย์

ในฐานะครูผู้ใช้เอง และสอนให้นักเรียนใช้

บางอย่างพบว่านักเรียนล้ำหน้าครูมาก เพียงแต่ไม่รู้จักเลือก

ขาดความเข้าใจวิธีการการนำความรู้จากสื่อดังกล่าวมาใช้

ขาดความยั้งคิด ไตร่ตรอง ขาดคุณธรรมโลกไร้พรมแดน

หากจะถามถึงทัศนคติเด็กว่าชอบไหม เด็กทุกคนในโรงเรียนจะตอบเป็นเสียงเดียวกัน รอแต่เพียงการพัฒนาการใช้งานของครูยังต้องพัฒนาให้ทันความต้องการของเด็ก และ ต้องก้าวล้ำนำผู้เรียนด้วย

 สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจมองข้ามได้ นั่นคือ โลกใบนี้ใช้งบมาก

เด็กๆที่ด้อยโอกาสพยายามเข้าสู๋โลกใบนี้ แต่น่าเสียดายที่คาเฟ่ทั้งหลายมีคุณธรรมไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาการของผู้เรียน 

เด็กจำนวนมากติดโลกใบนี้เพียงเพราะเขาเจอของเล่นที่ถูกใจ และงมงายอยู๋กับมันจนเสียผลการเรียนก็มาก

เด็กจำนวนไม่น้อยใช้โลกใบนี้สร้างสรรค์และพัฒนาความคิด ความรู้ และพัฒนาจิตใจ

งบการดูแลหลังการใช้งานไม่มี  งบบประมาณค่าไฟไม่พอ

งบประมาณจักหาเครื่องไม่มี ของเก่าที่เขาบริจาคมากลายเป็นขยะทำให้ห้องเรียนกลายเป็นร้านซ่อมคอม

หากจะเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง พี่มองว่ามีทุกหัวระแหงที่โรงเรียนไม่สามารถจัดหาเครื่องมือให้เด็กน้อยได้ เด็กที่พ่อแม่มีก็จะได้โอกาสมากกว่า แต่ก็อยู่ที่พ่อแม่มีความเข้าใจการใช้งาน ความสามารถของเครื่องมือมากน้อยเพียงใด

ส่วนเด็กด้อยโอกาส หากครูมองผลงานเพียงแค่สวยๆงามตา น่าเก็บไว้ดู หรือเอามาเป็นตัวอย่างมากกว่ามองที่กระบวนการเรียนรู้ และผลจากการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เรียน อันนี้ เกิดช่องว่างใหญ่มาก

สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาทำให้เกิดความรู้สึกสูงต่ำในวงการศึกษาในระดับล่างเช่นกัน

ในแง่ดีคือนักเรียนที่ใช้เครื่องมือได้มีโลกที่กว้างกว่า หากเป็นโลกที่บางครั้งผู้ใหญ่อาจมองว่ายังไม่ถึงเวลา และขาดความเหมาะสม

ขอบคุณค่ะ

  • ใช่ครับ การเหลื่อมล้ำมีอยู่จริงในสังคมไทย ตั้งหลายเรื่องไม่ใช่เพียงเรื่องนี้ และรู้สึกจะมีมานานแล้ว
  • การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงต้องเพิ่มโอกาสอย่างที่ท่านบอก
  • โอกาสเพื่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมอย่างแท้จริง
  • ต้องให้มิตรภาพ
  • ต้องมีคุณธรรม
  • เห็นด้วยที่ว่าเป็นเรื่องของคน ไม่ใช่วัตถุ

สวัสดีครับ ทุกท่าน

  • เรื่องชุมชนนักปฎิบัติ ไม่พึงตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นของเล่นของคนอิ่มหนำไร้งานทำ
  • จริง ๆ แล้วก็คือ ในประเด็นต่าง ๆ ของการทำงานของเรา ซึ่งมีหลายแวดวง มีวิธีการดี ๆ ที่ใช้ได้ผล มาแลกเปลี่ยนกันเรียน แลกเปลี่ยนกันรู้ ก็จะช่วยทุ่นเวลาให้คนอื่นไม่ต้องไปเสียเวลาโดยไม่จำเป็น
  • อย่างเช่น แนวคิดซอฟท์แวร์ open source ก็คือ การเผยแพร่ต้นฉบับโปรแกรมที่เป็นภาษามนุษย์ให้โปรแกรมเมอร์คนอื่นได้เรียนรู้ ได้ต่อฐานขึ้นไป ไม่ต้องเสียเวลาหลายปีมาเขียนซ้ำในสิ่งที่คนก่อนหน้าเขาลงแรงทำไปแล้ว ทำให้มีการต่อยอดไปเรื่อย ๆ ได้เร็ว
  • หรือในแวดวงวิชาชีพ เขามีกลุ่มทำงานเฉพาะกิจ ที่แต่เดิมต่างคนต่างทำ ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้มาจับกลุ่มกันถ่ายทอดเคล็ดลับการทำงาน ทำให้ยกระดับฝีมือแต่ละกลุ่มแต่ละวงขึ้นมา
  • วงที่ว่า อาจมีตั้งแต่ที่ทำงานทำการที่รายละเอียดวิชาการเข้มข้น หรือกลุ่มทำอาสาสมัครเพื่ออะไรบางอย่างที่เขาเห็นคุณค่า
  • ความเหลื่อมล้ำทางวัตถุ ลดทอนได้ด้วยวิธีจัดการ แต่วิธีจัดการ เป็นความรู้ที่ถ้าไม่ถ่ายทอด คนอื่นไม่รู้ว่ามี ก็ต้องคลำหาเอง ก็จะทำให้การเหลื่อมล้ำทางวัตถุมีผลรุนแรง
  • ตอนนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางวัตถุ ทำให้มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความรู้แต่วันหนึ่งข้างหน้า ต่อให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ก็จะยังมีความเหลื่อมล้ำของการสามารถย่อยความรู้ตามมาอยู่ดี ดังที่คุณ Little Jazz กล่าวถึง
  • ยกตัวอย่างเรื่องความรู้ใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ ต่อให้เป็นคนที่เข้าถึงข้อมูลใน internet ได้สะดวกขนาดไหนก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่า มีเพียงบางคนเท่านั้น ที่จะสามารถแยกแยะได้ว่า ข้อมูลไหน เชื่อได้สนิทใจ ข้อมูลไหน เป็นเพียงการคาดคะเน และข้อมูลไหน ที่เชื่อไม่ได้เลย
  • เราจะทำอย่างไรกับความเหลื่อมล้ำกรณีหลัง ? ผมคิดว่า ไม่ใช่เพียงการที่รัฐมีงบให้พอเพียงแล้วทุกอย่างจบ ปัญหาที่แท้จริง ผมว่า ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องของคน ที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนหนทางต่าง ๆ สำหรับการเรียนรู้ที่ได้ผลจริง ไม่เสียเปล่า ซึ่งก็เป็นเรื่องชองชุมชนนักปฎิบัติ (เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มครู กลุ่มดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค ฯลฯ) ที่ต้องมีโอกาสถ่ายเทเรื่องที่ไปใช้แล้วได้ผลแก่กันและกัน ที่จะสร้างความฉลาดแบบรวมให้สังคม
  • ขอบคุณครับ
  • สุขสันต์วันปีใหม่ครับ

สวัสดีค่ะ

***ข้อมูลที่ว่า

ต้องให้เคล็ดลับ

ต้องถ่ายทอดความเชื่อ

ต้องให้กำลังใจ

ต้องให้มิตรภาพ

และอาจต้องตะล่อมนำ จำเป็นยิ่งนักสำหรับเยาวชนที่ใกล้ชิด IT แต่ไม่ไช้ในทางบวก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท