นายสังวรณ์ มีนิสัยรักการเรียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน บิดาจึงนำไปฝากพระที่วัดแสนแสบ (ปัจจุบันคือวัดแสนสุข เขตมีนบุรี) เพื่อให้ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดแสนแสบซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาเพียงแห่งเดียวในจังหวัดมีนบุรีขณะนั้น
นายสังวรณ์ไม่ค่อยจะมีหนังสือเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่ด้วยนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ก็จะขอยืมหนังสือจากเพื่อนๆมาอ่าน เวลาว่างก็ชอบวาดรูปเป็นประจำ จึงทำให้นายสังวรณ์ได้สั่งสมความรู้ด้านวิชาการและมีทักษะในด้านศิลปะมาโดยตลอด
พ.ศ. 2461 เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนนี้ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่ออีก จน พ.ศ.2466 ได้มีการเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดแสนแสบด้วยเงินศึกษาพลี นายโต มัษฎายันต์ ซึ่งเป็นครูใหญ่ได้ชักชวนนายสังวรณ์ ให้ไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนนี้ จนถึง พ.ศ. 2468 เมื่ออายุครบอุปสมบทจึงบรรพชาอุปสมบทที่วัดแสนแสบและช่วยสอนหนังสือในโรงเรียนประชาบาลไปด้วย จนถึง พ.ศ.2469 จึงลาสิกขา พ.ศ. 2470 ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการตำรวจ จนครบเกณฑ์ 2 ปีก็ออกมาอยู่ที่บ้าน
พ.ศ. 2473 ศึกษาธิการอำเภอมีนบุรีได้เรียกตัวให้นายสังวรณ์กลับไปเป็นครูโรงเรียนประชาบาลอีกที่โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี
พ.ศ. 2479 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนศรีบูรพาวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งใหม่ในอำเภอเดียวกัน
พ.ศ. 2480 ย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลวัดทรัพย์สโมสร ในอำเภอเดียวกัน
พ.ศ. 2481 ย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนสุเหล่าแสนแสบ ในอำเภอเดียวกัน
พ.ศ. 2482 ย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำอำเภอมีนบุรี
พ.ศ. 2483 ได้ย้ายกลับมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดินซึ่งเคยเป็นครูในตอนแรกอีกครั้งและเป็นผู้บริหารโรงเรียนนี้จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2509
แม้นายสังวรณ์ จะได้รับการศึกษาไม่สูงนักแต่เนื่องจากเป็นคนที่มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ หมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ เป็นคนช่างสังเกต ช่างบันทึกจดจำ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีความเอาใจใส่ มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ จึงทำให้นายสังวรณ์ได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูงขึ้น เมื่อเป็นครูและเป็นผู้บริหารโรงเรียน จึงได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและชุมชนเป็นอย่างดี
“วันแรกที่ข้าพเจ้ามาโรงเรียน มาถึงสุเหร่าทรายกองดิน
ถามเขาว่าโรงเรียนอยู่ไหนชาวบ้านบอกว่า บนศาลา
ข้าพเจ้าก็คอยอยู่บนศาลาของสุเหร่านั้น เวลาประมาณ 09.00 น.เศษ
มีเด็กชายหญิงทยอยกันมาทีละคน สองคน การแต่งกาย สวมเสื้อเก่า ๆ
นุ่งโสร่ง สวมหมวกแบบอิสลาม เด็กหญิงนุ่งผ้าถุง ขึ้นมายืนหลบ ๆ
อยู่ตามลูกกรงศาลา ซึ่งมีลูกกรงเป็นฝาผนัง โดยรอบมีระเบียง
ภายในศาลามีแต่พื้นโล่ง ๆ มีโต๊ะ 1 ตัว ม้ายาวมีพนัก 1 ตัว
ข้าพเจ้านั่งคอยอยู่ที่นั่น เด็ก ๆ
พากันแอบมองข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนแปลกหน้า เขาคงคิดว่าข้าพเจ้าเป็นใคร
มาทำไม ส่วนข้าพเจ้าก็งง เพราะไม่ทราบว่าห้องเรียนและชั้นเรียนอยู่ไหน
มีแต่พื้นเตียนโล่ง ดังกล่าวแล้ว
ประมาณเกือบ
10.00 น. ครูเดชมา การแต่งกายนุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อขาวแขนสั้น
กระหนีบกระดาษกับรักแร้มาม้วนหนึ่ง ภายหลังทราบว่าเป็นบัญชีเรียกชื่อ
เมื่อครูใหญ่ขึ้นมาบนโรงเรียนแล้ว ข้าพเจ้าก็ถามว่า ห้องเรียนอยู่ไหน
ตอบว่า ไม่มี
ถามว่า
เรียนกันอย่างไร
ตอบว่า
นั่งกับพื้นเป็นแถว ๆ หน้ากระดาน
เหมือนอ่านหนังสือแบบอิสลาม
ถามว่า
แบ่งชั้นเรียนเป็นหมู่-พวกอย่างไร
ตอบว่า
ไม่ได้แบ่ง เรียนปนกัน
ถามว่า
ดำเนินการสอนอย่างไร
ตอบว่า สอนอ่านอย่างเดียว เรียกเด็กเข้ามาสอนทีละคน ๆ
บอกให้แล้วให้กลับไปนั่งท่องจนทั่วทุกคน
ตามแต่ปัญญาเด็กที่อ่านได้มากน้อยไม่เท่ากัน
เมื่อใครจำที่บอกให้ได้แล้วก็ต่อให้อีก
อุปกรณ์การสอนไม่มีอะไรเลยแม้แต่กระดานดำ
ข้าพเจ้าถามว่าจะดำเนินการอย่างนี้เรื่อยไปหรือ ตอบว่า
จะดัดแปลงแก้ไขอย่างไรขอให้ครูช่วยดำเนินไปใหม่ได้เลย
ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง ขอให้จัดการตามใจได้เลย
ขอบัญชีเรียกชื่อมาดู มีแต่ชื่อ เลขประจำตัวไม่ได้เขียน และ
ไม่ได้ขีดเวลามาเรียน ถามว่าสิ้นเดือนทำอย่างไร ตอบว่า
เอาไปอำเภอขอแรงครูที่ชอบๆ ทำให้…”
เมื่อเผชิญกับสภาพปัญหาดังกล่าว นายสังวรณ์ได้พยายามแก้ปัญหาโดยคิดจัดระบบงานและกระบวนการเรียนการสอนเสียใหม่ ตามที่ตนเองเห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับสภาพผู้เรียน จนทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ดังบันทึกของนายสังวรณ์ ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
“อาศัยที่ข้าพเจ้าเคยเป็นครูมาแล้ว…ในเรื่องการทำบัญชีและการแบ่งชั้นเรียน ข้าพเจ้าเคยทำมาแล้วพอเป็นแนวทาง นับว่าไม่หนักใจ วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าสั่งงานให้ครูใหญ่ไปอำเภอ ขอเบิกเครื่องเขียน มีกระดานดำ 3 แผ่น บัญชีเรียกชื่อ 3 เล่ม สมุดดินสอพอสมควร และขอไม้กระดานมาเพื่อมาทำม้ารองเขียนสำหรับเด็กนั่งเรียนด้วย (มาทำเอาเอง) เพราะทราบจากครูใหญ่ว่า โต๊ะเรียนทางการไม่มีให้เมื่อครูใหญ่ไปแล้ว อยู่ทางนี้ ข้าพเจ้าก็คัดเด็กออกเป็น 3 พวก
1. พวกไม่รู้เลย
2. พออ่านพยัญชนะ 44 ตัว ได้บ้าง
3. พออ่านพยัญชนะผสมคำในหนังสือแบบเรียน ป.1 เล่ม 1 สมัยนั้นได้บ้างเล็กน้อย เป็นชั้นเตรียม ก-ข-ค
รวม 25 คน เตรียม ก. พวก 3 มี 8 คน เตรียม ข. พวก 2 มี 10 คน เตรียม ค. พวก 1 มี 7 คน ข้าพเจ้ารับเอา ก.-ข. ไป ส่วน ค. ให้ครูใหญ่ ชั้นเตรียมก็คือ ป.1 สมัยนั้น
พอได้ไม้กระดานมา ข้าพเจ้าก็จัดการทำม้ารองเขียน นั่งได้ตัวละ 4 คน ให้เด็กได้นั่งกับพื้น แต่มีม้ารองเขียนได้สบายขึ้น ให้เด็กทุกคนมีกระดานชนวน จัดทำตารางสอนขึ้น ตามประมวลศึกษาพิเศษ มี อ่าน คัดเขียน เลข จรรยา สุขศึกษา วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น พอสิ้นปีมีการสอบไล่ เด็กก็สอบไล่ได้ เลื่อนชั้นเป็น ป.1 – ป.2 ขึ้นมาตามลำดับ นักเรียนก็เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งถึง ป.4 ครูก็ได้เพิ่มขึ้นจนครบชั้น โรงเรียนก็เจริญขึ้น มีโต๊ะเรียนซึ่งทางการส่งมาให้ครบครัน นับว่าเป็นโรงเรียนมาตรฐานได้โรงเรียนหนึ่ง…. “
นายสังวรณ์เป็นครูสอนที่โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน 6 ปี สามารถสอนให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ตลอดจนวาดภาพระบายสี รู้จักประดิษฐ์ชิ้นงานต่าง ๆ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น งานสานพัด ถักปลอกไม้กวาดทางมะพร้าว สานปลาตะเพียน ทำให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งสิ้น
เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนตั้งใหม่ชื่อโรงเรียนศรีบูรพาวิทยา นับเป็นการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารครั้งแรก จากประสบการณ์ที่ได้จากจัดการเรียนการสอนมาหลายปี ทำให้มีแนวทางในการบริหารจัดการศึกษา จึงได้วางรากฐานการเรียนการสอนทุกอย่างให้โรงเรียนก้าวหน้า แต่ก็เป็นครูใหญ่ที่นี่ได้ไม่นานนัก ทางการก็ได้ย้ายให้ไปเป็นทั้งครูใหญ่และครูน้อยของโรงเรียนใหม่ชื่อโรงเรียนประชาบาลวัดทรัพย์สโมสร การเป็นครูคนเดียวในโรงเรียน ไม่เป็นเรื่องหนักใจของนายสังวรณ์ เพราะเคยชินกับการปฏิบัติงานเช่นนี้มาแล้ว นายสังวรณ์สามารถทำได้ทุกหน้าที่ในเวลาเดียวกัน อยู่ได้ปีเศษจึงมีครูน้อยมาเพิ่ม 1 คน เนื่องจากการเริ่มงานด้วยการวางระบบที่ดีจึงทำงานการเรียนการสอนได้ผลดี
หลังจากนั้นนายสังวรณ์ได้รับการขอร้องจากศึกษาธิการอำเภอมีนบุรีให้ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนอื่นอีก รวมปีละ 1 โรงเรียน เพื่อช่วยแก้ปัญหาในระดับอำเภอ คือโรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ และโรงเรียนประจำอำเภอมีนบุรี ซึ่งนายสังวรณ์ก็สามารถบริหารงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่โรงเรียนประจำอำเภอมีนบุรีซึ่งมีครูและนักเรียนเป็นจำนวนมาก นายสังวรณ์ได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพเจ้ามาอยู่ที่โรงเรียนนี้รู้สึกว่า ครูและนักเรียนต่างก็ให้ความรักเคารพข้าพเจ้าดังกับญาติสนิท การงานในหน้าที่ครูใหญ่ ครูบางคนรับอาสาไปทำให้ ข้าพเจ้าเพียงแต่อ่านทานถูกต้องแล้วเซ็นชื่อเท่านั้น การปกครองครูทุกคนสามัคคีรักใคร่กันดี มันเป็นบุญ ข้าพเจ้าอยู่มาก็หลายแห่งแล้ว ไม่ว่าโรงเรียนมีครูมากครูน้อย ต่างก็สามัคคีรักใคร่กันดีทุกแห่ง ข้าพเจ้าอยู่ได้อย่างสบาย ทำให้ครูใหญ่ต่าง ๆ ในอำเภอมองข้าพเจ้าอย่างเชื่อถือ...”เมื่อได้กลับมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดินที่เคยสอนอีกครั้ง ทำให้ครู ผู้ปกครอง และชุมชนต่างยินดีต้อนรับ เนื่องจากนายสังวรณ์ ได้เคยสร้างความเจริญให้กับโรงเรียนนี้มาแล้ว เป็นครูใหญ่โรงเรียนนี้ถึง 25 ปีจนเกษียณราชการ ได้พัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนดีเด่นทั้งด้านวิชาการ ด้านกีฬา และด้านความประพฤติของนักเรียน
นายสังวรณ์เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความยุติธรรม และมีอัธยาศัยไมตรีจิตที่ดีงาม รวมทั้งมีความตั้งใจและจริงใจที่จะพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในท้องถิ่น แม้ชุมชนส่วนใหญ่ที่นี่จะต่างศาสนากับนายสังวรณ์แต่ก็ไม่ทำให้เกิดช่องว่างทางศาสนา ซึ่งต่างก็ให้การยอมรับนับถือให้เกียรติให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา
นายสังวรณ์ เป็นผู้ที่ชอบจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ สะสมมาเป็นเวลาร่วม 40 ปี เพื่อเป็นความรู้ ข้อคิดข้อเตือนใจให้ทุกคนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทีทั้งบันทึกเหตุการณ์รายวัน บันทึกความรู้ทางธรรมะ ข้อคิดในการปฏิบัติตน และเกร็ดความรู้ต่าง ๆ มากมาย
นายสังวรณ์ สมรสกับนางประนอม คงสาย มีบุตร 8 คน คือ นายเฉลา บุญญะยา (ถึงแก่กรรม) นายอุทัย (ถึงแก่กรรม) นางสำเนียง เซ็นงาม นางประไพ ประภาวีกร นายวินัย นางเปี่ยมสุข นางสาวเกษร และ นางสาวอมร มงคล
หลังเกษียณอายุราชการ นายสังวรณ์ได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบเช่น ปลูกต้นไม้ ขี่จักรยานออกกำลังกาย ฟังธรรมจากรายการวิทยุ ที่สำคัญคือการสร้างงานศิลปะ มีทั้งวาดภาพ และการแกะสลักไม้ สำหรับการวาดภาพก็จะมีคำบรรยายให้ความรู้ไว้ด้วย โดยจะวาดภาพและเขียนไว้ในที่ต่าง ๆ เช่น สมุดวาดเขียนเล่มเล็ก สมุดงานที่มีรอยใช้แล้วของลูก สมุดที่ทำขึ้นเองจากกระดาษว่างที่เหลือใช้ เรื่องราวที่วาดเช่นความรู้เรื่องการปลูกต้นมะเขือ เครื่องหมายจราจร ความรู้สึกเมื่อครั้งสูญเสียสุนัขตัวโปรด ภาพปลาหลายชนิด นกหลายชนิดในลีลาต่างๆ กิริยาอาการของสัตว์เมื่อเกิดสุริยุปราคา ภาพการ์ตูนจากโทรทัศน์ งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุ ภาพแสงเงาบนกระจกใส ว่าวจุฬา เป็นต้น นับเป็นผู้ที่มีจินตนาการและมีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะเป็นเลิศคนหนึ่ง
นายสังวรณ์ เป็นตัวอย่างของผู้ที่สันโดษ อยู่อย่างพอเพียง ด้วยอาหารพอประมาณ อากาศบริสุทธิ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อารมณ์ดีมีจิตใจแจ่มใส ไม่สนใจอบายมุขทุกชนิด จึงเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ในบั้นปลายของชีวิตนายสังวรณ์พำนักอยู่กับลูกกับหลานอย่างสงบสุข ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกหลานอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งถึงแก่กรรม ด้วยโรคชรา ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2546 สิริอายุ 97 ปี 7 เดือน 14 วัน
นางสาวอมร มงคล บุตรคนหนึ่งได้เขียนถึงบิดาในหนังสือพระราชทานเพลิงศพนายสังวรณ์ มงคล ความตอนหนึ่งว่า
“…พ่อเป็นครูคนแรกและคนที่สองในชีวิตลูก ได้เรียนหนังสือกับพ่อเมื่ออยู่ชั้นประถม ลายมือสวยก็เพราะพ่อฝึกให้…ในสายตาลูกพ่อเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้าน พ่อทำอะไรได้มากมาย โดยเฉพาะงานศิลปะและงานประดิษฐ์…ลูกรักและภูมิใจในตัวพ่อมาก…”
**********************
ธเนศ ขำเกิด [email protected]
ตีพิมพ์หนังสือ ประวัติครู ของคุรุสภา พ.ศ.2548
คุณครูเป็นพุทธหรืออิสลามครับ