เครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน (ตอนที่ 2)


ข้อเสนอเชิงโครงสร้างของเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยอง ที่ประกอบด้วยพันธมิตรสามฝ่ายด้วยกันคือ ศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่นของจังหวัดระยอง มหาวิทยาลัยชีวิต และเครือข่ายความรู้ต่าง ๆ

              โครงสร้างของเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยองนั้น  ในแต่ละเครือข่ายจะประกอบด้วยพันธมิตรที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนคลังความรู้ของชุมชนได้แก่ศูนย์ข้อมูลชุมชน  โดยศูนย์ข้อมูลจะเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูของชุมชนต่าง ๆ และเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตที่จะใช้เป็นแหล่งความรู้เบื้องต้นในการเข้าไปเรียนรู้กับชุมชน  ดังแผนภูมิ

โครงสร้างเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน
              โครงสร้างแบบนี้เป็นโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้พันธมิตรสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้จากทุกทิศทุกทางโดยความสมัครใจ  หากจะสงเคราะห์ว่าเป็นโครงสร้างองค์กรแบบแคออร์ดิค (Chaordic Organization) ซึ่งศาสตราจารย์  นายแพทย์วิจารณ์ พาณิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ใช้บริหารสถาบันดังกล่าวอยู่  คงน่าจะพออนุโลมได้  เมื่อเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยองมีการวางโครงสร้างองค์กรแบบแคออร์ดิคแล้ว  นอกจากจะทำให้การทำงานฟื้นฟูชุมชนเป็นไปอย่างคล่องตัวแล้ว  ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย  เพราะทุกคนเป็นอิสระและมีอำนาจเต็มที่ในการตัดสินใจในงานที่ตนรับผิดชอบอยู่

            หากพิจารณาจากมุมมองในเชิงทฤษฎี  โครงสร้างของเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยอง  เป็นการประยุกต์ทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของศาสตราจารย์  นายแพทย์ประเวศ  วะสี  มาใช้เป็นหลักในการออกแบบโครงสร้างขององค์กร  โดยในโครงสร้างนี้ประกอบด้วยพันธมิตรที่เป็นแหล่งสร้างความรู้ที่ได้แก่มหาวิทยาลัยชีวิต  พันธมิตรที่เป็นผู้เชื่อมโยงความรู้ไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ที่ได้แก่ศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น  และพันธมิตรผู้ใช้ความรู้เพื่อเพิ่มพลังให้กับความรู้จนถึงขั้นสามารถขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ให้เกิดขึ้นในตัวตนของสมาชิกในชุมชน  เมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้นพื้นฐานในตัวตนของสมาชิกในชุมชนแล้ว  คนในชุมชนจะไม่รู้สึกว่าถูกกดทับโดยโครงสร้างทางสังคม  เมื่อไม่รู้สึกว่าถูกกดทับ  ความรู้สึกเป็นอิสระจากโครงสร้างทางสังคมก็เกิดขึ้น  ทำให้ความมั่นใจของคนในชุมชนจะฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง  ตัวความมั่นใจในตัวเองของคนในชุมชนนี่เอง  ที่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการฟื้นฟู  และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนและคนในชุมชนได้

บทบาทและชื่อของพันธมิตรทั้งสามของเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยองนั้นไม่ใช่สิ่งตายตัว  แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดตามสถานการณ์  กล่าวคือ  ทั้งเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟู  ศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น  และมหาวิทยาลัยชีวิต  สามารถแสดงบทบาทเดียว  สองบทบาท  หรือทั้งสามในเวลาเดียวกันได้  ไม่มีข้อห้ามทั้งในเชิงระเบียบและในเชิงอำนาจ  เพราะเป็นโครงสร้างที่ไม่เน้นเรื่องอำนาจและกฎระเบียบ  แต่เป็นโครงสร้างที่เน้นที่การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเป็นหัวใจสำคัญ

หมายเลขบันทึก: 25129เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2006 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     ผมขอตอบ คห.นี้ เพื่อ ลปรร.ด้วย ด้วยบันทึกนี้ครับ อิสระอย่างไร้รูปแบบ (ที่พึงประสงค์) ลองดูนะครับ

ขอบคุณครับคุณชายขอบที่นำข่าวดีมาบอก
สวัสดิ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท