"หมอนวด" ...ความจริงที่ต้องยอมรับของชนเผ่า


ปรากฏการณ์ “หมอนวด” ของสาวชนเผ่า เป็น emerging issues หนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการศึกษา เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหา รวมถึงการส่งเสริมพัฒนา ก่อนที่สังคมชนเผ่าจะล่มสลายกับกระแสที่เชี่ยวกรากนี้

สาวๆไปเป็นหมอนวดกันหมดหมู่บ้านแล้ว!!!

เป็นประโยคหนึ่งในบทสนทนาระหว่างผมกับ คุณวิวัฒน์ ตาหมี่ หนุ่มใหญ่ชาวลีซู ระหว่างเดินทางไปบ้าน ลีซู ดอยล้าน อ.แม่สรวย เชียงราย

เราคุยกันถึง ผู้หญิงชนเผ่า กับ "อาชีพที่เธอเลือก" ในสถานการณ์ปัจจุบัน

“หมอนวด” ในความหมายนี้ หมายถึง นวดแผนโบราณ แต่ส่วนหนึ่งก็แอบแฝงไปด้วยการขายบริการทางเพศ เนื้อหาที่เราสนทนากันหาใช่การกล่าวหา หรือให้ร้าย แต่เป็นความจริงส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับและร่วมกันคิดหาทางออกให้กับปัญหา

Lisu1

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย เริ่มไหลตามกระแสทุนข้างนอกมากขึ้น การรับเอาสิ่งใหม่เข้าไปแทนที่ของเก่าเป็นไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง สภาวการณ์เคลื่อนย้ายของประชากรวัยแรงงานมีอัตาราที่สูงมากขึ้นในช่วงหลัง  หนุ่มสาวชนเผ่าละทิ้งอาชีพดั้งเดิมบนดอย บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองหลวงกันซึ่งก็ไม่ต่างกับหนุ่มสาวจากต่างจังหวัด เหนือ – อีสาน

ด้วยส่วนหนึ่งที่คลุกคลีทำให้ผมพอจะเห็นพัฒนาการของปัญหานี้ ที่เริ่มเด่นชัดมากขึ้น

--------------------------------------------------------------------------------

ย้อนหลังไปปี ๒๕๔๔ ที่บนดอยแม่ฮ่องสอน ...

เหตุการณ์ที่ตื่นเต้นเกิดขึ้นไม่บ่อยสำหรับหนุ่มสาวอำเภอเล็กๆที่แม่ฮ่องสอน เมื่อได้ยินข่าวว่า จะมี คอนเสิร์ตนักร้องลูกทุ่งมาเปิดการแสดงที่ตัวอำเภอ...ข่าวนี้ดังสะพัดไปทั่วหุบเขา ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้ถึงวันนั้นเร็วๆ สาวๆลีซูเธอเตรียมตัวมานานหลายวัน อย่างน้อยก็ได้ไปเที่ยวชมแสงสีในตัวอำเภอ นั่นหมายถึง "สวรรค์เล็กๆ" สำหรับคนบ้านนอก

ลูกทุ่งมีสาวๆหางเครื่องตระการตา...เครื่องเสียงกระหึ่ม ดูคึกคัก 

ช่วงเช้า...อะตะผะวิ่งกระหืดกระหอบมาบอกผมว่า  “อะหมี่ (ลูกสาวของเขา) หนีไปแล้ว”

ผมตกใจเลยถามไปว่า หนีไปไหน ?  

อะตะผะ (พ่อของอะหมี่)  บอกว่า “หนีไปกับวงดนตรีลูกทุ่งเมื่อคืน” เขียนจดหมายชิ้นเล็กๆ บอกพ่อและแม่ว่า “เธอจะไปเป็น แดนเซอร์กับวงดนตรี”

ปกติอาหมี่เธอเป็นสาวลีซูที่เรียบร้อย ออกจะขี้อายด้วยซ้ำที่เจอผม ผมไม่เชื่อว่าอะหมี่จะหนีออกจากบ้านไปได้

เรื่องนี้เงียบหายไป..ร่วมปี

.

.

.

ปีใหม่ลีซู ปี ๒๕๔๕

หญิงสาว...ผิวละเอียด สวมแว่นตาดำ ผมสีแดง น่าตาสะสวย...เธอเดินเข้ามาพุ่มไหว้ผม ผมรับไหว้แบบ งงๆ ...

อาหมี่ นั่นเอง  อาหมี่จริงๆด้วยครับ คราวนี้เธอมาในชุดแต่งกายแบบสาวคนเมืองเต็มตัว อะหมี่สวมยีนส์รัดติ้ว กลิ่นน้ำหอมฟุ้งกระจาย  ผมยอมรับว่าเธอสวยขึ้นมาก การพูดจาของอะหมี่ก็เปลี่ยนไป เธอพูดสำเนียงภาคกลางคล่องแคล่ว เสียงหัวเราะร่วนของเธอยามชอบใจ ดวงตามองผมเป็นประกาย...ตรงหน้าผม เธอไม่ใช่อาหมี่สาวลีซูคนเดิมที่ขี้อายอีกต่อไป

ผมทราบทีหลังว่า อาหมี่ ไปทำงานเป็น "หมอนวดแผนโบราณ..."  นอกจากเธอจะกลับขึ้นมาบนดอยในวันปีใหม่ลีซูเพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมของครอบครัว ครั้งนี้หน้าตา บุคลิกเธอเปลี่ยนไป หน้าตาสะสวยขึ้น เธอยังหอบเงินก้อนใหญ่ ซื้อสร้อยทองเส้นโตๆมาฝากอามะ (แม่) ซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆมาฝากน้องสาว เธอดูสวยโดดเด่นมากเมื่ออยู่ท่ามกลางสาวลีซูในชุดประจำเผ่า

สาวๆ รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ห้อมล้อมอาหมี่สอบถามถึงเรื่องราวที่เมืองกรุง...กันอย่างตื่นเต้น

ปีใหม่ลีซูผ่านไปอีกปีแล้ว พร้อมกับสาวๆในหมู่บ้านหายไปจำนวนหนึ่ง ผมรับรู้เหตุผลเพียงแต่ว่า “ไปทำงานในเมือง” พ่อแม่ของสาวๆเหล่านั้น ไม่ได้พูดอะไรมากนักกับเรื่องที่เกิดขึ้น มีบางความเห็นที่ผมได้พูดคุยในวงน้ำชา พวกเขาบอกผมว่า “ดีเสียอีกที่ไปทำงาน ไอ้ลูกผู้ชายมัวแต่กินยา (ยาบ้า) กินเหล้า เกเร ตอนนี้ก็ได้แต่พึ่งพาลูกสาวนี่หละ” 

ผมเริ่มเห็น วิธีคิด ทัศนคติ ของผู้คนบนดอยที่เริ่มเปลี่ยนไป พร้อมกับการแอบคำนวณเม็ดเงินรายรับที่พวกเธอ(สาวดอย) ส่งมาจุนเจือครอบครัวยามเดือดร้อน

-----------------------------------------------------------------------------------

Dsc00348

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และเป็นประสบการณ์จริงของผมที่ได้สัมผัส พัฒนาการปัญหาสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสูง

เราตั้งคำถามว่า “ใครผิด”

ไม่มีใครผิดครับ ...เป็นเรื่องของวิถีระบบ ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระทบเฉพาะคนบนดอยอย่างเดียว คนพื้นราบก็ยากที่จะทานกระแสนี้ หลายคนก็ปล่อยให้ตนเองไหลตามกระแสรุนแรงของทุนนิยม…อย่างไม่รู้อนาคต

Dscf3687

สาวๆไปเป็นหมอนวดหมดแล้ว!!! ปัญหาเกิดจากอะไร?? 

ผมกับพี่วิวัฒน์ นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ ผมเองคุ้นเคยและเคยอยู่ร่วมกับพี่น้องชนเผ่ามาบ้าง ทำให้เห็นภาพร่วมกันกับ พี่วิวัฒน์ไม่ยากนัก พอที่จะประมวลเนื้อหาที่สนทนา ออกาเป็นข้อๆดังนี้

v  “โครงสร้างของชุมชนอ่อนแรง”  ผมหมายถึง ระบบโครงสร้างทางสังคมของชนเผ่าที่ถูกลดบทบาทลงไป ผู้อาวุโสได้รับการยอมรับน้อยลง ผู้รู้ต่างๆในชุมชนถูกหลงลืม ทำให้ผู้คนเหล่านี้ไม่มีพลังเพียงพอที่จะฉุดรั้งวิถีดีงามของตนเองได้

v  “การยอมรับการศึกษาสมัยใหม่”  ที่ละเลยภูมิปัญญาเดิมของชุมชน การพึ่งพาองค์ความรู้ใหม่ โดยขาดฐานการคิดต่อจากทุนเดิม(องค์ความรู้เดิม) และการศึกษาสมัยใหม่ ก็ขาดความลุ่มลึกในมิติภูมิปัญญา เป็นความรู้เพียงเปลือก ต้องอาศัยเวลายาวนานกว่าจะตกผลึกเป็นภูมิปัญญา...ไม่ทันต่อปัญหาใหม่ๆที่ท้าทายตลอดเวลา

v  ขาดเวทีหรือขาดพื้นที่สำหรับ ความรู้ดั้งเดิม รวมไปถึงขาดการจัดการความรู้ การรื้อฟื้นองค์ความรู้เดิม เพื่อยกระดับให้ทันต่อปัญหาใหม่ๆ “ความรู้ที่ขาดพลัง”

v  “ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว” สามีชนเผ่าไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ดี นอกจากปัญหายาเสพติด ปัญหาการดื่มสุราของผู้ชาย และภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำ เมื่อระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งทุนข้างนอกมากขึ้น ส่งผลให้ความเครียดในครอบครัวชุมชนมีสูง เกิดการทะเลาะ ครอบครัวแตกแยก ผู้หญิงต้องเปลี่ยนบทบาทเพื่อดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ...การเดินทางออกไปขุดทรัพย์ในเมืองหลวง เป็นทางเลือกใหม่ของเธอ และด้วยความรู้ที่ไม่มากนัก จะมีอาชีพสักกี่มากน้อยที่จะรองรับแรงงานอย่างพวกเธอ

v  “ค่านิยมใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์” การชักชวนจากหญิงสาวที่ทำงานเป็นหมอนวดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อหญิงสาวในชุมชนได้รับข้อมูล พร้อมกับปัจจัยสนับสนุน เช่น ระบบเศรษฐกิจของครอบครัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัวไม่ดี เธอพร้อมที่จะเปิดรับอาชีพใหม่ในเมือง “งานสบาย ได้เงินดี”

ฯลฯ

อย่างไรก็ตามครับ บทสนทนาระหว่างผมกับพี่วิวัฒน์ ก็อาจตื้นเขินอยู่มาก แต่ก็มีนัยสำคัญในฐานะคนใน (Insider)  เงื่อนไข ปัจจัยที่เรายังต้องเชื่อมโยงอีกมาก

ปรากฏการณ์ “หมอนวด” ของสาวชนเผ่า เป็น emerging issues หนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการศึกษา เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหา รวมถึงการส่งเสริมพัฒนา ก่อนที่สังคมชนเผ่าจะล่มสลายกับกระแสที่เชี่ยวกรากนี้

ผมเข้าใจดีว่า ประเด็นที่ผมนำมาเขียน สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งกับความการยอมรับความจริงเหล่านี้ แต่นี่คือประเด็นปัญหาเชิงสังคมที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก วิวัฒนาการของปัญหาที่เป็นไปอย่างเงียบๆทำให้วิถีที่งดงามของคนบนดอยอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ และ "ล่มสลาย" ในที่สุด

 


 

เรื่องเดิมที่เคยเขียนสะท้อนความจริงที่ได้เรียนรู้ไว้   เรียนรู้ชีวิตกลางคืน...ผ่านบาร์อะโกโก้

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๒๐ ก.พ.๕๒

นนทบุรี

หมายเลขบันทึก: 243507เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

เรื่องจริงที่น่าขมขื่นใจ ครับ ... อีกกี่ปีวัฒนธรรมดั้งเดิมก็จะเลือนหายไป เหมือนกับไม่เคยมีวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ของตัวเองอีกต่อไป

ขอบคุณครับ :)

@ สวัสดีครับ

@ แง่มุมที่หลายหลาย ที่มิทราบมาก่อนเลย

@ สาเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อการไปประกอบอาชีพหมอนวด

@ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องช่วยกันป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

@ ขอเป็นกำลังใจ ขอบคุณครับ

เป็นเรื่องน่าเศร้า และเหตุทั้ง 5 ข้อนี้ ดูชัดเจน

   1. โครงสร้างของชุมชนอ่อนแรง
   2. การยอมรับการศึกษาสมัยใหม่
   3. ขาด เวทีหรือขาดพื้นที่สำหรับ ความรู้ดั้งเดิม รวมไปถึงขาดการจัดการความรู้ การรื้อฟื้นองค์ความรู้เดิม เพื่อยกระดับให้ทันต่อปัญหาใหม่ๆ “ความรู้ที่ขาดพลัง
   4. ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว
   5. ค่านิยมใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์

ต้องมีการฟื้นฟู ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนในชุมชน ทำอย่างไรเขาจะเห็นความสำคัญและพยายามที่จะรักษามัน ทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าชีวิตในชุมชนนั้นมีความสุข

ดูสาวน้อยแล้วเหมือนมีความสุข แต่ไม่ยั่งยืนตลอด (เสี่ยงอีกต่างหาก)

ว่าไปแล้ว เรื่องนี้ คล้ายกับหลายปีก่อน คนหนุ่มสาว (โดยเฉพาะภาคอีสาน)ทิ้งไร่นาทิ้งถิ่นฐานไปมุ่งสู่กรุงฯ

โจทย์ยากนะ คุณจตุพร

วัตถุนิยม..คือเหตุผลอีกข้อหนึ่งใหญ่ ๆ ค่ะ คุณเอก

วัตถุจะได้มา ย่อมต้องใช้เงินซื้อหา

  • สวัสดียามเย็นค่ะ
  • พรุ่งนี้วันหยุดแล้ว...
  • แต่...งาน...ไม่หยุดด้วยซิ
  • ต้องหอบงานกลับมาทำที่บ้าน..ต่อค่ะ
  • ปลายฟ้าแวะมาทักทาย
  • และนำของฝากมาให้ค่ะ
  • มื้อเย็นนี้....

        

 (¯`•._) ... แยมกุหลาบ ... (_.•`¯)

  • มุมนี้คงฝากได้แค่ ให้น้องๆระวังและศึกาการป้องกันโรคติดต่อทางเพศแล้วล่ะ
  • อ่านแล้วเป็นห่วง ...อนาคตที่เลียนแบบกันมา

สวัสดีค่ะพี่เอก

อ่านแล้ว ก็...เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไปเนอะพี่เอก

อะไรๆก็ไม่ค่อยเหมือนเก่าแล้ว

พี่เอกสบายดีนะค่ะ...งานหนักพักบ้างเด้อจ้า..คิดถึงๆๆ อิอิ

อ.Wasawat Deemarn

ผมคลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู มานานพอสมควรครับ มีเรื่องราวดีๆที่เป็น "ทุน" ของพวกเขา มากมาย แต่เรื่องดีๆเหล่านี้กลับไม่ได้นำมาต่อยอด หรือ ยกระดับความรู้นั้นเลย ...

ปัญหาทุนนิยม มันแรง ...และเเรงมากขึ้นหาก รากของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่หยั่งลงลึกพอ..

ประเด็นนี้ท้าทายอย่างมากกับ นักพัฒนาชุมชน ท้าทายอย่างมากสำหรับ การพัฒนาตามแนวทางวัฒนธรรมชุมชน

โจทย์ชัด แต่ กระบวนการต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างมาก ...การฮุดรั้งอาจไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ยังดีที่พอชะลอความเเรงได้

ผมคิดแค่นี้ก่อนครับ :)

  • ชีวิตมีทางเลือก แต่ทำไมเลือกทางนั้น?
  • เสียดายค่ะ อยากเห็นหญิงสาวที่เป็นชนพื้นเมืองที่งดงามตามธรรมชาติ และมีศักดิ์ศรีมากกว่าเห็นเงินทองเป็นพระเจ้า
  • ไม่ทราบว่าจะมีสิ่งไรมาปรับเปลี่ยนทัศนคดีให้กลับคืนสู่แนวคิดแบบดั้งเดิมได้
  • ผู้นำชุมชนและการรณรงค์ให้รักถิ่นฐาน รักวัฒนธรรมเก่าแก่จะปลุกกระแสให้พวกเธอมองเห็นและเข้าใจได้หรือไม่
  • เป็นความจริงที่สะเทือนใจค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

คุณไทบ้านผำ

ผมพยายามเขียนแบบกลางๆ แต่ขบคิดประเด็นจากประสบการณ์ที่ตนเองคลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์ ปรากฏการณ์นี้ ผมเห็นใจผู้หญิงที่ถูกสังคมข้างนอกดึงออกไป เพื่อหาปัจจัยมาล่อเลี้ยง เพื่อการมีชีวิตอยู่ของครอบครัวบนดอย

  • บางรายโชคดี มีสามีที่ดี มีเงินสร้างบ้านที่แข็งแรง ทนแดดฝน
  • บางรายโชคไม่ดีกลับบ้านมาด้วยโรคร้าย...

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทางสังคมที่ เรามองไม่เห็นเพราะมีปัญหาอื่นๆมาบดบัง เช่นปัญหาปากท้อง เป็นต้นครับ แม้ปัญหานี้ไม่เร่งด่วน แต่ก็เป็นปัญหารุนแรง ผูกกับ การดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์

 

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ :)

สวัสดีค่ะพี่เอก

  • เรื่องนี้เทียนน้อยก็เคยได้ยินมาจากเพื่อนบ้างเหมือนกัน
  • เพื่อนเทียนน้อยเป็นสาวลีซู บ้านดอยล้านที่พี่เอกกล่าวถึง
  • ตัวเค้าเองก็เคยไปเป็นหมอนวดพักหนึ่ง เคยเล่าให้ฟัง
  • แต่ก็ออกมาจากตรงนั้นแล้ว  ก็คุยกันค่อนข้างเยอะ
  • มีการชักนำกันไป  มีทั้งที่เป็นหมอนวดจริงๆก็ อย่างว่าก็มี
  • อย่างเพื่อนเทียนน้อยนี่ เค้าไปเรียนนวดแผนโบราณมาจนได้ใบประกาศ
  • ต้องยอมรับอย่างที่พี่เอกว่ามีสาวๆหลายคน ทีเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิม
  • วัฒนธรรมคนเมืองเค้าไปมากมาย แต่ภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเองมีค่อนข้างน้อย
  • ด้วยความหวังที่จะให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ด้วยอะไร..อีกหลายอย่าง...
  • ปัจจัยด้านที่พี่เอกพูดมา พวกเราก็คิดตรงกันนะคะ 
  • ในกลุ่มของเทียนน้อย แรกเริ่มช่วงแรกๆพวกเราทำงานกับคนชนเผ่าโดยทีมงานส่วนมากเป็นคนชนเผ่า  เราเริ่มมาตั้งแต่  การเล่านิทานชนเผ่า การทำค่ายอนุรักษณ์วัฒนธรรมชนเผ่า บางครั้งก็นำเด็กๆหลายๆชนเผ่ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  • การร่ายชื่อบรรพบุรุษ (ปัจจุบันหนุ่มสาวไมใช้ชื่อที่เป็นชนเผ่ามากนัก) ด้วยกลัวว่าจะสูญหายไป  ฯลฯ
  • ดอยล้านปีที่แล้วนี่เทียนน้อยไปปลูกกาแฟมาค่ะ  ปีนี้ว่าจะไปเก็บกาแฟ
  • ปลายเดือนเมษายน  เราว่าจะนำเด็กๆชนเผ่าที่เชียงรายเป็นละหู่ อาข่า
  • และปกาเก่อญอ  ไปทำค่ายอนุรักษณ์วัมนธรรมชนเผ่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  • กับเด็กๆปกาเก่อญอ (กะเหรี่ยงโป)  ที่ดอยเต่า เชียงใหม่ค่ะ
  • ถ้าพี่เอกว่าง ไปด้วยกันไหมคะ 
  • ขอบคุณค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่ชวนให้เราคนพื้นราบคิดถึงคนบนพื้นที่สูงมากขึ้น
  • เป็นกำลังในการทำงานคะพี่เอก  สู้ๆนะคะ  ^_^

ทุนนิยมกำลังทำลายชาติพันธุ์ ทำลายความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของความเป็นคนไปเรื่อยๆ มันกัดกร่อนความรู้สึกของความถูกต้อง ความดีงาม อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้ามนุษย์คิดแต่ว่ามีเงินเยอะ ชีวิตมีความสุข ดังนั้นจึงต้องทำทุกวถีทางที่จะให้ได้เงินมา เวรกรรม....

สวัสดีค่ะ นำเรื่องราวที่น่าสนใจมาให้ศึกษาเรียนรู้อีกเช่นเคยนะคะ

บางประเด็นก็ตรงกับทุกสังคม ที่สำคัญตรงกับ วิทยานิพนธ์ที่กำลังศึกษามากๆค่ะ

จากบทสรุปคุณหมอเอก "..แต่นี่คือประเด็นปัญหาเชิงสังคมที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก วิวัฒนาการของปัญหาที่เป็นไปอย่างเงียบๆทำให้วิถีที่งดงามของคนบนดอยอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ และ "ล่มสลาย" ในที่สุด "

เบียร์นั่งนึกภาพตามว่า เป็นปัญหาที่ดูว่าไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย...การเลื่อนไหลของวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิด ผลกระทบทั้งบวกและลบ หรือเกิด "Culture Choke" ที่กลายเป็นเรา ช๊อค!!แทน แต่พวกเค้า "เกิดขึ้นเงียบๆ" เริ่มด้านชา หรือเพราะไม่มีวัคซีนรักษาให้ถูกโรคเป็นได้...

ขอบคุณพื้นที่เล็กๆนี้ค่ะ

มองกันต่างมุมนะคะ..มุมของผู้เป็น..และมุมของผู้ดู...ล้วนแตกต่าง..

ค่านิยม..คือตัวสำคัญ...อีกตัวหนึ่งที่ทำให้คนเราขาดจุดยืนและเดินไปในแนวทางที่หักเห..

..ทุกส่วน..ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ..การสร้างค่านิยมเป็นสิ่งที่ยากและใช้เวลายาวนาน..ถึงตอนนี้แล้ว..ก็ยังคิดหาหนทางไม่ออกเลยค่ะ..ว่าจะเริ่มต้นแก้ไขที่จุดไหน..และจะต้องใช้เวลานานเท่าไร..กว่าที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางท่ถูกที่ควรนะคะ..

ขอบคุณ..ข้อมูลความจริง..เหล่านี้..ที่สะท้อนสังคมให้ต้องพิจารณาอย่างจริงจังค่ะ..^^

(อ่านแล้ว..เริ่มเครียดเล็กๆค่ะ..^^)

 

สวัสดีค่ะ นำเรื่องราวที่น่าสนใจมาให้ศึกษาเรียนรู้อีกเช่นเคยนะคะ

บางประเด็นก็ตรงกับทุกสังคม ที่สำคัญตรงกับ วิทยานิพนธ์ที่กำลังศึกษามากๆค่ะ

จากบทสรุปคุณหมอเอก "..แต่นี่คือประเด็นปัญหาเชิงสังคมที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก วิวัฒนาการของปัญหาที่เป็นไปอย่างเงียบๆทำให้วิถีที่งดงามของคนบนดอยอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ และ "ล่มสลาย" ในที่สุด "

เบียร์นั่งนึกภาพตามว่า เป็นปัญหาที่ดูว่าไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย...การเลื่อนไหลของวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิด ผลกระทบทั้งบวกและลบ หรือเกิด "Culture Choke" ที่กลายเป็นเรา ช๊อค!!แทน แต่พวกเค้า "เกิดขึ้นเงียบๆ" เริ่มด้านชา หรือเพราะไม่มีวัคซีนรักษาให้ถูกโรคเป็นได้...

ขอบคุณพื้นที่เล็กๆนี้ค่ะ

  • อ่านทุกครั้ง ก็ประทับใจในการนำเสนอทุกครั้ง
  • ชื่นชมกับชีวิตลูกผู้ชายคนหนึ่งที่ช่างคุ้มค่าต่อแผ่นดิน
  • เป็นกำลังใจให้มีความสุขกับการทำงานค่ะ
  • แทนที่จะปล่อยให้ หญิงสาวออกจากหมู่บ้านมาหางานข้างนอกและละทิ้งวัฒนธรรม
  • น่าจะมีการสร้างงานภายในหมู่บ้านมากขึ้น
  • รวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม จัดสร้างโรงละคร ศูนย์รวมการแสดงศิลปะวัฒนธรรม จัดหาผู้สอน จัดหาผู้จัดการ ติดต่อประสานการท่องเที่ยว ทำยังไงให้มีทัวร์ไปลง ชมการแสดง ชมธรรมชาติ
  • งานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเช่นนี้ น่าจะให้เขารู้สึกว่าวัฒนธรรมเขา มีคุณค่าสมควรหวงแหนรักษา และยังเป็นอาชีพให้เขาอีก
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.พันคำ

ประเด็นนี้ เป็นงานพัฒนาตามแนวทางวัฒนธรรม คนทำงานแนวนี้ ต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่ รวมไปถึงพัฒนาการของปัญหาที่ชัดเจน ละเอียดอ่อนด้วยครับ

ประเด็นที่ผมเรียบเรียงมานี้ ก็ได้จากบทสนทนา ซึ่งก็เป็นความจริงไม่น้อย ผมเองก็เคยทำงานกับลีซูมานานกว่า ๘ ปี รวมถึงทำ Thesis ที่เกี่ยวข้องกับลีซู ด้วยครับ (ป.โท) ดังนั้น ผมจึงเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของลีซูอย่างน่าเป็นห่วง

โจทย์ยาก อย่างที่อาจารย์บอกครับผม...แต่จะยากยังไง เพื่อการดำรงอยู่ของความเป็นชาติพันธุ์ ประเด็นนี้นักพัฒนารวมถึงคนลีซูเองก็ต้องขบคิด หาทางเลือก ทางออก ร่วมกัน..

เยาวชน..เป็นเป้าหมายสำคัญมากครับ ในบทบาทของผู้สืบทอด ระยะหลังเราทำ การจัดการความรู้ในกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น โดย องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง เกิดการยกระดับความรู้ก็มาก การฟื้นความรู้ก็ไม่น้อย สถานการณ์ก็ดีขึ้น แต่ก็ดูเหมือนไม่พอกับแรงของโลกาภิวัฒน์นะครับ

ก็คิดว่า ประเด็นที่ crisis กับ ความมั่นคงของการอยู่ของ กลุ่มชาติพันธุ์ น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันต่อเชิงลึก...

ยินดีอย่างยิ่งครับ ที่อาจารย์มาเติมข้อคิดเห็น

ขอบคุณมากครับ  :)

สวัสดีครับพี่หมอเล็ก ภูสุภา

วัตถุนิยม ...เป็นต้นเหตุหลักๆของ ประเด็นปัญหานี้ครับ ที่เด่นชัด เเต่เงื่อนไขแฝงๆก็เยอะนะครับ เช่น  ความเปราะบางของโครงสร้างทางสังคม รวมไปถึง ความล้มเหลวของการศึกษา (จำเลยในทุกปัญหา)

แก้อย่างไร...??

หากคิดเร็วๆ ผมก็มองถึง การแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับวัฒนธรรมลีซู โดยการเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาให้มากขึ้น ในสังคม ยกระดับความรู้ รวมถึงการทำให้ความรู้นั้นมีพลังพอที่จะช่วยฉุดรั้งกระแสทุนได้

แต่ก็ยาก...ทุกข้อเสนอเลยครับ  :) ถึงแม้จะยาก แต่ต้อง ลงมือทำทันที ยังดีกว่าปล่อยปัญหาให้เรื้อรัง จนยากจะเยียวยา..

:)

สวัสดีครับ ครู °o.O ปลายฟ้า O.o°

วันนี้วันหยุด แต่ผมต้องเดินทางไกล...แล้วจะนำเรื่องราวการเดินทางมาฝากครับ ;)

ขอบคุณมากครับ คุณโรงเรียนพ่อแม่

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นปัญหาหนึ่งที่มีอุบัติการณ์มากขึ้นครับ..ในเมื่อทำอะไรไม่ได้มากในห้วงเวลานี้ เห็นด้วยครับ ต้องศึกษาการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อเหล่านี้ .. 

ขอบคุณครับ น้องกล้วยแขก~natadee~natachoei♥.•°♥

โลกเปลี่ยน ปัญหาเปลี่ยน กระบวนการแก้ไขปัญหาเดิมๆ + วิธีคิดเดิม ๆ จะก้าวทันปัญหาได้อย่างไร ว่าไหมครับ?

ผมสบายดีครับ ...วันนี้เตรียมเดินทางไกล แล้วจะนำเรื่องราวดีๆมาฝากครับ

 

 

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นกระแสที่รุนแรงเกินทัดทาน เมื่อวานพาคุณพ่อไปเที่ยวป่าจำปีสิรินทรที่ลพบุรี ชื่นใจกับธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างคือ ขวดกาแฟสำเร็จรูป ทำให้นึกถึงอดีตที่เราใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ผู้ที่ซื้อกาแฟกลับบ้าน จะได้กาแฟในกระป๋องนมข้นหวาน ในขณะที่ปัจจุบันใช้แล้วทิ้งอย่างเดียว

คิดมากไปก็งั้นแหละ ทำให้ดีที่สุดในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ (ดีที่สุดของใครก็ของคนนั้น)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยให้ค้นพบสิ่งที่ดีที่สุด(กว่าเดิม)ได้

ขอบคุณในความรู้ทั้งหลายที่ได้ถ่ายทอดไว้ในที่นี้

ขอให้คุณเอกประสบความสำเร็จในภารกิจเพื่อประเทศชาตินะคะ

สวัสดีค่ะ

พี่ศิริวรรณ

ความล้มเหลวของการศึกษา (จำเลยในทุกปัญหา)

***********************************

น้องเอกยกเรื่องการศึกษาตรงกับ คุณพ่อขายาว เขียนจดหมายเล่าให้ลูกฟัง(และให้แม่อ่านไปด้วย-สอนแม่นั่นเอง)

ที่นี่   ค่ะ The more you learn, the more you stupid

สวัสดีครับคุณเอก

แวะมาอ่านเรื่องดีๆน่ารู้นะครับ

ขออนุญาตรู้สึกไปด้วย แต่ไม่ออกความเห็นนะครับ อาจจะด้วยไม่มีข้อมูลล่ะหนึ่ง และเพราะพี่ๆสมาชิกท่านอื่นสนทนาได้น่าอ่าน น่าคิดตามกันทั้งนั้นไงครับ :)

ถ้านั่งอยู่รอบกองไฟ ผมขอนั่งฟังเขี่ยฟืนเติมไฟไปเรื่อยๆทั้งคืนนะครับ วันนี้ขอฟังอย่างเดียว :)

สวัสดีครับ

อ.Sila Phu-Chaya

สำหรับกรณี หมอนวด...กลุ่มชาติพันธ์ ที่เกิดวาทกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่บนดอย จริงอยู่ครับว่ามีทางเลือกมากมายในการประกอบอาชีพ แต่ก็ไม่ได้มีเหตุผลมากพอที่เธอเหล่านั้นจะตัดสินใจทำอาชีพอื่น..จะด้วยค่านิยม (ตรงนี้น่าจะเรียกได้) รวมไปถึง ลักษณะอาชีพที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก อาศัยการฝึกฝนบ้าง ทำงานสบาย..

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าเบื้องลึก ผู้หญิงก็ไม่อยากออกจากบ้านสักเท่าไหร่ ...เพราะออกจากบ้านมีตราบาปในทันทีสำหรับหญิงชนเผ่า เพราะถูกมองจากสังคมในมุมลบไม่ว่าเธอจะออกไปทำกิจกรรม หรืออาชีพอื่นๆ

แต่ด้วยเหตุผลที่"เธอ" ต้องรับภาระ ทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งเราพบว่า ชายผู้นำครอบครัวเองก็ถูกลดความสามารถลงมาก สาเหตุหลักๆผมพยายามจะโยงไปถึง "ทุนนิยม" และ การล้มเหลวของเศรษฐกิจระดับครัวเรือนครับ...

เมื่อวานผมไปอ่านหนังสือ กรณีศึกษาเดียวกันนี้หลายเล่มทีเดียวที่ธรรมศาสตร์ ผมกำลังสนใจประเด็นนี้ด้วยครับ น่าจะพัฒนาเป็น proposal ในอนาคต :)

แลกเปลี่ยนกันต่อไปนะครับ อาจารย์ครับ..

น้อง เทียนน้อย  :)

กิจกรรมที่น้องเทียนน้อย ชักชวนไป ผมสนใจมากครับ แต่การบริหารจัดการเวลาผมก็มีปัญหามาก ในช่วงมีนาคม เป็นเดือนที่ผมต้องสรุปงานรวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆมากที่เกี่ยวข้องกับงาน แทบจะปลีกตัวไปไหนไม่ได้เลย

เอาเป็นว่า จะรอ เรื่อง - ราว จากน้องเทียนน้อยที่จะนำมาเล่าในบันทึกนะครับ

งานชนเผ่า เป็นงานที่ต้องอาศัยความเข้าใจเป็นอย่างมาก  หากไม่เข้าใจ เข้าถึง ก็ไม่สามารถจะวางแผนการพัฒนาได้ ดังนั้นคนทำงานก็ต้องลุ่มลึกมาก รวมถึง "อดทน" กับการเฝ้าดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ..ผมเชื่อว่าสิ่งดีๆอันเป็นภูมิปัญญาของพี่น้องชนเผ่ามากมาย ตรงนี้เป็นจุดเเข็งที่เราจะนำเรื่องดีๆเหล่านี้ไปสานต่อ เป็นพลังในการเยียวยาวัฒนธรรมที่เจ็บป่วยได้..

ให้กำลังใจน้องสาว เทียนน้อย มีอะไรเล่าให้ผมฟังบ้าง

ฝากความคิดถึง "อาซามะ" ด้วยครับ

ดีใจมากที่น้องมาแลกเปลี่ยนประเด้นนี้กับผมครับ

สวัสดีครับ พี่บัณฑูรอัยการชาวเกาะ

"ระบบการศึกษาสร้างคนรู้ไว้มาก แต่สร้างคนเข้าใจไว้น้อย"

ดังนั้นเราก็จะพบแต่คนเก่ง เกียรตินิยม เต็มไปหมด แต่คนที่เข้าใจ เข้าถึง การพัฒนา และใช้ความรู้จัดการกับปัญหาในชีวิตจริงๆ เราแทบหาไม่เจอ..นี่คือ  วาทกรรมของการศึกษาที่เราคุ้นชิน และการศึกษาเองก็เป็นโจทย์สำคัญทุกเรื่อง ในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ...ซึ่งก็ล้มเหลวนะครับ

เมื่อรากไม่เเน่น ความรู้แต่ไม่เข้าใจ ด้วยทุนนิยมที่เเรงและเร็ว ใครที่มีภูมิคุ้มกันมากก็ชะลอความล่มสลายได้มาก แต่ หากไร้ราก หรือ ตื้นเขิน ก็หลุดลอยไปเลยกับกระแสแบบนี้

สิ่งที่จะฉุดรั้งคือ พลังของภูมิปัญญา และ วัฒนธรรม แต่คนทำงานด้านประเด็นนี้น้อยครับ เลยไม่สร้างพลังจากจุดเเข็งเหล่านี้ได้เลย

ผมรู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำ   แต่ก็มองว่า เป็นทางเลือกที่ผู้มีส่วนไดด้เสีย มาร่วมกันคิดหาหนทางรอดของพวกเขา คุยกันให้ลุ่มลึก ใคร่ครวญกับปัญหาที่เกิดขึ้น โยงใยปัญหาให้ชัด ผมหมายถึงตั้งโจทย์ให้ชัดเเล้วก็เคลื่อนไปช้าๆครับ

----------------------------------

ขอบคุณการแลกเปลี่ยน ต่อเติมประเด็นครับ พี่คงเดินทางไปสวนป่ามหาชีวาลัย ผมขอเก็บตัวเงียบๆเขียนงานให้เสร็จครับ ...นำเรื่องราวดีๆที่นั่นมาฝากด้วยนะครับ :)

ด้วยความเคารพและระลึกถึงเสมอครับ

สวัสดีครับ คุณเบียร์ ^-^ นกกา ^-^  กนก - นกกา

ผมอ่านความคิดเห็นคุณเบียร์แล้ว นั่งอมยิ้มเลยครับ ^__^ มุมคิดของคุณเบียร์ทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้น

ช่วงนี้มีงานที่ต้องสังเคราะห์หลายๆประเด็นด้วยกัน อาจมาตอบบันทึกช้าหน่อย...แต่เข้ามาอ่านบ่อยๆอยู่นะครับ

เริ่มเลยดีกว่าครับ...

"เบียร์นั่งนึกภาพตามว่า เป็นปัญหาที่ดูว่าไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย...การเลื่อนไหลของวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิด ผลกระทบทั้งบวกและลบ หรือเกิด "Culture Shock" ที่กลายเป็นเรา ช๊อค!!แทน แต่พวกเค้า "เกิดขึ้นเงียบๆ" เริ่มด้านชา หรือเพราะไม่มีวัคซีนรักษาให้ถูกโรคเป็นได้..."

ผมลองนั่งคิดตามศัพท์ที่คุณเบียร์ยกมาครับ

"การเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม" อ่านดูแล้วดูมีชีวิตดีนะครับ ผมกำลังมองว่า วัฒนธรรมมีทั้งผสม และ กลมกลืนกัน

ผสม- - ก็ได้วัฒนธรรมใหม่ รวมถึงการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม

กลมกลืน- - วัฒนธรรมที่มีอำนาจสูงกว่า ก็ครอบงำได้มากกว่า หรือถึงขั้นเบ็ดเสร็จ

"ผสม" ยังพอพัฒนาไปได้ครับ เรียกว่า "พหุวัฒนธรรม" - Multiculturalism

ส่วน "กลมกลืน" ดูยังไงก็น่ากลัวกว่าในสังคมโลกานุวัตรที่ก่อให้เกิดความฉาบฉวยชั่วแล่น

กลมกลืน เพราะ ??  หากอ่านตามที่ผมวิเคราะห์เล็กๆในบันทึกนี้

v  “โครงสร้างของชุมชนอ่อนแรง”  ผมหมายถึง ระบบโครงสร้างทางสังคมของชนเผ่าที่ถูกลดบทบาทลงไป ผู้อาวุโสได้รับการยอมรับน้อยลง ผู้รู้ต่างๆในชุมชนถูกหลงลืม ทำให้ผู้คนเหล่านี้ไม่มีพลังเพียงพอที่จะฉุดรั้งวิถีดีงามของตนเองได้

v  “การยอมรับการศึกษาสมัยใหม่”  ที่ละเลยภูมิปัญญาเดิมของชุมชน การพึ่งพาองค์ความรู้ใหม่ โดยขาดฐานการคิดต่อจากทุนเดิม(องค์ความรู้เดิม) และการศึกษาสมัยใหม่ ก็ขาดความลุ่มลึกในมิติภูมิปัญญา เป็นความรู้เพียงเปลือก ต้องอาศัยเวลายาวนานกว่าจะตกผลึกเป็นภูมิปัญญา...ไม่ทันต่อปัญหาใหม่ๆที่ท้าทายตลอดเวลา

v  ขาดเวทีหรือขาดพื้นที่สำหรับ ความรู้ดั้งเดิม รวมไปถึงขาดการจัดการความรู้ การรื้อฟื้นองค์ความรู้เดิม เพื่อยกระดับให้ทันต่อปัญหาใหม่ๆ “ความรู้ที่ขาดพลัง”

v  “ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว” สามีชนเผ่าไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ดี นอกจากปัญหายาเสพติด ปัญหาการดื่มสุราของผู้ชาย และภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำ เมื่อระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งทุนข้างนอกมากขึ้น ส่งผลให้ความเครียดในครอบครัวชุมชนมีสูง เกิดการทะเลาะ ครอบครัวแตกแยก ผู้หญิงต้องเปลี่ยนบทบาทเพื่อดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ...การเดินทางออกไปขุดทรัพย์ในเมืองหลวง เป็นทางเลือกใหม่ของเธอ และด้วยความรู้ที่ไม่มากนัก จะมีอาชีพสักกี่มากน้อยที่จะรองรับแรงงานอย่างพวกเธอ

v  “ค่านิยมใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์” การชักชวนจากหญิงสาวที่ทำงานเป็นหมอนวดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อหญิงสาวในชุมชนได้รับข้อมูล พร้อมกับปัจจัยสนับสนุน เช่น ระบบเศรษฐกิจของครอบครัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัวไม่ดี เธอพร้อมที่จะเปิดรับอาชีพใหม่ในเมือง “งานสบาย ได้เงินดี”

ฯลฯ

โจทย์ชัด???

ปัญหาชัด??

อยู่ที่การคิดหายุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาและต้องอาศัยคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ "กลุ่มชาติพันธุ์" นั่นเองครับงานนี้ยาก และใช้เวลา อาศัยการจัดการความรู้ดีๆ ระดมพลังกัน คิดว่าพอที่จะฉุดรั้งได้

ถึงแม้ว่า เยาวชนที่เป็นพลังใหม่ของการแก้ไขปัญหาปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองทั้งหมด พร้อมๆกันนั้น กระแสโลกานุวัตรและกระบวนการทำให้ทันสมัย (modernization) ได้ทำให้สายใยแห่งการพึ่งพากันของ ชุมชนคลายตัวลง ระยะห่างระหว่างผู้คนเพิ่มมากขึ้น

แต่ผมยังคิดว่าพอมีทางครับ...

 

 

ขอบคุณมากครับ คุณเบียร์ที่มาเติมความคิด จากบันทึกครับ

:)

สวัสดีครับผม คุณครูแอ๊ว

ไปอ่านบันทึกของคุณครูแอ๊ว ครูคุณภาพบ่อยๆเลยครับ ครูบันทึกได้น่าอ่านมาก บางครั้งก็อดอมยิ้มกับเรื่องราวน่ารักๆ ในแต่ละวันของครูไม่ได้ 

เรื่องราวเล็กๆเหล่านั้นมีคุณค่ามาก ...ทั้งหมดคือ วิถีของการพัฒนาคนที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาองค์รวม

ผมเพิ่งได้รับติดต่อจาก มูลนิธิสดศรี เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุม หารือ ประเด็น "humanized Educ Care" - HEC

เป็นศัพท์ใหม่ครับ แต่เนื้อหาก็เกี่ยวพันเรื่องของการเคลื่อนงาน SpD. เข้าสู่วงการการศึกษา มีนัยๆว่าจะใช้ KM เป็นเครื่องมือ นี่เป็นผลพวงจากการที่เราประสบความสำเร็จจาก HHC. Humanized health care นะครับ

ที่ผมยกประเด็นนี้มา เพราะเกี่ยวพันกับครูแอ๊วครับ  ผมมองว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ครูใช้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ "ใจ" และ "ความรัก" นำ  ให้นักเรียนมีความสุข และรักที่จะเรียน ในที่สุดผลสัมฤทธิ์ก็จะได้ ผลผลิตที่ "เก่ง ดี มีสุข" ที่สำคัญ คุณครูก็มีความสุข ยกระดับจิตวิญญาณ

ผมลองคิดเล่นๆเองนะครับ เพราะอีกไม่กี่วันก็จะได้ไปประชุมประเด็นนี้ ผมยังคิดอะไรไปได้ไม่ไกล ก็พยายามคลำๆทางไป เชื่อแน่ว่า การพัฒนาที่ปราณีตประเด็นนี้ จะเป็นคุณูปการสำหรับวงการศึกษาของไทยอีกแนวทางหนึ่ง...

 

----------------------

เกริ่นมายาว แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับบันทึกของผมเลยครับ  :)  งง กันไปหมดเเล้ว  :)  )  )))))

"..ทุกส่วน..ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ..การสร้างค่านิยมเป็นสิ่งที่ยากและใช้เวลายาวนาน..ถึงตอนนี้แล้ว..ก็ยังคิดหาหนทางไม่ออกเลยค่ะ..ว่าจะเริ่มต้นแก้ไขที่จุดไหน..และจะต้องใช้เวลานานเท่าไร..กว่าที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ถูกที่ควรนะคะ.."

อย่างที่ผมแลกเปลี่ยนกับหลายท่านในบันทึกนะครับ ว่า โจทย์ชัดๆ กระบวนการแก้ไขปัญหา ก็ต้องชัดเจน ทำเป็นยุทธศาสตร์ แต่ต้องอาศัยเวลา

กระบวนการศึกษาสำคัญมากๆเลย นักการศึกษาต้องตระหนักปัญหานี้ และคิดหากระบวนการที่จะป้องกัน มากกว่าจะเยียวยาสังคมที่ล่มสลาย แบบ "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน"

เมืองไทย เราไม่ค่อยสนใจประเด็นเหล่านี้ครับ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจก็มักสนใจงานที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ...ทั้งหมดก็เป็นเหตุผลเรื่องของการเมืองด้วยครับ

ผมเองขอเป็นเสียงเล็กๆ สะท้อนเสียงที่แหบพร่าในสังคมชายขอบ มาขยายเสียงให้สังคมใหญ่ได้รับฟังบ้าง  อย่างน้อยแค่ "รับทราบ" ก็ยังดีครับ

:)


ขอบคุณ คุณครูแอ๊วอีกครั้งครับ สำหรับความคิดอันเฉียบคมทำให้ผมคิดต่อไปได้นะครับ

------------------------------

*** ขอขยายคำว่า SpD  ครับ

SpD มาจาก Spiritual Development   ครับ

 

 

 

พี่ เพ็ญศรี(นก)  :)

ต้องขอบคุณมากครับ พี่นก ที่มาต่อเติมกำลังใจ...  ปั่นจักรยานทุกวัน ออกกำลังทั้งกายทั้งใจ วิถีชีวิคคนท้องถิ่น น่าอิจฉามากครับ ผมจินตนาการถึงบรรยากาศเช้าๆ ตอนที่พี่ปั่นจักรยานครับ

ไม่รู้เป็นอะไรครับ  ...เห็นพี่นกก็คิดถึง จักรยานขึ้นมาทันทีเลย :)

------------------------------------------

ชื่นชมกับวิถีการทำงานของพี่น้องเช่นเดียวกัน สำหรับผมถือว่าเกิดมาในดินแดนต้องทดแทนคุณแผ่นดินครับ

ผมอ่านเจอคำดีๆในนิตยสารฉบับหนึ่ง แล้วประทับใจถือโอกาสเอามาฝากพี่นกด้วยครับ

 

ว.วชิรเมธีชีวทัศน์

เราไม่จำเป็นต้องทำเพื่อมนุษยชาติ

เราเพียงแต่ทำในสิ่งที่เรารัก

หากสิ่งนั้นมีคุณค่าจริงๆ

มนุษยชาติย่อมได้รับประโยชน์โสตถิผลเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

 

ว.วชิรเมธี

(อ้างอิง จาก เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๐ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒,หน้า ๕๔)

 

ขอบคุณพี่สาวจากพิษณูโลกครับ :)

 

 

สวัสดีครับ อ. พันคำ

รู้สึกดีและต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่อาจารย์เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นนี้ เป็นประเด็นหนักหน่อยนะครับ "ว่าด้วยเรื่องชีวิต"   :)

บันทึกนี้ เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับพี่ชายท่านหนึ่งที่เป็นชนเผ่า และผมทราบดีว่า เขารู้สึกเป็นห่วงกับการเปลี่ยนแปลงของลีซู เช่นเดียวกับผมที่เคยคลุกคลีกับงานบนดอยมาช่วงหนึ่งของชีวิต

หากเรายอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยอ้างว่า เป็นผลจากโลกาภิวัฒน์ และแก้ไขอะไรยาก ผมก็คิดว่าก็คงยากมากๆ เพราะเราไม่คิดจะรุกกับปัญหา โดยความจริงทุนเดิมของชนเผ่ามีมากครับ เราไม่ได้ใช้ทุนเหล่านั้นมาเป็นพลังในการแก้ไข รวมถึงการป้องกันปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น  หรืออาจมีบบ้างแต่ก็กระท่อนกระเเท่นเต็มที

ตอนนี้ก็ถือว่าวิกฤติเศรษฐกิจลุกลาม ดูเหมือนว่าการให้ออกจากงานมีมากขึ้นช่วงหลังนะครับ แรงงานที่เคยเข้าไปอยู่ในเมืองหลวงก็กลับบ้านมากขึ้น

ปัญหาใหม่ก็คือ เเรงงานเหล่านี้ ไม่สามารถทำการเกษตรเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะไร้ทักษะในการทำการเกษตร การสร้างอาชีพทดแทนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง

ผมเคยทำงานพัฒนาประเด็น "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" หรือ เราใช้ชื่อว่า community based tourism :CBT. เราใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน เป็นอาชีพเสริม และ แปลงทรัพยากรให้เป็นมูลค่า มีหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะชุมชนชนเผ่าที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย มีประเพณีและวัฒนธรรมที่มีคุณค่า เป็นทั้งการยกระดับความรู้เดิม สร้างความรู้ใหม่ไปด้วย หาอ่านเพิ่มเติมจาก Blog ผมที่นี่ครับ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT.)

แนวทางการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองเหล่านี้ สอดคล้องตามที่อาจารย์นำเสนอมาครับ

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับผม :)

 

 

 

พี่ ศิริวรรณ  ครับ


ผมตั้งใจอ่านข้อเสนอแนะของพี่ศิริวรรณ ผมรู้สึกถึงพลังของความรักและเมตตาที่แฝงในถ้อยคำเหล่านั้นด้วยนะครับ ...ต้องขอบคุณมากครับที่ติดตามบันทึกผมเรื่อยมา ผมเองก็ใช้พลังมากพอสมควรครับ กับการเขียน ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การถ่ายทอดประสบการณ์เป็นภาระหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสังคม ในที่สุดความรู้ที่ผมมีก็ถูกนำไปคิดต่อ ในการขับเคลื่อนสังคมของเรา

เป็นความรู้สึกที่ดี และมีความสุขครับที่กัลยาณมิตรเอื้อนเอ่ย ทักทายพร้อมกับกำลังใจที่ดี

-------------------------------------

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวี่วัน เราต้องยอมรับและดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของความเปลี่ยนแปลงให้ได้ "ยอมรับ และ ปรับตัว"

ที่สำคัญที่สุดคือ ความรับผิดชอบกับตัวเราเองและโลกด้วย

ผมชอบมากคำว่า (ขออนุญาตยกข้อเสนอแนะพี่มากล่าวซ้ำอีกครั้งครับ)

"คิดมากไปก็งั้นแหละ ทำให้ดีที่สุดในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ (ดีที่สุดของใครก็ของคนนั้น)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยให้ค้นพบสิ่งที่ดีที่สุด(กว่าเดิม)ได้"

ผมขอสังเคราะห์จาก ประโยคยาวๆด้านบนของพี่ศิริวรรณนะครับ สิ่งที่เราควรทำก็คือ

  • ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ผมเชื่อว่า ปัจเจกที่ดี ย่อมเป็นส่วนประกอบของสังคมที่ดีไปด้วย
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยให้ค้นพบสิ่งที่ดีกว่าเดิม ...ตรงนี้ เป็นเป้าหมายของ KM ด้วยครับ Knowledge sharing ทำให้เกิดการไหลของความรู้ เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อก้าวไปสู่สังคมอุดมปัญญา

 

ขอบคุณพี่ศิริวรรณมากครับ ผมได้รับความคิดเห็นที่มีประโยชน์และกำลังใจจากพี่เสมอๆ

ขอให้มีความสุขในการทำงานเช่นกันครับ

พี่หมอ เล็ก ภูสุภา

"การศึกษาเป็นจำเลยในทุกปัญหา"

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นความจริงครับ เพราะพื้นฐานการพัฒนา กับ การศึกษา มาด้วยกัน หากการศึกษามีปัญหา การพัฒนาก็มีปัญหา อย่างเช่นปัญหาสังคมที่เราสัมผัสอยู่ทุกวี่วัน

ผมอยากจะยกข้อแลกเปลี่ยนที่ผมสนทนากับพี่บัณฑูร (อัยการชาวเกาะ) มาเสริมกับความคิดนี้ด้วยครับ

---------------------------------------------------

"ระบบการศึกษาสร้างคนรู้ไว้มาก แต่สร้างคนเข้าใจไว้น้อย"

ดังนั้นเราก็จะพบแต่คนเก่ง เกียรตินิยม เต็มไปหมด แต่คนที่เข้าใจ เข้าถึง การพัฒนา และใช้ความรู้จัดการกับปัญหาในชีวิตจริงๆ เราแทบหาไม่เจอ..นี่คือ  วาทกรรมของการศึกษาที่เราคุ้นชิน และการศึกษาเองก็เป็นโจทย์สำคัญทุกเรื่อง ในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ...ซึ่งก็ล้มเหลวนะครับ

-----------------------------------------------------

ดังนั้นเรามาสร้างการศึกษาใหม่กันดีกว่าครับ ปัญหาก็คือ เราคาดหวังกับการศึกษาในระบบมากเกินไป และปัญหาของการศึกษาในระบบ คือ ความคับแคบ และเป็นศาสตร์เฉพาะ  ซึ่ีงก็เป็นการเรียนรู้ที่จำเป็น แต่..ยังไม่พอ

เรามาช่วยกันทำ KM กันเถอะครับ   เรามีความรู้ Tacit K. มากมาย แต่เราไม่ได้จัดการความรู้เหล่านี้ ให้มาเป็นพลังในการพัฒนา(เท่าที่ควร)

การเขียนบันทึกเป็นทางเลือกหนึ่ง การแลกเปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่ควร...และการนำไปใช้ แล้วถอดบทเรียนเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ ประเมินผล แล้วทำใหม่ เราจะเกิดนวัตกรรมความรู้มากมายและทรงพลังไม่แปลกแยกจากสังคมที่เราอาศัยอยู่

โดยสรุป... ช่วยกันเขียนบันทึกดีๆ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเถอะครับ !!!!!

 

-----

  • สร้างการศึกษาใหม่กันดีกว่าครับ
  • เรามาช่วยกันทำ KM กันเถอะครับ
  • ช่วยกันเขียนบันทึกดีๆ
  • ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ข้อเสนอ ๔ ข้อ ที่เราสามารถทำได้..

:)

ขอบคุณมากครับ น้องเดย์ adayday

"ขออนุญาตรู้สึกไปด้วย แต่ไม่ออกความเห็นนะครับ อาจจะด้วยไม่มีข้อมูลล่ะหนึ่ง และเพราะพี่ๆสมาชิกท่านอื่นสนทนาได้น่าอ่าน น่าคิดตามกันทั้งนั้นไงครับ :)

ถ้านั่งอยู่รอบกองไฟ ผมขอนั่งฟังเขี่ยฟืนเติมไฟไปเรื่อยๆทั้งคืนนะครับ วันนี้ขอฟังอย่างเดียว :)"

อ่านความเห็นของน้องเดย์แล้ว อมยิ้มกับความตรงไปตรงมาของน้องมากครับ เอาเป็นว่า ช่วยเขี่ยไฟ ให้ไฟลุกโชน ทั้งคืนนะครับ

ขอบคุณมากครับ  :)

ขอบคุณพี่มากค่ะ ที่เห็นความสำคัญของผู้หญิงลีซู ปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้หญิงลีซูเข้าไปทำงานในเมืองหลวงเยอะมากหากยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

ผมคิดว่าอีกประเด็นที่น่าคิดคือ แม้ว่าหญิงสาวเหล่านั้นจะไม่มีความสุขกับงานที่เธอทำ (บางคนยอมขายบริการด้วยใจสมัคร) เพื่อหาเงินเยอะๆส่งให้พ่อแม่ โดยที่พ่อแม่ก็มักจะเรียกร้องเอาจากเธอบ่อยๆและเยอะ ประมาณว่าถ้ามีเงินให้แสดงว่าเป็นคนกญัตญูและพ่อแม่จะแสดงออกว่ารักเขามาก (ซึ่งหญิงสาวหลายคนที่ผมรู้จักพวกเธอดูเหมือนขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่และการทำแบบนั้นมันทำให้พวกเธอได้รับการยอมรับและความรักจากพ่อแม่ ประมาณหลักจิตวิทยา Reverse psychology ซึึ่งแตกต่างจากเด็กในเมืองถ้าถูกพ่อแม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบจะต่อต้านหรือหนี แต่เด็กสาวลีซอที่ผมรู้จักหลายคน เธอเกลียดพ่อแม่ที่ชอบโทรมาขอเงิน แต่เธอก็จะพยายามหาให้ โดยการทำงานแบบนั้นเธอจะมีเงินเร็วและมากที่จะให้พ่อแม่ซึ่งส่วนใหญ่อยากมีบ้านใหม่หลังใหญ่ๆ มีรถใหม่ๆ มีทองใส่ …. สิ่งจะแก้ได้คือพ่อแม่ต้องรับรู้และเห็นถึงคุณค่าของชีวิตของลูกคน ไม่ใช่วัตถุนิยม / คนที่ปลูกฝังค่านิยมของวัตถุบางทีไม่ใช่จากสังคมซะทีเดียว / ดังตัวอย่างเด็กจะไม่เรียกร้องกิน KFC ถ้าพ่อแม่ไม่ยื่นให้เขากินก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท