สีสันสงกรานต์บ้านนอก (ตอนที่ 1)


ความยิ่งใหญ่ของสงกรานต์ที่นี่ อยู่ที่ความเรียบง่าย ความสุภาพ และความสัมพันธ์ของผู้คนและชุมชนที่ต่อเนื่องยาวนานบนฐานจริยธรรม และมีจิตวิญญาณร่วมกันในประเพณีนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอาไม้บรรทัดจากสังคมไหนมาวัด

 

               ช่วงนี้ ผมดูข่าวทุกช่อง จะขยันนำข่าวการเดินทาง การจัดมหกรรมท่องเที่ยว การแข่งขันกันทำสถิติลดอุบัติเหตุของจังหวัดต่างๆ แม้แต่ข่าว ก็ยังแข่งขันกันนำเสนอรายงาน ที่เน้นภาพความสนุกสนานจากการสาดน้ำ การประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนขณะเดินทาง การทะเลาะเบาะแว้งจากการมึนเมาสุรา ความจอแจของพาหนะที่ระบายผู้คนจากป่าคอนกรีตไปดับร้อนยังเมืองท่องเที่ยวต่างๆ มีแรงงานชนบทจำนวนมากเบียดเสียดกันกลับบ้านเกิดเมืองนอน

                 สีสันในช่วงสงกรานต์ แต่ข่าวในเชิงวิเคราะห์เจาะลึกไม่ค่อยจะมีแฮะ และมุ่งจะขายการท่องเที่ยวตามเมืองใหญ่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ สุโขทัย พัทยา หรือตรอกข้าวสาร

                จริงๆแล้ว ในทางปฏิบัติ สงกรานต์เป็นอะไรที่มากกว่าการท่องเที่ยวเยอะ เห็นได้ชัดในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจของประเทศ อย่างที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ผมอยู่นี่ก็แม่น

สงกรานต์ที่ปางมะผ้า

                  อำเภอปางมะผ้าถูกวางแคมเปญโดยรัฐให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกับอีกหลายร้อยหลายพันอำเภอทั่วประเทศครับ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวทางกายภาพเฉพาะตัวอยู่ เช่น ถ้ำผีแมน ถ้ำลอด และอีกหลายสิบถ้ำ มีป่าเขาลำเนาไพร และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น วัฒนธรรมประเพณีงานเทศกาลต่างๆของชาวลาหู่ ลีซู ไทใหญ่ กะเหรี่ยง เป็นต้น แต่ยังไม่ถูกผลักดันสู่ประตูการค้าด้านการท่องเที่ยวมากนัก และหลายๆหมู่บ้านก็มีการจัดตั้งการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนไปบ้างแล้ว

                   อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ ในสายตาคนเชียงใหม่อย่างผมที่มาลงหลักปักฐานอยู่ที่ปางมะผ้า สงกรานต์ที่นี่ยังมีความหมายต่อชุมชนอย่างกว้างขวางและลุ่มลึกอยู่เยอะ โดยไม่ต้องจัดงานประกาศศักดาความเก่าแก่ หรือยิ่งใหญ่โอฬารใดๆ

                ผมไม่ได้บอกว่าสงกรานต์ในเชียงใหม่หรือกรุงเทพ หรือที่ไหนๆในโลกนี้ จะถูกหรือผิด จะแย่หรือดีกว่าที่นี่นะครับ เพราะแต่ละแห่ง ก็มีจุดสนใจ มีความชื่นชอบ ถูกจริตกับผู้คนต่างกันออกไป มากบ้างน้อยบ้าง

                      แต่ถ้าจะมีสงกรานต์ที่ดีหรือเลวแบ่งแยกกัน ก็อาจจะดูได้จากการใช้ความรุนแรงทางกาย วาจา ใจ น่าจะเป็นตัวชี้วัดหยาบๆได้ประการหนึ่ง

                       แต่จะนับรวมสถิติอุบัติเหตุ และยอดจำหน่ายสุรา นารี บุหรี่ อบายมุข พ่วงไปด้วย ก็ไม่น่าจะผิดประการใด                             

                   ความยิ่งใหญ่ของสงกรานต์ที่นี่ อยู่ที่ความเรียบง่าย ความสุภาพ และความสัมพันธ์ของผู้คนและชุมชนที่ต่อเนื่องยาวนานบนฐานจริยธรรม และมีจิตวิญญาณร่วมกันในประเพณีนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอาไม้บรรทัดจากสังคมไหนมาวัด

                    แน่นอนว่า ประเพณีนี้ มันมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ เพราะมันมีชีวิตจิตใจ แต่ผมยังเห็นว่ามันก็ยังมีชีวิตที่มีชีวา มีคุณค่าอยู่มาก

                 โดยไม่ต้องโหมประโคมโฆษณา ไม่ต้องวิ่งเลียขานายทุน ไม่ต้องใช้ภาษีรัฐ รวมทั้งอำนาจรัฐ ไล่ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี  สงกรานต์ที่นี่ก็มีชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง
               ที่นี่ สงกรานต์เป็นประเพณีสำคัญของชาวไทใหญ่เช่นเดียวกับชาวไทยพุทธ แต่จะมีขั้นตอนประเพณีพิธีแตกต่างกันไปบ้าง ผมก็จะทยอยนำมาลงเพื่อให้ตัวเองได้ทบทวน และแลกเปลี่ยนความรู้กับคนทั่วไป
                     แต่ก่อนอื่น ต้องบอกไว้ก่อนว่า ผมเองไม่ได้เกิดที่ปางมะผ้านี่ ผมเป็นเพียงคนนอกที่มาอยู่ได้เพียงสองปี และอยู่ที่หมู่บ้านสบป่อง ซึ่งเป็นหมู่บ้านไทใหญ่หมู่บ้านหนึ่งในจำนวนนับสิบหมู่บ้านไทใหญ่ของอำเภอปางมะผ้า แต่ก็พยายามที่จะทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของที่นี่ เท่าที่ประสบการณ์อันคับแคบของตัวเองจะมี ผิดถูกอย่างไร ก็ขออภัยไว้ด้วย

                      

·12 เมษายน 2549

            ผมตื่นประมาณ 9 โมง ก็เห็นคนเฒ่ามาบ้านกันหลายคน ผมก็ถามภรรยาว่าเขามาทำไมกันเยอะแยะ แฟนผมก็ตอบว่า เขามาเที่ยวหาแม่เฒ่า (คือแม่ยายของผม) มาจิบน้ำชา พูดคุยกัน และ ฟัง จ้าดไต (ลิเกไทใหญ่) ฟัง ตาลา ด้วยกัน

                 อัน ตาลา นี้คือเทศนา ฟังตาลานี่ก็คือฟังเทศน์ ฟังธรรมะที่เล่าออกมาเป็นนิทานภาษาไทใหญ่ครับ ผู้เฒ่าบ้านในซอยเขาพากันเอาเทปที่อัดเสียงเทศน์นี่มาเปิดฟังร่วมกันหลายคน ผมไม่รู้ว่านี่พอจะเทียบเคียงกับบรรยากาศ สภากาแฟ ได้หรือเปล่า แต่ผมมองแล้ว น่าจะเป็น สภาน้ำเน่ง” (น้ำเน่ง เป็นคำไทใหญ่ แปลว่าน้ำชา) หรือ สภาธรรมะ มากกว่า เพราะเอาเรื่องเทศน์ เรื่องคำสอนศาสนามาคุยกัน

               ผมกับภรรยาก็อนุโมทนากะเขาด้วย ผมพอฟังภาษาไทใหญ่รู้เรื่องบ้าง แต่ถ้าจะฟัง ตาลา นี่ไม่ไหว แปลตามไม่ทัน ก็เอาขนม ของว่างไปเสริฟ ลูกเด็กเล็กแดงก็มากินด้วย เสียงจอแจสนุกสนาน

                ดูแฟนผมมีความสุข ผมก็สุขไปด้วย และคิดว่าลูกน้อยในท้องของเธอก็คงมีความสุขไปด้วย

            วันนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเริ่มหยุดงานแล้ว เริ่มเล่นสาดน้ำ เด็กๆและหนุ่มสาววัยรุ่นก็จะยึดเอาพื้นที่ริมถนน และหน้าบ้านตัวเองสาดน้ำผู้คนที่สัญจรไปมา

                 บ่ายๆ อากาศร้อนมากๆ เด็กบางส่วนก็จะไปเล่นน้ำลาง และน้ำแม่หมู ซึ่งเป็นลำน้ำใกล้บ้าน

                 หนุ่มๆบางคนอยากไปด้อมๆมองๆสาว ก็จะไปดูกันตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เห็นขาอ่อนกันง่ายๆ

ที่นี่...ไม่มีสาวไหนใส่ชุดว่ายน้ำลงห้วยหรอกครับ!

               

ชาวบ้านไปมาหาสู่กันสนุกสนาน  ส่วนผม  หน้าดำคร่ำเคร่งง่วนอยู่กับเครื่องคอมที่ระเบียงบ้าน แฟนผมค้อนพองามว่า คนอื่นเขาหยุดงานกัน ยังมีผีบ้าจะมาทำงานอยู่นี่อีก ผมก็ยิ้มแล้วก็ตอบโดยไม่คิดอะไรมากว่า ถ้าผมไม่ทำงาน แล้วจะให้ผมทำอะไร เธอก็ยิ้มๆไม่ว่าอะไร

หลังจากงีบหลับตอนบ่าย ผมมาถามตัวเองกับคำตอบที่ให้กับแฟนเมื่อเช้านี้ว่า

นี่เรายกเอางาน มาอ้างเพื่อสร้างกำแพงปิดกั้นการเรียนรู้อยู่ในโลกแคบๆของเราหรือเปล่า ???”

ค่ำแล้ว ญาติพี่น้องฝ่ายเมียผม มานั่งชุมนุมพูดคุยกันอยู่เต็มพื้นบ้าน ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต พ่อแม่ คนชรา

เสียงคุยกันจ้อกแจ้ก....

....แว่วเสียงน้ำเน่ง (หรือน้ำชา) กำลังเต้นอยู่ในการ้อนๆ

ผมว่า ผมหนีการหมกมุ่นตัวเอง ไปเข้า "สภาน้ำเน่ง" กันสักพักจะดีกว่า!

หมายเลขบันทึก: 23761เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ว่างๆผมจะเข้าไป ในสภาน้ำเน่ง(ชาเยโด๊ะ = ภาษาลีซอ)ด้วยคน พี่เขียนบล๊อกได้น่าสนใจมากครับ ผมติดตามตลอด เขียนสม่ำเสมอนะครับ เพราะอย่างน้อย บริบทที่พี่เขียนถึง ก็คือบริบทเดียวกับที่ผมอยู่ เป็นกำลังใจให้ ในการดูแลครรภ์(ภรรยา)ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท