๔๘. การคุยและฟังเสียงหัวใจ กับการปรึกษาวิชาการและวิทยานิพนธ์


"...เหตุการณ์เล็กน้อยมากครั้งนี้ ให้บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งแก่ผมว่า ในการทำงานที่ต้องการผลลัพธ์ทางวิชาการที่สะท้อนจิตวิญญาณและคุณธรรมทางวิชาการ มากกว่าผลงานของสมองและสติปัญญาระดับการใช้ความรู้นั้น เราจะต้องใส่ใจกับการคุยและฟังเสียงหัวใจ ที่คิดและเข้าใจกันด้วยพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เลยทีเดียว....."

              เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติที่ผมร่วมสอนอยู่ และต่อมาพอจบภาคทฤษฏี ก็เป็นประธานควบคุมวิทยานิพนธ์ให้แก่เขา ปีหนึ่งก็ 2-3 คน

              มีอยู่คนหนึ่งเป็นแพทย์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วก็มาเรียนที่ประเทศไทยในหลักสูตรดังกล่าวด้วยทุนของตนเอง มีความกระตือรือร้น ไม่เพียงเก่งภาควิชาการทุกวิชา แต่สนใจกิจกรรมวิชาการในทุกเรื่องที่เขาจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ซึ่งสำหรับผมแล้ว เห็นว่าเป็นวิถีปรกติของนักศึกษาจากประเทศที่พัฒนามากแล้วนี้

              วันหนึ่ง ก่อนเริ่มทำวิทยานิพนธ์ ผมถามเขาระหว่างการพูดคุยทั่วไปเพื่อวางแผนพัฒนาหัวข้อและเตรียมทำวิทยานิพนธ์ว่า จะวางแนวความสนใจไปทางไหนที่ผมจะสามารถช่วยช่วยสะท้อนลงไปสู่การออกแบบการวิจัยในการทำวิทยานิพนธ์ของเขา  และคิดว่าทั้งการทำวิทยานิพนธ์นี้ รวมไปจนถึงเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว  เขาอยากได้ประสบการณ์ทางวิชาการ รวมทั้งอื่นๆ ไปทำอะไรตามความสนใจเฉพาะด้วยไหม

               นักศึกษาคนดังกล่าวเป็นแพทย์และจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศของเขา  ยังมีความเป็นหนุ่มเป็นสาว เห็นพลังชีวิตมากมายอยู่ในทุกกิจกรรมและในทุกอริยาบทของชีวิต ตาเป็นประกาย ถักทอพลังความฝันใฝ่ขึ้นมาทันที ก่อนที่จะแสดงความสนใจออกมาว่า

              "หากเป็นไปได้ จบแล้วจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตสักพัก ขออาสาไปเป็นนักวิจัย หรือนักวิชาการ โครงการช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาสุขภาพหรือสาธารณสุข ในประเทศอื่นที่มีคนทุกข์ยากอยู่เยอะ " เขาพูดต่อไปอีกว่า " หากเป็นไปได้  อยากจะไปเป็นอาสาสมัครที่กลุ่มประเทศแอฟริกาหรือถ้าไม่ได้ไปอย่างนั้นก็จะออกไปทำงานสาธารณสุขชุมชน มากกว่าจะกลับไปเป็นแพทย์รักษาอย่างเดียว"

             การพูดคุยกันแบบทั่วๆไปให้บรรยากาศการทำวิทยานิพนธ์เป็นการทำงานร่วมกันของเขาและผม กลายเป็นทรรศนะที่ทำให้ผมประทับใจเป็นอย่างมาก  เป็นทรรศนะที่ผมไม่ค่อยได้ยินและไม่ค่อยคุ้นเคย เนื่องจากไม่ว่าจะในสังคมไทยและจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆนั้น ผมมักได้ยินถึงการกล่าวถึงการได้เรียนสูง ได้เพิ่มคุณวุฒิ ได้เลื่อนสถานะทางสังคม ได้ออกไปเก่ง รวย และแข่งขันให้ชนะคนอื่นๆ

           ทว่า ทรรศนะจากนักศึกษาของผม เป็นทรรศนะของคนจิตใหญ่และมิใช่อยู่ในระดับการศึกษาเรียนรู้แล้วครับ เป็นทรรศนะของความมุ่งมั่นเพื่อทำหน้าที่แห่งชีวิตเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มากที่สุดของคนที่รู้จักตัวเอง เห็นความสำคัญของการที่ครั้งหนึ่งได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งคงจะดำรงอยู่ได้ในโลกนี้ไม่ถึงร้อยปีแต่อาจมีโอกาสทำอะไรดีๆด้วยตนเองได้เยอะ ผมจึงดีใจและภูมิใจมากที่จะได้สนับสนุนการทำวิจัยของเขา

          จึงด้วยความตั้งใจและนับถือความมีจิตใหญ่ของเขามาก  เลยช่วยเขาออกแบบกระบวนการวิจัยเสียหลายมิติ เพื่อให้เขาได้สิ่งต่างๆ เป็นประสบการณ์วิชาการและเป็นทุนชีวิต สำหรับออกไปทำงานให้แก่คนหมู่มากอย่างที่ตั้งใจให้มากที่สุด ผมจะขอทำงานผ่านความมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนอย่างนี้ของเขาอย่างดี

           ผมมีความรู้สึกว่า เราได้ทำงานเพื่อมุ่งให้เกิดผลดีต่อคนอื่นในอนาคต ร่วมกัน มากกว่าเป็นเพียงดูแลและควบคุมการทำวิทยานิพนธ์ให้แก่เขาเสียอีก อยากให้เขาได้มีโอกาสลงไปเก็บข้อมูลและสัมผัสกับชุมชนในประเทศไทยที่เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อการวิจัยด้วยตนเอง ให้ดีที่สุด หลายแง่หลายมุม โดยเฉพาะที่สะท้อนมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ความเป็นเมืองและชนบทในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆที่มีความเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ

          แต่ทางหนึ่ง ผมเป็นคนมุ่งทำวิจัยในวิถีที่ขับเคลื่อนภาคสาธารณะและความเป็นชุมชนภายใต้ตัวแปรที่ผมสนใจทำวิจัยในกรอบคิดแบบต่างๆด้วย  จึงไม่ต้องการให้นักศึกษาตนเองเป็นฝ่ายได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการอย่างเดียว ทว่า อยากให้ชาวบ้าน หน่วยงาน และคนในพื้นที่ ได้สิ่งอันเป็นผลดีจากกระบวนการทำวิจัยและการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของนักศึกษาด้วย 

          เราออกแบบให้เป็นกระบวนการวิจัยและการศึกษาเรียนรู้ ที่ชุมชน นักศึกษา อาจารย์ที่ต้องดูแลและทำวิจัย รวมทั้งฝ่ายต่างๆที่งานวิจัยของนักศึกษาเป็นเงื่อนไขให้ได้มาทำงานด้วยกัน สามารถเกิดสถานการณ์แบบต่างคนต่างได้สิ่งดี (Win-Win Situation) ไปด้วยกันทุกฝ่ายก็ได้ จึงเมื่อมีโอกาสก็อยากจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เงื่อนไขจะเอื้อให้ทำได้

         แนวคิดดังกล่าว  ผมจึงเลือกพื้นที่และชุมชนที่ผมทำวิจัยอยู่ด้วย ให้เป็นพื้นที่การทำวิจัย  ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อผมและมหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ด้วยเช่นกัน ในข้อที่มุ่งเน้นกันอยู่เสมอว่า  การทำวิจัยของอาจารย์กับการเรียนการสอน การจัดโครงการศึกษาอบรม ตลอดจนการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา จะต้องสามารถทำให้เชื่อมโยง และสะท้อนซึ่งกันและกันไปด้วย ซึ่งจะทำให้ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย(Research-Based University) สามารถปรากฏขึ้นที่การได้เรียนรู้ของนักศึกษามาจากการทำวิจัยของอาจารย์ด้วย

         การทำหลายมติและหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทำให้ผมต้องอาศัยทีมเป็นผู้ช่วยหลายคน ทั้งเพื่อช่วยนักศึกษา ช่วยผม และช่วยเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานวิจัยในชุมชน ผสมผสานไปกับการเตรียมพื้นที่และชุมชนเพื่อการวิจัยอย่างดีไปด้วยของนักศึกษา

        งานหลายอย่างที่เตรียมการและช่วยกันได้ในห้องประชุม หรือพากันไปเป็นกลุ่ม เช่น การเตรียมเครื่องมือหลังจากทำงานเชิงวิชาการไปแล้ว และการลงไปเก็บข้อมูล ซึ่งได้ผ่านการเตรียมการให้มากพอสมควรแล้ว  ก็ควรแบ่งให้เป็นส่วนที่นึกศึกษากับผู้ช่วยวิจัยที่ผมจัดหาให้ ไปช่วยกันทำ

           ส่วนงานที่ลงไปทำงานกับชุมชน  ประสานงานการลงไปเก็บข้อมูลและสังเกตการณ์ในชุมชน เป็นงานที่ต้องใส่ใจ พิถีพิถัน เพื่อมิให้ชุมชนและชาวบ้านรู้สึกว่าเราทำงานชุมชนเพียงใช้ชุมชนเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิจัยแก่นักศึกษา หรือทำอย่างผิวเผินเพียงสักแต่ให้ได้ผลงาน

          อีกทั้งต้องทำงานไปตามเวลาและจังหวะชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้าน ซึ่งมักเป็นตอนเย็น  กลางคืน วันหยุด ไม่เป็นเวร่ำเวลา ซึ่งมันเป็นงานที่หนักทั้งการทำงานและต้องสัมผัสกันด้วยหัวใจ ใช้เวลาและความทุ่มเทการลงมือมากจนเกินกว่าจะขอร้องให้คนอื่นมาช่วยเป็นภาระแทน ดังนั้น จึงควรเป็นกระบวนการและขั้นตอนที่ผมต้องทำเองกับเครือข่ายในชุมชน  

          ตอนวางแผนและเมื่อเริ่มต้นทำ นักศึกษาก็ดูตื่นเต้นและมีพลังมาก ทว่า มีการลงพื้นที่ที่ผมขอให้เขาลงพื้นที่ด้วยตนเองให้มากที่สุด แล้วก็ขอให้ตรวจทานแบบสอบถามและการเก็บข้อมูลต่างๆ เป็นรายวันทุกเย็น บกพร่องตรงไหนก็ขอให้แก้ไขและเก็บข้อมูลใหม่  นักศึกษาทำงานเร็ว ดี แม่นยำ เป็นระบบ และมีทรรศนะทางวิชาการผุดขึ้นมาในเรื่องต่างๆ ดีมาก 

         จึงนอกจากนั่งสรุปและวางแผนใหม่เป็นรายวันแล้ว ตอนเย็น นอกเวลา และกลางคืน  ผมก็ลงไปประสานงาน  เดินคุยกับคนในชุมชนเพื่อทั้งชี้แจงว่าจะขอเก็บข้อมูลเพิ่มและประสานความร่วมมือไปในตัวให้แก่นักศึกษาด้วย  ผมคิดว่าผมก็ทั้งได้งานไปด้วย และมีกำลังใจมาก 

        อยากให้นักศึกษาได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปใช้ทำงานในอนาคต เลยมุ่งทำไปข้างหน้าอย่างลืมระวังตนในเรื่องเล็กๆน้อยๆ

        ด้วยว่าวันหนึ่ง ผมก็สังเกตว่านักศึกษาผมอารมณ์ไม่เบิกบานเหมือนทุกๆวัน  ไม่สนุกที่จะพูดคุยและถกประสบการณ์รายวันด้วยกัน อีกทั้งเริ่มรายงานการทำงานภาคสนามกับผมด้วยเอกสารสรุปแทนใช้การพูดคุยกันดังที่เคยเป็นมา

         ระหว่างที่เพียงแต่รู้สึกผิดสังเกตอยู่นั้น วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ประสานงานหลักสูตรก็มาประสานงานและบอกกล่าวบางเรื่องกับผมด้วยความเกรงอกเกรงใจผมอย่างเป็นที่สุดว่า นักศึกษาเหนื่อยมาก และบอกว่า เขาต้องการให้ผมช่วยเขา รวมไปจนถึงตอนลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน เขาอยากมีผมไปด้วย แต่ผมไม่ค่อยมีเวลาให้แก่เขา  เขาเลยไปเรียกร้องกับหลักสูตร

          ผมตกตะลึง ประหลาดใจและเกิดความรู้สึกผิดคาดเป็นที่สุด  แต่ก็คิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไร  เพราะนักศึกษาผมมีพื้นฐานความเป็นวิชาการดี ไม่น่าจะเป็นคนใช้อารมณ์และคิดเห็นโดยทรรศนะส่วนตนที่คับแคบ เลยจึงคุยชี้แจงแก่ผู้ประสานงานที่นักศึกษาขอให้ทำหน้าที่มาคุยร้องทุกข์กับผมแทนเขา จากนั้นก็ขอให้เขาเชิญนักศึกษามาคุยกับผม พร้อมกันไปด้วยเลย

          ผมเล่าให้นักศึกษาฟัง ว่าเขากำลังได้อะไรบ้าง และกระบวนการต่างๆ ภายใต้การทำงานของเขาที่ออกมาดีในทุกๆ ขั้นตอนนั้น มีใครทำอะไรอยู่บ้าง และผมต้องทำอย่างไร  ยิ่งไปกว่านั้น  ผมเล่าให้เขาฟังด้วยว่า การได้ลงไปเจอกับกลุ่มชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เดินสำรวจ และเดินลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนที่ผมกับเขาวางกรอบการสุ่มและเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างสลับซับซ้อนหลายมิติได้อย่างที่ต้องการนั้น  เบื้องหลังของการทำงานของผมกับชุมชน ที่มากกว่าเขาอีกตั้งหลายเท่าที่เขาบ่นว่าเหนื่อยนั้น เป็นอย่างไร และทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น

          พอคุยชี้แจง และแผ่กระบวนการทำงานทุกๆด้าน รวมทั้งผู้คนอีกหลายคน ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงอยู่กับงานวิจัยของเขา นอกเหนือจากที่เขาเห็นจำเพาะในงานที่เขาจะพอทำได้ด้วยตัวเขาเอง ท่าทีของการตั้งป้อมใส่กันก็หายไป ที่สุดก็กลายเป็นขอโทษและร้องให้เป็นวักเป็นเวรอีก จากนั้น ก็ทำงานวิจัยต่อไป ด้วยบรรยากาศเหมือนก่อนหน้านั้น 

         เหตุการณ์เล็กน้อยมากครั้งนี้  ให้บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งแก่ผมว่า ในการทำงานที่ต้องการผลลัพธ์ทางวิชาการที่สะท้อนจิตวิญญาณและคุณธรรมทางวิชาการ  มากกว่าผลงานของสมองและสติปัญญาระดับการใช้ความรู้นั้น  เราจะต้องใส่ใจกับการคุยและฟังเสียงหัวใจ ที่คิดและเข้าใจกันด้วยพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เลยทีเดียว.

หมายเลขบันทึก: 235757เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2009 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

อ่านแล้วชื่นชมในความใส่ใจของอาจารย์ที่มีต่อนักศึกษา  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ

หากคนเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างที่สัมผัสถึงหัวใจ การอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน คงเป็นเรื่องเบิกบานยิ่ง

คัดลอกคำโปรยจากปกหลังหนังสือ "ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง" ของ คาร์ล กุลตาฟ มาเป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ ..^__^..

"จิตเป็นสิ่งที่ละเอียดซับซ้อนและเข้าถึงได้ยากยิ่งกว่าร่างกายมากนัก อาจกล่าวได้ว่า กว่าครึ่งของโลกเกิดมีขึ้นและดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราตระหนักรู้ถึงมัน ดังนั้น จิตใจจึงมิใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของโลกด้วย

ในทุกวันนี้เราอาจแลเห็นได้ว่า หายนภัยซึ่งคุกคามเราอยู่นั้นหาได้มาจากธรรมชาติไม่ ทว่าเกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ จากดวงจิตของปัจเจกบุคคล และของมหาชน จิตใจอันพร่ามัวและวิปลาสสับสนของมนุษย์คือภยันตรายประการนั้น ทุกสิ่งจึงขึ้นอยู่กับจิตใจของเราว่ามีสมดุลเพียงใด ถ้าหากว่ามีใครบางคนเกิดโมโหฉุนเฉียวขึ้นมา ระเบิดไฮโดรเจนก็จะถูกปล่อยออกไป"

ขอแก้ไขค่ะ :P

พิมพ์ชื่อตกไป และสะกดผิด หนังสือ "ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง" ของ คาร์ล กุตาฟ ยุง ค่ะ

สวัสดีคุณใบไม้ย้อนแสง เป็นนักศึกษาค้นคว้าตัวยงจริงๆ ชอบตรงโค๊ตคำพูดที่ว่า "...จิตใจจึงมิใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของโลกด้วย..." เพราะตอนที่ตั้งใจบันทึกเรื่องนี้ไว้นั้น  ก็เนื่องจากกำลังนึกถึงประเด็นความเป็นส่วนรวมในขอบเขตที่กว้าง  ที่สะท้อนอยู่ในจิตใจและวิถีคิดของปัจเจกนี่แหละ  ขอบคุณที่นำความคิดของคาร์ล จุง มาแบ่งปันให้นะครับ

งั้นขอบกกล่าวต่อเลยนะครับ ทีมประสานงานของทิดเป้ สีน้ำ บอกกล่าวและชวนเชิญมาว่า ปลายเดือนนี้จะจัดงานแสดงงานศิลปะ  แสดงดนตรี และเวทีการพูดคุย-พบปะ แบ่งปันสิ่งดีๆด้วยกัน ที่สตูดิโอของเขาที่ลำพญา  ดูเหมือนว่าจะเป็นวันที่ 31 มกราคม 2552 ตั้งแต่เช้าถึงเย็นเลย  ส่วนการแสดงงานศิลปะจะมีต่อไปอีกหนึ่งเดือน  เขาชวนผมทำงานไปร่วมแสดงด้วย คุณใบไม้ย้อนแสงมีเวลาก็แวะไปสิ 

อีกงานเป็นกิจกรรมการทำบ้านดินและการภาวนา ของเครือข่ายชมรมชีวเกษม ชมรมมนัสเกษม และศูนย์ปฏิบัติธรรมที่แกนนำของเครือข่ายนี้ไปสร้างที่สุพรรณบุรี ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติธรรม 'เบิกฟ้าธรรมาศรม' ช่วง 29 มกราคม- 1 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นคุณใบไม้ย้อนแสงชอบแนวนี้ เลยนำมาบอกต่อนะ

 

จริง ๆ แล้ว ใบไม้สนใจในประเด็นของปัจเจกชนที่ส่งผลต่อชุมชนมากเลยนะคะ

หากปัจเจกชนไม่เข้าใจตัวเอง และกดดันให้ตัวเองทำอะไรต่อมิอะไร เมื่อจิตใจเสียสมดุลย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อื่น

แม้แต่ความหวังดี ที่คนทำงานพัฒนาหลาย ๆ คนพยายามยัดเยียดให้คนอื่น ก็เป็นความกดดันภายใต้ความปรารถนาดี ซึ่งทำให้ซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจและมองเห็น

เมื่อไม่ได้รับการตอบรับ บางคนกลับยิ่งขุ่นข้อง ผิดหวัง ต่อว่าต่อขานคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ โดยไม่ได้พิจารณาตัวเอง  ยิ่งใช้วิธีต่อว่า ผู้คนยิ่งไม่อยากร่วมมือ บางคนก็เลยยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก

เพราะฉะนั้น วิถีคิด ความเข้าใจของปัจเจกจึงสำคัญยิ่ง

ทำอย่างไร ให้คนกับงานโตไปด้วยกัน เรื่องภายนอกกับเรื่องภายใจจิตใจส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ตอนนี้ใบไม้ขอเรียนรู้จากอาจารย์ผ่านบันทึกไปก่อนก็แล้วกันนะคะ

ขอบคุณสำหรับการบอกข่าวกิจกรรม แต่รู้สึกว่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันนะคะ คุณเป้ สีน้ำ เคยได้พบกันเมื่อคราวที่ไปร่วมปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่เชียงใหม่ค่ะ ถ้ามีโอกาสใบไม้อาจจะไปร่วมงาน ส่วนเรื่องบ้านดินคงไม่ได้ไปนะคะ จริง ๆ ใบไม้ไม่ได้ธรรมะธัมโมขนาดนั้น ทุกวันนี้ยังไม่กล้ารับศีลข้อห้าเลยค่ะ :P

สวัสดีคะ

  • "หากปัจเจกชนไม่เข้าใจตัวเอง และกดดันให้ตัวเองทำอะไรต่อมิอะไร เมื่อจิตใจเสียสมดุลย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อื่น" ประโยคนี้โดนเข้าเต็มๆ คะ คุณ ใบไม้ย้อนแสง
  • ตอนนี้ไม่เสียสมดุลธรรมดาคะ กำลังจะเสียจริตด้วย ทำไงดีคะเนี่ยะ - -"
  • ภาวะภายใน ภาวะภายนอก กำลังสับสนอลม่าน ดูผิวๆ ไม่มีใครเห็นหรอกคะ ดูเหมือนจะเข้มแข็งเน๊อะ เฮ้อออ ...
  • อ้อ! ศิลข้อ 5 บางคราวก้อทำปากขมุบขมิบไป กระดากจัง ฮ่า ฮ่า
  • แต่วันนี้วันพระ ใส่บาตรแล้ว สวดมนต์ไหว้พระ ท่องศิล 5 เองกับมือ เอ๊ยย กับปากตัวเองเลยคะ ^^
  • บ่ายนี้คงได้พบปะกอดแก้หนาวให้กลมดิ๊กไปเลยนะคะ ^^

มาเรียนรู้ค่ะ

เป็นข่าวดี แต่ครูต้อยมันคนติดบ้าน

ธรรมปฏิบัติที่บ้าน ในบ้าน และสรรพสิ่งรอบบ้านค่ะ

  • จริงๆแล้วการภาวนา อาจมีบางมิติที่เป็นกิจกรรมทางศานา แต่โดยสาระสำคัญแล้วก็ไม่ใช่เรื่องทางศาสนาหรือความเป็นธรรมะธัมโมอย่างที่คุณปูว่าหรอกนะ การภาวนา มีความนัยเหมือนกับ พัฒนา ผมเคยฟังครูอาจารย์และคนที่เขาปฏิบัติภาวนา ไขให้ฟัง ก็พอจะได้ความเข้าใจแบบงูๆปลาๆว่า เมื่อเราเห็นภาวะการตื่นรู้และทันธรรมชาติจิตใจ หรือความเป็นตัวกูของกูของเรา ในขั้นใด-อารมณ์ใดตามลำดับพัฒนาการของเราแล้ว ท่านว่าปัญญาชนิดนี้เป็นวิถีแห่งปัญญาที่จะนำไปสู่มรรคผล หรือหนทางแห่งการทำที่สุดแห่ง(ทุกข์)มรรควิถีนั้นๆได้  ตรงนั้นแหละที่สามารถบ่มเพาะให้งอกงาม  และการภาวนาก็เป็นวิธีการหนึ่งของการทำให้สิ่งบังเกิดที่ดีนั้นมีความงอกงามเติบโตขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ ทำให้อยู่ในอริยาบทต่างๆของชีวิตจริงได้ จึงจะเห็นว่ามิใช่เรื่องธรรมะธัมโมหรอก แต่เรามักเห็นเป็นส่วนหนึ่งของวัตรปฏิบัติทางศาสนา  อันที่จริงในศาสนาอื่นๆ ทุกศาสนาและในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  ต่างก็มีกระบวนการภาวนาอยู่นะครับ แต่อาจจะเรียกต่างกัน
  • ทั้งคุณ nattapach และคุณใบไม้ย้อนแสงนี่ คนกันเองทั้งนั้นเลยนะนี่ ผมเองก็อยู่ในกระบวนการฝึกหัดตนเองครับ   
  • แนวของคุณครูต้อยสิครับคือการได้ทำอยู่ในชีวิตจริง ผมเองก็ไปร่วมได้ไม่ตลอดทุกกิจกรรมหรอกครับ บางครั้งก็ไปร่วมเพื่อเป็นการบำรุงพลังชีวิตตัวเอง และบางครั้งก็ขอเป็นแนวร่วมเพื่อขับเคลื่อนไว้ให้คนอื่นๆที่อาจมาทีหลังได้มีสิ่งนี้ให้สัมผัสได้ด้วยตนเอง 

เห็นด้วยกับที่อาจารย์วิรัตน์อธิบายให้เพิ่มเติมค่ะ การภาวนานั้นสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถของการดำเนินชีวิต

ขอแก้ตัวหน่อยค่ะว่า ที่บอกว่าตัวเองไม่ได้ธรรมะธัมโมขนาดนั้น เนื่องจากไม่อยากให้คนเห็นภาพพจน์ตัวเองดีเกินจริง แม้ว่าจะสนใจในเรื่องของการภาวนา แต่ยังไม่ได้ตัดขาดสุราเมรัยค่ะ เพียงแต่ไม่ดื่มจนขาดสติ และไม่ได้ดื่มเป็นประจำ คือเวลาอยู่ในวงผู้ปฏิบัติธรรมเขาก็ไม่ค่อยเชื่อว่าใบไม้ยังดื่มอยู่ ยังมีภาวะห่าม ๆ อยู่หลายเรื่อง

ส่วนเรื่องการทำบ้านดินนั้น ยอมรับค่ะว่ายังมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง ความชื้นจะเป็นปัญหาสำหรับผู้อยู่อาศัยหรือไม่ จะส่งผลต่อสุขภาพของปอดไหม แต่ถ้าสร้างเพื่อใช้งานอื่น ก็ไม่ค่อยมีคำถาม ไม่ค่อยแน่ใจว่าบ้านดินนั้นเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเราไหม เป็นประเด็นที่ได้ยินมาจากรุ่นพี่น่ะค่ะ และยังเป็นคำถามที่ติดค้างในใจ ถ้า work จริงก็มีประโยชน์มาก ได้ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีราคาถูก และเป็นทางออกหนึ่งในการพึ่งตัวเองได้

อันที่จริงเรื่องภาวนานี่ มีแง่มุมที่เป็นประเด็นสำหรับคนทำงานชุมชนเหมือนกันครับ

มีเพื่อนชาวมุสลิมของผมคนหนึ่ง สะท้อนแนวคิดและตั้งข้อสังเกตไว้ให้ระมัดระวังในเรื่องนี้เมื่อทำงานสุขภาพชุมชน หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับผู้คนต่างศาสนธรรมและต่างความเชื่อว่า หากเป็นคนที่ศึกษาเรียนรู้ มีจุดหมายในสิ่งที่ปฏิบัติด้วยเหตุด้วยผล และมีจิตใจกว้างแล้ว ก็จะแยกแยะออกว่า เรื่องภาวนาและสมาธิ ไม่ใช่กิจกรรมศาสนา แต่เป็นกระบวนการพัฒนาภาวะภายใน หรือกระบวนการทางปัญญา ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในวิธีเรียกต่างๆ 

แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว เขามีข้อสังเกตว่า มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก  หากไม่มีเวลาคุยและแลกเปลี่ยนกันระหว่างความเชื่อและแนวปฏิบัติที่ต่างกันได้มากพอแล้ว เขาขอแนะนำว่า ชาวบ้านทั่วไปที่เป็นมุสลิม จะมีทัศนคติและรู้สึกว่ากิจกรรมที่เรียกว่าการภาวนาและกิจกรรมการทำโยคะ เป็นกิจกรรมทางศาสนา ของศาสนาอื่น

ยังติดพันในประเด็น ขอมาแลกเปลี่ยนต่ออีกหน่อยค่ะ

เรื่องกิจกรรมโยคะนี่เคยอ่านพบจากข่าวช่วงหนึ่งว่า ชาวมุสลิมในอินเดีย (จำไม่ได้ว่ารัฐไหน) ไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เด็กนักเรียนฝึกโยคะ เนื่องจากมีท่าต้องก้มหมอบ ซึ่งผิดหลักศาสนาที่จะทำความเคารพก้มหมอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ใบไม้คิดเอาเองว่า คงเป็นความเข้าใจผิดกัน ไม่ได้ติดตามข่าวว่า สรุปจบลงว่าอย่างไร

อีกเรื่องที่อยากคุยต่อ..

ก็ประเด็น "ปัจเจกชนที่ส่งผลต่อชุมชน" นี่แหละค่ะ

เริ่มต้นจากความคิดของคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงโลก

เป็นไปได้ไหม ที่จะทำหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับ ปัจเจกชนผู้เปลี่ยนแปลงตัวเองทางจิตวิญญาณ แล้วส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของชุมชน

หรือมันเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมจนเกินไป..

ใบไม้แค่คิดว่า ถ้าทำงานวิจัยในหัวข้อนี้ น่าจะเป็นมุมมองใหม่อีกมุมหนึ่ง สำหรับการทำงานพัฒนาชุมชน เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงคนอื่น

สงสัยว่า ใบไม้จะฟุ้งซ่านไปอีกแล้ว..

เอ..หรืออาจจะมีคนทำวิจัยเรื่องนี้ไปแล้ว

ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดเท่านั้นค่ะ..^__^..

  • เรื่องหลักทางศาสนากับโยคะนี่ผมไม่มีความรู้เลย เพียงแต่มีเพื่อนให้ข้อสังเกตและแนะนำไว้ให้ ซึ่งก็ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น เวลาทำงานวิจัยชุมชนกับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายกัน จะได้มีความละเอียดอ่อนและใส่ใจรอบด้าน
  • ส่วนเรื่องการทำสมาธินี่ ผมเคยไปประชุมและเวิร์คช็อปนานาชาติ ชาวต่างประเทศมักรับรู้ว่าถ้าเป็นคนไทยต้องทำสมาธิเป็น แล้วก็สนใจลองให้พาทำ โดยเขาไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องกิจกรรมทางศาสนา เลยคิดว่าคงจะเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเสียมากกว่าที่จะเป็นเรื่องการกำหนดไว้เป็นหลักปฏิบัติจริงๆ
  • เรื่องปัจเจกกับชุมชนอย่างที่คุณใบไม้ย้อนแสงสนใจนี่ คงไม่เป็นเรื่องนามธรรมจนเกินไปหรอกนะครับ อันที่จริงนักวิจัยการพัฒนาคนและภาคสาธารณะของพลเมืองในวิถีประชาคม ก็น่าจะมีสาระสำคัญของความสนใจในเรื่องทำนองนี้
  • เพราะจากความเป็นปัจเจก แล้วแผ่ไปสู่ความมีจิตสาธารณะและจิตอาสา ในแง่หนึ่งก็บ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณจากความเป็นตัวกูของกู ความเห็นแก่ตน สู่ความเป็นตัวกูของกูน้อยลง คลายความเป็นอัตตาสู่ความเป็นอนัตตาและความไร้ตัวตนได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นมิติเดียวกับมีความเป็นส่วนรวม หรือความเป็นชุมชนมากขึ้น นั่นเอง
  • แต่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ถือว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของการพัฒนาจากภาวะภายในสู่ภายนอก ก็จะมีเรื่องให้สามารถทำวิจัยและพัฒนาได้เยอะนะครับ  เป็นต้นว่า.......
  • วิธีการทางการศึกษาเรียนรู้จะเป็นอย่างไร วิธีการจัดการทางสังคมและนวัตกรรมชุมชนจะเป็นอย่างไร วิธีปฏิบัติเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หรือทางวัตถุแต่มุ่งส่งผลลึกซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ จะเป็นอย่างไร
  • แนวคิดและการปฏิบัติในมิติสุขภาพทั้งของปัจเจกและชุมชน จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในท่ามกลางสภาพสังคมในปัจจุบัน องค์ความรู้และทฤษฎีสำหรับชี้นำการปฏิบัติในแต่ละบริบทจะเป็นอย่างไร.....น่าสนใจดีออกนะครับ

P เหตุการณ์เล็กน้อยมากครั้งนี้  ให้บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งแก่ผมว่า ในการทำงานที่ต้องการผลลัพธ์ทางวิชาการที่สะท้อนจิตวิญญาณและคุณธรรมทางวิชาการ  มากกว่าผลงานของสมองและสติปัญญาระดับการใช้ความรู้นั้น  เราจะต้องใส่ใจกับการคุยและฟังเสียงหัวใจ ที่คิดและเข้าใจกันด้วยพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เลยทีเดียว.

"...จิตใจจึงมิใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของโลกด้วย..." ขอบคุณทั้ง2ประโยคนี้มากๆเลยค่ะพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์...ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทุกท่านมีความเข้าใจ..คนเรียนในระดับปริญญาโทด้วยใจมากกว่าเรียนเอาวุฒิจะมีมากมายมหาศาลเลยค่ะ...

เป็นยังไงล่ะครับเนี่ย เหมือนเดินผ่านมาแล้วก็ปรารภลอยๆ ไม่ใช่ประโยคบอกเล่า ไม่ใช่ประโยคคำถาม จั่งเป็นซึกงึกซักงักแท้น้อ

P...พี่อาจารย์ดร.วิรัตน์น้องครูอ้อยเล็กPคงแก่มากไปหน่อยค่ะ..เลยขี้บ่น...ทั้งนี้ทั้งนั้นในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาลูกศิษย์พี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ได้ขวัญและกำลังใจที่ดีจากอาจารย์ที่ปรึกษาไงคะ..บรรยากาศจึงจบลงด้วยแฮปปี้ไม่ได้จบลงด้วยคราบน้ำตาไงคะ..การเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาโทบางครั้งก็เหมือนเด็กขวัญและกำลังใจจากอาจารย์ที่ปรึกษา ย่อมเป็นพลังมหาศาลที่จะทำให้การศึกษานั้นนำประโยชน์ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ..แต่หากไม่ใช่ล่ะ..นักศึกษากลุ่มดังกล่าวคิดแตกแยกออกเป็น 2 กลุ่ม อีกกลุ่มหนึ่งอาจตั้งหน้าสู้และนำไปสู่ผลสำเร็จด้วยปัจจัยหลายๆอย่างอาจเปลี่ยนที่ปรึกษาไปเลยก็มี อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะไปหาที่ที่เรียนแล้วจบง่ายกว่า..แบบว่าไม่ง้อก็ได้มาเรียนเสียตังค์เสียเวลาแล้วยังมาถูก...สารพัดอย่างนี้เป็นต้นค่ะพี่อาจารย์...เลยบ่นๆแบบลอยๆแต่มีนัยสำคัญ..แต่ก็ถือว่า...ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นเหตุก็แล้วกันค่ะ...มีโอกาสอาจมาเรียนต่อดร.กะพี่อาจารย์บ้างก็ได้นะคะ..แต่ดูสติปัญญาและกำลังกายก่อนค่ะ...ปีใหม่แล้วคงมีอะไรดีๆกะเขาบ้างหรอกค่ะพี่อาจารย์ฮี่ๆๆๆ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก

เอารูปดอกไม้ที่บ้านเชียงใหม่มาฝาก เพื่อให้อยู่ในบรรยากาศปีใหม่ไปตลอดนะครับ คุณครูอ้อยเล็กนี่ต้องถือว่าเป็นเครือข่ายวิชาการกลุ่มริเริ่มที่ช่วยส่งเสริมพลังทางปัญญาและพลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเวทีคนหนองบัว เป็นน้ำใจและจิตบริการทางวิชาการต่อสาธารณะที่ต้องขอแสดงความคารวะ พร้อมกับขอให้มีกำลังใจในการทำการงานและดำเนินชีวิตให้กอปรไปด้วยความสร้างสรรค์ ได้การเรียนรู้ ได้พัฒนาตนเองให้ยิ่งเจริญงอกงาม ได้ริเริ่มและทำในสิ่งที่ได้ใช้ศักยภาพและพลังชีวิตของเรา ให้เป็นองค์ประกอบเล็กๆที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนรวมที่ดี ส่งเสริมสุขภาวะของสังคม

วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓ นี้อย่าลืมว่าเป็นวันเกิดเพาะช่างนะครับ และเมื่อนับจากปีกำเนิดเพาะช่างเมื่อ ๒๔๕๖ ถึงมกราคมปีนี้ก็จะเป็น ๙๗ ปีของเพาะช่าง ทางโรงเรียนและสมาคมศิษย์เก่าเริ่มเคลื่อนไหวและเตรียมการจัด ๑๐๐ ปี และศตวรรษของโรงเรียนเพาะช่างในอีก ๓ ปีข้างหน้าหรือต้นปี ๒๕๕๗ กำลังคิดอยู่เหมือนกันครับว่าจะหาอะไรทำกับเพื่อนๆดี งานวันเกิดเพาะช่างนั้นผมคงได้ไปเพียงไปไหว้พระวิษณุกรรมและครูบาอาจารย์ทางศิลปะ แล้วหลังจากนั้นก็จะมีกิจกรรมทำงานศิลปะวิชาการกับท้องถิ่นและคนทำงานทางการศึกษาบ้างเล็กๆน้อยๆ

                            

                            

                            

                            

                            

                             ภาพบน : เป็นเถาดอกไม้ที่ปล่อยให้เลื้อยไปบนร้านยกสูงเชื่อมต่อไปจนถึงหลังคาห้องน้ำหลังบ้านผมเอง กำลังออกดอกและเบ่งบานสะพรั่งรับลมหนาว ล้อแสงแดดยามเช้าและเล่นจังหวะตนเองอย่างกับท่วงทำนองของดนตรีจากห้วงจักรวาล ฉากหลังเป็นกอไผ่ตง ให้เทกเจอร์แบบสร้างคอนทราสต์หลากหลายที่ต่างส่งเสริมกันให้งาม ภาพที่สอง เป็นช่อดอกพวงครามที่อ่อนโยน นุ่มนวล ทว่ามีพลังความงอกงามและเบ่งบานที่จะแจ้งมั่นคง สดใส เยือกเย็น ท้องฟ้าในฤดูหนาวโปร่งใสจนเห็นสัมผัสของลำแสงของดวงตะวันทาบทาไปบนกลีบงามของพวงคราม ภาพที่สาม ผีเสื้อกับแสงแดดอ่อนและสรรพชีวิตยามเช้า ภาพที่สี่ ความสงบราบเรียบของแผ่นน้ำ ดูใสเย็นและมีกำลังในการสะท้อนสรรพสิ่งรอบข้างให้ดูงดงามและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผืนดิน ผืนน้ำ แผ่นฟ้า ความจริง ภาพสะท้อน ความเปล่าว่าง ต่างเป็นองค์ประกอบสานสร้างสรรพสิ่งและต่างจัดวางตนเองอย่างสมดุล ภาพที่ห้า เดือนเพ็ญในยามพลบของวันปีใหม่ ๒๕๕๓ ดูสดใส มีความสงบเยือกเย็น มุ่งไปข้างหน้าและรายทางด้วยแมกไม้ที่ให้จังหวะลีลาเคลื่อนไหว หลากหลาย ผสมผสาน กลมกลืน ทั้งต่างมีความลงตัวและเป็นตัวของตัวเอง อ้างอิงภาพจากแฟ้มภาพในบล๊อก GotoKnow ถ่ายภาพโดย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ธันวาคม ๒๕๕๒-มกราคม ๒๕๕๓ ภาพ ๑ : Brigtherday.JPG  ภาพ ๒ : BrigtherdayDSCF35002.jpg ภาพ ๓ : PeacefuldayDSCF3554.JPG ภาพ ๔Calmful.jpg ภาพ ๕ : LookForeward.JPG

เรื่องที่คุณครูอ้อยเล็กคุยเพื่อแบ่งปันทรรศนะกันนั้น ไม่เป็นเรื่องการบ่นของคนแก่หรอกครับ อันที่จริงก็พอจะจินตนาการตามไปด้วยได้อยู่ แต่ก็คุยเพื่อชวนให้ได้ผ่อนคลายและถอนความรู้สึกมาอยู่กับบรรยากาศที่อาจทำให้ได้ความบันดาลใจมากยิ่งๆขึ้นน่ะครับ อยากบอกว่า เอาน่า... สู้ สู้ สู้.......

เรื่องบางเรื่องนั้นมองข้ามปัญหาจำเพาะหน้าเพื่อพาตนเองไปทำการงานและใช้ความรู้ความสามารถของเราไปกับการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์ดีกว่าครับ เพราะยิ่งคุยยิ่งเป็นปัญหา ทางแก้ที่ดีจึงต้องคุยและร่วมแก้ไขด้วยกันที่ตัวปัญหาเสียเลย หากแก้ไขด้วยวิถีการคุยและใช้ความเป็นเหตุผลที่ดีไม่ได้ก็อย่าไปเสียเวลาเลยครับ บางครั้งอาจต้องใช้ความเป็นนักเลงและลูกผู้ชาย (ถึงแม้คุณครูอ้อยเล็กจะเป็นผู้หญิงก็ตาม) ยิ่งเคยเป็นทหารอยู่ด้วยนะครับ ผมเคยมีบทเรียนหลายครั้งว่าการอดทนและเริ่มต้นคุยกันได้นั้น เป็นอิฐก้อนแรกของการแก้ปัญหาทั้งหนักเบาได้อยู่เสมอครับ อีกทั้งมักให้ทางแก้ปัญหาได้แบบ Win-Win Solution หรือทุกฝ่ายของผู้เกี่ยวข้อง ต่างฝ่ายต่างก็เห็นความยุติธรรม พอดี และลงตัว มีทางออก ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแย่ ไม่ถึงทางตันและยังพอจะสามารถเดินไปข้างหน้ากันได้ อีกด้วย

พ่อผมเคยบอกอยู่เสมอว่า น้ำขุ่นเก็บเอาไว้ข้างใน น้ำใสเอาไว้ข้างนอก ซึ่งผมก็ใช้เป็นหลักทำการงานและดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีอยู่เสมอ แต่เวลาเป็นเพื่อนคุยกับผู้อื่นทั้งน้องผมเอง รวมไปจนถึงน้องๆและเพื่อนร่วมงานที่ให้ความเป็นกันเองได้ ผมก็มักจะบอกว่า ปากแตกให้กลืนเลือด แม้นตายก็จงยืนต้น ความอดทน ความมีสติ มีปัญญา มีจิตวิญญาณ และมีเลือดนักเลง(อาจจะเรียกว่าเป็นภาวะผู้นำที่ครองตนด้วยหลักคุณธรรมและความเชื่อมั่นในตน) หากคุยไม่ได้ก็อดทน ไม่จิตตก แล้วก็ถือหลักอย่างหลังเพื่อนำตนเองให้เผชิญปัญหาไปให้ได้อย่างวิถีนักเลงนี้แหละครับ

ปัญหาต่างๆมีเงื่อนไขจำเพาะ คนอื่นก็ต้องการความเข้าใจ อีกทั้งเราเองก็มีเงื่อนไขจำเพาะตนที่หลายอ่างก็ยากที่จะให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจได้อย่างที่ต้องการ ดังนั้น ผู้คนจึงต่างก็เป็นและไม่เป็นปัญหาซึ่งกันและกัน บางเรื่องจึงอาจข้ามไปแล้วไม่ต้องให้ความสำคัญเกินความจำเป็นก็ได้ รักษาความสง่างามในจิตใจเราดีกว่า เลยนำมาแบ่งปันกันนะครับ

หลายอย่างนั้นตัวมันเองไม่เป็นปัญหาหรอกครับ บางทีมันก็มีเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะและมีบริบทของตัวบุคคล หากเรามีความอดทนและแก้ไขให้ล่วงไปให้ดีที่สุด เมื่อผ่านไปแล้วก็จะมองกลับมาแล้วหัวเราะได้ พร้อมกับทั้งภูมิใจตนเอง เคารพตนเอง และได้ความงอกงามทางจิตวิญญาณครับ

ขอให้น้องคุณครูอ้อยเล็กโชคดีในปี ๒๕๕๓ ทั้งปีและตลอดไปนะครับ เป็นครูศิลปะแบบบูรณาการและคุณครูของเด็กๆที่เก่งๆดีๆอีกคนหนึ่งของสังคม สู้ สู้

P..ขอบคุณภาพบานบุรีสีชมพู ...ทำให้นึกถึงคำย่าที่ชอบพูดประชดหลานๆยามไม่เชื่อฟังว่า"เชื่อโบราณบานบุรี เชื่อที่ไรยุ่งใจทุกที" ย่าจะหมายถึงว่าคำที่ย่าพูดโบราณคนรุ่นหลานไม่ปฏิบัติตามเพราะล้าหลังจึงไม่ศรัทธาเมื่อไม่ศรัทธาก็ต่อต้านทำให้เกิดความยุ่งใจค่ะ..

ภาพพวงคราม..ดอกไม้นี้มีเสน่ห์สีม่วงครามลึกล้ำชอบค่ะแต่ไม่เคยปลูก..

ภาพผีเสื้อ..มีนัยว่าเหนื่อยนักก็พักหน่อยแม้ที่พักพิงนั้นจะไม่ใช่ดวงดอกไม้...

น้ำนิ่ง..อย่าไหลลึกนะคะ..น่ากลัว..แต่น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอกเห็นด้วยค่ะ..

ภาพโสมสลัว..มี2นัย นัยแรกว่าเยือกเย็น สำหรับคนเย็นใจ นัยที่2 หม่นหมองจัง สำหรับคนเศร้าๆ ฮาไหมคะพี่น้องฮี่ๆ

เรื่องวันเกิดเพาะช่างวันนี้ก็พูดกับน้องจิตรกรรมสอนอยู่ท.1ว่าเราจะมีโอกาสไปกันไหม? เพราะงานนิทรรศการทางวิชาการเทศบาลเราก็ต้องเร่งทำเพื่อจัดแสดงที่เมืองกาญจน์ในวันที่13-15 มกราคมนี้

ขอบคุณในคำอวยพรของพี่อาจารย์ ดร.วิรัตน์

ขอให้น้องคุณครูอ้อยเล็กโชคดีในปี ๒๕๕๓ ทั้งปีและตลอดไปนะครับ เป็นครูศิลปะแบบบูรณาการและคุณครูของเด็กๆที่เก่งๆดีๆอีกคนหนึ่งของสังคม สู้ สู้

คงต้องสู้ๆก็มีรุ่นพี่ที่เป็นแบบอย่างเอาไว้ให้ทำตามแล้วนี่คะ...คงต้องสู้ต่อไปค่ะ..

สำหรับน้องครูอ้อยเล็ก..พรใดที่ถือว่าประเสริฐ ขอพรนั้นจงดลบันดาลให้พี่อาจารย์ดร.วิรัตน์และครอบครัวจงพบแต่สุขสมหวังทุกประการค่ะ...

เลยได้ความรู้ไปด้วยนะครับคุณครูอ้อยเล็ก ว่าดอกที่หมือนกับดอกผักบุ้งหรือดอกยี่โถนั้นเขาเรียกว่าบานบุรี มันออกดอกเปรี้ยงปร้างดีนะครับ

ดวงจันทร์ตอนโพล้เพล้กับทางเกวียนนี่ หากเคยทำนาหรือไปเข้าป่าหาฟืนและหาไม้มาทำบ้านกับก่อสร้างสิ่งสาธารณะนี่ จะรับรู้ว่ามันเป็นห้วงเวลาเสร็จการงานประจำวันที่เรากำลังหมาดเหงื่อ ลมโชยยามเย็นก็ยิ่งทำให้ทั่วผิวกายที่หมาดเหงื่อกลายเป็นความชื่นเย็น การเสร็จสิ้นการงานเมื่อท้ายวันจึงเป็นรางวัลชีวิตให้ได้ความรื่นรมย์ใจ เบิกบานแจ่มใส มีความปลื้มปีติและมีความสุขอย่างที่สุด ต้องร้องเพลงและผิวปากทอดหุ่ยเลยทีเดียว เป็นบรรยากาศแห่งความสุขและสมหวัง

ผมเองนั้น นอกจากนึกถึงบรรยากาศอย่างนั้นแล้ว ก็มักนึกถึงบรรยากาศของลานบ้านและชานเรือนด้วย หลังหน้าเกี่ยวข้าว ก็จะเป็นช่วงการซ้อมแตรวงเพื่อรอถึงเทศกาลงานบวชนาคเดือนห้าเดือนหกกระทั่งย่างเข้าเดือนแปด ในคืนเดือนหงายนั้นแสงเดือนเพ็ญก็จะสว่างจ้า พวกผมก็จะออกไปนั่งต่อเพลงกลางลานบ้าน สลับกับซ้อมเป่าและเดินแห่ไปตามทางเกวียนใต้แสงจันทร์ จนทำนองเพลงอยู่ในหัวและเดินเกาะกลุ่มกันไป รู้จังหวะกันและกัน รู้ผัสสะของกลุ่มก้อนและองค์ประกอบแวดล้อมเมื่อเล่นแตรวง จนกระทั่งทั้งคณะสามารถเดินเหมือนมีจิตใจเดียวกัน แล้วก็เริ่มออกงาน เป็นอย่างนี้ทุกปี จึงเป็นบรรยากาศของความสร้างสรรค์ในด้านที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนของชีวิต 

ขอบคุณรูปดอกไม้และคำอวยพรปีใหม่อีกครั้งครับ มีความสุขมากๆเช่นกันครับ

ขอมอบการ์ดปีใหม่ ๒๕๕๓ แด่คุณครูอ้อยเล็กและมวลมิตรของเวทีคนหนองบัวทุกท่านไปด้วยเลยนะครับ 

                        

รูปวาดทั้งชุด เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

ขอส่งความสุขและน้ำใจแห่งมิตรมายังทุกท่านครับ

พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

อาตามาภาพพระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ วัดพรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก
ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ม.นเรศวร คณะสังคมศาสตร์ เอกรัฐประศาสนศาสตร์(รป.ม.) กำลังจะทำวิทยานิพนธ์ เพื่อสอบจบ แต่หัวข้อในการทำวิจัยได้เปลี่ยนมาหลายเรื่องแล้ว
พอดีมาอ่านบล๊อกของอาจารย์ ในหัวข้อการคุยและฟังเสียหัวใจฯลฯ แล้วมีความรู้สึกสนใจในการทำงานของอาจารย์ อาตมาภาพจึงเกิดความสนใจในงานประชาสังคมศึกษา

และอาตมาภาพได้อ่านหนังสือวิถีประชาศึกษาเกี่ยวกับชุมชนหนองบัว(จากพระอาจารย์มหาแล)เพิ่มเติมด้วย มีความรู้สึกประทับใจและสนใจวิถึชีวิตของชาวบ้านในชุมชนหนองบัว จึงเกิดแนวคิดหัวข้อในการทำวิจัยที่ชุมชนหนองบัว เลยลองตั้งชื่อหัวข้อวิจัยว่า ประชาสังคม..การวิเคราะห์มิติอัตลักษณ์ วิถึชีวิตชุมชนและแนวทางการสร้างพื้นที่การเมืองสาธารณะ(Public sphere) ดังนั้น อาตมาภาพจะขอปรึกษาอาจารย์ดร.ในหัวข้อดังกล่าว หรือท่านอาจารย์ดร.เห็นว่าที่ชุมชนหนองบัวมีประเด็นอะไรที่น่าศึกษาวิจัยได้บ้าง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์
ขอเจริญพร    พระอธิการโชคชัย  ชยวุฑโฒ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

  • กราบขอบพระคุณครับที่พระคุณเจ้าได้ให้ความสนใจและเข้ามาสนทนาสอบถามหาประเด็นความสนใจ
  • ลองนั่งอ่านและค้นหาประเด็นที่สอดคล้องกับความสนใจออกมาให้ได้เยอะๆก่อนจะดีกว่าไหมครับ เนื่องจากหากคุยกันแล้วละก็คงจะต้องลงรายละเอียดมากมาย ซึ่งคงจะต้องลำบากกันมากเลยทีเดียวครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยอีกครั้งครับ
area กว้างๆเหล่านี้พอจะเป็นแนวพัฒนาประเด็นความสนใจได้บ้างไหมครับ

  • ความสามัคคี คุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมในระดับต่างๆ ที่สำคัญคือ ในบ้าน ในวัฒนธรรมการรวมกลุ่มของชุมชน ในโรงเรียน วัด ชุมชน และกิจกรรมสาธารณะ โครงสร้างในวิถีชีวิตชุมชนที่ส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคม จากร่องรอยในอดีต สภาวการณ์และเงื่อนไขแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงสู่ปัจจุบัน แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต พิจารณาจากความจำเป็นของสังคมซึ่งเกิดวิกฤติต่างๆในเชิงโครงสร้างและกระบวนการทางการปฏิบัติอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่า ความสามัคคี เป็นคุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมที่จำเป็นต้องสร้างความรู้ขึ้นมาทำงานในเงื่อนไขแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกี่ยวข้อทางด้านการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ วัฒนธรรม การปกครอง การพัฒนาความร่วมมือ การระดมพลังชุมชน และการบริหารความมีส่วนร่วมของชุมชน จากนั้น จึงเลือกศึกษาเชิงลึกเป็นกรณีศึกษาของอำเภอหนองบัว เพราะมีวิสัยทัศน์ชุมชนสะท้อนเป็นคำขวัญของอำเภอและมีสิ่งสาธารณะหลายอย่างเป็นสิ่งแสดงและหลักฐานของความสามัคคี
  • การสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของสังคมท้องถิ่น ซึ่งผสมผสานทั้งชุมชนเสมือนจริงและชุมชนท้องถิ่นชนบท / กลุ่มปัจเจกสหสาขา ท้องถิ่น นักวิชาการประชาสังคม ชุมชนความสนใจ และระบบ IT จัดการความรู้ใน Gotoknow : เครือข่ายเรียนรู้อย่างบูรณาการและโครงสร้างที่พัฒนาการขึ้นด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นที่ความเป็นสาธารณะทางความรู้และข่าวสารเคลื่อนไหวสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่นในชนบท จากนั้นจึงเลือกกรณีศึกษาชุมชนระดับอำเภอหนองบัวและเวทีคนหนองบัว
  • ชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ระบบและวิธีบริหารจัดการความเป็นสาธารณะอย่างผสมผสานทั้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นกับสังคมโลกที่ก้าวหน้า : การบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความรู้ และการพัฒนาบทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศบนฐานความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพสังคมชนบทไทย แล้วจึงเลือกกรณีศึกษาอำเภอหนองบัว
  • การสร้างทรัพยากรความรู้สาธารณะด้วยการมีส่วนร่วม : บทบาทของพระ กลุ่มปัจเจกในท้องถิ่น เครือข่ายสำนึกรักบ้านเกิดของคนท้องถิ่นย้ายถิ่น ในการสร้างความรู้และจัดการความรู้อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ส่งเสริมการสร้างสุขภาวะของสังคมผ่านระบบจัดการความรู้ Gotoknow ในประเทศไทย
  • วิธีวิทยาการสร้างความรู้วิถีชาวบ้านและการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างบูรณาการ : บทบาทของพระ ชุมชน ภาคประชาชน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสนับสนุนของเครือข่ายวิชาการสหสาขาต่อการสร้างความสำนึกสาธารณะและพัฒนาการมีส่วนร่วมในวิถีแห่งการเรียนรู้ ผ่านการเรียนรู้และสร้างความรู้จากประสบการณ์ชีวิต
  • พลังความสำนึกรักท้องถิ่นที่กลมกลืนกับความเป็นสากล แล้วจึงเลือกกรณีศึกษาเวทีคนหนองบัวโดยเน้นศึกษาเชิงลึกต่อไปถึงกลุ่มคนที่ออกไปทำงานและทำหน้าที่ต่อสังคมซึ่งเชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์ความเป็นท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมในปัจจุบันและในอนาคตมาก

คงพอจะได้แนวคิดบ้างนะครับ คุยหาความคิดและพัฒนาความสนใจให้ชัดขึ้นไปเรื่อยๆได้ครับ
กราบนมัสการด้วยความเคารพ

เรียนท่านอ.วิรัตน์

วันนี้กลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง

เพราะต้องการคำตอบเรื่องกรณ๊ศึกษา

แต่อ่านครั้งนี้ทำให้เห้ฯมุมมองที่กว้าง และการเชื่อมโยง

การทำงานของท่านอ.เหมือนภาพสะท้อนกำลังสองและสาม

ในความคิดของครูต้อยที่กำลังเรียนรู้แนวคิด แนวการทำงานเพื่อชุมชน

อ่านบทความนี้แล้วเกิดความคิดว่า

การทำกิจใดที่ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความรู้

และมีคุณธรรมเป็นโครงสร้างครอบคุมการทำงานโดยอัตโนมัติ

ขับเคลื่อนไปอย่างมีสตินั้นจะนำพาไปสู่เป้าหมายอย่างสง่า

อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นคนที่ติดตามการเรียนรู้ของลูกมาตลอด

ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ที่ดูเหมือนจะแก้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว

แต่ดูห่างๆ เชื่อมั่นในระบบการทำงานของมหาวิทยลัยมาก

แต่ดูเหมือนลูกจะอ่อนแอไปหน่อย อาจเป็นเพราะมุมมองที่ยังไม่กว้างพอ

จึงได้เห็นภาพความท้อแท้ และอารมณ์ของลูก ก็รออยู่ว่าถ้างานเขาผ่าน

และได้สอบปากเปล่าเมื่อไหร่ หลังจากนั้นจะขอลูกไปร่วมเรียนรู้

วิธีการเก็บข้อมูล การรวบรวมข้อมูล ที่จังหวัดสุรินทร์ด้วย

มุมคิดที่เห็นอีกประเด็นหนึ่งคือท่านอาจารย์สอนคนด้วยจิตวิญญาณ

 สามารถสัมผัสลักษณ์ที่ซ่อนในใจลูกศิษย์และนำมาแก้ปัญหา

ได้เยี่ยมจริงๆค่ะ เป็นบุญของนักศึกษาท่านนั้นแล้วคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

ดีจังเลยครับที่krutoitingเป็นทั้งคุณแม่ เพื่อน และอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับลูกได้อย่างเขาใจ อาจจะเป็นทุกข์ใจไปด้วยในฐานะที่เป็นคุณแม่ แต่หากเป็นที่พิงหลังให้กับลูกในห้วงเวลาอย่างนี้ได้ ก็จะเป็นการเสริมกำลังที่ดีมากอย่างหนึ่งนะครับ ในช่วงเวลาที่ทำวิทยานิพนธ์นั้น นักศึกษามักจะอยู่ในภาวะกดดันอย่างที่สุด ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดอาการกระปรกกระเปลี้ย ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติหรอกครับ นักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็เป็นคล้ายๆกันครับ อยากจะเรียกว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการที่จะต้องเรียนรู้เพื่อผ่านไปให้ได้เลยทีเดียวครับ

เมื่อวานผมก็เจออีกกรณี ที่ต่างออกไปอีก แต่ก็เรียกว่าเป็นอาการ 'ของเข้า-ผีเข้า-ราหูอม' ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา พอๆกันเลยละครับ

นักศึกษากรณีที่กล่าวถึงนี้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทเช่นกันครับ ตอนที่เริ่มทำวิทยานิพนธ์และนำเสนอเพื่อสอบโครงร่าง ก็ดูเข้มแข็ง ชัดเจนในจุดยืนตนเอง และมีความมุ่งมั่น ประเด็นความสนใจและองค์ประกอบต่างๆของการที่จะไปทำวิจัยวิทยานิพนธ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีครับ แต่เมื่อวานนี้ผมไปร่วมเป็นกรรมการสอบก็ต้องประหลาดใจ จนผมต้องนั่งทบทวนตนเองไปด้วยว่าผมฟังตามเขาไม่ทัน หรือว่าผมจำไม่ได้ว่าเขากำลังทำเรื่องอะไร คือ...เขาสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของตนเองเหมือนคนที่เบลอไปหมด อภิปรายและแสดงความรู้กับกรรมการสอบก็ไม่เหมือนกับจุดเน้นที่เขาตั้งโจทย์และทำวิจัย ทำท่าว่าจะพังเละเทะไปทั้งหมด ผมพยายามตั้งคำถามเพื่อช่วยดึงกลับไปยังจุดที่เขาเริ่มต้นความสนใจ ก็กลับหันเหประเด็นการถกอภิปรายไปอีกทางหนึ่ง พูดภาษาชาวบ้านคือเหมือนคนวิ่งเตลิดเปิดเปิงอย่างขาดสติ กรรมการท่านอื่นๆแทบจะไม่อยากสอบเขาให้ตลอดกระบวนการ

ผมเองนั้นพอจะนึกกลับไปทบทวนตลอดกระบวนการที่เขาทำวิทยานิพนธ์ได้บ้าง อีกทั้งผมเคยสอนคนเรื่องการพูด การบรรยาย และการเป็นวิทยากรให้การอบรม ก็พอจะเคยเห็นอาการอย่างนี้ว่า เขากำลังตื่นเต้นและไม่มีเวลาตั้งสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ จะพูดและตอบโต้อย่างไรก็จะเหมือนไม่รู้เรื่อง ก็เลยช่วยทบทวนอย่างอิงกับเรื่องราวในวิทยานิพนธ์ของเขา ทำนองว่า ที่เขากำลังพูดและอภิปรายกับอาจารย์กรรมการนั้น ไม่เหมือนกับที่เขานั่งพูดในภาวะปรกติและไม่เหมือนกับที่เขาได้เขียนในวิทยานิพนธ์ กรรมการท่านอื่นๆเลยพยายามกลับมามองและพิจารณาใหม่ แล้วก็ช่วยกันเสนอแนะประเด็นการแก้ไข ซึ่งดูแล้วนักศึกษาก็คงฟังไม่ออกและจับประเด็นไม่ได้อยู่ดี เพราะเวลาผมถามย้ำก็ตอบสนองไปสะเปะสะปะ

หลังจากให้ผ่านอย่างมีเงื่อนไขแล้ว กรรมการท่านอื่นๆเลยให้ผมช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้นักศึกษาปรับแก้และอภิปรายในบทสุดท้ายให้หนักแน่นมากกว่าเดิม นักศึกษาก็เลยขอมาคุยกับผมในวันนี้อีก ผมก็เลยขอให้ทำการบ้านมาก่อน ๒-๓ เรื่อง พอมาวันนี้ ก็เลยกลับไปเป็นอีกคนละคน เพราะเขาบอกว่า กลับไปถึงที่พักแล้ว ก็หมดแรง พอนอนก็นอนไม่หลับ แต่ก็คิดว่าจะทำงานไม้่ไหวแล้ว เลยนอนไปก็ทำงานในหัว คิด คิด ทบทวน พอหายเมื่อยหล้าก็บอกว่าเขาเริ่มฉุกคิด นำเอาคำถามและการอภิปรายไปคิดต่อ และเพิ่งจะเริ่มเห็นประเด็น เลยลุกไปเปิดเล่มที่ใช้สอบที่กรรมการทุกท่านแก้ไขและเสนอแนะไว้ให้ จึงได้เริ่มเข้าใจและก็พบว่าเขาเขียนในเล่มไว้เกือบเรียบร้อยแล้ว เพิ่มการอภิปรายให้ตรงประเด็นเพื่อตอบคำถามการวิจัยให้ได้เท่านั้น เขามาสารภาพว่า ตอนสอบเขาฟังไม่รู้เรื่องเลย ทั้งที่ตนเองพูดและที่กรรมการทุกคนถาม-พูดกับเขา ...เวรกรรม

ผมเลยให้นั่งสรุปความเข้าใจให้ฟัง แล้วก็ค่อยๆชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่เมื่อแก้ไขแล้วจะทำให้ดีขึ้น เลยก็ไม่ต้องใช้เวลามากอย่างที่คิด แต่ผมก็ขอให้นำกลับมาให้ดูให้มากๆหน่อย ซึ่งเขาก็ดูยิ้มแย้มและดูจะกลับมาเป็นผู้เป็นคน มีกำลังทางความคิด ที่จะทำต่อไปได้ดีกว่าเดิม

เคยเจออย่างนี้เยอะครับ นักศึกษาต่างประเทศก็เคยเจอ แต่ผมคิดว่าการทำให้เขาเดินไปให้ตลอดรอดฝั่งและมีความเชื่อมั่นในชีวิต เชื่อมั่นในตนเองกลับมา เพื่อกลับไปทำหน้าที่การงานได้ให้ดีมากกว่าเดิมยิ่งๆขึ้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะขาดหายไปไม่ได้ของกระบวนการเรียนรู้และการสร้างคนเหมือนกัน บางครั้งผมจะใส่ใจเรื่องที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกันเลย เช่น ส่งนักศึกษากลับบ้านอย่างมีความหมาย ไม่ใช่อย่างคนที่จะขาดหายไปจากชีวิตกันเลย ทว่า อย่างคนที่ตระหนักและมีกำลังใจฮึกเหิมว่าจะกลับไปใช้ความรู้และทำงานให้กับสังคม เพื่อให้มีเรื่องราวดีๆนำชีวิตของเราให้ได้กลับมาเจอกันอีกด้วยวิถีแห่งการทำงาน ส่งกลับบ้านของเขาอย่างมีความหมาย แต่เรื่องเหล่านี้ก็ต่างจิตต่างใจครับ

ขออาราธนาพระรัตนตรัย อำนวยพรให้krutoitingได้มีพลังใจ มีความสุข มีความสำเร็จ ดูแลความเป็นปรกติรอบข้าง ให้ได้ประสบแต่สิ่งดีอยู่เสมอนะครับ(เขียนๆไปนี่ผมก็นึกสำรวจ advisee ของผมว่ามีคนไหนหายไปนานๆและต้องแก้ไขบ่อยๆบ้างนะครับ เกรงว่าจะเป็นลูกของkrutoitingล่ะซีครับ นี่มีอยู่เจ้าหนึ่งเหมือนกันครับ หายไปเดือนกว่าแล้วเนี่ย)

กราบสวัสดี อ.วิรัตน์

ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเข้ามาพบปะและขอคำปรึกษาท่านอาจารย์ ผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่อ อรรถพจน์ บัวงาม เป็นนิสิตปริญญาโท รปม. สาขานโยบายสาธารณะ ม.นเรศวร เพื่อนร่วมชั้นเรียนกับพระอาจารย์โชคชัยและมีโอกาสได้พบปะกับพระอาจารย์มหาแลและผมก็ได้มีโอกาสติดตามเวปบล็อก เวทีคนหนองบัว จากการสนทนาแลกเปลี่ยนให้คำแนะนำจากท่านอาจารย์กับพระอาจารย์โชคชัย ท่านพระอาจารย์มหาแลก็ได้กรุณาให้ลองแลกเปลี่ยนขอความคิดเห็นกับท่านอาจารย์ดูอาจจะไขข้อข้องใจในส่วนที่ยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ ปัญหาของผมตอนนี้คือการเขียนทบทวนวรรณกรรม คือผมศึกษาการปกครองท้องถิ่นในฐานะที่เป็นวาทกรรม โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์วาทกรรม ของมิเชล ฟูโกต์ เป็นแนวคิดหลักในการดำเนินการศึกษาวิจัย ปัญหาก็คือ
1. ผมยังมีปัญหาในการเขียนในลักษณะให้เป็นการทบทวนวรรณกรรมที่ยังไม่มีความต่อเนื่อง ที่โดนคอมเม้นมาเหมือนลักษณะการเขียนเป็นแบบขนมชั้น คือเป็นลักษณะท่อนๆของแนวคิดที่เกี่ยวข้องมาวางรวมอยู่ด้วยกัน สิ่งที่อยากขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยอนุเคราะห์ขอคำปรึกษาแนะนำการเขียนทบทวนวรรณกรรมหรือแนวทางที่พอจะทำให้ก้าวผ่านปัญหาขั้นตอนนี้(งานทีสิกส์ของผมเป็นแนวหลังสมัยใหม่)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท