บุญเบิกฟ้า : การมีส่วนร่วมทางความคิดที่ปราศจากกำแพงกั้น


หลายต่อหลายเรื่อง ก็ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมวางแนวคิดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมประเพณีประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม นั่นก็คือ “งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด”

การประชุมที่ว่านั้นเป็นผลพวงมาจากการที่ทางจังหวัดมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นต้นคิดเกี่ยวกับ “รูปแบบ” ของเรื่องขบวนแห่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2552 โดยให้นำกรอบแนวคิดที่ได้นำเสนอต่อทุกภาคส่วนของจังหวัดอีกครั้ง

การประชุมครั้งแรกเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยผมได้รับการประสานจากผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย (สุนทร เดชชัย) หรือที่เรียกด้วยความเคารพส่วนตัวว่า “พี่ต่อ” ให้เข้ามาช่วยเป็นหนึ่งในทีมงานของการขบคิดเรื่องนี้

ความรู้สึกครั้งแรกของการเข้าไปยังห้องประชุมยังจำได้อย่างไม่ตกหล่น –
ทันทีที่เข้าไปยังห้องประชุมเล็ก ๆ ก้ถึงกลับแปลกใจอย่างมาก เพราะถึงแม้ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีเพียง 3 – 4 คน หากแต่ละคนนั้นล้วนเป็นระดับ “บิ๊กๆ” กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นท่านรองคณบดีจากฝั่งคณะมนุษยศาสตร์ฯ ประธานโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ หรือแม้แต่ผู้บริหารจากโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ มมส …

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ดูเหมือนมีผมเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ดูจะเป็นคน “ตัวเล็ก” ที่สุด  ไม่มียศฐานบรรดาศักดิ์ใดๆ ในทางการงานที่พอจะเทียบเคียงท่านเหล่านั้นได้ จึงได้แต่ปลอบใจตัวเองให้มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ และปลุกเร้าให้ตัวเอง “ใจดีสู้เสือ” ไปพรางๆ และนั่งนิ่งคอยรับฟังให้มากที่สุด เมื่อสบโอกาสถึงค่อยนำความคิดของตัวเองขยับเข้าสู่กระบวนการของการระดมความคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป

ภายหลังการประชุมเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ บรรยากาศแห่งการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็เกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายๆ ไม่มีการถือยศถืออย่าง แต่ละคนต่างให้เกียรติความคิดซึ่งกันและกัน และเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้มีตัวตนในสิ่งที่ตัวเองนำเสนออย่างเต็มที่

 

เราต่างพยายามสังเคราะห์รูปขบวนของ “บุญเบิกฟ้า” อย่างช้า ๆ เพราะทราบว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ปรารถนาให้นำเสนอรูปแบบที่ซ้ำ ๆ กับทุก ๆ ปี ซึ่งหมายถึงการนำคำขวัญของจังหวัดมาเป็นแกนหลักของการนำเสนอในขบวนแห่

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เราจึงเริ่มต้นจากการกำหนดกรอบแนวคิดโดยภาพรวมขึ้นมาในทำนองว่าการนำเสนอแนวคิดที่อันเป็นอัตลักษณ์ของ “บุญเบิกฟ้า” ที่ประกอบด้วยความเป็นศิริมงคลแห่งการเริ่มฤดูกาลของการเพาะปลูก ความบันเทิงเริงใจของชาวเมืองและผนวกเข้ากับความเป็นเมืองมหาสารคาม ซึ่งสกัดออกมาจากคำขวัญของจังหวัด

ด้วยวิธีคิดเช่นนั้น เราจึงกำหนดหน้าตาและเนื้อหาของขบวนแห่บุญเบิกฟ้าใน 7 ลักษณะ หรือ 6 ขบวน ดังนี้

1. เบิกฟ้ามหาสารคาม : เป็นขบวนที่สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ความเป็นมาของงานบุญเบิกฟ้า และเชื่อมโยงกลับไปสู่คติความเชื่อของชาวอีสานที่ร้อยรัดอยู่อย่างแน่นหนากับวิถีธรรมชาติในฤดูกาลแห่งการเพาะปลูก เป็นต้นว่า “เสียงฟ้าเสียงฝน” “พืชผลไร่สวน” หรือคามสำคัญของพระแม่โพสพ เป็นต้น

2.หลากหลายงานบุญ : เป็นขบวนที่สื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตของชาวเมือง
มหาสารคามที่ดำเนินไปตามขนบของ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ซึ่งขบวนนี้ไม่เพียงสื่อให้เห็นวิถีวัฒนธรรมแต่เฉพาะชาวมหาสารคามเท่านั้น แต่ยังรวมความไปถึงความเป็น “ชาวอีสาน” ด้วยเช่นกัน

3.เพิ่มพูนการศึกษา : เป็นขบวนที่เน้นการนำเสนอให้เห็นประวัติศาสตร์ หรือพัฒนาการทางด้านการศึกษาของเมืองมหาสารคาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้รับการขนานนามว่า “ตักสิลานคร” และเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านของการผลิตบัณฑิตออกรับใช้สังคม

4.ล้ำค่าอารยธรรม : เป็นขบวนที่แสดงให้เห็นว่าเมืองมหาสารคามเป็นเมืองแห่งเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ทรงคุณค่า หลากหลายด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุ อาทิ พระธาตุนาดูน (พุทธมณฑลอีสาน) ปราสาท หรือกู่ต่างๆ รวมถึงการสะท้อนให้เห็นภาพของจังหวัดที่ได้รับการเรียกขานว่า “สะดืออีสาน” เป็นต้น

5.ลิศล้ำภูมิปัญญา : เป็นขบวนที่นำเอาเรื่องราวในทางภูมิปัญญาของชาวมหาสารคามมาผูกร้อยเป็นเรื่องราวในขบวนแห่ ซึ่งเน้นไปยังภูมิปัญญาที่ยกระดับขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์ของท้องถิ่น และสื่อให้เห็นความภาคภูมิใจและความผูกพันที่มีต่อบรรพชน เช่น เรื่องราวของผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก เสื่อกกบ้านแพง ผ้าทอมือหนองเขื่อนช้าง ผ้าลายเกล็ดเต่าบ้านหนองหิน

6.ตักสิลารื่นรมย์ : ขบวนนี้เป็นขบวนที่เน้นให้เห็นบรรยากาศของชาวเมืองที่รักความ รื่นเริงและเป็นกันเองกับคนทุกท้องถิ่น ทุกเชื้อชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองที่มีความสุขที่สุดของประเทศไทย โดยขบวนนี้จะะสื่อให้เห็นถึงการอยู่ร่วมอย่างสันติ ความกลมเกลียวสนิทแน่น และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งชาวอีสาน ชาวญ้อจากเมืองลาว ชาวจีน เวียดนาม เกาหลี ซึ่งมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับผิดชอบขบวนนี้ และนำเสนอภายใต้ความสนุกสนาน เบิกบานและรื่นรมย์อย่างมีวัฒนธรรม

นั่นคือผลสรุปของการหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวันนั้น
หลายเรื่องที่ผมไม่รู้ก็มีโอกาสได้รู้จากเวทีตรงนั้น และหลายเรื่องก็กลายมาเป็นเครื่องประดับปัญญาของตัวเองไปโดยปริยาย ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า แนวคิดดังกล่าวนี้ ทุกภาคส่วนของจังหวัดให้ความเห็นชอบและกำหนดให้แต่ละภาคส่วนได้นำไปจัดเตรียมกันให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับผมแล้ว …
การได้เป็นต้นเรื่องในการนำเสนอแนวคิดในขบวนที่ 3 – 5 ซึ่งหมายถึงการเสนอรูปแบบและคำจำกัดความเช่นนั้น ทำให้ตัวเองอดที่จะส่งยิ้มเป็นรางวัลให้กับตัวเองอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้

ในทำนองเดียวกันนี้ การได้เป็นส่วนหนึ่งในเวทีของการร่วมคิดกับผู้หลักผู้ใหญ่เช่นนี้ ถือเป็นเกียรติสำหรับตัวเองเป็นอย่างสูง แทบไม่น่าเชื่อว่าความคิดเล็กของคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะมีโอกาสเป็นตัวเป็นตนในเวทีเช่นนี้ได้ และผู้หลักผู้ใหญ่ในเวทีที่ว่านี้ ก็ใจกว้างเหมือนแม่น้ำ ไม่มีกำแพงทางความคิด ตรงกันข้ามมีอะไรก็แต่งเติมและปรับแต่งอย่างเป็นมิตร


ขณะเดียวกันหลายต่อหลายเรื่อง ก็ร่วมเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน จนผมรู้สึกได้อย่างไม่กังขาว่า เวทีแห่งการหารือกันนี้ได้พัฒนาตัวผมเองไปอย่างแนบเนียน

และนี่ก็คือ การงานอันแสนงามของชีว ตที่เพิ่งผ่านพ้นมาเพียงไม่กี่วันของผมเอง

 

 

หัวหมาก, กรุงเทพฯ
กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย , หัวหมากเกมส์

11 มกราคม 2552

 

หมายเลขบันทึก: 234718เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2009 06:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ น้องชายที่รัก

  • ครูใัช่เล็ก แล้ว  น้องชายของพี่คนนี้ ตัวใหญ่ ในหน้าที่การงานแล้วค่ะ แถมยังเป็นหน้าที่การงานที่ประสบกับความสำเร็จอย่างงดงามด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ  รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

แวะมาอ่านและทักทายค่ะ

บุญเบิกฟ้า  เคยได้ยินค่ะ คุณยายเล่าให้ฟัง แต่ก็ไม่เข้าใจมากนัก 

ไม่เคยได้ร่วมงาน

ขอบคุณสาระดีๆค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

"...เชื่อว่าความคิดเล็กของคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะมีโอกาสเป็นตัวเป็นตนในเวทีเช่นนี้ได้ และผู้หลักผู้ใหญ่ในเวทีที่ว่านี้ ก็ใจกว้างเหมือนแม่น้ำ ไม่มีกำแพงทางความคิด ตรงกันข้ามมีอะไรก็แต่งเติมและปรับแต่งอย่างเป็นมิตร....."

อยากให้ผู้ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจของบ้านของเมืองได้อ่านบันทึกนี้บ้าง  ครับ

หวัดดีค่ะ

  •   เคยเรียนที่นี่ แต่การร่วมงานในพิธีเปิดไม่เคยไป
  •  อยากเห็นความอลังการงานสร้าง จากไอเดียคนเล็ก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ พี่อ้อย.... ครูอ้อย แซ่เฮ

ผมยังเป็นคนตัวเล็กตัวกลม. ติดดิน และระห่ำอย่างไม่เปลี่ยนแปลงครับ  และที่สำคัญคือ ไม่มีมาดของการแต่งตัวเอาเสียเลย  หลายครั้งเดินไปกับทีมงาน  ใครต่อใครเข้าใจว่าลูกน้องเป็นหัวหน้าแทนก็มาก เพราะเขาแต่งตัวดูดีกันทุกคน

ผมประเภทง่าย ..สบาย ... และไร้รูปแบบ ครับ

 

  • มากรุงเทพฯหรือครับ
  • กลับวันไหน
  • มาเชียร์กิจกรรมก่อนนะครับ
  • พอดีงานยุ่งๆๆๆ

สวัสดีครับ.@..สายธาร..@

บุญเบิกฟ้า เป็นบุญแห่งการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนการ "ลงนา"  ตามความเชื่อของชาวอีสาน  เน้นการบูชาพระแม่โพสพ  โบราณว่าไว้ในทำนองว่า คนอีสานจะคอยเฝ้าฟังเสียงร้องแรกของฟ้า  ถ้าดังขึ้นในทิศไหน และฝนแรกโปรยลงมา  รุ่งเช้าก็จะนำมูลสัตว์ไปลงบนแปลงนา หรือผืนนา  เสมือนว่า ฤดูกาลแห่งชีวิตกำลังจะเริ่มขึ้นในหน้าปักดำนี้ ...

พอถึงวันงานจริงของบุญเบิกฟ้า  ผมคงได้นำภาพกิจกรรมมาเล่าผสมผสานกับข้อมูลทางคติชนอีกรอบ...

โชคดีกับชีวิต นะครับ

 

สวัสดีครับ หนุ่ม กร~natadee

เกี่ยวกับเรื่องนี้  ผมเองก็ ไม่เคยคิดหรอกนะครับว่าจะถูกเชิญไปร่วมวงเสวนาและระดมความคิดในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมบุญเบิกฟ้า  เพราะตัวเองก็ไม่ได้ชัดเจน หรือรอบรู้ในเรื่องเหล่านี้  แต่พอได้ร่วมวงตรงนั้น  ก็กลายเป็นการเรียนรู้ไปในตัว  เราถนัดการคิดภาพกว้างและถนัดในการกำหนดวาทกรรม  ก็นำเสนอไปเป็นจังหวะ ๆ  ท่านอื่น ๆ ก็ช่วยขัดเกลาและแต่งเติมช่วยกันอย่างเป็นกันเอง

ผมชอบบรรยากาศในทำนองนี้มาก  ไม่มีการขีดขวางกันเรื่องสถานะ  ทุกคนฟังและพูดในมุมของการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างอบอุ่น..

ผมประทับใจมากเลยครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

ทั้ง6กระบวนความนี้ล้ำเลิศ

รูปแบบและวีธีการนำเสนอ สอดคล้องอิงกับสโลว์แกน

ข้อมูล ชัดเจน ..มันก็ดูดี..สวยๆ

ขอบคุณมากครับ

มาดูงานช้าง

เขาเตรียมกันอย่างเป็นระบบ

ตัวเล็กแต่ใจใหญ่ก็น่าเกรงขาม กว่าตัวใหญ่ ใจเล็กนะคะ น้องแผ่นดิน

ขอให้มีความสุข สนุกกับงาน

ความระห่ำทำแล้วตัวเองรู้สึกสะใจ สะใจ วัยโก๋เลย

มันต้องอย่างนี้ซิ... แต่

คนอื่นเขาไม่รู้สา ไม่สะใจกับเรา นะคะ

สวัสดีครับ. phayorm แซ่เฮ

บุญเบิกฟ้า .. เป็นประเพณีของคนอีสาน แต่ชาวมหาสารคามหยิบมาเป็นหัวใจหลักในการสื่อสารในเวทีของงานกาชาด   ปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก  โดยในวันที่ 23  มกราคม  จะเป็นขบวนแห่  แต่วันที่ 28 มกราคมนั้น  จะเป็นเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ขณะที่ช่วงนี้, ชาวบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ก็กำลังมีงานบุญประจำปี นั่นคือ "บุญกุ้มข้าว"  นี่ก็เป็นอีกฮีตคองหนึ่งของชาวอีสาน, ครับ

สวัสดีครับท่านพี่  ขจิต ฝอยทอง

ตอนนี้กลับมามหาสารคามแล้วครับ, กำลังนั่งฟังนิสิตเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาหอพัก  มีหลายเรื่องน่าสนใจมาก  นี่เป็นเวทีแรกที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้ามาร่วมคิดและกำหนดแนวทางของการพัฒนานิสิตหอพักร่วมกัน

พักนี้งานเยอะมากครับ, แต่ก็มีความสุข ดี

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท