สภาเทางาม .. ภาพสะท้อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสายสัมพันธ์ที่อันแน่นหนักในวิถีกิจกรรม


ภายหลังการประชุมร่วมกับหอพักยุติลงในช่วงหกโมงเย็นเศษ ๆ  (11 ธันวาคม 2551)  ผมก็เดินทางเข้าร่วมเป็นเกียรติ
ในงานเลี้ยงรับรองกลุ่มบรรดาสภานิสิตจากเครือ
เทา งาม  ที่มาร่วมโครงการ สัมมนาสภาห้าเทาสัมพันธ์  
ครั้งที่ 
3”

 

โครงการดังกล่าวนี้เป็นความร่วมมือของสภานิสิตจากมหาวิทยาลัยที่แยกตัวออกมาจาก มศว  หรือชื่อเต็ม ๆ ก็คือ

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  (มศว ประสานมิตร)   มหาวิทยาลัยบูรพา  (มศว  บางแสน)  มหาวิทยาลัยทักษิณ  (มศว สงขลา)  มหาวิทยาลัยนเรศวร  (มศว พิษณุโลก)  และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มศว มหาสารคาม)

 

กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี  2549   โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นจากแรงบัลดาลใจที่บรรดาผู้นำนิสิตได้เข้าร่วม
กิจกรมเทางามสัมพันธ์  ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นเจ้าภาพ  และครั้งนั้นก็พามวลสมาชิกทั้งหมดไปจัดกิจกรรมแบบบูรณาการที่ ประเทศลาว  มีทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม วิชาการ นันทนาการ  กีฬา  และอาสาพัฒนา

 

ภายหลังกิจกรรมเทางามสัมพันธ์ที่ประเทศลาวยุติลง  กลุ่มสมาชิกสภานิสิตก็รวมตัวกันจัดโครงการในชื่อ สัมมนาสภาห้าเทา  ขึ้นมา  เพื่อเปิดพื้นที่ทางความคิดในกลุ่มของสภานิสิตได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ขณะที่กิจกรรมเทางามสัมพันธ์  ก็ยังคงดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง  และล่าสุดก็จัดติดต่อกันมาเป็นครั้งที่  12  แล้ว

 

จะว่าไปแล้ว  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งเสริมและสนับสนุนให้สภานิสิตได้เข้าร่วมเวทีการสัมมนา หรือแม้แต่การอบรมในโอกาสต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง  เรียกได้ว่าสภานิสิตได้รับโอกาสในการเรียนรู้โลกภายนอกอย่างหลากหลายและสม่ำเสมอ  แต่จะสามารถพัฒนาโลกทัศน์ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนนั้น  ยังเป็นโจทย์ที่ผมกังขาอยู่ไม่ใช่น้อย 

 

หรือแม้แต่กิจกรรมการสัมมนาในทำนองนี้จะเกิดดอกผลทางปัญญาที่ขับเคลื่อนให้กระบวนการทางด้านกิจกรรมนิสิตพัฒนาไปอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยหรือไม่นั้น  นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่ผมยังไม่อาจปล่อยวางและนิ่งเฉยไปเสียทั้งหมด  เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันทั่วประเทศว่า สภานิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย ก็ล้วนแล้วแต่ทำงานกันอย่างกระท่อนกระแท่น  ไม่สามารถทำงานในบทบาทของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และการสัมมนาในแต่ละเวทีก็ถกคิดถึงเรื่องนี้กันทุกครั้ง  แต่ทุกครั้งก็จบลงในสภาพเดิม ๆ เสมอ

 

แต่ก็อย่างว่า  ในฐานะของคนต้องดูแลและพัฒนานิสิต  ผมเองก็ไม่เคยสิ้นหวังกับกระบวนการเหล่านี้เสียเท่าไหร่  และยังคงย้ำกับทีมงานเสมอว่า  ให้โอกาสกับการเรียนรู้แก่นิสิตอย่างเต็มที่  ให้เขาได้คิดและได้ทำในสิ่งที่เขาคิด  แต่ต้องไม่ลืมที่จะย้ำให้เขา ถอดบทเรียน  ในสิ่งที่เขาคิดและทำ   เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตัวเขาและองค์กรของเขาเอง 

 

 

 

สภาพการณ์เช่นนี้   คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่กระมัง   เพราะในความเป็นจริงนั้น  ในแวดวงการทำงานของผู้ใหญ่  ก็คงมีไม่น้อยที่ล้มเหลวกับกระบวนการสัมมนา หรืออบรม  โดยการทุ่มงบประมาณลงเยอะ ๆ  และสุดท้ายก็ไม่สามารถค้นพบองค์ความรู้ใหม่ หรือไม่สามารถนำความรู้ที่ได้จากเวทีเหล่านั้นมาปรับแต่งการทำงานให้พัฒนาขึ้นได้

 

ด้วยเหตุนี้เอง  ผมจึงกระตุ้นให้สภานิสิตออกไปทำค่ายเล็ก ๆ  ของตัวเองในหมู่บ้านใกล้ ๆ  หรือไม่ก็จับมือกับองค์กรอื่น ๆ  ออกไปให้บริการแก่สังคมบ้าง  หรือไม่ก็ให้ไปเสวนากันแต่เฉพาะกลุ่มบ่อย ๆ  รวมถึงการหอบหิ้วพวกเขาตระเวนเยี่ยมค่ายในที่ต่าง ๆ  เพราะไม่ปรารถนาให้เขารอคอยแต่จะเปิดประชุมเพื่อพิจารณาโครงการสถานเดียว 

 

การเสนอแนะเช่นนั้น  เพียงเพราะต้องการให้เขาเรียนรู้จากการลงมือทำ  มากกว่าเรียนรู้จากเอกสาร  และไม่อยากให้เขาติดยึดกับการนั่ง วางมาดเข้ม  พิจารณาและกลั่นกรองโครงการอยู่แต่ในห้องประชุม  โดยไม่แยแสต่อการออกไปร่วมสัมผัสจริงกับคนทำงานว่า มีชะตากรรม กันอย่างไรบ้าง

สิ่งเหล่านี้  หากไม่ก้าวออกไปดูให้เห็นกับตาตัวเอง  การมานั่งพิจารณาโครงการโดยขาดประสบการณ์ของการลงพื้นที่  ผมก็เชื่อเหลือเกินว่า  แทนที่จะพัฒนาและสนับสนุนการทำงานขององค์กรอย่างเข้าใจและเห็นใจ  แต่กลับอาจส่งผลให้กำกับดูแลไปบนพื้นฐานที่ปราศจากความเป็นจริงไปโดยปริยาย ก็เป็นได้  ...

 

 

 

และสำหรับในค่ำคืนนี้   ทีมงานสภานิสิต  ได้เชิญ วงแคน  มาร่วมบรรเลงเป็นเจ้าภาพต้อนรับ พร้อม ๆ กับการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญตามธรรมเนียมอีสาน รับขวัญ  ผู้มาเยือนประดุจญาติมิตรที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน  โดยมี พาแลง 
ในแบบอีสาน ๆ เป็นอาหารเย็นให้ร่วมรับประทานกันแบบง่าย ๆ  สบาย ๆ  ภายใต้บรรยากาศอันเย็นสบาย  และอบอุ่น

 

นี่คือ  น้ำใสใจจริงของการเป็นเจ้าภาพที่ยินดีเป็นยิ่งนักกับการได้ต้อนรับมิ่งมิตรผู้มาเยือน  การนำพาศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน  ทั้งในมิติของดนตรี   อาหาร   และพิธีกรรมมาสื่อสารกับผองเพื่อนเช่นนี้  ก็ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งของการ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน

 

สำหรับผมแล้ว  บรรยากาศเช่นนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและอบอุ่นเป็นที่สุด 

ส่วนเวทีการสัมมนาจะประสบความสำเร็จกี่มากน้อยนั้น  ก็ยังคงต้องดูและเชียร์กันต่อไป 

และพรุ่งนี้  ผมเองก็จำต้องขึ้นเวทีเป็น วิทยากร  ในเวทีนี้อีกครั้ง 

ส่วนจะออกหัวออกก้อยอย่างไรนั้น , ...  ก็สุดแท้แต่บุญแต่กรรมก็แล้วกัน

 

  

หมายเลขบันทึก: 228930เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2008 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • บรรยากาศชื่นมื่น
  • อยู่ดีมีแฮง
  • โอ้ย
  • คิดฮอดบ้านพ่อแม่น้องเอ้ย
  • ขอชื่นชมกับลูกเทางามค่ะ
  • พิษณุโลกเทาแสด
  • มีหลายท่านเขียนคำว่า มศว  ผิดมากมาย
  • (ไม่มีจุดต่อท้ายค่ะ)
  • เป็นกำลังใจให้เทางามทุกท่านค่ะ
  • ตามคุณพี่คิมมาค่ะ
  • ไป ๆ มา เราก็มีเลือดสีเทา...พอกันค่ะ
  • ฝันให้ไกล ไปให้ถึง  ซึ่งที่ฝัน  นะคะ นักล่าฝัน
     
  • เข้ามาชื่นชมค่ะ
  • ภาพพิษณุโลกยามเช้าค่ะ

ชอบการตกแต่งทางเข้างาน สวยมากค่ะ

คุณแผ่นดินขึ้นเวทีกี่ครั้งก็สุดแท้แต่บุญ บุญ และบุญ เป็นบุญของน้องๆในงานต่างหากค่ะโชคดีได้ผู้นำเป็นแบบอย่างเช่นนี้ ขอสำเนามาอยู่รั้วสีม่วงสักคนสิคะ

เห็นภาพบรรยากาศแล้วประทับใจค่ะ รอยยิ้มของผู้รำบ่งบอกว่าต้อนรับ อดประทับใจตามไปด้วยจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท