เห็นใจ . . . การทำ KM ของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการ


การนำสิ่งเหล่านี้มาใช้กลายเป็นการทำงานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ไหนจะต้องส่งข้อมูลให้ กพร. ไหนจะต้องเตรียมข้อมูลเรื่องการประกันคุณภาพ . . .

         ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำความเข้าใจเรื่อง KM กับบุคลากรในมหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยกัน . . . พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาคล้ายๆ กัน คือยังไม่เข้าใจหลักการที่สำคัญในเรื่องนี้ ในหลายมหาวิทยาลัยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่อง KM สารภาพกับผมตรงๆ ว่าเขา “ยังไม่รู้อะไรมากนัก” และที่สำคัญเขา “ไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์ที่ตรงไหน? ทำไมต้องไปจัดการความรู้ด้วย?”  มีอาจารย์บางท่านพูดออกมาตรงๆ ว่า "ก็ที่ผมสอนหนังสืออยู่นี้ นี่ไม่ใช่การจัดการความรู้หรอกหรือ?"

         ผมตอบเขาไปว่า . . . อาจารย์ต้องอย่าไปสับสนเรื่องการ “ให้การศึกษา” หรือการ “Educate” กับการ “Manage” Knowledge (ที่เราใช้ทำงาน) อยู่นะครับ เราต้องเข้าใจ “คำศัพท์” ที่ใช้สื่อกันนี้ให้ดีก่อนที่จะพูดรายละเอียดกันต่อไป จะได้ไม่พูดกันไปคนละทิศคนละทาง เพราะคำว่า KM ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เราหมายถึงการจัดการความรู้ที่เป็น “ความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน” ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นครูอาจารย์เราก็หมายถึงเทคนิคหรือประสบการณ์ที่ท่านใช้ในการสอน ในการทำวิจัย หรือถ้าเป็นสายสนับสนุน ความรู้ที่ว่านี้ก็หมายถึงความรู้ที่ท่านทั้งหลายใช้ในทำงานอยู่ทุกวี่วันนั่นเอง

         สิ่งที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีมหาวิทยาลัยของรัฐก็คือ การที่ต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ต้องทำให้ได้ตามเกณฑ์ของ กพร. ต้องทำตามระบบประกันคุณภาพ (QA) เพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ สมศ. จริงๆ แล้วมาตรฐานและระบบเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาอันดี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแทนที่การใช้ระบบเหล่านี้จะมาช่วยเสริมการทำงานของมหาวิทยาลัย กลับกลายเป็นว่าเมื่อผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจในระบบ และระบบแต่ละระบบขาดความเชื่อมโยงกัน การนำสิ่งเหล่านี้มาใช้กลายเป็นการทำงานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ไหนจะต้องส่งข้อมูลให้ กพร. ไหนจะต้องเตรียมข้อมูลเรื่องการประกันคุณภาพ เรื่องการบริหารความเสี่ยง และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

         ผมรู้สึกเห็นใจและสงสารผู้ที่อยู่ในหน่วยงานทั้งหลายที่เข้าข่ายตามที่ผมบรรยายมา . . . ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีวิธีช่วยท่านเหล่านั้นได้อย่างไร . . . สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือคงจะต้อง “เดินสาย” ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ต่อไปเท่าที่เวลาและสังขารจะเอื้ออำนวย 

หมายเลขบันทึก: 219922เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2008 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • อาจารย์คะ ขณะนี้ในส่วนของสพท.ก็เช่นเดียวกันค่ะ
  • ที่ยังมีบางคน บางส่วนไม่เข้าใจการจัดการความรู้ว่าทำไปทำไม
  • ไม่เห็นประโยชน์ และไม่พยายามที่จะรู้ค่ะ

 

-เรียนท่าน ดร.ประพนธ์

-อ่านบทความของท่านแล้วสะท้อนใจ

-นับประสาอะไรกับคนทำงานตามนโยบาย

-ครูต้อยเข้ามาเรียนรู้ ได้ 2 เดือนเต็ม

-ตื่นเต้นกับKM ท่านผู้รู้หลายท่านบอกว่าเคยเรียนมาแล้วภาคทบ.แต่ไม่เห็นมีประโยชน์

-เพราะวงราชการเรา ชอบให้ทำตามผู้ใหญ่ ไม่ชอบให้คิดเอง นายไม่สั่ง ไม่ควรทำ

-แต่ครูต้อยได้ประโยชน์ตรงนี้มาก ฝึกหัด และเรียนรู้ และได้นำความรู้ วิธีการมาใช้กับ

เด็ก

-ขณะนี้ได้เตรียมวางแผนไว้แล้วว่าจัดทำอย่างไรดีให้เหมาะกับสภาพของโรงเรียน

ผู้เรียน และตัวเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูง

-กังวลอยู่ก็เรื่องเดียว กลัวทำไม่สำเร็จ

-อ.ดร.ค่ะ

-ครูต้อยได้นำหลักการของKM ไปเสนอ เพื่อนๆ ในวงการ แต่เขาส่ายหน้า และหัวเราะ

-ไม่ใช่เยาะเย้ยนะคะ แต่เป็นเสียงหัวเราะที่ฟังแล้วเหี่ยวๆ ไงพิลึก หรือเขารู้แล้ว

-ได้ข่าว สพท.เคยจัดอบรม แต่จำกัดผู้ที่อยากรู้ และเมื่ออบรมแล้ว เห็นยังนิ่งอยู๋

  • จำได้ว่าปีแรก (48 ต่อ 49) หนูได้เรียนรู้และใช้ KM ทั้งกับคนใน มน. และร่วมกับ ม. อื่นๆ ใน UKM รู้สึกว่ามีความสุข  สนุกกับการทำงาน อาจเป็นเพราะตอนนั้นไม่มีกรอบของทั้ง กพร. และ QA  
  • ปีต่อมา (50) มีเกณฑ์ของ กพร. และ QA หนูยังคงเรียนรู้และประยุกต์ใช้ KM อยู่อย่างต่อเนื่อง  เกณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการคิดและทำ  แต่พอสิ้นปีมีผู้ประเมินจากที่หนึ่งเข้ามาสัมภาษณ์และดูเอกสาร  คุยกันค่อนข้างนานผู้ประเมินบอกว่า "ถ้าหนูทำอย่างที่หนูเล่าให้เค้าฟังและเอาเอกสารให้เค้าดูหนูคงจะได้ 0 จาก 5 คะแนน" ...
  • หลังจากนั้นหนูโทรคุยกับพี่ที่ดู KM อีก ม. หนึ่งที่คุ้นเคยกัน  ที่ ม. นั้น  ไม่เจอกรณีแบบที่หนูเจอค่ะอาจารย์
  • ท่าน ดร.ประพนธ์ที่เคารพค่ะ
  • นกเองก็เป็นหนึ่งของการจะจัดทำ KM ในองค์กรค่ะ
  • แต่ก็ได้พบเหมือน ๆ กันคือ  KM คืออะไรและทำไมต้อง KM
  • งานต่าง ๆ ที่ทำอยู่ก็วุ่นวายอยู่แล้ว แล้วทำไมต้องเพิ่มภาระหนักด้วย
  • แม้ในหน่วยงานนก ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งเป็นผู้ริเริ่ม แต่ตอนนี้ดูเหมือนท่านจะล้า ๆ ไป ไม่ขยับขยายโครงการเหมือนที่เคยตั้งปณิฐานไว้
  • KM ของหน่วยงานนกจึงเหมือน ๆ หน่วยงานราชการทั่วไป ที่ไม่ใคร่จะเห็นความสำคัญ
  • ก็ได้แต่หวังว่า สักวัน จะได้มีโอกาสทำ KM ในองค์กรตามที่ฝันไว้
  • ก็ได้แต่เภาวนาค่ะ

เรียนท่านอาจารย์ ดร. ประพนธ์

ผมก็เจอคล้าย ๆ กันมา และคล้ายกับอีกหลายท่านข้างบน

จึงเป็นที่มาของ มุมมองที่ผม เคยเสนอ ลปรร. ไว้ครับ อาจารย์

หมอเจอด้วยตัวเองและใช้วิธีสื่อสารด้วยภาพว่าระบบมันเชื่อมกันอย่างไร แต่รู้สึกว่าผู้บริหารหลายคนยังมองแยกส่วนกันอยู่และไปติดกับคำต่างๆ

อาจารย์คงเหนื่อยไปอีกหน่อยนะคะ

ไม่อยากให้อาจารย์ท้อค่ะ

คิดว่าถ้าอาจารย์สื่อสารด้วยภาพอาจจะง่ายขึ้นเพราะเห็นอาจารย์สื่อสารความเชื่อมโยงได้ชัดเจนและประทับใจมากๆจนนำไปใช้บ่อยๆค่ะ ขอบคุณที่ให้ความรู้พวกเราเสมอมาค่ะ

  • "การนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ กลายเป็นการทำงานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ไหนจะต้องส่งข้อมูลให้....ให้....ให้....ให้...ฯลฯ"
  • โรงเรียนมัธยมก็มีปัญหาอย่างนี้เช่นกันครับ อาชีพครูน่าจะมีเวลาสอนให้มากที่สุด หรือสอนอย่างเดียว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เวลาส่วนใหญ่ของครู ต้องไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสอน..โดยเฉพาะเอกสาร อย่างอาจารย์ว่า
  • ฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า...การศึกษาบ้านเรามีปัญหามาก เพราะหน่วยปฏิบัติการเบื้องต้น(โรงเรียน)ของการศึกษา หรือ ครู ไม่สามารถทำหน้าที่สอนนักเรียนได้อย่างควรจะเป็น
  • ขอบคุณความรู้ดีๆครับ

สวัสดีครับอาจารย์   ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ ที่มอบให้

 

สวัสดีครับ

  • ทุกอย่างเป็นอย่างท่านอาจารย์ว่าครับ
  • การตระเวณช่วย กระตุก กระตุ้น ก่อนที่เขาจะลงมือทำแบบ ไร้ใจ และ ไร้ความเข้าใจ ดูจะยังเป็นเรื่องต้องทำครับ
  • น่าเห็นใจเขาจริงๆครับ

มาเชียร์ อาจารย์ ค่ะ

ทำโดยไม่บอกว่าทำก็ดีนะคะ เพราะ พอบอกศัพท์ KM คนจะสงสัย ถ้าบอกว่า มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ คนเข้าใจค่ะ

ที่ทำอยู่ ไม่ค่อยบอกคนทำงาน ไม่เน้นเลยว่า จะทำ HA ทำ KM ทำ CQI ทำ ISO แต่ทำเลย

คนที่เข้ามาในงานทำไป ทำไป เป็นคนบอกเองค่ะ

เช่นตอนนี้ คุณ ตุ่ง ที่อุบล เธอบอกว่า มาขอให้ ดิฉันทำ KM

ดิฉันบอกเธอว่า ไม่เคยทำ

เธอบอกว่า ที่อาจารย์ ทำ นั่นแหละค่ะ อาจารย์ ทำKM และทำได้ดีทีเดียว

ก็เลยตกปาก รับคำกับเธอ ว่า เธอจะเอาทีมจาก รพ ต่างๆ จาก อุบล บุกมา ที่เชียงรายเดือน ธค นี้

เอาทีมอุบลมา ลปรร กับ เชียงราย ในด้าน การดูแลรักษาเด็กผู้ป่วยมีเชื้อเอดส์ ที่เชียงราย

เอา Tacit Knowledge มาเป็น Explicit knowledge

learn Care Share Shine ค่ะ

ถ้า ได้ ผู้รู้ อย่างอาจารย์ ประพนธ์ มา แจม มาแนะนำ น่าจะยิ่งยอดนะคะ

ปี ก่อนอาจารย์ ที่สภากาชาดไทย ม จุฬา อ ธันยวีร์ เธอเคยถาม อยาก ฟังหัวข้อ อะไรในการประชุมใหญ่ ของการวิจัยโรคเอดส์ ในเด็กทุกปี เดือน มค

ได้บอกเธอว่า อยากฟัง อ ประพนธ์ แห่ง สคส เรื่อง KM แต่บอกว่า อาจารย์ มีงานเยอะไม่รู้จะว่างไหม

อ่านบล็อกนี้ แล้วดีใจ ปีนี้ จะเสนอเธออีกค่ะ ให้ ไปเชิญ อาจารย์ นะคะ

ขอเป็นกำลังใจ

มาเรียนรู้ด้วยคน

Comment ดีๆ ทั้งนั้น . . . ขอขอบคุณทุกๆ ท่านจากใจจริง . . . ขอให้สิ่งดีๆ ทั้งหลายที่ท่านได้คิด ได้ทำ จงทำให้ชีวิตของท่านมีแต่สิ่งที่สร้างสรรค์ และดีงาม

สุจิตรา สร้อยแสงจันทร์

วันนี้ได้ฟังอาจารย์มาบรรยายที่ มจธ. ต้องกราบคารวะเคล็ดวิชาของอาจารย์

เป็นการเปิดโลก (ทั้งซีกขวา-ซ้าย)ที่เราได้ยินคำว่า "การจัดการความรู้"

ให้พบแสงสว่าง และเกิดพลังใจในการทำงานให้ประสบความสุข

โดยอาศัย"เครื่องมือ"ที่อาจารย์มาแนะนำให้รู้จัก ในแนวที่เข้าใจได้ง่าย

และเห็นความสำเร็จ รพ.บ้านตาก อยากบอกว่าสิ่งที่ประทับใจคือ รอยยิ้ม

ของเจ้าหน้าที่ทุกคน และคนไข้ ซึ่งมองแล้วรู้สึกเลยว่าพวกเขามีความสุขจริงๆ

หนูก็ตั้งใจจะเรียนรู้จาก Blog ของอาจารย์ จะนำไปใช้กับตนเองและหน่วยงานต่อไป

ดีใจที่คุณสุจิตราเข้ามาอ่านรวดเร็วมาก เป็นรายแรกของกลุ่ม มจธ. ก็ว่าได้ . . . ขอให้นำไปใช้ได้ และอย่าลืมมาแชร์ให้ฟังกันบ้าง

เป็นอีกผู้หนึ่งที่ชื่นชมในความสามารถ และการแสดงแนวคิดของอาจารย์ค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากที่ได้ถ่ายทอดสิ่งดีดีให้กับผู้คนในโลกมากกมาย เห็นผลงานของอาจารย์ และหนังสือต่างๆ ที่อาจารย์เรียบเรียงแล้วรู้สึกทึ่งมากค่ะ

ขอบคุณครับ คุณจันทร์ฉาย . . . ผมได้เข้าไป Blog ของคุณจันทร์ฉายแล้ว . . . รู้สึกชื่นชมมากที่คุณจันทร์ฉายเขียน Blog ขึ้นมาทันที นี่แหล่ะครับ "คนทำจริง" ไม่ใช่แค่นิ่งฟังเฉยๆ แต่ลงมือทำเลย แจ๋วจริงๆ ครับ นับถือ นับถือ . . .

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท