๒๙. สำรับข้าว ขันโตก วงกินข้าว กับสุขภาวะชุมชน


"...อาหารและการกินในรูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวและอยู่ในวิถีชีวิตทั่วไป แต่สามารถทำให้แยบคาย เจริญสติ เรียนรู้เรื่องสุขภาพและเรียนรู้ทางสังคมมากมาย รวมไปจนถึงพัฒนาคนและจัดการชีวิตส่วนรวมไปอย่างกลมกลืนกับเรื่องราวของชีวิตอีกหลายมิติ คนทั่วไปได้วิธีนำเรื่องสุขภาพและบูรณาการมิติการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่ชีวิตได้ตลอดเวลา. ..."

                 ผมกับเครือข่ายวิจัยและพัฒนาสุขภาพชุมชน  จัดพบปะกลุ่ม ทบทวนบทเรียนการทำงานชุมชนในบางด้าน ที่เป็นด้าน สุขภาพองค์รวม ในแนวทางของเครือข่ายชุมชนสุขภาพที่เรียกว่า ชมรมชีวเกษม เพื่อเตรียมจัดเวทีวิชาการและเวทีเรียนรู้ เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีของเครือข่ายชมรมชีวเกษม ในต้นปีหน้า

                กิจกรรมสุขภาพ โดยการรวมกลุ่มเป็นชมรมชีวเกษมนี้  เป็นที่รู้จักในหมู่คนที่สนใจแนวนี้พอสมควร ทั้งผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพ ผ่านสื่อมวลชน การประชุมวิชาการทางสุขภาพ การศึกษาดูงานของนักวิจัยและคนที่สนใจแนวทางคล้ายกัน แนวคิดหลักก็คือ การพัฒนาออกจากจิตใจ สติ และปัญญา สะท้อนสู่การสร้างเสริมสุขภาวะในภาคปฏิบัติทั้งของปัจเจก ชุมชน กลุ่มก้อน และสาธารณะ ทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติ ในทุกเรื่องตามเงื่อนไขชีวิตตน 

               ชีวเกษม เป็นชื่อที่น้อมเอาหลักซึ่งเจ้าประคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ได้แสดงปาฐกถาธรรมให้กับชมรมชีวเกษมในปีหนึ่ง เป็นข้อสูงสุดในมงคล 38 ประการ กล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นภาวะสืบเนื่องจากการปฏิบัติและเรียนรู้ที่ยกระดับการพัฒนาตนเองอยู่เสมอสู่ความเบิกบานแจ่มใส  รู้เท่าทันทุกข์ ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก เท่าทันโลก และมีชีวิตอันเกษม อิ่มเต็มในทุกมิติ สมาชิกของชมรม ได้น้อมนำมาเป็นทั้งชื่อชมรมและถือเป็นฐานคิดสะท้อนสู่การพัฒนาวิถีปฏิบัติต่างๆ

               เหมือนกับเป็นเป้าหมายเชิงอุดมคติไกลๆ และการได้มีเจตจำนงค์ร่วมกัน สำหรับทำให้ชีวิตเป็นมรรควิถี สร้างสมเหตุปัจจัยตามรายทางของการดำเนินชีวิต  ให้บรรลุสู่จุดหมายสูงสุดตามอัตภาพแห่งตน

               ตัวตั้งตัวตีเลยก็คือร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเครือข่ายช่วยกันทำหลายลักษณะ ทั้งเครือข่ายชุมชน กลุ่มคนมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำคัญคือเครือข่ายและคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการแนวประชาคม และชาวบ้านในพื้นที่

               กลวิธีที่เน้นก็คือ การเจริญสติภาวนา การศึกษา และการตื่นรู้ ในทุกมิติชีวิตและในทุกอริยาบท  โดยมีกิจกรรมและวิธีปฏิบัติต่างๆมารองรับ หลายระดับ คือ

  • กิจกรรมเปิดประตูใจ เป็นเวทีการเจริญสติภาวนา สำหรับผู้มีพื้นฐาน หรือผู้ที่มุ่งพัฒนาตนเองผ่านการเจริญสติภาวนาอย่างลึกซึ้ง จัดในพุทธมณฑล  ครั้งละ  3-7  วัน  1-3  เดือนครั้ง ซึ่ง 10  ปีที่ผ่านมานี้ ได้จัดขึ้นไปแล้วกว่า 120  ครั้ง  มีกลุ่มผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ  บางครั้งจัดขึ้นสำหรับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา และกลุ่มผู้สนใจที่รวมกลุ่มกันมาเป็นการจำเพาะ
  • กิจกรรมเบิกบานในเรือนใจ เป็นเวทีการเจริญสติภาวนา สำหรับกลุ่มผู้สนใจทั่วไป  จัดขึ้นตามวาระต่างๆ สำหรับเครือข่ายของชมรมและกลุ่มคนทั่วไป
  • กิจกรรมออกกำลังกายฟื้นกำลังใจชีวเกษม  มีเกือบทุกเสาร์-อาทิตย์  ระหว่างเวลา 6  โมงเช้ากระทั่งถึงเที่ยง กำหนดไปตามความสะดวกและความสนใจของสมาชิกชมรม 3 แห่ง คือ ในพุทธมณฑล / สนามหญ้าหน้าสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  / และใต้ถุนตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  บางครั้งจัดขึ้นเป็นวาระพิเศษ  เช่น  เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ร่วมกับสถาบันผมกับมูลนิธิหลวงพ่อเทียน จัดกิจกรรมเจริญสติภาวนา นิทรรสการ และเสวนาวิชาการ  รำลึก 50  ปีหลวงพ่อเทียน ซึ่งทำได้อย่างงดงาม

              ในส่วนที่เป็นกิจกรรมออกกำลังกายฟื้นกำลังใจนั้น จะมีกิจกรรมอย่างผสมผสาน  ทว่า ทุกกิจกรรมจะเน้นการเจริญสติภาวนาและการทำการศึกษา เพื่อกลับออกไปทำการงานและดำเนินชีวิตให้มีความสุขที่เบิกบานแจ่มใสจากข้างใน เช่น  การเดินเจริญสติยามเช้า การรำกระบองแบบป้าบุญมี  การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติและพึ่งตนเองทางสุขภาพตามความจำเป็นต่างๆ บางครั้งมีเวทีดนตรีและการละเล่น บางครั้งมีกิจกรรมวาดรูปและทำงานศิลปะ

            ก่อนจะอำลากัน ก็จะเป็นการล้อมวงกินข้าวจับเข่าคุยกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทอย่างบูรณาการ  มีการเตรียมและหิ้วข้าวของและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพดีมารวมกัน แล้วก็นั่งกับพื้นกินข้าวและคุยกันในบรรยากาศแบบศาลาวัด บ้างก็ปรึกษาปัญหาสุขภาพกัน บ้างก็นำข่าวคราวของชุมชนมาบอกกล่าว บ้างก็นำความรู้ใหม่ๆมาฝาก ผู้นำชุมชนและนายอำเภอ บางครั้งก็มาผ่อนคลายชีวิตและพบปะกับชาวบ้านไปด้วย 

            ในแง่ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สังคมร่วมกัน และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาสุขภาพและพัฒนาชีวิตของปัจเจกแล้ว จัดว่ามีบทบาทมากพอสมควรในการถักทอผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสาขาต่างๆ ให้มาเป็นพลังหล่อหลอมซึ่งกันและกัน พร้อมกับสร้างความเชื่อมโยงส่งเสริมเกื้อหนุนบทบาทของกันและกัน และผุดประเด็นสร้างสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมกัน   

            หลายอย่างทั้งในอำเภอพุทธมณฑล และกระจายไปยังเครือข่ายอื่นๆ ทั้งในเวทีท้องถิ่นและเวทีระดับประเทศ เกิดขึ้นจากการเป็นแรงบันดาลใจให้กันจากกลุ่มที่นั่งคุยกันเล็กๆดังกล่าวนี้คือ การล้อมวงกินข้าวด้วยกันแล้วก็พูดคุยปรึกษาหารือกันไปอย่างเป็นธรรมชาติ 

            บางเรื่อง สถาบันวิชาการ ก็เข้าไปเสริม ถอดบทเรียนและจัดกระบวนการให้ตกผลึกแนวคิด ทำเป็นหลักสูตรและโปรแกรมพัฒนาปัจเจกและครอบครัว โปรแกรมอบรม สร้างคนให้กับหน่วยงานและกลุ่มคนที่เขาสนใจ หลายเรื่องผมก็เอาไปสอนและยกตัวอย่าง เล่าให้นักศึกษานานาชาติฟัง

            รวมทั้งเคลื่อนไหวเครือข่ายสังคม ให้รู้และทำได้ในการสร้างเสริมความสุขอันสมบูรณ์ ด้วยการพัฒนาออกจากจิตใจ สติและปัญญา ในวิถีแห่งการพึ่งตนเองและร่วมสร้างสุขภาวะสาธารณะด้วยกัน

             กระบวนการแบบนี้ ขับเคลื่อนพลังของปัจเจกและสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมได้อย่างดี เมื่อมองกลับไปยังสังคม ก็จะพบบทบาทสำคัญของวิถีการกินข้าวด้วยกันแบบสำรับข้าว  ขันโตก  และการล้อมวงกินข้าวกันตามโอกาสต่างๆ เช่น  ในการทำนาทำไร่  หรือบนศาลาวัด  และการทำกิจกรรมต่างๆทางสังคม

             อาหารและการกินในรูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวและอยู่ในวิถีชีวิตทั่วไป แต่สามารถทำให้แยบคาย เจริญสติ เรียนรู้เรื่องสุขภาพและเรียนรู้ทางสังคมมากมาย  รวมไปจนถึงพัฒนาคนและจัดการชีวิตส่วนรวมไปอย่างกลมกลืนกับเรื่องราวของชีวิตอีกหลายมิติ คนทั่วไปได้วิธีนำเรื่องสุขภาพและบูรณาการมิติการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่ชีวิตได้ตลอดเวลา

             ปัจเจกจะกินและอยู่กันตนเองแบบเอกเทศไม่ได้ ต้องคำนึงถึงผู้อื่นแทบจะทุกคำข้าว หรือบางทีก็อาจจะเกิดกระบวนการทางสังคม ขัดเกลาหล่อหลอมกันให้เจริญเติบโต นับว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมสุขภาพแบบองค์รวมด้วย ที่บูรณาการทั้งกระบวนการสร้างพลเมืองให้มีสำนึกและจิตสาธารณะ สร้างสุขภาวะในระดับกลุ่มก้อน และเป็นกลไกที่ไม่เป็นทางการ ในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจัดการชีวิตส่วนรวมด้วยกันของชุมชนระดับต่างๆ.

หมายเลขบันทึก: 219581เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้เข้าใจและเห็นภาพรวมของชมรมชีวเกษมมากขึ้น เป็นข้อมูลที่ใบไม้น่าจะนำไปใช้ในการเขียนงานได้ค่ะ ..^__^..

 

เยี่ยมเลย ได้ทำงานเผยแพร่เรื่องราวดีๆไปด้วย แล้วก็ทำงานเชื่อมโยงกันได้ด้วย จะพยายามย่อยหลายๆเรื่องมาเก็บไว้ในนี้นะครับ คุณใบไม้เลือกอ่านและเลือกใช้เป็นวัตถุดิบทำงานได้ตามอัธยาศัย จะได้ไม่ถูกบดบังความคิดและความเป็นตัวของตัวเองในงาน

อ่านบันทึกของอาจารย์ แล้วนึกบรรยากาศ ของการพูดคุยในวันนี้เลยคะ กับการล้อมวงจับเข่าคุยกัน และการทานข้าวห่อใบบัว ครั้งแรก ในบรรยากาศศาลาวัด ... ^^

มาแล้วคะ ข้าวห่อใบบัว ^^

  • ดีจัง ดีจริงๆ งั้นขอบรรยายภาพไปด้วยเลยนะครับ กิจกรรมที่เห็นในภาพ เป็นเวทีกิจกรรม ออกกำลังกาย-ฟื้นกำลังใจ ของชมรมชีวเกษม  ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในวันหยุดคือวันเสาร์ ระหว่างเวลา 06.00-12.00 น. โดยประมาณ  ที่สนามหญ้าใต้เงาไม้ร่มรื่น  หน้าสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน
  • ภาพบนเป็นการพัฒนาตัวบ่งชี้และเครื่องมือในการประเมิน ความสุข ในมุมมองของชุมชน จากทรรศนะของชมรมชีวเกษม  นั่งคุยกันและก็สานความคิดเป็นกลุ่ม สร้างเป็นเครื่องมือประเมินแบบมีส่วนร่วม ข้อละแผ่น  ทำกิจกรรมอยู่กับตนเอง  คิดให้แยบคาย  แล้วก็ค่อยๆ ตอบโดยใช้วิธียกมือเหมือนกับการโหวต ให้คะแนนแบบจัดอันดับ (Rating Scale) 
  • ครึ่งหนึ่งสร้างขึ้นจากกลุ่ม และครึ่งหนึ่งสร้างขึ้นจากทฤษฎีของคนภายนอก ผสมกับกรอบทฤษฎีทางวิชาการ ซึ่งนอกจากทำวิจัยเป็นกลุ่มกับชาวบ้านได้ในแนวทางที่เสริมส้รางพลังชุมชนแล้ว ก็ออกแบบและพัฒนากระบวนการวิจัย ให้เป็นจุดที่เจอกันพอดีของการได้เรียนรู้ชุมชนของนักวิจัย และได้สร้างความรู้ของชุมชนโดยมีทีมนักวิจัยเป็นคนเกื้อหนุน 
  • ข้าวห่อใบบัว ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของได้ความแยบคายที่ผู้คนทำให้กันจากเรื่องดาดๆ ทว่า ใส่วิถีแห่งสติปัญญาบนบาทฐานของคุณธรรมและความเมตตาลงไป ก็ทำให้บังเกิดคุณค่าและความหมายที่แตกต่างมากมาย อาหารธัญพืชเป็นฝีมือและน้ำใจจาก พี่อ้วน หรือพี่ วริชฌิตา ปลั่งสำราญ ภรรยาของ พี่ปรีชา ก้อนทอง 
  • ส่วนการลงทุ่งไปเก็บใบบัว  ทำให้สะอาด  ห่อด้วยมืออย่างประณีตบรรจงทีละห่อๆนั้น  เป็นแรงงานจากความรักและความศรัทธา บ้างก็จากชาวบ้าน บ้างก็กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  อาจารย์  เจ้าหน้าที่ และกลุ่มที่ทำวิจัยกับชุมชน
  • พี่ปรีชา ก้อนทอง ใช้เป็นสื่อ ให้การเรียนรู้สุขภาพ ชวนสนทนาหลักธรรมสร้างความแยบคายในชีวิต  สื่อสารเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพื้นฐานของสังคมไทย ทำให้การกินก็สามารถเป็นวิถีแห่งสติและปัญญา อีกทั้งสืบสานทุนทางสังคม สำรับข้าว วงกินข้าวศาลาวัด และขันโตก  ให้ชาวบ้านไม่สูญเสียประสบการณ์ชีวิต  และยังกลับบ้านถูก  สุขภาพก็กลายเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าแห่งชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ไปด้วย
  • ขอบคุณมากเลยคุณณัฐพัชร์ นี่นำมาเสริมเติมต่อ  ถ่ายสวยและเห็นแนวคิดในการเล่าเรื่องด้วยภาพเลย เป็นการถ่ายภาพเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลการวิจัยที่ดีครับ

ยินดีมากๆ คะ ^^

ข้อมูลของอาจารย์ ทุก blog ทุก page นั่น สามารถ inspired ผู้อื่นได้อย่างสม่ำเสมอนะคะ ^^

ยินดีมากๆ คะ ^^

ข้อมูลของอาจารย์ ทุก blog ทุก page นั่น สามารถ inspired ผู้อื่นได้อย่างสม่ำเสมอนะคะ ^^

กิจกรรม น่าสนใจทั้งนั้นเลย

หากสนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมด้วย

ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ต้องเป็นสมาชิคก่อนหรือไม่

และจะทราบข่าวกิจกรรมได้ทางไหนบ้าง

รบกวนด้วยนะคะ สนใจมากๆ

สวัสดีคะ คุณ Jutamas

  • ฝากประชาสัมพันธ์คะ ^^

ท่านที่สนใจเข้าร่วมเชิญเลยนะครับ ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง เป็นการทำสิ่งดีเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตนเองด้วย ลองมาเรียนรู้วิธีอยู่กับตนเองและความเปล่าว่างด้วยวิถีแห่งสติ เสร็จแล้วก็ได้แนวการภาวนาซึ่งเป็นคำเดียวกันกับที่เรียกกันว่าพัฒนา บ่มเพาะประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ทำให้กับตนเองเล็กๆนี้ ให้มันงอกงามเติบโตขึ้นไปกับภาวะตัวตนของเรา เพื่อนำไปใช้ดำเนินชีวิตและเป็นพลังทำการงาน

ให้ได้ทั้งความสำเร็จจริง ได้ความดี และซาบซึ้งอิ่มเอิบกับความงามจากภายใน มีความสามารถที่จะมีความสุขและอาจพ้นไปจากติดดีติดสุข ที่ดีและมั่นคงยั่งยืนในตนเองกว่าอย่างอื่น จากความว่าง

ขอบคุณคุณ nattapach ที่กรุณานำมาเผยแพร่นะครับ งานนี้เบื้องหลังการถ่ายทำมีคนทุ่มเทด้วยจิตสาธารณะหลายคน ทั้งคนมหิดล ชุมชน และเครือข่ายศิษยานุศิษย์หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ รวมทั้งหน่วยงานสุขภาพ องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานราชการในพื้นที อำเภอพุทธมณฑล มีคนสนใจมาร่วม ก็คงจะได้กำลังใจที่ความเหน็ดเหนื่อยและตั้งใจ ได้แบ่งปันและเผยแผ่ไปสู่ผู้คนให้ได้ประโยชน์สุขร่วมกัน

ปัจเจกจะกินและอยู่กันตนเองแบบเอกเทศไม่ได้ ต้องคำนึงถึงผู้อื่นแทบจะทุกคำข้าว หรือบางทีก็อาจจะเกิดกระบวนการทางสังคม ขัดเกลาหล่อหลอมกันให้เจริญเติบโต นับว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมสุขภาพแบบองค์รวมด้วย ที่บูรณาการทั้งกระบวนการสร้างพลเมืองให้มีสำนึกและจิตสาธารณะ สร้างสุขภาวะในระดับกลุ่มก้อน และเป็นกลไกที่ไม่เป็นทางการ ในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจัดการชีวิตส่วนรวมด้วยกันของชุมชนระดับต่างๆ.

                       

  • ข้าวห่อใบบัวจากวันงาน สื่อสานสุขภาวะสาธารณะชีวเกษม เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ ร้านหนังสือเบิกม่าน .. ป้าอ้วน ใส่เครื่องให้เยอะเลย หอม อร่อย มีคุณค่ามากๆ เหมือนเดิมค่ะ ...

                      

  • ป้าอ้วน ผู้อยู่เบื้องหลังความงดงามของงานนี้ค่ะ (กำลังเตรียมเครื่องข้าวห่อใบบัว)
  • ป้าอ้วนผู้สร้างสุข ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการเป็นผู้ให้ และเสริมกำลังใจแก่ผู้อื่นเสมอ สร้างสุขจากภายในจริงๆ
  • ขอบคุณค่ะ ป้าอ้วน : วริชฌิตา ปลั่งสำราญ

มาเยี่ยมอาจารย์ครับ

อยากเข้าไปเป็นสมาชิกด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ : เป็นรอบ ๑ ปีพอดีเลยนะครับ เป็นวิธีเก็บบันทึกข้อมูลเป็นรอบปีและเปรียบเทียบให้เห็นพัฒนาการได้ดีมากเลยครับ 

สวัสดีครับหนานเกียรติ : ดีเหมือนกันนะครับ ก่อนกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็น่าจะได้มีโอกาสทำบทเรียนเรื่องดีๆด้วยกันไว้เป็นประสบการณ์และเป็นเครือข่ายวิชาการในแนวนี้ด้วยกันกับคนพุทธมณฑลในอนาคตได้นะครับ

คิดถึงพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ และกัลยาณมิตรทุกคน คิดถึงข้าวห่อใบบัว คิดถึงความทรงจำดีๆร่วมกัน คิดถึงชีวเกษม......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท