ขันธ์ดับมิใช่ขันธ์แตก


ขันธ์ดับมิใช่ขันธ์แตก

ข้อมูลในการเรียบเรียง  :  ธรรมบัญชา  โดย  บัญช์  บงกช



“...ก็มรณะ...ความแตกแห่งขันธ์”

พุทธพจน์ทรงกล่าวเช่นนั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  “แตก”  แปลว่าแยกออกจากส่วนรวม  ความแตกแห่งขันธ์  หรือขันธ์แตก  จึงแปลว่า รูป  เวทนา  สัญญา สังขาร  วิญญาณ  แยกออกจากกันซึ่งเรียกว่า  “ตาย”  เหล่าสัตว์เมื่อตายแล้วกรรมไม่ดับ  ยังเหลือเชื้อกิเลสอยู่แพร่ออกไปถูกเกาะเกี่ยวด้วยธาตุรู้เป็นวิญญาณใหม่ปฏิสนธิขึ้นไปเกิดในภพใหม่อีก   เวียนว่ายอยู่เช่นนี้ไม่รู้จบ  ส่วนคำว่า  “ดับ”  แปลว่าสูญสิ้นไป  เช่นวิญญาณดับ  ถ้าใช้กับพระพุทธเจ้าก็เท่ากับดับวิญญาณขันธ์ให้สูญสิ้นไป  ไม่มีกรรม  หมดเชื้อกิเลส  ไม่เกิดในภพใหม่อีก  เป็นการดับรอบ  คือปรินิพพาน  ซึ่งแตกต่างจากการตายที่จะต้องมีการเกิดเป็นของคู่กันเสมอไป



พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะกิเลสได้เด็ดขาด


กิเลสที่ทรงชนะแล้วไม่ติดตามพระองค์ไปอีก  


พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระสัพพัญญุตญาณหาที่สุดมิได้


ไม่ไปตามทางของกิเลสแล้ว  พวกเธอจะนำท่านไปตามทางไหนเล่า”


(พุทธวจนในธรรมบท  เสถียรพงษ์  วรรณปก)



เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว  ทรงดับกิเลสได้สิ้นแล้ว  ทรงมีพระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวงทั้งที่เป็นอดีต  ปัจจุบันและอนาคต  หาที่สุดมิได้   กิเลสมาร ตามพระองค์ไม่ได้แล้ว  มัจจุมาร   (ความตาย)   ไม่น่าจะตามพระองค์ได้เช่นกัน   เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในที่สุดน่าจะแตกต่างกับความหมายที่แปลว่าความตายของสัตวโลกอย่างตรงกันข้าม   ไม่น่าจะนำท่านมาสู่ความตายอีก

 

ดับวิญญาณคือการดับรอบ



ณ  พระนครสาวัตถี  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ  ในเวทนาธาตุในสัญญาธาตุ  ในสังขารธาตุ   ในวิญญาณธาตุ  เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้  เพราะละความกำหนัดเสียได้  อารมณ์ย่อมขาดสูญ  ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี  วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้นไม่งอกงาม  ไม่แต่งปฏิสนธิหลุดพ้นไป  เพราะหลุดพ้นไปจึงดำรงอยู่  เพราดำรงอยู่จึงยินดีพร้อมเพราะยินดีพร้อมจึงไม่สะดุ้ง  เพราะไม่สะดุ้งย่อมดับรอบเฉพาะตนเธอย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว   กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว”
 



..... เพราะหลุดพ้นไปจึงดำรงอยู่  (อมตนิพพาน)   นิพพานเป็นสิ่งไม่ตาย  ยืนยง  มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง  เป็นการดับรอบจากวัฏสงสารพ้นมาจากวัฏสงสารแล้วไม่กลับไปอีก   จึงแตกต่างกับความหมายที่แปลว่า  “ตาย”   อย่างสิ้นเชิง

มีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่


สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่  ณ  พระวิหารเวฬุวันกลันทินิวาปสถาน  ใกล้พระนครราชคฤห์สมัยนั้น   พระวักกลิกุลบุตรได้อาพาธหนัก   ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า


“มาไปกันเถิดภิกษุทั้งหลาย  เราจะพากันไปยังวิหารกาฬกลิกา ข้างภูเขาอิสิคิริ  ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิบุตรอาพาธอยู่”


ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว   พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังวิหารกาฬกลิกาพร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก  ได้  ทอดพระเนตรเห็นท่านพระวักกลิกุลบุตรนอนคอบิดอยู่บนเตียง  ก็สมัยนั้นปรากฏคล้ายกลุ่มหมอก   กลุ่มควัน   ลอยไปทางทิศบูรพา  ทิศปัจฉิม  ทิศทักษิณ  ทิศเบื้องบน   ทิศเบื้องต่ำ   และอนุทิศ  (ทิศเล็กทิศน้อย)   พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มหมอกกลุ่มควันลอยไปทางทิศทั้งหลายอยู่หรือไม่”


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า


“เห็นพระเจ้าข้า”


พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นั่นแหละคือมาร  (มัจจุมาร)  หยาบช้าค้นหาวิญญาณของวักกลิกกุลบุตรด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกกุลบุตร  ตั้งอยู่  ณ  ที่แห่งไหนหนอ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่  ปรินิพานแล้ว”



พระวักกลิกุลบุตร
 เป็นพระอรหันต์  นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ดับกิเลสดับขันธ์สิ้นแล้ว   มิได้ตายเหมือนสัตวโลก  ซึ่งมาร  (มัจจุราช)   จะค้นหาวิญญาณได้  เพราะเป็นผู้มีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่  ถ้าตายจะมีเชื้อของกิเลสเป็นกรรมแพร่กระจายออกไปให้เป็นที่ตั้งของวิญญาณใหม่เพื่อมารจะค้นพบนำไปปฏิสนธิรับกรรมในภพใดใหม่ได้ปรินิพพาน  หรือนิพพาน  แม้ของพระอรหันต์จึงแตกต่างกับความหมายที่แปลว่าตายของเหล่าสัตว์

เสด็จไปดีแล้ว


พุทธคุณประการหนึ่งใน  9  ข้อ  ของพระพุทธเจ้าคือ  “สุคโต”  แปลว่าเสด็จไปดีแล้ว  คือทรงมีทางเสด็จที่ดีงาม  อันได้แก่อริยมรรค  เสด็จไปสู่ที่ดีงาม  กล่าวคือพระนิพพาน  เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ  กล่าวคือทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว  ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง  ไม่กลับตกจากฐานะที่ทะลุถึง   ทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา
 ไม่เฉเชือนไปในทางผิด  คือกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค  เสด็จไปดีเสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น  เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดีแม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้ายก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัย,  เสด็จผ่านไปแล้วด้วยดี  ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้เพื่อชาวโลกให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาภายหลัง  ทรงมีพระวาจาดี  หรือตรัสโดยชอบ  คือตรัสแต่คำจริงแท้  ประกอบแต่คำจริงแท้   ประกอบด้วยประโยชน์ในกาลที่ควรตรัสและแก่บุคคลที่ควรตรัส


การเสด็จไปดีของพระพุทธเจ้าอันเป็นพุทธคุณที่เรียกว่า  “สุคโต”   คือการเสด็จไปสู่พระนิพพานเป็นสำคัญ   แตกต่างกับ  “สุคติ”   คือการไปสู่ที่ดีที่สัตวโลกซึ่งทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด  ฉะนั้น  การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าจึงแตกต่างกับการตายของสัตวโลกซึ่งตายแล้วไปเกิดในภพที่ดีที่เรียกว่า  “สุคติภพ”  ซึ่งยังอยู่ในวัฏสงสารมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 216002เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เมืองกระดูก

ร่างกายนี้ธรรมชาติสร้างให้เป็นเมืองกระดูก

ฉาบด้วยเนื้อ และโลหิต

เป็นที่สถิตแห่ง ชรา มรณะ

ความเย่อหยิ่ง และความดูถูกบุญคุณกัน”

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นแล้วว่า “รูป” คือขันธ์นี้เป็นเพียงโครงสร้างซึ่งประกอบด้วยเลือดเนื้อและกองกระดูกอันน่ารังเกียจเป็นที่สถิตของความแก่และความตายอันน่าสะพรึงกลัว จึงบำเพ็ญเพียรค้นหาทางหลุดพ้นไปจากเมืองกระดูกนี้เลย เมื่อค้นพบทางหลุดพ้นแล้วได้ทรงสั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์เป็นจำนวนมากให้หลุดพ้นตามไปด้วย แล้วทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานเพื่อหลุดพ้นกองกระดูกเลือดเนื้อความแก่ความตายอย่างสิ้นเชิงในที่สุด เช่นนี้ควรหรือที่จะเรียกว่าการดับขันธปรินิพพานคือการตายของพระพุทธเจ้า อันเป็นความหมายของเหล่าสัตวโลกที่จะเวียนว่ายไปเกิดในเมืองกระดูกอันน่ารังเกียจนั้นอีก

ไม่ตายไม่เกิดอีกแล้ว

“เมื่อตามหานายช่างผู้สร้างเรือนไม่พบ เราได้เวียนว่ายตายเกิดในสงสารนับชาติไม่ถ้วน

การเกิดแล้วเกิดอีกเป็นทุกข์

.....นายช่างเอยบัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก

จันทัน อกไก่ เราทำลายหมดแล้ว

จิตของเราบรรลุนิพพานหมดความทะยานอยากแล้ว

ปฐมพุทธพจน์ เป็นอุทานครั้งแรกที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งด้วยความเบิกบานหลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในขณะนั้น ....ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก (เรือนหมายถึงอัตภาพของพระพุทธทงค์) ... จันทันอกไก่เราทำลายหมดแล้ว (โครงสร้างเรือน หมายถึงอวิชชา)

จิตของเราบรรลุนิพพานหมดความหมายทะยานอยากแล้ว....ทรงรู้ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะในขณะนั้นว่าหลุดพ้นแล้ว พ้นจากการตายเกิดอันน่าเบื่อและจะไม่ตายเกิดอีกต่อไปนับแต่บัดนั้น ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นการดับเพื่อไม่เกิด ควรหรือที่จะเรียกว่าพระพุทธเจ้าตาย

สิ่งที่สัตวโลกขอไม่ได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 5 อย่างเหล่านี้อันสมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้คือ

1. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าได้แก่เลย

2. ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าได้เจ็บไข้เลย

3. ของสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าได้ตายเลย

4. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าได้สิ้นไปเลย

5. ขอสิ่งที่มีความพินาศไปเป็นธรรมดา อย่าได้พินาศไปเลย

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 5 อย่างเหล่านี้แล อันสมณะ หรือ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้”

-->> ในสงสารวัฏ หรือโลกสงสาร สัตวโลกต่าง ๆ จะพึงขอมิให้แก่ มิให้เจ็บ มิให้ตาย มิให้สิ้น มิให้พินาศ ไม่พึงได้ สัตวโลกทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เช่นนั้นอย่างแน่นอนไม่เป็นอย่างอื่น เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงทราบแล้วได้ค้นหาวิธีที่จะทำให้ไม่เป็นไปเช่นนั้น และได้ทรงพบวิธีแล้วคือโดยการประพฤติปฏิบัติตนให้พ้นออกมาจากโลกสงสารหรือสงสารวัฏนั้นเสียและทรงประพฤติปฏิบัติได้สำเร็จแล้วขณะที่ตรัสรู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นฐานะทั้ง 5 รวมถึงฐานะข้อ 3 สิ่งที่ความตายเป็นธรรมดา (คือตายแล้วเกิดอีก) ขอไม่ให้ตายไม่ได้

-->> พระพุทธองค์ทรงหลุดพ้นจากความตายแล้วเกิดอีกนับแต่ขณะตรัสรู้ ทรงเป็นผู้ไม่เกิดต่อไป ต่อมาเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานควรหรือจะเรียกการดับขันธปรินิพพานหรือปรินิพพานว่าตายเช่นฐานะในข้อที่ 3 ดังกล่าว

แตก....ดับ

สมัยนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กูฎาคารศาลาในป่ามหาวันใกล้เมืองเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี

พระสุทินน์ กลันทบุตร ได้ก่อเสนียดขึ้นในโลกขณะที่เป็นภิกษุในพระสมณโคดมทนการอ้อนวอนของโยมมารดาบิดาไม่ได้ในการที่ขอให้พระสุทินน์ ให้พืชพันธุ์ (ลูก) ไว้เป็นผู้รับมรดกเพื่อเป็นทางแก้ไม่ให้พวกเจ้าลิจฉวีริบทรัพย์มหาสมบัติเนื่องจากหาผู้สืบสกุลรับมรดกมิได้ จึงจูงแขนปุราณทุติยิกา (ภรรยาก่อนออกบวช) เข้าป่ามหาวันให้มรรยาทของคนคู่ (เสพเมถุน) เป็นไปในปุราณทุติยิกา 3 ครั้งในป่านั้น ซึ่งต่อมาภรรยาก่อนบวชก็ตั้งครรภ์เพราะอัชฌาจารนั้น ต่อมาพระพุทธองค์ทรงทราบจึงเรียกประชุมสงฆ์ เพราะเหตุดังกล่าว ทรงสอบถามพระสุทินน์ว่า

“ดูก่อนสุทินน์ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกาจริงหรือ”

“จริงพระเจ้าข้า”

เห็นเป็นกาลอันสมควรที่จะทรงธรรมกถา และบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้ โดยเหตุแรกที่ภิกษุสุทินน์ได้ก่อขึ้นเป็นอสัทธรรมควรแก่การตำหนิติเตียนเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างตอไป

“ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สมไม่ควรไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไมได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้วไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า

ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยายเพื่อคลายความกำหนัดไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพรากไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่นไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัดเธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยายเพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่ง วัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะมิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดยอเนกปริยายมิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากอสรพิษที่มีพิษร้ายยังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคาม (ผู้หญิง) ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากงูเห่ายังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย

เพราะ....บุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้นพึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแต่ตายซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย[b]เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไปไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาติ นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้นเบื้องหน้าแต่แตกกายตายไปพึงเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ

ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีโทษอยู่เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรมอันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำอันชั่ว หยาบมีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสและเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการคือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ 1

เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ 1

เพื่อข่มบุคคล ผู้เก้อยาก 1

เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก 1

เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน 1

เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต 1

เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 1

เพื่อความเสื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว 1

เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม 1

เพื่อถือตามพระวินัย 1

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้

1. ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้ เป็นพระปฐมบัญญัติ (พระวินัยข้อแรก) และปฐมปาราชิก (ปาราชิกข้อแรก)[/b]

เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป (ความแตกแห่งขันธ์) พึงเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นความตายของสัตวโลกที่จะไปเกิดในทุคติดังกล่าวเหล่านั้น ซึ่งเป็นความตายที่เรียกว่า “ขันธ์แตก” หรือแม้จะตายไปเกิดในสวรรค์ก็ใช้คำว่า “แตกกายตายไป” เช่นกันดังตัวอย่าง...

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้หายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นดาวดึงส์จำนวนมากเข้ามาหาอภิวาท ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะเทวดาว่า

“ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่าแม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั่น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงสุดติโลกสวรรค์ การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม .... ในพระสงฆ์..... เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ....ในพระสงฆ์ .....สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

เทวดาทั้งหลายได้ฟังแล้วต่างก็อนุโมทนาสาธุการ ยินดีเห็นชอบตามคำกล่าวของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ต่างกล่าวตามว่า

“ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นในพระพุทธเจ้า....ในพระธรรม...ในพระสงฆ์เป็นความดีแล การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด....เป็นไปเพื่อสมาธิเป็นความดีแล ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เพราเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ...ในพระธรรม....ในพระสงฆ์....การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือตายแล้วไปเกิดในสวรรค์หรือในชั้นพรหมก็ล้วนแต่แตกกายตายไปเกิดทั้งนั้นเพราะเป็นการตายในวัฏสงสาร ขันธ์ 5 แตกแยกสลายทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกทั้งสิ้น แต่กิเลสอันเป็นตัวเชื้อแห่งกรรมมิได้ดับไป ไปเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณใหม่ปฏิสนธิในภพใหม่อีกตามกรรมดีกรรมชั่วที่จะชักนำ ถ้ามีกรรมดีชักนำก็จะเกิดในมนุษย์ สวรรค์พรหม ถ้ากรรมชั่วชักนำก็จะเกิดเป็นเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์ นรก วนไปเวียนมาอยู่เช่นนั้นมิรู้จบจนกว่าจะหลุดพ้นออกไปจากวัฏสงสารด้วยวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนไว้เป็นจำนวนมากเมื่อนั้นจึงจะเรียกว่าดับขันธ์ หรือขันธ์ดับ คือดับกิเลสหมดสิ้นแล้วจึงดับขันธ์ในที่สุด ฉะนั้น ดับขันธปรินิพพานจึงไม่ใช่ความหมายที่แปลว่าตาย

ทรงดับขันธ์ น่าจะแปลได้ว่าทรงทำให้ขันธ์สูญสิ้นไปเหมือนกับที่ทรงทำให้กิเลสสูญสิ้นไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อตอนตรัสรู้ซึ่งเป็นการดับอวิชชาด้วยปัญญา เป็นความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบขึ้นมาอีก เป็นการดับกิเลสภายในตนซึ่งทำได้ด้วยจิตตน แต่ขันธ์ 5 อันเป็นกองมารเปรียบเทียบกิเลสภายนอกที่มาปรุงแต่งให้ไว้ตอนที่ยังไม่หลุดพ้น (ตั้งแต่เกิด) จะดับยังไม่ได้ ต่อเมื่อถึงเวลา (แก่)อันเป็นไปตามธรรมชาติแห่งมาร ความเจ็บป่วย (เจ็บ) อันเป็นเครื่องมือมารเข้าบีบคั้นเพื่อจะให้ตายแล้วเกิดใหม่อีก ตรงนี้พระพุทธองค์ทรงรู้เท่าทันล่วงหน้าอยู่แล้วจึงทรงดับขันธ์เสียแทนที่จะให้ขันธ์แตกไปตามอำนาจมัจจุราช เป็นดับขันปรินิพานไม่ไปสู่การเกิดในภพตามที่มารต้องการ มารไม่อาจตามหาได้ ทรงพ้นอำนาจมารไปทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นในสมัยพุทธกาลตั้งแต่พระพุทธองค์ได้ประสูติทรงอยู่ในเงื้อมมือมารทั้งหมด จนกระทั่งถึงตรัสรู้แล้วทรงอยู่ในเงื้อมมือมารครึ่งหนึ่ง เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วทรงพ้นเงื้อมมือมารอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะเรียกภาวะ 4 ของพระพุทธเจ้าภาคแรกก็น่าจะเรียกได้ว่า ทรงเกิด ทรงแก่ ทรงเจ็บ และปรินิพพาน ไม่ชอบที่จะเรียกว่า ทรงเกิด ทรงแก่ ทรงเจ็บ ทรงตาย มิใช่หรือ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท