ศรัทธา และ ปัญญา


ศรัทธา และ ปัญญา

คำว่า “ศรัทธา”  ในพุทธศาสนาหมายถึงความเชื่อดังต่อไปนี้


1. ความเชื่อในพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ และความเชื่อในการกระทำและในผลของการกระทำ  เช่นเชื่อว่า  ทำดีได้ดี   ทำชั่วได้ชั่ว ฯลฯ


2.  ความเชื่อมั่นที่เกิดจากปัญญาหรือความมั่นใจ  เช่น   ในทุกกรณีที่ตรัสถึงศรัทธาพระองค์ทรงเน้นรวมถึงปัญญาด้วยเสมอไป


โดยนัยนี้  คำว่า  ศรัทธา-ความเชื่อ
  ตามลักษณะที่  2   ก็คือ   ไวพจน์ของคำว่า   ปัญญานั่นเอง   ซึ่งหมายถึง  ความเชื่อตามที่เข้าใจแล้ว หรือสิ้นสงสัยเพราะเข้าใจ


อนึ่ง  เป็นที่น่าสังเกตว่า   ความเชื่อนั้น  เมื่อแยกออกโดยถือเอาลักษณะการเกิดมี  2  ประเภท  คือ


1. ความเชื่อที่เกิดก่อนการรู้แจ้ง
  เรียกว่า ศรัทธา


2.  ความเชื่อที่เกิดภายหลังการรู้แจ้ง   เรียกว่า  ปัญญา


เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า    หลักพุทธศาสนานั้นตั้งอยู่บนฐาน  คือ  ปัญญา   เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แจ้งความจริงจนสิ้นสงสัยแล้ว   พุทธศาสนาจึงได้เกิดขึ้น   ด้วยเหตุนี้  พุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา  มิใช่เป็นศาสนาแห่งศรัทธา   ดังที่ปรากฏในระบบปรัชญาสายอื่น ๆ    ดังที่ท่านมุสีละกล่าวไว้ว่า  


“ท่านสาวิตถะ  โดยไม่ต้องอาศัยความภักดี  ไม่ต้อง
อาศัยศรัทธาหรือความเชื่อ   ไม่ต้องอาศัยความเห็นหรือ
การเห็นคล้อยตาม ไม่ต้องอาศัยข่าวลือหรือการยอมรับ
ตามประเพณี  ไม่ต้องอาศัยการสังเกตลักษณะภายนอก
ไม่ต้องอาศัยการครุ่นคิดนานาทัศนะ  ข้าพเจ้ารู้และเข้า
ใจได้ว่า      ความดับแห่งสังขาร  (ความคิดปรุงทั้งปวง)  
คือ   นิพพาน”



คำกล่าวนี้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาที่ว่า  เอหิปัสสิกะ
 คือ  จงมาแล้ว  จงเข้าใจ   หรือมาทำความเข้าใจแล้วจึงเชื่อ   มิใช่จงมาแล้วจงเชื่อ  


และว่าผู้ฉลาดมีปัญญาจะเข้าใจได้เฉพาะตน  (ปัจจัตตัง   เวทิตัพโพ  วิญญูหิ)



มีอีกประเด็นหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจ  คือ   ความเชื่อที่ถูกต้องสัมพันธ์กับความจริงอย่างไร?


ประเด็นนี้
 ผู้ศึกษาควรจะเข้าใจทฤษฏีว่าด้วยความจริงที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันและนำมาเปรียบเทียบกับหลักพุทธศาสนา  คือ  ทฤษฏีความจริงตามทัศนะของนักปรัชญาตะวันตก  4  ทฤษฏี  นักปรัชญาตะวันตกได้กล่าวถึงทฤษฏีความจริงไว้  4  ทฤษฏี  คือ


1. ความจริง คือ   ความตรงกันระหว่างความเชื่อที่เกิดจากการรับรู้และสิ่งภายนอก

2.  ความจริง คือ   สิ่งที่นำไปปฏิบัติได้

3. ความจริง คือ   ความสำเร็จ  หรือ    อัตถประโยชน์จากการปฏิบัติ

4.  ความจริง คือ   สิ่งที่พิสูจน์ทดลองได้ด้วยประสบการณ์


ทฤษฏีที่  1
   ความจริงคือความตรงกันระหว่างการรับรู้และสิ่งภายนอก   เสนอโดยนักปรัชญาสายจิตนิยมที่มีความเชื่อว่า   ความจริงส่วนย่อยจะต้องลงรอยกันกับความจริงส่วนรวม  ตัวอย่างเช่น   เราเชื่อว่าดวงอาทิตย์มีความร้อน  เช่นนี้เรียกว่าความเชื่อของเราเป็นความจริงแต่ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์  หรือไม่มีความร้อนจากดวงอาทิตย์   หรือไม่มีทั้งสองอย่าง  ความเชื่อของเราก็เป็นความเท็จ


ทฤษฏีที่  2
 ความจริงคือสิ่งที่ขัดแย้ง   สามารถนำไปปฏิบัติได้   เสนอโดยนักปรัชญาสายปฏิบัตินิยม   อาทิเช่น  วิลเลียม   เจมส์   ชาวอเมริกัน   ที่เน้นว่า  ความรู้  ความเชื่อ   หลักการและทฤษฏีทั้งปวงคือเครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จ  เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดีแก่ผู้ปฏิบัติ  จึงถือว่าเป็นความจริง


ทฤษฏีที่  3
  ความจริงคือความสำเร็จ   หรือความมีประโยชน์  เสนอโดยนักปรัชญาสายจิตนิยม   มีความชื่อว่าความจริงส่วนย่อยจะต้องลงรอยกับความจริงส่วนรวม   ตัวอย่างเช่นทฤษฏีทางคณิตศาสตร์  2+2 = 4,    4 + 4 = 8,    8 + 8 =  16     เลขจำนวนใดลงท้ายด้วย  0  เอา  5  หาร   ย่อมลงตัวเสมอ


ทฤษฏีที่ 4
 ความจริงจะต้องพิสูจน์ทดลองได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเสนอโดยนักการศึกษากลุ่มเวียนนา   โดยได้ประกาศหลักการที่ว่า  สิ่งที่พิสูจน์ทดลองได้ด้วยประสาทสัมผัสเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายและไม่เป็นความจริง

หมายเลขบันทึก: 215999เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ทฤษฏีที่ว่าด้วยความจริง 4 ประการนี้ เป็นหลักการที่พุทธศาสนาได้ประกาศยืนยันมาแล้ว และสมบูรณ์ยิ่งกว่าความคิดของนักปรัชญาในยุคหลัง ซึ่งผู้ศึกษาพอจะพิจารณาเห็นได้จากหลักความจริงทางพุทธศาสนาดังต่อไปนี้

1. หลักความจริงทางพุทธศาสนามีว่า “ชีวิตหลังจากตายแล้วมีอยู่ตราบเท่าที่วิญญาณหรืจิตยังมีกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง คือ พุทธศาสนา มีความเชื่อว่าตายแล้วเกิดใหม่ มีพุทธพจน์ยืนยันถึงเรื่องชาติหน้าหรือการเกิดใหม่ เช่น คนบาปหรือคนชั่ว เมื่อตายแล้ว ย่อมไปเกิดในนรก คนมีบุญหรือคนดีเมื่อตายแล้วย่อมไปเกิดในสวรรค์ การที่ผู้เห็นผิดว่าไม่มีชาติหน้า ชื่อว่ากล่าวคำไม่จริง และชื่อว่าคัดค้านพระอริยเจ้า

นี้คือการประกาศว่า ความจริงคือความตรงกันระหว่างข้อเท็จจริงภายนอกกับความคิด หรือกับความเชื่อภายในจิตใจของบุคคล

นอกจากนี้ พุทธศาสนายังชี้ถึงความตรงกันระหว่างการหยั่งรู้ภายใน (ญาณทัศนะ) กับความจริงภายนอกอีกด้วย ซึ่งเป็นขั้นที่ละเอียดกว่าขั้นประสาทสัมผัส

2. พุทธศาสนาไม่เน้นเฉพาะความลงรอยกันทางทฤษฏีเท่านั้น แต่ยังเน้นถึงความลงรอยกันระหว่างทฤษฏีและภาคปฏิบัติด้วย ปรากฏหลักฐานในสันธกสูตรว่า เป็นไปได้ที่ทฤษฏีไม่ขัดแย้งกัน แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ลงรอยกันได้

3. พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบคำสอนทั้งหมดเหมือนพาหนะหรือเครื่องใช้ เครื่องอาศัยมิใช่มีไว้เพื่อ โอ้อวดหรือเพื่อยึดมั่น แต่มีไว้เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ข้อแตกต่างระหว่างปรัชญาปฏิบัตินิยมกับพุทธศาสนาก็คือ พุทธศาสนาไม่สนับสนุนหลักการที่ว่า

1. ความจริงทุกอย่างจะต้องมีประโยชน์ หรือ

2. ความมีประโยชน์ทุกอย่างคือความจริง แต่พุทธศาสนาเน้นว่า ความจริงจะต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ประสบการณ์สามัญ หรือประสบการณ์พิเศษ สามารถนำไปปฏิบัติได้และก่อให้เกิดผลจากการปฏิบัตินั้นตามวัตถุประสงค์

3. หลักการที่ว่า สิ่งที่พิสูจน์ได้เท่านั้นคือความจริง พุทธศาสนาได้ประกาศไว้นานแล้ว เป็นเวลา 2,500 ปี

ดังนั้น ความจริงตามหลักพุทธศาสนาจะต้องมีลักษณะดังนี้

1. มีเหตุผล (สนิทานัง)

2. พิสูจน์ทดลองได้ (เอหิปัสสิกะ)

3. เป็นที่ยอมกันโดยผู้รู้ทั้งหลาย (เวทิตัพโพ วิญญูหิ)

4. เป็นความจริงสากลตลอดไป ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (อกาลิกะ)

เพื่อความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจน ควรศึกษาหลัก 10 ประการที่บุคคล ไม่ควรเชื่อ ซึ่งปรากฏใน กาลามสูตร อันเป็นสูตรที่แสดงถึงเสรีภาพทางความคิดที่ไม่เคยมีปรากฏในที่ใดเลยในประวัติศาสตร์ศาสนาของโลก เสรีภาพดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความรอดพ้นของบุคคลขึ้นอยู่กับการรู้แจ้งความจริงด้วยตัวของเขาเอง มิใช่ด้วยอาศัยการดลบันดาลหรือประสาทพรจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อภินิหารภายนอก

คำกล่าวนี้ปรากฏชัดแจ้งในพุทธพจน์ที่ตรัสกับชาวกาลามะถึงวิธีการขจัดความสงสัยและปลูกฝังความเชื่อมั่นในตนเอง โดยประกาศหลัก 10 ประการ คือ

1. อย่าด่วนเชื่อเพราะฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)

2. อย่าด่วนเชื่อเพราะการยึดถือสืบ ๆ กันมา (ปรัมปรา)

3. อย่าด่วนเชื่อเพราะตื่นข่าวลือ (โฆษณาชวนเชื่อ ) (อิติกิรา)

4. อย่าด่วนเชื่อเพราะมีในคัมภีร์หรือตำรา (ปิฏกสัมปทาน)

5. อย่าด่วนเชื่อโดยการนึกเดาเอา (ตักกะ- ตรรกวิทยา)

6. อย่าด่วนเชื่อโดยการคาดคะเน (นยะ)

7. อย่าด่วนเชื่อโดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)

8. อย่าด่วนเชื่อเพราะตรงกับหรือเข้ากันได้กับทัศนะของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)

9. อย่าด่วนเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)

10. อย่าด่วนเชื่อเพราะเห็นว่า สมณะผู้นี้ หรือครู- อาจารย์ผู้นี้ เป็นครู-อาจารย์ ของเรา (สมโณโนครูติ)

หลัก 10 ประการที่ปรากฏในกาลามสูตรนี้ แม้ว่าจะชี้ถึงในแง่ไม่ให้ด่วนเชื่อสิ่งใด ๆ ด้วยเหตุทั้ง 10 ประการดังกล่าว แต่ความก็โยงถึงการไม่ด่วนปฏิเสธในทันทีเช่นเดียวกันนั่นคือ ทรงเน้นให้ใช้กับหลักสติปัญญาและการพิสูจน์ทดลองด้วยตนเอง ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า “เมื่อพวกเธอรู้ เมื่อพวกเธอเข้าใจด้วยตนเองว่า อะไรเป็นกุศลเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีโทษผู้รู้สรรเสริญทำแล้วได้รับประโยชน์และความสุขก็ควรยอมรับและปฏิบัติตามสิ่งนั้นและสิ่งนั้นคือ...

1. ความไม่โลภ

2. ความไม่โกรธ

3. ความไม่งมงาย”

ส่วนในจังกีสูตร นั้น ได้ระบุออกมาอย่างชัดแจ้งว่า ความเชื่อก็ดี, ความถูกใจหรือชอบใจดี การฟัง (เรียน) ตามกันก็ดี, การคิดตรองตามแนวเหตุผลก็ดี, ความตรงกันหรือความเข้าใจกันได้กับทัศนะของตนก็ดี ทั้งหมดนี้อาจเป็นได้ทั้งถูกและผิดก็ได้ คือ ไม่มีหลักประกันว่าจะถูกหรือผิดโดยส่วนเดียว

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรด่วนสรุปว่าอย่างนี้เท่านั้นถูก อย่างอื่นเหลวไหล คือ ผิด ใช้ ไม่ได้ทั้งสิ้น

เมื่อได้ทราบถึงทัศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่อนักคิดหรือนักปรัชญากลุ่มต่าง ๆ แล้ว ทั้งในเชิงที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ทั้งในเชิงที่เป็นจริงและไม่จริง เพื่อความกระจ่างชัดยิ่ง ควรจะได้ศึกษาบ่อเกิดความรู้ตามแนวความรู้ตามแนวพุทธปรัชญาต่อไป

บ่อเกิดของความรู้ตามแนวพุทธปรัชญา

ตามปกติแล้ว ญาณวิทยาจะกล่าวถึงแหล่งกำเนิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ความสมเหตุสมผลของขอบเขตของความรู้ ตลอดจนถึงการทดลองหรือการพิสูจน์ความรู้

สำหรับพุทธปรัชญามีแหล่งกำเนิดของความรู้พอสรุปได้ดังนี้

1. แหล่งกำเนิดของความรู้ (ประมาณะ) แหล่งกำเนิดของความรู้อย่างกว้างที่สุดมีอยู่ 2 อย่าง คือ

1) ปรโตโฆสะ ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า เสียงจากผู้อื่นหรือการได้ฟังจากผู้อื่น อันได้แก่ประสบการณ์ภายนอก เช่นการศึกษาเล่าเรียน การฟังคำบรรยาย คำสอน การโฆษณาและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นครู ศาสดา คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ฯลฯ

อันสรุปได้ว่า เป็นสภาพแวดล้อม และตัวบุคคล

2) โยนิโสมนสิการ ได้แก่ การพิจารณาด้วยอุบายอันแยบคายซึ่งเป็นวิธีการคิดหาเหตุผลตลอดจนรู้จักวิเคราะห์ วิจารณ์ สืบสวน สอบสวนหาต้นเหตุแยกแยะให้เห็นเหตุปัจจัยหรือความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในขั้นต่ำ หมายถึง การใช้เหตุผลทางตรรกศาสตร์ และในขั้นสูงหมายถึงการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิ จนเกิดความสงบ ทำลายอคติและความรู้สึก อัตวิสัย ต่าง ๆ จนสามารถรู้ความจริงอย่างแท้จริงได้

นอกจากนี้ แหล่งกำเนิดของความรู้ที่ระบุไว้ชัดเจนในพระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ 20 หน้า 241 มีอยู่ 3 แหล่งคือ

1. สุตมยปัญญา ความรู้ที่เกิดจากการฟัง ดังมีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า “ผู้ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา” การฟังนี้รวมถึงความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน หรือการถ่ายทอดสืบต่อกันมา เทียบได้กับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ทางอินทรีย์แบบลัทธิประจักษนิยม (Empiricism)

2. จิตตามยปัญญา ความรู้ที่เกิดจากการคิดหาเหตุผล หรือความรู้ที่เกิดจากคิดอ่านใคร่ครวญหรือตริตรองเหตุผลด้วยตนเอง ดังมีพุทธภาษิตแสดงความตรงกันข้ามว่า “ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ตริตรอง เทียบได้กับความรู้ที่เกิดจากการคิดหาเหตุผลแบบลัทธิเหตุผลนิยม (Rationalism)

3. ภาวนามยปัญญา ความรู้ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมให้เข้าใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดความซาบซึ้งซึมซาบฉับไวขึ้น สามารถลงมือปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างแน่นอน การลงมือศึกษาค้นคว้าอาจเป็นการวิจัยหรือปฏิบัติการ (Operationalism) ซึ่งปัจจุบันนิยมกันอยู่ และการอบรมจิตใจตามแนวสมถะและวิปัสสนา โดยเฉพาะอย่างหลังนี้นำไปสู่ความรู้ที่แท้จริงในที่สุดได้เทียบได้กับความรู้ที่เกิดขึ้นภายในอย่างกระจ่างแจ้ง หรือการหยั่งรู้ของญาณวิทยาตะวันตก (Intuition)

เราจะทราบว่า แหล่งกำเนิดของความรู้ดังกล่าวลักษณะใดควรเชื่อถือหรือนำไปสู่ความจริงได้มากที่สุด จะต้องนำไปเทียบเคียงกับหลัก 10 ประการในกาลามสูตร และแหล่งกำเนิดของความรู้ในจังกีสูตร

ตามนัยนี้ เราอาจกล่าวได้อย่างรวบรัดว่า ในเรื่องสุตมยปัญญาก็ดี จินตามยปัญญาก็ถือได้เป็นแหล่งกำเนิดของความรู้ แต่มิใช่สิ่งนี้เท่านั้น จะต้องเสริมด้วยภาวนามยปัญญา ซึ่งในความหมายหนึ่งนำไปสู่อภิญญาหรือญาณ จึงจะทำให้บรรลุความจริงที่สมบูรณ์

ระดับความรู้

ระดับของความรู้ตามที่พุทธปรัชญาได้แบ่งไว้นั้น มีหลายระดับตามความรู้หรือการรับรู้ของบุคคลต่อโลกภายนอกหรือภายในแล้วแต่กรณี ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. ความรู้ระดับวิญญาณ (Consciousness) ได้แก่ การรับรู้ทางอินทรีย์ ทั้ง 6 เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นความรู้ระดับพื้นฐาน คือ เป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อได้เห็น ฟัง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ แล้วแต่กรณี และยังทำหน้าที่คอยรับรู้ กิจกรรมทุกอย่างของจิตด้วย

2. ความรู้ระดับสัญญา (Perception) คือ ความรู้ที่เกิดจากการกำหนดหมายบันทึกไว้ หรือจำไว้เป็นวัตถุดิบของความคิดต่อ ๆ ไป ทำให้มีการรู้จัก จำได้ รู้ เข้าใจ และคิดได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

3. ความรู้ระดับทฤษฏี (Dogmatism) ได้แก่ ความเข้าใจตามแนวความคิดของตนเป็นความรู้ที่สรุปลงเป็นความเห็นหรือทฤษฏี (ทัศนะ) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเทียบได้กับทฤษฏีทางปรัชญาทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความคิดที่ได้กลั่นกรองจนสรุปเข้าไว้เป็นของตนแล้วไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม

4. ความรู้ระดับญาณ, ปัญญาหรืออภิญญา (Intuitive insight ) ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากการหยั่งรู้ เป็นความรู้บริสุทธิ์ เป็นเช่นกับแสงสว่างที่ผุดแจ้งกระจ่างขึ้น ทำให้มองเห็นธรรมชาติอันแท้จริงของสิ่งนั้น ๆ ตามที่มันเป็นจริง โดยไม่มีทัศนะส่วนตนหรือเหตุผลส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง

ความรู้ระดับนี้แตกต่างจากความรู้แบบทฤษฏีที่ยึดถือกันและอิงเหตุผล ส่วนความรู้แบบญาณนี้ออกไปสัมผัสกับตัวสภาวะ คือ ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่มีอยู่โดยตรง ความรู้ระดับนี้น่าจะตรงกับความรู้ที่เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เรียกว่า ความรู้โดยการคุ้นเคย (Knowledge by acquaintance)

ส่วนความรู้นอกจากนี้เป็นความรู้โดยการบรรยาย(Knowledge by deseription)

ดังนั้น ความรู้ระดับญาณหรือปัญญานี้ จึงเป็นความรู้ระดับสูงสุด หรือระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์ ซึ่งมีผลทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของเขาโดยสิ้นเชิง ซึ่งถือว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธปรัชญา

ถูกต้องแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท