บทเรียนการสกัดขุมความรู้ของ สคส.


         วันที่  ๓  สิงหาคม ๒๕๔๘  สคส. มีการประชุม Weekly  โดยวาระหนึ่งของการประชุมครั้งนี้ คือ การ AAR  ประชุมวิชาการการจัดการความรู้ ครั้งที่ ๑๗  เรื่อง  การจัดการความรู้ในวงราชการไทย : ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘  กรกฎาคม ๒๕๔๘  ณ โรงแรมเอเชีย  โดยทุกคนเห็นว่า เป็นการจัดประชุมวิชาการที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง  มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก  (๑๐๐  คน)  กรณีศึกษาที่เชิญมาแลกเปลี่ยนทั้ง ๖  กรณี  ก็เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดี  แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัด  ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่มีโอกาสที่จะซักถามวิทยากรจากกรณีศึกษาทั้ง ๖  กรณีได้  แต่ในตอนท้ายได้มีการเปิดช่วง AAR  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้พูดแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น  ความคาดหวังต่อการประชุมครั้งนี้  ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการประชุมวิชาการด้านการจัดการความรู้ของ สคส.  เช่นเดียวกัน 
แต่สำหรับไฮไลต์ของบันทึกฉบับนี้ จะเน้นการบอกเล่าถึงบทเรียนการสกัดขุมความรู้ของทีมคุณลิขิตจาก สคส. มากกว่า  ซึ่งทีมสกัดความรู้มี ๒ ทีมๆ ละ ๒  คน  ผลัดกันทำหน้าที่ (เพราะจะได้มีเวลาปรับแต่ง, ถอด, ดึงขุมความรู้ของแต่ละกรณีศึกษาที่รับผิดชอบได้)  โดยภารกิจหลักของทีมคุณลิขิต  คือ  การบันทึกเรื่องเล่า และถอดหรือดึงขุมความรู้จากเรื่องเล่าออกมา  โดยมีการวางแผนว่าจะต้องดึงขุมความรู้จากเรื่องเล่าของแต่ละกรณีศึกษา  ๒  ชั้น  คือ  ชั้นแรกเป็นขุมความรู้ที่ทำให้งานชิ้นนั้นๆ ประสบความสำเร็จ  และชั้นที่สองเป็นขุมความรู้ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ  (โดยให้แต่ละคู่ไปวางแผนออกแบบการทำงานในรายะเอียดกันเอาเอง)    
         โดยทีมคุณลิขิตทั้ง ๒  ทีม เปิดใจว่า  การปฏิบัติจริงๆ  ตามแผนหรือโจทย์ที่วางไว้ค่อนข้างจะทำได้ยาก  เนื่องจากวิทยากรจะเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ  และขุมความรู้ทั้ง ๒  ส่วนก็ผสมปนเปคละเคล้ากันไปในเรื่องเล่านั้นๆ  แต่ทีมสกัดขุมความรู้แต่ละคู่ก็จะมีวิธีแก้ปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความถนัดและเหมาะสมกับแต่ละคู่  แต่ส่วนที่คล้ายๆ กัน คือ ใช้วิธีการแบ่งหน้าที่ในทีม คือ  คนหนึ่งพิมพ์บันทึกเรื่องเล่าอย่างเดียว  ยังไม่ต้องใส่ใจในประเด็นขุมความรู้  ส่วนอีกคนก็จะฟังและจับประเด็นต่างๆ  ออกมาก่อน เมื่อจบการนำเสนอของแต่ละกรณีศึกษาที่รับผิดชอบ  ก็จะมาพูดคุย,แลกเปลี่ยน, ถอดและเชื่อมโยงประเด็นขุมความรู้ร่วมกัน  รวมทั้งแยกขุมความรู้เป็น ๒  ส่วนดังกล่าวในภายหลัง  ซึ่ง อ.วิจารณ์  ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า  การทำงานเช่นนี้ เป็นการฝึกทักษะการทำงานในเวลาที่จำกัด และทักษะการจับประเด็น  ซึ่งจุดใหญ่ของการจับประเด็น คือ ต้องจับประเด็นให้ได้แบบไม่ตกหล่น  และต้องจับคู่เชื่อมโยงแต่ละประเด็นให้ดี 
          นอกจากนั้น ที่ประชุม ยังได้เสนอว่า  การจะจัดประชุมแบบนี้ ในครั้งต่อๆ ไป  ควรจะลดจำนวนกรณีศึกษาลง  และจัดให้มีช่วงเวลาในการแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น  และหากนำเสนอจบแต่ละกรณีศึกษา ก็ควรจะมีการนำเสนอขุมความรู้และการซักถามในแต่ละกรณีศึกษาไปเลย  ส่วนการ AAR  ในการประชุมไม่จำเป็นต้อง AAR  ทุกคน  (ส่วนความรู้สึกของคุณลิขิตและเบื้องหลังจากเตรียมงาน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Link ความรู้สึกคุณลิขิต  และ  Link เบื้องหลังจากเตรียมงาน )
         ซึ่งสิ่งสำคัญที่พวกเรา สคส. ได้เรียนรู้จากการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการด้านการจัดการความรู้ในครั้งนี้คือ  การได้ที่เราได้เรียนรู้และฝึกทักษะการฟังและการจับประเด็นท่ามกลางสถานการณ์และเวลาที่บีบคั้น  เหมือนกับได้ฝึกซ้อมออกศึกในสมรภูมิรบจริงอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียวค่ะ
         เห็นไหมค่ะว่า  สคส.  ได้บทเรียนจากการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ทุกครั้งไป   ซึ่งบทเรียนในแต่ละครั้งก็จะใช้ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมหรือการดำเนินการจัดการความรู้ครั้งต่อๆ ไปได้เป็นอย่างดี 
         ใครมีประสบการณ์หรือบทเรียนดีๆ  ในการจัดกิจกรรมด้านการจัดการความรู้ บันทึกหรือเล่าเรื่องเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันบ้างก็จะดีไม่น้อยค่ะ
หมายเลขบันทึก: 2157เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2005 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามความเข้าใจของผม การสกัด ขุมความรู้ ๒ ชั้น หมายถึง

 ๑. ขุมความรู้เพื่อการทำ KM ได้สำเร็จ

 ๒. ขุมความรู้เพื่อการทำงานนั้นๆสำเร็จ

 

ยังไม่มีข้อคิดเห็น  แต่อยากถามผู้มีประสบการณ์ในฐานนะมือใหม่กำลังจะหัดขับ(ทำKM)  ว่า หากทั้งทีมที่รวมตัวกันยังไม่เคยทำมาก่อน เราจะเริ่มอย่างไรดี  จำเป็นต้องมีการกำหนดองค์ประกอบของเรื่องที่เราจะทำมาก่อนหรือไม่ หรือมาคิดร่วมกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท