KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 588-2. การจัดการความรู้ด้านการศึกษา


KM ด้านการศึกษาต้องมีจุดศูนย์กลางของเป้าหมายอยู่ที่การเรียนรู้ของนักเรียน หรือเป็น KM ครูเพื่อศิษย์ นั่นเอง

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 588-2. การจัดการความรู้ด้านการศึกษา

 

สกว. นัดประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทางของ โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ในวันที่ ๕ พ.ย. ๕๑   โดยส่งเอกสารรายงานฉบับสมบูรณ์มาให้ล่วงหน้าเป็นเดือน    ผมจึงได้มีโอกาสอ่านรายงานนี้และถามตัวเองว่า KM ด้านการศึกษาเพื่ออะไร

คำตอบของผม (ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก) คือ    เพื่อนักเรียน    ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า  ตามรายงานนี้    โครงการดำเนินการนำร่องใน ๗๘ โรงเรียน และ ๑๗ สพท.    หลัง ๒ ปี ๓ เดือน   เกิดผลคือ KM ขยายเข้าไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗ เขต จำนวน ๑,๖๘๗ โรงเรียน  

ผมพยายามอ่านรายงานเพื่อค้นหาผลของโครงการต่อนักเรียน   พบรายงานดังนี้

ประสิทธิภาพของโรงเรียนเป้าหมายในการจัดการความรู้ให้กับนักเรียน พบว่า มีการมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนใน 9 เรื่อง ดังนี้ การแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านการอ่านและการเขียนของนักเรียน  การวิจัยในชั้นเรียน การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของครูเฉพาะด้าน การพัฒนาสมรรถนะของครูด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  การพัฒนางานตามทิศทางของสถานศึกษา  การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้  การพัฒนาการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  การพัฒนาการจัดประสบการณ์เรียนรู้ และการพัฒนางานชุมชนสัมพันธ์

ผลที่เกิดจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน พบว่า ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้แก่ นักเรียนที่มีปัญหาได้รับความช่วยเหลือ นักเรียนมีช่องทางการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และนักเรียนได้รับการยกย่องชื่นชม  ผลที่เกิดขึ้นกับครู ได้แก่  ครูทุกกลุ่มมีสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน  ครูกับนักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์  ครูในโรงเรียนเป้าหมายหลายแห่งมีการวิจัยในชั้นเรียน  และมีการนำแบบปฏิบัติที่ดีของครูมาต่อยอดให้ครูคนอื่นๆ ใช้งาน  สำหรับผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ เกิดนวัตกรรมการจัดการความรู้ และมีนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เกิดจากการจัดการความรู้  ส่วนผลที่เกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ของโรงเรียนและชุมชน ได้แก่ การมีกิจกรรมการกีฬา การร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาจัดการเรียนรู้ของนักเรียน 

จึงขอเสนอต่อ สกว.   สกศ.  และทีมงานของโครงการ    ว่าน่าจะหา Best Practice การใช้ KM ในโรงเรียนที่ก่อผลดีต่อนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม    ให้ครูเจ้าของเรื่อง  และนักเรียนที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เป็นผู้เล่าเรื่อง    จัดพิมพ์เผยแพร่ และนำขึ้นเว็บไซต์ และ/หรือ บล็อก

ผมขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวในภาพรวมของโครงการ    ว่าที่ผ่านมาเราอาจเน้นที่ การจัดการความรู้ มากไป    เน้นที่ตัวนักเรียนน้อยไป   ที่จริงการจัดการความรู้ในโรงเรียนมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน    การวัดผลของการจัดการความรู้จึงควรวัดที่ผู้รับผล คือนักเรียน เป็นหลัก

ผมอยากให้มีการรวบรวมข้อมูลและสรุปว่า    การใช้ KM แบบไหน ที่เกิดผลต่อนักเรียนมากอย่างน่าพอใจ    การใช้ KM แบบไหน ไม่ค่อยมีผลดีต่อนักเรียน

ผมเพิ่งมานึกออกทีหลัง หลังจากโครงการ EdKM ดำเนินการไปแล้ว    ว่า KM ด้านการศึกษาต้องมีจุดศูนย์กลางของเป้าหมายอยู่ที่การเรียนรู้ของนักเรียน    หรือเป็น KM ครูเพื่อศิษย์ นั่นเอง     และเครือข่าย EdKM ควรพิจารณาใช้เครื่องมือ ตารางแห่งอิสรภาพ

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๕๑

 

                   

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 215687เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เข้าใจว่าเป้นโครงการที่ ดร. เลขา อัจฉริยะ ดร. ทัศนีย์ทำใช่ไหมครับ

กราบเรียนคุณหมอวิจารณ์ที่เคารพอย่างสูงค่ะ

ก่อนอื่น ขออนุญาตกราบเรียนว่า หลังจากได้รับการอบรม ประชุมปฏิบัติการ "ครูวิทย์ในดวงใจ" แล้วนั้น ด้วยปัจจัยและเหตุผลหลายประการ ที่ไม่สามารถดำเนินการในการ postในwebsite ได้ จึงเป็นแต่เพียงผู้บริโภคข่าวสารค่ะ

ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม จึงมีเวลาเข้ามาศึกษา website ใหม่ และก็พบข้อความในหมวดหมู่นี้ น่าสนใจมากค่ะ เพราะมีผลกระทบโดยตรง จึงขออนุญาตรายงานความเคลื่อนไหว ผลจากการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ KM และการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และวิชาชีพ

คุณครูหลายท่าน ที่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ แล้วพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับการดำเนินชิวิต ก็ได้ใช้กระบวนการของ KM โดยไม่รู้ตัว เช่น ที่ทำงาน จะมีกลุ่มอาจารย์ที่รักสุนัขเป็นชีวิตจิตใจ และเลี้ยงดูเหมือนสมาชิกในครอบครัว ได้มีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการเสมอและได้บอกเคล็ดลับในการดูแล การให้อาหาร การฝึก การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การให้ความใกล้ชิดกับสุนัขด้วยวิธีต่างๆ บางครั้งนานๆที ในโอกาสที่มีการสังสรรค์กัน กลุ่มที่คุยกันก็จะค่อนข้างใหญ่หน่อย ก้จะมีผู้ฟังหลายคน เกิดความสนุกสนาน และได้ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นกลับไป ผู้เลี้ยงมือใหม่ก็จะได้เรียนลัดเทคนิคใหม่ๆในการรับมือกับสุนัขตัวโปรด เป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งนะคะ คือ ณ เวลานี้ ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ด้วยอายุขัย ของประชากรที่เพิ่มขึ้น อาจารย์หลายท่าน ต้องดูแลบุพพาการี ซึ่งชราภาพแล้ว บางท่านก็ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ บางท่านต้องนอนตลอดเวลา ก็อาจมีแผลกดทับ บางท่านไม่มีฟันที่จะบดเคี้ยว บางท่านมีอาการของสมองเสื่อม เหล่านี้เป็นต้น บรรดาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ ก็จะมาเล่าวิธีการดูแลท่านเหล่านั้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ จิตวิทยาทีต้องนำมาใช้กับผู้สูงอายุ เทคนิคการเตรียมอาหาร แม้กระทั่งเครื่องนุ่งห่มควรใส่ประเภทไหนถึงจะสะดวกค่ะ

ในส่วนของงานการสอน ในกลุ่มของอาจารย์ที่มีความรับผิดชอบสูง ก้มักจะหาโอกาสอย่างไม่เป็นทางการ พูดคุยถึงปัญหานักเรียน และหาแนวทางการแก้ไขอย่างสมำเสมอ

หากสถานศึกษาได้ให้เวลาในการพบปะของครูเพื่อสร้างสรรค์งานวิชาการมากกว่านี้ (ภาระงานครูที้งหนักและมากค่ะ) ครูก็จะใช้เวลาในการพูดคุยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนได้มาก บรรยาการทางวิชาการก็จะเกิดมากขึ้นด้วยค่ะ

ในส่วนตัวของหนูนะคะ ได้นำความรู้ที่ได้รับมาจาก สคส. มาทบทวนดูว่าจะขยายผลอย่างไร โอกาสดีต่างๆได้เข้ามา เช่น

1. การได้นิเทศน์ให้เพื่อนครูกลุ่มเล็กอย่างไม่เป็นทางการ เป็นในลักษณะเชิงรุก ซึ่งใช้ได้กับบางท่านที่ใฝ่รู้ และบุคคลในบ้านค่ะ

2. การนิเทศน์กับครูกลุ่มใหญ่ขึ้น คือกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ในวาระการประชุมพัฒนาบุคคลากร

3. การนิเทศน์และฝึกปฏิบัติกับเพื่อนครูต่างกลุ่ม ต่างสถาบัน ในโครงการเครือข่ายครูวิทย์/คณิต/คอม ของ สสวท. ค่ะ

4. การบันทึกเป็นคู่มือนักปฏิบัติ เรื่อง "เล่าขานการสอนวิทย์ โดยครูมาลัย บึงสว่าง" ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ทุนให้ดำเนินการและเผยแพร่โดย สสวท. อีกเช่นกัน

5. สวทช.ได้ให้โอกาสมาสัมภาษณ์การสอนวิทย์ แล้วคงจะนำไปเผยแพร่ด้วยวิธีใดก็ยังไม่ทราบค่ะ

6. ข้อนี้ กำลังจะดำเนินการค่ะ เป็นเรื่องทีจะคุยกันในกลุ่มครู ว่า ทำอย่างไร จะไม่ให้นักเรียนติด ร แต่ต้องด้วยเทคนิคจริงๆนะคะ ไม่ใช่ด้วยความรักสบายของครู

หรือนโยบายของฝ่ายบริหารตรงๆ ที่ไม่ให้นักเรียนติด ร เพื่อมีตัวเลขแสดง เพื่อให้ผ่านมาตรฐานการประเมินระดับสูง(ดีมาก) ปรากฎการณ์ที่ไม่เหมาะสมจึงเกิดขึ้น กล่าวคือ ตัวเลขที่แสดงผลสำฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจึงสูงมาก GPAก็สูงตาม ครูก็ได้รับการชมเชยจากฝ่ายบริหาร ว่าสอนดี สอนเก่ง ร.ร. ก็ได้หน้าตา ว่าเป็น ร.ร.ทีผ่านการประเมินมาตรฐานระดับสูงมาก ครูที่ดำเนินการตามสภาพจริง ก็ได้รับคำตำหนิว่าไม่ใส่ใจนักเรียน สอนอย่างไร เด็กจึงไม่ผ่าน ผลสุดท้าย เด็กจำนวนไม่น้อยก็ถูกส่งต่อขึ้นไปในสถาบันระดับสูงขึ้น ด้วยสมองกลวง คะแนนสูง ความไม่รู้ ไม่เข้าใจในบทเรียนก็เป็นดินพอกหางหมูขึ้นเรื่อยๆ ผลก็จะไปปรากฎหลักฐานที่พบได้ในสถาบันอุดมศึกษา ตามที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ในเรื่องหลักสูตรของ มอ.น่ะค่ะ

อย่างไรก็ตาม หนูคงต้องดูจังหวะในการขยายผล เพราะ ครูส่วนใหญ่ เข้าตำรา ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา หมายความว่า ถ้าไม่ใช่ไฟลท์บังคับ ก็ไม่อยากทำ เพราะภาระมากจริงๆค่ะ และข้อสำคัญ ถ้าไม่ใช่ตัวบังคับให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตนในด้านการเพิ่มวิทยะฐานะ ก็จะไม่สนใจค่ะ การที่ไปนำเสนอความรู้ตรงนี้ โดยไม่มีเวทีให้ ก็จะถูกลงความเห็นว่า ร้อนวิชาไปซะงั้นค่ะ

แต่ตารบที่ยังอยู่ในวงวิชาการ ก็จะปฎิบัติพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

มาลัย บึงสว่าง

(ป.ล. ขอจบดื้อๆ ก่อนค่ะ วันนี้เป็นวันหยุด ต้องไปทำกับข้าวก่อนค่ะ )

เห็นด้วยกับคุณพี่มาลัยค่ะ

เรียนคุณวิชาญค่ะ

ดิฉันเป็นครูอยู่ที่โคราช ตอนนี้กำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ KM อยู่ค่ะ กำลังเรียนป.โทด้วย

กำลังหาข้อมูลเพื่อที่จะทำ IS อยู่ค่ะ course work ใกล้จะจบแล้วค่ะ

ตอนนี้กำลังเตรียมตัวหาข้อมูลที่จะทำงานและเตรียมตัวสอบ อยากทำเรื่อง

KMในสถานศึกษา (ในโรงเรียนของตนเอง) แต่งานวิจัยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่

ในรูปของการวิจัยเชิงคุณภาพ อย่างได้งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)

อยากขอคำแนะนำจากคุณวิชาญค่ะว่าเข้าไปศึกษาได้ที่ไหนค่ะ

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดงานมหกรรมงานศิลปหัตถกรรมทั่วประเทศ โดยให้ สพท.ของแต่ละจังหวัดคัดนักเรียนในแต่ละจังหวัดเป็นตัวแทน แล้ว ส่งแข่งขันระดับภาค และ ประเทศ ต่อไป ซึ่งการจัดงานนี้มีสาระวิชาการที่จะต้องแข่งขันทั้งหมด 8 สาระ แต่ที่ดิฉันต้องออกมาบ่นด้วยเหตุดังต่อไปนี้

1.สพท.น่าน 1 จัดงานที่ ร.ร ศรีสวัสดิ์วิทยาคาร เท่าที่ทราบจะคัดกันประมาณเดือน พ.ย 51 แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า สพท.น่าน 1 กีดกัน รวมถึง ไม่ยินยอมให้ ร.ร ในสังกัดเอกชนทั้งหมดส่งนักเรียนเข้าแข่งขัน เท่าที่ทราบมีทั้งหมดประมาณ 200 ราย การยินยอมให้เอกชนแข่งเพียง 3 รายการ

2.ดิฉันเคยไปถาม ร.ร ของลูกว่าทำไมโรงเรียนไม่ส่งเข้าแข่งขัน แต่ได้รับคำตอบคือ สพท.น่าน 1 ไม่ยอมให้แข่งขัน

3.ดิฉันเลยถามว่าลูกดิฉันเรียนโรงเรียนเอกชน ไม่ใช่เด็กจังหวัดน่านหรือ สพท.น่าน 1 เขียนนโยบายมาชัดเจนเลยซิว่าจะสนันสนุนโรงเรียนรัฐบาลเท่านั้น ถ้ากล้าเขียนพร่งนี้ดิฉันจะพาลูกไปลาออกจากโรงเรียนเอกชนเลยทันทีค่ะ

http://www.nan2day.com/forum/index.php?topic=930.0

อาจารย์ครับ เรื่องราวทั้งหมดข้างบน เป็นความจริงเกิดขึ้นที่น่าน ปรากฏอยู่ที่เว็ปไซด์ nan2day.com บ้านผมเอง

ในทางความจริง อาจต้องตรวจสอบข้อมูล แต่ถามว่าจะให้ใครตรวจสอบข้อมูลกันเล่า ปัญหาการจัดการศึกษา ผมรู้สึกเห็นใจทุกคน ในขณะเดียวกันมองการณ์ไกลแล้ว ต้องนึกถึงชาติบ้านเมือง เด็ก เยาวชน พลเมืองไทย

รีรออยู่ช้าไปไม่ได้อีกแล้ว ใครทำอะไรก็ต้องทำ ที่สำคัญต้องทำงานกันด้วยใจ และลงมือทำ ไม่ใช่ทำงานด้วยปาก และคนที่ทำงาน ณ จุดใดจุดหนึ่งด้านการศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งต้องหนักแน่น เป็นแบบอย่าง

ด้วยความเคาพเสมอ

ธนู

เรียน นพ.วิจารณ์ ครับ

ในฐานะครู ไม่เคยเรียนรู้ และทำอะไรเกี่ยวกับ KM อย่างเป็นทางการ(วิชาการ)เลย รู้เพียงว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำประสบการณ์ที่ดีของแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ในงาน-ในองค์กร ผมไม่สงสัยเลยว่า ความรู้จากKMการศึกษาที่ควรจะได้นั้น ก็น่าจะเป็นความรู้ที่นำไปใช้พัฒนานักเรียน ทว่าที่สงสัย คือ

1.ครูจะกล้าพูดความจริงของปัญหาหรือ เพราะปัญหามากมายของการศึกษา โดยเฉพาะที่โรงเรียนนั้น มาจากผู้บริหาร หรือ ผู้บังคับบัญชา

 2.ครูจะกล้าพูดความจริงของปัญหาหรือ ถ้าปัญหานั้น มาจากตนเอง

 3.ครูเบื่อแล้วที่จะพูด เพราะพูดไปแล้วตั้งมากมาย ทะเลาะกับใครต่อใคร ก็ไม่เห็นว่าจะดีขึ้นเลย เพราะท้ายที่สุด ครูก็ไม่มีอำนาจจะทำอะไรโดยพลการ หลายคนจึงคิดเพียงว่า"สอนนักเรียนในรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด"แค่นั้น

4.ครูเบื่อแล้วที่จะพูด เพราะถึงอย่างไรโรงเรียนก็ไม่มีเงินจะทำอะไรอยู่ดี โดยเฉพาะเรื่องสื่อการเรียนการสอน

ผมคิดและเขียนเรื่องเหล่านี้ไว้บ้าง รวมทั้ง gotoknow ดังนี้ครับ

1.ความจริง

2.อำนาจกับปัญญา 

3.วัฒนธรรมไทย"อุปสรรค"ของการ"คิดเป็น"

จึงครุ่นคิดเสมอมาว่า KMการศึกษา จะพัฒนาลูกศิษย์ผมได้จริงหรือ?

เคารพอย่างสูง

ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม

เรียน ศาสตราจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

เห็นด้วยอย่างยิ่ง "ครูเพื่อศิษย์" ครูต้องมีจิตมั่นว่าพัฒนาศิษย์วันนี้ก็เพื่อพัฒนาสังคมในวันหน้า ถ้าครูไม่มีจรรยาบรรณ ไร้ศีลธรรม โกหกตัวเอง อวดรู้ ข่มเหงศิษย์ทั้งทางวาจาและพฤติกรรม นั่นหมายถึงกำลังทำร้ายสังคม เพราะเด็กก็จะเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ และเห็นเป็นชอบ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีศีลธรรม โกหก ข่มเหงคนอื่น เต็มบ้านเต็มเมืองในเวลานี้ ครูต้องเป็นแม่แบบ และโคชที่ดีให้กับศิษย์ เป็นให้ดีได้เท่า ๆ กับพ่อแม่ หรือดีกว่าในกรณีที่ศิษย์มีพ่อแม่ก็เหมือนไม่มี

เมื่อมาสัมผัสบรรยากาศที่ Harvard แล้ว อยากนำเฉพาะสิ่งดี ๆ ไปปรับปรุงทั้งครูและศิษย์จังค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งสำหรับแรงบันดาลใจในการมา Harvard ครั้งนี้ค่ะ

ประภาพรรณ จูเจริญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท