พัฒนากลุ่มออมทรัพย์..ยั่งยืนมั่นคง ตอนที่ 1


สร้างกลุ่มออมทรัพย์นั้นยาก แต่รักษาให้ยั่งยืนนั้นยากกว่า

              มีทีมงานถาม...ทำไม่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตถึงหยุดดำเนินการ  ทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มนั้นอยู่อย่างยั่งยืน  ผมตอบว่า"การดำรงอยู่ หรือการจากไปเป็นเรื่องของธรรมชาติ"  แต่เป็นธรรมชาติที่คนสามารถเปลี่ยนแปลงให้การดำรงอยู่..ยั่งยืนได้  เมื่อคนคิดและทำต่อเนื่อง  ที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการการผลิตหยุดดำเนินการ  เพราะคนที่เกี่ยวข้องขาดการคิดและทำอย่างเป็นระบบ  ปล่อยให้กลุ่มพัฒนาตามธรรมชาติ   เป็นธรรมชาติที่ไม่ได้พัฒนา  ก็เท่ากับว่ากลุ่มนั้นถอยหลัง

             ประเด็นคำถามที่ว่า  ระหว่างการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  กับการรักษากลุ่มออมทรัพย์ให้คงอยู่   ประเด็นใดยากง่ายกว่ากัน  ในความคิดเห็นส่วนตัวกับประสบการณ์ที่ทำงานพัฒนากลุ่มออมทรัพย์มา  เห็นว่าการสร้างกลุ่มออมทรัพย์นั้นยาก แต่การรักษาให้ยั่งยืนนั้นยากกว่า

              การสร้างกลุ่มเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนความคิดของคนให้เห็นพ้องต้องกัน  ซึ่งใช้เวลาพอสมควรที่จะสามารถเปลี่ยนความคิดของคนหลายคนให้เป็นความคิดเดียว  และร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกันได้   แต่ถ้ามีข้อมูล  สถานการณ์ และผู้นำที่ดีความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ง่าย

               เมื่อจัดตั้งกลุ่มฯ แล้วการรักษากลุ่มให้คงอยู่นั้นยากกว่ามาก  ใช้เวลาในการพัฒนาที่ยาวกว่า  เป็นการพัฒนาความคิดให้เกิดทักษะในการปฏิบัติ  และทำได้จริง  ภายใต้ข้อจำกัดของคนที่แตกต่างกัน  ต้องอาศัยการเรียนรู้และความตั่งใจที่มุ่งมั่นจึงจะสำเร็จและคงอยู่อย่างยั่งยืน  การพัฒนากลุ่มฯไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่ง  และอยู่ที่คนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

          การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและสมาชิกที่จะต้องร่วมกันคิด  และทำตามที่คิดไว้ให้สำเร็จ  กลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการนั้น  คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์และสมาชิกจะต้องคิดอย่างต่อเนื่อง  และทำตามที่คิดได้สำเร็จ  หลักการคิดง่าย ๆ  คือ  ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร  ปีนี้จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

ในกระบวนการคิดนั้น  ให้คิดทำให้ดีขึ้นและสามารถทำได้สำเร็จด้วยหลักการพึ่งพาตนเอง  สิ่งที่คิด  เมื่อคิดเสร็จให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  กันลืม  และสามารถใช้เป็นหลักฐานในการให้การศึกษาเรียนรู้      แก่บุคคลอื่น  เป็นเอกสารในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ   เอกสารที่ได้  คือ  แผนการพัฒนากลุ่มนั้นเอง

แผนที่ได้จากกระบวนการคิด  เป็นแผนปฎิบัติการประจำปี    ที่คณะกรรมการกลุ่มจะต้องขอความเห็นชอบและให้พันธสัญญากับสมาชิกว่า  ในปีนี้คณะกรรมการกลุ่มจะดำเนินการพัฒนากลุ่มตามแผนที่กำหนดไว้  โดยมีสมาชิกเป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ  ให้แผนดังกล่าวประสบผลสำเร็จ  อาจจะทำเป็น   ป้ายประชาสัมพันธ์ติดไว้ที่ทำการของกลุ่ม   ให้ทุกคนได้เห็น  ทุกคนได้รู้  เป็นการส่งสริมการเรียนรู้ของสมาชิกคณะกรรมการและประชาชนทั่วไปที่สนใจกิจการของกลุ่ม

เวทีการคิดดังกล่าวจนถึงสิ้นสุด  คือ  ช่วยกันพัฒนากลุ่มตามแผนพัฒนากลุ่ม  ให้ประสบผลสำเร็จตามแผนพัฒนากลุ่มที่ได้ช่วยกันคิดไว้  ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกระบวนการโดยใช้เวทีประชาคมเป็นเครื่องมือ  มีอยู่ 5  เวที  ดังนี้

                เวทีที่ 1  เวทีสร้างทีมงาน

                เวทีที่ 2   เวทีสร้างกระบวนการคิด

                เวทีที่ 3  เวทีจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม

                เวทีที่ 4  เวทีรับรอง และปฏิบัติตามแผนพัฒนากลุ่ม

                เวทีที่ 5  เวทีฉลองความสำเร็จ

ในตอนที่ 1 นี้จะนำเสนอเฉพาะเวทีที่ 1 ก่อน  คือเวทีสร้างทีมงาน 

เวทีที่ 1  เวทีสร้างทีมงาน

            เวทีนี้จะต้องเริ่มที่การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง  การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ กับคณะกรรมการและสมาชิกลุ่ม  ต้องเป็นเวทีที่มีทั้งคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่ม ชี้เหตุผลความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากลุ่มให้ก้าวหน้า  ไม่ใช่ประโยชน์ของคนอื่น   เป็นประโยชน์กับคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มทั้งหมด  การพัฒนาส่งผลให้กลุ่มก้าวหน้าและเข้มแข็ง  เมื่อกลุ่มเข้มแข็งผลประโยชน์ก็เป็นของทุกคน  โดยยกตัวอย่างกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ  หรือก้าวหน้าในการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ว่าเขาพัฒนาอย่างไร  เขาคิดอย่างไร  และทำอย่างไร  แล้วเราจะก้าวไปสู่จุดแห่งความภาคภูมิใจได้อย่างไร  เราจะร่วมเดินทางไปสู่ความภาคภูมิในอนาคตด้วยกันหรือไม่

จากการศึกษากลุ่มที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์  พบว่า  คณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์มีกระบวนการคิด  และทำให้กลุ่มก้าวหน้าหรือดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  ใน  4  ด้าน  14  เรื่อง  ดังนี้

1.ด้านโครงสร้างและกระบวนการทำงาน  จำนวน  5  องค์ประกอบ ดังนี้

1.1   คณะกรรมการ

1.2   ระเบียบข้อบังคับ

1.3   สมาชิก

1.4   สถานที่ทำงาน

1.5   กระบวนการทำงาน

2.ด้านการบริหารเงินทุนและทรัพยากร  จำนวน  3  องค์ประกอบ ดังนี้

2.1  การจัดหาเงินทุนและทรัพยากร

2.2   การจัดสรรและใช้ประโยชน์จากเงินทุนและทรัพยากร

2.3   การควบคุมการใช้ประโยชน์จากเงินทุนและทรัพยากร

3.ด้านการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร  จำนวน  3  องค์ประกอบ ดังนี้

3.1 การพัฒนาการเรียนรู้

3.2 การพัฒนาทุนทางสังคม

3.3 การเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรอื่น

4.ด้านผลประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชน  จำนวน  3  องค์ประกอบ ดังนี้

4.1 การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิก

4.2 การแบ่งปันผลประโยชน์ต่อสมาชิก

4.3 การจัดสวัสดิการต่อสมาชิกและชุมชน

                ดังนั้น ถ้ากลุ่มออมทรัพย์จะพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน  จะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ  ทั้ง 4  ด้าน  14  เรื่องให้ประสบผลสำเร็จทุกปี  การคิดไม่ใช่คนหนึ่งคนใดคิด  ไม่ใช่ประธานคิด  ไม่ใช่กรรมการคิด  เราจะช่วยกันคิด  เราที่ว่าก็คือ  คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์และสมาชิก

                เมื่อตั้งใจจะช่วยกันทำแล้ว  วิธีการที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จมี  ลำดับแรกจะต้องช่วยเข้ามาเป็นผู้เริ่มคิด  คือ  เข้ามาเป็นคณะทำงานผู้เริ่มต้นคิด   คณะทำงานดังกล่าวนี้จะมี   14  คณะ  ๆ ละ  3-5  คน  แต่ละคณะประกอบด้วยคณะกรรมการ 1-2  คน  ที่เหลือเป็นสมาชิก  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพของกลุ่ม    ออมทรัพย์ฯในขณะนั้น  คณะทำงานพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ ฯ  จึงต้องมี  14   คณะ  ดังนี้

1. คณะทำงานพัฒนาคณะกรรมการ

2.คณะทำงานพัฒนาระเบียบข้อบังคับกลุ่ม

3.คณะทำงานพัฒนาสมาชิก

4.คณะทำงานพัฒนาสถานที่ทำงาน

5.คณะทำงานพัฒนากระบวนการทำงาน

6.คณะทำงานพัฒนาการจัดหาเงินทุนและทรัพยากร

7.คณะทำงานพัฒนาการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากเงินทุนและทรัพยากร

8.คณะทำงานพัฒนาการควบคุมการใช้ประโยชน์จากเงินทุนและทรัพยากร

9.คณะทำงานพัฒนาการเรียนรู้

10.คณะทำงานพัฒนาทุนทางสังคม

11.คณะทำงานพัฒนา การเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรอื่น

12..คณะทำงานพัฒนาการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิก

13.คณะทำงานพัฒนาการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อสมาชิก

14.คณะทำงานพัฒนา การจัดสวัสดิการต่อสมาชิกและชุมชน

ทีมงานพัฒนากลุ่มจึงมี  14  คณะ  จะเห็นว่ามาก  แต่ดี  ที่บอกว่าดีก็เเพราะว่านี้คือ กระบวนการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน  ที่จะสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของให้เกิดขึ้นกับสมาชิกกลุ่ม  ตอนต่อไปจะนำเสนอเวทีที่ 2 และ 3 ขอบคุณครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 212842เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท