Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๐)_๒


สามเหลี่ยมเขยื้อนชุมชน จัดการความรู้และความร่วมมือ
         พอจับหลักได้ว่าการศึกษาเรียนรู้เป็นหัวใจหลักที่ต้องเริ่มต้น  ดังนั้น ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง จึงทำ 2 เรื่องหลัก คือ 1)ให้ทุกคนได้รู้ในสิ่งที่เขาต้องการจะรู้   และ 2) ให้เขาได้รู้ในสิ่งที่เขาควรจะรู้ ใครคิดจะทำอะไรก็ให้มาผ่านกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้  เพราะหลักสูตรเราก็สร้างพัฒนากันขึ้นมาเองโดยใช้ความร่วมมือกับ กศน. ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้อยู่ทุกหมู่บ้านแต่ไม่ค่อยมีการใช้ เราก็ไปประสานให้มาขึ้นป้ายเป็นศูนย์การเรียนรู้ของกศน.ได้แต่กศน.จะต้องร่วมกันจัดหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนในแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านซึ่ง กศน.ก็ช่วยด้านวิชาการได้เป็นอย่างดีรวมทั้งการช่วยเหลือในการนำความรู้ประสบการณ์ที่ชาวบ้านสามารถเทียบโอนเป็นวุฒิการศึกษาได้   ส่วนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการเรียนนรู้หรือในการฝึกอาชีพที่จะทำให้ชาวบ้านเกิดทักษะอาชีพ  เราจึงไปดึงเอาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรที่มีอยู่เกือบทุกตำบลมาร่วมมือทำการพัฒนาความรู้และอาชีพของคนไม้เรียง จึงเกิดเป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ฝ่าย คือ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง กับ กศน.ที่ทำเรื่องการศึกษา และ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ของ กระทรวงเกษตรฯ เกิดเป็น สามเหลี่ยมเขยื้อนชุมชนไม้เรียงขึ้น
พอเกิดความร่วมมือตรงนี้ก็มาวิเคราะห์ว่าเราต้องทำอย่างไร กระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ต้องเตรียมการอย่างไร หลักสูตรที่ทำออกมาจะแบ่งทฤษฎีกับปฎิบัติอย่างละครึ่ง  เช่น หลักสูตรพัฒนาคุณภาพมังคุด ที่จุดประกายกันขึ้นมาตอนมังคุดมีปัญหาราคาตกจนชาวสวนมังคุดไม่รู้จะทำอย่างไรต้องปล่อยทิ้งหรือกวาดเอาไปทำปุ๋ยหมัก
         ประยงค์ เล่าว่า ตนคลิ๊กเรื่องนี้ขึ้นมาว่าถ้าสามารถเพิ่มมูลค่ามังคุดได้ชาวสวนก็จะมีทางเลือกมากขึ้นไม่ต้องขายมังคุดลูกเพียงอย่างเดียว จึงลองไปหามังคุดมาแล้วจ้างเด็กให้มาแข่งกันกินมังคุดโดยแยกเม็ดกับเปลือกไว้ ทำให้เป็นเกมส์ที่สนุกสนานชาวบ้านมาดู เสร็จแล้วก็บอกว่าเม็ดมังคุดที่เรากินแล้วทิ้งนั้นถ้าเอาไปขายให้ร้านเพาะกล้าไม้ได้กิโลกรัมละเป็นพันบาท ส่วนเปลือกที่เราทิ้งอีกเช่นกันถ้าทำให้แห้งโรงพยาบาลอภัยภูเบศถ์รับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท ชาวสวนก็ตาโต เราก็จุดประกายให้กลับไปคิดว่าถ้าชาวสวนสามารถพัฒนาคุณภาพมังคุดหรือเพิ่มมูลค่าได้ ในปีต่อ ๆ ไปหากมีปัญหาอีกก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ จึงร่วมกันสร้างหลักสูตรพัฒนาคุณภาพมังคุดขึ้น โดย กศน.สนับสนุนด้านวิชาการและวิทยากร ส่วนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรก็สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์  การเรียนการสอนกำหนดหลักสูตร 100 ชั่วโมง และแบ่งทฤษฎีกับปฎิบัติอย่างละครึ่ง เรียนกันตามฤดูกาลผลิต  ตั้งแต่เริ่มตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย เรียนตามหลักวิชาการจริง ๆ เสร็จแล้วก็ลงสวนปฎิบัติจริง แต่ไม่ได้ทำเฉพาะสวนตัวเองแต่จะเวียนไปตามสวนเพื่อน ๆ ด้วย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบบเพื่อนช่วยเพื่อน การทำเช่นนี้ทำให้ผลิตผลมังคุดที่ได้ในรุ่นนั้นของนักเรียนรุ่นแรกทั้ง 32 คน (ที่กล้าลองจากจำนวนชาวสวนมังคุดในตำบลไม้เรียงที่ไม่น้อยกว่า 200 คน) ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีลูกใหญ่รสชาติอร่อย ทำให้สามารถขายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 60 บาท และสามารถส่งไปขายสหรัฐหรือญี่ปุ่นได้ด้วย ทำให้ชาวสวนที่ไม่กล้าตั้งแต่แรกตาโตอยากมาขายด้วย กลุ่มแรกก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องมาผ่านการเรียนรู้หลักสูตร 100 ชั่วโมงนี้ก่อนและต้องได้ใบประกาศจาก กศน.ด้วยจึงจะสามารถมาเข้ากลุ่มด้วยกันได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเงื่อนไขที่อยากให้เขาได้เกิดการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริง ๆ นั่นเอง
         นอกจากการเรียนรู้โรงเรียนมังคุด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง ได้จัดหลักสูตรอาชีพแก่ชาวบ้านอย่างหลากหลายตามความต้องการ และเกิดกลุ่มอาชีพกระจายอยู่ในทุกหมู่บ้านและเป็นการดำเนินการลักษณะพึ่งพิงกันไม่ใช่แข่งขัน ได้แก่ หลักสูตรการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ กลุ่มเกษตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หมู่ที่ 2 ,หลักสูตรการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด กลุ่มเลี้ยงปลา หมู่ที่ 4 ,หลักสูตรการเพาะเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง หมู่ที่ 1 ,หลักสูตรการเพาะเลี้ยงเห็ดด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา กลุ่มเพาะเห็ด หมู่ที่ 5 ,หลักสูตรการเลี้ยงสุกร กลุ่มเลี้ยงสุกร หมู่ที่ 2 , หลักสูตรการผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มสหกรณ์อาหารสัตว์ หมู่ที่ 9 ,หลักสูตรการแปรรูปข้าว กลุ่มทำนาข้าว หมู่ที่ 6 ,หลักสูตรหมอพื้นบ้าน  กลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ หมู่ที่ 8
         ซึ่งกิจกรรมทั้ง 8 หลักสูตรอาชีพรวมเรียกว่า “วิสาหกิจชุมชน”และในแต่ละศูนย์จะมีผู้รับผิดชอบหรือผู้นำ หรือบางทีก็อาจจะมีการขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ให้กับสมาชิกที่มาเรียนรู้ จากนั้นสมาชิกแต่ละคนก็จะแยกย้ายกลับไปทำที่บ้าน เมื่อได้รายได้มาก็จะนำมาฝากกับกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน ที่มีผู้จัดการดูแลเป็นคนในหมู่บ้านทั้งหมด   นอกจากนี้การเรียนรู้ของชุมชนไม้เรียงก็ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของการดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการศึกษาในระบบอีกด้วย โดยทางชุมชนได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กศน. หรือมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ต้องการได้วุฒิการศึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้ามาสอบเทียบหรือศึกษาต่อได้ และปัจจุบันยังมีกลุ่มการเรียนรู้เยาวชน กลุ่มผุ้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และโรงงานน้ำดื่มเข้ามาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของศูนย์ฯด้วย
          “วิสาหกิจชุมชน  เป็นฐานฝึกภาคปฎิบัติ  เราไม่มีกลุ่มนะ เพราะเราไม่คิดจะตั้งกลุ่ม  เราบอกว่ากลุ่มไม่จำเป็นต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับประโยชน์ ร่วมกันรับผิดชอบเสมอไป    กลุ่มเนี่ยที่เราเลี่ยงในการร่วมกันทำ เพราะเราบอกว่า ร่วมกันคิด แล้วไปร่วมกันเรียนรู้  แล้วไปแยกกันทำ  แล้วค่อยมารวมกันขายถ้าผลผลิตมันออกมาเกินพอกิน” ประยงค์กล่าว และว่าตอนที่ไปแยกกันทำ ต่างคนต่างมาเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาคนขึ้นมามีคุณภาพใกล้เคียงกัน แล้วไปแยกกัน คนที่มีความสามารถมากก็ได้ใช้ความสามารถตัวเองเต็มที่ โดยไม่ต้องไปลดลงมาให้เท่ากับคนที่ขี้เกียจในกลุ่ม  แล้วคนที่อ่อนแอถึงไหน ๆ เขาก็อ่อนแอเวลาไปทำส่วนตัวเขาก็ยังอ่อนแออีกนั่นแหละ แต่ผลที่เกิดขึ้นตอนที่เขาเอาผลผลิตมารวมกันขายมันจะเห็นความแตกต่างทันทีว่าคนที่ขยันจะทำได้ดีปริมาณก็เยอะ แต่คนที่ขี้เกียจ คนที่อ่อนแอ ผลผลิตก็ได้น้อยกว่าคุณภาพก็ด้อยกว่า พอเอามาวางมันก็เกิดการเปรียบเทียบ พอเห็นข้อเปรียบเทียบคนที่อ่อนแอก็รู้สึกละอายคนอื่น ในครั้งต่อไปเขาก็จะพัฒนาตนเองขึ้นมา  แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังสู้คนเก่งไม่ได้ และคนเก่งพอเห็นความตั้งใจก็สงสารและเกิดความรู้สึกอยากช่วยเหลือทำให้เกิดการพัฒนาขึ้น

หลักการจัดการความรู้ของชุมชนไม้เรียง
         แนวคิดที่ชุมชนไม้เรียงยึดปฎิบัติคือ  อะไรบ้างที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ และต้องไปแยกกันทำ  อะไรบ้างที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันลงทุน และต้องร่วมกันใช้บริการ  อะไรบ้างที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับประโยชน์ ร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้และร่วมกันทำก็ยังต้องมีเหมือนกัน
         ยกตัวอย่างกลุ่มยางเมื่อก่อนเราร่วมกันคิดร่วมกันเรียนรู้แล้วไปแยกกันทำ แต่พอไปแยกกันทำถึงจะเรียนรู้เรื่องการผลิตยางแผ่นคุณภาพดี อบรมกันแล้วอบรมกันอีก แต่พอไปทำ 20 คน ออกมาเกือบ 20 แบบ ไม่เหมือนกันเลย  ฉะนั้นกลุ่มยางซึ่งมีสมาชิก  176 ครอบครัว  ร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู่แล้วร่วมกันลงทุนเพื่อสร้างเครื่องมือ สร้างโรงงานขึ้นมาแล้วร่วมกันใช้บริการ นั่นคือเอาน้ำยางของแต่ละคนแทนที่ว่ากรีดยางแล้วได้น้ำยางแล้วจะต้องไปทำยางแผ่นเองซึ่งมันยุ่งยากเสียเวลา เอาน้ำยางมาส่งให้กับโรงงานแล้วจ้างเขาทำ ก็กลายเป็นร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันลงทุน แล้วจ้างเขาทำ แล้วก็ใช้บริการ  การจ้างเขาทำเราหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำตรงน้น น้ำยางมาจาก 100 กว่าคนสามารถทำให้เป็นคุณภาพเดียวกัน  
        สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนไม้เรียงคือจะต้องวิเคราะห์กันเป็นเรื่อง ๆ ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนแล้วไปสร้างแนวทางไปป้องกันปัญหาที่สาเหตุ  และต้องมีการทบทวนกันอยู่ตลอด   การจัดการจัดการความรู้ของชุมชนไม้เรียงจึงเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์และการทำจริง ที่มีกระบวนการเรียนรู้อยู่ในทุกเรื่องที่ทำ.

นายประยงค์  รณรงค์
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง
51 หมู่ 9 ตำบลไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช 80260
โทร.075-350-675,01-956-0865

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 20219เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท