Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๐)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๖)

“ไม้เรียง”ชุมชนนักจัดการความรู้
         (โปรย)  กิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายของทั้งเรื่องอาชีพ การศึกษาและการพัฒนาชุมชน ของคนในตำบลไม้เรียง เป็นบรรยากาศคึกคักของการนำความรู้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ โดยมี “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง” เป็นเหมือนตลาดนัดความรู้ให้คนในชุมชนได้มาจับจ่าย   เรียนและรู้จากการทำจริง ไม่ว่าจะทำเดี่ยว ทำกลุ่ม หรือหลาย ๆ กลุ่มทำร่วมกัน จึงเป็นภาพเคลื่อนไหวของการเป็นนักจัดการกับความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความอยู่รอดทั้งของตนและชุมชน

         จะมีสักกี่ชุมชนที่สามารถกำหนดแผนการพัฒนาชุมชนเป็นของตนเอง มีแหล่งเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชนที่อยากรู้เรื่องอะไรก็มาเรียนรู้กันได้ มีกลุ่มอาชีพและกิจกรรมเรียนรู้เกิดขึ้นหลากหลายกระจายอยู่ทั่วไปไม่ซ้ำกันแต่เอื้อประโยชน์และพึ่งพิงกัน   และที่สำคัญคนในชุมชนมีใจใฝ่เรียนรู้สม่ำเสมอ มีสำนึกการพึ่งตนเองสูง
         นั่นคือภาพของชุมชนตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังดนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันที่กิจกรรมเรียนรู้ยังดำเนินไปอย่างคึกคัก  ภายใต้แผนแม่บทชุมชนที่มีโครงสร้างการบริหารและจัดการที่ถูกกำหนดและปฎิบัติอย่างมีแผนงาน โดยคนในชุมชนเพื่อชุมชน  ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือความอยู่ดีมีสุขของคนไม้เรียง มีศูนย์ศึกษาและพัฒนาอาชีพชุมชนไม้เรียงที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และก่อเกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากมายของคนตำบลไม้เรียง และยังพัฒนาเป็นศูนย์วิสาหกิจชุมชน ตลาดชุมชน และศูนย์อะไรอีกหลากหลายที่หลายหน่วยงานเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตำบลไม้เรียงอย่างต่อเนื่อง  และทุกเรื่องราวที่ชุมชนไม้เรียงทำล้วนมีเรื่องราวของการจัดการความรู้แทรกอยู่ทั้งสิ้น

รู้จักชุมชนไม้เรียง
         ตำบลไม้เรียง เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่คนในชุมชนทำอาชีพหลักสามอย่างตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่นั่นคือ ยางพารา สวนผลไม้ และทำนา  ประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน  1593  ครอบครัว  เคยเป็นชุมชนที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อนจะที่ภัยธรรมชาติและผลของการพัฒนาจะทำให้ชุมชนต้องสูญเสียทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหารและอาชีพไปอย่างย่อยยับ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหลายประการ โดยเฉพาะความยากลำบากของการสร้างตัวใหม่ พร้อมกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ชุมชนไม้เรียงทำการจัดการความรู้อย่างไร
         ดังนั้นหากจะดูเรื่องการจัดการความรู้จึงต้องดูจากสิ่งที่ชุมชนไม้เรียงได้ปฏิบัติมา  แต่เป็นการทำไปโดยอัติโนมัติที่มุ่งแก้ไขปัญหาใกล้ตัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน และปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต  ด้วยการค่อย ๆ กระดมสมองคุยกันจากกลุ่มเล็ก ๆ จากปัญหาอาชีพและการทำกิน จนได้ข้อสรุปและการแก้ไขปัญหาที่ประสบผล นั่นคือตัวอย่างความสำเร็จของ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง ซึ่งเป็นวงจัดการความรู้วงแรกที่เกิดขึ้นในชุมชนไม้เรียง โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มคนที่มีปัญหาเหมือนกันหรืออยู่ในอาชีพเดียวกันมาร่วมกันระดมปัญหาจัดลำดับความสำคัญ  จากนั้นช่วยกันคิดถึงแนวทางแก้ไข จนนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเรียนถูกเรียนผิด และให้ประสบการณ์จากการปฎิบัติจริงเป็นฐานของการแก้ไขพัฒนาจนสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งที่น่าพอใจ

ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันตั้งโรงรมยางขึ้นเป็นของตนเองและจัดระบบบริหารจัดการจนสามารถผลิตน้ำยางคุณภาพดีมาตรฐานเดียวกันหมด ทำให้พ่อค้าคนกลางไม่สามารถกดราคาได้ อีกทั้งยังสามารถเปิดตลาดขายตรงยางพาราได้อีกด้วย  การเรียนรู้จึงเป็นหัวใจของการพัฒนาของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม้เรียงมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมากขึ้น ขณะที่วงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้นทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด  จนเกิดเป็นเครือข่ายยางพารานครศรีธรรมราช  ที่มีการช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ 
  
จัดการปัญหาด้วยการเรียนรู้
         จากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอาชีพของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนไม้ยาง ได้จุดประกายแนวคิดเพื่อการแก้ปัญหาของคนกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนไม้เรียง ที่มีแกนนำจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนไม้ยางเข้าไปค้นหาและกระตุ้นให้คนในตำบลไม้เรียงได้มีเวทีมาพบปะกัน การได้มาพูดคุยกันหลาย ๆ ครั้งทำให้ชาวไม้เรียงพบว่าปัญหาใหญ่อันดับแรกที่เป็นปัญหาร่วมกันก็คือเรื่อง “หนี้สิน” และเมื่อร่วมกันหาที่มาและแนวทางแก้ไขก็พบว่าเป็นเพราะคนไม้เรียงขาดความรู้และข้อมูล จึงตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาอาชีพไม้เรียงขึ้น เพื่อจัดการเรียนรู้และให้ความรู้แก่ชาวตำบลไม้เรียง ทั้งในด้านความรู้ที่เป็นวุฒิการศึกษาและความรู้ด้านทักษะอาชีพ  อีกทั้งเพื่อให้เกิดการจัดการที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านจึงให้ศูนย์นี้บริหารจัดการโดยตัวแทนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ราว 40 คน ที่มาร่วมกันทำงานเป็น สภาผู้นำชุมชน ที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลทุกด้านของชุมชน นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ และหาทางออก โดยส่วนหนึ่งได้กำหนดออกมาเป็นแผนชุมชน ซึ่งเป็นกรอบทิศทางของการพัฒนาชุมชน  และการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาและพัฒนาอาชีพไม้เรียงก็เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้แผนชุมชน
         ประยงค์ รณรงค์ ผู้นำชุมชนไม้เรียง  เล่าเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินว่า  เป็นปัญหาที่คณะทำงานพบว่าเป็นเรื่องของใครไม่รู้แต่เป็นปัญหาหลักของทั้งชุมชน เราจึงเริ่มต้นแก้ไขที่ปัญหานี้ก่อน โดยเริ่มจากลงไปหาข้อมูลว่าหนี้เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็พบว่าเป็นหนี้ที่ไปกู้มาทำกินบ้าง และที่สำคัญเป็นหนี้ที่เกิดจากการที่คนไม้เรียงไม่วางแผนการใช้เงิน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้และทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี  และจากการที่ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านก็กลับไปหารือกับสมาชิกในหมู่บ้านของตนว่าจะหาทางออกกันอย่างไร แล้วมานำเสนอในสภาผู้นำ มาถกเถียงกันในที่สุดก็ได้แนวทางว่าจะต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งไม่ใช่การหารายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยการลงทุนเพิ่ม แต่เป็นการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถหยุดหนี้ได้

จัดหมวดหมู่ รู้ปัญหา ข้อมูล และทางออก
         “เราเคยบอกใครต่อใครมาเยอะแล้วแต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมาช่วยเมื่อไหร่อย่างไร จึงคิดว่าเราน่าจะเริ่มกันเอง ก็มาคิดมาทำร่วมกันว่าอะไรที่เราทำได้ก็เช่นลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อะไรทำเองได้ก็ทำ อะไรช่วยกันได้ก็ช่วยกัน และถ้ามีอะไรที่เกินความสามารถเราก็ไปแสวงหาความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ในที่สุดพอทำความเข้าใจตรงนี้แล้วก็เริ่มต้นในการที่จะคิดว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์กันดูซิ  ปัญหาไหนที่มันมีอยู่ทุกหมู่บ้านก็เป็นปัญหาหลัก ปัญหาไหนที่มีบางทีหมู่บ้านก็เอาไว้ก่อน เราวิเคราะห์ที่ปัญหาหลักก่อน บางทีวิเคราะห์แล้วก็ไม่สามารถสรุปได้ก็ต้องให้หมู่บ้านไปหาข้อมูลมาใหม่  เราเริ่มทำทีละเรื่อง พอทำหลาย ๆ เรื่องก็ได้ข้อสรุปหลาย ๆ เรื่อง  ในที่สุดก็พบว่า ปัญหาอยู่ที่คนขาดความรู้ เราจึงหันกลับมาเรื่องกระบวนการเรียนรู้
         “ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรด้วยความรู้  แต่ทำเพราะคนอื่นเขาบอกให้ทำ หรือเขาอยากจะแก้ปัญหาแล้วไปดูตัวอย่างเห็นคนอื่นทำก็มาทำด้วย แต่ตัวเองยังไม่รู้ พอเวลาทำแล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ซึ่งการไม่สำเร็จแต่ละครั้งหมายถึงการเป็นหนี้เพิ่มทุกปี เพราะการทำต้องลงทุนทุกเรื่องที่จะทำ  แล้วก็ล้มเหลวบ่อยมาก”
         เมื่อได้ข้อสรุปตรงนี้ “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง” จึงเกิดขึ้นโดยเอาคนทุกหมู่บ้านมาร่วมเป็นคนทำงานของศูนย์นี้ ซึ่งเดิมแต่ละหมู่บ้านมีตัวแทนตั้งแต่ 1-10 คน พอเรามานั่งวิเคราะห์กันแล้วเราคิดว่ากลุ่มตรงนี้ขนาดเท่าไหนถึงจะพอดี ในที่สุดก็ได้สรุปว่า ไม่เกิน 10 คนมันถึงจะพอดี ดังนั้นที่เกินก็ให้คัดเลือกและสำรองไว้   ถ้าหมู่บ้านไหนยังขาดก็ให้ไปค้นหาเพิ่ม   จากนั้นคนกลุ่มนี้ก็มาประชุมหรือทำกิจกรรมร่วมกันในความเป็นชุมชนไม้เรียงที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง โดยให้คัดเลือกกันมาอีกทีว่าแต่ละหมู่บ้านให้มีตัวจริงขึ้นมาหมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 5 คน  ในการทำแต่ละเรื่องได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะมีการบันทึกไว้  ข้อสรุปบางเรื่องอาจยืดไปได้ บางเรื่องมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องคิดวิเคราะห์หาทางเริ่มต้น 
         การทำในช่วงเริ่มต้นได้ข้อสรุปว่า เรื่องไหนเป็นปัญหาหลักก็ศึกษาเรื่องนั้นก่อน โดยนำหลักและวิธีการทำงานวิจัยชาวบ้านมาเป็นแนวทางในการศึกษา ให้ได้ข้อเท็จจริงออกมา จากนั้นนำมาคิดวิเคราะห์ร่วมกันหลายคนหลายฝ่าย บางเรื่องก็ต้องเชิญนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์มาช่วยกันวิเคราะห์และสรุปจดบันทึกกันเป็นเรื่อง ๆไปเมื่อได้ข้อสรุปหลาย ๆ เรื่อง   เราก็ได้กำหนดจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นมา แล้วเอาไปเริ่มในการดำเนินการเป็นการทดลอง บางทีก็ผิด บางทีก็ถูก ไม่ค่อยแน่นอนเหมือนกันแต่ส่วนหนึ่งเป็นความรู้ทั้งนั้น    อันไหนได้ผลก็เอาไปขยายผลทดลองกับหมู่บ้านอื่น ๆ

หมายเลขบันทึก: 20218เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท