ไปดู KM โรงเรียนผัก ที่ปทุมธานี (ต่อ)


การรวมกลุ่มกันทำแบบมีเพื่อน มีพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาแนะนำ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ "ความรู้จะมีประโยชน์อะไรหากอยู่แต่ในตำรา" และ "เราไม่ควรปล่อยให้ความรู้ตายไปกับกระบุงตะกร้า" จึงเป็นที่มาของโรงเรียนเกษตรที่หนองเสือ

1.        แหล่งความรู้   ความรู้ที่มี และความรู้ที่ได้
แหล่งความรู้ของกลุ่มมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ
-          หน่วยงานราชการในจังหวัด เช่น สำนักงานพัฒนาที่ดิน และสำนักงานเกษตร ซึ่งแม้จะมีการให้ความรู้อย่างเป็นแบบแผน (ทฤษฎี) และสนับสนุนให้เกิดการปฎิบัติ 
-          ความรู้จากการปฎิบัติ
“ความรู้ถ้ามันอยู่แค่ในตำราก็ไม่มีประโยชน์อะไร ความรู้ที่แท้อยู่ในแปลงที่เราทำนี่แหละ” ผู้ใหญ่
เทียมกล่าว และว่ากลุ่มเน้นการทำจริงใช้แปลงทดลองเป็นเวทีการเรียนรู้ร่วมกัน  ทำให้รู้ว่าใครมี “ความรู้”อะไรดี ๆ อยู่ในตัว เราจึงได้ ครูผักหรืออาจารย์ผักชนิดต่าง ๆ ไม่ต้องไปวิ่งหาที่ไหน ที่แท้อยู่ใกล้ ๆ นี่เอง แต่ก่อนเราไม่ค่อยได้คุยกัน ต่างคนต่างทำ จึงไม่รู้ว่าใครมีความรู้อะไร  เช่น อาจารย์ข้าวโพด อาจารย์หน่อไม้ฝรั่ง อาจารย์คะน้า  อาจารย์ถั่ว  เป็นต้น 
                พี่อ้อย เกษตรตำบล ที่ติดตามและเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้มาต่อเนื่อง กล่าวว่า การ
รวมกลุ่มของโรงเรียนเกษตรกรเกิดจากสมาชิกที่เต็มใจมาเข้าร่วม จะทำการเรียนทฤษฎี 4 ครั้ง และปฏิบัติ 4 ครั้ง และคอยให้คำแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดการผลผลิต  ปัญหาการตลาด ดังนั้นการจะเลือกปลูกพืชชนิดใดจึงมองเรื่องการตลาดด้วย  ซึ่งพืชหลักที่มองว่ายังเป็นตลาดที่ดีโดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ก็คือถั่วฝักยาว  ปัจจุบันตลาดได้ขยายออกไปถึงการส่งออก โดยมีกลุ่มพ่อค้าตัวแทนติดต่อซื้อผักเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มบ้างแล้ว โดยมีการตรวจสอบเรื่องการปลอดสารด้วย
2.        กระบวนการกลุ่ม การทดลอง เรียนรู้  และ จัดการความรู้
กระบวนการกลุ่มทำให้ค้นพบอาจารย์ผักนานาชนิดจากกิจกรรมกลุ่มที่ทำร่วมกัน

“ที่รู้ว่าใครเชี่ยวชาญ หรือ รู้จริงเรื่องอะไร ก็เพราะว่าเวลามาทำแปลงร่วมกันซึ่งเรามีแผนว่าในแต่ละช่วงจะปลูกอะไร  เมื่อลงมือทำ  หากทำไม่ถูกคนที่รู้จริงเขาก็จะพูดโวยวายหรือแสดงความรู้ของตัวเองออกมา”  กระบวนการกลุ่มทำให้คนที่รู้จริงกล้าแสดงออก เมื่อผ่านการทดลอง แล้วจึงยอมรับนับถือกันเป็นอาจารย์ไปเลย  และไม่ใช่แค่การยอมรับกันเฉพาะภายในกลุ่มสมาชิกโรงเรียนเกษตรกร แต่ยังได้สร้างการยอมรับในตัวสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
“เมื่อก่อนคนที่มาทำแบบนี้ถูกหาว่า “บ้า” มาทำอะไรเสียเวลาจะได้ผลหรือเปล่าก็ไม่รู้ ในบ้าน
ทะเลาะกันเป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้ในครอบครัวก็ยอมรับ แฟนก็มาร่วมเป็นสมาชิกด้วยแล้ว” นายฉัตร หนึ่งในสมาชิกและประธานกลุ่มย่อย กล่าว และว่าพอมาทำกลุ่มแล้วรู้สึกเสพติดถึงเวลานัดหมายก็อยากมา มาก่อนด้วย อยากมาเจอเพื่อน ได้มาคุย มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน  เมื่อก่อนขับรถผ่านยังไม่คุยกัน แต่เดี๋ยวนี้เห็นกันก็ทักทายอยากพูดคุยสอบถามกันในเรื่องต่าง ๆ เราจึงได้ความสัมพันธ์ความสามัคคีของคนในชุมชนคืนมาอีกครั้ง
                “เราไม่กลัวว่าจะมีความรู้ไม่พอ เราเชื่อว่าสามารถหาความรู้ได้ตลอดจากการทดลองทำและจากที่นักวิชาการมาแนะนำให้ คนที่เข้ามาร่วมก็เพราะเห็นว่าทำได้จริง ทำแล้วมันดี อย่างคนเฒ่าคนแก่ซึ่งถือว่ามีความรู้อยู่ในตัวมากผมก็อยากให้เขามาร่วมมาถ่ายทอดความรู้ให้ ก็ชวนเขามาดูและบอกว่า อย่าปล่อยให้ความรู้มันหายไปกับกระบุงตะกร้าเลย” ผู้ใหญ่เทียมกล่าว  และเราก็ไม่แปลกใจที่ในกลุ่มสมาชิกโรงเรียนเกษตรกรที่นี่จะมีกลุ่มของผู้สูงอายุ ( 70-82 ปี) มาร่วมกิจกรรมอย่างแข็งขัน และถือเป็นตำราบุคคลที่สำคัญของกลุ่ม
                และเพื่อไม่ให้ความรู้ที่ได้ละเหยไปมาอยู่ในตัวคนที่มาบอกกล่าวกัน การเรียนรู้ของโรงเรียนเกษตรกรจึงมีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้ แต่อยู่ในลักษณะไม่เป็นทางการ เป็นการบันทึกส่วนตัวไม่ใช่สมาชิกทุกคน  ส่วนใหญ่ชอบที่จะลงมือทำและพูดคุยกันมากกว่า  เพราะเมื่อเข้าใจก็จำได้   

 

  งานที่แบ่งกันทำตามสมัครใจ 
 เวทีเรียนรู้ข้างแปลง
 คุณอ้อย เกษตรตำบล พี่เลี้ยงที่ยังคงตามติด
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20009เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท