การจัดการความรู้ของจังหวัดนครพนม


นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมีการแสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมา มีทักษะเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการทำงานแบบมีส่วนร่วม เทคนิคการประชุม เทคนิคการนำเสนอ ได้ศึกษาจากบันทึกเรื่องเล่า มีการทบทวนบทเรียนร่วมกัน มีความรู้สึกดีต่องาน มีแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบลที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของเกษตรกร ชุมชนมีความศรัทธาและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานมากขึ้น


 
          เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 ได้ไปร่วมเวทีการสัมมนาการจัดการความรู้ตามโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานของจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นเวทีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับอำเภอ (DW) ณ ห้องประชุมศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครพนม มีผู้เข้าร่วมจำนวน 60 คน ประกอบด้วย เกษตรจังหวัด หัวหน้ากลุ่ม และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่ประทับใจคือคุณสุทธิชัย ยุทธเกษมสันต์ ผู้บริหาร (CKO) เกษตรจังหวัด อยู่ในวงการสัมมนาทุกช่วงการสัมมนาและให้คำแนะนำ ปรับปรุงกระบวนการสัมมนาให้ลื่นไหลตลอดเวลา เช่น การแบ่งกลุ่มให้เหมาะสมกับจำนวนคน และช่วงที่ผู้สัมมนาข้องใจและต้องการคำตอบจากท่านก็ให้คำตอบทันที เช่น เรื่องงบประมาณ เป็นต้น   นับว่าท่านเป็น CKO ทำหน้าที่ได้สมบทบาท CKO  

          ช่วงเช้าหลังจากที่เกษตรจังหวัดเปิดการสัมมนาให้นโยบายแล้ว  ได้นำเสนอแนวคิดการจัดการความรู้ในโครงการดังกล่าว คุณมานะ บุญระมี หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการผลิตและจัดการผลผลิต ได้ชี้แจงการดำเนินงานโครงการ จากนั้น คุณทวี มาสขาว หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญทำหน้าที่ในการนำการสัมมนาครั้งนี้ สามารถทำหน้าที่คุณอำนวยได้เป็นอย่างดี เวทีลื่นไหล แม้ว่าจะมีบางคำถามที่ตอบยาก คุณทวี มาสขาว ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยได้สรุปผลการจัดการความรู้ในปี 2548  ซึ่งปีที่แล้วกำหนดเป้าหมาย (KV)ว่าเป็นการพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรโดยใช้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน  ปัจจัยความสำเร็จได้แก่ ผู้นำ  (CKO) ระดับจังหวัด (เกษตรจังหวัด) และระดับอำเภอ (เกษตรอำเภอ) ให้ความสำคัญและส่งเสริม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมีการแสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมา มีทักษะเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการทำงานแบบมีส่วนร่วม เทคนิคการประชุม เทคนิคการนำเสนอ ได้ศึกษาจากบันทึกเรื่องเล่า มีการทบทวนบทเรียนร่วมกัน มีความรู้สึกดีต่องาน มีแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบลที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของเกษตรกร ชุมชนมีความศรัทธาและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานมากขึ้น รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานปี 2549  มี 3 ขั้นตอน คือ

 


           ขั้นเตรียมการ ทำความเข้าใจแก่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรทุกคน กำหนดเป้าหมายและกิจกรรม 2 ระดับคือ ระดับเจ้าหน้าที่ทำ KM ทุกกิจกรรม ส่วนเกษตรกรทำ KM กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามโครงการ และจัดทำแผน KM
           ขั้นตอนการปฏิบัติ  ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้เวทีตามระบบส่งเสริมการเกษตรเป็นหลัก เช่น OM, DM, MM, DW, PW ประเด็นการเรียนรู้โดยใช้เวทีตามกิจกรรมโครงการ คือ
                   1) การจำแนกพื้นที่  ได้แก่ การสำรวจข้อมูล การคัดเลือกกลุ่มเรียนรู้ การสรุปผลการจำแนก ฯลฯ
                   2) การบูรณาการแผน ได้แก่ การประชาพิจารณ์ การสนับสนุนแผน การติดตาม
                   3) การถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ ทำเนียบตัวอย่าง foodsafety  การกำหนดประเด็นการถ่ายทอด ประเมินตนเอง กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KS) การสรุปบทเรียน (AAR) , การบันทึกเล่าคลังความรู้ (KA)
                   4) การสร้างเครือข่าย ได้แก่ สัมมนาเครือข่ายระดับอำเภอและระดับจังหวัด
                   5) การตลาด  ได้แก่  สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ องค์ความรู้
           ขั้นตอนการประเมินผล  คุณภาพสินค้า คลังข้อมูล ทบทวนบทเรียน และชี้วัดผลการดำเนินงาน
          ทั้งนี้ คุณทวี มาสขาว ได้เสนอแผนภูมิแสดงความเชื่อมโยงระหว่างการจัดการความรู้กับโครงการเข้าด้วยกัน ดังนี้  

                  

 

       ในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งกลุ่มอภิปรายเป็น 4 กลุ่ม แล้วนำมาเสนอในกลุ่มใหญ่ ประเด็นอภิปรายได้แก่  การสรุปบทเรียน จำแนกพื้นที่ตามโครงการ และมีแนวทางการดำเนินงาน KM ในช่วงต่อไป บรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มอภิปรายต่าง ๆ เป็นกันเองดีมาก สมาชิกมีส่วนร่วมการอภิปราย ให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้ในการจำแนกพื้นที่บางตำบลทำได้ 100% แล้ว ซึ่งว่าการทำได้เช่นนี้ต้องวางแผนโดยนับเวลาที่ยังเหลืออยู่จนถึงวัน ส่งกรม มีการมอบหมายงานให้เก็บข้อมูลโดยใช้กรรมการศูนย์บริการฯ เป็นหลัก มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเข้ามาร่วมเก็บด้วย และมีกระบวนการติดตามตรวจสอบไปพร้อมกันว่า ผู้เก็บดำเนินการได้ถูกต้องหรือไม่ และได้แนะนำให้จัดเก็บอย่างถูกต้องหากมีปัญหา  ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องของแบบฟอร์มที่ส่งมาล่าช้า งบประมาณมาช้าไม่สัมพันธ์กับงานที่ต้องเร่งรีบ เจ้าหน้าที่ต้องจ่ายเงินส่วนตัวไปก่อน เป็นต้น จากการทำการสรุปบทเรียนพบว่า ควรจะมีการบันทึกเรื่องเล่าดี ๆ และเก็บไว้ในคลังความรู้  และในครั้งต่อไปเกษตรจังหวัดเสนอว่าในระดับอำเภอควรใช้เวที DM ระดมกันมาก่อนมาร่วมกับอำเภออื่น ๆ ใน DW 


          ขอชื่นชมทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอที่ได้แสดงความจริงจังในการทำงาน แม้ว่าจะมีคำพ้อด้วยความน้อยใจ (เล็ก ๆ) ว่างานอะไร ๆ ก็ลงมาที่ตำบล อำเภอหมด แต่ก็ยังเห็นแววตาที่มุ่งมั่น ความตั้งใจ พร้อมที่จะทำงานต่อไป นับว่าเป็นผู้เสียสละและเป็นทัพหน้าของกรมที่มีประสิทธิภาพ  ขอขอบคุณทีมงานจังหวัดที่ได้ให้โอกาสไปร่วมเรียนรู้เป็นอย่างมาก คาดหวังว่าการดำเนินการจะประสบความสำเร็จด้วยดีตลอดไป
 

หมายเลขบันทึก: 19968เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ
แวะมาเยี่ยมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท