วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา : อิ่มบุญวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา


เดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ เราเรียกวันอาสาฬบูชา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เราเรียกวันเข้าพรรษา

ในเดือนกรกฎาคมนี้ มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๒ วันด้วยกัน คือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งในปี ๒๕๕๑ นี้ วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กรกฎาคม  วันเข้าพรรษาตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม และก็มีวันหยุดยาวกันถึง ๔ วัน  หลาย ๆ คน วางแผนล่วงหน้าที่จะพาครอบครัวไปทำบุญเข้าพรรษาที่ต่างจังหวัดและถือโอกาสท่องเที่ยวทัศนศึกษาไปด้วย

เช้าวันอังคารที่ ๑๕ กรกฏาคม ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร ได้จัดกิจรรมส่งเสริมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถวายเทียนจำนำพรรษาและทอดผ้าป่า เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ประจำปี ๒๕๕๑ นำโดยท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย) ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร (ผศ.(พิเศษ) พญ.พิริยา นฤขัตรพิชัย) พร้อมด้วยบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ ประมาณ ๔๐ คน ออกเดินทางโดยรถบัส เวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. เดินทางไปถึง วัดนครป่าหมาก ตำบลดอนทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เวลาประมาณ ๑๐.๑๕ น.  จากนั้น ทุกคนต้องลงจากรถบัสเนื่องจากทางเข้าวัดแคบมาก รถบัสไม่สามารถเข้าไปจอดถึงศาลาวัดได้ ทำให้ทุกคนต้องเดินเท้าในขณะที่ช่วยกันถือของพะรุงพะรัง กลางแดดร้อนจัด  เป็นระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร ทุกคนก็มิได้แสดงอาการเหน็ดเหนื่อย ตรงกันข้าม กลับมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  เมื่อไปถึงศาลาวัด ก็มีป้าคนหนึ่งเข้ามาต้อนรับและชักชวนให้ขึ้นไปบนศาลา พร้อมกับโห่ร้อง เต้นรำ นำกองผ้าป่า ทำให้รู้สึกประทับใจในการต้อนรับที่เป็นกันเอง อบอุ่น  คล้ายกับการโห่ของขบวนขันหมาก  บรรยากาศเริ่มสนุกสนาน  เมื่อขึ้นไปพร้อมกันบนศาลาวัด แต่ละคนทำหน้าที่ที่ตนเองถนัด บ้างก็จัดวางข้าวของที่เตรียมมาถวาย เป็นกองผ้าป่า บ้างก็ทำหน้าที่บริการน้ำดื่ม  น้องกิ๊ฟ ประชาสัมพันธ์ ก็ทำหน้าที่เก็บภาพบรรยากาศอย่างแข็งขัน ทุกคนที่มาร่วมทำบุญ มาจากหลายหน่วยงาน ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ได้รู้จักกันมากขึ้น ในระหว่างนั่งรอเวลา ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านที่มาช่วยงานบุญที่วัด พอถีงเวลา ๑๑.๐๐ น.  คณบดีฯ เดินทางมาถึง ก็เข้าสู่พิธีการ โดยถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสารเณร ถวายเทียนจำนำพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน  ถวายจตุปัจจัย และทอดผ้าป่าสามัคคีครั้งนี้ ได้รับเงินจากผู้มีบุญ จำนวนทั้งสิ้น ๑๔,๘๙๙ บาท เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นทุกคนก็รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ขณะนั่งทานอาหารอยู่นั้น ก็มองไปรอบ ๆ ศาลาวัด สังเกตเห็นทุกคนดูมีความสุขอิ่มบุญกันถ้วนหน้า พร้อมกับอิ่มท้องกันทุกคน เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่อยากบันทึกไว้

ทบทวนความรู้วิชาพระพุทธศาสนากันก่อน

วันอาสาฬหบูชา

 แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา

๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา

๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรก คือ การที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์

๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว

๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ๓ เหตุการณ์ คือ เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก และเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัย ครบ ๓ ประการ

แนวทางการปฏิบัติตนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา คือ ควรให้ทาน โดยการถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน พร้อมทั้งรักษาศีล เจริญภาวนา เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผุ้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด

วันเข้าพรรษา

แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน เป็นเวลา ๓ เดือน ปวารณาออกพรรษาแล้งจึงออกเดินทางไปเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป

สาระสำคัญ ของวันเข้าพรรษา คือ การที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุเริ่มอยู่จำพรรษา โดยไม่เดินทางไปค้างแรม ณ สถานที่ใดเป็นเวลา ๓ เดือน ทำให้พระภิกษุ ที่อยู่ร่วมกันจำนวนมากได้ศึกษาเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับพฤติกรรม ลด ละ เลิกอบายมุขของคนในสังคมไทย เช่น การงดเหล้า บุหรี่ จนทำให้เกิดโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิรัติ ๓ คือ การงดเว้นจากบาปและความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่งจำแนกออกเป็น ๓ ประการ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากความชั่ว เพราะมีหิริความหายชั่วและโอตตัปปะ ความกลัวบาป นั่นคือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นใจให้เราทำผิดหรือทุจริตคอร์รัปชั่น เราสามารถห้ามใจตัวเองได้เพราะรู้สึกอายตัวเอง หรือเพราะกลัวเสียหน้า กลัวเสียเกียรติ เป็นต้น

๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

๓. สมุจเฉกวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า 

นอกจากนี้ วันเข้าพรรษาก่อให้เกิดประเพณีที่สำคัญ ๒ ประเพณีด้วยกัน คือ ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และประเพณีแห่เทียนพรรษา

สำหรับผู้ที่ทำบุญ ถวายผ้าอาบน้ำฝนจะได้รับอานิสงฆ์ เหมือนการถวายผ้าชนิดอื่น ๆ ตามนัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส สวยงาม ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายและใจ

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา  คือ ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แด่ภิกษุสามเณร ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล และอธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

หมายเลขบันทึก: 194665เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2008 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เสียดายจังไม่ได้ไปด้วยเพราะติดประชุมแต่ในงานก็ส่งน้องต๊อกไปเป็นตัวแทน

เช้านี้วันอาสาฬหบูชาพี่ก็ได้ไปทำบุญที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนและก็เจอน้องบุ๋มการเงินด้วย อยู่พิษณุโลกแต่มาทำบุญที่วัดไผ่รอบแถวบ้านพี่ซึ้งเป็นหมู่บ้านญาติๆแฟนน้องบุ๋ม

  • ขอบคุณค่ะ พี่ฐา (ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล)
  • ถึงตัวไม่ได้ไป แต่ส่งตัวแทนและร่วมทำบุญ อิ่มบุญเช่นกันค่ะ

ดีมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกเลย

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ คุณพิงค์

ดีมากเลยครับที่ทำแบบนี้ขึ้นมาเพื่อประชาชนคนพุทธ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท