การบำเพ็ญบารมีย่อมเกื้อกูลตั้งแต่เล็กจนเติบโต (การจัดการความรู้ในชั้นเรียน)


 

ในรายวิชา “การเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพบริหารธุรกิจ” ซึ่งนักศึกษาหลายคนอาจจะมองไม่เห็นคุณค่ามากนัก เพราะอาจจะเนื่องด้วยมีหน่วยกิตแค่ 2 หน่วยกิต หรือว่ามิใช่วิชาบังคับ วิชาหลักที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหรือทำมาหากินได้ แต่ถ้าเราใช้เวลาแค่สองคาบ หรือ สามสิบคาบเรียนในหนึ่งเทอมนั้นมาจัดการความรู้ในชั้นเรียนแล้ว ช่วงเวลานี้จะมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวง

หลังจากที่ได้ทดลอง ปรับเปลี่ยนจากการบรรยายในเทอมก่อน ที่จะนำเอาวิชาต่าง ๆ มากมายที่เด็กอยากเรียน หรือทางอาจารย์คิดว่านักศึกษาน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้เช่น คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ การพัฒนาบุคลิกภาพ มาเพิ่มเติมในเวลาที่มีอยู่นี้วิชาและสัปดาห์ (สองคาบ) หรือสองสัปดาห์

การปรับเปลี่ยนอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า
“นักศึกษาเรียนมาตั้งนาน เรียนมาทั้งชีวิต อาทิเช่น ภาษาอังกฤษ เรียนมาตั้งแต่อนุบาล เขายังไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เลย แล้วเวลาแค่สองคาบ หรือสี่คาบในรายวิชานี้หรือจะทำให้เขาใช้ภาษาอังกฤษเก่งขึ้นมาได้...”

ดังนั้นจึงได้ทดลองปรับเปลี่ยนมาเป็นการจัดการความรู้ในชั้นเรียน เพื่อรื้อฟื้นความรู้หนหลังที่นักศึกษาได้เรียนรู้มาให้ได้มากที่สุด
การทดลองนี้อยู่ในสมมติฐานที่ว่า
“หนึ่ง ทุกรายวิชาที่เรียนมาตั้งแต่อดีตนั้นมีประโยชน์ ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากวิชาทั้งหลายนั้น”
“สอง เรา (อาจารย์) ไม่สามารถป้อนข้าว (วิชาความรู้) ให้นักศึกษาได้ตลอด เมื่อเขาเรียนจบไปแล้ว เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง สิ่งที่เราควรชี้แนะเขาคือ ช่องทางในการหาความรู้ วิธีการในการจัดการความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายในสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ที่มีอยู่ในตนเอง...”

เวลาสองคาบนี้เป็นเวลาที่ใช้สำหรับ “ขุด”
ขุดความรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม และย้อนกลับมาครั้งต้นเมื่อก้าวเข้ามาเรียนอุดมศึกษา
ใช้เทคนิคของการจัดการความรู้ (Knowledge management) โดยเริ่มต้นเขียน Mind Map ย้อนกลับไปเมื่อตอนนักศึกษาเรียนปีที่ 1 ว่านักศึกษาเคยเรียนวิชาอะไรมาบ้าง
จากนั้นก็เริ่มพูดคุย ซักถามว่าแต่ละวิชานั้นมีประโยชน์อย่างไร ทำไมจึงต้องเรียน เช่น รายวิชาจิตวิทยาเบื้องต้น สถิติเบื้องต้น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสาร เป็นต้น

แต่ละรายวิชานั้นมีประโยชน์เป็นพื้นฐานที่สามารถใช้ได้ในการดำเนินชีวิต
นอกจากนักศึกษาจะได้รับความรู้ในวิชาต่าง ๆ ที่เคยเรียนมานั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้ว สิ่งสำคัญคือ นักศึกษาจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของทุก ๆ รายวิชา ทุก ๆ ย่างก้าวที่เขาได้เคยผ่านมา เรียนมา ไม่ดูถูกความรู้ชั้นอนุบาลว่าไร้ค่า ไม่ดูถูกความรู้ชั้นประถมว่าไม่มีราคา เพราะความรู้ทุก ๆ รายวิชานั้นประกอบร่างสร้างขึ้นมาให้เป็นความรู้ในชั้นปัจจุบัน

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานนั้น เขาจะต้องประกอบความเพียรตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจนั้นเรียกได้ว่าเป็นการ “บำเพ็ญบารมี”
การบำเพ็ญบารมีย่อมเกื้อกูลตั้งแต่เล็กจนเติบโต

วิชาตั้งไข่ที่พ่อและแม่เคยสอนเราไว้เมื่อครั้งหัดเดิน จนวันนี้เรายังเดินอยู่ได้ฉันใด
รายวิชาทุก ๆ รายวิชาที่เราเคยเรียน เคยผ่านมานั้นไซร้ย่อมทำให้เราเป็นเราอยู่ได้ในปัจจุบัน

เวลาสองคาบในหนึ่งสัปดาห์ และสามสิบคาบในหนึ่งเทอมนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งในด้านความรู้ที่ได้รับและด้านจิตใจที่ได้ย้อนกลับตระหนักถึงทุก ๆ ย่างก้าวที่นักศึกษาเคยสัมผัส ก้าวผ่านข้ามมาด้วยยากเย็น

เมื่อนักศึกษาตระหนักในคุณค่าแห่งชีวิต นักศึกษาจะดำเนินชีวิตด้วยความสุขุม รอบคอบ ละเอียด
ความละเอียดรอบคอบในการดำเนินชีวิตนี้เอง จะทำให้เขาก้าวเดินอย่างมั่นคง แข็งแรง ไม่ผิดพลาด และสามารถเจริญเติบโตเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และเป็นคนที่ดีของตนเอง ใช้ชีวิต มีชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนตนเอง

ตระหนักในความรู้ คุณครูย่อมตระหนักในการสังเกตุนักศึกษา
การวิจัยในชั้นเรียนจะนำพา ซึ่งการศึกษาที่ดีของชาติไทย...


หมายเลขบันทึก: 194657เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ สาระดีมากครับ จะนำไปพัฒนางานตนเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท