BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

(สะพาน) มฆวาน


มฆว มฆวา มฆวาน

ตอนนี้ สะพานมฆวานกำลังดังเพราะเป็นที่ชุมนุมและทางผ่านเกือบทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ทำนองนี้  จำได้ว่าสมัยพลเอกอาทิตย์  กำลังเอก มีประวัติว่าท่านเป็นวีรบุรุษแห่งสะพานมฆวาน ครั้งแรกก็สงสัยว่าสะพานนี้อยู่ในประเทศไหน ? ความเป็นมาอย่างไร ? จึงได้ชื่ออย่างนี้ ต่อมาจึงค่อยๆ ทราบเรื่องราว และตอนอยู่กรุงเทพก็เคยผ่านสะพานนี้หลายครั้ง...

เมื่อมาเรียนบาลี ก็มีศัพท์ว่า มฆว ชื่อพระอินท์  (ยังมีชื่ออื่นๆ อีกเกินสิบที่เป็นชื่อของพระอินท์ หรือท้าวสักกจอมเทพ)... และได้รับการแนะำนำจากอาจารย์ว่า ศัพท์นี้นำไปแจกวิภัตติเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งอาจเป็น มฆว มฆวา มฆวาน... ฯลฯ ก็ได้... ประเด็นนี้จะทิ้งไปเพราะเป็นรายละเอียดด้านไวยากรณ์ จะนำมาเล่าเฉพาะความหมายของศัพท์เท่านั้น...

ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฏีกา ท่านตั้งวิเคราะห์คำนี้ไว้ ๒ นัย โดยนัยแรกท่านตั้งวิเคราะห์ว่า..

  • มหิตพฺพตฺตา มฆวา
  • ท้าวสักกจอมเทพชื่อว่า มฆวา เพราะอันเทวดาทั้งหลายควรบูชา

นัยนี้ ท่านว่ามาจาก มห รากศัพท์ในความหมายว่า บูชา แล้วก็ แปลง ห. เป็น ฆว. จึงได้ว่า มฆว (มห - มฆว) และก็แปลงต่อมาเป็น มฆวา มฆวาน ตามแบบไวยากรณ์ที่เป็นศัพท์พิเศษ.... ขยายความว่า พระอินท์หรือท้้าวสักกะซึ่งเป็นจอมเทพนั้น อันเหล่าเทพยดาทั้งหลายควรบูชา จึงได้ชื่อว่า มฆวาน

...........

อีกนัยหนึ่ง ท่านตั้งวิเคราะห์ว่า...

  • ปุพฺเพ มนุสฺสภูโต สมาโน มโฆ นาม มาณโว อโหสิ ตสฺมา มฆวาติ วุจฺจติ
  • ชนทั้งหลายเรียกพระอินท์ว่า มฆวา เพราะในกาลก่อน เมื่อเป็นมนุษย์ ได้เป็นมาณพ ชื่อว่า มฆะ

ตามนัยนี้ คำว่า มฆวา หรือ มฆวาน จึงมาจากคำว่า มฆะ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของท้าวสักกจอมเทพในการก่อนที่เกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง... สำหรับนิทานของมาณพที่ชื่อว่ามฆะ ทำความดีอย่างไรจึงได้เกิดมาเป็นพระอินท์ ผู้สนใจเพิ่มเติม โปรดคลิก ประวัติชื่อมฆวานในอรรถกถา

 

อนึ่ง การไปเกิดเป็นท้าวสักกะหรือพระอินท์จะต้องประพฤติธรรม ๗ ประการ ที่เรียกกันว่า วัตตบท ๗ ซึ่งผู้เขียนลองค้นดูไปเจอที่ อาจารย์บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ ประพันธ์ไว้ จึงถือโอกาสอัญเชิญมาให้อ่านทั่วกันดังนี้....

  • มาตาเปติภรํ ชนฺตุ         กุเล เชฏฐาปจายินํ
  • สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ        เปสุเณยฺยปฺปหายินํ
  • มจฺเฉรวินเย ยุตฺตํ          สจฺจํ โกธาภิภุํ นรํ
  • ตํ เว เทวา ตาวตึสา       อาหุ สปฺปุริโส อิติ.
  • วัตรบทจดเสร็จมีเจ็ดขอ                  คือเลี้ยงพอแมตัวไมมัวเฉย
  • ออนนอมญาติชาติผูใหญไมละเลย    เอื้อนโอษฐเผยพจนสุภาพไมหยาบคาย
  • คําสอพลอสอเสียดเกลียดถนัด         ชอบกําจัดตัดตระหนี่ใหหนีหาย
  • พูดสัตยแทแนนับไมกลับกลาย         โกรธระคายเคืองใจละไกลมัน
  • ผูนั้นแหละเทพชาวดาวดึงส             ปรารภถึงสรรเสริญเจริญขวัญ
  • เปนบุรุษสุดมีดีครบครัน                  เรียกสั้น ๆ “สัตบุรุษ” ก็สุดดี.

 

หมายเลขบันทึก: 184990เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการหลวงพี่

  • เคยผ่านไปบ้าง สะพานสวยดี มีลวดมีลาย นึกอยู่ว่าสมัยนี้สร้างสะพานทั้งที ทำให้มันสวยงามอย่างเก่าไม่ได้หรือ ดูอย่างสะพานหัวช้าง ขนาดว่าซ่อมสะพานยังบูรณะหัวช้างให้สมบูรณ์ สมัยนี้มีแต่เหลี่ยมๆ กลมๆ หาความสวยงามไม่ได้
  • ค้นๆ มาเพิ่มครับ เป็นสะพานที่มีชื่อคล้องจองกันครับ
  • สะพานเทเวศรนฤมิตร, สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ, สะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และ สะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์

P

ธ.วั ช ชั ย

 

สถาปัตยกรรมสะพาน คงขึ้นอยู่กับยุคสมัย งบประมาณ และอื่นๆ...

เคยเห็นว่าชื่อสะพานคล้องจองกัน แต่ก็ไม่ได้จำ เพราะมิใช่ทางผ่าน... ไม่เหมือนป้อมวัดพระแก้ว ...เผด็จดัสกร สัญจรใจวิง สิงขรขันธ์... เมื่อก่อนผ่านทุกวัน ยังพอจำได้บ้าง (..........)

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์

ทันสมัยจังพระอาจารย์

หากการจะไปเกิดเป็นพระอินทร์เป็นอย่างที่พระอาจารย์ว่า พวกที่ไปชุมนุมกันอยู่ คงหมดสิทธิเป็นพระอินทร์แน่นอน

แถมพลอยให้ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวต้องพลอยขาดโอกาสเป็นพระอินทร์ไปด้วยครับ อิ อิ

กราบนมัสการครับ

  • ได้ความรู้เกี่ยวกับสะพานมฆวาน ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ทราบมาก่อนเลย ครับ
  • หวังว่าปรากฎการณ์ที่กำลังเกินขึ้นจะจบลงด้วยดี ดั่งชื่อสะพาน ครับ

กราบนมัสการ

P

กิตติพงศ์ พลเสน

 

สะพานมฆวานเป็นจุดสำคัญทุกครั้ง เมื่อมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากสนามหลวงไปสู่ทำเนียบ... คล้ายๆ กับถ้าพม่าบุกไทยก็ต้องเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  หรือช่องแคบยิบรอลต้าจะเป็นจุดสำคัญที่พวกอาหรับต้องผ่านเมื่อจะบุกเข้าสู่ยุโรป... แต่ตามปกติแล้ว สะพานมฆวาน ด่านเจดีย์สามองค์ หรือช่องแคบยิบรอลต้า เป็นเพียงสถานที่เท่านั้น  มิใช่ปัญหา....

ปัญหาอยู่ที่ความคิดและการกระทำของคนที่แก้ยากเหลือเกิน ทุกคนรู้และเข้าใจ แต่ก็ไม่มีใครยอมใคร...

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่นานนักก็คงจะผ่านไป แต่หลวงพี่คิดว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งสุดท้าย (ถ้าทำเนียบรัฐบาลยังอยู่ที่เดิม)

เจริญพร

 

นมัสการพระอาจารย์

ได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ ขอบคุณมากนะคะ .. แต่สงสัยอย่างหนึ่งค่ะ คือทำไมพระอาจารย์ ไม่ใช้ พระอินทร์ แบบนี้ล่ะค่ะ เห็นพระอาจารย์ใช้ พระอินท์ แบบนี้ ... คืออยากถามว่าพระอาจารย์มีหลักอะไรอย่างไรหรือเปล่าคะ ขอบคุณค่ะ

ไม่มีรูป

มดส้มจ่อย

 

ตอนเขียนก็นึกแล้วว่าน่าจะมีผู้สงสัยประเด็นนี้อีก (............)

  • อินท์ ... เขียนเลียนบาลี
  • อินทร์ ... เขียนเลียนสันสกฤต

บาลีและสันสกฤต มิใช่ภาษาเดียวกัน เพียงแต่รากเหง้ามาจากที่เดียวกันเท่านั้น บางคำเขียนเหมือนกัน บางคำเขียนต่างกันนิดหน่อย...

เมื่อแปลงสัญชาติมาเป็นภาษาไทย บางศัพท์ก็นิยมเขียนตามบาลี บางศัพท์ก็นิยมเขียนตามสันสกฤต บางศัพท์ก็ใช้ทั้งสองคำ หรือบางศัพท์แม้จะนิยมใช้ทั้งสองคำ แต่ความหมายในภาษาไทยต่างกัน ... สนใจลองดูเพิ่มเติมจากบันทึกอื่นๆในบล็อกนี้ หรือตัวอย่างตาม Link...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท